การแตกตัวของจักรวาลคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร: สรรพสิ่งที่เกิดขึ้นหลังแกนนำราษฎรถูกขังกว่า 100 วัน

แฮชแท็ก #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เป็นแฮชแท็กที่ใช้กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มประชาชนซึ่งรวมตัวกันในนาม “กลุ่มราษฎร”  ระหว่างวันที่ 19-20 ก.ย. 63 ณ ท้องสนามหลวงและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การชุมนุมดังกล่าวเป็นที่กล่าวถึงในหลายแง่มุม อาทิ เป็นการชุมนุมที่เรียกได้ว่ามีผู้เข้าร่วมจำนวนมากราว 200,000 คนและมีปักหลักพักค้างบริเวณภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และท้องสนามหลวง การชุมนุมในวันดังกล่าวมีการตั้งเวทีขนาดใหญ่และมีผู้ขึ้นปราศรัยสลับสับเปลี่ยนกับกิจกรรมตลอดทั้งคืน 

นอกจากนี้ยังมีการทำพิธีนำหมุดคณะราษฎร 2563 ไปฝังบริเวณแผ่นซีเมนต์ของสนามหลวงเช้ามืดของวันที่ 20 ก.ย. พริษฐ์และปนัสยา สองแกนนำยังได้สลับกันอ่านประกาศคณะราษฎร 2563 ย้ำถึงปัญหาสถานะอำนาจและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบัน และย้ำ 10 ข้อเรียกร้อง ในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพื่อให้สถาบันกษัตริย์คงอยู่ได้ในสังคมสมัยใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย

หลังอ่านแถลงการณ์ ผู้จัดการชุมนุม ประกาศจะไม่เดินขบวนไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่จะไปยื่นหนังสือ 3 ข้อเรียกร้องและ 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ผ่านประธานองคมนตรี ที่ทำเนียบองคมนตรี ซึ่งอยู่บริเวณพระราชอุทยานสราญรมย์ ไม่ไกลจากสนามหลวง เพื่อหวังให้องคมนตรีผู้เป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ แจ้งเจตจำนงของประชาชนต่อพระมหากษัตริย์

อ่าน: ประมวลสถานการณ์การชุมนุม#19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ณ ท้องสนามหลวง

คดีนี้มีประชาชนถูกฟ้องเป็นจำเลยรวม 22 คน อัยการยื่นฟ้องในวันที่ 9 ก.พ. 64 รวม 4 คน และในวันที่ 8 มี.ค. 64 อีก 18 คน โดยมี 7 คน ถูกฟ้องฐาน “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งทั้งหมดไม่ได้รับการประกันตัว

นับเป็นการฟ้องคดีต่อศาลในฐานความผิดตามมาตรา 112 คดีแรกตั้งแต่มีการชุมนุมเยาวชนปลดแอกเพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 63 คดีนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวให้ตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ประมวลเรื่องราวเหล่านั้นมาไว้ด้วยกัน


1. อัยการเร่งรัดฟ้องคดีใน 15 วัน

สำนวนคดีนี้ถึงมือ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 ครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 64 เมื่อพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ส่งตัว “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ พร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ ก่อนอัยการจะนัดฟังคำสั่งในวันที่ 9 ก.พ. 64 เช่นเดียวกับ “หมอลำแบงค์” ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และอานนท์ นำภา ที่พนักงานสอบสวนนัดส่งตัวให้อัยการในวันที่ 28 ม.ค. และ 1 ก.พ. 64 ตามลำดับ

จากนั้น อัยการใช้เวลาพิจารณาสำนวนคดีเพียง 15 วัน และมีคำสั่งฟ้องนักกิจกรรมทั้งสี่หลายข้อหา ที่สำคัญคือมาตรา 112 และ 116 แม้ว่าในวันนั้นทั้งสี่ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมให้สอบพยานเพิ่ม 2 ปาก ในหลายประเด็น เช่น หลักสิทธิมนุษยชนกับปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 แต่อัยการเห็นว่าพยานที่ผู้ต้องหาขอให้สอบเพิ่มไม่มีผลให้เปลี่ยนแปลงความเห็น เป็นเหตุให้เพนกวินเอ่ยขึ้นในวันนั้นว่า “กระบวนการอัยการประเทศนี้ไม่สนใจสิทธิเสรีภาพของประชาชน”


2. 8 จำเลยไม่ได้รับสิทธิประกันตัวนานนับเดือน 

ทันทีที่คดีฟ้องขึ้นสู่ศาล ศาลก็ทำประหนึ่งได้พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดแล้ว ด้วยการไม่ให้ประกันจำเลย 4 คนแรก ที่ถูกฟ้องในข้อหา 112 แม้ว่าอัยการไม่ได้คัดค้านการให้ประกันมาในคำฟ้อง โดยเทวัญ รอดเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ระบุในคำสั่งว่า “…การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำๆ ต่างกรรมต่างวาระตามข้อกล่าวหาเดิมหลายครั้งหลายครา กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก…” 

เช่นเดียวกับศาลอุทธรณ์ที่มีคำสั่งไม่ให้ประกัน เหมือนวินิจฉัยการกระทำของจำเลยไปล่วงหน้า แม้จำเลยทั้งสี่จะอุทธรณ์ว่าคำสั่งไม่ให้ประกันของศาลอาญา ขัดต่อหลักการสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด โดยศาลอุทธรณ์ให้เหตุผลในคำสั่งไม่ให้ประกันว่า “การกระทำตามฟ้องมีลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำความผิดของกลุ่มบุคคล อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือความวุ่นวายขึ้นและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยจำเลยขึ้นปราศรัยด้วยถ้อยคำที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์”

คำสั่งทำนองเดียวกัน ยังใช้ในการไม่ให้ประกัน “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หลังอัยการยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 64 รวมทั้งถูกนำมาใช้เป็นเหตุไม่ให้ประกันตัวจำเลย 112 ทั้งเจ็ด ในอีกหลายครั้งที่มีการยื่นประกัน โดยระบุว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งไม่ให้ประกันมาก่อนแล้ว กรณียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

นอกจากจำเลย 112 เจ็ดคนซึ่งเป็นผู้ปราศรัยในการชุมนุมครั้งนี้ คดีนี้ “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ ที่ถูกฟ้องในข้อหา 116 ก็ไม่ได้รับการประกันตัวด้วย หลังถูกจับกุมและถูกขังในคดี 112 จากการถูกกล่าวหาว่าเผาพระบรมฉายาลักษณ์หน้าเรือนจำคลองเปรม

หลังการยื่นประกันหลายครั้ง และมีกระแสเรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังทางการเมือง ศาลจึงทยอยให้ประกันตัวอย่างมีเงื่อนไขในเดือนเมษายน – มิถุนายน โดยแต่ละคนสูญเสียอิสรภาพไปไม่น้อยกว่า 47 วัน หรือเดือนครึ่ง

หากย้อนกลับไปดูในช่วงเดือนตุลาคม 63 ทั้งเจ็ดคนเคยถูกจับกุมและศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวในชั้นฝากขังมาแล้ว แม้ขณะนั้นมีเพียงข้อหามาตรา 116 ทั้งหมดถูกขังราว 7 – 17 วัน ก่อนศาลให้ประกันไผ่ และไม่อนุญาตให้ฝากขังคนอื่นๆ ต่อ

