27 พ.ค. 64 – ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ศาลนัดไต่สวน เบนจา อะปัญ หนึ่งในสมาชิกของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในคดีละเมิดอำนาจศาลที่ ลศ 6/2564 จากกรณีชุมนุมบริเวณศาลอาญาเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564 โดยคดีนี้มีผู้อำนวยการสำนักงานประจำศาลอาญาเป็นผู้กล่าวหา แต่เนื่องจากเบนจาอยู่ในระหว่างช่วงกักตัวตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 ศาลจึงเลื่อนนัดหมายการไต่สวนไปในวันที่ 21 มิ.ย. 2564 เวลา 13.30 น.
นอกเหนือไปจากคดีนี้ เบนจายังถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลที่ ลศ 12/2564 อีกหนึ่งคดี สืบเนื่องจากการชุมนุมหน้าศาลอาญาเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2564 โดยในคดีนี้ผู้ต้องหาอีกหนึ่งคน ได้แก่ ณัฐชนน ไพโรจน์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานประจำศาลอาญาเป็นผู้กล่าวหาอีกเช่นกัน
เรียกร้องให้ศาลผดุงความยุติธรรม–คืนสิทธิประกันตัว จึงถูกกล่าวหาว่าละเมิดอำนาจศาล
ในคำกล่าวหา ระบุมูลเหตุในคดีของเบนจาว่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564 เวลาประมาณ 12.30 น. มีมวลชนกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมประมาณ 300 คน เชิญชวนให้คนเข้าร่วมกิจกรรมยื่นจดหมาย “ราชอยุติธรรม” พร้อมทั้งยืนอ่านกลอน “ตุลาการภิวัตน์” ที่ศาลอาญา รัชดาฯ โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าว ได้เข้ามาในบริเวณศาลอาญาและรวมตัวกันบริเวณบันไดทางขึ้นด้านหน้าศาล โดยมีการใช้เครื่องขยายเสียง พร้อมทั้งตะโกนข้อความ “ปล่อยเพื่อนเรา”
จนกระทั่งเวลาประมาณ 12.50 น. พ.ต.ท.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รองผู้กํากับการป้องกันปราบปราม สน.พหลโยธิน ได้อ่านประกาศคําสั่งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พร้อมทั้งแจ้งเตือนให้กลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบเรียบร้อย แต่ไม่ได้รับความร่วมมือแต่อย่างใด
เมื่อเวลาประมาณ 13.05 น. พ.ต.อ.ประสพโชค เอี่ยมพินิจ ผู้กํากับการ สน. พหลโยธิน ได้ประกาศเรื่องการใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้ชุมนุมให้อยู่ภายใต้กฎหมายและข้อกําหนดของศาล จากนั้นจึงแจ้งให้ผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบเรียบร้อย แต่ผู้ชุมนุมยังคงดำเนินกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ร่วมตะโกนด้วยข้อความต่างๆ อยู่เป็นระยะ มีการวิจารณ์ศาลยุติธรรมและตุลาการศาลยุติธรรมผ่านเครื่องขยายเสียง ซึ่งผู้กล่าวหามองว่าทําให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในศาลอาญา
ต่อมาผู้กล่าวหาระบุว่าเบนจาได้แสดงพฤติกรรมที่ไม่เรียบร้อยในศาล เนื่องจากเมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. เบนจาได้วิ่งผ่านแนวรั้วแผงเหล็กที่กั้นอยู่บริเวณหน้าบันไดทางขึ้นด้านหน้าศาลอาญา (บริเวณหน้ามุกศาลอาญา) พร้อมทั้งโปรยแผ่นกระดาษขณะวิ่งขึ้นบันได โดยพยายามหลบหลีกเจ้าหน้าที่ศาลอาญา พร้อมตะโกนสรุปข้อความว่า “ตุลาการเช่นนี้ อย่ามีเลย” เมื่อโปรยกระดาษเสร็จแล้ว เบนจาได้หยุดยืนอยู่บริเวณบันไดและพูดผ่าน เครื่องขยายเสียงโดยหันหน้าเข้าหาเจ้าหน้าที่ศาลสรุปข้อความได้ว่า:
“ขี้ข้าเผด็จการ ขี้ข้าเผด็จการ พี่มองหน้าหนู พี่มองหน้าหนู เพื่อนหนูอดอาหารมา 40 กว่าวันแล้ว เพื่อนเรากําลังจะตาย ไม่มีความเป็นมนุษย์กันเลยเหรอ ความยุติธรรมควรเป็นสิ่งที่พึงมีตั้งแต่แรกไม่ใช่ร้องขอ ศาลทําหน้าที่ผดุงความยุติธรรม แต่ทําไมถึงไม่มีความยุติธรรมให้กับเพื่อนเรา รู้ว่าทําตามหน้าที่ รู้ว่าโดนนายสั่งมา คิดว่าหนูมายืนตรงนี้เนี่ยมันไม่ต้องแลกอะไรเหรอ
