7นศ.ยื่นฎีกา ยืนยันความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ไม่อาจใช้จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก

 

7 นศ. คดีละเมิดอำนาจศาล ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ทั้งเจ็ดมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ชี้กิจกรรมดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงออกเพื่อให้กำลังใจ “ไผ่ ดาวดิน” และสื่อถึงการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมของทหาร ยืนยันความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ไม่อาจนำมาใช้จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก

เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 62 ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์, ภานุพงษ์ ศรีธนานุวัฒน์, พายุ บุญโสภณ, อาคม ศรีบุตตะ, จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ, ณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ และสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ 7 นักศึกษา ผู้ถูกกล่าวหาในคดีละเมิดอำนาจศาล มอบอำนาจให้ทนายความเข้ายื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ “ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  31(1), 33  ให้รอการกำหนดโทษสำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 6 ไว้คนละ 2 ปี ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 จำคุก  6  เดือน และปรับ 500 บาท  โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติไว้คนละ 1 ปี  โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติคนละ 6 ครั้ง ให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลาคนละ  24 ชั่วโมง ห้ามมิให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดคบหาสมาคมหรือจัดทำกิจกรรมหรือรวมตัวกันในลักษณะอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก” (อ่านรายละเอียดคำพิพากษาอุทธรณ์ที่ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน 7 นศ.ผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ชี้ตาชั่งเอียงลดทอนความน่าเชื่อถือของศาล)

โดยเหตุแห่งคดีมาจากการจัดกิจกรรมอ่านแถลงการณ์ อ่านบทกวี และ ร้องเพลง บริเวณฟุตบาทหน้าศาลจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 60 เพื่อให้กำลังใจ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ขณะตกเป็นจำเลยในคดี ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์บทความ “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” ของเว็บข่าวบีบีซีไทย

ฎีกาของนักศึกษาผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ด ขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4  และพิพากษายกคำกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ด  ให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดพ้นผิดไป โดยยกเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังนี้

