18 มิ.ย. 64 ศาลอาญา รัชดาฯ ได้นัดไต่สวนนายพิสิฎฐ์กุล ควรแถลง หรือ “กระเดื่อง” สมาชิกกลุ่ม #ศิลปะปลดแอก หรือ Free Arts ในคดีละเมิดอำนาจศาล เหตุจากการเข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องให้ประกันตัวแกนนำราษฎร 7 คน เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64 บริเวณหน้าศาลอาญา หลังเลื่อนนัดครั้งก่อนเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 64 โดยคดีนี้มีผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา เป็นผู้กล่าวหา
ในนัดนี้ ศาลได้ไต่สวนผู้เกี่ยวข้อง 3 ราย ได้แก่ นางสาวชวัลนาถ ทองสม ผู้อํานวยการสํานักอํานวยการประจําศาลอาญา ผู้กล่าวหา, พันตำรวจโทศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รอง ผกก.ป.สน.พหลโยธิน ผู้ประกาศแจ้งเตือนให้ยุติการใช้เสียงของผู้ชุมนุม และ พิสิฎฐ์กุล ควรแถลง ผู้ถูกกล่าวหา
บันทึกการไต่สวน “คดีละเมิดอำนาจศาล” ผู้กล่าวหาค้านด่าเจ้าพนักงานมิใช่ศาล
ในวันนี้ ที่บริเวณด้านหน้าศาลอาญา มีการตั้งจุดตรวจวัดอุณหภูมิและขอบัตรประชาชนผู้มาทำการที่ศาลอาญา รัชดาฯ อีกทั้งก่อนเข้าห้องพิจารณา พบว่ามีรั้วเหล็กสีเหลืองกั้นโถงทางเดินไว้บริเวณชั้น 7 รวมทั้งเจ้าหน้าที่ศาลยังได้ขอเก็บโทรศัพท์มือถือของทนายความ คู่ความ และผู้สังเกตการณ์ทุกคน
เวลา 09.30 น. ห้องพิจารณาห้องใหญ่ 704 ศาลขึ้นบัลลังก์ วันนี้ทนายความ, ผู้ถูกกล่าวหา, ชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา (ผู้กล่าวหา) และ พ.ต.ท.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รอง ผกก.ป.สน.พหลโยธิน (พยาน) มาศาลตามนัด ในห้องพิจารณามีเพียงผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และเจ้าหน้าที่จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) รวม 4 คนเข้าร่วมฟังการไต่สวน เนื่องจากมีการจำกัดผู้เข้าร่วมฟัง
ก่อนไต่สวน ศาลได้วางข้อกำหนดอาศัยอํานาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 กำหนดว่าไม่ให้คู่ความ ทนายความ ผู้เข้าร่วมฟังการพิจารณาทุกคน บันทึกภาพ เสียง ภาพและเสียง หรือถ่ายทอดภาพ เสียงหรือถ่ายทอดภาพและเสียง ไม่ว่าด้วยอุปกรณ์ หรือเครื่องมือใดๆ ในระหว่างการพิจารณา หรือเหตุการณ์ในห้องพิจารณา
รวมไปถึงห้ามจดบันทึกหรือจดข้อความ คําแถลง หรือถ้อยคําของคู่ความ พยานและผู้เกี่ยวข้อง หรือบันทึกเหตุการณ์ในระหว่างพิจารณา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล โดยศาลอ้างว่ามาตรการดังกล่าวเป็นไปเพื่อเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในห้องพิจารณา และเพื่อให้กระบวนพิจารณาดําเนินไปด้วยความเที่ยงธรรมและรวดเร็ว
ปากที่ 1: ชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา (ผู้กล่าวหา)
09.40 น. ศาลเริ่มการไต่สวน ชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา พยานเบิกความว่า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64 ช่วงกลางวัน ในวันดังกล่าว พยานได้รับแจ้งจากฝ่ายสืบสวนของ สน. พหลโยธิน ว่าจะมีการชุมนุมของผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรเพื่อให้กำลังใจในการยื่นประกันตัว 7 ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112
กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้โพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดียว่า จะมีการยื่นคำร้องประกันตัว และเชิญชวนมวลชนมาให้กำลังใจ และมีกิจกรรมยื่นหนังสือ “ราชอยุติธรรม” ถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา พร้อมกับอ่านกลอน “ตุลาการภิวัฒน์”
ต่อมา เวลา 12.00 น. เศษ มีกลุ่มมวลชนจำนวนมาก ประมาณ 300 คน มารวมตัวหน้าศาลอาญา บริเวณบันไดด้านหน้าที่เชื่อมกับตัวอาคาร ทางผู้ชุมนุมได้ใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยด้วยเสียงดัง พ.ต.ท.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รองผู้กำกับการป้องกันปราบปราม สน.พหลโยธิน จึงได้ประกาศถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้ผู้ชุมนุมรับทราบ แต่ผู้ชุมนุมไม่รับฟัง
ต่อมา พ.ต.อ.ประสพโชค เอี่ยมพินิจ ผู้กำกับการ สน.พหลโยธิน ได้ประกาศขอให้มวลชนอยู่ในความสงบเรียบร้อย และแจ้งให้ผู้ชุมนุมใช้เสรีภาพภายใต้ข้อกำหนดของศาล เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ศาลอาญา และขอผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบเรียบร้อย แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ มวลชนยังคงชุมนุมและใช้เครื่องเสียงปราศรัยต่อไป
จากนั้นมีเหตุการณ์วุ่นวายเกิดขึ้น และจากการสืบสวนของฝ่ายสืบสวน สน.พหลโยธิน สืบทราบตัวบุคคลพร้อมการกระทำ ปรากฏชื่อเบนจา อะปัญ, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง และณัฐชนน ไพโรจน์
ส่วน พิสิฏฐ์กุล ผู้ถูกกล่าวหา เป็นหนึ่งในคนที่มาร่วมชุมนุมด้วย ระหว่างการชุมนุมมีการโปรยกระดาษ การอ่านแถลงการณ์ และการปราศรัย เมื่อตำรวจอ่านประกาศแจ้งเตือนเรื่องการควบคุมโรคโควิด พิสิฏฐ์กุลตะโกนด่ามีคำว่า “ไอ้เหี้ย ไอ้สัตว์” หยาบคาย เสียงดัง ข่มขู่คุกคามผู้พิพากษา เป็นการประพฤติตัวไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
ในช่วงเย็นมีการขอให้แม่ของพริษฐ์ไปเจรจาให้ผู้ชุมนุมย้ายไปฟังคำสั่งนอกรั้วศาล หลังจากเจรจาแล้วผู้ชุมนุมก็ย้ายออกไปโดยดี และอยู่รอฟังคำสั่งถึงช่วงค่ำก็แยกย้ายกันกลับ
ศาลสอบถามว่า ในวันดังกล่าวการชุมนุมรบกวนการพิจารณาคดีอื่นหรือไม่ และรบกวนการเดินทางมาศาลของประชาชนคนอื่นหรือไม่ ชวัลนาถเบิกความว่า วันดังกล่าว ตนไม่ได้อยู่ในช่วงเกิดเหตุ มาถึงศาลในเวลาประมาณ 16.30 น. ทราบว่าในช่วงบ่ายมีนัดพิจารณาคดี 8 คดี เมื่อมีผู้ชุมนุมมาทำให้ต้องกั้นรั้วทางขึ้นศาลอาญา ทำให้คนที่จะเข้ามาในอาคารศาลไม่สะดวก
ศาลยังถามอีกว่า ในคดีทางการเมืองคดีอื่น เคยมีประชาชนเดินทางมาเพราะให้ความสนใจหรือไม่ ชวัลนาถตอบว่ามี แต่ไม่ได้มีความวุ่นวายเกิดขึ้น และได้ยกตัวอย่างคดีของแกนนำ กปปส. มาเป็นตัวอย่าง
ทนายความถามค้านว่า ในวันนั้นมีรายงานการเลื่อนคดีเพราะการชุมนุมหรือไม่ ผู้กล่าวหาเบิกความว่ายังไม่ได้รับรายงาน และยังไม่ได้รับรายงานว่าผู้ที่มาติดต่อราชการร้องเรียนว่าไม่ได้รับความสะดวกในวันดังกล่าว
