มีนาคม 64: เดือนเดียวผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองเพิ่มเกือบ 200 ราย ยอดพุ่งไปอย่างน้อย 581 คน ใน 268 คดี

สถานการณ์การดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนมีนาคม 2564 เนื่องจากมีการจับกุมผู้ชุมนุมในกิจกรรมต่างๆ หลายครั้งด้วยกันในรอบเดือนที่ผ่านมา รวมทั้งหลายคนที่ถูกจับกุมตั้งข้อกล่าวหา ยังไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อนหน้านี้ด้วย ทำให้มีสถิติประชาชนรายใหม่ๆ ที่ถูกกล่าวหาในคดีทางการเมืองพุ่งขึ้นมากในเดือนนี้

สถิติในภาพรวม จากการรวบรวมของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 รวมเวลา 8 เดือนเศษ มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 581 คน ในจำนวน 268  คดี 

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เท่ากับมีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น 199  คน และคดีเพิ่มขึ้น 61 คดี ภายในเดือนมีนาคมเพียงเดือนเดียว (ดูสรุปสถิติคดีเดือนกุมภาพันธ์

หากพิจารณาสถิติการดำเนินคดีแยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 82 คน ในจำนวน 74 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 103 คน ในจำนวน 26 คดี

3. ข้อหา “มั่วสุมกันใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดการวุ่นวาย” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 171 คน ใน 35 คดี

4. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 444 คน ในจำนวน 128 คดี  แยกเป็นคดีในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 23 คดี และคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 105 คดี

หากย้อนนับคดีตั้งแต่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2563 ซึ่งมีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมืองอีกจำนวนหนึ่ง ยอดผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะมีรวมกันอย่างน้อย 457 คน ใน 136 คดี 

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 87 คน ในจำนวน 62 คดี

6. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 35 คน ใน 40 คดี

ในจำนวนคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมด ยังพบว่ามีการแจ้งข้อกล่าวหาทับซ้อนไปพร้อมกับพ.ร.บ.ชุมนุมฯ จำนวน 35 คดี ทั้งที่ตามมาตรา 3 (6) ของพ.ร.บ.การชุมนุมฯ กำหนดให้กฎหมายไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ

จากจำนวนคดี 268 คดีดังกล่าว มีจำนวน 41 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เพราะผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจ หรือในชั้นศาล เนื่องจากข้อกล่าวหามีอัตราโทษปรับ เช่น ข้อหาตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ, ข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ หรือข้อหากีดขวางการจราจร เป็นต้น

 

แนวโน้มเกี่ยวกับการดำเนินคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบในช่วงเดือนมีนาคม 2564 นี้ ยังมีประเด็นที่สำคัญซึ่งควรกล่าวถึง ได้แก่

1. การดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นกว่า 27 คดีในเดือนเดียว คดีบนโลกออนไลน์พุ่ง

หลังเริ่มกลับมาบังคับใช้ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” อีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา พบว่าคดียังพุ่งสูงต่อเนื่อง โดยตลอดเดือนมีนาคม มีรายงานการดำเนินคดีใหม่เพิ่มขึ้น 22 คน ใน 27 คดี รวมแล้วทำให้มีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ทั้งสิ้นอย่างน้อย 82 ราย ใน 74 คดี (ดูตารางสถิติคดีมาตรา 112)

เดือนที่ผ่านมามีการจับกุมนักกิจกรรมและประชาชน ทั้งในรูปแบบมีหมายจับและไม่มีหมายจับ ตามมาตรา 112 อย่างน้อย 9 กรณี ได้แก่ กรณีของ “แอมมี่” ไชยอมร กรณีเผาพระบรมฉายาลักษณ์หน้าเรือนจำ, กรณีทิวากร วิถีตน กรณีโพสต์ข้อความและใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว”, กรณี “พอร์ท ไฟเย็น” โพสต์ข้อความ 3 ข้อความตั้งแต่ปี 2559, กรณี “พรชัย” จากการโพสต์ข้อความ, กรณีเยาวชนสองรายที่ถูกกล่าวหาจากกรณีแสดงออกต่อภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในการชุมนุม #ม็อบ20มีนา, กรณี “จัสติน” ชูเกียรติ จากการติดกระดาษข้อความบนภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในการชุมนุมเดียวกัน 

รวมทั้งสถานการณ์การจับกุมในช่วงปลายเดือน อย่างกรณีของ “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ ซึ่งอายัดตัวไปดำเนินคดีจากการติดป้ายวิพากษ์วิจารณ์เรื่องวัคซีนพระราชทานที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และกรณีของ “พรพิมล” ที่จังหวัดเชียงใหม่

สถานการณ์การจับกุมดังกล่าว ยังทำให้มีผู้ถูกคุมขังระหว่างการต่อสู้คดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยพบว่าเดือนนี้ ศาลไม่ให้ประกันตัวระหว่างการฝากขังในชั้นสอบสวน อย่างน้อย 7 ราย รวมทั้ังแกนนำราษฎร ที่ถูกสั่งฟ้องเพิ่มเติมในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ก็ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาในชั้นศาลเพิ่มเติมอีก 3 ราย ทำให้จนถึงต้นเดือนเมษายน 2564 มีผู้ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีตามมาตรา 112 อยู่อย่างน้อย 14 คน (ดูสถิติผู้ถูกคุมขัง)

กรณีการไม่ได้รับการประกันตัว ยังรวมไปถึงผู้ที่เดินทางไปตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวน ไม่ได้ถูกจับกุม หรือมีหมายจับใดๆ แต่ได้ถูกพนักงานสอบสวนนำตัวไปขอฝากขัง และศาลไม่ให้ประกันตัว ได้แก่ กรณีของ “ฟ้า” พรหมศร วีระธรรมจารี ที่เดินทางไปตามหมายเรียกของสภ.ธัญบุรี ในคดีปราศรัยที่หน้าศาลจังหวัดธัญบุรี ซึ่งนับเป็นกรณีแรกที่เกิดสถานการณ์เช่นนี้

 

 

สถานการณ์การเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำ ยังเป็นไปอย่างยากลำบาก ทั้งการไม่อนุญาตให้ญาติหรือเพื่อนผู้ต้องขังเข้าเยี่ยมได้ โดยเรือนจำอ้างถึงสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งทนายความ แม้จะเข้าเยี่ยมได้ แต่ต้องดำเนินการแต่งทนายความก่อน และการพูดคุยหารือคดีกับลูกความที่ศาล ยังถูกจำกัดมากขึ้ัน หลังจากศาลมีมาตรการเข้มงวดต่อคดีทางการเมืองมากขึ้น เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ลุกขึ้นอ่านแถลงการณ์วิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมในห้องพิจารณาคดี

ขณะเดียวกัน แนวโน้มการดำเนินคดีที่เกิดจากการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากในช่วงแรกของการกลับมาใช้มาตรา 112 พบว่าเป็นคดีจากการปราศรัยในการชุมนุมมากกว่า เดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีคดีใหม่ที่เกิดจากโลกออนไลน์จำนวน 15 คดี จาก 27 คดี 

การดำเนินคดีออนไลน์ในเดือนที่ผ่านมา ยังรวมไปถึงคดีของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ถูกกล่าวหาในข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการเฟซบุ๊กไลฟ์วิจารณ์เรื่องการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ในหัวข้อ “วัคซีนพระราชทาน ใครได้ใครเสีย” ด้วย

ขณะเดียวกัน ผู้ถูกกล่าวหาส่วนใหญ่ในกรณีลักษณะนี้ มักเป็นผู้ใช้อินเตอร์เน็ททั่วไป และผู้กล่าวหาก็เป็นประชาชนทั่วไปหรือเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ ซึ่งไปแจ้งความร้องทุกข์ไว้ ทั้งที่ บก.ปอท. และสถานีตำรวจต่างๆ บางคดียังมีการไปแจ้งความในสถานีตำรวจที่เป็นพื้นที่ห่างไกล สร้างภาระทางคดีต่อผู้ถูกกล่าวหาในการต่อสู้อีกด้วย

