บันทึกสังเกตการณ์ 16 ชั่วโมง ก่อน “ราษฎร” 21 คน ประกาศถอนทนายความคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร

ระหว่างวันที่ 7-8 เม.ย. 64 ช่วงเวลา 10.00-17.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดา ห้องพิจารณา 704 มีนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่สนามหลวงและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 63 ซึ่งมีผู้ถูกฟ้องคดีเป็นนักกิจกรรม “ราษฎร” รวมทั้งสิ้น 22 คน โดย 7 คน ถูกฟ้องในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” และเป็นคดี 112 คดีแรกที่อัยการยื่นฟ้อง จากเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก ร่างรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ตั้งแต่ ก.ค. 63 เป็นต้นมา  

สิ่งที่เกิดขึ้นในทั้งสองวันเต็มไปด้วยความตึงเครียด อึดอัด คับแค้น และคับข้องใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง ถึงกระบวนการที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ไร้มนุษยธรรม และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จนกระทั่งลงเอยด้วยการที่จำเลย 21 ราย ขอถอนทนายจำเลย เพื่อปฏิเสธกระบวนการอยุติธรรมดังกล่าว เหตุการณ์ที่มีผู้รู้เห็นเพียงไม่กี่คน เนื่องจากศาลไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าร่วม ขัดต่อหลักการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม จึงถูกบันทึกไว้เป็นร่องรอยหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมไทย


ภายนอกห้องพิจารณาคดี 704: สุดมือเอื้อมแม่จับถึงเท้า “เพนกวิน”

ในช่วงเช้า บริเวณตรงข้ามธนาคารกรุงไทยมีการตั้งโต๊ะลงทะเบียนเหมือนเช่นทุกวันที่มีการพิจารณาคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร โดยผู้ที่จะมาห้องพิจารณา 704 จะถูกแยกโต๊ะลงทะเบียนต่างหาก มีการจดชื่อ-นามสกุล เลขบัตรประชาชน แล้วเขียนข้อมูลเหล่านั้นลงบัตรให้คล้องคอไว้ 

ก่อนหน้านี้ในนัดตรวจพยานหลักฐานเมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา จำเลยที่เป็นผู้ต้องขังแต่ละคน ศาลอนุญาตให้มีญาติเข้าฟังการพิจารณาคดีได้ 2 คน  โดยญาติจะได้รับบัตรสีม่วง แต่ในครั้งนี้ตำรวจศาลที่ประจำอยู่ที่โต๊ะลงทะเบียนแจ้งในทันทีว่า ญาติต้องไปอยู่ห้องเวรชี้ ไม่สามารถเข้าฟังการพิจารณาคดี เนื่องจากศาลเจ้าของสำนวนสั่งเช่นนั้น 

บรรยากาศของเช้าวันที่ 7 และ 8 เม.ย.เต็มไปด้วยความสับสนของญาติและความโกรธ แม่ของบางคนถึงกับร้องไห้ เนื่องจากเกรงว่าหากวันนี้ตนไม่ได้เข้าฟังการพิจารณาสถานการณ์จะเป็นเช่นนี้ตลอดไป ในวันที่ 7 เม.ย. แม่ของหลายๆ คน ไม่ได้ไปที่ห้องเวรชี้ตามที่ถูกบอกให้ไป แต่ขึ้นลิฟต์ไปยังห้อง 704 ส่วนในวันที่ 8 แม่ๆ ถูกห้ามไม่ให้เดินเข้าตั้งแต่หน้าศาลโดยมีตำรวจศาลคอยเฝ้าอยู่ที่บันได คอยเจรจาถึงเหตุผลที่ญาติไม่ควรมาที่ชั้น 7 เพราะอย่างไรก็เสียเวลาเปล่า ญาติจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าห้องพิจารณาอยู่ดี และให้ไปที่ห้องเวรชี้ในทันที ทำให้แม่ส่วนหนึ่งนั่งคอยอยู่ตรงบันไดศาลเพื่อแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยกับการขอความร่วมมือเช่นนี้ 

เมื่อผ่านไปพักใหญ่แม่ๆ จึงได้เดินผ่านประตูศาลและขึ้นมาที่ห้องพิจารณาชั้น 7 โดยในวันที่ 8 เม.ย. แม่ของ “ไมค์” ภาณุพงศ์มาในเวลา 10.45 น. ทำให้ต้องรออยู่ที่บันไดศาล รปภ.ต้องใช้วิทยุสื่อสารเพื่อขออนุญาตให้แม่ของไมค์ได้ขึ้นลิฟต์มายังชั้น 7 แม่ไมค์ได้นำแว่นตามาให้ไมค์ด้วย แต่ตำรวจศาลแจ้งว่าจะต้องนำไปฝากที่เรือนจำผ่านเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เท่านั้น

