ลงโทษจำคุก 4 เดือน “ไบรท์ ชินวัตร” คดีละเมิดอำนาจศาล เหตุปราศรัยหน้าศาลอาญา 29 เม.ย. 64 แต่ไม่ถอนประกันคดี 19 กันยาฯ

วันนี้ (8 มิ.ย. 2564) ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ศาลนัด “ไบรท์”​ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง นักกิจกรรมกลุ่มคนรุ่นใหม่นนทบุรี มาไต่สวนในคดีละเมิดอำนาจศาล จากเหตุการชุมนุมทวงคืนสิทธิประกันตัวให้กับแกนนำกลุ่มราษฎร ที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64 

คดีนี้มีชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา เป็นผู้กล่าวหา คำกล่าวหาบรรยายว่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64 กลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ประมาณ 300 คน ได้รวมตัวกันมาทํากิจกรรมยื่นจดหมาย “ราชอยุติธรรม” พร้อมทั้งยืนอ่านกลอน “ตุลาการภิวัฒน์” ที่บริเวณบันไดทางขึ้นศาลอาญา มีการใช้เครื่องขยายเสียง พร้อมทั้งตะโกนข้อความ “ปล่อยเพื่อนเรา” และข้อความต่าง ๆ อยู่เป็นระยะ ทําให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในศาลอาญา 

โดยชินวัตรได้ร่วมชุมนุมและพูดผ่านเครื่องขยายเสียงมีข้อความโดยสรุปว่า ต่อไปนี้จะไม่เคารพศาลอีกต่อไป เพราะศาลไทยเป็นฆาตกร ไม่มีความเป็นธรรมให้กับประชาชนที่รักประชาธิปไตย พร้อมทั้งสาปแช่งคนที่มีส่วนร่วมเอาเพื่อนไปขังคุก ทั้งยังกล่าวถึงประธานศาลว่า เป็นผู้ดํารงความยุติธรรมของประเทศนี้ จะต้องรักษาไว้ซึ่งความเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ศาลต้องเห็นว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพให้ประกันแต่ต้น ไม่ใช่เอาไปขังคุก หรือเลื่อนการให้ประกัน ศาลจะยุติธรรมได้อย่างไร ในเมื่อคนที่ออกมาพูดความจริงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติถูกเอาไปขัง แต่คนที่โกงที่ดินของแผ่นดินยังลอยนวล 

.

ภาพหน้าศาลอาญา รัชดา เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64

.

ด้านผู้ถูกกล่าวหาได้ยื่นคำให้การเป็นหนังสือต่อศาล ขอให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมให้เหตุผลว่า ในวันดังกล่าว ชินวัตรปราศรัยและชุมนุมอยู่บริเวณด้านล่างบันไดของศาลอาญา ใกล้แนวรั้วกั้นของตำรวจเท่านั้น ไม่ได้ใช้กำลังสร้างความเสียหายต่อชีวิต เสรีภาพ หรือทรัพย์สินต่อศาลหรือบุคคลอื่นใด ส่วนถ้อยคำปราศรัยของชินวัตรยังเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต วิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจตุลาการที่ไม่เป็นไปตามหลักการปล่อยชั่วคราวตามกฎหมาย ที่การไม่ให้ประกันตัวจำเลยนั้นต้องเป็นไปตามเหตุผลในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 เท่านั้น 

อีกทั้งการชุมนุมดังกล่าวไม่ได้มีลักษณะหรือวัตถุประสงค์ประวิงเวลาการพิจารณาของศาลให้ล่าช้า เพราะเป็นการชุมนุมที่มีวัตถุประสงค์เรียกร้องให้ศาลมีคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายต่อคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในคดีชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และในวันดังกล่าวไม่ได้มีการพิจารณาคดีนี้แต่อย่างใด การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล 

นอกจากนี้ คำให้การยังระบุว่า ชินวัตรยังถูกดำเนินคดีอาญานี้ที่ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จากเหตุเดียวกัน ในข้อหาดูหมิ่นศาล ซึ่งมีโทษทางอาญาเช่นเดียวกับคดีที่ไต่สวนนี้ ดังนั้น เมื่อศาลอาญาทุจริตยังไม่มีคำพิพากษา และเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน การดำเนินคดีนี้จึงเป็นการดำเนินคดีซ้ำซ้อน 

.