  1. ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า …แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 34  บัญญัติให้ประชาชนและผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น  การพูด  และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น  แต่ต้องอยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย  ซึ่งในกรณีนี้คือบทบัญญัติของความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล… ผู้ถูกกล่าวหาเห็นว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตราไว้เพื่อให้ศาลมีอำนาจและหน้าที่ควบคุมดูแลให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลเป็นไปโดยเที่ยงธรรมและรวดเร็ว  และเพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล  ไม่ใช่กฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่ถือเป็นบทบทบัญญัติที่นำมาใช้จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อีกทั้งการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดซึ่งเป็นไปโดยสงบและปราศจากความวุ่นวายใด ๆ  จึงเป็นการใช้เสรีภาพที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย  และย่อมได้รับความคุ้มครอง
  2. ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับฟังข้อเท็จจริงว่า …ในเวลาต่อเนื่องกันหลังจากศาลชั้นต้นพิจารณาคดีซึ่งนายจตุภัทร์เป็นจำเลย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 6  กับพวก ไปรวมตัวกันอ่านแถลงการณ์ที่บริเวณหน้าป้ายศาลฯ โดยมีไม้แปรรูปทำเป็นสัญลักษณ์คล้ายตาชั่งอันหมายถึงศาลเอียงลงไปทางรองเท้าบูทซึ่งหมายถึงทหาร ตั้งอยู่ข้างหน้า สื่อแสดงให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าศาลพิจารณาของนายจตุภัทร์อย่างไม่ยุติธรรม เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายทหาร  ย่อมทำให้สถาบันศาลซึ่งทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีด้วยความเที่ยงธรรม  ต้องถูกลดทอนศักดิ์ศรีและความน่าเชื่อถือ…  ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดเห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 4  รับฟังข้อเท็จจริงในส่วนนี้คลาดเคลื่อน เนื่องจากที่ผู้ถูกกล่าวหาทำกิจกรรมหลังศาลพิจารณาคดีของจตุภัทร์ เพราะต้องการให้กำลังใจจตุภัทร์ และเห็นว่าการพิจารณาคดีเสร็จสิ้นแล้ว ไม่เป็นการรบกวนการพิจารณาคดีของศาล โดยเนื้อหาของแถลงการณ์ บทกวี หรือเพลง ไม่ได้พาดพิงถึงการพิจารณาคดีของศาลเลย อุปกรณ์ที่มีผู้นำมาวางก็เพื่อสื่อให้เห็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมของทหารในวันเกิดเหตุที่ลิดรอนสิทธิของประชาชนที่มาให้กำลังใจจตุภัทร์ และเหตุที่ทำกิจกรรมที่ป้ายหน้าศาล เพราะเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลให้ออกไปทำกิจกรรมนอกศาล อีกทั้งการพิจารณาคดีของศาลในวันนั้นก็ไม่ปรากฏว่าได้มีคำสั่งอะไรขึ้นใหม่ในคดี  จึงไม่เป็นการทำให้สถาบันศาลเสื่อมเสียถูกลดทอนศักดิ์ศรีหรือความน่าเชื่อถือแต่อย่างใด
  3. ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับฟังข้อเท็จจริงว่า …ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 สวมหน้ากากใบหน้านายจตุภัทร์ถ่ายภาพร่วมกับบุคคลอื่นซึ่งถือป้ายกระดาษมีข้อความว่า “FREE PAI”  อยู่บริเวณหน้าป้ายศาลฯ ถือเป็นการกดดันศาลเพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนายจตุภัทร์… ขณะผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 6  กับพวกอ่านแถลงการณ์และร้องเพลงอยู่บริเวณหน้าป้ายศาลฯ  ก็ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 ได้นำดอกกุหลาบสีขาวไปวางบนทางเท้า บริเวณที่สัญลักษณ์คล้ายตาชั่งตั้งอยู่ แสดงถึงการยอมรับต่อการกระทำของผู้กล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 6…  ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดเห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับฟังข้อเท็จจริงในส่วนนี้คลาดเคลื่อน เนื่องจากข้อความว่า FREE PAI  หมายถึงคืนเสรีภาพให้นายจตุภัทร์ อันมีความหมายกว้างกว่าการปล่อยตัวชั่วคราว อีกทั้งผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 ไม่ได้แสดงท่าทางที่จะใช้กำลัง  ข่มขู่  คุกคาม หรือปลุกระดม  เพียงแต่การถ่ายภาพกับคำว่า FREE PAI  ไม่อาจจะมีอิทธิพลเหนือประชาชนจนถึงขนาดจะเป็นการกดดันให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนายจตุภัทร์ได้ และการวางดอกกุหลาบสีขาวก็เพราะผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 เห็นว่าเป็นกิจกรรมให้กำลังใจนายจตุภัทร์เท่านั้น
  4. ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า …แม้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดจะกระทำการดังกล่าวนอกศาล  แต่เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับคดีที่มีการดำเนินอยู่ในศาลโดยตรง  กรณีย่อมถือว่าเป็นการกระทำมุ่งหมายให้มีผลต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล  จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล…  ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดขอคัดค้านคำวินิจฉัยดังกล่าว เนื่องจากความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นมาตรการบางประการที่ให้อำนาจศาลในอันที่จะควบคุมกระบวนพิจารณาในศาลให้เป็นไปโดยสงบเรียบร้อย   และอำนวยความยุติธรรมได้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่หลักเรื่องความเป็นอิสระของผู้พิพากษา อีกทั้งการแสดงออกของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดในคดีนี้  มิได้มีผลต่อการพิจารณาพิพากษาคดีของผู้พิพากษา เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดเป็นเพียงนักศึกษาและประชาชน  ไม่มีอำนาจออกคำสั่งให้คุณให้โทษใด ๆ กรณีนี้ก็ไม่ปรากฏว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดส่งผลต่อการพิจารณาคดีของศาลในคดีนายจตุภัทร์แต่อย่างใด ดังนั้น  การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดจึงไม่เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
  5. ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า …เงื่อนไขที่ศาลชั้นต้นกำหนดเพื่อคุมความประพฤติของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดถูกต้องครบถ้วนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 วรรคสอง (3) และไม่ปรากฏว่าเงื่อนไขดังกล่าวกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดเกินสมควรตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกา… ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดขอคัดค้านคำวินิจฉัยดังกล่าว เนื่องจากการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดในคดีนี้เป็นเพียงการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกเท่านั้น ไม่ใช่การกระทำที่ก่อภยันตรายต่อผู้อื่นหรือสังคม อันจะเป็นเหตุให้ศาลสั่งห้ามผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดคบค้าสมาคมได้ อีกทั้งเงื่อนไขคุมประพฤติดังกล่าวยังมีลักษณะกว้างขวาง คลุมเครือ ไม่ชัดแจ้ง  ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดไม่อาจทราบได้ว่าการทำกิจกรรมใดเป็นไปตามเงื่อนไขของศาลชั้นต้นบ้าง และไม่อาจใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี  ซึ่งกระทบต่อสาระสำคัญของการใช้เสรีภาพ และกระทบต่อการดำรงชีวิตผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดเกินสมควร  จึงเป็นการกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้ ในการเข้ายื่นฎีกา ทนายผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาไปพร้อมกันด้วย เนื่องจากความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และโดยที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ที่แก้ไขเพิ่มเติมในปี 2558 กำหนดให้ การฎีกาคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลอุทธรณ์กระทําได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

