ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 สถานการณ์การดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะคดีจากช่วงปี 2563-64 ที่ทยอยถูกสั่งฟ้องขึ้นสู่ชั้นศาล ทำให้มีการสืบพยานและต่อสู้ในคดีอย่างต่อเนื่องในศาลต่างๆ ทั่วประเทศ
นอกจากปัญหาเรื่องสิทธิการประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างต่อสู้คดีที่มีอย่างต่อเนื่อง และผลคำสั่งหรือคำพิพากษาในแต่ละคดีที่ทำให้เกิดคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมแล้ว ใน “ระหว่างทาง“ ของการพิจารณาคดียังมีส่วนสำคัญ ที่ชี้ให้ถึงปัญหาต่อสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Fair Trial) อันเป็นสิทธิสำคัญในกระบวนการยุติธรรม ที่พลเมืองทุกคนที่ถูกกล่าวหาในคดีใดก็ตามควรได้รับ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพยายามติดตามสังเกตการณ์คดีบางส่วนที่กำลังต่อสู้ในชั้นศาล โดยนอกจากสถานการณ์ในรายคดี เนื้อหาการต่อสู้คดี และผลคำพิพากษาต่างๆ ที่ถูกนำเสนอแล้ว ยังพบปัญหาจากการสังเกตการณ์คดีหลายประการ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ทั้งการที่ศาลสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับในคดีมาตรา 112 การจำกัดผู้เข้าฟังการพิจารณา การสั่งห้ามการจดบันทึกในห้องพิจารณา ศาลสั่งตัดพยานหรือไม่ออกหมายเรียกเอกสารหลักฐานต่างๆ รวมถึงการไม่ให้คัดถ่ายพยานหลักฐานโจทก์ที่ฝ่ายจำเลยต้องเตรียมใช้ต่อสู้คดี จึงนำมาสรุปประมวลสถานการณ์ภาพรวมไว้ในที่นี่
.
.
คดี 112: สั่งพิจารณาลับแล้ว 3 คดี – จำกัดการเข้าฟังในคดีเยาวชน และบางคดีอ้างสถานการณ์โควิด
คดีมาตรา 112 ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 พบว่ามีคดีที่ศาลสั่งพิจารณาเป็นการลับอย่างเป็นทางการ อย่างน้อย 3 คดี โดยในการพิจารณาลับ จะอนุญาตให้เฉพาะคู่ความเข้าร่วมในการพิจารณา ไม่อนุญาตให้ญาติของจำเลย, ผู้สังเกตการณ์หรือบุคคลภายนอกเข้าฟังการพิจารณา
คดีแรก ได้แก่ คดีของศิระพัทธ์ กรณีถูกกล่าวหาว่าลักพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 พร้อมกรอบรูปไปจากหน้าหมู่บ้านประชาชื่น และนำกรอบรูปไปทิ้งคลอง ทำให้เขาถูกฟ้องในข้อหามาตรา 112, ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว และลักทรัพย์ในเวลากลางคืน โดยในนัดตรวจพยานหลักฐาน ศาลจังหวัดนนทบุรีได้สั่งให้คดีนี้มีการพิจารณาเป็นการลับตามคำร้องของพนักงานอัยการ โดยอ้างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 เพื่อประโยชน์แห่งความเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงให้มีการพิจารณาเป็นการลับ
