ไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล “เบนจา” ชุมนุมเรียกร้องสิทธิประกันตัว ศาลส่งคำร้องชี้โทษละเมิดอำนาจศาลไม่ได้สัดส่วน ให้ศาลรธน.วินิจฉัย นัดอีกครั้ง 30 ส.ค. 64

21 มิ.ย. 2564 ศาลอาญา รัชดา นัดไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล ‘เบนจา อะปัญ’ สมาชิกกลุ่ม ‘แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม’ จากเหตุการณ์เข้าร่วมการชุมนุมทวงคืนสิทธิประกันตัวให้กลุ่มแกนนำ ‘ราษฎร’ ที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64 หน้าศาลอาญา รัชดา พร้อมกับยื่นหนังสือ “ราชอยุติธรรม” ต่อศาล เพื่อให้พิจารณการปล่อยตัวชั่วคราวแกนนำ และทวงถามถึงหน้าที่ของสถาบันตุลาการ ขณะทนายความยื่นประกันตัวแกนนำราษฎร หลังทั้งหมดถูกคุมขังมาเป็นเวลามากสุดเกือบ 3 เดือน

คดีนี้มี ชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา เป็นผู้กล่าวหา คำกล่าวหาบรรยายว่า เมื่อวันที่  29 เม.ย. 64 บริเวณหน้าศาลอาญา รัชดา เวลาประมาณ 12.30 น. เบนจาได้วิ่งผ่านแนวรั้วแผงเหล็กที่กั้นอยู่บริเวณหน้าบันไดทางขึ้นด้านหน้ามุกอาคารศาลอาญา และโปรยแผ่นกระดาษขณะวิ่งขึ้นบันได โดยพยายามหลบหลีกเจ้าหน้าที่ศาลอาญา

ภาพเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64

.

ขณะเดียวกัน เบนจาได้ตะโกนข้อความ เช่น “ตุลาการเช่นนี้ อย่ามีเลย” และเมื่อโปรยกระดาษเสร็จแล้ว ได้หยุดยืนอยู่บริเวณบันไดและพูดผ่านเครื่องขยายเสียง หันหน้าเข้าหาเจ้าหน้าที่ศาล มีใจความโดยสรุปว่า 

“ขี้ข้าเผด็จการ ขี้ข้าเผด็จการ พี่มองหน้า หนู พี่มองหน้าหนู เพื่อนหนูอดอาหารมา 40 กว่าวันแล้ว เพื่อนเรากําลังจะตาย ไม่มีความเป็นมนุษย์กันเลย เหรอ ความยุติธรรมควรเป็นสิ่งที่พึงมีตั้งแต่แรกไม่ใช่ร้องขอ ศาลทําหน้าที่ผดุงความยุติธรรม แต่ทําไมถึงไม่มี ความยุติธรรมให้กับเพื่อนเรา รู้ว่าทําตามหน้าที่ รู้ว่าโดนนายสั่งมา คิดว่าหนูมายืนตรงนี้เนี่ย มันไม่ต้องแลก อะไรเหรอ 

“เราทุกคนต่างสูญเสีย เราทุกคนต่างสูญเสียในรัฐเผด็จการนี้ เราสูญเสียกันมามากพอแล้ว เราจะต้อง สูญเสียกันอีกเท่าไหร่ หากความเป็นคนในพวกคุณไม่มีเหลือ แล้วเราจะไปถามหาความเป็นคนได้จากใครอีก ปล่อยเพื่อนเรา ปล่อยเพื่อนเรา ปล่อยเพื่อนเรา ปล่อยเพื่อนเราได้ยินไหม หากรับใช้ใบสั่งอย่างอัปรีย์ ตุลาการเช่นนี้ อย่ามีเลย ตุลาการเช่นนี้อย่ามีเลย ปล่อยเพื่อนเรา 

“หากศาลยังฟังอยู่ หากศาลยังมีความยุติธรรม ยังหลงเหลืออยู่ ให้นึกถึงเวลาที่ท่านได้ตรากตรําอ่านตําราดึกดื่นเพื่อสอบเข้ามาเป็นผู้พิพากษา สอบเข้ามาเพื่อผดุง ความยุติธรรมให้กับประเทศชาติ สอบเข้ามาเพื่อผดุงความยุติธรรมให้กับประชาชน แต่ทําไมอุดมการณ์ของผู้พิพากษาไม่มีเหลือแล้วหรือ หากเราไร้ซึ่งอุดมการณ์เราจะมีค่าอะไร เป็นผู้พิพากษาอย่าหลงลืมอุดมการณ์ แห่งการเป็นผู้พิพากษา คืนคําพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน” พร้อมโปรยกระดาษที่เหลืออีกครั้งต่อหน้าเจ้าหน้าที่

.

