เปิดบันทึกสืบพยานคดี 112 “สมบัติ ทองย้อย” โพสต์ #กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ ก่อนศาลพิพากษาพรุ่งนี้

ในวันที่ 28 เม.ย. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ สมบัติ ทองย้อย อดีตการ์ดเสื้อแดงและการ์ดของผู้ชุมนุมคณะราษฎร ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กรณีโพสต์ข้อความ 3 ข้อความในเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 30 ต.ค. และ 2 พ.ย. 2563 

ทั้งนี้ สมบัติถูกอัยการฟ้องรวมเป็นสองกรรม ได้แก่ กรรมแรก จากข้อความ “#เก่งมาก #กล้ามาก #ขอบใจนะ” โพสต์เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2563 ซึ่งเป็นข้อความที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ตรัสกับประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จ 

และกรรมที่สอง จากข้อความว่า “เขาให้ลดงบประมาณที่เอาไปใช้จ่าย ไม่ใช่ลดตัวลงมาใกล้ชิดประชาชน เข้าใจอะไรผิดไหม เรื่องการลดตัวลงมาแนบสนิทชิดใกล้ประชาชนแบบที่เห็น แสดงให้เห็นว่ารู้ตัวสินะว่าคนเขาไม่เอาเลยต้องลงมาทําขนาดนี้ ถ้าจริงใจต้องทํามานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาทําเพื่อเรียกคะแนนนิยมกลับคืนมา แต่น่าจะช้าไปแล้วจริง ๆ ละครหลังข่าวชัด ๆ” และข้อความว่า “มีแจกลายเซ็นต์ด้วย เซเลปชัด ๆ” ซึ่งทั้งสองข้อความโพสต์ในวันที่ 2 พ.ย. 2563 

คดีนี้ มีการสืบพยานไปเมื่อวันที่ 8-11 และ 16 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา

>> อ่านฐานข้อมูล คดี 112 สมบัติ ทองย้อย ถูกกล่าวหาโพสต์ 3 ข้อความ ล้อเลียน-ใส่ความ ร.10

.

ภาพรวมสืบพยาน: ศาลแจงผู้สังเกตการณ์ การจดบันทึก-เพยแพร่กระบวนพิจารณาต้องขออนุญาต ด้านจำเลยเปิดข้อต่อสู้ ยืนยันข้อความเพียงแต่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของนายกฯ 

เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณา 502 ศาลมีการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย โดยอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์คดี iLaw และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยนชน รวมถึงประชาชนคนทั่วไปที่สนใจ สามารถเข้าไปร่วมรับฟังกระบวนการสืบพยานได้

การสืบพยานในวันแรก เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2565 ผู้รับมอบอำนาจจากทนายความได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนวันนัดสืบพยานในคดีนี้ออกไป สืบเนื่องจากทนายจำเลยได้สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยทนายจำเลยมีอาการไอและปวดศีรษะ จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อโควิด-19 และจำเป็นต้องกักตัว 

อย่างไรก็ตาม ศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาคดีออกไป เนื่องจากเห็นว่าทนายจำเลยกล่าวอ้างเลื่อนลอย ไม่มีหลักฐานว่าติดเชื้อโควิด-19 อย่างชัดเจน พร้อมกันนี้พยานโจทก์ได้เดินทางมาพร้อมสืบแล้ว รวมถึงจะต้องสืบพยานติดต่อกัน 6 วัน โดยศาลมีการขอเรียกพยานหลายปากมาในแต่ละวัน เพื่อไม่ให้กระบวนพิจารณาคดีต้องล่าช้า โดยให้ฝ่ายโจทก์นำพยานที่มาศาลเบิกความและตอบคำซักถามของโจทก์ไปก่อน ศาลจะไม่ตัดสิทธิทนายความในการถามค้าน การสืบพยานโจทก์ในวันแรกจึงดำเนินไปต่อหน้าต่อตาจำเลย โดยที่ไม่มีทนายจำเลยเข้าร่วมกระบวนการ

ต่อมา การสืบพยานในนัดถัดไป เนื่องจากทนายจำเลยที่สมบัติแต่งตั้งไว้ มีประวัติใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 จึงไม่สามารถมาศาลได้ จึงมีการแต่งตั้งทนายความคนใหม่ พร้อมกันนี้จำเลยได้ยื่นคำร้องขอคัดค้านกระบวนพิจารณาที่เกิดขึ้นในวันที่ 8 มี.ค. 2565 ซึ่งจำเลยไม่มีทนายความอยู่ร่วมในกระบวนพิจารณาด้วย เกี่ยวกับประเด็นนี้ ศาลชี้แจงว่า หากประสงค์จะยื่นคัดค้านกระบวนพิจารณาก็สามารถทำได้ แต่ศาลวินิจฉัยแล้วเห็นว่ากระบวนพิจารณาที่เกิดขึ้นชอบแล้ว เพราะไม่ใช่ว่าจำเลยไม่มีทนายความ แต่ทนายความไม่มาปฎิบัติหน้าที่ และศาลก็ไม่ได้ตัดสิทธิในการซักค้านของฝ่ายจำเลย

นอกจากนี้ ศาลได้เรียกผู้สังเกตการณ์ iLaw มาตักเตือนว่า หากจะเผยแพร่กระบวนการพิจารณาต้องขออนุญาตศาลและให้ศาลตรวจดูก่อน สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 8 มี.ค.2565 ทาง iLaw ได้เผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาดังกล่าวบนเฟซบุ๊ก โดยมีการใช้คำทำนองว่า “สืบพยานโดยไม่มีทนายความ” ซึ่งศาลระบุว่าเป็นการเขียนข่าวที่คลาดเคลื่อน มีการชี้นำให้คนอ่านเข้าใจผิด ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้ว ศาลไม่ได้ให้สืบพยานโดยไม่มีทนายความ เพียงแต่ทนายไม่มาเข้าร่วมกระบวนการ พร้อมกันนี้ศาลแสดงความกังวลว่าหากเผยแพร่ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนอาจส่งผลเสียต่อการพิจารณาคดีได้  

ต่อมา ศาลได้ขอให้ทาง iLaw ลบข่าวดังกล่าวออก หากไม่ลบจะไม่อนุญาตให้การเข้าฟังการพิจารณาคดี โดยผู้สังเกตการณ์ iLaw ได้ออกจากห้องพิจารณาไปโทรศัพท์ปรึกษากับทีมงานครู่หนึ่ง แล้วเข้ามาแถลงว่าได้มีการลบโพสต์ดังกล่าวออกแล้ว ศาลจึงอนุญาตให้เข้าสังเกตการณ์ต่อไปได้ 

ทั้งนี้ก่อนเริ่มสืบพยาน อัยการโจทก์แถลงจะนำพยานเข้าเบิกความจำนวน 7 ปาก ประกอบด้วย ศรายุทธ สังวาลย์ทอง ผู้กล่าวหา, เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการกฎหมาย,  ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ และ ภูกาญจน์ บุญชูกาญจน์ ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นข้อความ, พ.ต.ท.เกรียงไกร ใจสุทธิ์ เจ้าหน้าที่สืบหาข่าวเกี่ยวกับผู้ชุมุนม, พ.ต.ท.ประจำ หนุนนาค และ พ.ต.ท.อดิศร แก้วโหมดตาด พนักงานสอบสวนในคดีนี้ 

ส่วนฝ่ายจำเลย นำพยานขึ้นเบิกความ 3 ปาก คือ ตัวจำเลยเอง, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw และพิมพ์สิริ เพรชน้ำรอบ เจ้าหน้าที่ฝ่ายประเทศไทยของ ARTICLE 19

เกี่ยวกับประเด็นข้อต่อสู้ อัยการโจทก์จะนำสืบว่า แม้ข้อความทั้งสามของจำเลยไม่ได้มีการระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่าพาดพิงถึงบุคคลใด แต่มีนัยสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งถือเป็นการล้อเลียน ดูหมิ่น หรือด้อยค่าพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทําให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ 

ขณะที่ข้อต่อสู้ของจำเลยคือ ข้อความดังกล่าวตนเพียงสื่อถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเท่านั้น และการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลนั้น เป็นสิ่งที่สามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย 

.