โดยคำร้องดังกล่าวระบุเหตุผลในการขออนุญาตฎีกาว่า 1) ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดมีประเด็นที่เป็นปัญหาสำคัญที่เกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน คำวินิจฉัยของศาลฎีกาในคดีนี้จะเป็นแนวบรรทัดฐานว่า การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลมีขอบเขตแค่ไหนเพียงใด  2) ประเด็นที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดฎีกาว่า การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติเรื่องการละเมิดอำนาจศาล และการกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเรื่องการห้ามคบค้าสมาคมในคดีที่เกี่ยวกับการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นข้อกฎหมายที่สำคัญซึ่งยังไม่มีแนวคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกามาก่อน

3) เพื่อเป็นการพัฒนาและทบทวนการตีความกฎหมายในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลให้เป็นไปตามเจตนารมณ์และบทบัญญัติของกฎหมาย และ 4) คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญคือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 34 ไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่รับรองเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก และการชุมนุม ซึ่งมีผลผูกพันประเทศไทย

ลำดับเหตุการณ์คดี 7 นักศึกษาละเมิดอำนาจสาล

10 ก.พ.60

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ถูกเบิกตัวจากเรือนจำทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น เพื่อมาขึ้นศาลจังหวัดขอนแก่นในนัดสอบคำให้การคดี ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์บทความ “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” ของเว็บข่าวบีบีซีไทย โดยมีทั้งนักศึกษาและประชาชนมารอให้กำลังใจไผ่ราว 200 คน แต่ไม่สามารถเข้าไปให้กำลังใจในห้องพิจารณาได้ เนื่องจากศาลได้ติดป้าย “พิจารณาลับ” ไว้ที่ด้านหน้าประตูห้องพิจารณา หลังกระบวนการในห้องพิจารณาคดีเสร็จสิ้น กลุ่มเครือข่ายนักศึกษา 4 ภาค ได้จัดกิจกรรมให้กำลังใจไผ่บนฟุตบาทด้านหน้าศาลจังหวัดขอนแก่น  โดยการร้องเพลง อ่านบทกวี อ่านแถลงการณ์ และวางดอกไม้ ต่อมา ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดขอนแก่นกล่าวหาว่า นักศึกษา 7 คนที่ร่วมกิจกรรมดังกล่าวเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาล

24 เม.ย. 60

ศาลจังหวัดขอนแก่น นัดไต่สวนนักศึกษา 7 คน ผู้ถูกกล่าวหา คดีละเมิดอำนาจศาล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1- 6  ปฏิเสธข้อกล่าวหา และขอต่อสู้คดี ส่วน ‘นิว’ สิริวิชญ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 ให้ผู้รับมอบอำนาจมายื่นคำร้องขอเลื่อนคดี และในวันดังกล่าวศาลได้อนุญาตปล่อยชั่วคราวผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-6 โดยใช้ตำแหน่งอาจารย์ 2 คน ยื่นประกันในวงเงินคนละ 50,000 บาท