ศาลจำกัดผู้เข้าฟัง แม้พิจารณาคดีโดยเปิดเผย อ้างกลัวจดบันทึกการพิจารณาคดี “ผิดๆ ถูกๆ”  ด้านทนายความยื่นคำร้องขอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “โทษกักขังในฐานความผิดนี้ไม่ได้สัดส่วนตามรธน.”

ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 807 เวลา 13.30 น. ชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา, เบนจา อะปัญ ผู้ถูกกล่าวหา พร้อมทนายความมาศาล ก่อนศาลออกพิจารณาคดี มีผู้สังเกตการณ์รอฟังการพิจารณาคดีทั้งหมด 5 คน อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาพิจารณาคดี ศาลขอให้แค่คู่ความ และเจ้าหน้าที่ iLaw เพียง 1 คน ที่ยื่นหนังสือต่อศาลเพื่อขอสังเกตการณ์คดี เข้าฟังการพิจารณาคดีเท่านั้น และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจศาลนำตัวผู้สังเกตการณ์ที่เหลือออกไปจากห้องพิจารณาคดี 

ทั้งนี้ ศาลยังกำชับอีกว่าผู้สังเกตการณ์ที่อนุญาตให้อยู่ในห้องพิจารณาคดี ให้จดบันทึกการเบิกความให้ถูกต้อง อย่าจดบันทึกถูกๆ ผิดๆ ด้วยน้ำเสียงดุดัน 

ก่อนเริ่มการไต่สวน ศาลแถลงวางข้อกำหนดศาลอาญา ไม่อนุญาตให้คู่ความ ทนายความ ผู้เข้าร่วมฟังการพิจารณาทุกคน บันทึกภาพ เสียง ภาพและเสียง หรือถ่ายทอดภาพ เสียงหรือถ่ายทอดภาพและเสียง ไม่ว่าด้วยอุปกรณ์ หรือเครื่องมือใดๆ ในระหว่างการพิจารณา หรือเหตุการณ์ในห้องพิจารณา รวมไปถึงห้ามจดบันทึกหรือจดข้อความ คําแถลง หรือถ้อยคําของคู่ความ พยานและผู้เกี่ยวข้อง หรือบันทึกเหตุการณ์ในระหว่างพิจารณา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

ศาลถามถึงแนวทางการต่อสู้คดี ด้านผู้ถูกกล่าวหาให้การปฏิเสธ แต่รับว่าได้อยู่ในเหตุการณ์วันเกิดเหตุจริง โดยในวันนี้ ผู้ถูกกล่าวหาได้ยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อศาล ยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ให้เหตุผลโดยสรุปว่า ในวันเกิดเหตุ ผู้ถูกกล่าวหาได้นำรายชื่อผู้ร่วมรณรงค์ “ราชอยุติธรรม” และหนังสือไปยื่นต่ออธิบดีศาลอาญา เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีอันเกี่ยวข้องจากการแสดงออกทางการเมือง หลังจากเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 64 มีการเผยแพร่ข่าวว่า “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ หนึ่งในผู้ต้องขังคดีการเมือง ขับถ่ายเป็นชิ้นเนื้อ เนื่องจากกระเพาะอาหารเริ่มย่อยตัวเอง หลังจากอดอาหารประท้วงทวงสิทธิประกันตัวมาเป็นเวลา 44 วัน 

การโปรยใบปลิวเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีทางการเมือง ส่วนถ้อยคำปราศรัยเกิดจาการความรู้สึกที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมและความคับข้องใจ เนื่องจากพริษฐ์ และปนัสยา เพื่อนนักศึกษา ไม่ได้รับการประกันตัว แม้ยื่นประกันตัวหลายครั้ง ในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาเห็นว่า กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฎิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ ได้รับการประกันตัว หลังศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุก อีกทั้ง ถ้อยคำบางส่วนนั้นยกมาจาก “บทกวีมหาตุลาการ” ของอานนท์ นำภา 

ดังนั้น การกระทำของผู้ถูกกล่าวหานั้น ถือเป็นการแสดงออกโดยบริสุทธิ์ใจ เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับการประกันตัวให้เป็นไปตามหลักกฎหมายและหลักการสิทธิมนุษยชนโดยชอบ เหมือนกับคดีปกติทั่วไป