“เราทุกคนต่างสูญเสีย เราทุกคนต่างสูญเสียในรัฐเผด็จการนี้ เราสูญเสียกันมามากพอแล้ว เราจะต้องสูญเสียกันอีกเท่าไหร่ หากความเป็นคนในพวกคุณไม่มีเหลือ แล้วเราจะไปถามหาความเป็นคนได้จากใครอีก ปล่อยเพื่อนเรา ปล่อยเพื่อนเรา ปล่อยเพื่อนเรา ปล่อยเพื่อนเราได้ยินไหม หากรับใช้ใบสั่งอย่างอัปรีย์ ตุลาการเช่นนี้อย่ามีเลย ตุลาการเช่นนี้อย่ามีเลย ปล่อยเพื่อนเรา
“หากศาลยังฟังอยู่ หากศาลยังมีความยุติธรรม ยังหลงเหลืออยู่ ให้นึกถึงเวลาที่ท่านได้ตรากตรําอ่านตําราดึกดื่นเพื่อสอบเข้ามาเป็นผู้พิพากษาสอบเข้ามาเพื่อผดุงความยุติธรรมให้กับประเทศชาติ สอบเข้ามาเพื่อผดุงความยุติธรรมให้กับประชาชน แต่ทําไมอุดมการณ์ของผู้พิพากษาไม่มีเหลือแล้วหรือ หากเราไร้ซึ่งอุดมการณ์เราจะมีค่าอะไร เป็นผู้พิพากษาอย่าหลงลืมอุดมการณ์แห่งการเป็นผู้พิพากษา คืนคําพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”
ผู้กล่าวหาระบุว่าเบนจาได้โปรยกระดาษที่เหลืออีกครั้งต่อหน้าเจ้าหน้าที่ในระหว่างที่ปราศรัยข้อความดังกล่าว
หลังจากนั้นผู้กล่าวหาสรุปว่าการกระทําของเบนจาเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล และกระทําการฝ่าฝืนข้อกําหนดของศาลอาญา ว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา พ.ศ. 2564 ฉบับลงวันที่ 17 มีนาคม 2564 จึงเป็นเหตุให้ร้องขอศาลอาญาให้เรียกไต่สวนเบนจาฐานละเมิดอํานาจศาลและลงโทษตามกฎหมายต่อไป
ชุมนุมหน้าศาล 29 เม.ย. ถูกกล่าวหาคดีละเมิดอำนาจศาล รวมแล้ว 6 คน
ในวันเดียวกันนี้ ศาลอาญายังให้เลื่อนการไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาลอีกคดีหนึ่ง คือ คดีของเอฐ์เรียฐ์ ฟอฟิ นักกิจกรรมกลุ่มศิลปะปลดแอก จากกรณีเข้าร่วมการชุมนุมบริเวณหน้าศาลอาญาเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564 เช่นเดียวกัน โดยให้เลื่อนไปไต่สวนในวันที่ 13 ก.ค. 2564 เวลา 9.00 น.
อนึ่ง การชุมนุมหน้าศาลอาญา รัชดาฯ เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564 เกิดขึ้นระหว่างการยื่นขอประกันตัว 7 ผู้ต้องขังคดีประมวลอาญามาตรา 112 ได้แก่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงศ์, “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลพันธุ์ และ “พอร์ท ไฟเย็น” ปริญญา ปฐมชีวินกุล
ในวันดังกล่าว มีการจัดกิจกรรมยื่นหนังสือ “ราชอยุติธรรม” ต่ออธิบดีผู้พิพากษาอาญา ทว่า ไม่มีผู้พิพากษาคนใดลงมารับจดหมาย จึงมีการโปรยหนังสือพร้อมกับรายชื่อประชาชนกว่า 12,000 ราย ที่ลงนามต่อท้ายหนังสือดังกล่าว ที่บันไดหน้าศาลอาญา ก่อนที่ต่อมา ศาลจะอ่านคำสั่งไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องขังทั้ง 7 ในเย็นวันนั้น แม้มีการแจ้งว่าจะเลื่อนอ่านคำสั่งไปในวันถัดไป
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ต่อมา ศาลอาญาได้ออกหมายเรียกนัดไต่สวนในคดีละเมิดอำนาจศาลต่อนักกิจกรรม 6 คน ได้แก่ เบนจา อะปัญ, ณัฐชนน ไพโรจน์, ภัทรพงศ์ น้อยผาง, “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, “กระเดื่อง” พิสิฎฐ์กุล ควรแถลง และ เอฐ์เรียฐ์ ฟอฟิ นักกิจกรรมกลุ่มศิลปะปลดแอก โดยแต่ละคนถูกดำเนินคดีแยกกัน
นอกจากนี้เอง ทั้ง 6 คน ยังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.พหลโยธิน กล่าวหาว่ากระทำความผิดฐาน “ดูหมิ่นศาล” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 พร้อมกับข้อหาอื่นๆ รวม 6 ข้อหา และถูกออกหมายจับจากศาลอาญา
ขณะที่เบนจาและณัฐชนน ยังถูกดำเนินคดีอีก 2 คดี ในข้อหาละเมิดอำนาจ และข้อหาดูหมิ่นศาล จากการชุมนุมในวันที่ 30 เม.ย. 64 ถัดจากวันดังกล่าวอีกหนึ่งวัน ซึ่งมีการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวเฉพาะ “เพนกวิน” พริษฐ์ ซึ่งอดอาหารอยู่ในขณะนั้นอีกครั้งหนึ่ง