ห้ามจด ห้ามเผยแพร่: การกระทำที่ขัดหลักการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและขัดหลักประชาธิปไตยของศาลทหาร

ท่ามกลางกระแสจัดตั้งพรรคการเมืองและกระบวนการเลือกตั้งที่คาดหมายว่าจะสามารถจัดได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปี 2562 นั้น ยังคงมีเรื่องราวของคนจำนวนไม่น้อยดำเนินอย่างเงียบเชียบภายใต้ร่มเงาของกระบวนการยุติธรรมหลังรัฐประหารเมื่อปี 2557

แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะยกเลิกการดำเนินคดีพลเรือนบางฐานความผิดในศาลทหารแล้วเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2559 แต่ก็เป็นเฉพาะการกระทำที่เกิดขึ้นหลังวันที่ 12 กันยายน 2559 ทำให้ยังคงมีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีก่อนหน้านั้นกว่า 2,400 คน ต้องขึ้นศาลทหาร (ข้อมูลจากกรมพระธรรมนูญล่าสุด ณ 30 มิ.ย. 61 ยังเหลือคดีพลเรือนค้างอยู่อย่างน้อย 281 คดี ไม่มีข้อมูลจำนวนผู้ต้องหา/จำเลย) ซึ่งกระบวนการพิจารณาคดีดำเนินไปอย่างล่าช้าและส่วนใหญ่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ ตั้งแต่การสั่งพิจารณาลับ หรือบางคดีที่ไม่มีการสั่งพิจารณาลับ แต่ศาลหรือเจ้าหน้าที่ศาลสั่งห้ามจดบันทึก ห้ามเผยแพร่คำเบิกความพยานและกระบวนการพิจารณาคดีในศาลทหาร ทำให้คนทั่วไปหลงลืมไปว่าระบบยุติธรรมของไทยยังคงอนุญาตให้มีการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหารอยู่ และทำให้รัฐไทยสามารถแสร้งว่าไม่มีการพิจารณาในศาลทหารอีกแล้ว

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่บุคคลซึ่งได้รับผลกระทบจากการรัฐประหารและบันทึกข้อมูลซึ่งเกี่ยวข้องกับการกระทำนั้น จึงขอนำเสนอเรื่องราวบางส่วนของกระบวนการพิจารณาคดีในศาลทหารที่เกิดขึ้นในคดีของพลเรือน ซึ่งผู้สังเกตการณ์หรือแม้แต่บุคคลทั่วไปไม่สามารถจดบันทึก หรือแม้แต่ไม่สามารถนำสมุดบันทึกเข้าไปในห้องพิจารณาคดีได้ เชื่อมโยงกับหลักการสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า กระบวนการดังกล่าวสะท้อนถึงความไม่เป็นประชาธิปไตยของกระบวนการพิจารณาคดีของบุคคลนั้น ที่ไม่ได้เกิดแค่ในห้องพิจารณาแต่ดำรงอยู่ในสังคมนี้ด้วย

.

ความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการจัดตั้ง และการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรมในศาลทหาร

จากข้อมูลในบทความ “[simple_tooltip content=’สมชาย ปรีชาศิลปกุล และคนอื่นๆ.ตุลาการธิปไตย ศาล และการรัฐประหาร. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพ: เฟิร์ส ออฟเซท (1993) จำกัด, 2561′]การบังคับใช้ศาลทหารต่อพลเรือน: ประวัติศาสตร์การเมืองว่าด้วยกลไกการปกครองของระบอบอำนาจนิยมในประเทศไทย[/simple_tooltip]” แสดงให้เห็นว่า การกำหนดเขตอำนาจศาลทหารให้สามารถพิจารณาคดีอาญาที่พลเรือนกระทำความผิดได้นั้น เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ 2477 และหลายครั้งต่อมา แสดงให้เห็นวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศาลทหารที่มุ่งใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการฝ่ายตรงข้ามโดยกล่าวหาว่ากระทำความผิดในฐานใดฐานหนึ่งหรือมุ่งหมายทำลายความมั่นคงของชาติ โดยเคยมีการ[simple_tooltip content=’ภายหลังจากการจัดตั้งศาลพิเศษ (ศาลทหาร) ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ.2476 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2478) เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2478 ให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาเกี่ยวกับความผิดฐานกบฏและก่อจลาจลที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2478 พบว่ามีจำเลย 1 คน คือ นายสิบเอกสวัสดิ์ มูหะหมัด ซึ่งให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดี แต่ศาลพิเศษนี้ใช้ระยะเวลาเพียง 1 เดือน ในการพิจารณาและพิพากษาประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2478′]ตัดสินโทษประหารชีวิตด้วยคำพิพากษาศาลทหาร[/simple_tooltip]มาแล้ว