บริเวณชั้น 7 ห้องน้ำหญิงถูกปิด เช่นเดียวกับวันที่ 29 มี.ค. โดยอนุญาตให้เดินเข้าเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในศาล  รั้วสีเหลือง 3 แผง ถูกนำมากั้นตั้งแต่ลิฟต์เป็นต้นมา รปภ.กล่าวว่า “นี่เป็นรั้วที่หนาที่สุดแล้วที่เอามากั้น” ตำรวจศาล เจ้าหน้าที่ศาล และ รปภ. จำนวนหนึ่ง คอยตรวจตราความเรียบร้อยภายในและภายนอกห้องพิจารณา  ระหว่างนั้นบริเวณทางเดินทั้งอับทั้งร้อน ไม่มีลมพัดผ่าน ญาติบางส่วนยืนและบางส่วนนั่งอยู่ที่บริเวณพื้นหน้าลิฟต์ชั้น 7 ทั้งที่ห้องรับรองพยานอยู่ตรงข้ามกับที่ที่พวกเขายืนอยู่ เป็นห้องที่มีที่นั่งอย่างดีและมีแอร์ แต่พวกเขาก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปนั่ง เนื่องจากห้องดังกล่าวอยู่ติดกับทางเดินห้อง 704 

ในวันที่ 7 เม.ย. 64 มีการปิดใต้ถุนศาลไม่ให้ซื้อข้าวและไม่ให้จำเลยเดินลงไปกินข้าวใต้ถุนศาล แต่เจ้าหน้าที่ซื้ออาหารขึ้นมาให้กินในห้องพิจารณา โดยอ้างว่าเพราะมีโควิดและมีการพิจารณาคดีต่อเนื่อง ส่วนในวันที่ 8 จำเลยถูกนำตัวไปกินอาหารด้านล่างแต่ไม่อนุญาตให้ญาติไปซื้ออาหารเช่นเดิม

ครอบครัวของผู้ถูกคุมขังแต่ละคนเดินทางมาให้กำลังใจ แต่ศาลไม่อนุญาตให้ญาติเข้าไปในห้องพิจารณา ทำให้ญาตินั่งรอที่พื้นบริเวณหน้าลิฟต์ชั้น 7 เพื่อจะได้เห็นผู้ถูกคุมขัง ในช่วงบ่ายวันแรก เจ้าหน้าที่บางคนนำเก้าอี้มาให้ญาตินั่ง แต่วันต่อมา เจ้าหน้าที่แจ้งว่าศาลให้เก็บเก้าอี้ออกให้หมดเพื่อไม่ให้มีใครมานั่งแล้วดูวุ่นวาย แม่ๆ และทนายความยังพยายามเจรจาเพื่อให้ได้เข้าไปพูดคุยและเจอกับลูกของตนเอง โดยรอคอยเป็นเวลาอย่างต่ำวันละ 6-7 ชั่วโมง

หลังจากเห็นว่าญาติและเพื่อนๆ ยังคงรอที่พื้นไม่ไปไหน รปภ.และตำรวจศาลพยายามเกลี้ยกล่อมให้ญาติทั้งหมดออกไปจากหน้าลิฟต์ชั้น 7 และไปนั่งฟังการพิจารณาคดีอย่างเรียบร้อยที่ห้องเวรชี้ซึ่งจุคนได้ 30 คนอย่างไรก็ตาม ที่ห้องเวรชี้ ในวันที่ 7 เม.ย. การถ่ายทอดบรรยากาศการพิจารณาคดีในห้องพิจารณา 704 ผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ไม่มีการเปิดเสียงแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่อ้างว่า ในห้องพิจารณามีการเปิดดูคลิปที่ถูกฟ้อง ซึ่งอาจจะมีเนื้อหายุยงปลุกปั่น แต่ในวันต่อมา เจ้าหน้าที่พยายามหว่านล้อมญาติให้ย้ายไปนั่งในห้องเวรชี้ โดยกล่าวว่า วันนี้จะถ่ายทอดเสียงและภาพชัดที่สุด จะซูมหน้าลูกๆ ให้ดูด้วย แต่ญาติทั้งหมดยังคงยืนกรานจะนั่งบริเวณบันไดและพื้นหน้าแผงรั้วกั้นทางไปห้องพิจารณา 704

