ศาลอุทธรณ์พิพากษากักขัง 1 เดือน “ไบรท์ ชินวัตร” คดีละเมิดอำนาจศาล เหตุปราศรัยหน้าศาล 29 เม.ย. 64 ก่อนได้ประกันสู้ฎีกาต่อ

วันนี้ 2 มิ.ย. 2565 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ อนุญาตให้ประกันตัว  “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง นักกิจกรรมในจังหวัดนนทบุรี หลังศาลอุทธรณ์มีนัดฟังคำพิพากษา ในคดีละเมิดอำนาจศาล จากเหตุปราศรัยหน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564 ซึ่งในคดีนี้ศาลอาญาเคยมีคำพิพากษาจำคุก 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ 

คดีนี้มีชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา เป็นผู้กล่าวหา คำกล่าวหาบรรยายว่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64 กลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ประมาณ 300 คน ได้รวมตัวกันมาทํากิจกรรมยื่นจดหมาย “ราชอยุติธรรม” พร้อมทั้งยืนอ่านกลอน “ตุลาการภิวัฒน์” ที่บริเวณบันไดทางขึ้นศาลอาญา โดยมีชินวัตรเข้าร่วมชุมนุมและปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียง พร้อมทั้งตะโกนข้อความ “ปล่อยเพื่อนเรา”และข้อความต่าง ๆ อยู่เป็นระยะ ทําให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในศาลอาญา 

>>> อ่านบันทึกการไต่สวนคดี ลงโทษจำคุก 4 เดือน “ไบรท์ ชินวัตร” คดีละเมิดอำนาจศาล เหตุปราศรัยหน้าศาลอาญา 29 เม.ย. 64 แต่ไม่ถอนประกันคดี 19 กันยาฯ

บรรยากาศก่อนเริ่มการพิจารณาคดีเวลา 09.40 น. ไบรท์มาในชุดเสื้อยืดสีขาวและกางเกงยีนส์สีดำ เดินทางมารอฟังคำพิพากษาที่ห้องพิจารณา 904 พร้อมกับภรรยาและทนายความ

ต่อมาในเวลา 09.55 น. ศาลขึ้นพิจารณาคดี โดยได้มีการอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์อย่างย่อทันที สรุปใจความว่า ตามที่ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้ว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ ได้ถูกดำเนินคดีในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบไปแล้ว ซึ่งมีข้อหาร่วมกันข่มขืนใจเจ้าพนักงาน ดูหมิ่นศาล ฯลฯ และในคดีละเมิดอำนาจศาลนี้ เป็นคดีที่มีโทษทางอาญาเช่นเดียวกับคดีดังกล่าว ซึ่งยังไม่มีคำพิพากษา และเป็นการกระทำในกรรมเดียวกัน การดำเนินคดีนี้และในคดีอาญาดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินคดีที่ซ้ำซ้อน

ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการกระทำของชินวัตรในความผิดละเมิดอำนาจศาล กับคดีอาญาดังกล่าวเป็นคนละส่วนกัน ซึ่งศาลมีอำนาจในการสั่งพิจารณาบทลงโทษ 

อีกทั้งตามที่ทนายความได้แถลงต่อศาลขอนำสืบพยานฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา ในปากสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ แม่ของ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ แต่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้งดสืบพยานปากนี้ ซึ่งทางฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาได้ร้องขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีนี้ใหม่ ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นว่าไม่จำเป็นต้องนำสืบพยานปากนี้

แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าบทลงโทษในคดีนี้ที่ศาลชั้นต้นเคยพิพากษาจำคุก 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญานั้นสูงเกินไป จึงให้กำหนดบทลงโทษใหม่ เป็นให้ลงโทษจำคุก 1 เดือน โดยเปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็นโทษกักขังแทน เป็นระยะเวลา 1 เดือน

ต่อมาเวลา 10.30 น. ทนายความได้ขอยื่นขอประกันตัวชินวัตร เพื่อขอสู้คดีต่อในชั้นฎีกา หลังจากที่ศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษา

หลังจากการยื่นคำร้องประกันตัวเกือบ 2 ชั่วโมง ในเวลา 12.14 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวชินวัตร โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงิน 10,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ทำให้ในวันนี้ชินวัตรไม่ต้องถูกส่งตัวไปที่สถานกักขังจังหวัดปทุมธานี และยืนยันจะต่อสู้คดีในชั้นฎีกาต่อไป

สำหรับกิจกรรมที่หน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564 เกิดขึ้นโดยมีมวลชนมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องขังคดีทางการเมืองในขณะนั้น ที่บันไดหน้าศาลอาญา ต่อมา ศาลอาญามีการตั้งข้อหาละเมิดอำนาจศาลกับนักกิจกรรมรวม 6 ราย แยกเป็นรายคดี ได้แก่ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, เบนจา อะปัญ, ณัฐชนน ไพโรจน์, ภัทรพงศ์ น้อยผาง, พิสิฎฐ์กุล ควรแถลง และเอเลียร์ ฟอฟิ โดยคดีของนักกิจกรรม 3 รายหลังสิ้นสุดในศาลชั้นต้นแล้ว แต่คดีของเบนจา และณัฐชนน ยังอยู่ระหว่างการต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ 

ทั้งนี้ ทั้ง 6 คน ยังถูกกล่าวหาในคดีข้อหาดูหมิ่นศาล และข้อหาอื่นๆ จากการชุมนุมในวันเดียวกันดังกล่าว แยกเป็นอีกคดีหนึ่ง ที่ สน.พหลโยธิน โดยฝ่ายผู้ต้องหาพยายามต่อสู้ว่าเป็นการดำเนินคดีซ้ำซ้อนจากการกระทำเดียวกัน เป็นการตีความให้สามารถลงโทษโดยใช้บทลงโทษทางอาญาซ้ำสองครั้ง ขัดต่อหลักกฎหมายทั่วไป แต่แนวคำวินิจฉัยของศาล กลับเห็นว่าการดำเนินคดีข้อหาละเมิดอำนาจศาล กับดูหมิ่นศาลในลักษณะดังกล่าวไม่ซ้ำซ้อนกัน 

.

ดูข้อมูล สถิติคดี “ละเมิดอำนาจศาล-ดูหมิ่นศาล” ปี 2564-65

X