ศาลทหารของไทยจึงอยู่คู่กับศาลยุติธรรมตลอดมา แต่ไม่ว่าจะเป็นการดึงศาลทหารมาใช้ในครั้งใด รัฐไทยก็ไม่เคยแสดงคำตอบที่ชัดเจนถึงความจำเป็นที่ต้องนำพลเรือนขึ้นสู่ศาลทหาร อีกทั้งศาลทหารยังเต็มไปด้วยปัญหาในเชิงโครงสร้างที่ไม่ได้มีแค่ความไม่พร้อมของระบบงานธุรการในกระบวนการยุติธรรม สำคัญกว่านั้นคือ ลักษณะการดำเนินงานที่ทั้งตุลาการ กระบวนการ และโครงสร้างที่ไม่เป็นกลาง แทบไม่เปิดเผย และไม่เคยเป็นอิสระ เหล่านี้ทำให้การดำเนินกระบวนการพิจารณาในศาลทหารต่อพลเรือน ทั้งในทางทฤษฎีที่พิจารณาโดยหลักการดำเนินคดีที่เป็นธรรม (Right to Fair Trial) และทางปฏิบัติหลายอย่างเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของจำเลย

.

หลักสิทธิมนุษยชนของการห้ามจดบันทึก และความไม่ชอบด้วยระบอบประชาธิปไตยของการห้ามเผยแพร่

การห้ามจดบันทึก การห้ามนำสมุดบันทึกเข้าห้องพิจารณา การห้ามรายงานข่าวหรือเผยแพร่คำเบิกความของพยานในศาล รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการพิจารณาคดีต่อสาธารณะ มิฉะนั้นแล้วจะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นประเด็นโต้แย้งกันมาตลอดระยะเวลากว่า 4 ปีที่พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร

ประเด็นดังกล่าวแม้จะเล็กน้อย และแทบไม่สร้างความรับรู้ถึงความไม่ชอบธรรมในการดำเนินคดีในศาลทหารเมื่อเทียบกับการดำเนินคดีที่ล่าช้า และ[simple_tooltip content=’จากข้อมูลการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระหว่างเดือนพฤษภาคม 2557 ถึงตุลาคม 2561 พบจำเลยบางส่วนถูกคุมขังเป็นเวลานานโดยไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว ระยะเวลาที่นานที่สุดของจำเลยที่ถูกควบคุมตัว คือ 1,596 วัน และแม้ญาติจะยื่นประกันถึง 7 ครั้ง ศาลทหารก็ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว’]สถิติการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวที่ผ่านมา[/simple_tooltip] แต่ย่อมแปลกประหลาดที่คำสั่งห้ามเหล่านั้นสำคัญถึงอาจทำให้คนที่ฝ่าฝืนต้อง[simple_tooltip content=’ลักษณะที่ศาลทหารออกคำสั่งห้ามจด ห้ามบันทึก หรือห้ามเผยแพร่กระบวนพิจารณานั้น บางกรณีอาจเป็นการใช้อำนาจสั่งตามมาตรา 30 -33 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และหากคู่ความหรือบุคคลที่เข้าฟังพิจารณาฝ่าฝืน อาจถูกดำเนินคดีด้วยความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ’]ถูกจำคุกหรือจ่ายค่าปรับ[/simple_tooltip]ได้ เพราะแท้จริงแล้ว การอนุญาตให้บุคคลภายนอกที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดี รับรู้รับทราบการพิจารณาคดีของศาล เป็นส่วนหนึ่งของหลักการสิทธิมนุษยชนที่สำคัญที่สุดในคดีอาญา คือ [simple_tooltip content=’ดู คณิต ณ นคร. (2544, มกราคม – มิถุนายน). “บทบาทศาลในคดีอาญา.” วารสารกฎหมายธุรกิจบัณฑิตย์, ปีที่ 1, ฉบับที่ 1. หน้า 49-64.’]หลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิด และหลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย[/simple_tooltip] ทั้งสองหลักการต่างมีบังคับใช้ควบคู่กันและมีแนวปฏิบัติหรือหลักการย่อยประกอบ ทั้งนี้ เพื่อประกันสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมว่าจะได้รับการพิจารณาคดีอย่างสอดคล้องกับหลักกฎหมาย (Due Process of Law) ไม่ถูกข่มขู่ บีบบังคับ หรือซ้อมทรมานให้รับสารภาพ การละเมิดหลักการพิจารณาโดยเปิดเผยจึงเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่แค่เพียงการที่[simple_tooltip content=’ดู มาตรา 177 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา’]ศาลสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับโดยปราศจากเหตุผลที่ชอบด้วยกฎหมายรับรอง[/simple_tooltip] แต่ยังรวมถึงกระบวนการสั่งห้ามจด ห้ามเผยแพร่ดังที่กล่าวมาข้างต้นด้วย เนื่องจากล้วนเป็นการสกัดกั้นมิให้บุคคลภายนอกหรือสาธารณะที่อาจไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับคดี ทำการตรวจสอบการกระทำของตุลาการ อัยการ และทนายความ ว่าโปร่งใสและยุติธรรมหรือไม่

