15 ม.ค. 62 ศาลจังหวัดขอนแก่นนัดฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 คดีซึ่ง 7 นักศึกษา ถูกกล่าวหาโดยผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดขอนแก่น และศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษาว่ามีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล จากการจัดกิจกรรมบริเวณฟุตบาทหน้าศาลจังหวัดขอนแก่น เพื่อสะท้อนปัญหาในกระบวนการยุติธรรมและให้กำลังใจ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ขณะตกเป็นจำเลยในคดี ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
ภาพขณะจัดกิจกรรมให้กำลังใจ ‘ไผ่’
นักศึกษาและอดีตนักศึกษาผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ด ได้แก่ อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์, ภานุพงษ์ ศรีธนานุวัฒน์, พายุ บุญโสภณ, อาคม ศรีบุตตะ, จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ, ณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ และสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ มาศาลเพื่อฟังคำสั่ง
โดยศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น มีรายละเอียดว่า “…แม้รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 34 บัญญัติให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น แต่มิใช่ว่าจะสามารถใช้เสรีภาพดังกล่าวอย่างไร้ขอบเขต โดยต้องอยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งในกรณีนี้คือบทบัญญัติของความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของพยานผู้กล่าวหา ประกอบกับภาพเคลื่อนไหวและภาพถ่ายว่า ในเวลาต่อเนื่องกันหลังจากศาลชั้นต้นพิจารณาคดีซึ่งนายจตุภัทร์เป็นจำเลย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-6 กับพวก ไปรวมตัวกันอ่านแถลงการณ์ที่บริเวณหน้าป้ายศาล โดยมีไม้แปรรูปทำเป็นสัญลักษณ์คล้ายตาชั่ง อันหมายถึงศาลเอียงไปทางรองเท้าบู๊ทซึ่งหมายถึงทหาร ตั้งอยู่ข้างหน้า สื่อแสดงให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่า ศาลพิจารณาคดีของนายจตุภัทร์อย่างไม่ยุติธรรม เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายทหาร ย่อมทำให้สถาบันศาลซึ่งทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีด้วยความเที่ยงธรรม ต้องถูกลดทอนศักดิ์ศรีและความน่าเชื่อถือ
ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 (สิรวิชญ์) แม้จะไม่ปรากฎว่าได้ร่วมอ่านแถลงการณ์และร้องเพลงกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 6 แต่ก็ได้ความจากภาพถ่าย ซึ่งเจือสมกับคำเบิกความของผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 ว่า ก่อนเวลาพิจารณาคดีของนายจตุภัทร์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 สวมหน้ากากใบหน้านายจตุภัทร์ถ่ายรูปร่วมกับบุคคลอื่นซึ่งสวมหน้ากากใบหน้าบุคคลเดียวกันที่ถือป้ายกระดาษที่มีข้อความว่า “FREE PAI” อยู่บริเวณหน้าป้ายศาล เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะนั้นนายจตุภัทร์ไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว พฤติกรรมดังกล่าวจึงถือเป็นการกดดันศาลเพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนายจตุภัทร์ และได้ความจากภาพเคลื่อนไหวและภาพถ่ายว่า ในวันเดียวกัน หลังจากศาลชั้นต้นพิจารณาคดีที่นายจตุภัทร์เป็นจำเลย ขณะผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 6 กับพวกอ่านแถลงการณ์และร้องเพลงอยู่บริเวณหน้าป้ายศาล ก็ปรากฏว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 นำดอกกุหลาบสีขาวไปวางบนทางเท้า บริเวณที่สัญลักษณ์คล้ายตาชั่งข้างต้นตั้งอยู่ อันเป็นพฤติกรรมที่ส่อแสดงถึงการยอมรับต่อการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 6 กับพวก แม้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดจะกระทำการดังกล่าวนอกศาล แต่เป็นการกระทำที่มีความเกี่ยวเนื่องกับคดีที่มีการดำเนินอยู่ในศาลโดยตรง กรณีย่อมถือว่าเป็นการกระทำที่มุ่งหมายให้มีผลต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล การกระทำดังกล่าวของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดจึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นพ้องด้วย”