เวลา 11.00 น. ของวันที่ 7 เม.ย. ทั้งเก้าคนซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำแต่ละที่จึงถูกนำตัวขึ้นมา ญาติและเพื่อนๆ ต่างตะโกนเรียกชื่อ แต่ทั้งหมดไม่ได้รับโอกาสให้หยุดพูดคุยกับใครเลย ทำได้เพียงชะเง้อมอง แอมมี่ยังพยายามชูสามนิ้วแต่ถูกเก็บนิ้วลงไป ส่วนเพนกวินถูกเข็นมาพร้อมสายน้ำเกลือเช่นเดิม ขาข้างหนึ่งของเขาห้อยออกมาจากที่วางเท้า รุ้งซึ่งเดินเข้ามาหลังสุดตะโกนถามว่าทำไมแม่ยังอยู่ตรงนี้ แม่บอกว่าเขาไม่ให้เข้าไป ทำให้รุ้งหน้าเสียอย่างเห็นได้ชัด  

ภายหลังผู้ต้องขังถูกนำตัวเข้ามาในห้องพิจารณา ผู้พิพากษาได้อนุญาตให้แม่ของผู้ต้องขังบางคนซึ่งยังไม่ได้ยื่นประกันเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 64 เข้าไปพูดคุยกับลูกได้ครั้งละ 2 คน โดยให้เวลาคนละ 10 นาที ขณะพวกเขากำลังปรึกษากันเกี่ยวกับเรื่องการประกันตัว

แม่เพนกวินเล่าให้ฟังว่า เจ้าหน้าที่คนหนึ่งกล่าวกับเธอว่า “วินาทีนี้คุณไม่ต้องมาเรียกร้องอะไรแล้ว รู้ว่าคุณถูกลิดรอนสิทธิ แต่ไม่ต้องมาเรียกร้องสิทธิแล้ว คุณต้องรออย่างเดียว” เป็นคำพูดที่ทำให้เธอรู้สึกแย่ เพราะเธอต้องการเพียงแค่ถามไถ่ความเป็นอยู่ของลูก 

ช่วงบ่ายของวันที่ 8 เม.ย. ขณะที่บุรุษพยาบาลเข็นเพนกวินขึ้นมา โดยมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 2 นาย ควบคุมตัว แม่ได้เรียกให้หยุดรถและขอจับเท้าของเพนกวินว่าเท้าเย็นหรือเปล่า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์พูดเสียงดังว่า เอาตัวเข้าไปเลย ไม่ต้องหยุดคุย แม่เพนกวินยังคงพยายามขอจับเท้าลูก โดยนั่งลงกับพื้นและยื่นแขนเข้าไปในรั้วเพื่อที่จะเอื้อมจับเท้าของลูกที่ห้อยออกจากรถเข็น แต่เพนกวินอยู่ห่างไปกว่าสองช่วงแขน เกินกว่ามือแม่จะเอื้อมถึง ตำรวจศาลกล่าวกับญาติว่า “อย่าทำให้ราชทัณฑ์ลำบากใจ” ญาติๆ ตอบโต้ว่า “ทุกคนในที่นี้ลำบากใจเช่นเดียวกัน ไม่มีใครไม่ลำบาก แค่ขอจับเท้าเท่านั้น” ราชทัณฑ์และตำรวจศาลยังอ้างเรื่องโควิด โดยบอกว่าจะต้องไม่มีการแตะต้องตัวกัน 
.

.

ขณะที่ในห้องเวรชี้ ในวันที่ 8 เม.ย. มีเพียงผู้สังเกตการณ์จาก iLaw และสื่อมวลชนไม่กี่คนเข้าไปนั่งฟังการพิจารณาคดี โดยมีตำรวจศาลถึง 3 คนและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 1 คน เฝ้าอยู่ ทั้งยังมีการสอบถามชื่อ นามสกุล และหน้าที่การงานของผู้มาเข้าฟังการพิจารณาคดี แม้ว่าทุกคนได้ลงทะเบียนก่อนเข้ามาในศาลแล้วก็ตาม

.