3. ราชทัณฑ์รีบร้อนนำตัว รุ้ง-ไมค์-ไผ่ ไปเรือนจำ ทั้งขังไม่ตรงหมายขัง 8 วัน 

ภายหลังศาลรับฟ้องจำเลยอีก 18 ราย ในวันที่ 8 มี.ค. 64 รุ้ง ไมค์ และไผ่ ซึ่งเป็น 3 ราย ที่ถูกฟ้องข้อหา 112 ถูกคุมตัวขึ้นรถตู้ออกจากศาลไปในเวลา 15.30 น. โดยครอบครัวไม่ทราบ จนแม่ไผ่และพี่สาวรุ้งถึงกับร่ำไห้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมให้ได้พูดคุยร่ำลา ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวในเวลา 16.00 น. กรณีนี้เป็นที่สงสัยต่อความรีบร้อนที่ผิดปกติของราชทัณฑ์ แม้ว่าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะสามารถนำตัวจำเลยไปเรือนจำได้ทันทีที่ศาลรับฟ้องและออกหมายขัง แต่โดยปกติหากจำเลยยื่นประกันตัวเจ้าหน้าที่ก็จะรอให้ศาลมีคำสั่งก่อน 

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ยังนำตัวไมค์และไผ่ พร้อมด้วย “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ ที่ไม่ได้ประกันในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นอั้งยี่ ไปขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรี แทนที่จะเป็นเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตามหมายขังของศาล นำมาซึ่งการตั้งคำถามของประชาชน และทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกคำสั่งให้ราชทัณฑ์นำตัวทั้งสามมาคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพราะต้องจัดการให้เป็นไปตามเขตอำนาจของศาล และการนำตัวไปขังในเรือนจำที่ห่างไกลกระทบต่อสิทธิของผู้ต้องขัง เนื่องจากทนายความและญาติเข้าเยี่ยมไม่สะดวก

กรณีนี้ศาลได้เรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาไต่สวน โดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำคำสั่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ลงวันที่ 10 มี.ค. 64 สั่งย้อนหลังให้ย้ายผู้ต้องขังไปยังเรือนจำพิเศษธนบุรีตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 64 มาอ้างส่งศาล ก่อนศาลมีคำสั่งว่า การคุมขังทั้งสามคนที่เรือนจำพิเศษธนบุรีชอบด้วยกฎหมายแล้ว เนื่องจากในวันดังกล่าวมีกลุ่มมวลชนรวมตัวกันที่หน้าศาลอาญา และเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มากกว่าทุกครั้ง อาจจะเกิดความไม่สงบเรียบร้อย มีเหตุจำเป็นที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ใช้ดุลพินิจย้ายทั้งสามไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรีแล้วแจ้งให้ศาลทราบได้ แต่เมื่อเหตุจำเป็นหมดสิ้นไปแล้ว จึงให้ย้ายทั้งสามไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในวันที่ 15 มี.ค. 64



4. เรือนจำตรวจโควิดยามวิกาล 6 ผู้ต้องขัง 

เมื่อไมค์, ไผ่ จำเลยในคดีนี้ รวมทั้งโตโต้ ผู้ต้องหาในคดีอื่น ถูกย้ายเรือนจำกลับไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตามหมายขังและตามคำสั่งศาล กลับเกิดเหตุการณ์ที่ผู้คุมพยายามจะเอาตัวทั้งสาม รวมทั้งอีก 4 คนที่ถูกขังอยู่ก่อนแล้ว ออกไปควบคุมนอกแดนถึง 4 ครั้ง ในช่วงกลางดึก อ้างเพียงว่าจะเอาตัวไปตรวจโควิด ซึ่งผิดปกติวิสัยของเรือนจำที่จะไม่นำผู้ต้องขังออกนอกแดนในเวลาหลังเที่ยงคืน ทำให้เกรงกันว่าทั้งหมดจะถูกนำตัวไปทำร้ายถึงชีวิต เป็นเหตุให้เช้าวันรุ่งขึ้น อานนท์เขียนคำร้องถึงศาลอาญา 

ในการไต่สวนคำร้องดังกล่าว อานนท์แถลงต่อศาลว่า “คนที่ช่วยชีวิตผมได้มีแค่ศาล ญาติหรือทนายก็ช่วยผมไม่ได้ ท่านทราบหรือไม่ว่า ท่านกำลังนั่งอยู่ตรงหน้าคนที่กำลังจะตาย” 

สุดท้ายศาลมีคำสั่งต่อเรื่องดังกล่าวว่า เชื่อว่าการอํานวยการปฏิบัติงานของนายแพทย์วีระกิตติ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นไปเพื่อตรวจหาเชื้อโควิด และแยกตัวไมค์, ไผ่, โตโต้ไปคุมขังในสถานที่อื่น ไม่ได้มุ่งหมายข่มขู่ คุกคาม หรือทําอันตรายอานนท์กับพวก 

อย่างไรก็ตาม อานนท์กับพวกเพียงถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดี ย่อมได้รับความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และคงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การกระทําของเจ้าพนักงานเรือนจํา แม้จะไม่ถึงขนาดละเมิดกฎหมาย แต่ก็ถือเป็นการกระทําโดยไม่คํานึงถึงสิทธิของผู้ต้องขังอย่างเหมาะสม เห็นควรให้เจ้าพนักงานเรือนจําทําหน้าที่โดยระมัดระวัง เพื่อให้อานนท์กับพวกได้รับการคุ้มครองตามสิทธิที่กฎหมายรับรอง

5. เพนกวิน-รุ้ง อดอาหารเรียกร้องสิทธิในประกันตัวร่วม 2 เดือน

ในนัดตรวจพยานหลักฐาน 15 มี.ค. 64 หลังการถูกคุมขังมา 35 วัน ยื่นประกันไปแล้ว 5 ครั้ง โดยยกความจำเป็นด้านการศึกษาให้ศาลพิจารณาให้ประกัน แต่ไม่ได้รับการพิจารณา เพนกวินจึงประกาศอดอาหารในห้องพิจารณาคดีเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว “ข้าพเจ้าไม่ได้มีเจตนาจะปลิดชีวิตของตน แต่จะขอทรมานตนเอง เพื่อให้ความทรมานที่เกิดกับข้าพเจ้าเป็นประจักษ์พยานแห่งความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น เป็นประกายไฟสะกิดมโนสำนึกของพวกท่าน และเป็นข้อพิสูจน์ว่าความจริงไม่เกรงกลัวต่อความทุกข์ทรมานใด ๆ”

ตอนหนึ่งของคำแถลงต่อศาลยังระบุว่า “ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นมะเร็งร้ายที่กัดกินประชาธิปไตยไทยมาโดยตลอด ในช่วงทศวรรษแห่งความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา มาตรา 112 ถูกใช้เป็นอาวุธทิ่มแทงทำร้ายฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองมานับครั้งไม่ถ้วน”

ให้หลังอีก 14 วัน ในนัดตรวจพยานหลักฐานครั้งถัดมา เพนกวินซึ่งดูอิดโรยถูกนำตัวมายังห้องพิจารณาด้วยรถเข็นวีลแชร์พร้อมขวดน้ำเกลือ ในวันนั้นรุ้งแถลงด้วยน้ำตาประกาศอดอาหารเรียกร้องสิทธิไปพร้อมกับเพนกวินว่า “หนูฝันถึงสังคมและอนาคตที่ดีกว่า… หนูคิดมาตลอดว่า เราสู้เพื่ออยู่ ไม่ได้สู้เพื่อตาย แต่ถ้าจะมีใครตาย ก็ขอให้ตายเพื่อคนที่ยังอยู่… ขอให้การตายของเราเป็นสายธารนำความหวังสู่สังคม”