นอกจากนี้ ผู้ถูกกล่าวหายื่นคำร้องขอให้ศาลส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและรอการพิพากษาไว้ชั่วคราว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 โดยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นที่ว่า บทลงโทษฐานความผิดละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 นั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 หรือไม่ 

ก่อนศาลรับคำร้อง ศาลถามทนายความผู้ถูกกล่าวหาว่า อ้างกฎหมายมาตราใดในการขอให้ศาลส่งคำร้องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ด้านทนายความยืนยันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 และ มาตรา 5 ว่าศาลต้องส่งคำร้องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ศาลจึงตกลงว่าจะนำเรื่องไปปรึกษากับอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาก่อน 

สำหรับพยานผู้เบิกความมีทั้งหมด 3 ปาก ได้แก่ ชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา ผู้กล่าวหา, พ.ต.ท.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รองผู้กํากับการป้องกันปราบปราม สน.พหลโยธิน และเบนจา อะปัญ ผู้ถูกกล่าวหา

.

ปากที่ 1 : ชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา ผู้กล่าวหา 

พยานเบิกความโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64 พยานทำงานจากที่บ้านตามมาตรการ work from home และได้รับรายงานถึงเหตุการณ์การชุมนุมหน้าศาลอาญา แต่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ และได้เห็นภาพการชุมนุมจากรายงานการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พหลโยธิน และภาพวิดีโอบันทึกเหตุการณ์จากแผ่นซีดี 

ในวันดังกล่าวมีการยื่นประกันตัวผู้ต้องขังในคดีชุมนุม “19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร” มีมวลชนมาอยู่ที่หน้าศาลอาญา บางส่วนฝ่าแผงกั้นบริเวณหน้ามุกของอาคารศาลอาญา แต่ไม่ใช่ผู้ถูกกล่าวหา อย่างไรก็ตาม พยานไม่ได้รับรายงานว่าประชาชนไม่ได้รับความสะดวกสบายจากเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่มีเหตุการณ์เลื่อนนัดพิจารณาคดีในวันนั้น แต่ถ้าหากดูจากสภาพของเหตุการณ์ อาจแสดงให้เห็นว่าประชาชนผู้ต้องการมาติดต่อศาลไม่ได้รับความสะดวกสบาย

หลังจากรับรายงาน พยานจึงเดินทางมาถึงศาลอาญาเวลาประมาณ 16.30 น และเดินทางออกจากศาลเวลา 19.00 น. โดยไม่ได้เห็นเหตุการณ์การชุมนุม จากการดูรายงานการสืบสวนและภาพในซีดี พยานทราบว่าผู้ถูกกล่าวหาได้โปรยใบปลิว แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้เก็บใบปลิวดังกล่าว เนื่องจากไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ 

 .

ปากที่ 2 :  พ.ต.ท. ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รองผู้กํากับการป้องกันปราบปราม สน. พหลโยธิน 

พยานเบิกความตามรายงานการสืบสวนของ สน.พหลโยธิน ที่ได้ยื่นต่อศาล และเบิกความเพิ่มเติมว่า ในวันเกิดเหตุ ได้รับคำสั่งให้มาดูแลความปลอดภัยและความสงบในบริเวณพื้นที่ศาลอาญา 

พยานไม่ทราบว่า ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเพื่อนกับ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ทราบเพียงแค่ว่ามาจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเหมือนกัน พยานเสริมว่า ผู้ถูกกล่าวหานั้นฝ่าแผงรั้วกั้นบริเวณหน้ามุกศาลอาญา แต่ไม่ได้เข้าไปภายในตัวอาคาร ขณะผู้ถูกกล่าวหาปราศรัย พยานรับว่าอยู่ในเหตุการณ์

.

