พฤศจิกายน 64: ยอดผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองรวม 1,684 คน ในจำนวน 957 คดี

เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แม้สถานการณ์การชุมนุมจะชะลอตัวลงไปบ้าง แต่การดำเนินคดีที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมในช่วงเดือนก่อนหน้านี้ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มียอดผู้ถูกดำเนินคดีในเวลาปีเศษรวมมากกว่า 1,367 รายแล้ว ส่วนคดีตามมาตรา 112 ก็ยังคงเกิดขึ้นเป็นระยะ โดยเฉพาะสถานการณ์ที่อัยการเร่งสั่งฟ้องคดีต่างๆ ทำให้คดีมาตรานี้กำลังทยอยขึ้นสู่การพิจารณาในชั้นศาลอย่างต่อเนื่อง

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,684 คน ในจำนวน 957 คดี  ในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดนี้ ยังเป็นเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 267 ราย

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนบุคคลมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,217 ครั้ง ทำให้โดยเฉลี่ยคนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองคนหนึ่ง จะถูกกล่าวหาใน 2 คดีด้วยกัน

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนตุลาคม มีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น 48 คน ใน 61 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) เป็นเยาวชนที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 9 ราย 

ส่วนสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 162 คน ในจำนวน 166 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 115 คน ในจำนวน 37 คดี

3. ข้อหา “มั่วสุมกันใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดการวุ่นวาย” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 572 คน ในจำนวน 188 คดี

4. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,367 คน ในจำนวน 594 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมหรือทำกิจกรรมทางการเมือง) แยกเป็นคดีในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 24 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 107 คน ในจำนวน 76 คดี

6. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 109 คน ในจำนวน 123 คดี

จากจำนวนคดี 957 คดีดังกล่าว มีจำนวน 143 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว โดยมากเป็นคดีที่ผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจ หรือในชั้นศาล เนื่องจากข้อกล่าวหามีอัตราโทษปรับ 

หมายเหตุ สถิติคดีนี้ไม่ใช่จำนวนคดีที่ศูนย์ทนายฯ ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายทั้งหมด แต่รวมคดีจากการแสดงออกและชุมนุมทางการเมืองที่ทราบข้อมูลด้วย

.

.

แนวโน้มเกี่ยวกับการดำเนินคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้ ยังมีประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้

คดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้น 7 คดี อัยการเร่งสั่งฟ้องคดี ม.112 ขึ้นสู่ชั้นศาล ขณะศาลมีคำพิพากษาคดีแรก

ในเดือนพฤศจิกายน มีรายงานการดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 8 คน ใน 7 คดี ทำให้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 162 ราย ใน 166 คดี โดยเป็นเยาวชนรวม 13 ราย ในจำนวนนี้ยังมีผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกคุมขังและไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดีอยู่ทั้งหมด 5 ราย

เดือนที่ผ่านมามีคดีสำคัญ ได้แก่ คดีของ “ปูน” ธนพัฒน์ ได้ถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 ที่ สภ.สุไหงโก-ลก โดยธนพัฒน์ถูกกล่าวหาจากการโพสต์เฟซบุ๊ก 8 ข้อความในกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง โดยทั้งหมดเป็นโพสต์ในขณะที่ธนพัฒน์ยังอายุไม่ถึง 18 ปี ทำให้กรณีของเขา นับเป็นคดีของเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อีกหนึ่งราย

.

.

ด้านสุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล อดีตนักร้องและพิธีกร ก็กลายเป็นผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 เมื่อเขาเข้ารับทราบข้อหาที่ บก.ปอท. ในคดีที่มีอภิวัฒน์ ขันทอง กล่าวหาเอาไว้ จากกรณีโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์การผูกขาดวัคซีนโควิด-19 

ขณะที่นักกิจกรรมที่มีบทบาททางการเมืองก็ได้ถูกแจ้งข้อหาในคดีใหม่เพิ่มอีก ทั้ง “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ถูกตำรวจ สน.บางโพ ย้อนแจ้งข้อหามาตรา 112 จากกรณีปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ17พฤศจิกา63 ที่หน้ารัฐสภา ทำให้เพนกวินถูกดำเนินคดีมาตรา 112 รวมถึง 22 คดีแล้ว หรือ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว ก็ถูกแจ้งข้อหาเป็นคดีที่สองของตนเอง ที่สภ.ธัญบุรี จากเนื้อหาการปราศรัยในการชุมนุมที่หน้าศาลจังหวัดธัญบุรี เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 64 ระหว่างรอผลประกันตัวนักกิจกรรม

รวมทั้ง นิราภร และ “รุ้ง” ปนัสยา สองนักศึกษาสมาชิกแนวร่วมกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่ได้รับหมายเรียกคดีมาตรา 112 จาก บก.ปอท. ก่อนพบว่าถูกกล่าวหาจากข้อความที่โพสต์ในเพจของกลุ่มดังกล่าว