อย่างไรก็ตาม การอดอาหารของทั้งสองซึ่งหวังปลุกมโนสำนึกของศาลและคนในสังคม ไม่ได้นำมาซึ่งการให้ประกันของศาล  แม้จนถึงวันที่ 47 ซึ่งเพนกวินถ่ายเป็นเลือดและมีก้อนคล้ายเนื้อเยื่อจนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่กลับเป็นหนทางต่อสู้ของผู้ต้องขังคนอื่น ทั้ง “ฟ้า” พรหมศร วีระธรรมจารี, พรชัย, “แฟรงค์” ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร และ “ตี้” วรรณวลี ธรรมสัตยา ตลอดจนประชาชนที่มองเห็นความไม่เป็นธรรม หลายคนร่วมอดอาหารหน้าศาลอาญาฯ และหลายคนประกาศอดอาหารในชีวิตประจำวัน   

จนกระทั่งรุ้งอดอาหารเป็นวันที่ 38 จึงได้รับการประกันตัว ส่วนเพนกวินต้องอดอาหารอยู่ถึง 58 วัน


6. เพิ่มข้อกำหนด – ปิดใต้ถุนศาล – งดเยี่ยมและซื้ออาหาร กระทบผู้ต้องขังทั้งหมด

หลังเหตุการณ์เพนกวินอ่านแถลงการณ์ในห้องพิจารณา ศาลอาญาออกข้อกำหนดว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา ลงวันที่ 17 มี.ค. 64 พิมพ์ลงป้ายไวนิลขนาดใหญ่ติดตั้งไว้บริเวณหน้าบันไดทางขึ้นศาล ระบุข้อควรปฎิบัติตนในศาลรวม 6 ข้อ 2 ข้อแรก เป็นเนื้อหาที่ระบุห้ามผู้มีพฤติการณ์ก่อความไม่สงบเรียบร้อยหรือสนับสนุนการกระทำดังกล่าว เข้า-ออก ศาลอาญา หรือเข้ามาในห้องพิจารณา 

นอกจากการออกข้อกำหนดเพิ่มแล้ว ในนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 29 มี.ค., 7 และ 8 เม.ย. 64 ญาติไม่สามารถเดินลงไปยังใต้ถุนศาลเพื่อซื้ออาหารให้ผู้ถูกคุมขังได้ เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ศาล จะเลี้ยงข้าวทุกคนเอง บางวันมีการติดป้าย “งดเยี่ยม” คาดว่าเป็นการป้องกันมวลชนที่มาให้กำลังใจแกนนำ รวมทั้งสื่อมวลชนได้เห็นภาพหรือสื่อสารพูดคุยกับผู้ต้องขัง บางครั้งมีการปิดประตูเหล็กหรือนำกระดานไวท์บอร์ดมากั้น ไม่ให้สื่อถ่ายภาพเพนกวินขณะนั่งบนรถเข็นและมีขวดน้ำเกลือ มาตรการเข้มงวดเกินจำเป็นเหล่านี้ ไม่เพียงกระทบสิทธิของผู้ต้องขังและจำเลยในคดีนี้เท่านั้น แต่ยังกระทบต่อสิทธิของผู้ต้องขังในคดีอื่นๆ ทั้งหมด 


7. แยกลงทะเบียน วางกำลังคุมเข้มทั้งนอก-ในห้องพิจารณา ญาติ-ทนาย พูดคุยกับจำเลยที่ถูกคุมขังแทบไม่ได้

แม้ว่าก่อนการเข้าศาลอาญาจะต้องสแกนกระเป๋าและบัตรประชาชนเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ในนัดพิจารณาคดี #19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร พบว่า มีมาตรการที่เข้มงวดหลายอย่างเพิ่มขึ้น อาทิ รปภ.ศาลตั้งเต็นท์ตรวจบัตรตั้งแต่หน้าธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นทางเดินเข้าสู่ศาล กำลังตำรวจควบคุมฝูงชนหลายสิบนายคอยควบคุมบริเวณรั้วและประตูทางเข้าออก บางวันมีรถเครื่องเสียงของตำรวจ รถจีโน รถห้องขัง แม้กระทั่งมีการวางลวดหนามตลอดแนวศาล 

ประชาชนที่มาติดต่อราชการที่ศาลอาญาจะถูกสอบถามและให้ลงทะเบียน ส่วนผู้ที่มาติดตามคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ต้องลงทะเบียนแยกต่างหาก และได้รับบัตรคล้องคอที่แยกสีกัน ระหว่างญาติจำเลยที่ถูกคุมขังซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้าห้องพิจารณา กับประชาชนทั่วไปซึ่งได้เข้าฟังแค่ห้องคอนเฟอเรนซ์ ช่วงวันที่ 6 พ.ค. 64 ซึ่งมีการไต่สวนประกันตัวรุ้ง เจ้าหน้าที่ยังติดตั้งกล้องวีดิโอ ประชาชนที่จะเข้าไปในพื้นที่ศาลอาญาต้องถือบัตรประชาชนพร้อมทั้งเปิดหน้ากากอนามัย เพื่อให้กล้องบันทึกใบหน้าพร้อมข้อมูลบนบัตรประชาชนไว้

หน้าห้องพิจารณายังมีการตั้งแผงเหล็กกั้น ห้ามผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้า แม้ว่าศาลไม่ได้มีคำสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับ รปภ.กล่าวว่า “นี่เป็นรั้วที่หนาที่สุดแล้วที่เอามากั้น” ผู้ต้องขังแต่ละคนจะมีญาติเพียงแค่ 2 คน ที่ผ่านเข้าในห้องพิจารณาได้ ในบางวันเข้มงวดกระทั่งไม่ให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี ยืนหรือเดินบริเวณทางเดินหน้าห้อง รวมถึงไม่ให้เข้าห้องน้ำหญิง 

บรรยากาศในห้องพิจารณายิ่งเต็มไปด้วยความตึงเครียด ผู้ที่เข้าห้องพิจารณาจะต้องนำโทรศัพท์ให้เจ้าหน้าที่เก็บไว้ในถุงซิปล็อก ญาติถูกจัดให้นั่งหลังห้องห่างจากผู้ต้องขังจนไม่สามารถพูดคุยหรือแม้แต่มองเห็นหน้ากัน ตำรวจศาลและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ซึ่งแต่ละนัดมีมากกว่า 20 นาย คอยจับตาไม่ให้ญาติเดินไปหาผู้ต้องขัง โดยกล่าวว่าจะต้องขออนุญาตศาลก่อนทุกครั้ง แม้แต่ทนายความก็ไม่สามารถพูดคุยปรึกษาหารือกับจำเลยได้อย่างเป็นส่วนตัว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะต้องเข้าประชิดตัวผู้ต้องขัง สอดส่องว่าคุยหรือเขียนอะไรโดยตลอด

อ่าน: บันทึกสังเกตการณ์ 16 ชั่วโมง ก่อน “ราษฎร” 21 คน ประกาศถอนทนายความคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร

อันที่จริงผู้ถูกดำเนินคดีในคดีนี้ต้องเผชิญกับการจำกัดเสรีภาพที่เกินกว่าปกติทั่วไปมาตั้งแต่วันที่เข้าฟังคำสั่งฟ้องของอัยการ มีการจัดตำรวจควบคุมฝูงชนตรึงกำลังดูแลสำนักงานอัยการ และปิดประตูรั้วกั้นไม่ให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้า ผู้ที่ต้องการเข้าในสำนักงานอัยการจะต้องแจ้งชื่อ-นามสกุล ให้เจ้าหน้าที่บันทึก

8. อานนท์เขียนคำแถลง “ปฏิเสธกระบวนการอยุติธรรม”

