เปิด 4 ประเด็นอุทธรณ์คดี “ละเมิดอำนาจศาล” เบนจาร้อง #ปล่อยเพื่อนเรา หน้าศาลอาญา 

25 ก.พ. 2565 ทนายความได้ยื่นคำอุทธรณ์ในคดีละเมิดอำนาจศาลของ “เบนจา อะปัญ” นักกิจกรรมและสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จากกรณีร่วมชุมนุมต่อเนื่องที่ด้านหน้าของศาลอาญาเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564 ซึ่งต่อมาหลังดำเนินการไต่สวนจนเสร็จสิ้น ศาลได้มีคำสั่งลงโทษจำคุกเบนจาเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งเป็นโทษเต็มอัตราของข้อหานี้

ในคดีนี้ สืบเนื่องจากเหตุการณ์เข้าร่วมการชุมนุมทวงคืนสิทธิประกันตัวให้กลุ่มแกนนำ ‘ราษฎร’ ที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564 หน้าศาลอาญา พร้อมกับยื่นหนังสือ “ราชอยุติธรรม” ต่อศาล เพื่อให้พิจารณาการปล่อยตัวชั่วคราวแกนนำ และทวงถามถึงหน้าที่ของสถาบันตุลาการ ขณะทนายความยื่นประกันตัวแกนนำราษฎร หลังทั้งหมดถูกคุมขังมาเป็นเวลามากสุดเกือบ 3 เดือน 

คดีนี้มี ชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา เป็นผู้กล่าวหา โดยในกิจกรรมนี้มีผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาละเมิดอำนาจศาลทั้งหมด 6 ปาก แยกคดีเป็นรายคนไป

หลังศาลได้ดำเนินการไต่สวนพยานจำนวน 3 ปาก จนเสร็จสิ้น ต่อมา เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 ศาลได้นัดอ่านคำสั่งในคดีนี้ โดยมีคำสั่งลงโทษจำคุกเบนจาเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งเป็นอัตราโทษสูงสุดในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล โดยไม่รอลงอาญา 

แม้เบนจาจะให้การยอมรับว่าได้กระทำจริงตามที่ถูกกล่าวหา โดยศาลได้ระบุเหตุผลว่า เนื่องจากเบนจาให้การต่อสู้ว่าการกระทำของตนไม่เป็นความผิด อันเป็นการแสดงว่าไม่ได้สำนึกถึงการกระทำ ประกอบกับคำรับของผู้ถูกกล่าวหานั้นเป็นไปในทางจำนนต่อพยานหลักฐานที่ปรากฏแน่ชัด คำรับข้อเท็จจริงของผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่เป็นประโยชน์ในการพิจารณาอันจะเป็นเหตุบรรเทาโทษได้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 จึงไม่ลดโทษให้

>> สั่งจำคุก “เบนจา” 6 เดือน – “ณัฐชนน” 4 เดือน คดีละเมิดอำนาจศาล เหตุร่วมม็อบหน้าศาลอาญา 29 เม.ย. 64 กรณีณัฐชนน ศาลให้ประกันรออุทธรณ์

.

ทนายยื่นอุทธรณ์แย้งคำวินิจฉัยศาลชั้นต้น 4 ประเด็น 

จากคำสั่งลงโทษจำคุกของศาลอาญา เบนจาพร้อมด้วยทนายความได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งยกคำกล่าวหา โดยในคำร้องได้ระบุเหตุผลอุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยและคำสั่งศาลชั้นต้นด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ใน 4 ประเด็นด้วยกัน ดังต่อไปนี้

1. ข้อกำหนดของศาลอาญา ออกโดยอาศัยอำนาจ ป.วิ. แพ่ง ม.30  ครอบคลุมเฉพาะเหตุต่อหน้าขณะออกนั่งพิจารณาคดี และให้อำนาจเฉพาะผู้พิพากษาในคดีนั้นๆ ที่สามารถกำหนดโทษ “ละเมิดอำนาจศาล” ไม่ใช่อธิบดีของศาล

ประเด็นที่ศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยและมีคำสั่งลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหา โดยอ้างฐานความผิดว่าฝ่าฝืนข้อกำหนดของศาลอาญาว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา ซึ่งถูกกำหนดขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 

อุทธรณ์โต้แย้งว่า เมื่อพิจารณาบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 30 ซึ่งบัญญัติว่า “ให้ศาลมีอำนาจออกข้อกำหนดใดๆ แก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือแก่บุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาลตามที่เห็นจำเป็น เพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล และเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปตามเที่ยงธรรมและรวดเร็ว อำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึงการสั่งห้ามคู่ความมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในทางก่อความรำคาญหรือในทางประวิงให้ชักช้าหรือในทางฟุ่มเฟือยเกินสมควร” 