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่ากระบวนการยุติธรรมที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ ทั้งด้วยการปิดกั้นให้พิจารณาลับและการปิดกั้นมิให้รายงานกระบวนการพิจารณาคดี ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยของผู้ถูกกล่าวหา ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าการพิจารณาคดีดังกล่าวอยู่ภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน  หรือไม่เป็นตามหลักประชาธิปไตยที่อำนาจในการใช้สิทธิทางศาลและการเข้าถึงความยุติธรรมเป็นของประชาชนนั่นเอง

ภาพจำลองเหตุการณ์ฝากขังกลุ่ม NDM ที่ศาลทหารในคืนวันที่ 26 มิ.ย. 58 ซึ่งบุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าฟังได้แม้ไม่มีคำสั่งพิจารณาลับ

.

ห้ามจดบันทึก ห้ามรายงานข่าว ในคดีที่ คสช.รู้สึกอ่อนไหว

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลายคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ถูกกล่าวหา และศาลทหารมีคำสั่งห้ามนำสมุดบันทึกเข้าห้องพิจารณา ห้ามจดบันทึก หรือห้ามเผยแพร่ ในระยะแรกเป็นคดีที่เกี่ยวข้องความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ (มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา) ไม่ว่าความผิดนั้นจะได้กระทำโดยการเผยแพร่ข้อมูล แสดงความเห็น ยื่นคำร้อง หรือกดไลค์ (Like) ในเฟซบุ๊ค และไม่ว่าผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหานั้นจะสามารถต่อสู้คดีได้อย่างคนปกติหรือไม่ก็ตาม โดยหลายครั้ง ศาลทหารใช้วิธีการ “สั่งปากเปล่า” ว่าห้ามให้ผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์บันทึกการสืบพยานในวันนั้น

“ผู้ถูกกล่าวหารายหนึ่งถูกดำเนินคดีในศาลทหารเพราะเขียนคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งพนักงานอัยการและเจ้าหน้าที่ศาลผู้รับมอบอำนาจจากเลขานุการศาลฯ ผู้ร้องทุกข์ระบุว่า เป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ระหว่างการสืบพยานนัดหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2560 ศาลสั่งมิให้ผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์คดีจดบันทึก ทั้งเนื้อหาของคำเบิกความและรายงานกระบวนการพิจารณา ทำให้ผู้สังเกตการณ์ต้องหยุดการบันทึกกลางคัน แต่คำสั่งดังกล่าวของศาลไม่ปรากฏอยู่ในรายงานกระบวนพิจารณาคดีแต่อย่างใด”

“ผู้ป่วยจิตเภทอีกรายหนึ่งถูกดำเนินคดีในศาลทหารเพราะเผยแพร่ข้อความจำนวน 13 ข้อความ ลงในเฟซบุ๊ก และต่อมาถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จำนวน 13 กรรม ทั้งพนักงานอัยการและศาลทหารเห็นพ้องมิให้ผู้ถูกกล่าวหารายนี้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจนกว่าจะมีการส่งความเห็นจากสถาบันซึ่งเชี่ยวชาญด้านการให้การรักษาผู้ป่วยจิตเวชมายังศาล ผู้ถูกกล่าวหารายนี้จึงต้องอยู่ในเรือนจำนานถึง 8 เดือน โดยยังไม่เริ่มพิจารณาคดี อย่างไรก็ตาม ในนัดไต่สวนแพทย์ซึ่งมาให้ความเห็นต่อสภาพจิตของผู้ถูกกล่าวหา ผู้พิพากษาสั่งไม่ให้ผู้สังเกตการณ์คดีจดบันทึกรายละเอียดการไต่สวน โดยไม่ระบุเหตุผลและไม่ปรากฏว่าบันทึกในรายงานกระบวนการพิจารณาคดีเช่นกัน”