(แฟ้มภาพ สมบัติเข้ารับทราบข้อกลา่วหามาตรา 112 ที่สน.ทุ่งมหาเมฆ วันที่ 15 ธ.ค. 63)

.

พยานโจทก์ปากที่ 1 ศรายุทธ สังวาลย์ทอง ผู้กล่าวหา 

ศรายุทธ สังวาลย์ทอง ผู้กล่าวหาในคดีนี้เบิกความว่า เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2563 เวลาประมาณช่วงเย็น ขณะที่กำลังนั่งรับประทานก๋วยเตี๋ยวในร้านอาหาร พยานได้เปิดเฟซบุ๊กของตนเองและเข้าไปดูบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “สมบัติ ทองย้อย” ซึ่งมีการตั้งค่าเป็นสาธารณะ โดยสาเหตุที่เข้าไปดูบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว เพราะพยานต้องการทราบการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฏร และเท่าที่พยานทราบ จำเลยเป็นผู้ที่ดูแลความเรียบร้อยเวลามีการชุมนุม จำเลยจะมีทีมการ์ด พร้อมวิทยุสื่อสาร นอกจากนี้ เวลาชุมนุมจำเลยจะถ่ายทอดไลฟ์สดภาพตนเอง รวมถึงแจ้งวันเวลา สถานที่ชุมนุม และความคิดเห็นส่วนตัวลงเฟซบุ๊ก 

เมื่อไล่ตรวจข้อความไปเรื่อยๆ พยานจึงเห็นข้อความของจำเลยที่โพสต์ว่า “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ” เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2563 และอีกสองข้อความ ที่โพสต์ต่อเนื่องกันในวันที่ 2 พ.ย. 2563 หลังพยานได้อ่านข้อความทั้งสามแล้ว เข้าใจว่าจำเลยสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี 

อัยการถามศรายุทธว่า ทำไมถึงเข้าใจว่า 3 ข้อความดังกล่าวสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 ศรายุทธเบิกความว่า ข้อความแรกเป็นวลีที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ตรัสกับ นายฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ ที่ไปชูรูปในหลวงที่หน้าห้างเซ็นทรัลปิ่นเกล้า ระหว่างการชุมนุมคณะราษฏร โดยเหตุการณ์นี้ได้เผยแพร่ทั้งในสื่อกระแสหลักทีวีและโลกออนไลน์ 

ต่อมา ข้อความที่สอง “เขาให้ลดงบประมาณที่เอาไปใช้จ่าย ไม่ใช่ลดตัวลงมาใกล้ชิดประชาชน เข้าใจอะไรผิดไหม” ที่เข้าใจว่ากล่าวถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี เพราะการต่อสู้ของกลุ่มคณะราษฎร มีการปราศรัยให้ลดงบประมาณสถาบันกษัตริย์ และประโยคที่ว่า “ถ้าจริงใจต้องทำนานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาทำ” ข้อความนี้เป็นการด้อยค่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ว่าเสแสร้ง ไม่จริงใจกับประชาชน เป็นการเสแสร้งให้ประชาชนยอมรับ

ส่วนข้อความสุดท้าย “มีแจกลายเซ็นต์ด้วย เซเลปชัดๆ” พยานทราบว่าสื่อถึงรัชกาลที่ 10 เพราะว่า เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2563 ซึ่งตรงกับวันปิยมหาราช ประชาชนได้ไปรับเสด็จที่พระบรมมหารราชวังและลานพระบรมรูปทรงม้า โดยปกติประชาชนทั่วไปจะไม่สามารถเข้าถึงพระองค์ได้ แต่ในวันที่รับเสด็จดังกล่าว ในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินีได้นั่งรถกอล์ฟพบปะประชาชน รวมถึงอนุญาตให้ประชาชนถ่ายรูปคู่เซลฟี่ และมีการลงลายพระหัตถ์บนพระบรมฉายาลักษณ์ให้กับประชาชนที่มารับเสด็จ

ภายหลังจากที่อ่านข้อความทั้งหมดของจำเลยแล้ว ศรายุทธเบิกความว่าตนรู้สึกไม่สบายใจ เพราะข้อความดังกล่าวเป็นการด้อยค่าและดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ พยานจึงได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลย ที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2563

ทั้งนี้ ศรายุทธเบิกความว่า ตนไม่ได้รู้จักสมบัติเป็นการส่วนตัว อย่างไรก็ตาม ศรายุทธเคยเห็นสมบัติมาก่อน ที่บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ ถนนราชดำเนิน ตอนนั้นมีการชุมนุมกลุ่มราษฎรประมาณวันที่ 13 ต.ค. 2563 พยานเห็นว่าสมบัติทำกำลังทำหน้าที่เป็นการ์ดดูแลผู้ชุมนุม พยานจึงได้บันทึกวิดีโอการชุมนุมดังกล่าวเอาไว้ สาเหตุที่ไปสถานที่ชุมนุม เพราะพยานอยากทราบว่าการชุมนุมเป็นอย่างไร รวมถึงพยานอาศัยอยู่แถวนั้นพอดี  โดยพยานยืนยันว่าไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย

ช่วงตอบทนายจำเลยถามค้าน ศรายุทธเบิกความโดยสรุปได้ว่า พยานไม่ได้เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม ศปปส. แต่อย่างใด เพียงแต่เคยไปร่วมการชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. และพยานทราบว่าสมบัติเคยเป็นการ์ดกลุ่ม นปช. มาก่อน ซึ่งทั้งสองกลุ่มมีความคิดเห็นทางการเมืองที่ไม่ตรงกัน

ทนายจำเลยถามค้านว่า สำหรับ 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มคณะราษฎร พยานเห็นด้วยหรือไม่ ศรายุทธตอบว่าไม่เห็นด้วยแค่ข้อ 3 ที่เรียกร้องให้มีการปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ 

ทนายจำเลยถามค้านต่อว่า พยานเคยไปให้การที่ศาลทหารกรุงเทพฯ ในคดี 112 ของ “แม่จ่านิว” กรณีตอบเฟซบุ๊กว่า “จ้า” ด้วยใช่หรือไม่ คำว่า “จ้า” ผิดมาตรา 112 หรือไม่ และพยานได้ติดตามคำพิพากษาของคดีนี้หรือไม่ ศรายุทธตอบว่า ตนเคยไปเป็นพยานเมื่อประมาณปี 2562 แต่พยานไม่รู้จักแม่จ่านิว ส่วนคำว่า “จ้า” ถือเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เพราะต้องดูถึงบริบทโดยรวม ส่วนศาลจะมีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้วหรือไม่ พยานไม่ทราบ เพราะไม่ได้ไปติดตามผลคดีทุกคดี 

ทนายจำเลยถามค้านต่อว่า คำว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ” ทราบหรือไม่ว่า มีคนเคยพูดก่อนในหลวงรัชกาลที่ 10 และใครก็ตามที่พูดสามคำนี้ถือว่าเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 หรือไม่ ศรายุทธตอบว่า ตนไม่ทราบว่าก่อนหน้าในหลวงรัชกาลที่ 10 มีคนเคยพูดประโยคนี้มาก่อนหรือไม่ ส่วนคำว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” จะเป็นความผิดหรือไม่ จำเป็นต้องดูบริบทว่ากำลังพูดเรื่องอะไร และคนพูดกำลังทำอะไรอยู่ รวมถึงทัศนคติทางการเมืองด้วย ทั้งนี้ พยานยืนยันว่าทุกคนมีสิทธิพูดคำดังกล่าว แต่ต้องมีเจตนาบริสุทธิ์ 

ทนายจำเลยถามค้านต่อว่า พยานทราบหรือไม่ว่า นายฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ มีรอยสักที่แขนว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” พยานตอบว่าทราบ 

ต่อมา ทนายจำเลยถามค้านว่า เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563 ที่มีการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร ทำไมพยานถึงเข้าไปอยู่ในที่ชุมนุม ศรายุทธตอบว่า ช่วงที่มีการชุมนุมดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่พยานไปรอรับเสด็จฯ ที่ถนนราชดำเนินพอดี ซึ่งเป็นที่สาธารณะ โดยเขาได้สวมเสื้อสีเหลืองไปรับเสด็จฯ ไม่ได้ไปรวมตัวหรือชุมนุมแต่อย่างใด 

.

