ฟ้อง 112 อีกคดี กล่าวหา ‘อานนท์-เพนกวิน-ไบรท์’ ปราศรัยหน้า สน.บางเขน บิดเบือนเจตนารมณ์ รธน.60

14 ธ.ค. 2564 พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 มีความเห็นสั่งฟ้อง อานนท์ นำภา, ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ ‘ไบรท์’ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง ในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมอีก 5 ข้อหา จากเหตุที่ทั้งสามได้ขึ้นปราศรัยหน้า สน.บางเขน เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2563 ขณะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาคดี 112 กรณีการปราศรัยใน #ม็อบ29พฤศจิกา ที่หน้ากรมทหารราบที่ 11 

คดีนี้ทั้งพริษฐ์และอานนท์ ถูกตำรวจเข้าแจ้งข้อกล่าวหาขณะถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อเดือนเมษายน 2564 ก่อนจะถูกฟ้องต่อศาลอาญาขณะที่ถูกคุมขังอีกครั้ง ส่วนชินวัตรซึ่งเดินทางไปฟังคำสั่งอัยการในวันดังกล่าว อัยการได้ส่งตัวให้ศาลพร้อมยื่นฟ้อง 


อัยการบรรยายฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2563 จําเลยทั้งสามกับพวกที่แยกดําเนินคดีต่างหาก ได้ร่วมกันกระทําความผิดหลายกรรมต่างกัน ดังนี้

1. ขณะที่จําเลยทั้งสามกับพวกเดินทางมาที่ สน.บางเขน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา กรณีการร่วมชุมนุมที่หน้ากรมทหารราบที่ 11 จําเลยทั้งสามกับพวกได้ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมสาธารณะขึ้นบริเวณหน้า สน.บางเขน และกล่าวปราศรัยคัดค้านการทํางานของรัฐบาล กับแสดงความคิดเห็นให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้กํากับการ สน.บางเขน ก่อนเริ่มการชุมนุม

2. จําเลยทั้งสามกับพวกซึ่งเป็นแกนนำจัดการชุมนุม ไม่ได้จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เชื้อโควิด-19 แพร่ออกไป อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศกรุงเทพมหานคร, คำสั่งผู้ว่าฯ และประกาศเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ

3. จําเลยทั้งสามกับพวกดังกล่าว ในฐานะผู้จัดการชุมนุมและผู้เข้าร่วมชุมนุมอีกประมาณ 150 คน ได้ร่วมกันชุมนุมสาธารณะหน้า สน.บางเขน โดยมีการกางเต็นท์ ตั้งขบวนแห่ ดัดแปลงรถซาเล้งให้เป็นเวทีปราศรัย อันเป็นการกีดขวางทางเข้าออกหน่วยงานของรัฐและรบกวนการใช้บริการสถานที่ในการติดต่อราชการของประชาชน 

4. จําเลยทั้งสามกับพวกได้ร่วมกันปราศรัยโดยการใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาต

5. รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 1 บัญญัติว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้” มาตรา 2 บัญญัติว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และมาตรา 3 บัญญัติว่า “อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล” 

จําเลยที่ 1 (อานนท์) กล่าวปราศรัยบนเวทีตอนหนึ่งว่า 

“…ทําไมเราต้องมาเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เพราะว่าเรายังเห็น ณ วันนี้ว่าบ้านเมืองเรามันเป็นประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุขยังทําได้ เราจึงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์พระมหากษัตริย์ก็คือรัชกาลที่ 10 นี่แหละ เรากําลังชี้ข้อบกพร่องของท่านเพื่อให้ท่านปรับปรุงตัว ไม่ได้มีเหตุผลประการอื่นเลย อย่าให้คนต่างประเทศหรือคนไทยด้วยกันมาชี้หน้าด่าท่านได้ เป็นกษัตริย์เพียงเพราะพ่อท่านเป็นกษัตริย์มาก่อน อย่าให้เขามาชี้หน้าด่าท่าน เพราะว่าท่านผมก็เจ็บเหมือนกันเพราะผมเป็นคนไทย 


