เปิดคำร้อง “เบนจา” ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย บทลงโทษฐาน “ละเมิดอำนาจศาล” จำคุกสูงสุด 6 เดือน ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 หรือไม่

21 มิ.ย. 64 ศาลอาญานัดไต่สวนคดีหมายเลขดำที่ ลศ.6/2564 ของเบนจา อะปัญ ซึ่งถูกกล่าวหาในฐานความผิด “ละเมิดอำนาจศาล” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จากการชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้แกนนำราษฎร บริเวณหน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64

>> ไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล “เบนจา” ชุมนุมเรียกร้องสิทธิประกันตัว ศาลส่งคำร้องชี้โทษละเมิดอำนาจศาลไม่ได้สัดส่วน ให้ศาลรธน.วินิจฉัย นัดอีกครั้ง 30 ส.ค. 64

การไต่สวนครั้งนี้ศาลได้วางข้อกำหนด ไม่ให้บันทึกภาพ เสียง ภาพและเสียง รวมไปถึงจดบันทึกคำเบิกความในห้องพิจารณา พร้อมไม่อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี ยกเว้นผู้สังเกตการณ์จาก iLaw ที่ได้ยื่นหนังสือขอเข้าสังเกตการณ์ต่อศาล ศาลไต่สวนพยานรวม 3 ปาก ได้แก่ผู้อำนวยการประจำสำนักอำนวยการศาลอาญา ผู้กล่าวหา, รองผู้กํากับการป้องกันปราบปราม สน. พหลโยธิน และเบนจา ผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยาน

วันเดียวกันนี้ เบนจายังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งส่งคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 ที่ใช้บังคับในคดีที่ตนถูกกล่าวหามีข้อความขัดรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 26 หรือไม่ 

ศาลมีคำสั่งให้ส่งคำร้องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา แต่ระหว่างรอการพิจารณาให้ออกหมายขังระหว่างพิจารณาคดี ทำให้ทนายความต้องยื่นประกันตัว ก่อนศาลให้ประกัน โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงินสด 10,000 บาท และนัดฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 30 ส.ค. 64 เวลา 13.30 น.

.

เปิดคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

คำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญของเบนจาระบุว่า ผู้ร้องเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีหมายเลขดำที่ ลศ.6/2564 ของศาลอาญา โดยถูกผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญากล่าวหาว่ามีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และขอให้ศาลลงโทษผู้ร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 30 มาตรา 31 และมาตรา 33 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 และมาตรา 180 

ผู้ร้องขอโต้แย้งว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 33 ที่ใช้บังคับกับคดีขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 26 ผู้ร้องจึงอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยกรณีดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังนี้

.

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 เนื่องจากเพิ่มภาระและจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ขัดกับหลักความได้สัดส่วน 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 กำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งลงโทษบุคคลที่กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลโดยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือทั้งสองวิธี คือ (ก)  ไล่ออกจากบริเวณศาล หรือ (ข) ให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท 

ผู้ร้องเห็นว่า การกำหนดโทษจำคุกผู้กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลสูงสุดถึง 6 เดือนนั้น ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 เนื่องจากเป็นกฎหมายที่เพิ่มภาระและจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ขัดกับหลักความได้สัดส่วน กล่าวคือ

ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยซึ่งประกอบด้วยหลักประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐนั้น มาตรการทางกฎหมายของรัฐที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชน จะต้องเป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุหรือหลักความได้สัดส่วน โดยรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 26 ได้บัญญัติรับรองหลักการนี้ไว้ ระบุว่า การตรากฎหมายจะต้องไม่ขัดกับหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจําเป็นในการจํากัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย 

ศาลรัฐธรรมนูญเองก็ได้มีคำวินิจฉัยที่ 8/2561 รับรองหลักการดังกล่าว หลักความได้สัดส่วนจึงมีความสำคัญในการควบคุมการตรากฎหมายขององค์กรนิติบัญญัติมิให้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ โดยมีสาระสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