อีกทั้ง เนื่องคดีของศิระพัทธ์ ถูกศาลสั่งให้พิจารณาคดีร่วมกับกรณีของกนกวรรณ ที่ถูกฟ้องในข้อหา “รับของโจร” จากเหตุที่เธอรับมอบและเก็บรักษาพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ดังกล่าวเอาไว้ ทำให้กรณีของกนกวรรณก็จะถูกพิจารณาเป็นการลับไปพร้อมกับคดีของศิระพัทธ์ด้วย
ส่วนคดีที่สองและสาม ได้แก่ คดีของ “บาส” มงคล นักกิจกรรมในจังหวัดเชียงราย กรณีถูกฟ้องใน 2 คดี จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กรวมกัน 27 ข้อความ โดยก่อนเริ่มการสืบพยานซึ่งศาลให้พิจารณาทั้ง 2 คดีร่วมกัน ศาลจังหวัดเชียงรายได้สั่งให้มีการพิจารณาเป็นการลับ โดยอ้างตามมาตรา 177 เช่นเดียวกัน ทำให้พ่อแม่ของจำเลย และผู้สังเกตการณ์ที่เดินทางมาร่วมรับฟังการพิจารณา ไม่สามารถเข้าฟังการพิจารณาได้
ขณะเดียวกัน ยังมีคดีมาตรา 112 ที่ตกค้างมาจากยุค คสช. ได้แก่ คดีของ “บุปผา” ผู้ป่วยจิตเวช โดยตั้งแต่คดีถูกโอนย้ายจากศาลทหาร มาที่ศาลจังหวัดพัทยา ศาลยังคงสั่งให้พิจารณาเป็นการลับเช่นเดิม แม้แต่ในนัดอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น รวมทั้งนัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในช่วงเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ศาลยังคงมีติดป้าย “พิจารณาคดีแบบลับ” เช่นเดิม ทำให้ญาติและผู้สังเกตการณ์ไม่สามารถเข้าฟังคำพิพากษาได้
นอกจากนั้น ยังมีคดีที่ศาลไม่ได้สั่งพิจารณาเป็นการลับ แต่เจ้าหน้าที่มีการพยายามจำกัดการเข้าฟังการพิจารณา โดยเฉพาะมีการอ้างมาตรการโควิด ได้แก่ คดีของมิ้นท์ นักกิจกรรมกลุ่มนาดสินปฏิวัติ ที่ศาลอาญาธนบุรีนัดไต่สวนคำร้องขอถอนประกันตัวของในคดีมาตรา 112 หรือคดีของ “เมนู” สุพิชฌาย์ ที่ศาลจังหวัดสงขลา ที่มีนักวิชาการซึ่งไปสังเกตการณ์คดีในนัดตรวจพยานหลักฐาน ไม่สามารถเข้าฟังการพิจารณาได้
รวมทั้งในส่วนของคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ได้แก่ คดีของ “สายน้ำ” ในข้อหามาตรา 112 ทั้งสองคดี ซึ่งศาลไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่สถานทูตหลายแห่งเข้าร่วมสังเกตการณ์คดี โดยอ้างเหตุการปกป้องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของจำเลยที่เป็นเยาวชน จึงอนุญาตให้เฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ปกครอง เข้าฟังเท่านั้น แม้เยาวชนที่เป็นจำเลยเองจะแถลงต่อศาลว่ายินยอมให้บุคคลอื่นๆ เข้าฟังได้ก็ตาม
>>> อ่านปัญหาการพิจารณาคดีลับเพิ่มเติม คดี 112 กับความยุติธรรมที่ปิดลับ
.
.