บทบัญญัติดังกล่าว หมายถึง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อหน้าศาลในขณะศาลออกนั่งพิจารณาคดีซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อการพิจารณาคดีที่ต้องดำเนินไปตามเที่ยงธรรมและรวดเร็ว ดังนั้น บทบัญญัติให้ “ศาล” มีอำนาจออกข้อกำหนดใดๆ แก่คู่ความ… นั้น คำว่า “ศาล” ในที่นี้จึงหมายถึงผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นๆ ไม่ได้หมายถึงอธิบดีศาลอาญา ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้บริหารศาลแต่อย่างใด 

ฉะนั้นหากให้อธิบดีศาลออกข้อกำหนด และกำหนดว่าหากใครฝ่าฝืนมีโทษทางอาญาถือว่าเป็นการใช้อำนาจเกินกว่าบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 30 เมื่อเป็นดังนี้จึงทำให้คำสั่งที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยและมีคำสั่งลงโทษจำคุกฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดของศาลอาญา จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

.

2. สิทธิเสรีภาพฯ ชุมนุมโดยสงบต้องได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญฯ         

ประเด็นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยและมีคำสั่งเกี่ยวกับคำเบิกความของผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำภายใต้ขอบเขตของรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 34 และมาตรา 44 ซึ่งบัญญัติถึงสิทธิเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็น รวมถึงเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ 

แต่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าบทบัญญัติทั้งสองดังกล่าวนั้นมีข้อยกเว้น และผู้ถูกกล่าวหามีหน้าที่ของบุคคลตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 50 ที่ต้องปฏิบัติควบคู่ไปกับการใช้สิทธิและเสรีภาพ และศาลชั้นต้นยังเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหายังไม่เข้าข่ายไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 50 (3), (6) ผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์โดยขอแย้งประเด็นดังกล่าวด้วยเหตุผล 3 ประการ ดังนี้

– ร้อง #ปล่อยเพื่อนเรา ยังอยู่ในขอบเขต “ชุมนุมโดยสงบ” ไม่มีความรุนแรง-ความเสียหาย ควรได้รับความคุ้มครองตามสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม    

เหตุผลประการแรก การจำกัดเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 34 และ 44 ซึ่งมีข้อจำกัดทำนองเดียวกัน คือ “จำกัดโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นโดยเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐความปลอดภัยสาธารณะ เพื่อความเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน” 

ทั้งนี้ การตีความการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ (peaceful assembly) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในทางสากลนั้นไม่ได้หมายถึง การชุมนุมที่ไม่มีเสียงดัง แต่หมายถึงการชุมนุมที่ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง ไม่มีการทำลายทรัพย์สิน และทำร้ายร่างกายบุคคลใด 

การกระทำของผู้ถูกกล่าวหานั้นเพียงแต่ใช้เครื่องขยายเสียงเพื่อทำการสื่อสารกับคนจำนวนมาก และโปรยกระดาษ ไม่ได้สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินราชการและไม่ได้เข้าไปรบกวนในห้องพิจารณาของศาล จึงยังอยู่ในขอบเขตการชุมนุมโดยสงบซึ่งเป็นที่ยอมรับในนานาอารยประเทศ ผู้ถูกกล่าวหาควรได้รับการคุ้มครองการใช้เสรีภาพดังกล่าว  

– สิทธิฯ แสดงออก-ชุมนุม เป็นสิทธิแต่กำเนิด คุ้มครองทุกคนไม่ว่าจะปฏิบัติหน้าที่พลเมืองไทยหรือไม่ก็ตาม

เหตุผลประการที่สอง สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมนั้นถือเป็นสิทธิมนุษยชนที่ติดตัวเราทุกคนมาตั้งแต่เกิด และยังเป็นสิทธิที่ถูกบัญญัติอยู่ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ที่ประเทศไทยให้การรับรองและเข้าร่วมเป็นภาคี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539

การกำเนิดและดำรงอยู่ของสิทธิและเสรีภาพจึงแยกต่างหากจากหน้าที่ของปวงชนชาวไทยที่ถูกกำหนดขึ้นเนื่องจากสถานะความเป็นพลเมือง แม้สิทธิและเสรีภาพจะดำรงอยู่คู่กันตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่ได้เป็นเงื่อนไขของกันและกัน อีกทั้งตามรัฐธรรมนูญฯ ก็ไม่ได้ระบุว่า “บุคคลจะมีสิทธิและเสรีภาพได้ก็ต่อเมื่อปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น” ฉะนั้นการที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่ปฏิบัติหน้าที่ของปวงชนชาวไทยตาม มาตรา 50 จึงไม่ได้รับความคุ้มครองในการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 34 และ มาตรา 44 จึงเป็นเหตุผลที่ไม่ถูกต้องและไม่อาจรับฟังได้