สถานการณ์ดังกล่าว สะท้อนถึงปัญหาการบังคับใช้มาตรา 112 ที่เปิดโอกาสให้ใครก็ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยไม่ต้องเป็นผู้เสียหายเองเหมือนกับข้อหาหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ทำให้กฎหมายมาตรานี้สามารถถูกกลุ่มฝ่ายการเมืองต่างๆ นำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือใช้กล่าวหากลั่นแกล้งกันไปมาอีกด้วย 

 

ภาพการชุมนุมในช่วงเย็นของวันที่ 20 มีนาคม 2564 จัดโดยกลุ่ม REDEM และแนวร่วม

 

2. การจับกุมผู้ชุมนุมหรือผู้ร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในเดือนมีนาคม สถานการณ์การจับกุมผู้ร่วมชุมนุมหรือร่วมกิจกรรมทางการเมือง ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยเป็นเดือนที่มีกรณีการจับกุมบุคคลจำนวนมากพร้อมกัน ใน 3 เหตุการณ์ ได้แก่ เหตุการณ์จับกุมทีมการ์ด WeVo ที่บริเวณเมเจอร์รัชโยธิน เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 64 จำนวนอย่างน้อย 48 คน, เหตุการณ์จับกุมในการสลายการชุมนุม #ม็อบ20มีนา ของกลุ่ม REDEM บริเวณสนามหลวงและใกล้เคียง รวม 32 คน, เหตุการณ์จับกุมผู้ชุมนุมและร่วมกิจกรรมหมู่บ้านทะลุฟ้า ใกล้ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 64 รวมช่วงเช้าและเย็นจำนวน 99 คน 

จำนวนการจับกุมดังกล่าวนับได้มากที่สุดตั้งแต่เริ่มการชุมนุมเยาวชนปลดแอกเป็นต้นมา การจับกุมดังกล่าว โดยเฉพาะเหตุการณ์ #ม็อบ20มีนา ยังคงมีแนวโน้มการใช้กำลังที่เกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ และไม่เป็นไปตามหลักการดูแลการชุมนุม ทั้งการยิงกระสุนยางแบบเหวี่ยงแห การยิงใส่ผู้สื่อข่าวหรือผู้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้ถูกจับกุมหลายรายไม่ใช่ผู้เกี่ยวข้องกับพฤติการณ์ตามที่เจ้าหน้าที่กล่าวหา 

ทั้งเหตุการณ์ทั้งสามครั้ง ยังมีการนำตัวผู้ถูกจับกุมไปในสถานที่ที่ไม่ใช่สถานีตำรวจท้องที่ อย่างกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 และกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ซึ่งขัดกับหลักกฎหมาย และยังทำให้การเข้าติดตามของทนายความและญาติเป็นไปอย่างยากลำบาก 

สถานการณ์การจับกุมและดำเนินคดีต่อการชุมนุมทางการเมืองจำนวนมาก โดยข้อกล่าวอ้างเรื่องการระบาดของโควิด-19 ยังทำให้จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าถึง 143 คน ใน 27 คดี 

 

 

นอกจากการจับกุมแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจยังมีการออกหมายเรียกแกนนำ ผู้ปราศรัย หรือผู้ชุมนุม ในการชุมนุมต่างๆ ที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การออกหมายเรียกผู้ปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ9กุมภา และ #ม็อบ10กุมภา ที่สกายวอร์คปทุมวัน, #ม็อบ13กุมภา ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, ชุมนุมหน้าสน.บางเขน ระหว่างการเข้ารับทราบข้อหาในคดีมาตรา 112 เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 63 รวมทั้งการออกหมายเรียกทีมการ์ด Wevo ที่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 64 แต่ไมไ่ด้ถูกพาไปถึง บก.ตชด.ภาค 1 ในวันดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่ากลุ่มดังกล่าวมีความพยายามหลบหนีการจับกุมด้วย เป็นต้น