คดี 112: ศาลไม่ออกหมายเรียกพยานหลักฐาน–สั่งตัดพยาน
สถานการณ์ในคดีมาตรา 112 ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ที่กระทบต่อการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ของจำเลย คือ ศาลไม่อนุญาตให้ออกหมายเรียกพยานเอกสารตามที่ฝ่ายจำเลยร้องขอ หรือสั่งให้ตัดพยานบุคคลที่ฝ่ายจำเลยยื่นบัญชีพยานไว้ ไม่ให้นำมาสืบ
กรณีที่มีการต่อสู้ในประเด็นการออกหมายเรียกพยานเอกสารอย่างยืดเยื้อ ได้แก่ คดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร หลังฝ่ายจำเลยร้องขอศาลอาญาออกหมายเรียกเอกสารที่เกี่ยวข้องกับประเด็นในคดี ได้แก่ เอกสารคดีที่กระทรวงการคลังเคยฟ้องร้องรัชกาลที่ 7, เอกสารเกี่ยวกับงบประมาณของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และเอกสารการเดินทางของในหลวงรัชกาลที่ 10 แต่ศาลอาญาไม่ออกหมายเรียกให้ โดยระบุว่ายังไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องกับคดีหรือไม่ และให้สืบพยานไปก่อนเพื่อพิจารณาในภายหลัง แม้ทนายความและจำเลยยืนยันว่าจำเป็นต้องใช้ในการถามค้านพยานฝ่ายโจทก์ก็ตาม หลังการเลื่อนคดีหลายนัด ในที่สุดศาลได้ออกหมายเรียกเอกสารให้เฉพาะเอกสารในคดีฟ้องรัชกาลที่ 7 แต่ยังคงไม่ออกหมายเรียกเอกสารอื่นๆ ให้
ในคดี 112 ของนรินทร์ กรณีติดสติกเกอร์ “กูKult” ระหว่างสืบพยาน ศาลอาญาได้สั่งตัดพยานความเห็นทั้งของฝ่ายโจทก์และจำเลยออกทั้งหมด ทำให้ทางฝ่ายจำเลยไม่ประสงค์เข้าเบิกความ เพราะเห็นว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดีในครั้งนี้ เนื่องจากถูกศาลสั่งตัดพยานนักวิชาการจนหมด อีกทั้ง คดีนี้ศาลยังกำหนดนัดฟังคำพิพากษาภายใน 3 วัน หลังนัดสืบพยาน ซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็ว และผิดปกติจากคดีอื่นๆ
เช่นเดียวกับคดี “บีม” และ “เพชร” เยาวชนที่ถูกกล่าวหากรณีร่วมกิจกรรม #แต่งครอปท็อปเดินห้างสยามพารากอน ศาลเยาวชนฯ ก็ไม่ให้นับสืบพยานผู้เชี่ยวชาญนักวิชาการและนักกฎหมาย ทั้งของฝ่ายโจทก์และจำเลย โดยอ้างว่าเนื่องจากศาลจะวินิจฉัยตามข้อกฎหมายเอง
นอกจากนั้น การตัดพยานลักษณะเดียวกัน ยังเกิดขึ้นในนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีมาตรา 112 โดยเฉพาะเมื่อมีความประสงค์จะนำสืบเนื้อหาเกี่ยวกับปัญหาเรื่องพระราชอำนาจ พระจริยวัตร หรือบทบาททางเศรษฐกิจการเมืองของสถาบันกษัตริย์ ศาลก็จะไม่ให้นำสืบพยานในประเด็นเหล่านี้ เช่น ในคดีของอานนท์ นำภา กรณีปราศรัยม็อบแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ 2 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้, คดีของ “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล กรณีปราศรัย #ม็อบ24มีนา64 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ หรือคดีของ “ฮ่องเต้” ธนาธร วิทยเบญจางค์ ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งคดีเหล่านี้ศาลได้สั่งตัดพยานจำเลย โดยอ้างว่าไม่เกี่ยวกับประเด็นในคดี
ในคดีปราศรัยระหว่างกิจกรรมแห่ขันหมากที่หน้า สน.บางเขน เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2563 ที่มีอานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์ และชินวัตร จันทร์กระจ่าง เป็นจำเลย คดีนี้ในนัดตรวจพยานหลักฐาน ศาลอาญาได้สั่งตัดพยานจำเลยจำนวน 14 ปาก จะมาเบิกความเกี่ยวกับการใช้พระราชอำนาจและการโอนหุ้น โดยมีการบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาระบุว่า พยานกลุ่มดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันกษัตริย์ที่จะเปิดเผยไม่ได้ ทั้งความผิดตามฟ้องไม่มีบทกฎหมายเป็นข้อยกเว้นเพื่อพิสูจน์ความจริงหรือความไม่สุจริต และไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีโดยตรง
สถานการณ์การพิจารณาคดีเช่นนี้ ทำให้ผู้ถูกฟ้องในคดีมาตรา 112 เผชิญกับข้อจำกัดอย่างมากในการต่อสู้คดี ทำให้ไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะคดีที่มีเนื้อหาการปราศรัยอันเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ อันนำไปสู่ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของประชาชนจำนวนมากในสังคมไทย ก็ไม่สามารถถูกสะท้อนปัญหาเหล่านี้ขึ้นมาในการนำสืบพยานได้
.