– กฎหมายต้องบังคับใช้ตามหลัก “เอกภาพ” เมื่อสองสิทธิฯ ปะทะกัน จะเลือกกฎหมายอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ จำเป็นต้องใช้ทั้งสองควบคู่กันไป

เหตุผลประการสุดท้าย การบังคับใช้กฎหมายต้องอาศัยการตีความโดยคำนึงถึง “หลักความเป็นเอกภาพของระบบกฎหมาย” มองเห็นความเชื่อมโยงของระบบกฎหมายที่สัมพันธ์กัน โดยมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญฯ ได้บัญญัติการใช้อํานาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคํานึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 

ดังนั้นในกรณีที่สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญมาปะทะกันกับกฎหมายอื่น การบังคับใช้และการตีความก็จำเป็นต้องใช้ไปในทางให้ทั้งสองสิทธิไปด้วยกันได้ เพราะโดยปกติของการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมนั้นย่อมปะทะกับสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น หรือกฎหมายอีกหลายฉบับ เช่น กฎหมายอาญา กฎหมายจราจร กฎหมายรักษาความสะอาด เป็นต้น 

หากตีความโดยนำกฎหมายใดกฎหมายหนึ่งมาพิจารณาและวินิจฉัยว่าบุคคลดังกล่าวกระทำความผิดหน้าที่ปวงชนชาวไทย จึงไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพนั้น สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญก็ไม่อาจมีที่ทางในการบังคับใช้ได้เลย   

.

3. ชุมนุมโดยสงบ ไร้เหตุร้าย-อาวุธ-ความเสียหาย ไม่ได้รบกวนการพิจารณาคดี เป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญฯ 

ประเด็นที่ศาลวินิจฉัยและมีคำสั่งว่า “ผู้ถูกกล่าวหากับพวก พากันเข้ามาบริเวณอาคารศาลอาญา มีการพูดผ่านอุปกรณ์ขยายเสียง รวมถึงการตะโกนและวิ่งโปรยกระดาษที่เป็นการส่งเสียงดัง ทำให้เกิดความไม่เรียบร้อย อีกทั้งถ้อยคำของผู้ถูกกล่าวหาและการอ่านบทกลอนก็มีเนื้อหาที่ประณาม ใส่ร้ายและดูหมิ่นการทำหน้าที่ของผู้พิพากษา อันมีลักษณะก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม จึงเข้าข่ายไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 (3), (6) และเป็นการละเมิดข้อกำหนดศาลอาญา ข้อ 1 และข้อ 6 อันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล”

อุทธรณ์โดยแย้งว่า พฤติการณ์ในวันเกิดเหตุ ผู้ถูกกล่าวหาและพวกได้ทำกิจกรรมอยู่บริเวณหน้ามุขและบันไดของศาลอาญา ไม่ได้ฝ่าประตูเข้าไปในตัวอาคารของศาล เพราะผู้ถูกกล่าวหาไม่ต้องการรบกวนหรือขัดขวางการพิจารณาคดี อีกทั้งผู้ถูกกล่าวหาและพวกไม่ได้มีการพกพาอาวุธ การใช้กำลัง หรือสร้างความเสียหายใดๆ จนกระทั่งกิจกรรมแล้วเสร็จก็ไม่ได้มีเหตุร้ายใดๆ เกิดขึ้น

ด้านถ้อยคำของผู้ถูกกล่าวหาที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นการประณาม ใส่ร้าย และดูหมิ่นผู้พิพากษานั้น ถ้อยคำทั้งหมดที่ผู้ถูกกล่าวหากล่าวขณะทำกิจกรรม มีเจตนาเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมและให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองในขณะนั้นเท่านั้น 

ส่วนบทกลอนที่ผู้ถูกกล่าวหาอ่านขณะทำกิจกรรม เป็นบทกวีที่ชื่อว่า “บทกวีมหาตุลาการ” แต่งโดยอานนท์ นำภา ตั้งแต่ปี 2553 บทกวีดังกล่าวมีใจความสำคัญเพื่อเตือนใจนักกฎหมายหรือคนที่จะเข้ามาเป็นผู้พิพากษา เป็นบทกวีที่มีความหวังดีต่อสถาบันตุลาการและกระบวนการยุติธรรม โดยไม่ได้เฉพาะเจาะจงตุลาการคนใดคนหนึ่ง เทียบเคียงได้กับบทกลอนของวิษณุ เครืองาม ที่แต่งกลอนว่า “เอ็งกินเหล้าเมายาไม่ว่าหรอก แต่อย่านอกทางไปให้เสียผล จงอย่ากินสินบาทคาดสินบน เรามันชนชั้นตุลาการ” ซึ่งเป็นบทกลอนที่เตือนใจตุลาการเช่นเดียวกับบทกวีของอานนท์ นำภา

ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวตามที่ถูกกล่าวหามีจุดประสงค์เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนผู้ต้องขังทางการเมืองในขณะนั้นเท่านั้น เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ซึ่งได้รับความคุ้มครองตาม มาตรา 34 และ 44 ของรัฐธรรมนูญฯ ไม่ใช่การประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล

.