ท่ามกลางมาตรการที่เข้มงวดเกินกว่าเหตุของศาลและราชทัณฑ์ เกิดบรรยากาศที่กดดันญาติ ตัวจำเลย และทนายจำเลย อย่างมาก ประกอบกับการที่จำเลย 112 ทั้งเจ็ดไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี แม้ยื่นประกันมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง บ่ายวันที่ 8 เม.ย. 64 อานนท์ นำภา ได้เขียน “คำแถลงปฏิเสธกระบวนการอยุติธรรม” ด้วยปากกา ยื่นต่อศาล แสดงความประสงค์ขอถอนทนายความ เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดี โดยอานนท์เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดกระบวนการ “เป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ใช้กฎหมายปิดปาก ห้องพิจารณาถูกทำให้เป็นเสมือนคุก” ในฐานะที่ตนเรียนกฎหมาย มีอาชีพทนายความ และเป็นหนึ่งในราษฎรที่มีจุดยืนให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ไม่สามารถร่วมกระบวนการต่อไปได้


9. จำเลย 21 ราย ถอนทนายความ เหตุกระบวนการพิจารณาคดีไม่คำนึงถึงสิทธิของจำเลย

ไม่เพียงทนายอานนท์จะแถลงปฏิเสธกระบวนการอยุติธรรม เมื่อเสร็จสิ้นการตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 8 เม.ย. 64 จําเลยทั้งหมด ยกเว้นหมอลำแบงค์ รวมทั้งทนายจำเลย ได้ ยื่นคำร้องขอถอนทนายความ เนื่องจากไม่สามารถยอมรับกระบวนการพิจารณาคดีที่ไม่คํานึงสิทธิของจําเลยได้ ทั้งนี้ เนื่องจากกระบวนการพิจารณาคดีในศาลอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และการปฏิบัติที่ไม่เอื้ออำนวยให้จำเลยได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ตามหลักการและเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย กล่าวคือ จำเลยไม่ได้รับสิทธิในการปรึกษาหารือในทางคดีกับทนายความอย่างเป็นส่วนตัว, มีการออกมาตรการที่เข้มงวดกับจําเลยและทนายจําเลย, มีการทําร้ายร่างกายทนายความที่กําลังปรึกษากับจําเลย, ไม่อนุญาตให้ครอบครัวจำเลย และประชาชนทั่วไปเข้าฟังการพิจารณาคดี ตามหลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยและโปร่งใส จําเลยและทนายความได้แถลงต่อศาลหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณา

ภายหลังทนายจำเลยยังเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กรณีที่ทนายความประสบกับปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ทนายความในคดีนี้ โดยขอให้ทำการไต่สวนและทบทวนมาตรการต่างๆ อย่างสมเหตุสมผลและเป็นการทั่วไป ยึดถือหลักการพิจารณาคดีที่เปิดเผยและเป็นไปตามสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมตามปกติ

10. ต้องไต่สวนให้จำเลยแถลงไม่ทำกิจกรรมที่เสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ ก่อนให้ประกัน 

5 เม.ย. 64 หลังทนายความเข้ายื่นคำร้องประกันสมยศ, แบงค์ และไผ่ ศาลมีคำสั่งให้เบิกตัวทั้งสามจากเรือนจำมาไต่สวนคำร้องในช่วงบ่ายวันนั้น ก่อนมีคำสั่งให้ประกันในวันที่ 9 เม.ย. 64 โดยให้ประกันแบงค์เพียงคนเดียว ยังไม่ให้ประกันสมยศและไผ่ อ้างเหตุที่ทั้งสองถอนทนายในนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 8 เม.ย. 64  

นับเป็นครั้งแรกที่ศาลให้ประกันจำเลย 112 ในคดีนี้ โดยสั่งให้มีการไต่สวนก่อน จำเลยจะต้องแถลงไม่ทำกิจกรรมที่เสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ โดยมีผู้ที่น่าเชื่อถือมาแถลงยืนยันว่าจะกำกับดูแลจำเลยให้ทำตามเงื่อนไขการให้ประกัน ก่อนที่จะให้ประกันโดยมีเงื่อนไข “ห้ามกระทำการในลักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหาตามฟ้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ซ้ำอีก หรือไปร่วมกิจกรรมที่อาจทำให้เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์”  

กระบวนการดังกล่าวกลายเป็นมาตรฐานในการให้ประกันจำเลย 112 คนอื่นๆ ทั้งในคดีนี้และคดีอื่นในศาลอาญา ได้แก่ จัสติน ชูเกียรติ แสงวงค์ รวมทั้งในศาลอื่น ได้แก่ “ขนุน” สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ และ “ตี้” วรรณวลี ธรรมสัตยา ในคดีของศาลอาญากรุงเทพใต้, โตโต้ ในศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ หรือแม้แต่คดีที่ไม่ใช่ 112 ในศาลอาญา ได้แก่ คดีล้อมรถ ซึ่งจำเลยต้องแถลงว่า จะไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับการชุมนุม และจะปฏิบัติตามเงื่อนไขการให้ประกันของศาล 

การไต่สวนที่กลายเป็นกระบวนการที่ศาลนำมาใช้ในการพิจารณาให้ประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีจากการแสดงออกทางการเมืองในยุคสมัยนี้ ไม่ได้เป็นกระบวนการที่ใช้กับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีทางการเมืองก่อนหน้านี้หรือคดีทั่วไป ซึ่งศาลเพียงแต่พิจารณาจากคำร้องขอประกันและคำร้องประกอบเท่านั้น 

ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 107 ระบุว่า เมื่อได้รับคำร้องให้ปล่อยชั่วคราว ให้ศาลรีบสั่งอย่างรวดเร็ว แต่กระบวนการไต่สวนดังกล่าวกลับเป็นเหตุให้ศาลอาญามีคำสั่งต่อคำร้องอย่างล่าช้า โดยจะต้องนัดไต่สวนก่อน ส่วนใหญ่ใช้เวลาหลายวัน และหากมีเหตุเรื่องความเสี่ยงต่อโควิด ศาลก็จะไม่เบิกตัวจำเลยมาไต่สวน เช่น กรณีของ เพนกวิน แอมมี่ ไมค์ แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในเรือนจำจะเป็นที่น่าวิตกต่อสุขภาพของผู้ต้องขัง หรือกรณีที่เพนกวินต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน จากอาการร้ายแรงหลังอดอาหารมา 1 เดือนครึ่ง หรือแม้แต่ศาลสามารถไต่สวนผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ได้ แต่ศาลอาญาก็ไม่ใช้วิธีดังกล่าว

11. พิจารณาให้ประกันล่าช้า กระทั่งจำเลย 3 คน ติดโควิดจากเรือนจำ แม้มีการควบคุมเข้มงวดและงดญาติเยี่ยม

ปลายเดือนเมษายน 64 เริ่มมีข่าวการแพร่ระบาดของโควิดในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังทนายความเข้าเยี่ยมชูเกียรติและได้รับแจ้งว่าเขาเป็นไข้ กระทั่งได้รับการตรวจและยืนยันผลว่า เขาติดโควิดในวันที่ 24 เม.ย. 64 แม้ว่าเรือนจำจะงดให้ญาติเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังมาหลายเดือนแล้ว และมาตรการที่เข้มงวดต่อผู้ต้องขังในศาลก็ระบุว่า เพื่อป้องกันผู้ต้องขังติดโควิด 

อย่างไรก็ตาม การยื่นประกันจำเลย 112 ในคดีนี้ที่ยังไม่ได้ประกันรวม 4 ราย และในคดีอื่น ได้แก่ ชูเกียรติ, แอมมี่ และ “พอร์ท” ปริญญา ชีวินกุลปฐม ในวันที่ 29 เม.ย. 64 ก็ยังได้รับการปฏิเสธจากศาล แม้ว่าการขอประกันจะได้ชี้ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในเรือนจำ และความเสี่ยงที่พวกเขาจะติดเชื้อ ตลอดจนกรณีของชูเกียรติที่ควรจะต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสม  