.
ศาลไม่ให้คัดถ่ายพยานหลักฐานโจทก์–รายงานกระบวนพิจารณา ทั้งที่เป็นสิทธิจำเลย
ขณะเดียวกัน ยังมีสถานการณ์การพิจารณาคดีที่กระทบสิทธิในการต่อสู้คดีของจำเลยอีกประการหนึ่ง คือกรณีที่ศาลไม่อนุญาตให้ฝ่ายจำเลยคัดพยานหลักฐานของโจทก์ หรือคัดถ่ายรายงานกระบวนพิจารณาคดี โดยพบกรณีลักษณะนี้อย่างน้อย 3 คดี ในช่วงครึ่งปีแรก
ในคดีชุมนุม #ม็อบซ้อมต้านรัฐประหาร หรือ #27พฤศจิกาไปห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2563 พบว่าก่อนนัดสืบพยาน ทนายได้ยื่นคำร้องขอให้เปิดพยานวัตถุ ได้แก่ แผ่นซีดี และแฟลชไดรฟ์ ซึ่งฝ่ายอัยการโจทก์ยื่นเข้ามาในสำนวน เพื่อเตรียมใช้ศึกษาในการต่อสู้คดี แต่ศาลกลับมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เปิดพยานวัตถุดังกล่าว โดยอ้างว่าหากมีการเปิดดูวัตถุพยานดังกล่าว โดยมิได้มีการสืบพยาน ย่อมทำให้โจทก์เสียเปรียบในการต่อสู้คดี
คำสั่งดังกล่าวทั้งขัดต่อหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม และขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 8 (4) ที่ระบุว่าจำเลยมีสิทธิตรวจดูสิ่งที่ยื่นเป็นพยานหลักฐาน และ คัดสำเนา หรือ ถ่ายรูป สิ่งนั้นๆ ได้
ส่วนในคดีของ 3 แกนนำเยาวชนนักเรียนเลว-นักเรียนไท ที่ถูกฟ้องจากการชุมนุม 15 ต.ค. 2563 ทางศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเอง ก็มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฝ่ายจำเลยคัดถ่ายเอกสารพยานหลักฐานที่โจทก์นำส่งศาล โดยให้เหตุผลว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173/2 ระบุให้คู่ความตรวจดูเอกสาร ไม่ได้ระบุให้คู่ความคัดถ่ายเอกสาร แต่หลังจากที่ปรึกษากฎหมายของฝ่ายจำเลยได้ชี้แจงต่อศาลและเตรียมจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ศาลได้เปลี่ยนคำสั่งให้สามารถคัดถ่ายได้ในที่สุด
และในคดีมาตรา 112 ของธีรวัช ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ พบว่าศาลไม่อนุญาตให้ทนายความคัดถ่ายรายงานกระบวนการพิจารณาคดี แต่ศาลไม่อนุญาต โดยระบุเพียงว่าไม่มีนโยบายให้คัด และแม้จะยื่นคำร้องทางระบบออนไลน์ ระบบก็ระบุว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาเป็นเดือนๆ ทำให้ไม่สามารถคัดถ่ายรายงานการพิจารณาคดีได้
.
.