หลักความเหมาะสม มาตรการทางกฎหมายที่ออกมาจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้น จะต้องสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ หากมาตรการจำกัดสิทธิที่ออกมาไม่สัมพันธ์กับวัตถุประสงค์โดยสิ้นเชิง หรือไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ ย่อมเป็นกฎหมายที่ไม่ชอบด้วยหลักความเหมาะสม

หลักความจำเป็น มาตรการทางกฎหมายที่เหมาะสมที่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้นั้น จะต้องเป็นมาตรการที่จำกัดสิทธิน้อยที่สุด ต้องกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนเท่าที่จำเป็นเท่านั้น โดยเปรียบเทียบมาตรการที่เหมาะสมทางกฎหมายหลายๆ มาตรการ ว่ามีมาตรการอื่นที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนน้อยกว่าหรือไม่ หากพบว่ามีมาตรการที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนน้อยกว่า กฎหมายนั้นย่อมไม่ชอบด้วยหลักความจำเป็น

หลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ องค์กรนิติบัญญัติต้องชั่งน้ำหนักระหว่างสิทธิเสรีภาพประชาชนที่สูญเสียไปกับประโยชน์สาธารณะที่ได้รับว่ามีความพอสมควรแก่เหตุหรือมีความสมดุลหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงคุณค่าเชิงนามธรรมของสิทธิเสรีภาพที่ถูกจำกัดเทียบกับคุณค่าของประโยชน์สาธารณะนั้น และการจำกัดสิทธิที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องมีความพอสมควรแก่เหตุกับสิทธิเสรีภาพที่สูญเสียไปจึงจะถือว่าชอบด้วยหลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ 

ดังนั้น กฎหมายที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามมาตรา 26 จะต้องเป็นกฎหมายที่เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนทั้งสามประการดังกล่าว หากบทบัญญัติของกฎหมายใดไม่เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนทั้งสามประการไม่ว่าประการใดประการหนึ่ง บทบัญญัติของกฎหมายนั้นย่อมขัดกับหลักความได้สัดส่วนและขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 26

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 33 วรรคแรก, มาตรา 33 วรรคสอง (ข) และมาตรา 33 วรรคท้าย ซึ่งกำหนดให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจในการลงโทษความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลด้วยโทษจำคุกสูงสุดถึง 6 เดือนโดยทันทีนั้น เป็นการเพิ่มภาระให้แก่บุคคลผู้ประสงค์จะแสดงออกซึ่งความเห็น และเป็นผลร้ายแก่บุคคลผู้ประสงค์จะใช้เสรีภาพในการชุมนุมเกินสมควร อันขัดต่อหลักความได้สัดส่วนตามมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญ

จากข้อเท็จจริงผู้ร้องได้ถูกกล่าวหาว่าละเมิดอำนาจศาลเพียงเพราะใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ อันเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชนตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) มาตรการดังกล่าวเป็นการสร้างข้อจำกัดแก่การใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้ร้อง ด้วยโทษจำคุกที่สูงถึง 6 เดือน เป็นการลิดรอนเสรีภาพเกินกว่าเหตุ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ด้วยเหตุผล 5 ประการ ดังนี้

.

1. ไม่สอดคล้องกับหลักความจำเป็น เนื่องจากในต่างประเทศได้กำหนดมาตรการที่จำกัดสิทธิน้อยกว่า แต่บรรลุวัตถุประสงค์ในการทำให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยสงบเรียบร้อยได้ 

หากพิจารณาแนวคิดกฎหมายละเมิดอำนาจศาลในระบบกฎหมายคอมมอนลอว์และกฎหมายซีวิลลอว์ จะพบว่าทั้งสองระบบมีพื้นฐานความคิดเรื่องการละเมิดอำนาจศาลที่แตกต่างกันกล่าวคือ 