บันทึกการไต่สวน “คดีละเมิดอำนาจศาล” ในห้องพิจารณาคดี 805

ที่ห้องพิจารณา 805 เวลา 10.00 น. ชินวัตร และทนายความมาศาล ในวันนี้เขาสวมเสื้อยืดสีดำพิมพ์ลายเป็นเลข 112 พร้อมเครื่องไม้ขีดฆ่าบนตัวเลข ก่อนที่ศาลจะออกพิจารณาคดีในเวลา 10.16 น. โดยได้เริ่มถามไถ่ผู้ถูกกล่าวหา และแสดงวิดีโอภาพเหตุการณ์ให้ผู้ถูกกล่าวหาดู ก่อนที่จะเบิกความพยานทั้งหมด 2 ปาก ได้แก่ ชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา (ผู้กล่าวหา) และชินวัตร จันทร์กระจ่าง (ผู้ถูกกล่าวหา) 

ศาลถามผู้ถูกกล่าวหาว่าได้ ดูคลิปภาพเหตุการณ์ในซีดีแล้วหรือยัง และภาพการกระทำทั้งหมดมีส่วนไหนที่เป็นการตัดต่อบ้าง ชินวัตรรับว่าเป็นบุคคลในภาพเหตุการณ์จริง และไม่มีการตัดต่อวิดีโอ แต่เหตุการณ์ในซีดีนั้นเป็นแค่บางช่วงบางตอนของเหตุการณ์เท่านั้น ไม่ใช่เหตุการณ์ทั้งหมด 

ศาลพยายามถามย้ำอีกครั้งว่า ใช่ภาพเหตุการณ์จริงหรือไม่ ชินวัตรจึงแถลงว่า ภาพเหตุการณ์ในซีดีนั้นเป็นภาพจริง แต่เป็นเหตุการณ์เฉพาะบางส่วน มีเหตุการณ์อื่นที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้หลายประเด็นที่ไม่ได้อยู่ในซีดี 

จากนั้นศาลจึงถามชินวัตรว่า ได้ขึ้นปราศรัยในวันดังกล่าวหรือไม่ ชินวัตรรับว่าปราศรัยจริง ถ้อยคำในคำกล่าวหาก็เป็นถ้อยคำของตนจริง แต่ไม่ใช่คำปราศรัยทั้งหมดในวันนั้น ศาลจึงบอกกับชินวัตรว่า “ศาลสนใจที่คุณด่าอย่างเดียว จึงไม่ได้เอาถ้อยคำปราศรัยทั้งหมดมาใส่ในคำกล่าวหา”

ชินวัตรถามกลับว่า “อยากให้ท่านถามความรู้สึกของผมด้วยว่าทำไมถึงทำเช่นนั้น” ด้านศาลตอบว่า ถ้าไม่เห็นด้วย ชินวัตรสามารถยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาได้ จากนั้นศาลได้เปิดคลิปวิดีโอเหตุการณ์ให้ชินวัตรดู โดยศาลขอให้เปิดลำโพงดังๆ ส่วนไหนไม่ใช่คำปราศรัยของตน ชินวัตรจะได้ชี้แจง

หลังดูคลิปเหตุการณ์ ชินวัตรเรียนศาลว่า คลิปที่เปิดนั้นเป็นเพียงภาพเหตุการณ์ที่ศาลคัดมาบางส่วนเท่านั้น ก่อนที่ศาลจะตัดบท บอกให้ชินวัตรเอาภาพเหตุการณ์ทั้งหมดมาแสดงต่อศาลเอง ส่วนชินวัตรตอบว่า คลิปวิดีโอที่ศาลแสดงให้ดูเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง  แต่อยากให้ความเป็นธรรม ในเมื่อมันมีเหตุ ก็ต้องมีสาเหตุ และขอให้ศาลเอามาประกอบในการพิจารณาคดี 

ศาลจึงตอบว่า ศาลติดใจคำด่า ติดใจการกระทำทั้งหมดในศาล ส่วนไหนที่ผู้ถูกกล่าวหาต้องการคัดค้าน ขอให้นำมาแสดงต่อศาล ถ้าไม่ได้นำมาแสดงก็ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ และไม่ให้เลื่อนการพิจารณาคดีในวันนี้ออกไป ต้องพิจารณาคดีภายในวันนี้เท่านั้น ศาลต้องการให้ผู้ถูกกล่าวหานำพยานหลักฐานมาแสดงต่อศาลว่า  เบื้องต้นเหตุการณ์เกิดขึ้นเพราะอะไร ศาลมีหน้าที่พิจารณาอย่างเดียวว่า ผู้ถูกกล่าวหามีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ เพราะมีความไม่สงบเกิดขึ้นในศาล 