ปากที่ 2: พ.ต.ท.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รอง ผกก.ป.สน.พหลโยธิน (พยาน)
พ.ต.ท.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย เบิกความว่า วันที่ 29 เม.ย. 64 ได้รับการประสานงานให้มาดูแลความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยที่ศาลอาญา โดยนำกำลังจาก สน.พหลโยธิน มาประมาณ 50 นาย พยานทราบจากเพจเฟซบุ๊กแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมว่ามีการนัดหมายชุมนุม และจะมีการยื่นหนังสือ จึงจัดอาณาเขตให้ผู้ชุมนุมอยู่บริเวณลานจอดรถข้างประตู 8 ผู้ชุมนุมนำลำโพงลากมา แต่ปรากฏว่าไม่มีการยื่นหนังสือ โดยไม่ทราบสาเหตุ มีการโปรยกระดาษ ซึ่งทราบว่าเป็นใบปลิวรายชื่อบุคคล แต่พยานไม่ได้หยิบขึ้นมาอ่าน
ในวันดังกล่าว พยานได้ประกาศข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องการควบคุมโรคโควิด คำสั่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และข้อกำหนดของศาลอาญา ให้ผู้ชุมนุมทราบ โดยประกาศ 5 ครั้ง ถูกผู้ชุมนุมตะโกนด่าทุกครั้ง รวมทั้งผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ ได้ตะโกนด่าเป็นคำว่า “ไอ้เหี้ย ไอ้สัตว์” ศาลถามว่า ตะโกนด้วยน้ำเสียงแบบใด ดุดัน หรือมีความรู้สึกแบบไหน พยานตอบว่า เข้าใจว่าผู้ถูกกล่าวหาคงโกรธและโมโห
พยานเบิกความต่อว่า การชุมนุมดังกล่าวมีการปราศรัย จำชื่อผู้ปราศรัยได้สามคน มีคนที่เข้ามาในแนวรั้วกั้นบริเวณบันไดศาลอาญาคนเดียว ซึ่งไม่ใช่พิสิฎฐ์กุล ผู้ถูกกล่าวหาคดีนี้
หลังจากนั้นศาลเปิดคลิปวิดีโอบันทึกเหตุการณ์ขณะที่ตำรวจอ่านประกาศผ่านเครื่องขยายเสียง เป็นภาพพิสิษฐ์กุลกำลังตะโกนด่า มีถ้อยคำทำนองว่า “กูวัดอุณหภูมิแล้ว ไอ้สัส” “ทนมาปีนึงแล้ว” “การระบาดไม่ได้เกิดจากการชุมนุม”
พ.ต.ท.ศักดิ์ชัย ตอบคำถามทนายความว่า พิสิฎฐ์กุลตะโกนด่าทอขณะอ่านประกาศ เป็นการระบายเรื่องผลกระทบจากโควิด ขณะตะโกนก็จ้องตามาที่ตัวพยาน ซึ่งไม่รู้ว่าจ้องเพราะอะไร
ทนายถามพยานว่าวิดีโอที่เปิดมีแค่นี้ใช่หรือไม่ พยานกล่าวว่าเท่าที่บันทึกไว้มีเท่านี้ นอกจากนี้ ผู้ถูกกล่าวหาได้แสดงกิริยาชูนิ้วกลาง แต่ไม่ได้บันทึกไว้ ศาลจึงถามว่านิ้วกลางหมายถึงอะไร พยานตอบว่าหมายถึงอวัยวะเพศ
ปากที่ 3: พิสิฎฐ์กุล ควรแถลง (ผู้ถูกกล่าวหา)
ในช่วงบ่าย พิสิฏฐ์กุลขึ้นเบิกความ โดยกล่าวว่า ตัวเขาจบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ วิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ประกอบอาชีพเป็นศิลปิน นักดนตรี มีสตูดิโอของตัวเอง รายได้หลักมาจากการเดินทางไปแสดงงานที่ต่างประเทศ โดยปกติจะทำงานหนึ่งปี และเดินทางไปแสดงงานเพื่อหารายได้อีกหนึ่งปี สลับกันไป
เมื่อปี 2563 ที่เริ่มมีการระบาดของโควิด 19 จำต้องยกเลิกงานแสดงในประเทศสเปน โปแลนด์ และเยอรมนี โดยคาดว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาได้ภายในระยะเวลา 3-6 เดือน ช่วงเวลาที่การแพร่ระบาดก็อยู่บ้านตลอด ไม่ออกไปไหน เพราะเป็นห่วงแม่ที่อายุมากแล้ว