ตรวจพยานหลักฐานและกำหนดวันนัดสืบพยาน 

7 เม.ย. 64 เป็นนัดที่ศาลให้จำเลยซึ่งถูกคุมขังมาตรวจพยานหลักฐานที่เป็นวิดิโอร่วมกับทนายความในห้องพิจารณา จึงมีเพียงจำเลยที่ถูกคุมขังรวม 9 คน ถูกเบิกตัวมาศาล โดยมีการตรวจวิดิโอจำนวน 22 ไฟล์ จำเลยที่ถูกขังทั้งเก้า มี 7 คน ถูกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 ในคดีนี้ ได้แก่ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, “หมอลำแบงค์” ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ส่วนอีก 2 คน ถูกฟ้องมาตรา 116 ในคดีนี้ แต่ไม่ได้รับการประกันตัวชั้นสอบสวนในคดี 112 คดีอื่น ได้แก่ “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์ และ “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์   

ทั้งนี้ อานนท์, เพนกวิน, สมยศ และหมอลำแบงค์นั้นถูกคุมขังระหว่างพิจารณาและไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวมาตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. 64 เป็นเวลา 2 เดือนเต็มแล้ว ขณะที่แอมมี่ ถูกขังมา 1 เดือนกับอีก 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค. 64 ส่วน รุ้ง, ไผ่, ไมค์ ถูกคุมขังตั้งแต่วันที่  8 มี.ค. 64 หรือ 1 เดือนเต็ม และชูเกียรติ ถูกขังมา 17 วัน

8 เม.ย. 64 เป็นนัดตรวจพยานหลักฐานซึ่งเลื่อนมาจากวันที่ 29 มี.ค. 64 นอกจากแกนนำทึ่ถูกคุมขัง จำเลยซึ่งถูกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 116 และได้รับการประกันตัว จำนวน 13 คน เดินทางมาศาลด้วย ประกอบด้วย ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, ณัทพัช อัคฮาด, ธนชัย เอื้อฤาชา, ธนพ อัมพะวัติ, ธานี สะสม, ภัทรพงศ์ น้อยผาง, สิทธิทัศน์ จินดารัตน์, สุวรรณา ตาลเหล็ก, อนุรักษ์ เจนตวนิชย์, ณัฐชนน ไพโรจน์ , “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ และอะดิศักดิ์ สมบัติคำ

อัยการโจทก์แถลงว่า มีพยานบุคคล 81 ปาก หากฝ่ายจำเลยรับข้อเท็จจริงตามบันทึกคำให้การของตำรวจชุดจับกุม จำนวน 4 ปาก ที่โจทก์อ้างส่งศาล โจทก์ก็จะไม่ต้องนำพยานทั้งสี่เข้าเบิกความ  ทนายจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงเหลือพยานที่โจทก์จะนำเข้าสืบรวม 77 ปาก แบ่งเป็น 8 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่ 1 ผู้สังเกตการณ์การชุมนุม เบิกความเกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันชุมนุม จํานวน 25 ปาก ใช้เวลาสืบพยาน 8 นัด

กลุ่มที่ 2 สํานักงานเขตกรุงเทพมหานครและกรมศิลปากร เบิกความเกี่ยวกับการทําลายทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร และทําให้สนามหลวงเสียหาย จํานวน 2 ปาก ใช้เวลาสืบพยาน 1 นัด

กลุ่มที่ 3 เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เบิกความเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จํานวน 6 ปาก ใช้เวลาสืบพยาน 2 นัด

กลุ่มที่ 4 เจ้าหน้าที่ตํารวจผู้ถอดเทปและบันทึกภาพ เบิกความเกี่ยวกับการถอดเทปคําปราศรัย จํานวน 9 ปาก ใช้เวลาสืบพยาน 2 นัด

กลุ่มที่ 5 ผู้ให้ถ้อยคําความเห็น เบิกความเกี่ยวกับการให้ความเห็นในการปราศรัย จํานวน 16 ปาก ใช้เวลาสืบพยาน 5 นัด

กลุ่มที่ 5 ตํารวจชุดจับกุม และพนักงานสอบสวน จํานวน 6 ปาก ใช้เวลาสืบพยาน 2 นัด

กลุ่มที่ 7 ตํารวจชุดตรวจสถานที่เกิดเหตุและรับรองว่าเทปไม่ได้ตัดต่อ จํานวน 3 ปาก ใช้เวลาสืบพยาน 1 นัด

กลุ่มที่ 8 ตํารวจตรวจสอบการใช้สื่อออนไลน์ จํานวน 10 ปาก ใช้เวลาสืบ 3 นัด 

รวมใช้เวลาสืบพยานโจทก์ 24 นัด

ในส่วนของพยานจำเลย จําเลยทั้ง 22 และทนายจําเลยแถลงข้อต่อสู้ว่าไม่ได้กระทําความผิด โดยจําเลยทั้ง 22 อ้างตนเองเป็นพยาน นอกจากนี้ ได้อ้างอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นพยานจำเลยอีก 1 ปาก และจะอ้างพยานเพิ่มเติมอีก 5 ปาก ใช้เวลาสืบ 19 นัด ด้านปติวัฒน์ จําเลยที่ 3 นอกจากอ้างตนเองเป็นพยาน จะอ้างพยานอื่นที่ไม่ซ้ำกับจําเลยอื่นอีก 4 ปาก ใช้เวลาสืบรวม 2 นัด รวมสืบพยานจำเลย 21 นัด