ทนายแถลงต่อศาลว่า ได้ปรึกษากับผู้ถูกกล่าวหาแล้วว่า พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ด้านศาลตอบว่า ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิสู้คดีอยู่แล้วก็ใช้สิทธิให้เต็มที่ คัดค้านต่อสู้คดี ส่วนศาลจะไต่สวนว่า วันนั้นเกิดความไม่สงบในศาลหรือไม่เท่านั้นเอง ขณะที่ชินวัตรพยายามแถลงขอให้ศาลหามูลเหตุของการกระทำ ไม่ใช่ดูแค่การกระทำอย่างเดียว

ด้านทนายแถลง ขอโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจง เนื่องจากคดีนี้มีโทษทางอาญา แต่ศาลยังคงย้ำให้ผู้ถูกกล่าวหานำหลักฐานมาแสดงว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในวันดังกล่าว และต้องให้ผู้บริหารศาลยุติธรรมดูว่ามีความเห็นอย่างไร จะลงโทษอย่างไร เนื่องจากผู้บริหารศาลถือเป็นเจ้าของบ้าน ส่วนศาลเป็นผู้ดูแลบ้าน และผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญาเป็นคนทำรายงานถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น 

.

ปากที่ 1: ชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา (ผู้กล่าวหา)

เวลา 11.04 น. ศาลเริ่มการไต่สวนชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา พยานเบิกความว่า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64 ช่วงกลางวัน ในวันดังกล่าว มีการยื่นประกันตัว “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ จำเลยคดีมาตรา 112 (คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.287/64) โดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้โพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดียว่า มีการยื่นคำร้องประกันตัวทั้งสาม และเชิญชวนมวลชนมาให้กำลังใจ และมีกิจกรรมยื่นหนังสือ “ราชอยุติธรรม” ถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา พร้อมกับอ่านกลอน “ตุลาการภิวัฒน์”

ต่อมา เวลา 12.00 น. เศษ มีกลุ่มมวลชนจำนวนมาก ประมาณ 300 คน มารวมตัวหน้าศาลอาญา หน้ามุขศาล ซึ่งหมายถึงส่วนติดกับอาคารศาลด้านล่าง ต่อมา ได้ใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยเสียงดังมาก พ.ต.ท.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รองผู้กำกับการป้องกันปราบปราม สน.พหลโยธิน  ได้ประกาศถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และประกาศตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้ผู้ชุมนุมรับทราบ แต่ผู้ชุมนุมไม่เชื่อฟัง

ต่อมา พ.ต.อ.ประสพโชค เอี่ยมพินิจ ผู้กำกับการ สน.พหลโยธิน ได้ประกาศขอให้มวลชนอยู่ในความสงบเรียบร้อย และแจ้งให้ผู้ชุมนุมใช้เสรีภาพภายใต้ข้อกำหนดของศาล เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ศาลอาญา และขอผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบเรียบร้อย แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ มวลชนยังคงชุมนุมและใช้เครื่องเสียงปราศรัยต่อไป 

จากนั้นมีเหตุการณ์วุ่นวายเกิดขึ้น และจากการสืบสวนของฝ่ายสืบสวน สน.พหลโยธิน สืบทราบตัวบุคคลพร้อมการกระทำ ปรากฏชื่อเบนจา อะปัญ, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง และณัฐชนน ไพโรจน์ ในบันทึกการสืบสวน 

ต่อคำถามของศาลว่า แต่ละบุคคลมีพฤติการณ์อย่างไรบ้าง พยานเบิกความตอบว่า เบนจาได้โปรยกระดาษ วิ่งขึ้นลงบันไดศาล หลังจากนั้นกล่าวถ้อยคำ ปรากฏตามภาพเคลื่อนไหวและบันทึกการสืบสวน