พยานโจทก์ปากที่ 2 เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการกฎหมาย 

เจษฎ์ โทณะวณิก อาจารย์ด้านนิติศาสตร์ที่วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย จังหวัดขอนแก่น เบิกความว่าตนเป็นอาจารย์สอนกฎหมายมา 23 ปีแล้ว วิชาที่สอนได้แก่ กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายอาญาและกฎหมายแพ่งทั่วไป กฎหมายรัฐธรรมนูญ ฯลฯ และด้านประวัติการศึกษา 

เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อช่วงประมาณ พ.ย. 2563 พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆ ได้เรียกตนมาเป็นพยานเพื่อขอความเห็นเชิงวิชาการว่า 3 ข้อความดังกล่าวเข้าข่ายผิดกฎหมายมาตรา 112 หรือไม่ โดยหลังจากอ่านข้อความแล้ว พยานเข้าใจว่าจำเลยสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 เนื่องจากช่วงเวลาการโพสต์ข้อความดังกล่าวอยู่ประมาณปลายเดือน ต.ค. และ พ.ย. ปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 พบปะและมีปฎิสันถารกับประชาชน รวมถึงพระราชทานรูปพระราชหัตถเลขาแก่ประชาชน ที่รอรับเสด็จฯ ในวันปิยมหาราช นอกจากนี้ยังตรัสขอบคุณประชาชนคนหนึ่ง ที่ไปชูรูปพระบรมฉายาลักษณ์ในระหว่างการชุมนุมราษฎรว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ซึ่งเป็นข้อความเดียวกันกับที่จำเลยลงในสื่อสาธารณะ  

เจษฎ์เบิกความต่อว่า ข้อความดังกล่าวทำให้เกิดความเสื่อมเสียพระเกียรติยศของในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยการที่บอกว่าพระองค์เสแสร้งลงมาพบปะประชาชน เพราะทรงเห็นว่าประชาชนไม่ได้ต้องการพระองค์แล้ว ถือเป็นการดูถูก ดูหมิ่น และเหยียดหยามในหลวงรัชกาลที่ 10 ตนเห็นว่าเป็นความผิดตามมาตรา 112 

ช่วงตอบทนายจำเลยถามค้าน เจษฏ์เบิกความว่าในการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เขาทำวิทยานิพนธ์ในประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ได้ทำประเด็นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และไม่ได้เขียนบทความวิชาการเกี่ยวกับมาตรา 112 หรือเผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับชาติ แต่เขาเคยได้รับเชิญให้ไปบรรยายเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ของประเทศไทย ในเวทีวิชาการนานาชาติที่ฮ่องกง รวมถึงเขียนเรื่องนี้ลงในคอลัมน์หนังสือพิมพ์

เกี่ยวกับคดีมาตรา 112 เจษฏ์เบิกความว่าเขาเคยไปให้การกับตำรวจในชั้นสอบสวน และขึ้นเบิกความเป็นพยานอยู่หลายสิบคดีในชั้นศาล แม้เจษฎ์จะยืนยันว่าตัวเขาเองไม่ได้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญา รวมถึงเคยแจ้งพนักงานสอบสวนไปแล้วว่า มีนักวิชาการนิติศาสตร์และอาจารย์สอนกฎหมายอาญาที่เชี่ยวชาญกฎหมายอาญามากกว่าเขาอยู่ แต่ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดเขาถึงถูกเชิญไปเป็นพยานในคดีมาตรา 112 

ในประเด็นเกี่ยวกับข้อความตามฟ้อง เจษฏ์เบิกความว่า คำว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” เพียงลำพังอาจไม่เข้าข่ายความผิด แต่ข้อความที่ว่า “มีแจกลายเซ็นด้วย เซเลปชัดๆ” มีลักษณะดูหมิ่น เสียดสี และด้อยค่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ทำนองว่า ทรงอยากแสดงพระองค์เลียนแบบคนดังหรือบุคคลมีชื่อเสียง

นอกจากนี้ เจษฎ์เบิกความว่าแม้ทั้ง 3 ข้อความจะโพสต์ต่างวันต่างเวลากัน แต่เนื้อหามีความเชื่อมโยงถึงกันและมาจากเหตุการณ์เดียวกัน คือวันปิยมหาราชที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดำเนินพบปะประชาชน อย่างไรก็ตาม พยานไม่เคยรู้จักกับจำเลยมาก่อน ไม่ทราบว่าจำเลยมีแนวคิดทางการเมืองเป็นอย่างไร และไม่ทราบว่าจำเลยอยู่ในกลุ่มคณะราษฎร 

ทนายจำเลยถามค้านเจษฎ์เกี่ยวกับ 3 ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมคณะราษฎรว่าเห็นด้วยหรือไม่ เจษฏ์ตอบว่าข้อที่เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก และขอให้แก้รัฐธรรมนูญ เขาเห็นด้วยในระดับหนึ่ง แต่ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เขาไม่เห็นด้วย

.

.

พยานโจทก์ปากที่ 3 ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ ชายที่ชูพระบรมฉายาลักษณ์ จนในหลวงตรัสชมว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ”

ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ ผู้จัดการร้านอาหาร อายุ 50 ปี เบิกความว่า เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2563 ช่วงเย็น ขณะที่เขากำลังทำงานอยู่ที่ร้านอาหารบริเวณเซ็นทรัลปิ่นเกล้า มีเยาวชนผูกสีโบว์ขาวจำนวนหนึ่งมารวมตัวกันชุมนุมเรียกร้องเรื่องการปฎิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์และยกเลิกมาตรา 112 บริเวณหน้าห้างดังกล่าว

พยานออกมาสังเกตการณ์อยู่ครู่หนึ่ง เมื่อพบว่ากลุ่มเยาวชนที่มาร่วมชุมนุมยังมาไม่เยอะ ตนจึงปล่อยวาง ก่อนจะเดินกลับไปทำงานต่อ แต่ต่อมาตนได้ยินแม่ค้าที่อยู่บริเวณหน้าร้านตะโกนว่า ‘มากันเต็มเลย’ พยานรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ถูกต้อง และคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่าง จึงนำภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลที่ 9 ไปยืนชูท่ามกลางผู้ชุมนุม พร้อมกับพยักหน้าให้กลุ่มผู้ชุมนุมด้วยความเมตตา เพื่อเป็นการแสดงออกว่า ในประเทศนี้ยังมีคนอีกมากมายที่มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ 

