ศาลฎีกาไม่รับฎีกา 7 นศ.ละเมิดอำนาจศาลขอนแก่น เห็นพ้องคำสั่งศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว

31 มี.ค. 2563 ศาลจังหวัดขอนแก่นนัดอ่านคำสั่งศาลฎีกาในคดีละเมิดอำนาจศาล ซึ่ง 7 นักศึกษา/นักกิจกรรม ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา จากเหตุจัดกิจกรรมอ่านแถลงการณ์ อ่านบทกวี และร้องเพลง บริเวณฟุตบาทหน้าศาลจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 60 เพื่อสะท้อนถึงปัญหาในกระบวนการยุติธรรม และให้กำลังใจ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ขณะตกเป็นจำเลยในคดี ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 

ในตอนเช้าผู้รับมอบอำนาจจากทนายผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดเดินทางถึงศาลจังหวัดขอนแก่นเพื่อยื่นคำร้องขอเลื่อนฟังคำพิพากษา เนื่องจากสถานการณ์วิกฤตของโรคระบาดไวรัส COVID-19 ประกอบกับผู้ถูกกล่าวหาหลายคนมีภูมิลำเนาและพำนักอยู่นอกจังหวัดขอนแก่น  การเดินทางจากต่างจังหวัดไปศาลโดยรถประจำทางอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และเมื่อเดินทางกลับภูมิลำเนาต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งจะกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ถูกกล่าวหาเป็นอย่างมาก 

อย่างไรก็ตาม ศาลจังหวัดขอนแก่นได้พิจารณาอ่านคำสั่งศาลฎีกาต่อหน้าผู้รับมอบอำนาจจากทนายผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดเลย ทั้งนี้ คำสั่งศาลฎีกาดังกล่าวสืบเนื่องมาจาก ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ด ได้แก่ อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์, ภานุพงษ์ ศรีธนานุวัฒน์, พายุ บุญโสภณ, อาคม ศรีบุตตะ, จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ, ณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ และสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักศึกษาและนักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน, กลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ และกลุ่ม Start People ได้ยื่นฎีกาและคำร้องขออนุญาตฎีกา เพื่อคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ “ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล [simple_tooltip content=’มาตรา 31 ผู้ใดกระทำการอย่างใด ๆ ดังกล่าวต่อไปนี้ ให้ถือว่ากระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
(1) ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลตามมาตราก่อนอันว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อย หรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
(2) เมื่อได้มีคำร้องและได้รับอนุญาตจากศาลให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลตามมาตรา 156/1 แล้ว ปรากฏว่าได้แสดงข้อเท็จจริงหรือเสนอพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อศาลในการไต่สวนคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
(3) เมื่อรู้ว่าจะมีการส่งคำคู่ความหรือส่งเอกสารอื่น ๆ ถึงตน แล้วจงใจไปเสียให้พ้น หรือหาทางหลีกเลี่ยงที่จะไม่รับคำคู่ความหรือเอกสารนั้นโดยสถานอื่น
(4) ตรวจเอกสารทั้งหมด หรือฉบับใดฉบับหนึ่ง ซึ่งอยู่ในสำนวนความ หรือคัดเอาสำเนาเอกสารเหล่านั้นไป โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 54
(5) ขัดขืนไม่มาศาล เมื่อศาลได้มีคำสั่งตามมาตรา 19 หรือมีหมายเรียกตามมาตรา 277

มาตรา 33 ถ้าคู่ความฝ่ายใดหรือบุคคลใดกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลใด ให้ศาลนั้นมีอำนาจสั่งลงโทษโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือทั้งสองวิธีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(ก) ไล่ออกจากบริเวณศาล หรือ
(ข) ให้ลงโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ
การไล่ออกจากบริเวณศาลนั้นให้กระทำได้ชั่วระยะเวลาที่ศาลนั่งพิจารณาหรือภายในระยะเวลาใด ๆ ก็ได้ตามที่ศาลเห็นสมควร เมื่อจำเป็นจะเรียกให้ตำรวจช่วยจัดการก็ได้ ในกรณีกำหนดโทษจำคุกและปรับนั้นให้จำคุกได้ไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท’]ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา 31(1), 33[/simple_tooltip] ให้รอการกำหนดโทษสำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 6 ไว้คนละ 2 ปี ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 จำคุก 6 เดือน และปรับ 500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติไว้คนละ 1 ปี  โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติคนละ 6 ครั้ง ให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดกระทำกิจกรรมบริการสังคมคนละ 24 ชั่วโมง ห้ามมิให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดคบหาสมาคมหรือจัดทำกิจกรรมหรือรวมตัวกันในลักษณะอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก” 

