สั่งจำคุก “เบนจา” 6 เดือน – “ณัฐชนน” 4 เดือน คดีละเมิดอำนาจศาล เหตุร่วมม็อบหน้าศาลอาญา 29 เม.ย. 64 กรณีณัฐชนน ศาลให้ประกันรออุทธรณ์

วันนี้ (1 พฤศจิกายน 2564) ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ศาลได้กำหนดนัดอ่านคำสั่งคดีละเมิดอำนาจศาลของ ณัฐชนน ไพโรจน์ และ เบนจา อะปัญ – 2 นักกิจกรรมจาก #แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เหตุจากการร่วมชุมนุมต่อเนื่องที่ด้านหน้าของศาลอาญาเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564

.

ศาลสั่ง จำคุก “เบนจา” 6 เดือน ละเมิดอำนาจศาล ชี้จำเลยไม่สำนึกในการกระทำ เจ้าตัวค้านกับทนาย เหตุใดผู้กระทำการรัฐประหารกลับไม่มีความผิดทางกฎหมาย

ในกรณีของเบนจา ก่อนหน้านี้ ทางทนายความได้ยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ขอให้ศาลส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและรอการพิพากษาไว้ชั่วคราว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 โดยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นที่ว่า บทลงโทษฐานความผิดละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 นั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 หรือไม่ ต่อมา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัย ให้เหตุผลว่า บทลงโทษดังกล่าวไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

>>> ศาลเลื่อนไต่สวน “เบนจา” คดีละเมิดอำนาจศาล ไป 21 มิ.ย. – พบถูกตั้งเรื่องไต่สวนอีกคดีหนึ่ง จากชุมนุม 30 เม.ย.

>>> ไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล “เบนจา” ชุมนุมเรียกร้องสิทธิประกันตัว ศาลส่งคำร้องชี้โทษละเมิดอำนาจศาลไม่ได้สัดส่วน ให้ศาลรธน.วินิจฉัย นัดอีกครั้ง 30 ส.ค. 64

>>> เปิดคำร้อง “เบนจา” ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย บทลงโทษฐาน “ละเมิดอำนาจศาล” จำคุกสูงสุด 6 เดือน ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 หรือไม่

.

ในการอ่านคำสั่ง ศาลได้เท้าความถึงกรณีเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ชวนกันมาทำกิจกรรมยื่นจดหมายราชอยุติธรรม พร้อมทั้งยืนอ่านกลอนตุลาการภิวัติ ที่ศาลอาญา โดยมีกลุ่มบุคคลดังกล่าวเข้ามาบริเวณศาล รวมตัวกันอยู่ที่บริเวณบันไดทางขึ้นหน้าศาล ซึ่งมีการใช้เครื่องขยายเสียงและตะโกนข้อความ ปล่อยเพื่อนเรา โดยระหว่างที่มีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในศาลอาญา ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งร่วมในกลุ่มได้วิ่งผ่านแนวรั้วแผงเหล็กที่กั้นอยู่หน้าบันไดทางขึ้นศาลอาญา พร้อมโปรยแผ่นกระดาษและพยายามหลบหลีกเจ้าหน้าที่ศาลอาญา โดยขณะวิ่งและยังตะโกนสรุปข้อความว่า “ตุลาการเช่นนี้ อย่ามีเลย” และพูดผ่านเครื่องขยายเสียงข้อความอื่นด้วย

ศาลพิเคราะห์แล้ว แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 34, 44 ได้บัญญัติถึงสิทธิเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น รวมถึงเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างก็ตาม แต่บทบัญญัติทั้งสองดังกล่าวยังได้บัญญัติอีกว่าสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวจะต้องถูกจำกัดโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน นอกจากนี้รัฐธรรมนูญ ฯ ยังได้บัญญัติถึงหน้าที่ของปวงชนชาวไทยในมาตรา 50 (3) ว่าบุคคลต้องมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และมาตรา 50 (6) บัญญัติว่าบุคคลมีหน้าที่เคารพและไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น และไม่กระทำการใดที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม

ดังนั้นผู้ถูกกล่าวหาในฐานะบุคคลอันเป็นหนึ่งในปวงชนชาวไทย ย่อมต้องปฏิบัติ “หน้าที่” ควบคู่ไปกับการใช้สิทธิและเสรีภาพด้วย หาใช่จะใช้เฉพาะสิทธิและเสรีภาพเท่านั้นไม่ ข้อกำหนดของศาลอาญาว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา พ.ศ.2564 ถูกกำหนดมาเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่นมิให้ถูกล่วงล่วงละเมิดโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 อันเป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญฯ รองรับไว้ ซึ่งข้อกำหนดศาลอาญา ฯ ข้อ 1 กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดประพฤติตนใช้คำพูดหรือกริยาในทางที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ก่อความรําคาญ ส่งเสียงดัง หรือในทางประวิงให้การดำเนินกระบวนพิจารณาชักช้าหรือในทางฟุ่มเฟือยเกินสมควร หรือกระทำในลักษณะที่เป็นการยั่วยุจูงใจสนับสนุนใด ๆ ในการกระทำดังกล่าวในห้องพิจารณาหรือภายในบริเวณศาลอาญา รวมถึงการกระทำอย่างอื่นในทำนองเดียวกัน … ฯลฯ ข้อ 6 ห้ามมิให้นำหรือใช้โทรโข่งไมโครโฟนเครื่องขยายเสียง รวมถึงอุปกรณ์ขยายเสียงต่าง ๆ หรือการกระทำอย่างอื่นในทำนองเดียวกันภายในศาลอาญา หรือบริเวณรอบศาลอาญา เว้นแต่ได้รับอนุญาตตามข้อกำหนดของศาลอาญา ฯ

เมื่อข้อเท็จจริงตามทางไต่สวน ได้ความว่าผู้ถูกกล่าวหากับพวกประมาณ 300 คนได้พากันเข้ามาบริเวณอาคารศาลอาญาแล้วกล่าวถ้อยคำโดยใช้อุปกรณ์ขยายเสียงรวมถึงตะโกนและวิ่งโปรยกระดาษ อันมีลักษณะส่งเสียงดังก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ก่อความรำคาญ อีกทั้งถ้อยคำที่ผู้ถูกกล่าวหากล่าวและอ่านบทกลอนที่มีเนื้อหาที่ประณามใส่ร้ายและดูหมิ่นต่อการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาตุลาการ อันมีลักษณะก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา จึงเข้าข่ายไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 50 (3)(6) และเป็นการละเมิดข้อกำหนดของศาลอาญาข้อ 1 และข้อ 6 อันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหา อ้างถึงการการอดอาหารและความเจ็บป่วยของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ก็ดี อ้างถึงเพื่อนของผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นจำเลยซึ่งศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวก็ดี อ้างว่าการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาตุลาการ ที่อาจกระทำโดยไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรมก็ดี อ้างว่าศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวนายพริษฐ์กับพวกอย่างไม่เป็นธรรมและแตกต่างกับกรณีที่ศาลอนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลยในคดีของกลุ่ม กปปส. ก็ดี ล้วนเป็นความรู้สึกนึกคิดของผู้ถูกกล่าวหาเองทั้งสิ้นโดยขาดฐานความรู้และความเข้าใจในข้อกฎหมายอันเป็นหลักสากลที่ใช้กันในนานาอารยประเทศ อีกทั้งข้ออ้างของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวนี้ผู้ถูกกล่าวหาสามารถเรียกร้องขอความชอบธรรมได้ภายในกรอบของรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ ด้วยวิธีการที่ผู้เจริญหรือผู้มีอารยะปฏิบัติกัน โดยไม่จำเป็นที่จะต้องกระทำการละเมิดข้อกำหนดของศาลอาญา ข้อต่อสู้ทั้งหมดของผู้ถูกกล่าวหาฟังไม่ขึ้น

จึงมีคำสั่งว่า ผู้ถูกกล่าวหา มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.พ.) มาตรา 30, 31 (1), 33 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) มาตรา 15, 180 ให้ลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหามีกำหนด 6 เดือน

แม้ผู้ถูกกล่าวหา ให้การรับข้อเท็จจริงว่าได้กระทำการตามคำกล่าวหาก็ตาม แต่กลับต่อสู้ว่าการกระทำของตนไม่เป็นความผิด อันเป็นการแสดงว่าผู้ถูกกล่าวหามิได้สำนึกถึงการกระทำ ประกอบกับคำรับของผู้ถูกกล่าวหานั้นเป็นไปในทางจำนนต่อพยานหลักฐานที่ปรากฏแน่ชัด คำรับข้อเท็จจริงของผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่เป็นประโยชน์ในการพิจารณาอันจะเป็นเหตุบรรเทาโทษได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 จึงไม่ลดโทษให้