ในกลุ่มประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ เช่น ประเทศอังกฤษ มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลที่ขยายขอบเขตไปอย่างกว้างขวาง เนื่องจากคำพิพากษาเป็นบ่อเกิดของกฎหมาย นอกจากจะมุ่งคุ้มครองกระบวนพิจารณาแล้วยังมุ่งคุ้มครองผู้พิพากษาเป็นรายบุคคลด้วย และเนื่องจากการพิจารณาคดีบางประเภทจำเป็นต้องมีลูกขุน ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปได้โดยสงบเรียบร้อยระบบกฎหมายคอมมอนลอว์จึงมีกฎหมายละเมิดอำนาจศาลที่เข้มแข็ง เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการละเมิดอำนาจศาล 1981 (Contempt of court act 1981) มีโทษสูงสุดคือสั่งควบคุมตัวผู้ต้องหาไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,500 ปอนด์ หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่กลุ่มประเทศที่ใช้กฎหมายในระบบประมวลกฎหมาย เช่น เยอรมนี มีแนวคิดว่าการพิจารณาคดีในศาลนั้นมีลักษณะเป็นการประชุมอย่างหนึ่ง ศาลซึ่งเป็นคนกลางทำการตัดสินคดีก็เปรียบได้กับประธานในที่ประชุม ต้องมีอำนาจที่จะควบคุมหรือจัดการกับการรบกวนการประชุม ในกรณีที่มีการรบกวนการพิจารณาคดีหรือการก่อกวนในศาลเกิดขึ้น ประธานในที่ประชุมหรือศาลต้องมีอำนาจที่จะใช้มาตรการบังคับเอากับผู้ที่ทำการรบกวนหรือก่อกวนนั้นได้ทันที โดยบทบัญญัติในเรื่องของการละเมิดอำนาจศาลของเยอรมนีมีบัญญัติไว้ในรัฐบัญญัติว่าด้วยธรรมนูญศาล (Gerichtsverfassungs gesetz) กำหนดโทษไว้เป็นโทษปรับ 1,000 ยูโร หรืออาจถูกขังไว้ไม่เกิน 1 สัปดาห์

ส่วนบทบัญญัติว่าด้วยการละเมิดอำนาจศาลในไทย ตามความเห็นของอุดม เฟื่องฟุ้ง มีวัตถุประสงค์หลักไม่ใช่เพื่อคุ้มครองผู้พิพากษาเช่นประเทศอังกฤษซึ่งเป็นระบบคอมมอนลอว์ แต่เป็นเรื่องของการสร้างมาตรการบางอย่างสำหรับให้อำนาจแก่ศาลเพื่อที่จะดำเนินการพิจารณาคดีไปได้โดยรวดเร็ว เรียบร้อย และอำนวยความยุติธรรมให้แก่คู่ความได้อย่างเต็มที่ ไม่ให้ล่าช้าเสียเวลาหรือเสียความยุติธรรม ตามระบบกฎหมายซีวิลลอว์

ดังนั้น มาตรการที่กำหนดให้การละเมิดอำนาจศาลต้องมีโทษจำคุกสูงถึง 6 เดือน ย่อมไม่ใช่มาตรการที่จำกัดสิทธิน้อยที่สุดที่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ในเรื่องการควบคุมการพิจารณาคดีให้เป็นไปได้อย่างเรียบร้อย 

หากพิจารณาในเชิงกฎหมายเปรียบเทียบ ในประเทศที่ใช้ประมวลกฎหมายซึ่งเป็นระบบเดียวกันกับประเทศไทย เช่น สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ก็กำหนดให้การละเมิดอำนาจศาล มีโทษเพียงนำตัวผู้ที่ละเมิดอำนาจศาลไปคุมขังไม่เกิน 1 สัปดาห์เท่านั้น หรือแม้แต่ในประเทศอังกฤษที่ระบบกฎหมายมุ่งหมายคุ้มครองผู้พิพากษารายบุคคลด้วย ก็มีโทษเพียงสั่งควบคุมตัวผู้ต้องหาเป็นเวลาไม่เกิน 1 เดือน 

เมื่อมีมาตรการที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนน้อยกว่าดำรงอยู่ดังที่กล่าวมา โดยมาตรการดังกล่าวสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีให้เป็นไปอย่างเรียบร้อยได้เช่นเดียวกัน การกำหนดโทษจำคุกสูงสุดถึง 6 เดือน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 ย่อมไม่ใช่มาตรการที่จำกัดสิทธิน้อยที่สุด จึงไม่สอดคล้องกับความจำเป็นและหลักความพอสมควรแก่เหตุ และขัดต่อมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญ

.