นอกจากหลักธรรมของกษัตริย์แล้ว การละเมิดต่อกฎหมายที่เราคิดว่าท่านทําผิดท่านต้องปรับปรุงตัว การเอากองกําลังทหารเป็นของตัวเองอันนี้คือเรื่องผิด และการเอาทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณะไปเป็นของตนอันนี้ก็ขัดหลักการเต็มๆ พูดแล้วรับผิดชอบตัวเองใครจะแจ้งจับไปแจ้งเลย เพราะท่านโอนหุ้นซึ่งเป็นของหลวงไปเป็นของตัวเอง วันนี้ท่านอาจจะยังไม่โอนวัง โอนวัดพระแก้ว โอนสิ่งต่างๆ ไปให้คนอื่น แต่กฎหมายที่เปิดช่องอย่างนี้ นี่คือประเด็นที่เราบอกว่า พระราชบัญญัติจัดการทรัพย์สินมันมีปัญหา เพราะท่านโอนไปให้คนอื่นหมดกษัตริย์องค์ต่อไปจะเอาวังที่ไหนอยู่ จะมีราชบัลลังก์อยู่ได้ยังไง จะมีส่วนเกี่ยวกับประชาชนได้ยังไง ไม่มี เขาไม่เรียกกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย เขาจะเรียกกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือกษัตริย์ในระบอบเผด็จการนั่นเอง…” 

จําเลยที่ 2 (พริษฐ์) กล่าวปราศรัยบนเวทีตอนหนึ่งว่า 

“…เมื่อปีที่แล้วได้มีเหตุฉ้อฉลอย่างนึง ซึ่งเป็นหลักฐานว่าสถาบันกษัตริย์และรัฐบาลพลเอกประยุทธ์เขาสมประโยชน์กัน นั่นคือการโอนกําลังพลราบ 11 รักษาพระองค์ และราบ 1 รักษาพระองค์ เข้าไปอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของพระวชิระเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัฐบาลประชาธิปไตยที่เขาก็มีกษัตริย์ เช่น รัฐบาลอังกฤษ รัฐบาลสเปน ที่ไหนก็มีทหารรักษาพระองค์ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ทหารรักษาพระองค์นั้นเขาไม่ได้ให้กษัตริย์ 

มาบังคับบัญชาด้วยตนเอง เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะดูแลความปลอดภัยให้กับองค์พระมหากษัตริย์ กษัตริย์เป็นจอมทัพแต่กษัตริย์ไม่ได้มีหน้าที่ไปบังคับบัญชาทหารโดยตรง 

ปีที่แล้วมีการออกกฎหมายใหม่ว่า ต่อไปนี้กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ สังกัดขึ้นอยู่กับพระมหากษัตริย์โดยตรง ภายใต้หน่วยงานบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่ากษัตริย์มีกองทัพส่วนตัว ถามว่ากษัตริย์มีหน้าที่แค่เซ็นกฎหมายแล้วจะเอากองทัพไปบังคับบัญชาทําไม …” 

“…หรือว่าในนี้ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเข่นฆ่าประชาชนใช่หรือไม่ ในเมื่อหน่วยงานที่ จักรภพ ภูริเดช สังกัดอยู่นั้นได้กลายเป็นหน่วยงานใต้บังคับบัญชาขององค์พระมหากษัตริย์โดยตรง ตามหลักการแล้วลูกน้องทําผิด หัวหน้าต้องรับผิดชอบ ถ้าจักรภพไปทําผิด ถ้าจักรภพไปอุ้มสุรชัยจริง ถ้าจักรภพไปอุ้มวันเฉลิมจริง ขอถามว่าแล้วผู้บังคับบัญชาโดยตรงก็คือพระบาทสมเด็จ จะต้องรับผิดชอบเป็นฆาตกรร่วมกันกับจักรภพ ใช่หรือไม่…” 