ฐิติวัฒน์เบิกความต่อว่า หลังจากที่ชูพระบรมฉายาลักษณ์ได้ครู่หนึ่ง ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาขอความร่วมมือให้ออกจากพื้นที่และเดินมาส่งเขาที่หน้าร้านอาหารที่เขาทำงานอยู่ ไม่ได้มีเหตุการณ์ความรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น หลังจากนั้นเขาก็รู้สึกเสียใจเป็นอย่างมากที่เห็นเยาวชนออกมาชุมุนมในลักษณะนี้ จึงนั่งร้องไห้อยู่กับภรรยาสองคน 

จากการกระทำดังกล่าวของฐิติวัฒน์ ทำให้เฟซบุ๊กของร้านที่เขาทำงานอยู่ถูกกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าไปโจมตี ภรรยาของเขาจึงให้เขาหยุดทำงานไป 7 วันเพื่อพักผ่อน ต่อมาเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2563 ซึ่งตรงกับวันปิยมหาราช ฐิติวัฒน์จึงใช้เวลาว่างไปสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ในวันดังกล่าว ในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้เสด็จมาเพื่อประกอบพระราชกรณียกิจ จึงอยู่เฝ้ารอรับเสด็จ  

ต่อมา เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินีเสด็จผ่านประชาชนที่รอรับเสด็จ ฐิติวัฒน์ได้เปล่งสุดเสียงว่า “ทรงพระเจริญ” หลายหน กระทั่งพระราชินีเห็นเขาแล้วจำได้ จึงได้กราบบังคมทูลให้ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทราบว่า เขาเป็นประชาชนที่ไปชูรูปพระบรมฉายาลักษณ์ท่ามกลางกลุ่มผู้ชุมนุม เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2563 

ในหลวงรัชกาลที่ 10 จึงตรัสชมเขาว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” พร้อมกับตบบ่าเขาสองครั้ง ทั้งนี้ ฐิติวัฒน์เบิกความว่า จำรายละเอียดขณะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ค่อยได้แล้ว เพราะตอนนั้นเขารู้สึกตื้นตันมากจนเหมือนกับ “วิญญาณหลุดออกจากร่าง” โดยเหตุการณ์ดังกล่าวได้เผยแพร่ไปทั่วโลกออนไลน์ มีสำนักข่าว ได้แก่ อมรินทร์ รอยเตอร์ เป็นต้น โทรมาขอสัมภาษณ์เขา 

นอกจากนี้ ฐิติวัฒน์เบิกความว่า ข้อความ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ” ที่ในหลวงตรัสกับเขาถือว่าเป็นศิริมงคลมาก รวมถึงยังมีการนำข้อความดังกล่าวไปสกรีนเป็นข้อความบนเสื้อผ้าและกระเป๋า และเคยมีคนจะนำไปทำเป็นสติกเกอร์ไลน์ แต่ทางไลน์เจแปนไม่อนุมัติ 

ต่อมา พนักงานสอบสวนได้เรียกเขาไปสอบปากคำในคดีนี้ พร้อมแสดงทั้งสามข้อความดังกล่าวให้ดู เมื่อฐิติวัฒน์อ่านแล้วเข้าใจว่าทันทีว่า ข้อความ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” จำเลยสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 เพราะเป็นถ้อยคำที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ตรัสกับเขา พร้อมกับมีการแชร์ภาพข่าวจากมติชน เกี่ยวกับที่นักศึกษาไม่มารับปริญญา 

ส่วนข้อความที่กล่าวว่า “เขาให้ลดงบประมาณที่เอาไปใช้จ่าย ไม่ใช่ให้ลดตัวลงมาใกล้ชิดกับประชาชน…” นั้นก็เป็นการกล่าวถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้ชุมนุมคณะราษฎรเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์และให้ลดงบประมาณของสถาบันฯ ส่วนข้อความที่พูดถึงการแจกลายเซ็นนั้น มาจากวันที่ 1 พ.ย. 2563 ที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 เสด็จไปพระบรมมหาราชวังเพื่อเปลี่ยนเครื่องทรงแก้วพระมรกต รวมถึงมีการแจกลายเซ็นบนพระบรมฉายาลักษณ์ที่มีประชาชนนนำมาถือระหว่างรอรับเสด็จ 

ช่วงตอบคำถามทนายจำเลยถามค้าน ฐิติวัฒน์เบิกความว่า ตนได้สักคำว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ไว้ที่แขนข้างขวา นอกจากนี้ พยานเชื่อว่าถ้อยคำ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ที่เรียงติดกันนี้ มีในหลวงรัชกาลที่ 10 ตรัสเป็นคนแรกของโลก โดยประชาชนทั่วไปมีสิทธิใช้ถ้อยคำดังกล่าวได้ แต่ต้องดูด้วยว่าพูดในเจตนาใด ไม่ได้หมายความว่า ใครก็ตามที่พูดถ้อยคำนี้ จะต้องถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 

ทนายจำเลยถามค้านว่า ในระหว่างที่จำเลยโพสต์ทั้ง 3 ข้อความดังกล่าว เมื่อวันที่ 30 ต.ค. และ 2 พ.ย. 2563 พยานทราบหรือไม่ว่าจำเลยทำอะไรอยู่ โพสต์ข้อความอะไรก่อนหน้า และกำลังติดตามข่าวสารเรื่องอะไร พยานตอบว่าไม่ทราบ เนื่องจากไม่ได้เป็นเพื่อนกับจำเลยในเฟซบุ๊ก 

ทั้งนี้ แม้พยานจะทราบว่า ระหว่างวันที่ 23 ต.ค. ถึง 2 พ.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้ลงพื้นที่พบประประชาชน แต่ข้อความที่จำเลยโพสต์เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563 ที่ขอให้มีการลดงบประมาณนั้น พยานเชื่อว่าจำเลยไม่ได้กล่าวถึงบุคคลทั้งสอง แต่กล่าวถึงในหลวงรัชกาลที่ 10

ต่อมา ทนายจำเลยถามค้านเกี่ยวกับข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ว่า คำว่า “ปฏิรูป” หมายถึงทำให้ดีขึ้นใช่หรือไม่ ฐิติวัฒน์ตอบว่าในความเห็นของเขา คำว่า “ปฏิรูป” ของผู้ชุมนุมคณะราษฎรหมายถึง “การล้มล้าง”

ทนายจำเลยถามพยานต่อว่า ถ้าเช่นนั้นคำว่า ปฎิรูปการศึกษา หรือปฎิรูปกองทัพ หมายถึงล้มล้างด้วยหรือไม่ ในประเด็นนี้พยานขอไม่ตอบ 

.

พยานโจทก์ปากที่ 4 ภูกาญจน์ บุญชูกาญจน์ ประชาชนทั่วไปที่ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อความ  

ภูกาญจน์ บุญชูกาญจน์ อายุ 51 ปี ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว เบิกความว่า เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2563 พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆ ได้เรียกให้ตนไปเป็นพยาน โดยให้ดูโพสต์ข้อความทั้งสามของจำเลยและเข้าใจว่าสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10

ภูกาญจน์เบิกความอย่างละเอียดว่า สำหรับข้อความแรก “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ” จำเลยได้พิมพ์ตกไป ก ไปจึงกลายเป็นคำว่า “กล้ามา” รวมถึงมีการแนบลิงค์ข่าวมติชนเรื่องที่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมตัวกันไม่รับปริญญาทั้งคณะอีกด้วย ซึ่งเห็นได้ชัดว่าจำเลยสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 เพราะถ้อยคำดังกล่าวในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นผู้ตรัส รวมถึงเป็นผู้พระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณทิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกด้วย หลังอ่านข้อความดังกล่าว ตนรู้สึกหดหู่ใจมากและทำใจไม่ได้ที่มีการโพสต์ข้อความและแชร์ลิงค์ข่าว เพราะถือเป็นการหมิ่นเกียรติและทำให้ประชาชนเข้าใจในหลวงในทางที่ไม่ดี 