ปากที่ 3 : เบนจา อะปัญ ผู้ถูกกล่าวหา 

ทนายความแถลงต่อศาล ขอเบิกความผู้ถูกกล่าวหาเพิ่มเติม เพื่อต่อท้ายคำให้การเป็นหนังสือที่ยื่นต่อศาล ขณะพยานสาบานตนต่อศาลก่อนเบิกความ พยานแถลงว่าไม่มีศาสนา และกล่าวสาบานตนตามคำพูดของทนายจำเลยและศาล โดยพยานได้สาบานว่า “ถ้าหากข้าพเจ้ากล่าวความจริงต่อศาล ขอให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย” จากปกติที่มักกล่าวกันว่า “หากข้าพเจ้ากล่าวความจริงต่อศาล ขอให้ข้าพเจ้าจงประสบแต่ความสุขความเจริญ” 

พยานเบิกความเพิ่มเติมจากคำให้การเป็นหนังสือโดยสรุปว่า รับว่าโปรยกระดาษจริง เนื่องจากตั้งใจมายื่นหนังสือต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา แต่อธิบดีนั้นไม่ออกมารับ โดยเอกสารที่ต้องการยื่น คือ หนังสือ “ราชอยุติธรรม” พร้อมรายชื่อของประชาชนประมาณ 7,000 รายชื่อ เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้เพื่อนที่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ตามหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เนื่องจากหากศาลยังไม่มีคำพิพากษา จำเลยยังคงถือเป็นผู้บริสุทธิ์ 

ความหมายบางส่วนของถ้อยคำปราศรัย เช่น “ขี้ข้าเผด็จการ” พยานชี้ว่าเป็นการวิจารณ์โครงสร้างการปกครอง และข้อความบางส่วนที่ยกมาจากบทกวีของอานนท์ นำภา พยานต้องการให้ศาลตัดสินบนความเที่ยงตรง พร้อมกับยกกรณีของกลุ่ม กปปส. มาเปรียบเทียบ ในขณะที่กลุ่ม กปปส. ได้รับการประกัน ระหว่างอุทธรณ์คดี แต่เพราะเหตุใดเพื่อนของพยานจึงไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว แม้ยื่นประกันหลายครั้ง 

ส่วนคำปราศรัยว่า “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน” ยกมาจากคำของผู้พิพากษา คณากร เพียรชนะ ทั้งนี้ ในวันเกิดเหตุ พยานไม่ได้นำอาวุธติดตัวมาที่ศาลแต่อย่างใด

คดีสืบพยานเสร็จสิ้น 15.30 น. ศาลขอให้พักการพิจารณาคดี เพื่อขอปรึกษากับอธิบดีผู้พิพากษาว่าจะส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่

.

ศาลมีคำสั่งส่งคำร้องไปให้ศาลรธน.วินิจฉัย พร้อมออกหมายขังระหว่างพิจารณาคดี 

เวลา 15.50 น. ศาลมีคำสั่งให้ส่งคำร้องฉบับลงวันที่ 21 มิ.ย. 64 ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและรอการพิพากษาไว้ชั่วคราว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 โดยศาลให้เหตุผลว่าควรส่งคำร้องของผู้ถูกกล่าวหาไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามที่ผู้ถูกกล่าวหาขอ โดยกำหนดนัดพร้อมเพื่อฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 30 ส.ค. 64 แต่มีคำสั่งให้ออกหมายขังผู้ถูกกล่าวหาระหว่างพิจารณาคดี

ต่อมา 17.19 น. หลังทนายความยื่นประกันตัวเบนจา ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี โดยวางเงินสดจำนวน 10,000 บาทเป็นหลักประกัน จากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดๆ เพิ่มเติม 

ศาลกำหนดนัดพร้อมเพื่อฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 30 ส.ค. 64 เวลา 13.30 น. 

ทั้งนี้ นับตั้งแต่การการไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาลที่เริ่มเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผู้พิพากษาไม่อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์เข้าฟังการพิจารณาคดี นอกจากผู้สังเกตการณ์ที่ยื่นหนังสือขอเข้าสังเกตการณ์ในรายคดี หลังในนัดไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาลคดีของเบนจา และณัฐชนน ไพโรจน์ (เหตุชุมนุมทวงคืนสิทธิประกันตัว 30 เม.ย.) เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 64 ศาลได้แถลงข้อกำหนด “ห้ามจดบันทึกคำเบิกความพยาน” แต่ยังให้ผู้สังเกตการณ์ และผู้มาให้กำลังใจเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีได้

.

