ม.ค. 64: คดีชุมนุม/แสดงออกทางการเมืองพุ่งไปกว่า 183 คดี ผู้ถูกกล่าวหากว่า 291 คน

ในเดือนมกราคม 2564 สถานการณ์การใช้ “กฎหมาย” กล่าวหาผู้ชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองยังเป็นไปอย่างเข้มข้น แม้ไม่มีการชุมนุมขนาดใหญ่เหมือนในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 เนื่องจากการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศไทยอีกครั้งตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม หากแต่เจ้าหน้าที่รัฐยังคงนำข้อกล่าวหาต่างๆ มาใช้ดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง

สำหรับสถิติคดีในภาพรวม จากการรวบรวมของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 63 จนถึงวันที่ 31 ม.ค. 64 รวมเวลา 6 เดือนเศษ มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 291 คน ในจำนวน 183 คดี ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี ถูกดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 9 ราย

หากพิจารณาสถิติการดำเนินคดีแยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 55 ราย ในจำนวน 42 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 64 ราย ในจำนวน 20 คดี

3. ข้อหา “ประทุษร้ายเสรีภาพพระราชินี” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 มีผู้ถูกกล่าวหา 5 ราย ใน 1 คดี

4. ข้อหา “มั่วสุมกันใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดการวุ่นวาย” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 99 ราย ใน 14 คดี

5. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 222 ราย ในจำนวน 86 คดี แยกเป็นคดีในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 23 คดี และคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 63 คดี

6. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 84 ราย ในจำนวน 55 คดี

ในจำนวนคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมด ยังพบว่ามีการแจ้งข้อกล่าวหาทับซ้อนไปพร้อมกับพ.ร.บ.ชุมนุมฯ จำนวน 29 คดี ทั้งที่ตามมาตรา 3 (6) ของพ.ร.บ.การชุมนุมฯ กำหนดให้กฎหมายไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ

จากจำนวนคดี 183 คดีดังกล่าว มีจำนวน 29 คดีที่สิ้นสุดไปแล้ว เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจ หรือในชั้นศาล เนื่องจากข้อกล่าวหามีเพียงอัตราโทษปรับ เช่น ข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, ข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ หรือข้อหากีดขวางการจราจร เป็นต้น

ขณะที่คดีส่วนใหญ่ยังอยู่ในชั้นสอบสวน และยังไม่มีคดีที่ศาลมีแนวคำพิพากษาเกี่ยวกับการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อการชุมนุมทางการเมือง หลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมาครบ 10 เดือน ด้วยเหตุผลในการควบคุมการระบาดของโควิด-19

น่าสังเกตด้วยว่าไม่มีการชุมนุมครั้งใดตลอดครึ่งปีเศษที่ผ่านมา ที่มีรายงานว่าทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขึ้นแต่อย่างใด แต่เจ้าหน้าที่ยังคงใช้ข้อกล่าวหานี้กล่าวหาต่อแกนนำและผู้ชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังไม่มีรายงานการดำเนินคดีข้อหาเดียวกันนี้ต่อการชุมนุมหรือแสดงออกของกลุ่มประชาชนซึ่งสวม “เสื้อเหลือง” ที่เคลื่อนไหวคัดค้าน “คณะราษฎร” ในช่วงปีที่ผ่านมาด้วย ทำให้อาจเข้าข่ายลักษณะการใช้กฎหมายอย่างเลือกปฏิบัติ และใช้เป็นเครื่องมือปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

ทั้งนี้ ควรกล่าวไว้ด้วยว่าสถิติดังกล่าวเป็นตัวเลขเท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรับทราบข้อมูลเท่านั้น แต่คดีจากการชุมนุมและจำนวนผู้ถูกกล่าวหาอาจมีมากกว่านี้ โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 63 ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้เปิดเผยภาพรวมการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร ว่ามีตัวเลขคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบกว่า 200 คดีด้วย

 

 

ขณะเดียวกันแนวโน้มเกี่ยวกับการดำเนินคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบในช่วงเดือนมกราคม 2564 นี้ ยังมีประเด็นที่สำคัญซึ่งควรกล่าวถึง ได้แก่