ข้อความที่สองที่กล่าวว่า “เขาให้ลดงบประมาณ ไม่ได้ลดตัวลงมาใกล้ชิดกับประชาชน” พยานเห็นว่าเป็นการดูหมิ่นและโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะคำว่า ‘ลดตัว’ ใช้กับบุคคลที่มีสถานะสูงกว่า ซึ่งไม่น่าจะหมายถึงนายกรัฐมนตรี  

ส่วนข้อความเรื่องการแจกลายเซ็น ที่โพสต์เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563 พยานทราบว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้เสด็จไปเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต และแจกลายพระหัตถ์ ในวันที่ 1 พ.ย. 2563 ซึ่งห่างจากวันที่จำเลยโพสต์ข้อความเพียงหนึ่งวัน ซึ่งจะสื่อถึงใครไม่ได้ นอกจากในหลวงรัชกาลที่ 10 

ทั้งนี้ พยานเบิกความว่าตนไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน และไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคือง

อย่างไรก็ตาม ภูกาญจน์เบิกความเพิ่มเติมภายหลังว่า เนื่องจากเมื่อก่อนตนเคยเป็นผู้สื่อข่าว จึงพอทราบใบหน้ารูปพรรณสัณฐานของสมบัติอยู่บ้าง และทราบว่าสมบัติเป็นการ์ดของผู้ชุมนุม โดยเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563 พยานไปที่พระบรมมหาราชวังเพื่อไว้อาลัยในวันครบรอบการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ระหว่างเดินทางแถวถนนราชดำเนินบริเวณใกล้ร้านแม็คโดนัลด์ เขาเห็นว่ามีการชุมนุมของกลุ่มราษฎร จึงเดินเข้าไปถ่ายภาพในพื้นที่ดังกล่าว ก่อนเห็นสมบัติกำลังปฐมพยาบาลการ์ดผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บ

ก่อนช่วงตอบคำถามทนายจำเลยถามค้าน ทนายจำเลยสอบถามภูกาญจน์ว่า รู้จักชายสูงอายุสวมเสื้อเชิ้ตสีม่วงที่นั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดีด้วยหรือไม่ พร้อมกับแถลงเชิงตั้งคำถามว่าชายคนดังกล่าวได้เข้ามาสังเกตการณ์การสืบพยานโจทก์ก่อนหน้านี้หลายปากตั้งแต่ช่วงเช้าเพื่อซักซ้อมพยานหรือไม่ โดยในช่วงเวลาพักกลางวัน ภูกาญจน์กับชายคนดังกล่าวได้นั่งอยู่ในห้องพักของพนักงานอัยการด้วยกัน ซึ่งในห้องมีกล้องโทรทัศน์วงจรปิดสามารถตรวจสอบดูได้ 

ศาลได้เรียกมาสอบถามและทราบความว่า ชายคนดังกล่าวไม่เคยรู้จักกับภูกาญจน์มาก่อน พร้อมแถลงต่อศาลว่าตนเป็นเพียงประชาชนทั่วไปที่สนใจคดีนี้จึงมาร่วมฟังการพิจารณาด้วยเท่านั้น และขณะที่นั่งในห้องพักอัยการด้วยกันนั้น พวกเขาไม่ได้พูดคุยเรื่องคดีแต่อย่างใด เพียงแต่สนทนากันเรื่องทั่วไป 

ทนายจำเลยถามค้านว่า พยานทราบหรือไม่ว่า เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2563 จำเลยเคยโพสต์ข้อความทำนองว่า เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก ส่วนอีกสองข้อที่ขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องการปฎิรูปสถาบันกษัตริย์นั้นเอาไว้ทีหลัง พยานตอบว่าไม่ทราบ

ทนายจำเลยถามค้านต่อว่า ระหว่างวันที่ 23 ต.ค. ถึง 2 พ.ย. 2563 นอกจากโพสต์ทั้งสามที่เป็นเหตุแห่งคดีแล้ว พยานได้ติดตามตรวจสอบโพสต์อื่นๆ ของจำเลยด้วยหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ได้ตามดูเองทุกโพสต์ แต่เขาจะมีกลุ่มไลน์ระหว่างเขากับเพื่อนๆ และรุ่นน้องที่ใช้สื่อสารกัน หากมีใครเห็นข้อความที่โพสต์ในลักษณะหมิ่นเหม่ หรือดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็จะบันทึกภาพหน้าจอไว้และส่งแชร์กันในกลุ่มไลน์ แต่หากเป็นโพสต์ที่จำเลยกล่าวถึงรัฐบาล เขาก็จะปล่อยผ่านไป ไม่สนใจ 

ทนายจำเลยถามค้านว่า คำว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ประชาชนทั่วไปมีสิทธิพูดได้หรือไม่ พยานตอบว่า มีสิทธิพูด แต่ต้องดูบริบทแวดล้อมด้วย หากเป็นกรณีของจำเลยคือมีเจตนาต้องการโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ 

พยานโจทก์ปากที่ 5 พ.ต.ท.เกรียงไกร ใจสุทธิ์ ตำรวจผู้สืบหาข่าวผู้ชุมนุมกลุ่มคณะราษฎร 

พ.ต.ท.เกรียงไกร ใจสุทธิ์ พนักงานสืบสวน กองบัญชาการสืบสวนตํารวจภูธรภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ เบิกความว่า ปี 2563 พยานรับราชการอยู่ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล 1 ซึ่งมีเขตอำนาจครอบคลุมสถานีตำรวจนครบาลดุสิต นางเลิ้ง ชนะสงคราม และสถานีตำรวจอื่นๆ ในบริเวณใกล้เขตพระราชฐาน รวม 9 สถานี ยกเว้น สน.ทุ่งมหาเมฆ ไม่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ

เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีการจัดชุมนุมอยู่บ่อยครั้ง พยานจึงได้รับมอบหมายให้รวบรวมข้อมูลของกลุ่มผู้ชุมนุม บทบาทหน้าที่ของแต่ละคนคืออะไร มาชุมนุมกี่ครั้ง เป็นต้น อย่างไรก็ตามภายหลังกลุ่มผู้ชุมุนุมได้มีการจัดทีมการ์ดคอยดูแลรักษาความปลอดภัยและมีการคัดแยกผู้คน ทําให้ตํารวจไม่สามารถเข้าไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้ชุมนุมได้ 

หลังจากการรวบรวมข้อมูล พยานจึงทราบว่าจำเลยเป็นหนึ่งในการ์ดของผู้ชุมนุม ซึ่งในช่วงเดือน ก.ค. ถึง พ.ย. 2563 ได้เข้ามาชุมนุมในพื้นที่เขตของกองบังคับการตํารวจนครบาล 1 จํานวน 5 ครั้ง ในแต่ละครั้งจะมีการถ่ายภาพไว้ นอกจากนี้ พยานได้เข้าไปตรวจดูเฟซบุ๊กของจำเลย ซึ่งจำเลยได้โพสต์ในลักษณะเชิญชวนให้ประชาชนเข้ามาสมัครเป็นการ์ดอาสา รวมถึงจะระบุวันเวลาและสถานที่ในการชุมนุม 

ช่วงตอบทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ท.เกรียงไกรเบิกความว่า เท่าที่รวบรวมข้อมูลมา ไม่พบว่าจําเลย 

เป็นแกนนําและขึ้นปราศรัยเกี่ยวกับข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ นอกจากจําเลยจะเป็นการ์ดให้กลุ่มคณะราษฎรแล้ว จําเลยยังเป็นการ์ดให้กลุ่มอื่นๆ ด้วย เช่น กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก ที่เรียกร้องเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ และกลุ่มนักเรียนเลวที่เรียกร้องปฏิรูปการศึกษา 

.