ส่วนประเด็นที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดโดยไม่ถูกต้องกับหลักกฎหมายนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นว่า “เงื่อนไขที่ศาลชั้นต้นกำหนดเพื่อคุมความประพฤติของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดถูกต้องครบถ้วนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 วรรคสอง (3) และไม่ปรากฏว่า เงื่อนไขดังกล่าวกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดเกินสมควร ตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกา เกี่ยวกับวิธีการรอการกำหนดโทษ การรอการลงโทษ และการกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติ พ.ศ. 2559 ข้อ 13(1) ดังที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดอ้างมาในอุทธรณ์แต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดมานั้นจึงชอบแล้ว”
ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นพ้องด้วยนั้นระบุว่า “ให้รอการกำหนดโทษของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 6 ไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 ให้จำคุก 6 เดือนและปรับ 500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติไว้คนละ 1 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติคนละ 6 ครั้ง ให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลาคนละ 24 ชั่วโมง ห้ามมิให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดคบหาสมาคมหรือจัดทำกิจกรรมหรือรวมตัวกันในลักษณะอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก” (อ่านเพิ่มเติมที่ คำพิพากษาภายใต้เจตนารมณ์ “เพื่อคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดี” และข้อสังเกตคดี 7 นักศึกษา)
ด้านจุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา เปิดเผยว่า รู้สึกเหมือนว่าศาลจะถูกทำให้อยู่ห่างออกไปจากประชาชนมากขึ้น ไม่สามารถแตะต้องได้ ซึ่งก็มองว่ามันอัตราย ทุกวันนี้คนจำนวนมากกลัวการขึ้นศาลก็เพราะแบบนี้ คนกลัวที่จะใช้กระบวนการยุติธรรม ที่ศาลให้เหตุผลว่า การประพฤติตัวไม่สงบเรียบร้อยบริเวณศาล ทำให้ลดทอนความน่าเชื่อถือของศาล เราเห็นว่า ความน่าเชื่อถือมาจากเหตุผลในการตัดสิน จากข้อเท็จจริง ถ้ามีเหตุผลก็ไม่มีอะไรจะลดทอนความน่าเชื่อถือนั้นได้ แต่อย่างไรก็ตามเราก็ไม่อาจก้าวล่วงคำพิพากษาที่ออกมาได้ แต่ก็จะขอใช้สิทธิทางศาลยื่นฎีกากันต่อไป โดยมีความหวังที่จะเห็นบรรทัดฐานใหม่ ๆ เกิดขึ้น
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 60 เครือข่ายนักศึกษา 4 ภาค จัดกิจกรรมหน้าศาลจังหวัดขอนแก่น เพื่อให้กำลังใจ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” และสะท้อนปัญหาในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งในวันดังกล่าว จตุภัทร์ถูกนำตัวมาศาลเพื่อสอบคำให้การ หลังอัยการจังหวัดขอนแก่นยื่นฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์บทความ “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” ของเว็บข่าวบีบีซีไทย
จากนั้น นักศึกษาที่ร่วมกิจกรรม 7 คน ถูกศาลจังหวัดขอนแก่นออกหมายเรียกให้มาแก้ข้อกล่าวหา เนื่องจากผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดขอนแก่นกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล จากการ “ทำการปราศรัย ร้องเพลง แสดงท่าทาง และนำอุปกรณ์มาเป็นสัญลักษณ์แสดงความไม่พอใจการพิจารณาของศาล บริเวณหน้าศาล” ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธ โดยยืนยันว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้เป็นการรบกวนและขัดขวางกระบวนการพิจารณาคดีของศาล