1. การใช้ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

หลังจากรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มกลับมาบังคับใช้ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” อีกครั้งตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา พบว่าเพียง 2 เดือน สถิติผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ถึงอย่างน้อย 55 คน (เฉลี่ยทุกวันมีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่วันละเกือบ 1 ราย) (ดูตารางสถิติ)

ในช่วงเดือนแรกพบว่าการดำเนินคดีพุ่งเป้าไปที่แกนนำ “ราษฎร” จากกรณีการปราศรัยครั้งต่างๆ ในการชุมนุมช่วงปีที่ผ่านมา ก่อนในช่วงเดือนมกราคมจะพบว่าผู้ถูกดำเนินคดี มาจากกรณีจากการโพสต์และแชร์แสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ค่อยๆ เพิ่มขึ้น คือถึงปัจจุบันมีจำนวนอย่างน้อย 13 คดีแล้ว ส่วนกรณีเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมและการแสดงออกในที่สาธารณะพบว่ามีจำนวนอย่างน้อย 27 คดี

ในจำนวนคดีทั้งหมด ยังเป็นคดีที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษเองจำนวน 22 คดี โดยส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่สังกัดกลุ่มที่เคลื่อนไหวคัดค้าน “คณะราษฎร” อยู่แล้ว และยังเริ่มมีแนวโน้มของการไปร้องทุกข์กล่าวโทษในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งไม่ใช่พื้นที่ที่ผู้ถูกกล่าวหามีภูมิลำเนาอยู่ เพื่อสร้างภาระให้กับการต่อสู้คดีมากขึ้น

ในเดือนที่ผ่านมา ยังพบว่าศาลมีการออกหมายจับในข้อหาตามมาตรา 112 อย่างน้อย 2 หมายจับ หลังจากในช่วงปลายปี 2563 ยังไม่มีรายงานการออกหมายจับในคดีมาตรา 112 มาก่อน ได้แก่ ศาลจังหวัดธัญบุรีออกหมายจับกรณีพ่นสีสเปรย์ข้อความ “ภาษีกู” และยกเลิก 112” ในพื้นที่สภ.คลองหลวง โดยนักศึกษาผู้ถูกออกหมายจับ 1 ราย กลับไม่ได้เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามข้อกล่าวหาดังกล่าวแต่อย่างใด ทำให้ต่อมาสื่อมวลชนรายงานว่าตำรวจได้ไปขอถอนหมายจับอีกด้วย

 

 

2. เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจจับกุมอย่างรุนแรงต่อการรวมตัวทำกิจกรรมสาธารณะ

ในเดือนมกราคม เจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนซี่งถูกนำกำลังเข้ามาทำหน้าที่เกี่ยวกับการชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วย มีลักษณะการใช้อำนาจในการเข้าจับกุมผู้แสดงออกทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจในที่สาธารณะอย่างค่อนข้างรุนแรง

แม้จะมีการอ้างถึงสถานการณ์การกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 และอำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการห้ามชุมนุมมั่วสุม แต่ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่มีแนวโน้มจะเกินกว่าเหตุ ทั้งมีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่จำนวนมากเข้าหยุดยั้งปราบปรามกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมไม่มากนัก การเข้าใช้กำลังเข้าจับกุมตัวเป็นไปอย่างรุนแรง รวมทั้งการนำตัวไปควบคุมที่ บก.ตชด.ภาค 1 ซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ และกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ด้วย เช่น กรณีการจับกุมทีมการ์ด WeVo ขายกุ้งเพื่อช่วยผู้ค้ากุ้ง ในช่วงวันสิ้นปี 2563, กรณีการจับกุมกลุ่มการ์ดปลดแอกที่ทำกิจกรรม “เขียนป้ายผ้า 112 เมตร” บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และกลุ่มประชาชนที่รวมตัวกันเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม ที่บริเวณสามย่าน เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 64

รวมทั้งกรณีการจับกุม “กลุ่มขอคืนไม่ได้ขอทาน” สองครั้งรวดในสองวัน ทั้งจากการถือป้าย #สวัสดีปีใหม่2564ขอให้ลุงตู่มีความสุขนะจ๊ะ และขณะกางเต้นท์ปักหลักที่หน้าทำเนียบรัฐบาล

