เปิดคำพิพากษา คดี ‘จรัส’ โพสต์วิจารณ์ ศก.พอเพียง ชี้ไม่เข้าองค์ประกอบ ม.112 แต่ลงโทษจำคุก 2 ปี ตาม พ.ร.บ.คอมฯ ม.14 (1)

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 64 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดจันทบุรีนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ ‘จรัส’ (สงวนนามสกุล) อายุ 19 ปี นักศึกษาระดับชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากกรณีไปแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในกลุ่มเฟซบุ๊ก “เพจจันทบุรี” 

ในคดีนี้ หลังจรัสต้องต่อสู้ทางกฎหมายเป็นเวลา 1 ปีเศษ ศาลจังหวัดจันทบุรีนัดสืบพยานไปจำนวน 1 นัด เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีพยานโจทก์เข้าเบิกความจำนวน 2 ปาก และฝ่ายจำเลยมีจำเลยขึ้นเบิกความจนเสร็จสิ้น โดยต่อสู้ในประเด็นว่าการวิพากษ์วิจารณ์องค์พระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว ไม่เข้าข่ายองค์ประกอบของมาตรา 112

เปิดบันทึกสืบพยานคดี ม.112 “จรัส” นศ.จันทบุรี วัย 19 ปี ปมเมนต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ก่อนศาลพิพากษาพรุ่งนี้

.

ศาลพิพากษาชี้ ‘พระมหากษัตริย์’ ตาม ม.112 มิใช่กษัตริย์ในอดีตที่สวรรคตไปแล้ว  

10.00 น. ผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์ก่อนอ่านคำพิพากษา ศาลได้แจ้งว่าศาลได้ส่งสำนวนคดีและคำพิพากษาไปตรวจสอบที่สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 เรียบร้อยแล้ว

จากนั้นได้อ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า เมื่อพิจารณาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่บัญญัติว่า ‘ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวังโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี

แม้จะมิได้ระบุว่า พระมหากษัตริย์จะต้องเป็นพระมหากษัตริย์ซึ่งยังครองราชย์อยู่ในขณะกระทำความผิดหรือไม่ ทั้งไม่ได้ระบุว่า พระมหากษัตริย์ที่ถูกกระทำจะต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงครองราชย์อยู่ ในการตีความทางกฎหมายต้องพิจารณาถึงเจตนารมณ์แห่งกฎหมายและต้องตีความโดยเคร่งครัด 

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าคำว่า ‘พระมหากษัตริย์’ ตามประมวลกฎหมายอาญา 112 ย่อมหมายถึง พระมหากษัตริย์ที่ยังทรงครองราชย์อยู่ขณะที่กระทำความผิด มิใช่พระมหากษัตริย์ในอดีตที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว มิฉะนั้นก็จะหาขอบเขตอันเป็นองค์ประกอบความผิดไม่ได้ 

ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยลงข้อความในเฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ ‘ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง’ ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าทฤษฎีดังกล่าวเป็นแนวพระราชดำริของพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย ด้วยถ้อยคำที่กระทบต่อพระองค์ในลักษณะการละเมิดและหมิ่นประมาท โดยเฉพาะประชาชนยังคงเคารพและสักการะพระองค์อยู่มิเสื่อมคลาย แต่เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 59 อันเป็นเวลาก่อนที่จำเลยจะลงข้อความตามฟ้องในเฟซบุ๊ก 

การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะเป็นการกระทำต่ออดีตพระมหากษัตริย์ซึ่งสวรรคตไปแล้ว จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ตามฟ้อง

ส่วนความผิดฐานนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักรนั้น เห็นว่าแม้การกระทำของจำเลยตามฟ้องที่ลงข้อความในกลุ่ม ‘เพจจันทบุรี’ ซึ่งเป็นกลุ่มส่วนตัวที่ตั้งขึ้นมาเป็นการเฉพาะ ซึ่งจะมีเฉพาะสมาชิกที่เข้ามาตอบโต้กระทู้ที่ตั้งขึ้นได้ และข้อความตามฟ้องเป็นเพียงข้อความบางส่วนของการสนทนาโต้ตอบกันกับสมาชิกคนอื่น แต่ขณะเกิดเหตุกลุ่มดังกล่าวมีสมาชิกจำนวนมากถึง 196,447 คน ถือเป็นประชาชนกลุ่มหนึ่ง 

คำว่า ‘ประชาชน’ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายถึง พลเมือง สามัญชนทั่วไปที่ไม่ใช่ข้าราชการ พ่อค้า หรือนักบวช ทั้งเป็นที่เห็นได้โดยชัดแจ้งว่าจำเลยลงข้อความโดยปราศจากความรู้ความเข้าใจในทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถ่องแท้ ขาดความระมัดระวังและยับยั้งชั่งใจ ลักษณะของข้อความดังกล่าวย่อมกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของผู้ที่พบเห็นหรือประชาชนทั่วไป อันจะนำไปสู่ความไม่พอใจและอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรได้ 

การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน จนประการน่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) แต่ยังไม่ถึงขนาดเป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) 

พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 19 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา 76 เหลือจำคุก 2 ปี และปรับ 40,000 บาท 

คำให้การชั้นสอบสวนและคำนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุให้บรรเทาโทษลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับเงิน 26,666.66 บาท 

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยเป็นนักศึกษาอายุยังน้อย และเพิ่งกระทำความผิดคดีนี้เป็นครั้งแรก เห็นสมควรให้จำเลยได้กลับตัวเป็นคนดี โทษจำคุกของจำเลยให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้ โดยให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในระยะเวลากำหนด 1 ปี กับให้ทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์เป็นระยะเวลา 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ข้อหาอื่นให้ยก

.

ศาลหยุดอ่านคำพิพากษากลางคัน ให้จนท.ศาลตรวจมือถือ เหตุคิดว่าอัดเสียง  

ทั้งนี้ในระหว่างที่ผู้พิพากษากำลังอ่านคำพิพากษาอยู่ และจรัสได้ยืนขึ้นฟังคำสั่งอยู่นั้น ศาลได้หยุดอ่านคำสั่งกลางคันและถามจรัสเสียงดังว่า “อัดเสียงหรือเปล่า” เพราะเห็นว่ามือถือในมือจรัสขณะนั้นหน้าจอส่องแสงสว่างอยู่ แต่จรัสยืนยันว่าไม่ได้กระทำการดังกล่าว จากนั้นจรัสพยายามยื่นมือถือไปฝากไว้กับตำรวจศาลเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ แต่ตำรวจบ่ายเบี่ยงไม่รับฝาก

ผู้พิพากษาจึงให้เจ้าหน้าที่ศาลหน้าบัลลังก์ไปตรวจสอบโทรศัพท์มือถือดูว่าใช้บันทึกเสียงหรือไม่ แต่ไม่พบว่ามีการบันทึกใดๆ 

.

จรัสถูกปล่อยตัวหลังเสียค่าปรับ 26,666.66 บาท ด้านทนายจะยื่นอุทธรณ์ เหตุพิพากษานอกฟ้องของอัยการ

หลังฟังพิพากษาแล้วเสร็จ ตำรวจศาลได้ควบคุมตัวจรัสไปคุมตัวไว้ยังห้องควบคุมตัว ระหว่างที่ทนายความและบิดาของจรัสดำเนินการชำระค่าปรับ เป็นเงิน 26,666.66 บาท ซึ่งเป็นเงินจากครอบครัวของจรัส ไม่นานจรัสจึงได้ถูกปล่อยตัวออกมาจากห้องคุมขัง และเดินทางไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่คุมความประพฤติครั้งแรกจนแล้วเสร็จ

หลังจากนี้ ทนายความจะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาลงโทษจำคุกในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) ต่อไป เนื่องจากตามคำฟ้องคดีนี้ พนักงานอัยการไม่ได้บรรยายความผิดตามวงเล็บนี้ไว้แต่อย่างใด แต่บรรยายความผิดตามฟ้องไว้ตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เท่านั้น คำพิพากษาที่ลงโทษตาม มาตรา 14 (1) จึงเป็นการพิพากษานอกคำฟ้องของอัยการ

.

ข้อแตกต่างของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) และ (3) 

อนึ่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) ที่ศาลได้พิพากษาว่ามีความผิดและสั่งลงโทษจำคุกกับจรัสนั้นได้บัญญัติไว้ว่าเป็นการกระทำเกี่ยวกับ “ได้นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา” 

ด้าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) ซึ่งอัยการได้บรรยายว่าเป็นความผิดในคำฟ้อง แต่ศาลเห็นว่าจำเลยไม่มีความผิดตามข้อกฎหมายนี้นั้นได้บัญญัติไว้ว่าเป็นการกระทำที่เกี่ยวกับ “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา” 

มาตรานี้ระบุอัตราโทษจำคุกในทั้งสองวงเล็บ ไม่เกิน 5 ปี และปรับเงิน 100,000 บาทเท่ากัน

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

นักศึกษาจันทบุรีวัย 19 ปี ถูกแจ้งข้อหา ม.112 เหตุคอมเมนต์ถกเถียงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง

อัยการสั่งฟ้องคดี ม.112 นักศึกษาจันทบุรีวัย 19 ปี เหตุคอมเมนต์ถกเถียงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง

เปิดบันทึกสืบพยานคดี ม.112 “จรัส” นศ.จันทบุรี วัย 19 ปี ปมเมนต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ก่อนศาลพิพากษาพรุ่งนี้

X