ต่อมา วันที่ 2 พ.ย. 60 ศาลจังหวัดขอนแก่นได้มีคำพิพากษาว่า พฤติการณ์ดังกล่าวของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 7 แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
2 ก.พ. 61 ผู้ถูกกล่าวทั้งเจ็ดได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดไม่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดพ้นผิดไป อุทธรณ์ดังกล่าวระบุว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดไม่เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งของศาลชั้นต้นด้วยเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายรวม 5 ประเด็น กล่าวคือ
1. ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กล่าวพาดพิงถึงศาลจังหวัดขอนแก่น หรือแสดงความไม่พอใจในการพิจารณาคดีของศาล
2. การแสดงออกของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดไม่ใช่การกดดันและไม่อาจจะไปแทรกแซงการใช้ดุลพินิจของศาลได้ นอกจากนี้ การกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล มีเจตนารมณ์เพื่อควบคุมการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สงบเรียบร้อย และอำนวยความยุติธรรมได้อย่างเต็มที่ มิใช่กำหนดไว้เพื่อคุ้มครองผู้พิพากษา และมิใช่หลักเรื่องความเป็นอิสระของผู้พิพากษาแต่อย่างใด
3. ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง บัญญัติขึ้นรักษาความสงบเรียบร้อยของกระบวนการพิจารณาคดีของศาล จึงไม่ใช่กฎหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมหรือความมั่นคงของรัฐ อันที่จะทำให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถูกจำกัดได้ตามรัฐธรรมนูญ การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดในคดีนี้ก็มิได้เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือชื่อเสียงของผู้อื่น จึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ
4. ที่ศาลวินิจฉัยว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 ร่วมถ่ายภาพมีข้อความว่า FREE PAI สื่อความหมายให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราวไผ่ เป็นการวินิจฉัยที่ขยายความให้เป็นผลร้ายกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 เกินกว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณา เพราะข้อความ FREE PAI เป็นข้อเรียกร้องไม่เพียงแต่ของผู้ถูกกล่าวที่ 7 เท่านั้น แต่เป็นข้อเรียกร้องของหลากหลายกลุ่มในสังคม
5. คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ห้ามผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดคบค้าสมาคมหรือจัดกิจกรรมหรือรวมตัวกันอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก เป็นคำสั่งที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกา ข้อ 13 เนื่องจากศาลมิได้กำหนดเวลา สถานที่ และตัวบุคคลให้ชัดเจน เป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็น การแสดงออก และการประพฤติของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดจนเกินสมควรและกระทบต่อสาระสำคัญของการใช้เสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ด จนทำให้ไม่สามารถใช้เสรีภาพดังกล่าวได้ ทั้งยังมีความคลุมเคลือ ไม่ชัดแจ้ง ซึ่งไม่ถูกต้องกับหลักกฎหมาย
(อ่านเพิ่มเติมอุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดที่ “7 นักศึกษาละเมิดอำนาจศาล” ยื่นอุทธรณ์ ชี้ไม่อาจแทรกแซงศาลได้)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศาลขอนแก่นเลื่อนไต่สวนคดี 7 นักศึกษาละเมิดอำนาจศาล ก่อนให้อาจารย์ใช้ตำแหน่งประกันตัว
“เปิดบันทึกพยาน” ผู้กล่าวหาตอบคำถามค้านคดี 7 นักศึกษาละเมิดอำนาจศาล
สืบพยานผู้กล่าวหาเสร็จสิ้น พรุ่งนี้สืบต่อ 7 นศ.ละเมิดอำนาจศาล
ไต่สวนละเมิดอำนาจศาลเจ็ดนักศึกษาเสร็จแล้ว นัดฟังคำพิพากษา 2 พ.ย.
คำแถลงปิดคดี 7 นักศึกษาละเมิดอำนาจศาลย้ำ แสดงออกโดยสงบ สันติ ไม่ได้วิจารณ์ศาลขอนแก่น