พฤษภาคม 64: ผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองอย่างน้อย 679 รายแล้ว คดี ม.112 แนวโน้มสั่งฟ้องเร็ว ขณะคดีดูหมิ่นศาล/ละเมิดอำนาจศาลเพิ่มมากขึ้น

ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สามยังดำเนินอยู่ รวมทั้งยังเกิดการระบาดในเรือนจำหลายแห่ง ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศไทยยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในสถานการณ์โรคระบาด กลายเป็นข้อจำกัดของกิจกรรมรวมตัวหรือชุมนุมขนาดใหญ่เกิดขึ้น แต่กิจกรรมการแสดงออกทางการเมืองอื่นๆ ที่ไม่ได้ทำให้เกิดการแพร่เชื้อ ยังคงดำเนินต่อไป 

สถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมือง ก็ไม่ได้ยุติไปตามการระบาดของโควิด แต่ยังคงมีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น จากการแสดงออกและชุมนุมในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ในเดือนนี้ยังมีแนวโน้มของการที่พนักงานอัยการสั่งฟ้องคดีหลายคดีอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในคดีมาตรา 112

สถิติในภาพรวม จากการรวบรวมของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 รวมเวลา 10 เดือนครึ่ง มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 679 คน ในจำนวน 344 คดี ในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด ยังแยกเป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 43 รายอีกด้วย

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนเมษายน 2564 เท่ากับมีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น 44 คน ใน 43 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน ดูสรุปสถิติคดีเดือนเมษายน

หากพิจารณาสถิติการดำเนินคดีแยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 97  คน ในจำนวน 92 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 103 คน ในจำนวน 29 คดี

3. ข้อหา “มั่วสุมกันใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดการวุ่นวาย” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 199 คน ในจำนวน 41 คดี

4. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 499 คน ในจำนวน 146 คดี  แยกเป็นคดีในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 23 คดี และคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 123 คดี

หากย้อนนับคดีตั้งแต่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2563 ซึ่งมีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมืองอีกจำนวนหนึ่ง ยอดผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะมีรวมกันอย่างน้อย 510 คน ในจำนวน 154 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 100 คน ในจำนวน 65 คดี

6. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 52 คน ในจำนวน 59 คดี

ในจำนวนคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมด ยังพบว่ามีการแจ้งข้อกล่าวหาทับซ้อนไปพร้อมกับพ.ร.บ.ชุมนุมฯ จำนวน 36 คดี ทั้งที่ตามมาตรา 3 (6) ของพ.ร.บ.การชุมนุมฯ กำหนดให้กฎหมายไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ

จากจำนวนคดี 344 คดีดังกล่าว มีจำนวน 58 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เพราะผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจ หรือในชั้นศาล เนื่องจากข้อกล่าวหามีอัตราโทษปรับ เช่น ข้อหาตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ, ข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ หรือข้อหากีดขวางการจราจร เป็นต้น ขณะที่ในจำนวนนี้มี 1 คดี ที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องโดยเด็ดขาด

 

 

แนวโน้มเกี่ยวกับการดำเนินคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 นี้ ยังมีประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

1. คดี ม.112 ที่กลุ่มปกป้องสถาบันฯ กล่าวหา ยังเพิ่มต่อเนื่อง – ศาลทยอยให้ประกันตัวผู้ถูกคุมขังภายใต้เงื่อนไข

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตลอดเดือนพฤษภาคม มีสถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าอย่างน้อย 9 ราย โดยเป็นคดีใหม่ 11 คดี ทำให้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ที่เริ่มมีการนำข้อหานี้กลับมาใช้อีกครั้ง มีผู้ถูกดำเนินคดีแล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 97 ราย ใน 92 คดี (ดูตารางสถิติคดีมาตรา 112) สถิตินี้เป็นเพียงตัวเลขที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทราบข้อมูลเท่านั้น 

คดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นใหม่หลายคดี เป็นคดีที่ “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยมากเป็นการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ ทำให้คดีจากการโพสต์แสดงความคิดเห็นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมคดีที่มีประชาชนไปแจ้งความกล่าวหาในข้อหามาตรา 112 มีถึงอย่างน้อย 42 คดี คิดเป็นร้อยละ 45 ของคดีเท่าที่ทราบทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีกรณีของนายอภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนรับมอบอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 และมีการดำเนินคดีตามมา อย่างน้อย 4 คดีแล้ว