จําเลยที่ 1 ถึง 22  แถลงว่า หากโจทก์ยอมรับว่าพยานที่จะเพิ่มเติมภายหลังเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ และผู้เผยแพร่พยานเอกสารจะไม่ติดใจสืบพยานดังกล่าว โจทก์แถลงไม่รับข้อเท็จจริงตามที่จําเลยทั้งหมดแถลง และขอให้จําเลยนําพยานเข้าสืบเพื่อต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ จําเลยทั้งยี่สิบสองจึงขอนําพยานทั้งหมดเข้าสืบตามที่แจ้งในบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมในภายหลัง

ทั้งนี้ โจทก์และจำเลยกำหนดนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 19-21, 25, 27 พ.ค., 8, 15, 22 มิ.ย., 8-9, 13-16, 23, 29, 30 ก.ค., 7, 14, 21-23, 28-29 ก.ย. 64 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 5, 7-8, 12, 15 ต.ค., 2-5, 9-12 พ.ย. และ 1-3, 7-9, 14-16 ธ.ค. 64 

.

ห้องพิจารณาคดี 704: อึดอัด เคร่งเครียด กล่าวหา บีบคั้น ก่อนการถอนทนาย

8 เม.ย. 64 มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ในห้องพิจารณาถึง 20 คน และตำรวจศาล 14 คน ยังไม่รวมบุรุษพยาบาลที่ดูแลเพนกวินอีก 2 คน โดยในห้องมีจำเลยที่เป็นผู้ต้องขังเพียง 9 คน เท่านั้น โดยช่วงเช้ามีนักการทูตจากประเทศสเปนและลักเซมเบิร์ก พร้อมล่ามอีก 1 คน รวมทั้งตำรวจในและนอกเครื่องแบบ 2 นาย ได้รับอนุญาตให้เข้าฟังการพิจารณาคดี
.

 .

แม้ญาติผู้ต้องขังทั้งหมดไม่สามารถเข้าห้องพิจารณาได้เลย แต่ลูกสาวของอานนท์ได้เดินตามทนายที่เธอคุ้นเคยเข้าไปโดยที่ไม่มีใครขัดขวาง เธอไปนั่งวาดรูประบายสีอยู่ใต้โต๊ะทนายความอย่างเงียบๆ เมื่ออานนท์ถูกนำตัวเข้ามาในห้องพิจารณา เธอจึงคลานออกจากใต้โต๊ะทนายความและวิ่งมากอดขาของเขา จากนั้นกางมือออกขอให้อานนท์อุ้ม อานนท์ได้อุ้มลูกสาวขึ้นมาและเอามานั่งบนตัก ทั้งคู่กอดหอมกันจนพอใจ ขณะที่บรรยากาศโดยรวมของห้องพิจารณาเต็มไปด้วยความตึงเครียด แต่แอร์ที่เย็นทำให้ลูกสาวที่นั่งอยู่กับอานนท์ตลอดกระบวนการพิจารณาคดี หลับไปบนตักของเขาในบางจังหวะ

ทนายจำเลยถ่ายทอดบรรยากาศในห้องพิจารณาที่เต็มไปด้วยความน่าอึดอัดว่า เรื่องแรกสุดที่ทีมทนายจำเลยแถลงต่อศาลคือ ขอให้ญาติที่มารอได้เข้าฟังการพิจารณาและได้พบกับจำเลยที่ถูกคุมขังอยู่ เนื่องจากทางเรือนจำตัดสิทธิไม่ให้ญาติเข้าเยี่ยมมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว มีการแถลงถึง 2 รอบ ในช่วงเช้า โดยศาลตอบว่าจะพิจารณาปรึกษากับผู้บริหาร แต่จนถึงบ่าย ญาติยังคงไม่ได้เข้า ทนายจำเลยจึงแถลงต่อศาลอีกครั้งเป็นครั้งที่ 3 ทวงถามเรื่องที่ศาลจะพิจารณาให้ญาติได้เข้าฟังการพิจารณาในห้องได้ อย่างไรก็ตาม ตลอดทั้งสองวันไม่มีการอนุญาตให้ญาติเข้าฟังการพิจารณาแต่อย่างใด ศาลเพียงแต่เอ่ยหลายครั้งว่า “จะอำนวยความยุติธรรม ไม่กีดกันวิธีการสู้ของจำเลย”