พยานเบิกความต่อว่า ชินวัตร ซึ่งคือผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ ยืนอยู่ในกลุ่มมวลชนด้านหน้าศาลอาญา และใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยด้วยถ้อยคำไม่สุภาพ ตามรายงานของ สน.พหลโยธิน และภาพวิดิโอ โดยศาลถามต่อว่า ชินวัตรได้กล่าวถึงศาลว่าอย่างไรบ้าง ด้านพยานกล่าวถึงคำปราศรัยของชินวัตรตามคำกล่าวหาว่า วันที่ 30 เม.ย. 64 ผมจะมาศาลอาญาแห่งนี้ และจะไม่เคารพศาลอีกต่อไป… และมีคำด่ารวมอยู่ด้วย เช่น ไอ้ฆาตกร ปรากฏตามบันทึกการสืบสวนของฝ่ายสืบสวน สน.พหลโยธิน และภาพบันทึกวิดีโอ 

เมื่อได้รับรายงานจาก สน.พหลโยธิน จึงรายงานต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกับแสดงภาพนิ่ง และภาพวิดีโอเป็นซีดีจำนวน 2 แผ่น เป็นคลิปจากทาง สน. พหลโยธิน 1 แผ่น และคลิปจากศาลอาญา 1 แผ่น จากนั้นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาจึงมีคำสั่งให้เรียกไต่สวน และตั้งสำนวนคดีละเมิดอำนาจศาล (ลศ.) 

พยานเบิกความตอบศาลว่า เหตุที่ต้องนำเรื่องรายงานต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เนื่องจากเมื่อพยานตรวจสอบรายงานของ สน.พหลโยธิน และภาพบันทึกในซีดีแล้ว เห็นว่าเป็นการก่อความไม่สงบเรียบร้อย พยานมีหน้าที่โดยตรงในการดูแลเรื่องนี้ จึงทำรายงานต่ออธิบดี พยานเบิกความตอบศาลอีกว่า ได้ตั้งสำนวนละเมิดอำนาจศาลจากการชุมนุมครั้งนี้ประมาณ 6 คน และเลื่อนนัดไต่สวนไปบางคดี โดยคดีละเมิดอำนาจศาลจากเหตุการณ์วันนี้ ยังไม่มีคดีไหนไต่สวนแล้วเสร็จ 

ผู้อำนวยการศาลฯ ตอบคำถามค้านของทนายผู้ถูกกล่าวหาว่า ถึงแม้ตามภาพปรากฏในซีดี ผู้ถูกกล่าวหาปราศรัยอยู่นอกบริเวณศาล ไม่ได้พูดหน้าศาล เนื่องจากมีแผงเหล็กกั้นบริเวณหน้าศาลไว้ แต่ผู้ถูกกล่าวหาพูดอยู่ติดกับศาลอาญา บริเวณที่รั้วเหล็กกั้นไว้ อยู่ที่ต้นเสาศาลอาญา และไม่ได้เดินฝ่าขึ้นมาบันได และจากซีดีและบันทึกการสืบสวน ผู้ถูกกล่าวหาได้ปราศรัยด้วยถ้อยคำที่ไม่สุภาพ และยืนรวมตัวกับกลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวประมาณ 300 คน อีกทั้งในวันเกิดเหตุ มีเพียงการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ไม่มีการเปิดห้องพิจารณาเพื่อพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวดังกล่าว แต่มีการพิจารณาคดีอื่นตามปกติ 

พยานรับกับทนายว่า ทราบว่ากลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้ยื่นหนังสือ พร้อมกับรายชื่อขอให้ศาลพิจารณาการปล่อยชั่วคราวพริษฐ์และปนัสยา และทราบถึงอาการของพริษฐ์ที่กะเพาะอาหารย่อยเนื้อเยื่อ หลังอดอาหารเรียกร้องสิทธิประกันตัวตามปรากฏในสื่อ แต่ไม่ทราบว่าเป็นความจริงหรือไม่ 

ต่อคำถามของทนายว่า หนังสือที่แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมมายื่นต่อศาลระบุว่า ถ้าหากศาลไม่ให้ประกัน พริษฐ์อาจเสียชีวิตได้ พยานตอบว่า ไม่เห็นหนังสือดังกล่าว และไม่ทราบ เนื่องจากไม่มีเจ้าหน้าที่ของศาลมารับหนังสือ จากนั้น ทนายแสดงหนังสือ “ราชอยุติธรรม” ของแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ และรายชื่อของผู้ร่วมลงนาม เพื่อถามพยานว่า ใช่หนังสือที่นางสาวเบนจานำมาโปรยหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบ เนื่องจากไม่มีการนำจดหมายดังกล่าวแนบกับบันทึกการสืบสวน และพยานไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว

ทนายถามพยานว่า หลังจากแม่ของพริษฐ์ไปที่รั้ว ได้มีเจ้าหน้าที่ศาลไปบอกให้แม่เพนกวินบอกกับผู้ชุมนุมว่า ถ้ายังอยู่ที่หน้าศาล ศาลจะไม่อ่านคำสั่งใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่ได้รับคำสั่งหรือไม่ เพราะพยานไม่ได้คุยกับอธิบดี ทนายจึงถามต่อว่า ได้มีการขอให้แม่ของพริษฐ์ไปเจรจากับมวลชนหรือไม่ พยานตอบว่า ได้ไปขอร้องให้ทำเช่นนั้น เพราะเกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้น 

พยานเบิกความต่อว่า ช่วงเย็นของวันดังกล่าวพยานไม่ได้อยู่ในพื้นที่ศาล เพราะอยู่ในช่วงทำงานที่บ้าน (work from home) จึงไม่ทราบว่า มีเหตุการณ์วุ่นวายหรือไม่ แต่มีภาพเหตุการณ์ในซีดี เมื่อพยานมาถึงศาลในเวลา 16.00 น. เหตุการณ์ก็สงบลงแล้ว ไม่มีเหตุความวุ่นวาย บริเวณหน้ามุกศาลแต่อย่างใด มีเพียงมวลชนที่กำลังรอฟังคำสั่งว่าศาลจะให้ประกันตัวหรือไม่ อีกทั้งมีมวลชนบางส่วนใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยอยู่ด้านนอกรั้วศาล จึงขอให้แม่ของพริษฐ์ช่วยพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุม  แม่ของพริษฐ์ไปคุยกับผู้ชุมนุมด้านนอกให้อยู่ในความสงบ ซึ่งผู้ชุมนุมได้ปฏิบัติตาม 

พยานตอบทนายถามค้านว่า เมื่อพยานมาถึงศาล ไม่ได้สังเกตว่าชินวัตรอยู่นอกแผงกั้นหรือไม่ เนื่องจากพยานนั่งทำงานอยู่ ไม่ได้เดินมาด้านหน้าศาล จึงมองไม่เห็นเหตุการณ์ชุมนุม แต่เห็นการปราศรัยจากวิดีโอที่ได้จาก สน.พหลโยธิน และศาลอาญา 

ทนายถามถึงเหตุผลที่ดำเนินคดีชินวัตร แยกเป็นสองคดี ได้แก่ คดีละเมิดอำนาจศาล และคดีดูหมิ่นศาล ที่มีสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้กล่าวหา พยานตอบว่า ผู้อำนวยการศาลอาญาไม่มีอำนาจตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาล มีเพียงหน้าที่รายงาน เป็นอำนาจของอธิบดีศาลอาญาที่ส่งมาให้ศาลมีคำสั่งตั้งเรื่อง กระบวนการเป็นเช่นนี้ 

ทนายจึงถามต่อว่า จากการตรวจสำนวนพบว่า ได้มีการส่งสำเนารายงานการสืบสวนของ สน.พหลโยธิน ถึงสำนักงานศาลยุติธรรมด้วย การส่งสำเนารายงานดังกล่าวเพื่อให้ดำเนินคดีผู้ที่เกี่ยวข้องในข้อหาดูหมิ่นศาลหรือไม่ พยานรับว่า มีส่งสำเนารายงานการสืบสวนจากรองผู้กำกับสืบสวน สน.พหลโยธิน ให้สำนักงานศาลยุติธรรมจริง แต่พยานไม่แน่ใจว่า สำนักงานยุติธรรมได้เข้าแจ้งความที่ สน.พหลโยธิน ให้ดำเนินคดีดูหมิ่นศาลหรือไม่ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของพยาน 

.