2. ไม่สอดคล้องกับหลักความจำเป็น เนื่องจากกฎหมายวิธีพิจารณาความในศาลปกครอง กำหนดโทษจำคุกเพียง 1 เดือนเท่านั้น

หากเปรียบเทียบจากระบบศาลภายในประเทศไทยซึ่งใช้ระบบศาลคู่ กล่าวคือ มีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นมาพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายมหาชน แยกอิสระจากศาลยุติธรรมที่พิจารณาคดีตามกฎหมายเอกชน พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธิพิจารณาคดีปกครอง แม้จะกำหนดให้องค์ประกอบความผิดของการกระทำที่เป็นการละเมิดอำนาจศาลจะนำประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความแพ่งมาใช้โดยอนุโลม แต่มาตรการในการลงโทษหากมีการละเมิดอำนาจศาลปกครองตามมาตรา 64 กำหนดให้ศาลมีอำนาจลงโทษจำคุกได้ไม่เกิน 1 เดือนเท่านั้น

นอกจากนั้นยังบัญญัติไว้ว่า “การสั่งลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลพึงใช้อย่างระมัดระวังและเท่าที่จำเป็นตามพฤติการณ์แห่งกรณี และหากเป็นการสั่งลงโทษตาม (3) ให้องค์คณะอื่นที่มิใช่องค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีนั้นเป็นผู้พิจารณาและสั่งลงโทษ” อีกด้วย 

รายงานการศึกษาวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์ดอกเตอร์ เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล และคณะ เรื่อง หลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในกรณีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอว่า หากกำหนดอำนาจของศาลยุติธรรมในลักษณะเดียวกับศาลปกครอง จะสามารถทำให้ศาลรักษาความสงบและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงทำให้ขอบเขตการใช้อำนาจของศาลในกรณีกระทำละเมิดอำนาจศาลมีความชัดเจนและสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน

ดังนั้น การกำหนดมาตรการลงโทษจำคุกในระยะเวลาที่สั้นกว่าดังเช่นที่กำหนดในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ไม่ได้ทำให้วัตถุประสงค์เรื่องการควบคุมการพิจารณาคดีให้เป็นไปโดยสงบเรียบร้อยไม่มีประสิทธิภาพแต่อย่างใด และมาตรการดังกล่าวยังจำกัดสิทธิน้อยกว่าเมื่อพิจารณาในเชิงเปรียบเทียบ

เมื่อปรากฏว่ามีมาตรการที่อาจกำหนดได้โดยจำกัดสิทธิประชาชนน้อยกว่า แต่ฝ่ายนิติบัญญัติกลับเลือกมาตรการที่รุนแรงกว่า ตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 มาตรการดังกล่าวจึงไม่สอดคล้องกับหลักความจำเป็น เพราะไม่ใช่วิถีทางที่น้อยที่สุด ขัดกับหลักความได้สัดส่วน และไม่ชอบด้วยมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญ

.

3. ไม่สอดคล้องกับหลักความจำเป็น เนื่องจากนักกฎหมายในอดีตหลายคนระบุ มีมาตรการอื่นที่ลิดรอนสิทธิน้อยกว่า

จากรายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นักกฎหมายในอดีตหลายคนได้แสดงความความกังวลต่อโทษจำคุกที่สูงถึง 6 เดือน ของฐานความผิดละเมิดอำนาจศาลไว้หลายครั้ง เช่น