ในพื้นที่ต่างจังหวัด มีกรณีของนักศึกษาและนักกิจกรรมราษฎรใต้ รวม 3 คน ที่ถูกตำรวจ สภ.เมืองพัทลุง ไปร้องขอศาลออกหมายจับ โดยไม่มีการออกหมายเรียก และจับกุมกล่าวหาจากพฤติการณ์การถ่ายภาพในสถานที่ต่างๆ ของเมืองพัทลุง และใส่ข้อความทางการเมืองโพสต์เฟซบุ๊กเพจ “พัทลุงปลดแอก” และ “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” ตั้งแต่เมื่อปี 2563

สถานการณ์คดีมาตรา 112 ยังพบว่าพนักงานอัยการได้ดำเนินการสั่งฟ้องคดีต่างๆ ต่อศาลค่อนข้างรวดเร็ว โดยจาก 166 คดี มีคดีที่ขึ้นสู่ชั้นศาลแล้ว 68 คดี คิดเป็นราว 40% ของคดีเท่าที่ทราบข้อมูล โดยมีเพียงกรณีเดียว คือกรณีของ “ทราย” อินทิรา เจริญปุระ ที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องในข้อหานี้ในคดีชุมนุมหน้ากรมทหารราบที่ 11 เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 63 แต่เธอยังถูกฟ้องในข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 เช่นเดียวกับนักกิจกรรมคนอื่นๆ นอกจากนั้น ยังไม่พบคดีที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีแต่อย่างใด แนวโน้มการดำเนินคดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นจึงแทบจะถูกสั่งฟ้องทั้งหมด

ขณะเดียวกัน ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ยังมีคดีมาตรา 112 ในระยะใหม่นี้ ซึ่งต่อสู้คดี และศาลมีคำพิพากษาเป็นคดีแรก ได้แก่ คดีของ “จรัส” กรณีโพสต์ข้อความวิจารณ์เศรษฐกิจพอเพียง ศาลจังหวัดจันทบุรีได้พิพากษายกฟ้องในข้อหามาตรา 112 แต่ลงโทษในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) แทน ซึ่งมีแนวทางคำวินิจฉัยที่น่าสนใจ เมื่อเห็นว่ารัชกาลที่ 9 ไม่เป็นบุคคลตามองค์ประกอบของมาตรานี้อีก เนื่องจากไม่ใช่พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน แต่ยังต้องจับตาแนวทางการวินิจฉัยเช่นนี้ว่าจะมีผลในคดีมาตรา 112 อื่นๆ ที่มีการกล่าวถึงอดีตกษัตริย์หรือไม่อย่างไร

.

.

ตำรวจไล่แจ้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อผู้พบเห็นอยู่ในพื้นที่ชุมนุมดินแดง รวมทั้งกิจกรรมเวทีปราศรัยต่างๆ 

แม้รัฐบาลจะมีนโยบายที่เปิดประเทศมากขึ้น และผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ลงแล้ว แต่ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงต่ออายุการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 2 เดือน จนถึงช่วงสิ้นเดือนมกราคม 2565 ทำให้ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่างๆ จะยังคงบังคับใช้ต่อไป ขณะเดียวกัน สถานการณ์การดำเนินคดีในข้อหานี้ต่อการชุมนุมทางการเมืองก็ยังคงดำเนินต่อไป

ในเดือนที่ผ่านมา แม้การชุมนุมที่เรียกกันว่า “ทะลุแก๊ซ” ที่บริเวณดินแดงจะไม่ได้เกิดขึ้นเหมือนช่วงก่อนหน้านี้ แต่ตำรวจ สน.ดินแดง ยังคงดำเนินการออกหมายเรียกให้ประชาชนที่พบเห็นว่าไปอยู่บริเวณการชุมนุมในพื้นที่ดินแดงในแต่ละวัน ระหว่างช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564 ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาอย่างต่อเนื่อง โดยแจ้งข้อหาแยกเป็นรายวัน

แนวทางการดำเนินการดังกล่าว ทำให้พบว่ามีผู้ที่ผ่านเข้าไปที่ชุมนุม ผู้สังเกตการณ์ หรือผู้เข้าไปไลฟ์สดการชุมนุม ถูกดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง แม้ไม่ได้เป็นผู้ไปเข้าปะทะหรือเกี่ยวข้องกับการแสดงออกในพื้นที่ดินแดงก็ตาม ทั้งบางรายถูกกล่าวหาในหลายคดี แยกไปตามวันที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าพบเห็นอยู่ในที่ชุมนุม อาทิ กรณีชาญชัย ปุสรังษี อดีตการ์ดเสื้อแดง ที่ถูกแจ้งข้อหาไปแล้วคนเดียวถึง 26 คดี หรือธีรเมธ (สงวนนามสกุล) คนไร้บ้าน ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาไป 6 คดี ทั้งไม่ได้รับการประกันตัวในคดีหนึ่ง รวมทั้ง “ป่าน ทะลุฟ้า” ก็ถูกกล่าวหาจากเหตุดินแดงไปรวม 6 คดีแล้ว

.