31 พ.ค. 60

นิวเข้ารับทราบข้อกล่าวหา โดยให้การปฏิเสธ และยื่นประกันตัว ศาลนัดไต่สวนพยานฝ่ายผู้กล่าวหา 3 ปาก พร้อมกับไต่สวนพยานฝ่ายผู้ถูกกล่าวหารวม 10 ปาก ในวันที่ 29 มิ.ย. 60

29 มิ.ย. 60

ศาลจังหวัดขอนแก่นนัดพยานฝ่ายผู้กล่าวหามาให้ทนายผู้ถูกกล่าวหาถามค้าน ได้แก่ ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดขอนแก่น ผู้กล่าวหา และสารวัตรปราบปราม สภ.เมืองขอนแก่น ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ที่ศาลในวันเกิดเหตุ อ่านรายละเอียดที่ “เปิดบันทึกพยาน” ผู้กล่าวหาตอบคำถามค้านคดี 7 นักศึกษาละเมิดอำนาจศาล

27-28 ก.ย.60

ทนายผู้ถูกกล่าวหาถามค้านพยานฝ่ายผู้กล่าวหาอีก 1 ปาก ได้แก่ หัวหน้าชุดรักษาความปลอดภัยของศาลจังหวัดขอนแก่น ซึ่งตอบคำถามค้านว่า ตนไม่ทราบและไม่เคยได้อบรมมาก่อนเข้าทำงานว่า พฤติกรรมอะไรบ้างที่เข้าข่ายละเมิดอำนาจศาล ส่วนในการเบิกความของนักศึกษาทั้งเจ็ด ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยาน เบิกความตรงกันว่า กิจกรรมเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 60 จัดขึ้นเพื่อให้กำลังใจจตุภัทร์ ส่วนอุปกรณ์ที่วาง สื่อถึงทหารและอำนาจของทหารที่อยู่เหนือประชาชนและทหารใช้อำนาจลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ไม่ได้มีอะไรที่พูดถึงหรือพาดพิงศาล อ่านรายละเอียดที่ สืบพยานผู้กล่าวหาเสร็จสิ้น พรุ่งนี้สืบต่อ 7 นศ.ละเมิดอำนาจศาล และ ไต่สวนละเมิดอำนาจศาลเจ็ดนักศึกษาเสร็จแล้ว นัดฟังคำพิพากษา 2 พ.ย.

2 พ.ย.60

ศาลจังหวัดขอนแก่นนัดฟังคำพิพากษา โดยพิพากษาว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 7 มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ให้รอการกำหนดโทษผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-6 เป็นเวลา 2 ปี และผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 ให้จำคุก 6 เดือน ปรับ 500 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้เป็นเวลา 2 ปี ให้คุมประพฤติผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 7 ไว้เป็นระยะเวลา 1 ปี อ่านรายละเอียดที่ พิพากษา 7 น.ศ.ละเมิดอำนาจศาล รอกำหนดโทษ-รอลงอาญา คุมประพฤติ 1 ปี และ คำพิพากษาภายใต้เจตนารมณ์ “เพื่อคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดี” และข้อสังเกตคดี 7 นักศึกษา

2 ก.พ. 61

7 นักศึกษาได้มอบหมายให้ทนายความเข้ายื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 เพื่อคัดค้านคำสั่งศาลจังหวัดขอนแก่น ว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดไม่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล  ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับคำสั่งของศาลชั้นต้น  ให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดพ้นผิดไป อ่ารายละเอียดที่ “7 นักศึกษาละเมิดอำนาจศาล” ยื่นอุทธรณ์ ชี้ไม่อาจแทรกแซงศาลได้

15 ม.ค. 62

ศาลจังหวัดขอนแก่นนัดฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น อ่านรายละเอียดที่ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน 7 นศ.ผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ชี้ตาชั่งเอียงลดทอนความน่าเชื่อถือของศาล

 

X