ปากที่ 2: ชินวัตร จันทร์กระจ่าง (ผู้ถูกกล่าวหา)

ก่อนผู้ถูกกล่าวหาเบิกความ ทนายผู้ถูกกล่าวหาแถลงต่อศาลว่า ขอสืบพยานทั้งหมด 2 ปาก ได้แก่ ชินวัตร ผู้ถูกกล่าวหา และสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์​ แม่ของพริษฐ์ แต่ศาลปฏิเสธ โดยกล่าวว่า ขอให้ถามแค่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ศาลเพียงแต่ดูว่ามีความวุ่นวายเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ต้องเสนออธิบดีศาลอาญาว่ามีความผิดหรือไม่ ศาลไม่มีอำนาจในการตัดสินเอง 

ศาลถามชินวัตรว่า ใช่บุคคลตามภาพวิดีโอในซีดีจริงหรือไม่ มีข้อเท็จจริงว่าเป็นผู้ปราศรัยหรือไม่ ทำเพราะเหตุใด ชินวัตรรับว่า อยู่ในเหตุการณ์จริง และเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง แต่ภาพที่ปรากฎในซีดีเนั้นไม่ใช่เหตุการณ์ทั้งหมด เพราะไม่มีการระบุว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร จึงทำให้ขาดข้อเท็จจริงบางส่วนไป ส่วนที่ขาดหายไป คือ เหตุการณ์ก่อนการใช้ถ้อยคำด่าศาล มีเหตุการณ์ยั่วยุมวลชน ทำให้เกิดความโมโห 

พยานเบิกความต่อว่า หากทางศาลส่งตัวแทนมารับหนังสือของกลุ่มแนวร่วมฯ เหตุการณ์ด่าทอศาลหรือความวุ่นวายก็จะไม่เกิดขึ้น หลายถ้อยคำที่พูดเป็นเพราะไม่อยากให้ศาลตกเป็นเครื่องมือของใคร และอยากเห็นศาลอยู่อย่างสง่างาม หลายครั้งที่พยานพูดถึงศาล พยานพูดเสมอว่า ศาลไม่ต้องมาเข้าข้างพวกเรา ขอเพียงให้ศาลทรงสถิตความยุติธรรม ดำเนินกระบวนการตามทางกฎหมาย 

วันนั้น ขณะที่พยานมาร่วมกับมวลชน อยู่นอกเขตของศาล ไม่ได้ฝ่าแนวกั้นแผงเหล็กเข้าไป และเครื่องขยายเสียงที่ใช้ในวันนั้นเป็นเครื่องเล็ก แบบพกพา มีขนาดไม่ใหญ่มาก พยานยังไม่ทราบว่า ห้ามปราศรัยและร่วมชุมนุมนอกอาคารศาลอาญา จึงคิดว่าปราศรัยอยู่ด้านนอกอาคารไม่ผิดข้อหาละเมิดอำนาจศาล 

สาเหตุที่ทำให้เกิดอารมณ์โมโห เนื่องจากชนาธิป เหมือนพะวงศ์ ผู้พิพากษาเดินลงมาที่หน้าศาลอาญา และมีการโต้เถียงกัน ทำให้เกิดเหตุการณ์วุ่นวาย เหตุการณ์เริ่มตึงเครียด และเมื่อไม่ทราบว่าเพื่อนจะได้รับการปล่อยตัวหรือไม่ ทำให้เหตุการณ์วุ่นวายขึ้น 

ทั้งนี้ ชนาธิปเคยมีคำสั่งไม่ให้ประกัน และโต้เถียงกับผู้ชุมนุม พยานจึงเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการยั่วยุ ทำให้เหตุการณ์วุ่นวาย ต่อเหตุผลที่พยานตะโกนว่า “ศาลเป็นฆาตกร” เป็นเพราะว่า มีข่าวก่อนการชุมนุมว่า พริษฐ์อดอาหารประท้วงสิทธิการประกันตัวจนล้มป่วย กะเพาะอาหารย่อยเนื้อเยื่อจนถ่ายเป็นก้อนเนื้อ และมีข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำ พยานจึงเกรงว่า ถ้าหากพริษฐ์ไม่ได้รับการประกันตัว อาจถึงแก่ความตายได้ 

พยานแถลงว่า อยากให้ศาลดูคลิปอย่างละเอียด จะเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาปราศรัยเพราะไม่อยากให้ศาลโดนด่าไปมากกว่านี้ 