ความเคร่งเครียดในห้องพิจารณาเป็นผลมาจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้มงวดกับผู้ต้องขังเป็นอย่างมาก แม้ไม่อนุญาตให้ญาติเข้าฟังการพิจารณา การพูดคุยกับทนายความก็ไม่ได้เป็นไปอย่างสะดวก ทุกๆ ครั้งที่ทนายความเข้าพูดคุยกับจำเลย เจ้าหน้าที่จะต้องขยับตัวเข้ามาจนชิดทนายความและจำเลย และไม่อนุญาตให้จำเลยที่ถูกคุมขังกับจำเลยที่ไม่ถูกคุมขังพูดคุยกัน

อัยการแถลงถึงรายชื่อพยานโจทก์ที่จะนำเข้าสืบ โดยส่วนหนึ่งเป็นพยานที่จะเข้าให้ความเห็น อาทิ อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์, ตุลย์ สิทธิสมวงศ์, ไชยยันต์ ไชยพร ทำให้จำเลยหัวเราะเสียงดังในห้องพิจารณาเนื่องจากเห็นว่าการเอาพยานโจทก์ซึ่งเป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่าอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับจำเลยมาให้ความเห็น เป็นการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะปรักปรำจำเลยอย่างยิ่ง

เมื่อฝ่ายจำเลยซึ่งมีอานนท์เป็นตัวแทน แถลงถึงพยานบุคคลและพยานเอกสารของจำเลย และได้ขอให้อัยการรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข่าวของพระพันปีหลวง เพื่อจะได้ไม่ต้องสืบพยานในเรื่องดังกล่าว แต่อัยการไม่รับและขอให้นำพยานมาสืบ

ในช่วงบ่ายซึ่งการตรวจพยานหลักฐานยังไม่เสร็จ อานนท์ขอให้ศาลบันทึกในประเด็นที่จำเลยจะอ้างรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศกับกงศุลใหญ่ ณ นครมิวนิก เข้ามาเป็นพยานจำเลย โดยกล่าวว่าหากโจทก์รับข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ จำเลยก็จะไม่ต้องนำพยานเข้าสืบ พร้อมทั้งแถลงถึงประเด็นที่จะนำสืบพยานจำเลยปากดังกล่าวใน 3 ประเด็น คือ 1. ระหว่างเกิดเหตุคดีนี้รัชกาลที่ 10 อยู่ที่ประเทศเยอรมันหรือไม่ 2. มีการเช่าเหมาโรงแรมที่แคว้นบาบาเรียของเยอรมันหรือไม่ 3. รัชกาลที่ 10 ได้แต่งตัวเหมือนจัสตินบีเบอร์หรือไม่ แต่ศาลกล่าวว่า จะบันทึกเท่าที่บันทึกได้ อานนท์จึงแย้งว่า ผมเข้าใจว่าประเด็นเช่นนี้ละเอียดอ่อน แต่หากศาลไม่บันทึกเรื่องนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการต่อสู้คดีต่อไป หากท่านไม่ได้เป็นผู้พิพากษาในคดีนี้ต่อ 

อย่างไรก็ตาม ศาลยังคงไม่บันทึกประเด็นดังกล่าวลงในรายงานกระบวนพิจารณา หลังการโต้แย้งกันซักพัก อานนท์กล่าวว่า “แม้แต่เรื่องบางเรื่องที่รู้ๆ กันอยู่ ท่านก็ยังไม่บันทึกเลย แค่นี้เราก็ยังพูดไม่ได้ แม้ถึงเวลาเบิกความผมก็ทราบดีว่า พวกท่านจะกล่าวว่าไม่รู้ ไม่ทราบ ไม่รับรอง” และกล่าวว่า “ถ้าศาลมาติดคุกเหมือนผม ศาลจะรู้ว่ามันเป็นยังไง” ระหว่างการโต้แย้งกันในประเด็นดังกล่าว ด้านหน้าห้องพิจารณาคดีก็มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้ามายืนกันมากขึ้น

ประมาณบ่ายสองโมง ตำรวจศาลรายงานผ่านวิทยุสื่อสารว่า อะดิศักดิ์ หนึ่งในจำเลย ตบหลังเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ด้วยน้ำหนักที่แรง เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวแถลงต่อศาลถึงพฤติกรรมของอะดิศักดิ์และขอให้ศาลตั้งสำนวนละเมิดอำนาจศาล ศาลจึงให้ตำรวจศาลเรียกดูกล้องวงจรปิด เกิดการโต้เถียงกันระหว่างเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์กับอะดิศักดิ์และจำเลยที่เหลือ โดยอะดิศักดิ์ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ยืนบังผู้พิพากษา เขาแค่ไปสะกิดให้ขยับออก เพราะพวกจำเลยต้องการจะมองเห็นและได้ยินว่าผู้พิพากษาพูดอะไร 