หลังจากฟังคำพิพากษาแล้ว เบนจาได้กล่าวกับทนายความทั้งน้ำตาว่า เธอไม่กลัวการติดคุก แต่รู้สึกสิ้นหวังกับกระบวนการยุติธรรม รู้สึกว่า ทำไมคนที่ทำรัฐประหารถึงไม่โดนลงโทษ และตัวเองก็ยังเป็นห่วงเพื่อนข้างนอก ไม่อยากให้ใครต้องถูกส่งเข้ามาในเรือนจำเพิ่ม

หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่เรือนจำเดินเข้ามาในห้องพิจารณาเพื่อจะพาเบนจากลับไปใต้ถุนศาล อย่างไรก็ตาม เบนจาเลือกที่จะยืนนิ่งที่โถงทางเดินเพื่อยืนยันจุดยืนของตัวเอง ภายใต้การเฝ้ามองของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และเพื่อนนักกิจกรรมที่มารอให้กำลังใจ เธอได้พูดกับเจ้าหน้าที่ด้วยว่า ขอเลือกที่จะแสดงออกโดยการยืนเฉย ๆ เจ้าหน้าที่สามารถจะทำอย่างไรกับเธอก็ได้อยู่แล้ว เพราะเป็นฝ่ายที่มีอำนาจ ไม่ทันขาดคำ เบนจาลงไปนอนนิ่งกับพื้น สุดท้ายเจ้าหน้าที่พยายามดึงเธอขึ้นวีลแชร์สำเร็จ ก่อนจะเข็นพาเบนจาออกไป เนื่องจากเธอยังถูกคุมขังในอีกคดี สืบเนื่องจากการอ่านแถลงการณ์ที่ด้านหน้าบริษัทซิโน-ไทย ถูกกล่าวหาด้วยข้อหาหลัก มาตรา 112 และศาลอสญากรุงเทพใต้ไม่ให้ประกัน

ทั้งนี้ คดีความของเบนจาเป็นคดีละเมิดอำนาจศาลคดีแรกที่ศาลลงโทษเต็ม จากคดีทั้งหมด 13 คดี โดยทางทนายความยืนยันว่าจะทำการอุทธรณ์คดีต่อไป

.

สั่งจำคุก 4 เดือน “ณัฐชนน” ละเมิดอำนาจศาล ไม่รอลงอาญา ระบุ มีวิธีอื่นในการแสดงออก โดยไม่จำเป็นต้องกดดันศาล ด้านทนายเตรียมอุทธรณ์ต่อ

สำหรับในกรณีของณัฐชนน ทางทนายความก็ได้ยื่นหนังสือเนื้อความแบบเดียวกันต่อทางศาล เพื่อให้ส่งต่อถึงศาลรัฐธรรมนูญ ในนัดไต่สวนเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 โดยการไต่สวนเลื่อนมาจากวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 เนื่องจากก่อนหน้านี้ณัฐชนนอยู่ระหว่างการกักตัว เพราะเสี่ยงโควิด-19

>>> ไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล “ณัฐชนน” ยืนยันความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ศาลส่งเรื่องให้ ศาล รธน. วินิจฉัย

ศาลเริ่มต้นอ่านคำสั่ง (ยังไม่อนุญาตให้คัดถ่ายสำเนาคำพิพากษาฉบับเต็ม) เท้าความถึงกรณีเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ชวนกันมาทำกิจกรรมยื่นจดหมายราชอยุติธรรม พร้อมทั้งยืนอ่านกลอนตุลาการภิวัติ ที่ศาลอาญา โดยมีกลุ่มบุคคลดังกล่าวเข้ามาบริเวณศาลรวมตัวกันอยู่ที่บริเวณบันไดทางขึ้นหน้าศาล ซึ่งมีการใช้เครื่องขยายเสียงและตะโกนข้อความ #ปล่อยเพื่อนเรา โดยระหว่างที่มีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในศาลอาญา ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งยืนอยู่หน้าบันไดทางขึ้นศาลอาญา พูดผ่านเครื่องขยายเสียงข้อความว่า “ผมขอไม่นับว่าท่านจบที่ธรรมศาสตร์ที่เดียวกับผม เพราะท่านไม่เคยรักประชาชนเหมือนที่มหาลัยสอน คุณมันไร้กระดูกสันหลัง…ฯลฯ”