“ส่วนคดีของผู้ถูกกล่าวหาซึ่งมีอาชีพเป็นช่างตัดแว่นตาในจังหวัดเชียงราย ถูกดำเนินคดีด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในช่วงปี 2559 และมีการสืบพยานต่อเนื่องมาถึงปี 2561 ในนัดสืบพยานโจทก์นัดหนึ่ง ก่อนเริ่มการสืบพยาน ศาลมณฑลทหารบกที่ 37 มีคำสั่งกำชับว่า ห้ามเผยแพร่คำเบิกความของพยานในคดีนี้อีก โดยระบุว่าจะทำให้เกิดผลกระทบต่อการพิจารณาคดี เช่นกันคำสั่งนี้ไม่ถูกบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาคดี”

ล่าสุด เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ศาลทหารกรุงเทพมีหมายเรียกมายังนายอานนท์ นำภา ทนายความในเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่จำเลยรายหนึ่ง ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และยุยงปลุกปั่น (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116) จากการกดไลค์เพจในเฟซบุ๊ก และการเผยแพร่แผนผังการทุจริตในโครงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ เพื่อไต่สวนในความผิดละเมิดอำนาจศาล เนื่องจากอัยการศาลทหารกล่าวหาว่าทนายความนำคำเบิกความในนัดพิจารณาคดีนัดหนึ่งไปให้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยแพร่ แม้ว่าในการพิจารณาคดีดังกล่าวนั้น ศาลจะมิได้สั่งให้พิจารณาเป็นการลับก็ตาม ซึ่งขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ เนื่องจากทนายความเห็นว่า ภายหลังจากการไต่สวนแล้วศาลมีคำสั่ง “ให้แจ้งให้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนลบข่าวซึ่งแสดงรายละเอียดการเบิกความของพยานออกจากเว็บไซต์ภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่มีคำสั่ง” คำสั่งดังกล่าวถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการสั่งห้ามไม่ให้จดบันทึก หรือห้ามไม่ให้รายงานข่าวการพิจารณาในศาลทหาร ยังเกิดขึ้นในคดีลักษณะอื่น แม้ไม่ใช่ข้อหาที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ แต่หากล่อแหลมต่อความรู้สึกของคณะรัฐประหารก็ย่อมถูกห้ามได้ เช่น ในคดีที่เกิดจากการคัดค้านหรือแสดงออกว่าไม่ยอมรับอำนาจรัฐประหารโดยการไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช.ที่ 5/2557 ของศาสตราจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ในความผิดฐาน ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ศาลทหารกรุงเทพสั่งด้วยวาจาในระหว่างการพิจารณาว่าห้ามจดบันทึกการพิจารณาคดี หรือในคดีซึ่งจำเลยถูกดำเนินคดีด้วยข้อหายุยงปลุกปั่น และความผิดตามพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีโปรยใบปลิวที่มีเนื้อหาต่อต้านเผด็จการ เจ้าหน้าที่ศาลประจำมณฑลทหารบกที่ 14 จังหวัดชลบุรี สั่งห้ามผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์คดีนำสมุดบันทึกเข้าไปในห้องพิจารณาคดี ทั้งที่ตุลาการไม่ได้มีคำสั่งและไม่มีข้อกำหนดของศาล หรือคดีของกลุ่มนักกิจกรรมที่รวมตัวกันตรวจสอบการดำเนินการของ คสช. ในกรณีจัดซื้อจัดจ้างโครงการอุทยานราชภักดิ์ก็เช่นเดียวกัน