สืบพยานจำเลยปากที่ 6 พ.ต.ท.ประจำ หนุนนาค อดีตพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆ

พ.ต.ท.ประจำ หนุนนาค พนักงานสอบสวน สน.ท่าเรือ เบิกความว่า ก่อนหน้านี้ตนเคยเป็นพนักงานสอบสวน ที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ เมื่อเดือน ธ.ค. 2563 ในช่วงเวลาดังกล่าวมี นายศรายุทธ สังวาลย์ทอง มาแจ้งความร้องทุกข์ว่า นายสมบัติ ทองย้อย ได้โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ลงในเฟซบุ๊ก โดยมีข้อความว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ” พยานจึงได้ลงบันทึกประจำวันไว้

นอกจากนี้ ศรายุทธได้มอบภาพบันทึกหน้าจอจากโทรศัพท์มือถือที่ปรากฎสามข้อความดังกล่าว รวมถึงภาพของจำเลยที่ไปเข้าร่วมการชุมนุมกลุ่มคณะราษฎร เพื่อให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวหรือไม่ 

ต่อมา มีคำสั่งให้แต่งตั้งพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับคดีนี้ ตามคำสั่งกองบังคับการตำรวจนครบาล โดย พ.ต.ท.ประจำ ได้เรียกพยานหลายคนมาสอบปากคำ โดยมีปากพยานผู้เชี่ยวชาญคือ เจษฎ์ โทณะวณิก และประชาชนทั่วไป เพื่อสอบถามว่าคำพูดของผู้ต้องหาถือเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์หรือไม่ ซึ่งในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ฐิติวัฒน์รู้สึกว่าเป็นการด้อยค่าพระมหากษัตริย์ โดยหลังทำการสอบสวนแล้ว พยานเห็นว่าผู้ต้องหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พยานจึงได้ออกหมายเรียกสมบัติมาแจ้งข้อกล่าวหา

ต่อมา เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2563 พยานต้องย้ายไปรับราชการที่อื่น จึงได้ส่งสำนวนการสอบสวนต่อให้ พ.ต.ท.อดิศร แก้วโหมดตาด

ช่วงตอบทนายจำเลยถามค้าน ทนายจำเลยถามค้านว่า ช่วงที่พยานรับราชการที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ นอกจากคดีนี้แล้ว มีการแจ้งความมาตรา 112 คดีอื่นอีกหรือไม่ และได้เชิญเจษฏ์มาสอบในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญหรือไม่ พ.ต.ท.ประจำ เบิกความว่ามีคดี 112 กรณีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมัน แต่พยานจำไม่ได้ว่าคดีดังกล่าว ได้เรียกเจษฏ์มาสอบปากคำด้วยหรือไม่ 

ในประเด็นเดียวกัน ทนายจำเลยถามค้านต่อว่า ทำไมถึงเชิญเจษฏ์มาสอบเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ พ.ต.ท.ประจำเบิกความว่า สาเหตุที่เรียกมาสอบ เพราะผู้บังคับบัญชาแนะนำมา พร้อมกับทราบว่าเจษฎ์เคยไปเป็นพยานเกี่ยวกับความผิดตามมาตรา 112 หลายคดี พยานไม่ได้รู้จักเจษฎ์เป็นการส่วนตัวมาก่อน รวมถึงเมื่อมีการประชุมกันแล้ว ได้ตกลงกันว่าให้เรียกเจษฏ์มาสอบปากคำ

ทนายจำเลยถามค้านต่อว่า จากประวัติอาชญากร จำเลยเคยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามาตรา 112 หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบ ต้องดูผลจากผลการตรวจสอบประวัติอาชญากร 

ทนายจำเลยถามค้านว่า จากการสอบสวน จำเลยในคดีนี้ไม่ได้เป็นแกนนำการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบ 

.

พยานโจทก์ปากที่ 7 พ.ต.ท.อดิศร แก้วโหมดตาด พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี 

พ.ต.ท.อดิศร แก้วโหมดตาด กองกำกับการหมู่ 1 กองกับคับการตำรวจปราบปราม เบิกความว่า ขณะที่ทําการสอบสวนคดีนี้ ตนรับราชการเป็นรองผู้กํากับการที่ สน.คลองตัน และได้รับคําสั่งกองบังคับการตํารวจนครบาล 5 ให้เป็นคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีนี้ 

พยานได้สอบปากคำ พ.ต.ต.เกรียงไกร ใจสุทธิ์ และ พ.ต.ต.อิสรพงศ์ ทิพย์อาภากุล โดย พ.ต.ต.เกรียงไกร ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สืบสวนเกี่ยวกับการ์ดของกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎรที่ชุมนุมในปี 2563 และเป็นผู้มอบรายงานการสืบสวนให้ตน ส่วน พ.ต.ต.อิสรพงศ์ นั้นเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊กของจําเลย และได้มอบรายงานการตรวจสอบให้ตนเช่นกัน

เกี่ยวกับข้อความ “กล้ามา เก่งมาก ขอบใจนะ” ที่จำเลยโพสต์นั้นเมื่อดูประกอบกับข้อความด้านล่างที่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะไม่เข้ารับปริญญาทั้งคณะ ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 10 จะเป็นผู้พระราชทานปริญญาบัตร จึงทําให้เข้าใจได้ว่าเป็นการโพสต์ถึงพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ถ้อยคําที่จําเลยโพสต์ ยังมีที่มาจากการที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ตรัสกับประชาชนที่มารับเสด็จในวันที่ 13 ต.ค. 2563 การที่จําเลยโพสต์ข้อความดังกล่าว จึงเป็นการเสียดสีและเปรียบเปรยกับในหลวงรัชกาลที่ 10 

สำหรับข้อความเรื่องปรับลดงบประมาณ กับข้อความเรื่องแจกลายเซนต์ พยานเห็นว่าเป็นโพสต์ต่อเนื่องในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ จำเลยเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่มีข้อเรียกร้องให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 6, ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และปรับลดงบประมาณเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ จุดนี้แสดงให้เห็นว่าข้อความดังกล่าวมุ่งตรงถึงในหลวงรัชกาลที่ 10

นอกจากนี้ ข้อความดังกล่าวจำเลยต้องการด้อยค่าว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 ไม่มีคนรัก จึงต้องลดตัวลงมาพบปะประชาชน เสแสร้งแกล้งทำให้ประชาชนรัก และเปรียบเปรยพระองค์ท่านว่าเป็นดาราดัง จึงถือว่าเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท พยานและคณะทํางานจึงมีความเห็นว่าจําเลยกระทําความผิดมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 

ช่วงตอบทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ท.อดิศร เบิกความว่า จากรายงานการสืบสวนที่ไ้ด้รับมา ไม่ได้ระบุว่าจำเลยเป็นการ์ดชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม แต่ในช่วงเวลาดังกล่าว มีการชุมนุมของบุคคลหลายกลุ่มเช่น กลุ่มเยาวชนปลดแอก และกลุ่มคณะราษฎร 2563 ซึ่งมีการเรียกร้องในลักษณะเดียวกัน 

ทนายจำเลยถามค้านว่าพยานทราบแนวคิดทางการเมืองของจำเลยหรือไม่ พยานเบิกความว่า ตนไม่ได้เป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กกับจําเลย ไม่เคยติดตามเฟซบุ๊กของจําเลย จึงไม่ทราบว่าจําเลยเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมเรื่องขอให้ประยุทธ์ลาออกและแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ 

ทนายจําเลยถามพยานว่าจากรายงานการสืบสวน ไม่ปรากฏว่าจําเลยมีแนวคิด-อุดมการณ์ เรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์และปรับลดงบประมาณสถาบันกษัตริย์ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าในความเห็นส่วนตัว คนเราถ้าไม่มีแนวความคิดอันเดียวกัน อุดมการณ์เดียวกัน ไม่สามารถอยู่หรือไปด้วยกันได้ แต่จากการตรวจสอบประวัติอาชญากร ไม่พบว่า จำเลยเคยมีประวัติถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 

ทนายจําเลยถามค้านว่า พยานเคยมีประสบการณ์การทําคดีตามมาตรา 112 มากี่คดี พยานเบิกความว่า ตนเป็นพนักงานสอบสวน ต้องทําหน้าที่ทุกคดี คําถามของทนายจําเลยจึงไม่เกี่ยวกับการทําหน้าที่ของตน 

ทนายจำเลยถามค้านต่อว่า พยานได้สอบปากคําที่พยานจําเลยเคยอ้างไว้หรือไม่ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์และกฎหมาย พยานตอบว่าไม่ได้สอบ เพราะจําเลยอ้างเพียงให้สอบผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์เท่านั้น ไม่ได้ระบุตัวบุคคล ซึ่งในสํานวนการสอบสวนก็มีการสอบผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวไว้แล้ว 

.