ก่อนหน้านั้นศาลยุติธรรมออกแนวปฏิบัติในการบริหารจัดการคดีภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด เดือนเมษายน 64 โดยระบุในข้อหนึ่งว่า ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกา โดยศาลอาจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย เพื่อลดความแออัดในเรือนจำอันอาจนำไปสู่การแพร่ระบาดของโควิด แต่ศาลกลับใช้ดุลพินิจไม่ให้ประกันผู้ต้องขังทางการเมืองโดยไม่คำนึงถึงสถานการณ์ที่น่าวิตกต่อสุขภาพของผู้ต้องขัง

จนทำให้อานนท์และไมค์ติดเชื้อโควิดในเรือนจำในที่สุด และพบว่ารุ้งติดเชื้อหลังได้รับการประกันตัว 5 วัน แม้กรมราชทัณฑ์จะออกมาแถลงว่า รุ้งไม่ได้ติดโควิดจากในเรือนจำ เนื่องจากได้กักตัวรุ้งในแดนแรกรับจนถึงวันที่ 5 พ.ค. 64 ก่อนปล่อยตัวในวันที่ 6 พ.ค. 64 อีกทั้งไม่พบว่ามีผู้ต้องขังคนใดในแดนแรกรับที่อยู่กับรุ้งติดโควิด แต่รุ้งก็โต้แย้งข้อมูลว่า ถูกกักตัวในแดนแรกรับถึงแค่วันที่ 26 เม.ย. 64 จากนั้นก็ถูกส่งเข้าแดนและทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น

หลังผลตรวจยืนยันว่าอานนท์ติดเชื้อโควิด ได้มีการยื่นประกันผู้ต้องขังทางการเมืองทั้งในคดีนี้และคดีอื่นๆ อีก เพื่อไม่ให้มีคนติดโควิดจากสภาพความแออัดในเรือนจำอีก แต่นอกจากศาลจะต้องนัดไต่สวนก่อนแล้ว ยังนัดโดยเนิ่นช้า กรณีของไมค์ยังมีการเลื่อน แม้ว่าเขาจะถูกเบิกตัวจากเรือนจำมานั่งในห้องพิจารณารอการไต่สวนแล้ว โดยอ้างเหตุว่าเรือนจำตรวจโควิดไมค์ล่าสุดเมื่อหลายวันมาแล้ว จนกระทั่งไมค์และผู้ต้องขังทางการเมืองเกือบทุกคนติดเชื้อโควิดก่อนได้รับการประกันตัว 

ในการเลื่อนการไต่สวนศาลได้อ้างถึงหนังสือของสำนักงานศาลยุติธรรม ลงวันที่ 12 พ.ค. 64 ซึ่งระบุว่าเรือนจําพิเศษกรุงเทพฯ มีหนังสือ “ขอความร่วมมือให้ศาลงดการเบิกตัวจำเลยหรือผู้ต้องขังเพื่อมาศาลและเพื่อพิจารณาคดีผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย. – 27 พ.ค. 64 ทั้งนี้ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดให้อยู่ในพื้นที่ที่เรือนจำกำหนด” อย่างไรก็ตาม ทนายความพบว่าหนังสือของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ดังกล่าว เพียงแต่ขอให้ศาลงดการเบิกตัวผู้ต้องขังไปศาลเป็นเวลา 1 เดือน แต่สำนักงานศาลยุติธรรมกลับอ้างว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ให้งดการเบิกตัวผู้ต้องขังเพื่อพิจารณาคดีผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ด้วย 


12. ยื่นประกันเพนกวินถึง 10 ครั้ง ใน 3 เดือน ใช้เงินประกันในคดีเกือบ 1.5 ล้าน ก่อนศาลให้ประกันพร้อมเงื่อนไข “ไม่ทำกิจกรรมเสื่อมเสียต่อสถาบันฯ”

จำเลยในคดีที่ไม่ได้ถูกฟ้องข้อหา 112 รวม 15 ราย ทั้งหมดยกเว้นแอมมี่ซึ่งถูกขังในคดี 112 คดีอื่น ได้รับการประกันตัวในระหว่างพิจารณา หลังศาลรับฟ้องในวันที่ 8 ก.พ. 64ดยใช้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลและตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นหลักประกัน โดยศาลตีราคาประกันคนละ 35,000 บาท

ส่วนจำเลยที่ถูกฟ้องข้อหา 112 รวม 7 ราย รวมถึงแอมมี่ซึ่งมีเพียงข้อหา ม.116 ศาลได้ทยอยให้ประกันตัวในเดือนเมษายน – มิถุนายน นอกจากจะทำการไต่สวนก่อน โดยจำเลยทุกคนต้องแต่งตั้งทนายเข้าร่วมต่อสู้คดี หลังได้เคยถอนทนาย และแถลงว่าจะไม่ทำกิจกรรมที่เสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ พร้อมทั้งมีผู้กำกับดูแล ศาลยังได้กำหนดเงื่อนไขในการให้ประกันทุกคนว่า “ห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาตามฟ้อง อันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สถาบันกษัตริย์ และห้ามเดินทางออกนอกประเทศ” กรณีของรุ้ง เพนกวิน แอมมี่ อานนท์ และไมค์ ศาลยังได้เพิ่มเงื่อนไข “ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง”

ทั้ง 7 คน ยังต้องใช้เงินสดวางเป็นหลักประกันคนละ 200,000 บาท ในส่วนของแอมมี่ใช้เงินประกัน 50,000 บาท ในคดีนี้จึงใช้เงินประกันรวมทั้งสิ้น 1,450,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ซึ่งประชาชนร่วมกันบริจาค 

ก่อนได้รับการประกันตัว ทนายความต้องยื่นประกันหลายต่อหลายครั้ง มากที่สุดคือ เพนกวิน ยื่นประกันถึง 10 ครั้ง ในช่วงเวลาที่เพนกวินถูกขังรวม 3 เดือน, ยื่นประกันอานนท์ 8 ครั้ง, สมยศ 7 ครั้ง, แบงค์, รุ้ง, ไมค์ 6 ครั้ง, ไผ่และแอมมี่ 5 ครั้ง โดยผู้ที่ถูกคุมขังนานที่สุดคืออานนท์ รวมระยะเวลา 113 วัน หรือเกือบ 4 เดือน น้อยที่สุดคือไผ่ รวม 47 วัน หรือกว่าเดือนครึ่ง


13. เกิดคดีละเมิดอำนาจศาล 13 คดี – ดูหมิ่นศาลซ้ำอีก 3 คดี 

มาตรการของศาลที่เคร่งครัดเฉพาะจำเลยและผู้ที่เกี่ยวข้องกับจำเลยในคดีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่ให้สิทธิประกันตัวในระหว่างพิจารณาคดี นำมาซึ่งการประท้วง อารยะขัดขืน หรือแม้แต่เพียงแค่ใช้สิทธิในการแสดงออก เพื่อเรียกร้อง “ความยุติธรรม” จากกระบวนการยุติธรรม แต่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมไม่ได้ทบทวนการใช้อำนาจหน้าที่ของตน กลับใช้กฎหมายตอบโต้จำกัดการแสดงออกดังกล่าว เกิดคดีละเมิดอำนาจศาลขึ้นมากมายถึง 13 คดี ทั้งยังมีคดีดูหมิ่นศาลซึ่งอาจเป็นการดำเนินคดีที่ซ้ำซ้อนกันอีก 3 คดี นับผู้ถูกดำเนินคดีได้ถึง 27 คน เป็นจำเลยในคดีนี้เอง 8 ราย ทนายจำเลย 1 ราย ที่เหลือเป็นนักกิจกรรมอื่นๆ    

