ศาลอุทธรณ์ลงโทษ “บุปผา” ผู้ป่วยจิตเวช ผิด พ.ร.บ.คอมฯ โพสต์ข้อมูลเท็จ จำคุก 78 เดือน-รอลงอาญา ชี้จำเลยเล็งเห็นผลว่า จะสร้างความเสียหายแก่ผู้อื่นซึ่งเทิดทูนสถาบันกษัตริย์มาแต่โบราณ

1 มี.ค. 2565 – ศาลจังหวัดพัทยานัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีของ “บุปผา” จำเลยผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งถูกฟ้องฐาน หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 เหตุจากการโพสต์ภาพพร้อมข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวระหว่างวันที่ 25 ก.พ. 2558 – 19 พ.ค. 2559 จำนวน 13 โพสต์ พาดพิงรัชกาลที่ 9 และสมาชิกราชวงศ์รายอื่น

คดีนี้เดิมถูกพิจารณาลับในศาลในทหาร โดยเธอถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดีเป็นเวลานานถึง 2 ปี ก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ต่อมา คดีได้ถูกโอนย้ายมายังศาลยุติธรรม หลังมีการเลือกตั้งและ คสช.ยุติบทบาทลง แต่การสืบพยานต่อในศาลจังหวัดพัทยาก็เป็นการลับเช่นเดิม ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าฟังการพิจารณา ก่อนมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2563 ยกฟ้องข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ  ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่ลงโทษบุปผา ในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) จำนวน 13 กระทง จําคุกกระทงละ 6 เดือน รวมจำคุก 78 เดือน แต่เนื่องจากจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ให้รอการลงโทษไว้ มีกําหนด 3 ปี คุมความประพฤติจําเลยโดยให้จําเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 6 ครั้ง ภายในระยะเวลา 2 ปี และให้รักษาอาการทางจิตเวชต่อ

ต่อมา ทนายความจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไปเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2564 มีเนื้อหาโดยสรุปว่า

1. สมาชิกราชวงศ์ที่จำเลยได้โพสต์พาดพิงนั้น ไม่อยู่ในความหมายของคำว่า “รัชทายาท” ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะไม่ได้เป็นผู้ที่ถูกแต่งตั้งโดยกษัตริย์ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎมณเฑียรบาล

2. จำเลยโพสต์รูปภาพและข้อความก็ด้วยอาการหลงผิด คิดว่าตนมีหน้าที่ปกป้องสถาบันกษัตริย์ มีการใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น และไม่ได้มีการยืนยันข้อเท็จจริงใดๆ จึงไม่เข้าข่ายความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ทั้งยังมีข้อความที่ชื่นชมรัชกาลที่ 9 เสียด้วยซ้ำ

3. เมื่อศาลชั้นต้นยกฟ้องความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นมูลฐานแล้ว การที่จำเลยนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) ด้วย

4. พยานโจทก์และพยานจำเลยให้การสอดคล้องกัน มีน้ำหนักน่าเชื่อว่า ขณะโพสต์จำเลยป่วยมีอาการทางจิต ไม่สามารถควบคุมตนเองในการโพสต์ข้อความได้ จึงขาดเจตนาในการกระทําความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) 

>>> เปิดอุทธรณ์ “บุปผา” ผู้ป่วยจิตเวช หลังศาลพัทยาตัดสิน โพสต์ถึงราชวงศ์ผิด 112 แต่ขาดเจตนา-ลงโทษตาม พ.ร.บ.คอมฯ ทนายค้าน จำเลยไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทกษัตริย์จึงไม่ผิด พ.ร.บ.คอมฯ

.

ทั้งนี้ โจทก์ก็ได้ยื่นอุทธรณ์เช่นเดียวกัน ในประเด็นว่า สมควรมีการรอการลงโทษของจำเลยหรือไม่ และศาลควรจะลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประกอบมาตรา 65 วรรค 2 ด้วย เนื่องจากจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง

ก่อนการอ่านคำพิพากษาที่ห้องพิจารณาที่ 14 ในวันดังกล่าว ผู้สังเกตการณ์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า เจ้าหน้าที่ได้ติดป้ายกระดาษที่หน้าห้องพิจารณาว่า “พิจารณาคดีแบบลับ” เมื่อผู้สังเกตการณ์เข้าไปในห้องพร้อมกับจำเลยและญาติที่ไว้วางใจ ผู้พิพากษาที่ออกพิจารณาได้กล่าวว่า การอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จะกระทำเป็นการลับ ให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องและญาติออกจากห้องพิจารณา 

ผู้สังเกตการณ์อีกรายได้ชี้แจงว่า โดยหลักการแล้ว เมื่อการพิจารณาคดีสิ้นสุด การอ่านคำพิพากษาซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาคดีจะต้องทำอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนเพื่อความโปร่งใส แต่ผู้พิพากษาท่านดังกล่าวยังยืนยันคำสั่งห้าม ให้เหตุผลว่า “หากพิจารณาโดยเปิดเผยจะกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมของประชาชน จึงให้พิจารณาเป็นการลับ อนุญาตให้ โจทก์ จำเลย และผู้รับมอบฉันทะทนาย และเจ้าหน้าที่ศาลที่เกี่ยวข้องอยู่ในห้องพิจารณา” ผู้สังเกตการณ์ทั้งสองจึงต้องออกมารอที่หน้าห้องพิจารณาจนการอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น ทั้งนี้ คำสั่งให้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นการลับนี้ ภูชิชย์ จิตรบุญ ผู้พิพากษาที่อ่านคำพิพากษา ได้บันทึกไว้ในรายงานกระบวนการพิจารณาด้วย