.

พยานจำเลยปากที่ 1 สมบัติ ทองย้อย จำเลยในคดี

สมบัติเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้เขาไม่เคยถูกดำเนินคดีมาตรา 112 มาก่อน เกี่ยวกับประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมือง ตัวเขาเคยร่วมชุมนุมกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) และเคยร่วมชุมนุมกับกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, กลุ่มเรียกร้องความเท่าเทียม กลุ่มนักเรียนเลว และทุกกลุ่มที่เรียกร้องให้มีประชาธิปไตย 

พยานเบิกความว่าเกี่ยวกับ 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มคณะราษฎร พยานเห็นด้วยแค่ข้อที่เรียกร้องให้ประยุทธ์ลาออก และแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยพยานเคยได้แสดงความเห็นในลักษณะดังกล่าวบนเฟซบุ๊กว่า ขอให้ไล่ประยุทธ์ออกก่อนเป็นอันดับแรก ส่วนข้อเรียกร้องอื่นๆ ค่อยว่ากันในเวลาที่เหมาะสม 

เกี่ยวกับข้อความที่เป็นเหตุแห่งคดีคือ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ” สมบัติเบิกความว่าไม่ทราบว่าเป็นถ้อยคําที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงตรัสกับฐิติวัฒน์ โดยตนเพิ่งมาทราบเอาภายหลัง เขาเพียงแต่เห็นว่าถ้อยคำดังกล่าวกำลังเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ จึงโพสต์ไปโดยไม่ได้มีเจตนาจะกล่าวถึงบุคคลใด 

ส่วนข้อความที่ขอให้ปรับลดงบประมาณ สมบัติเบิกความว่าข้อความดังกล่าวหมายถึงรัฐบาลประยุทธ์ที่กู้เงินและนำงบประมาณมาใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย ส่วนข้อความเรื่องการลดตัวลงมาอยู่ใกล้ชิดกับประชาชน หมายถึงว่าประชาชนจำนวนมากไม่พอใจที่รัฐบาลอยู่มา 7-8 ปี มีการออกมาชุมนุมประท้วงเพราะการบริหารประเทศที่ล้มเหลว รัฐบาลจึงจำเป็นต้องลงพื้นที่เพื่อดึงคะแนนเสียงกลับมา ให้ประชาชนรู้สึกว่ารัฐบาลใส่ใจประชาชน ซึ่งเป็นการเสแสร้งแกล้งทำ เพราะหากเอาใจใส่ประชาชนจริง ควรทำนานแล้ว 

สำหรับข้อความเรื่องแจกลายเซ็น สมบัติรับว่าเป็นคนโพสต์จริง แต่ไม่ได้กล่าวถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยตัวโพสต์เองก็ไม่ได้ระบุชื่อว่าเอ่ยถึงบุคคลใด 

เกี่ยวกับพยานโจทก์ที่มาเบิกความปรักปรำการกระทำของเขาว่าเข้าข่ายมาตรา 112 นั้น สมบัติเบิกความว่า พยานโจทก์ทั้งสามคน ได้แก่ ภูกาญจน์, ศรายุทธ และฐิติวัฒน์ น่าจะมีสาเหตุโกรธเคืองกับเขามาก่อน เพราะทั้งสามคนมีความคิดทางการเมืองที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับเขา และคาดว่าทั้งสามคนน่าจะเป็นสมาชิกกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) อย่างกรณีที่พวกเขาแฝงตัวเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎรเพื่อแอบถ่ายรูปตน โดยที่ไม่รู้ตัวตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ พฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงความจงเกลียดจงชัง และเป็นการกลั่นแกล้งผู้เห็นต่างทางการเมือง 

ช่วงตอบอัยกายโจทก์ถามค้าน อัยการถามค้านสมบัติว่าตัวเขามีหลักฐานว่าฐิติวัฒน์และภูกาญจน์เป็นสมาชิกกลุ่ม กปปส. หรือไม่ จำเลยตอบว่าไม่มีหลักฐาน เป็นเพียงการคาดเดาจากการแต่งกายของอีกฝ่ายที่สวมเสื้อสีเหลือง 

เกี่ยวกับข้อความ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ” พยานได้แนบภาพข่าวประกอบโพสต์ไว้ ซึ่งเป็นภาพข่าวนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประกาศไม่เข้ารับปริญญา อัยการถามจำเลยว่าจากโพสต์ดังกล่าว เจตนาที่ต้องการสื่อคืออะไร สมบัติเบิกความว่าภาพข่าวนั้น เป็นภาพที่เขาเอามาจากบุคคลอื่น ไม่ใช่ลิงค์ข่าวที่สามารถเปิดเข้าไปอ่านได้ โดยเขาโพสต์ภาพดังกล่าวไป โดยที่มีเจตนาให้คนอ่านภาพและข้อความไปด้วยกัน แต่เขาไม่ได้มีเจตนาอะไร รวมถึงเขาไม่ใช่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงไม่ทราบว่าใครเป็นผู้พระราชทานปริญญาบัตร

อัยการถามค้านต่อว่า หลังจากที่จำเลยถูกดำเนินคดีแล้วได้ลบข้อความทั้งสามดังกล่าวออกไปหรือไม่ สมบัติเบิกความว่า ตนไม่แน่ใจว่าจะมีการลบข้อความทั้งสามออกไปหรือไม่ เพราะหลังเกิดเหตุตํารวจยึดโทรศัพท์มือถือไป และไม่ทราบว่าตำรวจได้ทําอะไรกับเฟซบุ๊กบ้าง ส่วนเฟซบุ๊กที่ใช้ต่อมานั้น เป็นเฟซบุ๊กที่เปิดใหม่

แม้ว่าตามบันทึกคำให้การจะปรากฎข้อความว่า จำเลยไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ยึดโทรศัพท์ไปตรวจ แต่ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ยึดไปตรวจสอบ โดยระหว่างที่เจ้าหน้าที่นำโทรศัพท์ไปตรวจสอบ มีทนายความอยู่ในห้องสอบสวนด้วย สมบัติไม่ได้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่เรื่องการนำโทรศัพท์ไปตรวจสอบโดยปราศจากความยินยอม เพื่อเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ 

.