การประชุมครั้งที่ 376-10/2515 เมื่อวันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน 2515 หยุด แสงอุทัย แสดงความกังวลต่อการที่กฎหมายเปิดช่องให้ศาลใช้ดุลพินิจในการลงโทษคุมขัง 6 เดือนได้ทันที ซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง เพราะศาลเป็นผู้กล่าวโทษเองเป็นผู้วินิจฉัยเอง ทั้งยังยกตัวอย่างประเทศเยอรมันที่ศาลมีอำนาจเพียงไล่ผู้กระทำผิดออกไปนอกบริเวณศาล หรือกักขังไม่เกิน 24 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ก็สามารถควบคุมการพิจารณาคดีให้เรียบร้อยได้ หยุดยังอภิปรายด้วยว่า การลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลควรอยู่บนหลักเกณฑ์ที่ว่าเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปได้ด้วยความเรียบร้อย แต่การลงโทษขังถึง 6 เดือนนั้น อาจมีลักษณะเป็นการแก้แค้นมากกว่า

การประชุมครั้งดังกล่าว เล็ก จุณณานนท์, สมภพ โหตระกิตย์, หลวงสารนัยประสาสน์ และหลวงจำรูญเนติศาสตร์ ก็แสดงความกังวลต่อโทษจำคุก 6 เดือน ว่ารุนแรงเกินไปเช่นกัน โดยหลวงสารนัยประสาสน์ เสนอว่าควรมีโทษเพียงกักบริเวณก็พอ และหลวงจำรูญเนติศาสตร์เห็นว่าควรมีการเพิ่มโทษปรับและลดโทษจำคุก

นอกจากนี้ จากรายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง นักกฎหมายหลายคนยังเสนอให้การบัญญัติมาตรการที่เกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลนั้น ศาล “ต้อง” ตักเตือนก่อนจะนำไปสู่การลงโทษจำคุกซึ่งมีผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างร้ายแรง 

เมื่อพิจารณาจากความคิดเห็นดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่า มาตรการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลที่กำหนดให้ศาลมีดุลพินิจ “เลือก” ใช้โทษจำคุกได้โดยปราศจากการใช้มาตรการอื่นๆ ก่อน และโทษดังกล่าวมีความร้ายแรงถึง 6 เดือน ย่อมไม่ใช่วิถีทางที่จำกัดสิทธิน้อยที่สุด แต่ยังมีมาตรการอื่นที่ลิดรอนเสรีภาพของประชาชนที่น้อยกว่าอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการตักเตือนก่อน เพิ่มโทษปรับ ลดโทษจำคุก หรือคุมขังเพียง 24 ชั่วโมง 

ดังนั้นเมื่อรัฐอาจบัญญัติมาตรการที่จำกัดสิทธิน้อยกว่าได้ แต่รัฐเลือกใช้มาตรการที่จำกัดสิทธิมากกว่าโดยกำหนดโทษจำคุกสูงถึง 6 เดือน บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งดังกล่าวจึงไม่สอดคล้องกับหลักความจำเป็น และขัดต่อหลักความได้สัดส่วน อันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26

.

4. ไม่สอดคล้องกับหลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ เนื่องจากก่อให้เกิดการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนเกินกว่าประโยชน์เรื่องการพิจารณาคดีได้อย่างสงบเรียบร้อยและคุ้มครองศาล  

การกำหนดโทษจำคุกในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นมาตรการที่ไม่สอดคล้องกับหลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ (Proportionality in strict sense) เป็นมาตรการที่ก่อให้เกิดสภาวการณ์ที่สิทธิเสรีภาพของประชาชนต้องสูญเสียไป มากกว่าประโยชน์สาธารณะที่ได้รับ เนื่องจากต่อให้ยกเลิกโทษจำคุกที่สูงถึง 6 เดือนไป ก็ไม่ทำให้ประชาชนและทนายความขาดความเคารพศาล และยังมีมาตรการอื่นๆ ดำรงอยู่ในการบรรลุวัตถุประสงค์เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปได้ด้วยความสงบเรียบร้อยและคุ้มครององค์กรตุลาการ  

ตัวอย่างเช่น มาตรา 33 วรรคสอง (ก) ซึ่งกำหนดมาตรการให้ไล่ออกจากบริเวณศาลในกรณีที่จะเกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการที่เพียงพอแล้วที่จะควบคุมการดำเนินกระบวนพิจารณาไปได้อย่างสงบเรียบร้อย 

นอกจากนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 ผู้ที่ดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา หรือขัดขวางการพิพากษาคดีของศาล กำหนดโทษจำคุกสูงสุดถึง 7 ปี เช่นเดียวกับข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความข้อ 6 ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้ทนายความกระทำการที่ไม่เคารพยำเกรงอำนาจศาล หรือดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาทั้งในและนอกศาล อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียอำนาจศาลหรือผู้พิพากษา เป็นต้น 

หลวงจำรูญเนติศาสตร์ได้เคยแสดงความเห็นในเรื่องนี้ไว้ว่า ไม่ว่าโทษจำคุกจะดำรงอยู่หรือไม่นั้นก็ไม่สัมพันธ์กับการเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ลงของศาล โดยได้กล่าวโต้ตอบ ธานินทร์ กรัยวิเชียร ในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ครั้งที่ 376-10/2515 ซึ่งยกตัวอย่างว่า หากมีผู้ปารองเท้าขึ้นไปบนบัลลังก์ในระหว่างพิจารณาคดี แล้วศาลมีอำนาจลงโทษจำคุกได้เพียงเดือนเดียว จะทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของศาลหายไป หลวงจำรูญฯ ได้ตั้งคำถามว่า “ในกรณีเช่นนี้ถ้าศาลลงโทษ 6 เดือนแล้วจะเรียกความศักดิ์สิทธิ์คืนมาได้หรือ” แสดงให้เห็นถึงความไม่สัมพันธ์กันระหว่างประโยชน์สาธารณะเรื่องการคุ้มครองผู้พิพากษา หรือการควบคุมการพิจารณาให้เป็นไปโดยสงบเรียบร้อย และมาตรการจำคุก

บทบัญญัติมาตรา 33 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในส่วนที่กำหนดโทษจำคุกสูงถึง 6 เดือน ก่อให้เกิดสภาวการณ์ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากไปกว่าประโยชน์สาธารณะที่ได้รับในเรื่องการคุ้มครองผู้พิพากษาและการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีให้เป็นไปได้อย่างสงบเรียบร้อย ดังนั้น บทบัญญัติดังกล่าวจึงขัดกับหลักความได้สัดส่วนตามมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญ

.

5. ไม่สอดคล้องกับหลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ เนื่องจากประชาชนถูกจำกัดเสรีภาพอย่างร้ายแรง และต้นทุนทางสังคมที่รัฐต้องเสียไปจากโทษจำคุกมีมากกว่าประโยชน์เรื่องการควบคุมกระบวนพิจารณา

การกำหนดโทษจำคุกในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นมาตรการที่ไม่สอดคล้องกับหลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ (Proportionality in strict sense) ทำให้เกิดสภาวการณ์ที่จำกัดการใช้เสรีภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากสภาพบังคับของโทษจำคุกส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง เพราะเป็นการบังคับเอากับชีวิต ร่างกาย เสรีภาพในการเดินทาง รวมถึงเสรีภาพในชีวิตส่วนตัวของบุคคล อีกทั้งมีต้นทุนทางสังคมที่รัฐต้องเสียไปสูง ไม่ได้สัดส่วนกับประโยชน์สาธารณะที่ได้รับในการควบคุมกระบวนพิจารณา 

การที่รัฐจะกำหนดให้พฤติกรรมหรือการกระทำใดเป็นให้มีโทษจำคุกนั้น องค์กรนิติบัญญัติจะต้องคำนึงถึงหลักการกำหนดความผิดทางอาญา โดย Helbert L. Packer นักกฎหมายอาญาที่เชี่ยวชาญของสหรัฐอเมริกา เห็นว่า ความผิดอาญาควรจะสงวนไว้ใช้กับความผิดร้ายแรงเท่านั้น เพื่อลงโทษผู้ที่กระทำความผิดอย่างชั่วร้ายและเพื่อป้องกันอาชญากรรม เนื่องจากการเลือกใช้มาตรการบังคับทางอาญาจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่สังคมจะได้รับจากการป้องกันการกระทำกับต้นทุนที่สังคมจะเสียไปจากการบังคับใช้