พยานเบิกความตอบคำถามทนายอีกว่า มาถึงหน้าศาลอาญาประมาณ 13.30 น. โดยขณะนั้น จากประตูรั้วด้านนอก ติดถนนรัชดา ยังไม่มีแนวรั้วกั้น หรือเจ้าหน้าที่ห้ามไม่ให้บุคคลภายนอกเข้ามาในบริเวณศาล มีมวลชนอยู่ด้านในรั้วศาลอยู่แล้วประมาณ 100 คน ไม่ใช่ 300 คน ตามที่ผู้กล่าวหาเบิกความ ขณะที่ชินวัตรไปถึงศาลอาญา มีกลุ่มผู้ชุมนุมใช้เครื่องขยายเสียงอยู่แล้ว และไม่ทราบว่าเป็นของใคร 

พยานเบิกความตอบทนายอีกว่า นอกจากมวลชนเกิดความโมโห เมื่อชนาธิปลงมาด้านหน้าศาลอาญา ยังมีอีกเหตุการณ์หนึ่ง กล่าวคือ ประมาณ 14.00-15.00 น. มีเจ้าหน้าที่ศาลลงมาบอกมวลชนว่า ถ้าไม่ออกจากบริเวณพื้นที่หน้าศาล จะไม่อ่านคำสั่งว่าให้ประกันหรือไม่ ทำให้มวลชนเกิดความโมโห 

ทนายถามว่า ในวันนั้นไม่มีเจ้าหน้าที่ลงมารับจดหมายของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจริงหรือไม่ และก่อนหน้านี้ เคยมีบุคคลมายื่นหนังสือ และมีเจ้าหน้าที่มารับเป็นปกติ พยานตอบว่า เคยรับทราบข่าวว่า เคยมีกรณีบุคคลอื่นมายื่นคำร้องต่อศาล แล้วมีเจ้าหน้าที่ลงมารับ แต่ในครั้งนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดลงมารับ 

ต่อคำถามทนายถึงคดีดูหมิ่นศาลจากเหตุการณ์เดียวกัน พยานเบิกความว่า คดีนี้อยู่ในชั้นฝากขัง โดยพยานได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา 

สุดท้าย พยานเบิกความตอบทนายว่า รู้จักกับแม่ของพริษฐ์ และเห็นว่าแม่ของพริษฐ์ออกจากศาลอาญาในช่วงเย็น เมื่อมวลชนเริ่มน้อยลง พร้อมบอกให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่บริเวณหน้าศาล ขอให้ออกไปข้างนอกรั้วศาล และขอให้กลับบ้าน มวลชนก็ออกไปตามที่แม่ของพริษฐ์ขอร้อง

เวลา 12.30 น. ศาลไต่สวนพยานทั้ง 2 ปากเสร็จสิ้น พร้อมกับนัดฟังคำสั่งเวลา 14.00 น. 

.

ศาลมีคำสั่งลงโทษจำคุก 4 เดือนไม่รอลงอาญา ระบุการพูดถึงศาลด้วยถ้อยคำหยาบคาย เป็นการกระทำที่ไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย 

เวลาประมาณ 14.20 น. ที่ห้องพิจารณา 805 ชินวัตรมารอฟังคำสั่งศาล ในช่วงบ่ายนี้ สมยศ พฤกษาเกษมสุข มาเข้าร่วมฟังด้วย เนื่องจากเป็นหนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดีดูหมิ่นศาลจากเหตุการณ์ชุมนุมหน้าศาลเช่นกัน จึงต้องการทราบว่าวันนี้กระบวนการเป็นอย่างไร ด้านเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ได้ขอให้ผู้เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีนั่งเว้นระยะห่างตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing)

ต่อมา เวลา 14.40 น. ศาลอ่านคำสั่ง พิเคราะห์แล้วว่า ผู้ถูกกล่าวหา ได้พูดถึงศาลด้วยถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่นศาล ถือเป็นการกระทำที่ไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย มีความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30-33 ลงโทษจำคุก 4 เดือน ไม่รอลงอาญา

ศาลขอให้ราชทัณฑ์เตรียมควบคุมตัวทันที ก่อนนำตัวชินวัตรไปไต่สวนถอนประกันที่ห้องพิจารณาคดี 703

.