ห้ามผู้สังเกตการณ์จดบันทึกระหว่างพิจารณา 11 คดี
ปัญหาการที่ศาลสั่งห้ามผู้สังเกตการณ์คดี หรือบุคคลภายนอกที่เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี จดบันทึกในห้องพิจารณายังเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นระยะ แม้จะไม่ได้มีข้อกฎหมายหรือข้อกำหนดของศาลใดๆ ในการห้ามจดบันทึกอย่างเป็นทางการ โดยปกติจะพบแต่เพียงข้อห้ามในการบันทึกภาพและเสียงในการพิจารณาคดีเท่านั้น และการจดบันทึกก็ไม่น่าจะถูกตีความว่าเป็นการทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือกระทบต่อการพิจารณาคดีได้
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 มีคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองที่มีรายงานว่า ศาลห้ามผู้สังเกตการณ์คดีจดบันทึกจำนวน 11 คดี แยกเป็นคดีข้อหาหลักตามมาตรา 112 จำนวน 7 คดี คดีข้อหาหลักตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวน 2 คดี คดีข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และ พ.ร.บ.ธง อย่างละ 1 คดี
สำหรับรูปแบบการห้าม ส่วนใหญ่เป็นการเอ่ยปากเปล่าของศาลผู้พิจารณาคดี โดยไม่ได้มีการระบุการห้ามไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ยกเว้นในคดีของ “สายน้ำ” ในศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ที่ศาลมีการสั่งห้ามบันทึกและเผยแพร่ ภาพและเสียง หรือข้อความ ในห้องพิจารณาอย่างเป็นทางการ โดยการออกเป็นข้อกำหนดในการพิจารณา
ขณะที่ในหลายคดี ผู้พิพากษามีการทักผู้สังเกตการณ์เรื่องการจดบันทึกในระหว่างที่การสืบพยานดำเนินไประยะหนึ่งแล้ว หรือผ่านไป 1-2 วันแล้ว พร้อม “สั่งปากเปล่า” ห้ามไม่ให้มีการจดบันทึก โดยบางคดีไม่ได้มีการระบุเหตุผลที่ชัดเจน บางคดีระบุว่าต้องมีการขออนุญาตก่อน หรือให้ฝ่ายจำเลยไปขอคัดคำเบิกความที่ศาลจดบันทึกเองอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องจดบันทึก ขณะที่บางคดีก็อ้างเรื่องการนำไปเผยแพร่แล้วจะมีความคลาดเคลื่อน จึงไม่ให้จดบันทึก ขณะที่มีคดีหนึ่งที่ผู้ห้ามจดบันทึกเป็นเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์หรือตำรวจศาลที่เข้ามาสั่งห้าม ไม่ใช่ผู้พิพากษาแต่อย่างใด
คดีที่มีการห้ามจดบันทึก ได้แก่ คดี 112 ของนรินทร์ กรณีติดสติกเกอร์ “กูKult” ที่ศาลอาญา, คดี 112 ของสมบัติ ทองย้อย ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้, คดี 112 ของมีชัย ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ, คดี 112 ของทิวากร ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น, คดี 112 ของอุดม ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส, คดีของ 3 นักศึกษาถือป้าย ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่, คดีชักธงปฏิรูปกษัตริย์ ที่ศาลแขวงขอนแก่น, คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุม #อีสานสิบ่ทน ที่ศาลจังหวัดมหาสารคาม, คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุม #ม็อบ15เมษา64 ที่ศาลแขวงดุสิต และคดีตั้งโต๊ะปิดสวิตซ์ ส.ว. ที่ศาลแขวงเชียงราย
สถานการณ์การห้ามจดบันทึก โดยที่ไม่ได้มีกฎหมายหรือข้อกำหนดที่ชัดเจนในการสั่งห้ามของศาล ส่งผลกระทบการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยและโปร่งใส การเปิดให้สาธารณชนเข้าถึงการพิจารณาคดีของศาล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม
>>> ย้อนดูสถานการณ์การห้ามจดบันทึกในศาลทหารช่วง คสช. ห้ามจด ห้ามเผยแพร่: การกระทำที่ขัดหลักการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและขัดหลักประชาธิปไตยของศาลทหาร
>>> ดูรายงานโดย iLaw ศาลอังกฤษและสหรัฐฯ เน้นย้ำถึงสิทธิในการจดบันทึกในห้องพิจารณาคดี
.