“ในคดีซึ่งมีบุคคลประมาณ 11 คน รวมตัวกันเพื่อเดินทางโดยรถไฟไปยังอุทยานราชภักดิ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ช่วงเดือนธันวาคม 2558 เพื่อตรวจสอบผลการก่อสร้างอุทยานดังกล่าวตามที่มีข่าวปรากฏมาว่า เกิดการทุจริตขึ้น ต่อมา ทั้งหมดถูกจับกุมระหว่างการเดินทางและถูกดำเนินคดีตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 โดยเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นการชุมนุม หรือมั่วสุมทางการเมืองโดยมิได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ได้รับมอบหมาย คดีนี้ศาลทหารกรุงเทพไม่ยอมรับบัญชีรายชื่อพยานของฝ่ายจำเลย ซึ่งอ้างชื่อนายทหารระดับสูงที่เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโครงการนี้ไว้ นอกจากนี้ ในนัดหนึ่งของการตรวจพยานหลักฐาน ผู้พิพากษาสั่งห้ามผู้สังเกตการณ์จดบันทึกการพิจารณา และเช่นเดิมคือ คำสั่งนั้นไม่ปรากฏอยู่ในรายงานกระบวนพิจารณาคดี”

เช่นเดียวกันกับคดีก่อการร้ายและความผิดอื่น อย่างคดีปาระเบิดใส่ศาลอาญารัชดา ช่วงปี 2558 ซึ่งเจ้าหน้าที่ศาลทหารกรุงเทพสั่งห้ามผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความฯ นำสมุดจดบันทึกเข้าไปในห้องพิจารณา หรือคดีระเบิดศาลพระพรหม บริเวณแยกราชประสงค์ก็เช่นเดียวกัน

“ระหว่างนัดสอบคำให้การของผู้ถูกกล่าวหาชาวอุยกูร์ นายบิลาล โมฮำเหม็ด (หรืออาเดม คาราดัก) หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเคยแถลงต่อศาลว่าถูกซ้อมทรมานในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ ขอให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แม้คดีนี้ยังคงเป็นที่สนใจของผู้สื่อข่าวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และศาลทหารกรุงเทพมิได้สั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ แต่มีนักข่าวสำนักหนึ่งได้ให้ข้อมูลว่า ก่อนเข้าไปในบริเวณศาล เจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งนักข่าวที่จะเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีว่า ห้ามนำสัมภาระใด ๆ เข้าไป จึงไม่สามารถจดบันทึกกระบวนการพิจารณาคดีในครั้งนั้นได้ โดยที่ผ่านมาแม้ว่าจะต้องวางกระเป๋าสัมภาระไว้หน้าห้องพิจารณา แต่ยังสามารถนำสมุดบันทึกเข้าไปในห้องพิจารณาคดีได้”

.

บทสรุป

จากตัวอย่างคดีทั้งหมดที่เกิดขึ้นและลักษณะการห้ามจด ห้ามเผยแพร่ และแม้แต่ห้ามนำสัมภาระหรือสมุดบันทึกเข้าไปในห้องพิจารณานั้น ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นถึงบทบาทและตัวตนของศาลทหารที่ถูกนำมาใช้อีกครั้งหลังความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นตลอดหลายปีทั้งก่อนและหลังการรัฐประหารในปี 2557 น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่ผลของการนำข้อยกเว้นในหลักสิทธิมนุษยชนสำคัญหลายประการมาใช้อ้างด้วยระบบคิดแบบทหาร กลับแผ่รากส่งต่อไปยังศาลยุติธรรมภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี ในหลายคดีซึ่งเกิดจากการใช้สิทธิเสรีภาพซึ่งเคยกระทำได้ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรมเองก็ออกคำสั่งพิจารณาคดีลับ ห้ามบุคคลภายนอกเข้าสังเกตการณ์ ห้ามเผยแพร่เนื้อหาและกระบวนการพิจารณาคดี รวมถึงการขอให้บุคคลซึ่งเข้าสังเกตการณ์อ่านรายละเอียดที่ได้จากการจดบันทึกระหว่างฟังการพิจารณาให้ศาลฟัง

แม้ศาลทหารจะสามารถอ้างข้อยกเว้นของหลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยในการสั่งห้ามบันทึก ห้ามเผยแพร่ หรือสั่งพิจารณาเป็นการลับได้ ทั้งด้วยเหตุตามมาตรา 44 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หรือความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งก็ตาม แต่รูปแบบของการสั่งห้ามที่มักกระทำโดยวาจา ไม่มีการบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาคดี และไม่มีการแสดงเหตุผลรับรองว่าเหตุใดจึงมีคำสั่งเช่นนั้น ย่อมไม่อาจกล่าวได้ว่า กระบวนการดังกล่าวสอดคล้องกับข้อยกเว้นของหลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย และไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ชอบด้วยหลักประชาธิปไตยที่ประชาชนสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจตุลาการของศาลทหารได้นั่นเอง

X