รวมถึงสถานการณ์ในภาคอีสาน ที่มีการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมในหลายกรณีมากขึ้น ทั้งการชุมนุมที่หน้าสภ.ภูเขียว เรียกร้องให้ตำรวจขอโทษต่อการคุกคามนักเรียนที่จะเข้าร่วมค่ายราษฎรออนทัวร์ ที่ทยอยมีผู้ถูกกล่าวหาถึง 23 คนแล้ว หรือการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุม #ม็อบ20กุมภา และ #ม็อบ1มีนา ในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีผู้ถูกดำเนินคดีรวมกัน 14 ราย ทั้งหมดมีข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นข้อหาหลัก

ทั้ังนี้ ควรกล่าวด้วยว่าตลอดการเริ่มการชุมนุมเยาวชนปลดแอกเมื่อปี 2563 เป็นต้นมา ยังไม่มีรายงานสถานการณ์ที่การชุมนุมต่างๆ ก่อให้เกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 แต่อย่างใด 

>> 1 ปี สถานการณ์ฉุกเฉินรับมือโควิด: ผลกระทบต่อเสรีภาพในการชุมนุม

 

 

 

3. สถิติเยาวชนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองเพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่า ในเดือนเดียว

ในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ทางการเมืองทั้งหมด ยังพบว่าเป็นกลุ่มเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี ถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 31 รายแล้ว โดยสถิติในเดือนมีนาคมนี้ เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ถึง 18 ราย หรือมากกว่าหนึ่งเท่า เนื่องจากมีการจับกุมผู้ชุมนุมที่เป็นเยาวชนจากหลายเหตุการณ์ในเดือนที่ผ่านมา  (ดูสถิติคดีเยาวชน)

การจับกุมทีมการ์ด WeVo เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 64 พบว่ามีการจับกุมเยาวชนถูกจับกุม 3 ราย, การจับกุม #ม็อบ20มีนา พบว่ามีการจับกุมเยาวชน 7 ราย, การจับกุมหมู่บ้านทะลุฟ้า มีเยาวชนถูกจับกุม 6 ราย รวมทั้งการออกหมายเรียกจากการชุมนุมย้อนหลัง 

เกือบทั้งหมดเป็นกลุ่มเยาวชนที่ไม่เคยถูกดำเนินมาก่อนหน้านี้ ทำให้ยอดผู้ถูกดำเนินคดีที่เป็นเยาวชนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยอายุของเยาวชนที่ถูกจับกุมดำเนินคดีเองก็ค่อยๆ ลดลงด้วย เมื่อพบว่าเดือนนี้มีเยาวชนอายุ 14-15 ปี ถูกกล่าวหาดำเนินคดีเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการดำเนินคดีเยาวชนอายุ 14-15 ปี ในข้อหาตามมาตรา 112 ด้วย  

ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ถูกดำเนินคดีที่อยู่ในช่วงวัย 18-20 ปี ซึ่งเลยช่วงที่ถูกนับเป็นเยาวชนมาไม่มากนัก ก็นับว่ามีเป็นจำนวนมาก สะท้อนถึงความอึดอัดคับข้องใจของคนรุ่นใหม่ต่อสังคมการเมือง ซึ่งนำไปสู่การเคลื่อนไหวและแสดงออกในรูปแบบต่างๆ ของคนกลุ่มนี้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา 

การดำเนินคดีต่อเยาวชนที่ร่วมชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมืองจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ดังกล่าว ยังสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐ ที่หันไปใช้การกดปราบโดยกฎหมายที่เข้มข้นมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา 

 

ย้อนดูสรุปสถานการณ์แต่ละเดือนก่อนหน้านี้

กุมภา 64 : คดีทางการเมืองยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ถึง 207 คดี ผู้ถูกกล่าวหากว่า 382 คน
ม.ค. 64: คดีชุมนุม/แสดงออกทางการเมืองพุ่งไปกว่า 183 คดี ผู้ถูกกล่าวหากว่า 291 คน

 

 

X