ศาลจังหวัดขอนแก่นอ่านคำสั่งฎีกา ลงวันที่ 25 ธ.ค. 62 มีใจความว่า “ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีละเมิดอำนาจศาลไม่อยู่ในบังคับที่คู่ความต้องยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่แก้ไขใหม่ แม้ศาลชั้นต้นยังไม่ได้สั่งฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ด แต่เมื่อศาลชั้นต้นส่งสำนวนความมายังศาลฎีกาแล้วเพื่อไม่ให้คดีล่าช้า ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งรับฎีกาของผู้ทุกข์ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ด

ที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดฎีกาข้อกฎหมายว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไม่ถือเป็นบทบัญญัติยกเว้นบทบัญญัติของการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ฎีกาข้อเท็จจริงว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ด ไม่ใช่การประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล และอุปกรณ์ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์นั้นก็มีไว้เพื่อจะนำไปใช้ทำกิจกรรมเสวนา เรื่อง พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะซึ่งออกโดยทหาร แต่มีบุคคลอื่นนำอุปกรณ์ดังกล่าวมาวางขณะที่มีการอ่านแถลงการณ์ และที่ฎีกาว่า การคุมความประพฤติที่ศาลกำหนดไม่ชอบด้วยข้อกำหนดของประธานศาลฎีกานั้น

เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ถูกต้องและชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาตาม[simple_tooltip content=’พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้เสนอต่อศาลฎีกาได้โดยตรง และคดีที่อุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลอุทธรณ์ภาคตามที่กฎหมายบัญญัติ เว้นแต่กรณีที่ศาลฎีกาเห็นว่าข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่อุทธรณ์หรือฎีกานั้นจะไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณา ศาลฎีกามีอำนาจไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา’] พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง [/simple_tooltip]จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลฎีกา” 

คำสั่งศาลฎีกาดังกล่าวมีผลให้คดีนี้สิ้นสุดลง หลังการต่อสู้คดีเพื่อยืนยันเสรีภาพในการแสดงออกมาราว 3 ปี นับตั้งแต่ศาลจังหวัดขอนแก่นมีหมายเรียกลงวันที่ 13 มี.ค. 60 มาถึงกลุ่มนักศึกษาที่ไปทำกิจกรรมริมฟุตบาทหน้าศาลจังหวัดขอนแก่นเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 60 รวม 7 คน

ตลอดระยะเวลาของการต่อสู้คดี ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 7 คน ยืนยันว่า การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยสงบ สันติวิธี เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ ทั้งการอ่านบทกวี ร้องเพลง อ่านแถลงการณ์ และวางดอกไม้สีขาว รวมทั้งการที่มีสัญลักษณ์ไม้ลักษณะคล้ายตาชั่งเอียง การกระทำดังกล่าวเป็นเพียงการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกโดยสุจริตภายใต้หลักการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีบัญญัติรับรองไว้ เพื่อสะท้อนความคิดเห็นต่อกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น โดยไม่ได้ส่งผลขัดขวางการอำนวยการความยุติธรรมของศาลแต่อย่างใด นอกจากนี้ การแสดงออกดังกล่าวยังกระทำอยู่นอกบริเวณศาล โดยไม่มีความวุ่นวายใด ๆ เกิดขึ้น จึงไม่ใช่การประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาล และไม่เป็นการละเมิดอำนาจศาล 

ขณะที่ศาล ทั้งศาลจังหวัดขอนแก่นและศาลอุทธรณ์มีคำนิจฉัยพ้องกันว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลบัญญัติไว้โดยเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดีให้ดำเนินไปโดยราบรื่น เป็นอิสระ ไม่มีอิทธิพลหรืออำนาจใด ๆ มาแทรกแซง การแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ย่อมสามารถกระทำได้ โดยเป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครอง แต่ก็หาใช่ไร้ขอบเขต ไร้ขีดจำกัดไม่ ต้องกระทำโดยสุจริต อยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งในกรณีนี้คือ ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล  

การกระทำผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดกับพวก เป็นการนำมวลชนมากดดัน โดยประสงค์ให้มีอิทธิพลเหนือศาล เพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนายจตุภัทร์  ถือเป็นการแทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี ทั้งยังกระทบต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของสถาบันศาล โดยสื่อแสดงให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่า ศาลพิจารณาคดีของนายจตุภัทร์อย่างไม่ยุติธรรม เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายทหาร หาใช่การแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตไม่ แต่เป็นการประพฤติตัวไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล

ศาลทั้งสองชั้นยังเห็นพ้องกันในส่วนการพิพากษาลงโทษ และกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติที่ ห้ามมิให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดคบค้าสมาคม หรือจัดกิจกรรม หรือรวมตัวกันในลักษณะที่อาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันนี้อีก แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะอุทธรณ์คัดค้านว่า เป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็น การแสดงออก และการประพฤติของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดจนเกินสมควร จนทำให้ไม่สามารถใช้เสรีภาพดังกล่าวได้ ทั้งยังมีความคลุมเคลือ ไม่ชัดแจ้ง ซึ่งไม่ถูกต้องกับหลักกฎหมาย

และในชั้นฎีกา แม้ศาลฎีกาจะไม่รับฎีกา แต่คำสั่งของศาลฎีกาได้รับรองคำวินิจฉัยศาลอุทธรณ์ภาค 4 เช่นกัน

 

ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล: ข้อเสนอเพื่อการทบทวนและพัฒนา

บทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล อันเป็นบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30-33 ในปัจจุบันถูกตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการ นักกฎหมาย และประชาชนทั่วไป ทั้งในเรื่องเจตนารมณ์  ความชัดเจน และความล้าสมัยของบทบัญญัติซึ่งไม่สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ที่ให้คุณค่าต่อหลักการสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงออก  ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา โดยเฉพาะในห้วงความขัดแย้งทางการเมือง การตีความและบังคับใช้ความผิดฐานนี้มีแนวโน้มที่จะขัดต่อหลักการดังกล่าว และสร้างบรรยากาศความกลัวต่อการใช้เสรีภาพของประชาชน

ดังมีตัวอย่างในหลายกรณี เช่น กรณีของสุดสงวน สุธีสร อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถูกศาลฎีกาตัดสินจำคุก 1 เดือน จากกรณีจัดชุมนุมวางพวงหรีดที่ศาลแพ่ง หลังศาลแพ่งมีคำสั่งห้ามรัฐบาลยิ่งลักษณ์สลายการชุมนุมของกลุ่ม กปปส., กรณีวัฒนา เมืองสุข ซึ่งถูกศาลอาญาพิพากษาลงโทษจากการใช้เฟซบุ๊กไลฟ์ภายในอาคารศาลอาญา และจากการส่งหมายนัดศาลให้สื่อมวลชนทางไลน์ ตลอดจนให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนบริเวณบันไดหน้าศาลอาญา ล่าสุด กรณี สฤณี อาชวานันทกุล ถูกศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งออกหมายเรียกฐานละเมิดอำนาจศาล จากการเผยแพร่บทความวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาลกรณีหุ้นสื่อของผู้สมัคร ส.ส. แม้ในที่สุดศาลจะสั่งยุติการดำเนินคดี หลังสฤณีตีพิมพ์บทความชี้แจงและขอโทษ รวมถึงกรณี 7 นักศึกษาที่ทำกิจกรรมนอกรั้วศาลในคดีนี้ด้วย