สืบพยานจำเลยปากที่ 2 ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้รวบรวมสถิติการใช้มาตรา 112 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายและประชาชน หรือ iLaw เบิกความว่า ตนจบการศึกษาปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเนติบัณฑิต และปัจจุบันเป็นผู้จัดการโครงการที่ iLaw ซึ่งทําหน้าที่เกี่ยวกับการติดตามและบันทึกข้อมูลการดําเนินคดีและการใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น รวมถึงมาตรา 112 ด้วย

ยิ่งชีพเบิกความว่า ตั้งแต่ทํางานที่ iLaw มาจนถึงปัจจุบัน พบว่าสถานการณ์การบังคับใช้มาตรา 112 จะมีจํานวนคดีเพิ่มขึ้นหรือลดลง เป็นไปตามสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ถ้าสถานการณ์ความขัดแย้งมีมาก การดําเนินคดีตามมาตรา 112 ก็จะมีมาก เช่น ในช่วงปี 2557-2558 หลังการรัฐประหาร มีการดำเนินคดีตามมาตรา 112 เพิ่มมากขึ้น และในช่วงปี 2563-2564 ที่มีการชุมนุมทางการเมืองจํานวนมาก ก็มีการบังคับใช้มาตรา 112 มากที่สุดในประวัติศาสตร์  

ในช่วงปลายปี 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกคําแถลงการณ์เป็นหนังสือว่าจะบังคับใช้กฎหมายทุกมาตรา โดยหลังจากออกแถลงการณ์ดังกล่าวว่าก็มีการดําเนินคดีตามมาตรา 112 สถิติการบังคับใช้ข้อหานี้ก็เพิ่มมากขึ้น

เกี่ยวกับข้อความที่เป็นเหตุแห่งคดี “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ” ยิ่งชีพเบิกความว่า ไม่เข้าใจว่าจำเลยกล่าวถึงบุคคลใด หรือเป็นการกล่าวชื่นชมใคร และไม่ได้เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทแต่อย่างใด 

ส่วนข้อความขอให้ลดงบประมาณนั้น หากดูตามถ้อยคำแล้วจะเห็นว่า จำเลยไม่ได้กล่าวถึงบุคคลใด แต่น่าจะกล่าวถึงบุคคลที่เอางบประมาณไปใช้จ่าย และเกี่ยวข้องกับความนิยมของประชาชน ไม่ได้มีลักษณะดูหมิ่น หมิ่นประมาทแต่อย่างใด  ส่วนข้อความเรื่องแจกลายเซ็นต์ พยานอ่านแล้วไม่เข้าใจว่าหมายถึงบุคคลใด และไม่ได้เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทบุคคลใดเช่นกัน

ช่วงตอบคำถามค้านอัยการโจทก์ ยิ่งชีพเบิกความตนเคยมาเป็นพยานจำเลยให้การในชั้นศาล เกี่ยวกับคดีมาตรา 112 มาแล้ว ไม่ต่ำกว่า 3 คดี 

อัยการถามค้านว่า พยานทราบหรือไม่ว่าใครเป็นผู้พระราชทานปริญญาบัตรแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พยานตอบว่า ตนจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปี 2551 ซึ่งได้รับปริญญาบัตรกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พยานคาดว่าปัจจุบัน ในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นผู้พระราชทานปริญญาบัตร  

อัยการถามว่าในฐานะผู้จัดการ iLaw มองกฎหมายมาตรา 112 อย่างไร ยิ่งชีพเบิกความว่ามาตรา 112 นั้นมีโทษสูงเกินไป มีปัญหาเกี่ยวกับการตีความว่าข้อความใดบ้างจะเป็นความผิด และการบังคับใช้ขึ้นอยู่กับบรรยากาศทางการเมือง ไม่ได้มีการดําเนินคดีกับผู้กระทําความผิดทุกรายเสมอไป รวมทั้งใครจะเป็นผู้แจ้งความเริ่มต้นคดีก็ได้ ทําให้มีการกลั่นแกล้งกันทางการเมืองหรือทางส่วนตัว 

อัยการถามค้านต่อว่า การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยสุจริตนั้นสามารถทําได้ใช่หรือไม่ และหากมีการแสดงเจตนาล้อเลียนหรือด้อยค่าสถาบัน พยานมีความคิดเห็นว่าอย่างไร ยิ่งชีพตอบว่า การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์โดยสุจริตนั้นสามารถทำได้ สําหรับการล้อเลียนต้องดูเป็นรายกรณี ถ้าไม่เกินเลยไป ก็สามารถทําได้ แต่ถ้าเกินเลยไป ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทํา แต่หากเกินเลยไปก็ควรมีโทษที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยิ่งชีพเบิกความว่า การล้อเลียนถือเป็นธรรมชาติการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ โดยทั่วไปก็จะมีการล้อเลียนครูบาอาจารย์หรือพ่อแม่ซึ่งสามารถทำได้

อัยการถามค้านว่า เกี่ยวกับมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่า สถาบันกษัตริย์นั้นล่วงละเมิดไม่ได้ รวมทั้งดำรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะ พยานเห็นด้วยหรือไม่ พยานตอบว่าเห็นด้วย 

เกี่ยวกับข้อความ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” พยานทราบว่าเป็นพระราชดํารัสที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ตรัสกับประชาชน เพราะทราบจากการดูข่าว อย่างไรก็ตาม พยานไม่เคยเห็นข่าวที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ลงพระนามในรูปถ่ายที่ประชาชนนํามาให้พระองค์ลงลายพระหัตถ์ 

ตอบคำถามทนายจำเลยถามติง ทนายจำเลยถามค้านว่า การล้อเลียนบุคคลที่นำเงินภาษีประชาชนไปใช้ สามารถทำได้หรือไม่ ในประเด็นนี้ศาลได้ถามแทรกว่า บุคคลที่ใช้เงินภาษีดังกล่าว ทนายจำเลยหมายถึงใคร เพราะมีหลายคนที่ใช้เงินภาษีประชาชาชน ทนายจำเลยจึงชี้แจงเพิ่มเติมว่า บุคคลดังกล่าวหมายถึงคณะรัฐบาล 

ด้านยิ่งชีพเบิกความว่า การล้อเลียนบุคคลใดก็ตามสามารถทำได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าถึงขนาดทำให้เกิดความเสียหายเป็นจริงเป็นจังก็ทำไม่ได้ ส่วนการนำเอาความจริงมาพูดถือเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ใช่ล้อเลียน นอกจากนี้ การนำคำพูดของในหลวงมาพูดก็สามารถทำได้ ไม่ได้เป็นการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นแต่อย่างใด  

.

พยานจำเลยปากที่ 3 พิมพ์สิริ เพรชน้ำรอบ ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยองค์กร ARTICLE 19 

พิมพ์สิริ เพรชน้ำรอบ เบิกความความว่า ตนจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเพื่อสันติภาพแห่งสหประชาชาติ ประเทศคอสตาริกา สาขากฎหมายระหว่างประเทศและสิทธิมนุษยชน และเริ่มทํางานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2553 ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาประจําประเทศไทยขององค์กร ARTICLE 19 ซึ่งมีสํานักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ องค์กรดังกล่าวทํางานเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกตั้งแต่ปี 2529 โดยองค์กรที่พยานทํางานให้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย 

ในปี 2564 ทางองค์กรได้มีการออกรายงานเกี่ยวกับการบังคับใช้ตามมาตรา 112 หลังจากที่มีการชุมนุมทางการเมืองในปี 2563 จากการเก็บรวบรวมข้อมูลในรายงานดังกล่าว พบว่ามีการบังคับใช้มาตรา 112 ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ เช่นเดียวกับในช่วงที่มีการชุมนุมการเมือง เช่น 6 ตุลาคม 2519, ปี 2549 และปี 2557 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังการทํารัฐประหาร และในช่วงปี 2563 ตั้งแต่เดือนธันวาคมก็มีการบังคับใช้มาตรา 112 ที่เพิ่มขึ้น ชี้ให้เห็นว่าการใช้กฎหมายนี้สัมพันธ์ไปกับสถานการณ์ทางการเมือง

หลังจากสืบพยานจำเลยเสร็จสิ้น ศาลได้กำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 28 เม.ย. 2565 เวลา 09.00 น.

.

X