อีกทั้งตามรายงานการศึกษาวิจัย เรื่อง หลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในกรณีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ดอกเตอร์ เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล และคณะ มีความเห็นว่า การกำหนดโทษจำคุกถึง 6 เดือน เป็นภาระกับรัฐ ไม่มีความจำเป็นและสอดคล้องกับเป้าหมายเพื่อรักษาการพิจารณาคดีของศาลให้เรียบร้อยแต่อย่างใด เนื่องจากโทษจำคุกสร้างต้นทุนให้กับสังคมมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับโทษอื่นๆ เพราะรัฐต้องออกค่าใช้จ่ายในการดูแลสถานที่/ผู้ถูกคุมขัง จ่ายเงินเดือนผู้ดูแล ฯลฯ ประกอบกับในปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังมากเกินกว่าที่เรือนจำทั่วประเทศจะรองรับได้ เกิดปัญหาทั้งภาระงบประมาณค่าใช้จ่าย ปัญหาความเป็นอยู่และอนามัยในเรือนจำ

เมื่อพิจารณาถึงต้นทุนที่รัฐต้องใช้กับโทษจำคุกประกอบกับเป้าหมายการรักษาความสงบเรียบร้อยในกระบวนการพิจารณาคดี ผู้วิจัยจึงเสนอว่า ควรลดโทษจำคุกให้เป็นไม่เกิน 1 เดือน ก็น่าจะเหมาะสมและได้สัดส่วน นอกจากนี้ยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลในกลุ่มประเทศซีวิลลอว์ เช่น สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีที่ได้กำหนดโทษกักขังไว้ไม่เกิน 1 สัปดาห์ และสอดคล้องกับมาตรา 64 ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ที่กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนด้วย

นอกจากการจำคุกไม่สามารถนำไปสู่วัตถุประสงค์เรื่องการควบคุมกระบวนพิจารณาคดีให้สงบเรียบร้อยได้แล้ว ในบทความเรื่อง “ข้อสังเกตเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาล” ของวารสารอัยการ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2521 กุลพล พลวัน มีความเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 ก่อให้เกิดสภาวการณ์ที่องค์กรตุลาการใช้กฎหมายไม่สมวัตถุประสงค์หลัก คือการควบคุมการพิจารณา แต่กลับใช้ลงโทษจำคุกบุคคลเพื่อเป็นการยืนยันถึงอำนาจและศักดิ์ศรีของศาล เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเกิดความยำเกรง ทั้งที่การกระทำบางลักษณะไม่อยู่ในขอบเขตของความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลแต่อย่างใด 

ดังที่ปรากฏในคำพิพากษาฎีกาที่ 1316/2519 ที่เพียงแค่พูดจาโต้ตอบกับผู้พิพากษาด้วยท่าทางอันแข็งขัน ก็ถูกศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกฐานละเมิดอำนาจศาลในทันทีถึง 6 เดือน ซึ่งหากผู้พิพากษาคนใดใช้อำนาจนี้โดยอำเภอใจหรือโดยเข้าใจผิดว่ามีอำนาจทำได้ อันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชนย่อมเป็นสิ่งที่ยากแก่การป้องกันหรือหลบเลี่ยง

ดังนั้น มาตรา 33 ของประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความแพ่งที่กำหนดให้การละเมิดอำนาจศาลต้องมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 6 เดือนนั้น จึงขัดกับหลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบและขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26

ด้วยเหตุผลทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น ผู้ร้องจึงเห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 วรรคแรก, มาตรา 33 วรรคสอง (ข) และมาตรา 33 วรรคท้าย ที่ให้อำนาจดุลพินิจแก่ศาลลงโทษผู้ร้องจำคุกสูงสุดถึง 6 เดือนทันทีนั้น เป็นบทกฎหมายที่ขัดต่อมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ศาลจึงนำมาใช้บังคับกับคดีนี้ไม่ได้ตามมาตรา 5 และในประเด็นแห่งกรณีนี้ยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาก่อน จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยว่า บทบัญญัติดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 และไม่อาจนำมาใช้บังคับกับผู้ร้องในคดีได้

.

X