ขณะเดียวกัน ยังมีกรณีการควบคุมตัวบุคคลไปโดยไม่ให้ติดต่อผู้ใด และไม่มีใครทราบว่าถูกควบคุมตัว อย่างกรณีการควบคุมตัว “อาร์ต ทศเทพ” จากกรณีพ่นสีสเปรย์ “ยกเลิก 112” ซึ่งถูกควบคุมตัวไปที่สภ.บางแก้ว ทำให้กรณีดังกล่าวเข้าข่ายการถูกบังคับสูญหายในช่วงเวลาหนึ่งด้วย

 

 

3. การย้อนออกหมายเรียกต่อการชุมนุมที่ผ่านไปหลายเดือน และแกนนำยังถูกตั้งข้อหาต่อเนื่อง

ในเดือนมกราคม การตั้งข้อหาแกนนำและผู้ร่วมชุมนุมทางการเมืองที่สืบเนื่องมาจากปี 2563 ยังคงดำเนินต่อไป โดยพบว่าเจ้าหน้าที่มีการตั้งข้อกล่าวหาย้อนหลังต่อการชุมนุมที่ผ่านไปหลายเดือนแล้ว เช่น กรณีการกล่าวหาข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อมนตรา พงษ์นิล อาจารย์มหาวิทยาลัยพะเยา จากการร่วมชุมนุมในพื้นที่พะเยาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการดำเนินคดีผู้ร่วมกิจกรรมนี้ไปแล้ว 5 ราย แต่เพิ่งมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาเพิ่มในช่วงต้นปีนี้ และน่าสังเกตว่ามนตรามีประวัติถูกจับตาการแสดงออกทางการเมืองจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่อยู่ก่อนแล้ว

หรือกรณีการดำเนินคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อ “มีมี่” เยาวชนอายุ 17 ปี สมาชิกกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก ที่ร่วมขึ้นปราศรัยในการชุมนุม 25 ต.ค. 63 ที่แยกราชประสงค์ ก็เกิดขึ้นภายหลังการแจ้งข้อหาต่อแกนนำการชุมนุมไปก่อนหน้านี้แล้ว 5 ราย โดยทางตำรวจระบุว่าเพิ่งสืบสวนทราบตัวบุคคล

รวมทั้งกรณีตำรวจสน.ชนะสงครามแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 116 เพิ่มเติมกับผู้ร่วมชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร จำนวน 15 คน หลังจากก่อนหน้านี้ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหานี้เอาไว้

ขณะเดียวกัน แกนนำสำคัญของคณะราษฎรก็ยังถูกตั้งข้อหาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการชุมนุมในปีที่ผ่านมา และจากการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ หลังการชุมนุมของเยาวชนปลดแอกเป็นต้นมาพบว่า เพนกวิน พริษฐ์ ถูกกล่าวหาไปแล้ว 30 คดี, อานนท์ นำภา ถูกกล่าวหาไปแล้ว 20 คดี, ไมค์ ภาณุพงศ์ ถูกกล่าวหาไปแล้ว 19 คดี, รุ้ง ปนัสยา ถูกกล่าวหาไปแล้ว 14 คดี, อรรถพล บัวพัฒน์ ถูกกล่าวหาไปแล้ว 13 คดี เป็นต้น 

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดภาระทางคดีจำนวนมากกับแกนนำและผู้ชุมนุม รวมทั้งในหลายคดี พบว่าทางตำรวจและอัยการมีการเร่งรัดสั่งฟ้องต่อผู้ต้องหา โดยที่ไม่ให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาได้ต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม เช่น ไม่รอการยื่นคำให้การเพิ่มเติมของฝ่ายผู้ต้องหา การรีบสรุปสำนวนคดีมีความเห็นสั่งฟ้องอย่างรวดเร็ว โดยไม่ได้พิจารณาข้อต่อสู้ของผู้ถูกกล่าวหาอย่างเพียงพอ (ดูตัวอย่างคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร)

 

X