ศาลมีคำสั่งไม่เพิกถอนประกันคดี “ชุมนุม 19 กันยา” ระบุไม่กระทบต่อข้อเท็จจริงในคดี แต่เพิ่มเงื่อนไข ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมทางที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง” 

ที่ห้องพิจารณาคดี 703 ศาลอนุญาตให้เพียงญาติของชินวัตร ได้แก่ ภรรยา และลูกชายวัยเตาะแตะ ทนาย รวมถึงผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีเท่านั้น ภายในห้องมีตำรวจศาล 4 นายและ รปภ.ศาลอีก 1 นาย ศาลออกพิจารณาคดีเวลา 15.23 น. ทนายความชี้แจงต่อศาลว่า คดีละเมิดอำนาจศาล ศาลมีคำสั่งลงโทษจำคุก 4 เดือน และจะยื่นอุทธรณ์คดีในประเด็นว่า มีการฟ้องคดีซ้ำซ้อนในส่วนของคดีดูหมิ่นศาล อีกทั้งชินวัตร (จำเลย) แจ้งว่ายังไม่ได้กระทำผิดเงื่อนไขประกันในคดีชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เนื่องจากคดีนี้วางเงินประกัน 35,000 บาท ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม และไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับคดีละเมิดอำนาจศาล

ต่อมา ศาลมีคำสั่งไม่เพิกถอนประกันตัวชินวัตรในคดีชุมนุม 19 ก.ย. 63 โดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล แต่การจะสั่งมิให้ปล่อยชั่วคราว ต้องอาศัยตามเหตุผลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 จึงเห็นว่าการที่จำเลยกระทำละเมิดอำนาจศาลนั้น ไม่ใช่เป็นการกระทำต่อกระบวนพิจารณาของศาลนี้ จึงถือมิได้ว่าเป็นการขัดขวางการดำเนินการของศาล และไม่ใช่การกระทำที่ถูกฟ้องร้อง อันมีลักษณะเป็นการก่อเหตุร้ายอื่น กรณีจึงยังไม่มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว 

ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวชินวัตรในคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคือราษฎร แต่กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม 1 ข้อ กล่าวคือ ห้ามจำเลยเข้าร่วมการชุมนุมในลักษณะที่เป็นการก่อความวุ่นวายและความไม่สงบในบ้านเมือง

สำหรับคดี “ละเมิดอำนาจศาล” หลังทนายยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์  ต่อมาในเวลา 16.40 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวชินวัตร โดยวางหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 10,000 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ 

คดีนี้เป็นคดีละเมิดอำนาจศาลคดีที่ 2 ของชินวัตร หลังเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 64 ศาลมีคำสั่งให้จำคุกชินวัตร และ ‘ฟอร์ด เส้นทางสีแดง’ อนุรักษ์ เจนตวนิช คนละ 15 วัน ปรับคนละ 500 บาท แต่ให้รอลงอาญา จากกรณีถ่ายภาพในห้องพิจารณาระหว่างรอศาลออกพิจารณาคดีหลังอัยการยื่นฟ้องคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2564

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่า นับตั้งแต่เริ่มการชุมนุมเยาวชนปลดแอกถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 64 มีผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาละเมิดอำนาจศาลแล้ว 13 ราย ใน 13 คดี และมีผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาดูหมิ่นศาลแล้วอย่างน้อย 20 ราย ใน 3 คดี ในจำนวนนี้ คดีละเมิดอำนาศาลนั้นเป็นคดีที่เกิดจากเหตุการณ์ชุมนุมทวงคืนสิทธิประกันให้กลุ่มแกนนำ “ราษฎร” ที่ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 29 เม.ย. และ 30 เม.ย. 64 ถึง 7 คดี โดยมีคดีที่ศาลไต่สวนและตัดสินไปแล้ว 1 คดี ได้แก่ คดีของชินวัตร ในวันนี้

.

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง 

ลงโทษ 2 นักกิจกรรม “ไบรท์-ฟอร์ด” ละเมิดอำนาจศาล กรณีถ่ายภาพในห้องเวรชี้ ปรับ 500 บาท จำคุก 15 วัน แต่ให้รอลงอาญา 1 ปี

พฤษภาคม 64: ผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองอย่างน้อย 679 รายแล้ว คดี ม.112 แนวโน้มสั่งฟ้องเร็ว ขณะคดีดูหมิ่นศาล/ละเมิดอำนาจศาลเพิ่มมากขึ้น

.

X