ระหว่างนั้นไผ่ จตุภัทร์ ได้แถลงต่อศาลเรื่องความยุ่งยากในกระบวนการพิจารณาคดี โดยกล่าวว่า “มันเกินไปที่ท่านทำกับพวกเราอย่างจำกัด จะคุยกับทนายยังลำบาก ในส่วนของราชทัณฑ์ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมนั้นจะควบคุมก็ได้ แต่ปัจจุบันมีลักษณะควบคุมจนรุ่มร่าม”

ทนายเยาวลักษ์กล่าวขึ้นว่า “บรรยากาศในศาลตอนนี้เหมือนเรือนจำในค่ายทหาร เหมือนคุกกวนตานาโม ทนายที่ว่าความให้จำเลยในคุกกวนตานาโมยังมีสิทธิมากกว่านี้” อานนท์จึงพูดเสริมว่า “ท่านรู้สึกมั้ยว่าบรรยากาศในห้องพิจารณามันเหมือนคุกและท่านทำตัวเหมือนหัวหน้าผู้คุม เราจะขออะไรก็ต้องถามฝ่ายบริหารก่อน” ศาลบอกว่า “ถ้าท่านพูดแบบนี้ ศาลรับไม่ได้” และให้อานนท์กลับไปนั่ง ก่อนที่อานนท์จะกล่าวว่า “หากผมทำให้ท่านโกรธผมก็ขอโทษ”

หลังการแถลงของไผ่ ศาลอนุญาตให้จำเลยที่ถูกคุมขังพูดคุยปรึกษากันในเรื่องคดีความ โดยให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ถอยออกไป ขณะที่ศาลทำการบันทึกรายงานกระบวนพิจารณา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ตำแหน่งผู้ชำนาญการเดินเข้าไปแจ้งเรื่องกับศาล จากนั้นศาลกล่าวขึ้นว่า หากมีเรื่องดังกล่าวจริงศาลจะตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาลและเรียกไต่สวน คาดว่าหมายถึงเรื่องที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อ้างว่า อะดิศักดิ์ หนึ่งในจำเลยที่ไม่ได้ถูกคุมขังได้ทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์

ระหว่างที่การพิจารณาคดีในวันนี้กำลังจะจบลง ศาลได้กล่าวถึงเรื่องการที่มีคนกล่าวหาว่า ศาลบังคับให้จำเลยรับเงื่อนไขในการประกันตัว ก่อนสอบถามแบงค์ ไผ่ และสมยศ ถึงความสมัครใจในการแถลงเงื่อนไขขอประกันตัวเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 64 ทำให้หมอลำแบงค์ต้องเอ่ยปากอีกครั้งว่า “จำเลยแถลงด้วยความสมัครใจ” ว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการชุมนุมทุกที่ และจะไม่กล่าวพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ กลับไปประกอบอาชีพหาเลี้ยงตน รวมทั้งจะไม่เข้าร่วมกิจกรรมที่ทําให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสียโดยเด็ดขาด ยินดีที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขในการขอปล่อยตัวชั่วคราวทุกประการ โดยได้กล่าวย้ำถึง 2 ครั้ง

ส่วนไผ่และสมยศแถลงว่า ตนยืนยันตามที่ได้แถลงไปแล้วในวันที่ 29 มี.ค. 64 เป็นการแถลงด้วยความสมัครใจ ไม่ได้ถูกบังคับ ขู่เข็ญ เพื่อให้แถลงข้อเท็จจริงดังกล่าว ในส่วนของสมยศได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การกำหนดเงื่อนไขเช่นนี้จะทำให้ศาลเสื่อมเสียเองเพราะตนควรได้รับสิทธิในการประกันตัวตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

ในเวลาประมาณ 15.20 น. ภายหลังทั้ง 3 คนแถลงตอบศาล อานนท์ได้ขอแถลงอีกครั้งโดยกล่าวว่า “ให้ผมพูดเถอะ นี่น่าจะเป็นวันสุดท้ายที่ผมจะได้พูดแล้ว  ที่ท่านถามแบบนี้ ท่านกำลังพยายามบีบให้ผมรับเงื่อนไขใช่หรือไม่ กระบวนการยุติธรรมเช่นนี้ โบยตีและทำให้ผมสูญเสียความเป็นมนุษย์ ถ้าหากห้ามไม่ให้ผมพูดในสิ่งที่เชื่อ” อานนท์พยายามจะแถลงต่อศาลหลายช่วงหลายตอน แต่ศาลไม่ได้อนุญาตให้เขาพูดมากนัก สุดท้ายอานนท์จึงเขียนคำแถลงยื่นต่อศาล

     อ่านคำแถลงของอานนท์>> “ห้องพิจารณาถูกทำให้เป็นเสมือนคุก”

.