“…นั่นแหละคือสิ่งที่ผมเห็นการที่สถาบันกษัตริย์จะแยกกองกําลังส่วนตัวก็ไม่ต่างอะไรกับฮิตเลอร์ ที่มีกองกําลังเป็นของตัวเองมาถึงฆ่าประชาชน…” 

จําเลยที่ 3 (ชินวัตร) กล่าวปราศรัยบนเวทีตอนหนึ่งว่า 

“มันจะไปผิดตรงไหนเพราะเราพูดความเป็นจริง ถ้าวันนี้ในส่วนของสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในที่ที่ถูกต้อง ไม่ลงมายุ่งกับการเมืองมันจะไม่เกิดการพูดถึงท่าน…” 

“…ผมก็พูดอธิบายให้พี่น้องได้ฟังว่าเมื่อก่อนโน้น ธุรกิจทุกอย่าง มรดกทุกอย่างของพระมหากษัตริย์จะไปอยู่ส่วนกลาง สํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถูกต้องไหมครับ ตอนนี้พอมีการเปลี่ยนผ่านรัชกาลที่ 10 ปุ๊บ เปลี่ยนกฎหมายเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ แล้วมันจริงไหมละครับพี่น้อง” 

อัยการระบุว่า ข้อความที่จําเลยทั้งสามกล่าวปราศรัยนั้น มิใช่การกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต โดยจําเลยทั้งสามมีเจตนาบิดเบือนใส่ร้ายรัชกาลที่ 10 และบิดเบือนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 อันเป็นการยุยงปลุกปั่นประชาชน ก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถึงขนาดที่จะไปชุมนุมกดดันรัฐบาลและรัฐสภา และขู่เข็ญหรือบังคับให้พระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้ประชาชน อันจะก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร และทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้

และเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามตามที่บรรยายฟ้องเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 8, 10, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34, 35 และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4

หลังศาลรับฟ้อง ทนายความได้ยื่นประกันตัวชินวัตรระหว่างพิจารณาคดี ด้วยหลักทรัพย์จำนวน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ก่อนศาลอนุญาตให้ประกัน โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามทำผิดซ้ำ ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และห้ามเดินทางออกนอกประเทศ พร้อมทั้งนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 14 ก.พ. 2565 เวลา 09.00 น.

สำหรับการจัดกิจกรรมหน้า สน.บางเขน มีขึ้นเพื่อให้กำลังใจนักกิจกรรม 8 ราย ที่เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ในวันที่ 21 ธ.ค. 2563 โดยผู้ที่ขึ้นปราศรัยซึ่งมีทั้งผู้ที่ถูกดำเนินคดีและนักกิจกรรมที่มาให้กำลังใจเพื่อน ได้กล่าวถึงความไม่เป็นธรรมของมาตรา 112 และการถูกดำเนินคดี รวมทั้งความจำเป็นที่จะต้องยกเลิกกฎหมายดังกล่าว และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ รวมทั้งมีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112

ภายหลังกิจกรรม พ.ต.ท.อนันต์ วรสาตร์ รองผู้กำกับสืบสวน สน.บางเขน ได้แจ้งความให้ดำเนินคดีนักกิจกรรมรวม 7 ราย ได้แก่ อานนท์ นำภา, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, “ฟ้า” พรหมศร วีระธรรมจารี, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, วรรณวลี ธรรมสัตยา และพิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ โดย 3 ราย ถูกดำเนินคดี 112 อีกคดี ส่วนอีก 4 ราย ถูกดำเนินคดีเฉพาะข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม 

อ่านข้อมูลคดี 

คดี 112 “อานนท์-พริษฐ์-ชินวัตร” ปราศรัยประเด็น “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” หน้า สน.บางเขน

X