.

ขณะเดียวกัน กิจกรรมเสวนาหรือการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม ตำรวจสถานีต่างๆ ยังคงไล่ดำเนินการออกหมายเรียกข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อนักกิจกรรมที่มีบทบาทในการปราศรัยในหลายคดี

ทั้งกิจกรรม #3ตุลามาไล่ประยุทธ์ ที่ลานกิจกรรมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา มีผู้ถูกกล่าวหา 17 ราย, กิจกรรม #ม็อบ9ตุลา #ขบวนกีv.4 “เปลือย”(คาร์ม็อบ) ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีผู้ถูกดำเนินคดี 13 ราย, กิจกรรมเสวนา “กระบวนการยุติธรรมกับอิสรภาพ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง” วันที่ 13 ต.ค. 64 ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีผู้ถูกดำเนินคดี 4 ราย, กิจกรรมเสวนา “คืนอิสรภาพ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” วันที่ 23 ต.ค. 64 ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีผู้ถูกดำเนินคดี 2 ราย รวมทั้งการชุมนุมใหญ่ #ราษฎรประสงค์ยกเลิก112 ที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 64 มีผู้ถูกดำเนินคดี 13 ราย

คดีที่เกิดจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองจำนวนมากเหล่านี้ ยังคงสร้างภาระให้นักกิจกรรม กลายเป็นเครื่องมือควบคุมทางการเมือง และยังส่งผลให้ “กระบวนการยุติธรรม” ทั้งระบบ ต้องใช้จ่ายทรัพยากรจำนวนมากไปกับคดีลักษณะนี้

.

.

ศาลลงโทษ “เบนจา” ข้อหาละเมิดอำนาจศาลเต็มอัตราโทษ และสั่งกักขัง 9 นักกิจกรรม

ในเดือนพฤศจิกายน ศาลได้มีคำวินิจฉัยในคดีข้อหาละเมิดอำนาจศาลรวม 3 คดี ได้แก่ คดีจากการแสดงออกที่หน้าศาลอาญา เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมือง เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64 ของเบนจา อะปัญ และของณัฐชนน ไพโรจน์ ซึ่งศาลลงโทษเบนจาเต็มอัตราโทษคือจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และลงโทษจำคุกณัฐชนน 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญาเช่นกัน

กรณีของเบนจา ศาลยังระบุการลงโทษหนัก ไม่ลดโทษให้ ในลักษณะว่าผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้ว่าการกระทำของตนไม่เป็นความผิด อันเป็นการแสดงว่าผู้ถูกกล่าวหามิได้สำนึกถึงการกระทำ ทั้งที่การต่อสู้คดีนั้นเป็นสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา ไม่ควรเป็นเหตุที่ศาลนำมาใช้อ้างในการพิจารณาในลงโทษสถานหนัก โดยไม่บรรเทาโทษ ในลักษณะนี้แต่อย่างใด

นอกจากนั้น ยังมีคดีของ 9 นักกิจกรรม ที่ถูกกล่าวหาละเมิดอำนาจที่ศาลจังหวัดธัญบุรี เนื่องจากการแสดงออกในห้องคุมขังของศาล หลังทราบว่าไม่ได้รับการประกันตัวในคดีชุมนุมหน้า บก.ตชด.ภาค 1 ศาลได้มีคำสั่งลงโทษจำคุกคนละ 20 วัน แต่ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 9 รายให้การรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำคุกคนละ 10 วัน ทั้งนี้เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาหลายคนยังศึกษาเล่าเรียนอยู่และเคยถูกคุมขังมาก่อนแล้ว จึงมีคำสั่งให้เปลี่ยนเป็นโทษกักขังเป็นระยะเวลา 10 วัน 

ขณะเดียวกัน ในเดือนที่ผ่านมา ยังมีนัดไต่สวนกรณีของ “โจเซฟ” นักกิจกรรมที่กรีดแขนตนเองระหว่างพิจารณาคดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ทำให้ศาลตั้งเรื่องไต่สวนข้อหาละเมิดอำนาจศาล แต่ศาลได้เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 17 ธ.ค. นี้

ในข้อหาละเมิดอำนาจศาล ศาลสามารถตั้งเรื่องไต่สวนเอง และลงโทษผู้กระทำผิดเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีการสอบสวนหรือฟ้องร้อง ทั้งยังเป็นข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการกระทำต่อศาลเอง ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อความไม่เป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาอย่างมาก

ทั้งบทบาทของศาลที่เข้ามาเกี่ยวกับการตัดสินคดีการเมืองจำนวนมาก ทำให้การแสดงออกหรือการวิพากษ์วิจารณ์ต่อองค์กรตุลาการเป็นไปอย่างเข้มข้นขึ้นมากในสังคมด้วย การใช้ข้อหาละเมิดอำนาจศาลหรือดูหมิ่นศาลจึงมีนัยยะสำคัญที่ต้องติดตามจับตาต่อไป 

.

X