ในส่วนของคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีใจความโดยสรุปว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตรวจสํานวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่า จำเลยได้นำเข้าข้อมูลสู่คอมพิวเตอร์ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยเคยเข้ารักษาอาการทางจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ รวม 131 วัน แพทย์วินิจฉัยว่าจำเลยป่วยด้วยโรคทางจิตเภทชนิดหวาดระแวง (Paranoid Schizophrenia Continuous) มีอาการหลงผิดเกี่ยวกับราชวงศ์ มีความคิดบิดเบือนไปจากความเป็นจริง ศาลชั้นต้นยกฟ้องในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ เนื่องจากขาดเจตนาในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 โจทก์และจําเลยไม่อุทธรณ์ ความผิดฐานดังกล่าวจึงยุติไป

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจําเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (เดิม) ตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการกระทําของจําเลยเป็นการกระทําโดยขาดเจตนา และพิพากษายกฟ้องในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันเป็นความผิดมูลฐานแล้ว จําเลยย่อมขาดเจตนาในการกระทําความผิดทางอาญาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) (เดิม) ในทํานองเดียวกันด้วย การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจําเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) (เดิม) จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลเห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะยุติแล้วว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยเป็นผู้ป่วยโรคจิตเภท และการกระทําของจําเลยไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะขาดเจตนา จึงไม่อาจลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) (เดิม) ได้ดังที่จําเลยอุทธรณ์ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาว่า สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันหลักของชาติ มีประวัติศาสตร์ยาวนานในการป้องกันประเทศและรักษาเอกราชของชาติ  นับแต่อดีต กษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะจอมทัพ เช่นในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงประกาศอิสรภาพจากพม่าและทำสงครามสร้างความมั่นคงของประเทศ

หรือในสมัยที่ประเทศไทยเผชิญภัยคุกคามจากลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตก ทั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเป็นผู้นำในการดําเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อรักษาเอกราชของชาติ ทำนุบำรุง บำบัดทุกข์ บำรุงสุขเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขและความเจริญแก่สังคม 

ด้วยเหตุนี้ สถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นสถาบันที่อยู่ในหัวใจของประชาชนไทยและเป็นสถาบันที่เคารพสักการะเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมของปวงชนชาวไทยทุก ๆ คน ผู้ใดหรือใครจะมาล่วงเกินหรือล่วงละเมิดในทางหนึ่งทางใดมิได้ ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม และประชาชนมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 2, มาตรา 6 และมาตรา 50 

ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ถึงภาพและข้อความที่จําเลยโพสต์พาดพิงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ, สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ และพระบรมวงศานุวงศ์ อันเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยพิจารณาถึงฐานะที่ทรงดํารงอยู่ ประกอบความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว แสดงให้เห็นว่าจําเลยรู้สํานึกในการกระทําของตน จึงสามารถพิมพ์ข้อความและนําภาพดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เช่นนั้นได้ โดยจําเลยย่อมเล็งเห็นผลว่าภาพและข้อความที่จําเลยโพสต์ดังกล่าวเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือนําลงข้อมูลอันเป็นเท็จ ในประการที่น่าจะทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ อันเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชนชาวไทยที่ให้ความเคารพสักการะและยกย่องเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมตลอดมาตั้งแต่โบราณกาล 

การกระทําของจําเลยจึงเป็นความผิดฐานนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยเจตนาซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) (เดิม) ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจําเลยตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) นั้น เป็นการปรับบทมาตราที่คลาดเคลื่อนไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

ส่วนที่จําเลยอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายทํานองว่า พระบรมวงศานุวงศ์องค์อื่นๆ นอกจากพระบรมโอรสาธิราชฯ ไม่อยู่ในความหมายของคําว่า “รัชทายาท” และไม่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวแล้ว รูปคดีจึงไม่จําต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจําเลยในปัญหาดังกล่าว เพราะไม่ทําให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง อุทธรณ์ของจําเลยที่ขอให้ยกฟ้องความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (เดิม) ด้วยนั้น ฟังไม่ขึ้น 

ในส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) (เดิม) โดยเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับความเจ็บป่วย และจำเป็นต้องได้รับการรักษา ประกอบกับจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษจําคุกและคุมความประพฤติจําเลย รวมทั้งให้จําเลยไปรักษาอาการทางจิตอย่างต่อเนื่อง จึงเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว 

ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลน่าจะลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประกอบมาตรา 65 วรรค 2 ด้วย เพราะจำเลยยังรู้ผิดชอบ หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง โดยศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้นั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจําเลยไม่มีความผิดตามมาตรา 112 เพราะขาดเจตนาในการกระทําความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 และโจทก์ไม่อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้าน เท่ากับว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิดฐานดังกล่าว ศาลย่อมไม่อาจลงโทษจําเลยได้ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) (เดิม) นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น 

ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่ลงชื่อในคำพิพากษา ได้แก่ วรวิทย์ ฤทธิทิศ, ธันว์ บุณยะตุลานนท์ และประดิษฐ์พงศ์ ชิตวงศ์

อ่านฐานข้อมูลคดี https://database.tlhr2014.com/public/case/24/lawsuit/6/

.

X