ศูนย์ทนายฯ พบว่าประชาชนกลุ่มดังกล่าว ยังมักสังกัดกลุ่มเคลื่อนไหวที่ประกาศตนว่าปกป้องสถาบันกษัตริย์ฯ หลายคนเป็นผู้ไปแจ้งความซ้ำๆ ต่อแกนนำราษฎร หรือผู้โพสต์แสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ 

สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงปัญหาสำคัญประการหนึ่งของการบังคับใช้มาตรา 112 คือเปิดช่องให้ใครก็ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยไม่ต้องเป็นผู้เสียหายเองเหมือนกับข้อหาหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ทำให้ข้อหานี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการพยายามปราบปรามประชาชนที่เห็นต่าง หรือใช้กลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์ได้ง่าย

ในเดือนพฤษภาคมยังมีคดีใหม่ที่น่าสนใจ อาทิเช่น คดีของ “บาส” มงคล นักกิจกรรมในจังหวัดเชียงราย ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่จับกุมอีกครั้ง พร้อมถูกแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 จากการโพสต์ข้อความ 2 ข้อความ แยกเป็นอีกคดีหนึ่งจากที่เขาถูกกล่าวหามาแล้วในเดือนเมษายน, กรณีสองนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถูกกล่าวหาจากกรณีแสดงงานศิลปะคล้ายธงชาติไทย โดยไม่มีสีน้ำเงิน และมีผู้เขียนข้อความสื่อถึงสถาบันกษัตริย์ หรือกรณีลลิตา ผู้ใช้แอปพลิเคชั่น TikTok โพสต์วิดีโอกล่าวถึงการบริหารจัดการของภาครัฐและงบสถาบันกษัตริย์ รวมถึงกรณีปิยรัฐ จงเทพ และอานนท์ นำภา สองแกนนำสำคัญ ที่ได้รับหมายเรียกจาก บก.ปอท. ในข้อหามาตรา 112 เพิ่มอีกคนละคดี

 

 

นอกจากนั้น ยังมีเยาวชนอายุ 14 ปี และ 16 ปี รวม 2 ราย ได้รับหมายเรียกในข้อหามาตรา 112 นี้อีกด้วย ได้แก่ คดีที่ สภ.เมืองพิษณุโลก และคดีที่ สภ.บางแก้ว ทั้งสองคดีมี “ประชาชนทั่วไป” เป็นผู้ไปกล่าวหาเช่นกัน

ในเดือนที่ผ่านมา ศาลได้ทยอยให้ประกันตัวผู้ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีตามมาตรา 112 ทั้งหมด ภายใต้รูปแบบการไต่สวนคำร้องขอประกันตัว และมีการกำหนดเงื่อนไขประกันตัวในลักษณะคล้ายคลึงกัน ว่าห้ามไม่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยไปกระทํากิจกรรมที่กระทําความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ร่วมการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร รวมทั้งยังให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยกล่าวรับเงื่อนไขดังกล่าวด้วยตนเองต่อหน้าศาล

การกำหนดเงื่อนไขประกันตัวในลักษณะดังกล่าว ยังก่อให้เกิดคำถามว่าเป็นการใช้อำนาจปิดกั้นการแสดงออกทางการเมืองของผู้ถูกดำเนินคดีอย่างเกินขอบเขตหรือไม่ เมื่อทั้งหมดยังไม่ได้ถูกพิพากษาว่ากระทำความผิด และข้อกล่าวหายังมีลักษณะเป็นการแสดงออกทางการเมือง แต่ศาลสั่งไม่ได้รับการประกันตัวแต่แรก ถ้อยคำของเงื่อนไขยังมีลักษณะกว้างขวางคลุมเครือ โดยที่มาตรา 112 เอง ก็ไม่ได้กำหนดเรื่องการห้าม “กระทำความเสื่อมเสีย” ไว้ หรือไม่ได้คุ้มครอง “สถาบันกษัตริย์” เพียงแต่คุ้มครองบุคคลใน 4 สถานะตามตัวบทเท่านั้น รวมทั้งการตีความเงื่อนไขที่ว่า “ไม่ร่วมชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง” ก็อาจถูกตีความได้อย่างกว้างขวาง จนอาจกระทบต่อการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของผู้ถูกกล่าวหาด้วย 