1) 2 คดี วันฟ้องจำเลยชุดที่สอง 18 ราย เหตุถ่ายรูปในห้องพิจารณา และจัดกิจกรรมให้กำลังใจ 

“ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์, “ไบรท์” ชินวัตร จันทรกระจ่าง และ “ฟอร์ด” อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ ถูกกล่าวหาว่าถ่ายภาพในห้องพิจารณาในวันที่ 8 มี.ค. 64 ระหว่างรอหลังศาลรับฟ้อง ปัจจุบัน ศาลไต่สวนไบรท์และฟอร์ดแล้ว ทั้งสองรับว่าทําไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ศาลมีคำสั่งจำคุกคนละ 15 วัน ปรับคนละ 500 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี และจำหน่ายคดีส่วนของครูใหญ่ออกไปก่อนเนื่องจากอยู่ในช่วงการกักตัวไม่ได้เดินทางมาศาลตามนัด

อีกคดี “ไดโน่” นวพล ต้นงาม และเลิศศักดิ์ คําคงศักดิ์ ถูกกล่าวหาจากกิจกรรมหน้าศาลอาญาให้กำลังใจไผ่, ไมค์ และคนอื่นที่ถูกฟ้องคดีในวันนั้น โดยใช้เครื่องขยายเสียงและหันลำโพงเข้าไปในศาล ศาลนัดไต่สวนในวันที่ 15 มิ.ย. 64  

2) 1 คดี เหตุเพนกวินยืนแถลงตั้งคำถามถึงกระบวนการยุติธรรม ลงโทษกักขัง 15 วัน 

เพนกวินถูกกล่าวหาจากกรณียืนขึ้นบนเก้าอี้อ่านแถลงการณ์ในห้องพิจารณา และประกาศอดอาหารจนกว่าจะได้รับการประกันตัว ในวันที่ 15  มี.ค. 64 ซึ่งเป็นวันที่ 35 ของการถูกคุมขัง ในการไต่สวนเพนกวินรับว่า ประพฤติตนไม่เรียบร้อย แต่ยืนยันว่าเพียงแต่เรียกร้องความเป็นธรรม ไม่ได้เจตนาสร้างความวุ่นวาย ศาลพิพากษาจำคุก 1 เดือน ลดโทษจากเหตุรับสารภาพและเป็นนักศึกษาเหลือกักขัง 15 วัน ก่อนถูกนำตัวไปกักขังที่สถานกักขังกลาง จ.ปทุมธานี ทั้งนี้ ศาลไม่อนุญาตให้คัดถ่ายสำนวนคดี ระบุว่าเป็นความลับ 

3) 2 คดี เหตุกระทบกระทั่งในนัดตรวจพยานหลักฐาน 8 เม.ย. ตั้งข้อกล่าวหาจำเลยและทนายจำเลย

ทนายรัษฎา 1 ในทนายจำเลย ถูกกล่าวหาว่าใช้มือผลักอกอัยการผู้ช่วยในนัดตรวจพยานหลักฐาน 8 เม.ย. 64 หลังผู้พิพากษาออกจากห้องพิจารณาแล้ว ซึ่งในวันดังกล่าวศาลมีมาตรการที่เข้มงวดต่อจำเลย ญาติและทนายจำเลย ทนายรัษฎารับว่าได้ผลักอกอัยการผู้ช่วยจริง เนื่องจากอัยการผู้ช่วยใช้คำพูดไม่เหมาะสมและความเครียดจากการทำหน้าที่ทนายทั้งวัน ก่อนกล่าวขอโทษ ศาลลงโทษปรับ 500 บาท ฐานประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล 

อีกคดี อะดิศักดิ์ สมบัติคำ จำเลย ถูกกล่าวหาว่าใช้มือตีหลังเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ระหว่างการพิจารณาคดีในวันเดียวกันนั้น ศาลไต่สวนไปแล้ว 2 ปาก ยังขาดเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ โดยอะดิศักดิ์ยืนยันว่า ไม่ได้มีเจตนาทำร้ายร่างกาย เพียงแค่แตะไหล่เจ้าหน้าที่ เนื่องจากยืนบังการพิจารณาคดี และพร้อมขอโทษหากเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวมาศาล 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลว่าศาลได้เรียกไต่สวนกรณีที่ทนายจำเลยถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คุกคามในระหว่างการพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2564 ตามที่ทนายได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่ออธิบดีศาลอาญา 


4) 6 คดี ละเมิดอำนาจศาล – 1 คดี ดูหมิ่นศาล เหตุชุมนุมหน้าบันไดศาลอาญา ยื่นจดหมาย “ราชอยุติธรรม” เรียกร้องปล่อยผู้ต้องขัง 29 เม.ย.

นักศึกษากลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, นักกิจกรรมกลุ่มศิลปะปลดแอก และกลุ่มราษฎรนนทบุรี รวม 6 ราย ได้แก่ เบนจา อะปัญ, ภัทรพงศ์ น้อยผาง, ณัฐชนน ไพโรจน์, “กระเดื่อง” พิสิฎฐ์กุล ควรแถลง, เอฐ์เรียฐ์ ฟอฟิ และไบรท์ ชินวัตร ถูกกล่าวหาว่าก่อความวุ่นวายบริเวณศาล โดยใช้เครื่องขยายเสียงวิจารณ์ศาล โปรยกระดาษ และตะโกนด่าเจ้าหน้าที่ เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64

ในวันดังกล่าว ซึ่งมีการยื่นประกันตัว 7 ผู้ต้องขังคดี 112 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ได้จัดกิจกรรมยื่นหนังสือ “ราชอยุติธรรม” ต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เรียกร้องคืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขัง แต่ไม่มีผู้พิพากษามารับจดหมาย จึงมีการโปรยหนังสือพร้อมกับรายชื่อประชาชนที่ร่วมลงชื่อกว่า 12,000 ราย ที่บันไดหน้าศาลอาญา เบนจาได้กล่าวตอนหนึ่งว่า “พี่มองหน้าหนู เพื่อนหนูอดอาหารมา 40 กว่าวันแล้ว เพื่อนเรากําลังจะตาย ไม่มีความเป็นมนุษย์กันเลยเหรอ ความยุติธรรมควรเป็นสิ่งที่พึงมีตั้งแต่แรกไม่ใช่ร้องขอ” 

ศาลแยกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลเป็น 6 คดี และไต่สวนรายบุคคล ในเดือน มิ.ย. – ก.ค. 64 โดยไต่สวนคดีของไบรท์และกระเดื่องไปแล้ว กรณีไบรท์ศาลมีคำสั่งลงโทษจำคุก 4 เดือน ไม่รอลงอาญา ระบุว่า ชินวัตรได้พูดถึงศาลด้วยถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่นศาล ไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย แม้ชินวัตรจะเบิกความถึงมูลเหตุว่า เนื่องจากศาลไม่ส่งตัวแทนมารับหนังสือของประชาชน ทำให้เป็นที่น่าจับตามองถึงผลคดีของอีก 5 คน ซึ่งเป็นนักศึกษาถึง 3 คน ส่วนกรณีกระเดื่อง ศาลนัดฟังคำสั่งในวันที่ 25 มิ.ย. 64

นอกจากนี้ ทั้ง 6 คน ยังถูกศาลอาญาออกหมายจับอีกคดีในข้อหา ดูหมิ่นศาล และข้อหาอื่นอีกรวม 6 ข้อหา จากเหตุชุมนุมเดียวกัน โดยไบรท์, กระเดื่อง และเอฐ์เรียฐ์ ถูกตำรวจเข้าจับกุมที่บ้านพัก ส่วน 3 นักศึกษา เข้ามอบตัว ทั้งหมดได้รับการประกันตัวโดยใช้เงินสดคนละ 100,000 บาท     

ข้อหา “ดูหมิ่นศาล” มีโทษหนักกว่า “ละเมิดอำนาจศาล” โดยมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-140,000 บาท ส่วนความผิดฐาน ละเมิดอำนาจศาล บัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่มีบทลงโทษทางอาญาเช่นเดียวกัน คือ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท กรณีนี้ซึ่งดำเนินคดี 2 คดี จากการกระทำเดียวกัน ถือเป็นการดำเนินคดีที่ซ้ำซ้อน ไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกดำเนินคดีอย่างยิ่ง

5) 1 คดี ละเมิดอำนาจศาล – 1 คดี ดูหมิ่นศาล เหตุตะโกน “ปล่อยเพื่อนเรา” ลานจอดรถศาลอาญา 30 เม.ย.