งานวิจัยทางวิชาการด้านกฎหมายจึงมักมีข้อเสนอให้ทบทวนและแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตัวอย่างเช่น วิทยาพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายอาญา เรื่อง “ขอบเขตการกระทำที่เป็นการละเมิดอำนาจศาล” โดย น.ส.วรรณวิสาข์ สุทธิวารี มีข้อเสนอแนะในการพัฒนากฎหมายละเมิดอำนาจศาลข้อหนึ่งว่า …การแสดงความเห็นโดยวิธีใด ๆ โดยประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน ศาล คู่ความ หรือพยานแห่งคดี ซึ่งจะทําให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรมไป ไม่ควรเป็นความผิดฐานนี้ ควรมีการแก้ไขบทบัญญัติในเรื่องนี้ ซึ่งบัญญัติขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2477 ให้สอดคล้องกับหลักการในรัฐธรรมนูญที่มุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย 

ผศ.ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในคณะผู้ทำงานวิจัยเรื่อง “หลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในกรณีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล” ก็มีข้อเสนอให้ทุกศาลมีข้อกำหนดที่เป็นมาตรฐานกลางร่วมกันที่ชัดเจน และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบแล้วเข้าใจได้ เพื่อป้องกันการตีความที่ขยายขอบเขต, แก้ไขให้ไปบัญญัติใหม่ไว้ในประมวลกฎหมายอาญาเพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้ต้องหาในคดีอื่น รวมทั้งแก้ไขอัตราโทษให้น้อยลง

ขณะเดียวกัน คำคัดค้านการกล่าวหาในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลของผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้  ระบุเหตุผลซึ่งอาจนับเป็นข้อเสนอต่อศาลว่า …การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมปรากฏอยู่อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางวิชาการตามสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและหลักการสิทธิมนุษยชนสากลรับรองไว้ ข้อกล่าวหาของผู้กล่าวหาจึงไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และไม่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรมในภาพรวม  เนื่องจากความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมุ่งคุ้มครองกระบวนพิจารณาในศาลให้เป็นไปโดยอิสระและเรียบร้อย การใช้กฎหมายในฐานความผิดนี้จึงไม่ควรตีความอย่างกว้างขวาง ไปในทางเอาผิดผู้ที่แสดงความคิดเห็นต่อคำสั่งของศาล หรือกระบวนการยุติธรรมเป็นการทั่วไป ในทางกลับกัน การที่มีผู้แสดงความคิดเห็นต่อกระบวนการยุติธรรม จะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรมในระยะยาว ให้อำนวยความยุติธรรมในสังคมได้อย่างยั่งยืน

ในท่ามกลางวิกฤตศรัทธาต่อองค์กรตุลาการในปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมาได้ให้การรับรองการรัฐประหารผ่านการมีคำพิพากษาในคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมือง พร้อมกับขยายความให้กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมการแสดงออกของประชาชน ข้อเสนอเรื่องการทบทวนและพัฒนาบทบัญญัติที่เกี่ยวกับผิดฐานละเมิดอำนาจศาลให้สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน จึงเป็นหนึ่งประเด็นที่ต้องหยิบยกมาพูดคุยแลกเปลี่ยนและผลักดันให้เกิดขึ้นในสังคม   

 

อ่านเพิ่มเติม

เกี่ยวกับ 7 นักศึกษาผู้ถูกกล่าวหา>> 7 นักศึกษา คดีละเมิดอำนาจศาล ยืนยันจัดกิจกรรมสะท้อนปัญหากระบวนการยุติธรรม

ลำดับเหตุการณ์ในคดี>> 7นศ.ยื่นฎีกา ยืนยันความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ไม่อาจใช้จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก

ข้อสังเกตในคดี>> คำพิพากษาภายใต้เจตนารมณ์ “เพื่อคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดี” และข้อสังเกตคดี 7 นักศึกษา

ว่าด้วยข้อหาละเมิดอำนาจศาล>>

สถานะ ‘ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล’ กับหลักสิทธิมนุษยชนและวิธีพิจารณาความอาญาสมัยใหม่

ขอบเขตการกระทำที่เป็นการละเมิดอำนาจศาล: มองกฎหมายต่างประเทศแล้วย้อนดูไทย

ต้องชัดเจนและคุ้มครองสิทธิ ดูบทเรียนจากต่างประเทศเพื่อพัฒนากฎหมาย ‘ละเมิดอำนาจศาล’

ว่าด้วยข้อหาละเมิดอำนาจศาล: มาตรการเพื่อสร้างสถิตความยุติธรรม หรือคือเครื่องมือทางการเมือง

X