สังคมควรได้รับรู้ว่า ศาลไต่สวนกันยังไง ตัดสินยังไง สมเหตุสมผลไหม

หลังจากการไต่สวน เบนจาเปิดเผยว่า วันนี้ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่ระหว่างการไต่สวน ผู้พิพากษามีท่าทีที่ทำให้ตนรู้สึกว่า ศาลได้ตัดสินไปแล้วว่า เพื่อนที่ไม่ได้รับการประกันตัวนั้นมีความผิดไปแล้ว แม้ยังไม่มีคำพิพากษา เธอจึงถามศาลกลับว่า “เพื่อนเราไปฆ่าใครตายหรือเปล่าจากสิ่งที่เขาทำ เขาไม่ได้ไปทำร้ายร่างกายใคร ฆ่าใคร หรือไปละเมิดสิทธิเสรีภาพในตัวบุคคลใด”  นอกจากเพื่อนๆ ที่ไม่ได้รับสิทธิประกัน เบนจายังรู้สึกถูกกล่าวหาไปแล้วว่ากระทำการปั่นป่วนในศาลจริง ซึ่งถ้าหากผู้ต้องขังคดีทางการเมืองได้รับประกันตามกระบวนการ คงไม่มาแสดงออกตามที่ศาลกล่าวหา

สำหรับเรื่องศาลให้ผู้สังเกตการณ์บางส่วนออกจากห้องพิจารณา เบนจาเปิดเผยความรู้สึกว่า “เราอธิบายความรู้สึกไม่ได้ เรารู้สึกว่ามันน่ากลัว เพราะเราอยู่ในเขตแดนของศาล ศาลมีสิทธิพิพากษาว่าเราจะมีความผิดหรือไม่ผิด แต่กลับห้ามคนมาสังเกตการณ์ ห้ามคนอื่นเข้ามาดู เราไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่ให้ เพราะถ้าหากการพิจารณาคดีไม่มีอะไร สังคมควรจะได้รับรู้ รู้ว่าศาลไต่สวนกันยังไง ตัดสินยังไง สมเหตุสมผลไหม

“นี่คือคุณไม่ให้คนเข้ามาฟัง แล้วถ้าเกิดอะไรขึ้นมาในห้องพิจารณา แล้วเราไม่ได้รับความเป็นธรรม ใครจะรับรู้กับเรา เหมือนเราไม่มีพยาน ไม่มีใครในเหตุการณ์เลย ซึ่งเป็นอะไรที่น่ากลัว

“นอกจากนี้ ศาลยังห้ามจด เพราะกลัวคนเอาไปเผยแพร่ แล้วเราก็ต้องถามความเป็นจริงว่า ถ้าหากเป็นเรื่องจริงทำไมถึงเผยแพร่ไม่ได้ ถูกไหม แล้วศาลกล่าวอ้างว่า กลัวมีคนเอาไปจดผิดๆ ถูกๆ ซึ่งถามว่า ถ้าเนื้อความมันผิดก็คือผิด แต่ถ้าเนื้อความมันไม่ผิด แล้วศาลจะกลัวอะไร อีกอย่าง การจดบันทึกในห้องพิจารณาควรทำได้ การห้ามจดบันทึกมันเกินกว่าเหตุหรือเปล่า ทำไมเราถึงไม่มีสิทธิจดบันทึกว่า ศาลทำอะไรกับเราบ้าง ในขณะที่ศาลสามารถจดบันทึกคำเบิกความของเราได้”

คดีนี้นับเป็นคดีละเมิดอำนาจศาลคดีแรกของ “เบนจา” ที่มีการไต่สวน เมื่อเราถามถึงความรู้สึกของการถูกตั้งข้อหาคดีนี้ จากการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกโดยศาล  ต้องถูกไต่สวนโดยศาล และตัดสินโดยศาล 

เธอหัวเราะเล็กน้อย ก่อนตอบว่า “ไม่รู้จะพูดยังไง เหมือนเป็นตลกร้ายในตัวมันเอง ทำให้หนูคิดว่าศาลจะตัดสินบนความเที่ยงตรงไหม…ส่วนเราคาดหวังว่าศาลจะมีความเที่ยงตรง”

.

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เปิดบันทึกไต่สวนละเมิดอำนาจศาล “กระเดื่อง” ศิลปะปลดแอก เหตุ ร้องให้ประกันแกนนำ #ม็อบ29เมษา เจ้าตัวชี้ วิจารณ์มาตรการโควิด ไม่ใช่ศาล

เลื่อนพร้อมสั่งห้ามจดบันทึกในห้องพิจารณาคดี! นัดไต่สวนละเมิดอำนาจศาล “เบนจา-ณัฐชนน” เหตุชุมนุมทวงคืนสิทธิประกันตัว 30 เม.ย. 64

ห้ามจด ห้ามเผยแพร่: การกระทำที่ขัดหลักการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและขัดหลักประชาธิปไตยของศาลทหาร

.

X