เบนจาและณัฐชนน ถูกกล่าวหาละเมิดอำนาจศาลอีกคดี จากเหตุใช้โทรโข่งตะโกน “ปล่อยเพื่อนเรา” บริเวณลานจอดรถหน้าธนาคารกรุงไทย ในบริเวณศาลอาญา และปราศรัยที่ประตูทางเข้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 64 ในวันนั้นได้มีการยื่นประกันเพนกวินและรุ้งอีกครั้ง เพื่อให้เพนกวินเข้ารับการรักษาและฟื้นฟูร่างกายในโรงพยาบาล โดยแม่เพนกวินได้โกนผมเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้แก่ลูกชาย คดีนี้ศาลนัดไต่สวนในวันที่ 16 มิ.ย. 64 แต่ในวันนัด ทนายความได้ขอเลื่อนการไต่สวนเนื่องจากทั้งสองเพิ่งได้รับทราบข้อกล่าวหา ศาลจึงให้เลื่อนไปไต่สวนในวันที่ 13 ส.ค. 64

ไม่เพียงเท่านั้น ทั้งสองคน รวมทั้ง สมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลยในคดีที่เพิ่งได้รับการประกันตัว ถูกศาลอาญาออกหมายจับข้อหาดูหมิ่นศาลจากกิจกรรมในวันเดียวกันนี้ซ้ำอีก ทั้งสามเข้ามอบตัวและต้องใช้เงินประกันตัวคนละ 80,000 – 100,000 บาท 

6) อีก 1 คดี ละเมิดอำนาจศาล – 1 คดี ดูหมิ่นศาล เหตุชุมนุมสาดสี-ปามะเขือเทศ-ไข่ ใส่ป้ายศาลอาญา 2 พ.ค. 

นักศึกษาและประชาชน 13 ราย ถูกศาลอาญาออกหมายจับในข้อหาดูหมิ่นศาล และข้อหาอื่นๆ รวม 5 ข้อหา จากเหตุเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่ม #REDEM ที่ด้านหน้าของศาลอาญาเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 64 หลังศาลยังไม่ให้ประกันผู้ต้องขังทางการเมือง ทั้ง 13 รายเข้ามอบตัว และต้องใช้เงินประกันวางต่อศาลคนละ 40,000 บาท รวม 520,000 บาท 6 รายยังต้องติด EM เป็นเวลา 30 วัน 

ต่อมา ยังพบว่ามี 5 รายในจำนวน 13 รายนี้ ถูกศาลตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาลซ้ำซ้อนอีกคดี โดยนัดไต่สวนในวันที่ 1 ก.ค. 64


14. กระทรวงยุติธรรมให้สัมภาษณ์อย่างน้อย 3 ครั้ง เรื่องเอาผิดแอดมินเพจเพนกวิน-อานนท์ เหตุโพสต์เฟซบุ๊กขณะทั้งคู่ถูกคุมขังในเรือนจำ ทำให้ราชทัณฑ์เสียหาย

13 ก.พ. 64 ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขาฯ รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์สื่อ กรณีปรากฏการโพสต์ข้อความและภาพจดหมายเขียนด้วยลายมือของเพนกวินในเพจเฟซบุ๊กเมื่อ 11 ก.พ. 64 ขณะเจ้าตัวถูกคุมขังตั้งแต่ 9 ก.พ. 64 ว่า สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ได้สั่งการให้กรมราชทัณฑ์ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ พบว่าจดหมายดังกล่าว พริษฐ์เขียนไว้ตอนอยู่ที่ศาล อีกทั้งไม่ปรากฏว่ามีการนำเครื่องมือสื่อสารเข้าไปในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้ น่าจะเป็นการโพสต์จากนอกเรือนจำ ทั้งนี้ ตนได้ไปแจ้งความที่ สน.ร่มเกล้า ให้ตำรวจดำเนินคดีผู้โพสต์เฟซบุ๊กดังกล่าว ในข้อหาทำให้เกิดความเสียหายต่อกรมราชทัณฑ์และ รมว.ยุติธรรม รวมถึงเฟซบุ๊กอื่นๆ ที่กล่าวหา รมว.ยุติธรรม และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในเชิงรู้เห็นให้พริษฐ์ปลุกระดมด้วย 

25 ก.พ. 64 เลขาฯ รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วยฝ่ายกฎหมายจากกรมราชทัณฑ์ เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อ พล.ต.ท.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปอท. กรณีเพจของเพนกวินและอานนท์ มีการโพสต์ข้อความที่ไม่เหมาะสม โดยกล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากนายสมศักดิ์ให้ตรวจสอบว่าใครเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว นอกจากนี้ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ยังได้สั่งตั้งกรรมการสอบสวน และไปสอบถามพริษฐ์ว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นของเขาจริงหรือไม่ ใครเป็นแอดมินบ้าง ต้องสืบให้ได้ว่าใครเป็นผู้โพสต์ 

26 มี.ค. 64 วัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม แถลงความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 64 เฟซบุ๊กของอานนท์มีการโพสต์จดหมายกล่าวถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งอานนท์เกรงว่าจะได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต จากการตรวจสอบพบว่ามีการอธิบายความที่แตกต่างกัน โดยเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามขั้นตอนการตรวจเชื้อโควิดภายในเรือนจำ แต่ผู้ต้องขังปฏิเสธการตรวจ จึงทำให้ต้องมีการแยกขังตามมาตรการ คาดว่าอานนท์เขียนจดหมายตอนขึ้นศาล ก่อนส่งให้คนอื่นไปโพสต์ และเนื่องจากเรื่องดังกล่าวทำให้เกิดความเสียหาย กรมราชทัณฑ์ได้ไปแจ้งความกับ ปอท. เพื่อสืบหาและดำเนินคดีผู้โพสต์ 


15. ตำรวจยื่นถอนประกัน 5 จำเลย หลังสมยศ-เพนกวิน ได้ประกันออกจากเรือนจำเพียงไม่กี่วัน

ปัจจุบัน มีจำเลยในคดีนี้ถึง 5 คน ถูกพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ยื่นคำร้องต่อศาลให้ถอนประกัน ได้แก่ สมยศ ซึ่งเพิ่งได้รับการประกันตัวเมื่อ 23 เม.ย. 64, ชินวัตร, ณัฐชนน และภัทรพงศ์ อ้างเหตุว่า จำเลยทั้งสี่ได้ละเมิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว โดยต่างไปถูกกล่าวหาดำเนินคดี “ดูหมิ่นศาล” หรือ “ละเมิดอำนาจศาล” จากการชุมนุมหน้าศาลอาญา เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังในคดีนี้และคดีทางการเมืองอื่นๆ เมื่อวันที่ 29-30 เม.ย. 64  