ขณะเดียวกัน พนักงานอัยการก็ได้สั่งฟ้องคดีมาตรา 112 ต่อศาลเพิ่มเติม ในเดือนนี้เท่าที่ศูนย์ทนายฯ ทราบ อีกจำนวน 8 คดี โดยเดือนนี้มีคดีของเยาวชน ที่อัยการสั่งฟ้องต่อศาลเยาวชนฯ เป็นคดีแรกในช่วงการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้อีกด้วย ได้แก่ คดีของธนกร จากกรณีการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ6ธันวา ที่วงเวียนใหญ่ ขณะเดียวกันยังมีการสั่งฟ้องคดีสมบัติ ทองย้อย ซึ่งถูกกล่าวหาส่วนหนึ่งจากการโพสต์ข้อความ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ” อีกด้วย หรือคดีการโพสต์วิพากษ์วิจารณ์แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ของนักศึกษาวัย 19 ปี ที่จังหวัดจันทบุรี ก็ถูกอัยการสั่งฟ้องในเดือนนี้เช่นกัน

รวมแล้วขณะนี้มีคดีข้อหามาตรา 112 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ดำเนินไปสู่ชั้นศาลแล้วอย่างน้อย 15 คดี โดยบทบาทของพนักงานอัยการต่อการดำเนินคดีทางการเมืองที่เกิดขึ้นยังเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาต่อไป

 

 

2. การดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาล/ดูหมิ่นศาล รวมกันเพิ่มขึ้นไปถึง 16 คดีแล้ว

ในเดือนพฤษภาคมจำนวนคดีละเมิดอำนาจศาลและดูหมิ่นศาลยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายใต้สถานการณ์ที่มีประชาชนร่วมชุมนุมและแสดงออกวิพากษ์วิจารณ์องค์กรตุลาการเพิ่มมากขึ้น โดยนับแต่เริ่มการชุมนุมเยาวชนปลดแอกถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 64 มีผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาละเมิดอำนาจศาลแล้ว 13 ราย ใน 13 คดี และมีผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาดูหมิ่นศาลแล้วอย่างน้อย 20 ราย ใน 3 คดี 

ในกรณีข้อหาละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 – 33  มีลักษณะที่มุ่งคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดีให้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล โดยศาลสามารถตั้งเรื่องไต่สวน และลงโทษผู้กระทำผิดเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีการสอบสวนหรือฟ้องร้อง 

ในเดือนที่ผ่านมา มีผู้ถูกได้รับหมายเรียกเพื่อไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาลเพิ่มเติม จากเหตุการณ์ชุมนุมหน้าศาลอาญา เพื่อเรียกร้องการประกันตัวผู้ต้องขังในคดีทางการเมือง เมื่อวันที่ 29-30 เม.ย. 64 รวม 6 ราย ใน 7 คดี โดยศาลได้แยกไต่สวนเป็นคดีรายบุคคล แม้เกิดเหตุในวันเดียวกัน โดยมีผู้ถูกกล่าวหาทั้งกลุ่มนักศึกษาธรรมศาสตร์ กลุ่มศิลปะปลดแอก และแกนนำนักกิจกรรมในจังหวัดนนทบุรี ชุดคดีเหล่านี้ยังอยู่ระหว่างเลื่อนการไต่สวนออกไปในช่วงเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม เนื่องจากสถานการณ์โควิด 

ส่วนข้อหาดูหมิ่นศาล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 ซึ่งดำเนินการในลักษณะคดีอาญาทั่วไป คือพนักงานสอบสวนออกหมายเรียกให้ผู้ถูกกล่าวหาไปรับทราบข้อกล่าวหา ในเดือนพฤษภาคม ผู้ร่วมชุมนุมที่หน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 29-30 เม.ย. และวันที่ 2 พ.ค. ก็ได้ถูกตำรวจ สน.พหลโยธิน ไปขอออกหมายจับเพื่อดำเนินคดีในข้อหานี้และข้อหาอื่นๆ จากการชุมนุม รวมอย่างน้อย 20 รายแล้ว หลายรายยังถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจซ้ำไปในเวลาเดียวกันด้วย (ดูรายงานข่าวกลุ่มคดีนี้ 1, 2, 3)

นอกจากนั้น สถานการณ์การแสดงออกที่หน้าศาลต่างๆ ผู้เข้าร่วมชุมนุมยังถูกดำเนินคดีตามมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งกรณีการจับกุมผู้ชุมนุม #ม็อบ2พฤษภา หน้าศาลอาญา ซึ่งผู้ถูกจับกุมเพียงแต่ไปขายเสื้อและหนังสือ หรือยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขวางปาสิ่งของแต่อย่างใด เช่น กรณีของ “พลอย” และ “ซี” ซึ่งถูกคุมขังอยู่หลายวัน ก่อนได้รับการประกันตัว

อีกทั้ง ยังมีการทยอยออกหมายเรียกผู้ร่วมกิจกรรม #ยืนหยุดขัง ที่หน้าศาลฎีกา ซึ่งดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 ในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกด้วย ซึ่งขณะนี้ยังเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาออกไป เนื่องจากสถานการณ์โควิด 