พิสิฎฐ์กุล เล่าต่อว่า เมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งปีกว่า กลับพบว่ารัฐบาลแก้ปัญหาไม่ได้ การแพร่ระบาดทั้งสามครั้งมีสาเหตุมาจากความหละหลวมของรัฐบาลไม่ใช่เพราะประชาชน เงินที่เก็บไว้ก็กำลังจะหมด ตัวเขาและพี่สาวเป็นผู้หารายได้หลักให้ครอบครัว ต่อมาพี่สาวก็ถูกลดเงินเดือนเพราะโรคโควิด จึงต้องไปขายเสื้อผ้าหารายได้
พิสิฎฐ์กุลเบิกความว่า วันที่ 29 เม.ย 64 ทราบข่าวว่ามีการยื่นขอประกันตัวพริษฐ์ ซึ่งอดอาหารและถ่ายเป็นเลือด และตนก็เป็นเพื่อนของเพื่อนของพริษฐ์ด้วย จึงเดินทางมาติดตามข่าวสาร โดยไม่ทราบว่าจะมีการชุมนุม ไม่ได้เป็นสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด
เมื่อมาถึงในเวลาประมาณ 13.30-14.00 น. เห็นมีผู้ชุมนุมประมาณ 50 คน เห็นตำรวจประกาศข้อกำหนดไม่ให้ชุมนุมโดยอ้างเรื่องโควิดก็บันดาลโทสะ และพูดไปโดยมีใจความสำคัญว่าการระบาดของโควิด 3 ครั้งที่ผ่านมา ไม่ได้มาจากประชาชนหรือผู้ชุมนุม แต่ตำรวจก็ใช้ข้ออ้างแบบนี้ตลอดมา การเป็นข้าราชการนั้นมีเงินเดือน แต่คนที่ทำอาชีพอิสระนั้นจะอดตายกันหมด การมาเรียกร้องนั้นก็เพื่อให้ประเทศดีขึ้น การใช้ข้ออ้างแบบนี้จึงย้อนแย้งกับที่มาบังคับประชาชน โดยมีคำว่า “ไอ้เหี้ย ไอ้สัตว์” แทรกเป็นระยะ สิ่งที่พูดไม่มีการด่าทอหรือกดดันผู้พิพากษาที่พิจารณาเรื่องการประกันตัว
พิสิฏฐ์กุล กล่าวต่อศาลว่า เมื่อมาดูคลิปวิดีโอย้อนหลังรู้สึกเสียใจที่พูดคำหยาบคาย แต่ก็พูดความจริงจากใจ และไม่ได้ชูนิ้วกลางตามที่ตำรวจอ้าง
ศาลถามว่า ในวันดังกล่าวผู้ชุมนุมปราศรัยด้วยเครื่องเสียงเป็นเวลานานหรือไม่ พิสิฎฐ์กุลตอบว่า ตัวเองอยู่ไม่นาน กลับบ้านเวลาประมาณ 15.00 น. จึงไม่ทราบ
ศาลถามด้วยว่า เห็นเหตุการณ์ขณะที่เบนจาโปรยกระดาษที่บันไดศาลหรือไม่ พิสิฏฐ์กุลตอบว่าไม่เห็นเหตุการณ์ แต่ตนอยู่บริเวณนั้น ศาลถามต่อว่า การนัดมาให้กำลังใจแต่มาถึงแล้วไม่พอใจ ใช้เครื่องเสียงกล่าวปราศรัยด่าทอศาล เป็นการกระทำที่เหมาะสมหรือไม่ พิสิษฐ์กุลตอบว่าตนไม่แน่ใจ
เวลา 14.40 น. ศาลไต่สวนพยานทั้ง 3 ปากเสร็จสิ้น จึงได้กำหนดนัดฟังคําพิพากษาในวันที่ 25 มิ.ย. 64 เวลา 10.00 น.
อนึ่ง คดีละเมิดอำนาจศาล จากเหตุวันที่ 29 เม.ย. 64 มีนักกิจกรรมถูกผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญากล่าวหาดำเนินคดีนี้ทั้งหมด 6 ราย โดยได้มีการไต่สวนคดีแยกเป็นรายบุคคลไป
ทั้งหมดยังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พหลโยธิน ดำเนินคดีในข้อหา “ดูหมิ่นศาล” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 และข้อหาอื่นๆ รวม 6 ข้อหา จากการทำกิจกรรมที่ด้านหน้าศาลอาญาในวันเดียวกันนั้นอีกด้วย และศาลอาญาได้ออกหมายจับทั้งหก โดยกรณีของพิสิฎฐ์กุลได้ถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 64 ก่อนถูกแจ้งข้อกล่าวหา และฝากขังกับศาลอาญาทุจริตฯ โดยเขาได้รับการประกันตัวระหว่างสอบสวน
ย้อนอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
รวบแล้ว 3 คน! กล่าวหา “ดูหมิ่นศาล” จากชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง หน้าศาลอาญา