ขณะที่ผู้กำกับดูแลของเพนกวิน ได้แก่ แม่ พ่อ และอาจารย์ ถูกศาลออกหมายเรียกลงวันที่ 20 พ.ค. 64 ให้ไปไต่สวน หลังสนธิญา สวัสดี ไปร้องเรียนศาลให้ถอนประกันเพนกวิน ระบุว่าอาจผิดเงื่อนไขการให้ประกันของศาลจากการโพสต์เฟซบุ๊ก ‘สาส์นแรกแห่งอิสรภาพ’ หลังได้รับอนุญาตให้ประกันตัวเมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ตาม หลังการไต่สวนชินวัตรและผู้กำกับดูแลเพนกวิน ศาลไม่ได้มีคำสั่งให้ถอนประกันแต่อย่างใด กรณีชินวัตร ศาลระบุว่า การที่จำเลยกระทำละเมิดอำนาจศาล ไม่ใช่เป็นการกระทำต่อกระบวนพิจารณาของศาลนี้ และไม่ใช่เป็นการก่อเหตุร้ายอื่น จึงไม่มีเหตุให้ถอนประกัน แต่ได้กำหนดเงื่อนไขประกันตัวเพิ่มเติมว่า “ห้ามเข้าร่วมการชุมนุมที่ก่อความวุ่นวาย” ส่วนกรณีเพนกวินเป็นเพียงการเรียกผู้กำกับดูแลมาพูดคุยทำความเข้าใจและกำชับให้กำกับดูแลเพนกวินอย่างเคร่งครัด 

กรณีของสมยศ ณัฐชนน และภัทรพงศ์ ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอถอนประกันในวันที่ 22 มิ.ย. 64


16. ประชาชนยืน-หยุด-ขัง เรียกร้อง “ปล่อยเพื่อนเรา” ถูกดำเนินคดีซ้ำสูงสุดคนละ 4 คดี

ตลอดระยะเวลาที่แกนนำกลุ่มราษฎรถูกคุมขัง ได้มีการจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้นแก่พวกเขา หนึ่งในกิจกรรมที่ถูกริเริ่มและกระจายไปยังหลายๆ จังหวัด คือ กิจกรรม “ยืน-หยุด-ขัง” จำนวน 112 นาที ก่อนปรับเป็น 1.12 ชั่วโมง บริเวณหน้าศาลฎีกา กรุงเทพฯ โดยเป็นกิจกรรมที่ริเริ่มจากกลุ่ม “พลเมืองโต้กลับ” ก่อนจะถูกจัดกระจายไปยังสถานที่อื่นๆ เช่น หน้าเรือนจำ, หน้าศาลอาญา, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, หน้าทำเนียบรัฐบาล  และยังมีการทำกิจกรรมในจังหวัดต่างๆ สูงสุดราว 13 จังหวัดในช่วงเดือนเม.ย. 2564 การจัดกิจกรรมดำเนินไปรวมทั้งสิ้น 71 วัน ก่อนกลุ่มพลเมืองโต้กลับจะยุติกิจกรรมในวันที่ 2 มิ.ย. 64 ภายหลัง อานนท์และไมค์ได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 64

ประชาชนผู้ออกมาทำกิจกรรมข้างต้นได้ถูกดำเนินในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมกว่า 13 คน 4 คดี โดยพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ, ไพศาล จันปาน, มัทนา อัจจิมา,บารมี ชัยรัตน์ ถูกดำเนินคดีคนละ 4 คดี ขณะที่ประชนคนอื่นๆ ถูกดำเนินคดี 1-3 คดี ประชาชนในจำนวนนี้ยังมีแม่ของ ‘รุ้ง’ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล รวมอยู่ด้วย โดยแม่ของรุ้งถูกดำเนินคดีจากการไปร่วมกิจกรรมยืน หยุด ขัง วันที่ 28 เม.ย. 64

นอกจากนี้ยังมีการทำกิจกรรม “อยู่-หยุด-ขัง” โดยประชาชนหลายๆ กลุ่ม ที่หน้าศาลอาญา รัชดาฯ และศาลฎีกา โดยเป็นการทำกิจกรรมปักหลักพักค้างรวมไปถึงอดอาหาร เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยประชาชนที่ถูกคุมขัง กรณี “บาส” มงคล ถิระโคตร เดินทางจากจังหวัดเชียงรายมานั่งอดอาหารได้เพียง 3 วัน ก็ถูกตำรวจนำหมายจับคดี 112 ของศาลจังหวัดเชียงรายเข้าจับกุม จากโพสต์เฟซบุ๊กถึง 25 โพสต์ และควบคุมตัวกลับไปดำเนินคดีที่จังหวัดเชียงราย      

ภายหลังบาสถูกจับ สมณะดาวดิน อดีตนักบวชสันติอโศกได้ประกาศอดอาหารต่อจากบาส โดยอดอาหารมาได้ 8 วัน ก่อนถูกจับกุมและดำเนินคดีข้อหาแต่งกายเลียนแบบพระขณะนั่งอดอาหารหน้าศาลอาญา 2 คดี และขณะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.สำราญราษฎร์ 1 คดี ขณะที่พระสมพร พระสงฆ์ที่เดินทางมาเยี่ยมให้กำลังใจสมณะดาวดิน ถูกขับออกจากวัดต้นสังกัดที่จังหวัดลพบุรี

ประชาชนผู้แวะเวียนกันมาเข้าร่วมกิจกรรม “อยู่-หยุด-ขัง” ดังกล่าว ยังถูกดำเนินคดีข้อหา พ.ร.บ. ความสะอาดฯ จากการกีดขวางทางสาธารณะเนื่องจากปักหลักบนฟุตบาทหน้าป้ายศาลอาญาอีกกว่า 5 คน รวม 5 คดี โดยไอลอว์เคยรายงานว่า ระหว่างวันที่ 25-28 เม.ย. 64 ตำรวจ สน.พหลโยธิน มีการพาตัวประชาชนไปเปรียบเทียบปรับคนละ 200 บาทตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ทุกคืนและปล่อยตัวกลับ บางคืน 4 คน บางคืน 2 คน ต่อมาวันที่ 11 พ.ค. 64 การนำตัวประชาชนที่ปักหลักนอนไปปรับตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ เกิดขึ้นอีกครั้ง ตำรวจอ้างว่า มีผู้ร้องทุกข์มาทำให้ต้องมาตรวจสอบ จากนั้นพาตัวป้าเป้า-วรวรรณ แซ่อั้งไปเปรียบเทียบปรับที่ สน.พหลโยธิน

ลักษณะเช่นนี้ยังเกิดขึ้นที่หน้าศาลฎีกาในวันที่ 26 เม.ย. 64 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมปักหลักทำกิจกรรม “อยู่ หยุด ขัง” ที่หน้าศาลฎีกาเพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัว ต่อมาวันที่ 27 เม.ย. 64 ตำรวจ สน.ชนะสงครามพาตัว 3 นักกิจกรรมไปเปรียบเทียบปรับตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ คนละ 200 บาท ก่อนปล่อยตัวกลับมาที่บริเวณกิจกรรม

.
กระบวนการพิจารณาคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ปัจจุบันมีการนัดสืบพยานแล้ว ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – ธันวาคม 2564
อย่างไรก็ตามนัดหมายในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนถูกเลื่อนออกไป จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด โดยศาลนัดพร้อมเพื่อกำหนดวันนัดสืบพยานอีกครั้งในวันที่ 22 มิ.ย. 64 

     อ่านข้อมูลคดีทั้งหมด>> ชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ถูกดำเนินคดี ม.112, 116, 215

X