 

 

3. ผู้มีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาท/ดูหมิ่น/พ.ร.บ.คอมฯ ต่อประชาชนเข้มข้นขึ้น

แนวโน้มในช่วงเดือนพฤษภาคมอีกประเด็นหนึ่ง คือการที่ผู้มีอำนาจใช้วิธีการแจ้งความดำเนินคดีบุคคลที่แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นทางการเมืองหรือประเด็นทางสังคมต่างๆ ด้วยข้อหาหมิ่นประมาท, ดูหมิ่น หรือข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพิ่มมากขึ้น

โดยเฉพาะกรณีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มอบอำนาจให้นายอภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปแจ้งความกล่าวหาผู้ใช้เฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์หลายรายในข้อหาหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นฯ ในเดือนพฤษภาคมมีกรณีที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม อาทิ กรณีวีระชาติพงศ์ (สงวนนามสกุล) ผู้มีความบกพร่องทางสติปัญญา ที่ถูกกล่าวหาข้อหาดูหมิ่นโดยโฆษณาจากโพสต์ข้อความด่าทอ พล.อ.ประยุทธ์ บนเฟซบุ๊ก, กรณีของจอห์น วิญญู ถูกกล่าวหาจากการทวิตข้อความ 2 ข้อความ วิจารณ์การบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์

หรือกรณีของศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่มอบอำนาจให้ทนายความ ไปแจ้งความผู้ใช้ทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊กหลายรายที่โพสต์ถึงกรณีชายที่ไปเที่ยวสถานบันเทิง พร้อมข้อความที่เชื่อมโยงศักดิ์สยาม ในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยยังเป็นการไปแจ้งความในพื้นที่ สภ.เมืองบุรีรัมย์ ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องเดินทางไกลไปต่อสู้คดีในพื้นที่ดังกล่าว

“วัฒนธรรมการใช้กฎหมาย” เช่นนี้ยังกระจายไปในองคาพยพต่างๆ ของรัฐและเอกชน ในเดือนนี้ยังมีกรณีของนักศึกษาและนักกิจกรรมในจังหวัดบุรีรัมย์ถูกอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์กล่าวหาในข้อหาหมิ่นประมาท จากกรณีป้ายประท้วงค่าเทอมและเรียกร้องอธิการบดีที่โปร่งใสถูกติดในมหาวิทยาลัย เมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยขณะนี้มีผู้ถูกกล่าวหารวม 5 คน

หรือคดีที่บริษัทบุญรอด กล่าวหาประชาชนผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ภาพการสลายการชุมนุมบริเวณใกล้อาคารรัฐสภา #ม็อบ17พฤศจิกา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 63 พร้อมข้อความวิพากษ์วิจารณ์กรณีพบว่าอาจมีการยิงแก๊สน้ำตาออกมาจากพื้นที่ของบริษัท ซึ่งเดิมมีการแจ้งความร้องทุกข์ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีผู้ถูกดำเนินคดี 2 ราย แต่ต่อมาได้มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญากรุงเทพใต้โดยตรง โดยกล่าวหาประชาชน 4 ราย ในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อีกด้วย 

แนวโน้มสถานการณ์ที่ “ผู้มีอำนาจเหนือกว่า” ทั้งในนามของรัฐและบริษัทขนาดใหญ่ ใช้ยุทธวิธีการดำเนินคดีต่อประชาชนเช่นนี้ อาจเข้าข่ายเป็นการฟ้องคดีเพื่อปิดปาก (SLAPP) สร้างภาระให้กับผู้ถูกกล่าวหา และระยับยั้บยั้งการวิพากษ์วิจารณ์หรือการตรวจสอบการใช้อำนาจต่างๆ เพื่อประโยชน์สาธารณะอีกด้วย 

 

ย้อนดูสรุปสถานการณ์แต่ละเดือนก่อนหน้านี้

เมษายน 64: ผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองเพิ่มไปกว่า 635 คน แนวโน้มอัยการเร่งฟ้องหลายคดีตลอดเดือน

มีนาคม 64: เดือนเดียวผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองเพิ่มเกือบ 200 ราย ยอดพุ่งไปอย่างน้อย 581 คน ใน 268 คดี

กุมภา 64 : คดีทางการเมืองยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ถึง 207 คดี ผู้ถูกกล่าวหากว่า 382 คน

ม.ค. 64: คดีชุมนุม/แสดงออกทางการเมืองพุ่งไปกว่า 183 คดี ผู้ถูกกล่าวหากว่า 291 คน

 

X