.

ช่วงสุดท้ายของนัดตรวจพยานหลักฐานทนายจำเลยเข้าหารือกับศาลถึงความประสงค์ของจำเลย 21 คน ที่จะถอนทนายความ ต่อมา จำเลยทั้ง 21 แถลงต่อศาลขอถอนทนายความ เพื่อประท้วงกระบวนการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม โดยมีเหตุผลใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ

1. จำเลยไม่ได้รับสิทธิในการปรึกษาหารือกันในทางคดีอย่างเป็นส่วนตัวและเป็นความลับ ระหว่างทนายความและลูกความ เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมจนสิทธิของจําเลยและทนายความถูกละเมิดแม้อยู่ในห้องพิจารณาคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการออกมาตรการรักษาความปลอดภัยหลายส่วน  มีทั้งการตรวจเช็ครายชื่อทนายจําเลยและจําเลยที่เข้าร่วมการพิจารณาคดีอย่างเข้มงวด การทําร้ายร่างกายทนายความที่กําลังใช้สิทธิปรึกษากับจําเลยเป็นการเฉพาะตัว การยึดโทรศัพท์ของทนายจําเลย 

2. จําเลยที่ต้องขังและจําเลยที่ได้รับการประกันตัวไม่ได้รับสิทธิในการปรึกษาหารือกันในทางคดี ไม่อนุญาตให้พูดคุยหารือกันอย่างเพียงพอ

3. คดีนี้ศาลไม่ได้สั่งให้พิจารณาคดีลับ แต่กลับมีคําสั่งหรือมาตรการต่างๆ ในการไม่อนุญาตให้ครอบครัว และ/หรือ ญาติของจําเลย รวมทั้งบุคคลภายนอกเข้ารับฟังการพิจารณาคดีได้ ตามหลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยและโปร่งใส จําเลยและทนายความได้แถลงต่อศาลหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณา โดยอ้างถึงพฤติการณ์เดิม

ดังนั้น จําเลยทั้งหมด ยกเว้นปติวัฒน์ จึงขอถอนทนายความ และทนายความของจําเลยดังกล่าวขอถอนตัวจากการปฏิบัติหน้าที่ทนายจำเลย เพราะไม่สามารถยอมรับกระบวนการพิจารณาคดีที่ไม่คํานึงสิทธิของจําเลยนี้ได้

ไมค์ขอให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์พาตัวตนลงไปที่คุมขังใต้ถุนศาลทันทีหลังเซ็นเอกสารถอนทนายเพื่อปฏิเสธกระบวนการอยุติธรรม “ไมค์ไม่โอเค” ไมค์พูดเสียงสั่น แล้วหันหลังเดินไปอย่างรวดเร็ว เขารู้สึกว่าวันนี้เขาถูกปฏิบัติเสมือนขอทานที่ต้องอ้อนวอนร้องขอเรื่องที่เป็นธรรมดาที่พึงได้ เขาจึงไม่ต้องการมีส่วนร่วมใดๆ กับกระบวนการนี้อีกแล้ว ไมค์เดินมาพูดกับแม่ของตนเองอีกครั้งในเวลา 16.30 น. ว่า “ผมจะไม่ร่วมกระบวนพิจารณานี้อีก เพราะมันไม่เป็นธรรม ไม่ยอมรับ” 

ในวันนี้ยังมีการแจ้งข้อกล่าวหา ไผ่และเพนกวิน ที่ห้องเวรชี้ 1 โดยมีญาติได้เข้าฟังการแจ้งข้อกล่าวหา คือพ่อแม่และแฟนของไผ่ กับน้องสาวและแม่ของเพนกวิน โดยพนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ต้องทำหนังสือขออนุญาตกรมราชทัณฑ์ให้ผู้ไว้วางใจของผู้ต้องหาเข้าฟังการแจ้งข้อกล่าวหา ก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น จะเข้าแจ้งข้อกล่าวหาตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย. 64 แต่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไม่อนุญาตให้ผู้ไว้วางใจเข้าร่วม ทำให้เพนกวินปฏิเสธการแจ้งข้อกล่าวหา

.

X