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตรงกันว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุมีการร่วมชุมนุมของกลุ่มมวลชนแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม บริเวณบันไดทางขึ้นหน้าศาลอาญา เพื่อยื่นจดหมายราชอยุติธรรม พร้อมทั้งยืนอ่านบทกลอนตุลาการภิวัติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้ศาลมีคำสั่งปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาจำนวน 7 คนซึ่งอยู่ในกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โดยมีผู้ถูกกล่าวหาร่วมชุมนุมอยู่บริเวณบันไดทางขึ้นศาลอาญาและพูดผ่านเครื่องขยายเสียงว่า “ ผมไม่นับว่าท่านจบธรรมศาสตร์ที่เดียวกับผม เพราะท่านไม่เคยรักประชาชนเหมือนที่มหาวิทยาลัยสอน คุณมันไร้กระดูกสันหลัง ถ้าคุณไร้กระดูกสันหลังคุณก็ไม่ได้ตั้งตรงเหมือนคนทั่วไป และผู้ถูกกล่าวหายังได้ตะโกนว่า “ชนาธิปออกมารับจดหมาย” หลายครั้ง

ข้อเท็จจริงในส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหา เบิกความว่าผู้ถูกกล่าวหาทราบว่าผู้พิพากษาหลายท่านจบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นสถาบันเดียวกับผู้ถูกกล่าวหาซึ่งมีคำขวัญว่า ฉันรักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน ผู้ถูกกล่าวหาจึงมีความรู้สึกร่วมว่าในการประกันตัวของผู้ต้องหาในศาลชั้นต้นผู้ต้องหาควรได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และควรได้รับการประกันตัว เมื่อมีกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมบางคนไม่ได้รับการประกันตัวในศาลผู้ถูกกล่าวหาจึงมีความรู้สึกว่าศาลไม่ได้ให้ความเป็นธรรม และผู้ถูกกล่าวหายังได้เบิกความตอบคำถามศาลเพิ่มเติมว่าที่ผู้ถูกกล่าหาพูดว่า“ คุณมันไร้กระดูกสันหลัง ถ้าคุณไร้กระดูกสันหลังคุณก็ไม่ได้ตั้งตรงเหมือนกับคนทั่วไป” คำว่ากระดูกสันหลังนั้น หมายถึงหลักการ และการที่ผู้ถูกกล่าวหากล่าวว่าศาลไม่ยุติธรรมในการให้ประกันตัวเพราะคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวนั้นศาลให้เหตุผลว่าเกรงว่าจำเลยจะไปกระทำความผิดอื่นซึ่งขัดกับหลักการที่กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือราชอยุติธรรม

ศาลเห็นว่าโดยเนื้อหาข้อความในการพูดของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับสิทธิการปล่อยชั่วคราวของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ผู้ถูกกล่าวหามีความคิดเห็นต่างไปจากดุลยพินิจของศาล ซึ่งเป็นสิทธิที่ผู้ถูกกล่าวหาสามารถคิดและแสดงความคิดเห็นดังกล่าวได้ แต่การที่ผู้ถูกกล่าวหาเข้าร่วมในการชุมนุมดังกล่าวและพูดตะโกนผ่านเครื่องขยายเสียงตามที่ปรากฏในแผ่นบันทึกเหตุการณ์ภาพเคลื่อนไหวด้วยพฤติกรรมที่ก้าวร้าว ขู่ตะคอก เอะอะโวยวายร่วมกับผู้ชุมนุมอื่น

อีกทั้งในขณะที่ผู้ร่วมชุมนุมอื่นใช้เครื่องขยายเสียงกล่าวโจมตีการทำงานของศาล ผู้ถูกกล่าวหายังส่งเสียงโห่ร้องและแสดงกริยาสนับสนุนด้วยถ้อยคำที่ก้าวร้าว และยังร่วมตะโกนว่า “ปล่อยเพื่อนเรา” พฤติกรรมดังกล่าวจึงมิใช่การแสดงความคิดเห็นเพียงอย่างเดียว แต่มีลักษณะเข้าร่วมกับมวลชนกดดันศาลให้ใช้ดุลพินิจไปตามความต้องการของตนกับพวก ไม่มีความเคารพความเห็นต่างของผู้อื่นดังเช่นผู้มีอารยะทางความคิดในแนวเสรีประชาธิปไตยพึงกระทำ

และการกระทำดังกล่าวยังกระทบต่อความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 188 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้เป็นไปโดยรวดเร็วเป็น ธรรมและปราศจากอคติทั้งปวง” อันเป็นหลักประกันในความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการการกระทำของผู้ถูกกล่าวหา จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.พ.) มาตรา 31 (1), 33 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) มาตรา 15 จึงมีคำสั่งให้ลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหาเป็นเวลา 4 เดือน

ต่อมา เวลาราวบ่ายโมง หลังฟังคำพิพากษา ทางทนายความของณัฐชนนได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ วางเงินประกัน 50,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ และศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย กำหนดครบยื่นอุทธรณ์วันที่ 1 ธันวาคม 2564

.

X