4. ต่อสู้คดีตามสิทธิทางกฎหมาย ไม่ใช่ “ไม่สำนึก” ทั้งพฤติการณ์ไม่ร้ายแรง แต่ศาลลงโทษจำคุก “สูงสุด” ขัดหลักความได้สัดส่วน  

ประเด็นที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 6 เดือนกับเบนจา โดยส่วนหนึ่งในคำสั่งได้ระบุว่า “แม้ผู้ถูกกล่าวหาให้การรับข้อเท็จจริงว่าได้กระทำการตามคำกล่าวหา แต่กลับสู้ว่าการกระทำของตนไม่เป็นความผิด อันเป็นการแสดงว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้สำนึกถึงการกระทำ …”

อุทธรณ์โดยแย้งว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้ต่อสู้คดีและให้การไปตามความจริงที่เกิดขึ้นเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง ซึ่งเป็นสิทธิตามกฎหมายในการต่อสู้คดี ไม่ใช่การไม่สำนึกตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย สิทธิในการต่อสู้ดังกล่าวทำให้ผู้ถูกกล่าวหามีโอกาสแสดงข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อแก้ต่างและพิสูจน์เจตนาของตนเอง อันเป็นหลักฟังความทุกฝ่าย ซึ่งเป็นหลักการที่สำคัญของกระบวนการยุติธรรม

อีกทั้ง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 6 เดือน ซึ่งเป็นอัตราโทษสูงสุด ถือว่าศาลเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหามีความร้ายแรง แต่เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริง พฤติการณ์ และการกระทำในคดี ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้เข้าไปในตัวอาคารหรือห้องพิจารณาคดี ไม่ได้รบกวนหรือขัดขวางการพิจารณาคดี ไม่ได้มีพกหรือใช้อาวุธใดๆ และไม่ได้มีการใช้กำลังหรือสร้างความเสียหายใดๆ ฉะนั้นจึงไม่ใช่พฤติการณ์ที่ร้ายแรงตามที่ศาลชั้นต้นต้องสั่งลงโทษจำคุกขั้นสูงสุดถึง 6 เดือน ซึ่งเป็นเวลาที่สูงเกินไปและไม่ได้สัดส่วนความเหมาะสมตามพฤติการณ์ของคดี

จากคำร้องอุทธรณ์ทั้งสี่ประการข้างต้นที่ได้ยื่นต่อศาลอุทธรณ์เพื่อให้พิจารณายกคำกล่าวหา หรือหากเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาได้รับโทษจำคุกพอสมควรแล้ว ขอให้ศาลได้โปรดมีคำสั่งให้ปล่อยตัวผู้ถูกกล่าวหาให้พ้นโทษไป เนื่องจากในคดีนี้เบนจาถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลางเป็นเวลารวม 2 เดือน 13 วัน (นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาในคดีนี้) ก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในวันที่ 13 ม.ค. 2565 ซึ่งถือเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว

อย่างไรก็ตาม ทนายความได้ยื่นอุทธรณ์ในคดีนี้ต่อศาลอุทธรณ์ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ. 2565 แต่จนถึงขณะนี้ (8 มี.ค. 2565) ยังไม่ได้รับการตอบรับจากศาลอุทธรณ์ว่าจะรับพิจารณาคำร้องอุทธรณ์ดังกล่าวหรือไม่

.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

สั่งจำคุก “เบนจา” 6 เดือน – “ณัฐชนน” 4 เดือน คดีละเมิดอำนาจศาล เหตุร่วมม็อบหน้าศาลอาญา 29 เม.ย. 64 กรณีณัฐชนน ศาลให้ประกันรออุทธรณ์

ไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล “เบนจา” ชุมนุมเรียกร้องสิทธิประกันตัว ศาลส่งคำร้องชี้โทษละเมิดอำนาจศาลไม่ได้สัดส่วน ให้ศาลรธน.วินิจฉัย นัดอีกครั้ง 30 ส.ค. 64

เปิดคำร้อง “เบนจา” ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย บทลงโทษฐาน “ละเมิดอำนาจศาล” จำคุกสูงสุด 6 เดือน ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 หรือไม่

X