ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว “สมบัติ ทองย้อย” คดี 112 เป็นครั้งที่ 7 ระบุ “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” แม้จำเลยให้ความร่วมมือในกระบวนการมาตลอด

วันที่ 26 ก.ย. 2565 ศาลอุทธรณ์ยังคงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว “สมบัติ ทองย้อย” ในระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษาเป็นครั้งที่ 7 ระบุ “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” ทำให้ปัจจุบันสมบัติถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลานานถึง 152 วันแล้ว ตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย. 2565 ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกสมบัติ ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวม 6 ปี 

“สมบัติ ทองย้อย” เป็นอดีตการ์ดเสื้อแดง อายุ 52 ปี ซึ่งถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากกรณีโพสต์ข้อความ “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ” ประกอบกับภาพบันทึกหน้าจอจากข่าวมติชนเกี่ยวกับบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่เข้ารับปริญญาทั้งคณะ เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2563 พร้อมกับอีก 2 ข้อความ กล่าวถึงการทำตัวใกล้ชิดประชาชนและการแจกลายเซ็น ซึ่งโพสต์เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563

.

ย้อนอ่านข่าวการประกันตัวครั้งที่ 4 >>> ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกัน “สมบัติ ทองย้อย” ครั้งที่ 4 ระบุ ไม่มีเหตุเปลี่ยนคำสั่งเดิม แม้เสนอติด EM – ไม่ทำกิจกรรมเสื่อมเสียต่อสถาบันฯ

.

ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว “สมบัติ ทองย้อย” เป็นครั้งที่ 7

คำสั่งของศาลอุทธรณ์ ระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้ง และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”  

การยื่นคำร้องขอประกันตัวครั้งนี้เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2565 เกิดขึ้นหลังจากทนายความได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาคดีของสมบัติแล้ว โดยศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา แต่ศาลอุทธรณ์ยังคงยืนยันไม่ให้ประกันตัวเช่นเดิม 

สำหรับคำร้องครั้งนี้นอกจากระบุเรื่องการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาแล้ว ยังได้ชี้แจงต่อศาลในประเด็นสำคัญ 2 ประการ ดังนี้

1. พฤติการณ์ในคดีนี้ นับแต่จำเลยถูกร้องทุกข์กล่าวโทษ ก็ได้ให้ความร่วมมือเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก มาพบพนักงานอัยการตามกำหนดนัดหมาย ตลอดจนการมาเข้าร่วมการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นทุกนัด เพื่อพิสูจน์ถึงความบริสุทธิ์และความประสงค์จะสู้คดีของจำเลย แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใด

2. ในคดีนี้ ศาลชั้นต้นก็เคยอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย โดยมีเงื่อนไขว่า “ห้ามจำเลยกระทำหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่จะกระทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกฟ้องในคดีนี้ ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากศาล และมาตามกำหนดนัดของศาลหรือคำสั่งศาลโดยเคร่งครัด…” ซึ่งก็ไม่เคยปรากฎว่าจำเลยได้กระทำผิดเงื่อนไขดังกล่าว หรือเคยถูกร้องถอนประกันในคดีนี้มาก่อน

นอกจากนี้ จำเลยยังวางหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 300,000 บาท อันเป็นหลักประกันที่เชื่อถือได้ว่าหากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะไม่หลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น

ทนายความจะยังคงยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อไป เพื่อให้สมบัติได้ออกจากเรือนจำมาต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ 

.

สรุปคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดี 112 ของ “สมบัติ ทองย้อย” 

ย้อนไปเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2565 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาในคดีนี้ ศาลชี้ว่า การที่จำเลยโพสต์ข้อความ “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ” จําเลยมีเจตนากล่าวถึงรัชกาลที่ 10 เป็นการกระทําในบริบทที่มีข่าวว่าบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะไม่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรทั้งคณะ ย่อมทําให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่าเป็นพฤติกรรมอันมีลักษณะเป็น “การต่อต้านพระมหากษัตริย์” เป็นการจงใจล้อเลียนและเสียดสี การกระทำของจำเลยจึงถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่บังควร มีลักษณะเป็นการจาบจ้วง และชี้ให้เห็นถึงเจตนาของจําเลยที่ต้องการจะดูถูก ด้อยค่าพระมหากษัตริย์ อันเข้าลักษณะเป็นการดูหมิ่น

ส่วนข้อความที่กล่าวถึงการทำตัวใกล้ชิดประชาชนและการแจกลายเซ็นจำนวน 2 ข้อความที่โพสต์ในวันเดียวกัน คือ “เขาให้ลดงบประมาณที่เอาไปใช้จ่าย ไม่ใช่ลดตัวลงมาใกล้ชิดประชาชน เข้าใจอะไรผิดไหม เรื่องการลดตัวลงมาแนบสนิทชิดใกล้ประชาชนแบบที่เห็น แสดงให้เห็นว่ารู้ตัวสินะว่าคนเขาไม่เอา เลยต้องลงมาทําขนาดนี้ ถ้าจริงใจต้องทํามานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาทําเพื่อเรียกคะแนนนิยมกลับคืนมา แต่น่าจะช้าไปแล้วจริงๆ ละครหลังข่าวชัดๆ” และ “มีแจกลายเซ็นต์ด้วยเซเลปชัดๆ” เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง โดยประการที่น่าจะทําให้พระมหากษัตริย์ทรงเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันเป็นการหมิ่นประมาท และยังมีความหมายเป็นการดูถูกด้อยค่าอันเป็นการดูหมิ่นด้วย

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การโพสต์เฟซบุ๊กทั้ง 3 ข้อความดังกล่าว เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) (3) การกระทำของจําเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จําคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง เป็นจําคุก 6 ปี

.

ย้อนอ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม >>> เปิดคำพิพากษาฉบับเต็ม! จำคุก 6 ปี “สมบัติ ทองย้อย” คดี ‘กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ’

X