การทวงถามความยุติธรรมเกือบ 7 ปี ของ “เสาร์” ผู้ป่วยจิตเวช ที่ไม่ควรถูกดำเนินคดี ม.112 แต่แรก

เส้นทางการทวงความยุติธรรมเกือบ 7 ปี ของ “เสาร์” ชายร่างเล็กสัญชาติไทลื้อวัย 57 ปี และยังเป็นผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกฟ้องร้องในคดีมาตรา 112 ได้สิ้นสุดลง หลังศาลอุทธรณ์ตัดสินออกมาว่า ‘แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่จำเลยกระทำความผิดในขณะที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีโรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษดังกล่าว’

“ดีใจมาก ขอกอดหน่อย” เสาร์เดินยิ้มออกมาจากห้องพิจารณา ก่อนสวมกอดทนายความและผู้ที่มาให้กำลังใจอย่างตื่นเต้น เพราะนึกว่าตนจะต้องหวนเข้าสู่เรือนจำอีกครั้ง หากศาลตัดสินว่ามีความผิด แม้เขาจะเคยถูกจองจำก่อนศาลจะตัดสินมาแล้ว โดยจำคุกเป็นระยะเวลา 2 เดือน 20 วัน ตั้งแต่ชั้นสอบสวน 

จุดเริ่มต้นของคดี “เสาร์” เกิดขึ้นเพราะความพยายามในการยื่นหนังสือเพื่อทวงเงินจากทักษิณ ชินวัตร โดยเขาเดินทางไปศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเขียนคำร้องยื่นต่อศาลด้วยลายมือ ในทำนองว่าสามารถติดต่อกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ผ่านโทรทัศน์ได้ ซึ่งเสาร์ได้ยื่นใบคำร้องนี้ให้แก่เจ้าหน้าที่นิติกรของประจำศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก่อนที่จะถูกแจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 ซึ่งเป็นผลจากนโยบายทางกฎหมายในช่วงรัฐบาล คสช. และบรรยากาศที่การพูดถึงสถาบันกษัตริย์มีความอ่อนไหวอย่างถึงที่สุดในช่วงปี 2557-2558

คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้รับผิดชอบคดีของเสาร์ แสดงความเห็นว่า แม้ในทางกฎหมายจะไม่ได้มุ่งเอาผิดกับผู้ป่วยจิตเวช ตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 เพราะผู้ต้องหากระทำความผิดไปด้วยเจตนาไม่สมบูรณ์และไม่สามารถบังคับตนเองได้ แต่บรรทัดฐานการดำเนินคดีต่อผู้ป่วยจิตเวชและการตีความเรื่องอาการจิตเวชของศาลนั้นกลับเป็นปัญหาอย่างมาก เนื่องจากทั้งกระบวนการยุติธรรมและศาลขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องอาการของโรคจิตเวช รวมถึงยังไม่รับฟังการวินิจฉัยจากพยานปากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 

.

กระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยว และภาพ “ผู้ป่วยจิตเวช” ในสายตาของศาล

“ตอนสืบพยานในศาลชั้นต้น ทางเรามีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชร่วมเป็นพยาน และพยานคนนี้ก็เป็นคนรักษาอาการของเสาร์มาตั้งแต่ต้น ตอนนั้นศาลรับฟังพยานปากเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาซึ่งเป็นคนรับหนังสือคำร้องจากเสาร์ที่เบิกความว่า ขณะที่เสาร์ยื่นคำร้องยังสามารถพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ได้เป็นระยะเวลา 20 นาที คือการที่เสาร์ไปยื่นคำร้องได้ เขียนเอกสารด้วยตนเองได้แบบนั้น ศาลจึงมีความเห็นว่า เขายังรู้ผิดชอบ รู้ตัว หรือรับรู้ในสิ่งที่ทำลงไป ทั้งๆ ที่แพทย์เบิกความว่า เสาร์กระทำในขณะเจ็บป่วยทางจิต ไม่สามารถบังคับตัวเองได้ และหลงผิดขั้นรุนแรง ซึ่งเรื่องแบบนี้ ศาลควรฟังพยานปากผู้เชี่ยวชาญ มากกว่าบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์” 

“โรคทางจิตเวชนี่มันมีหลากหลายรูปแบบ อาการของแต่ละโรคก็ไม่เหมือนกัน และความเป็นไปของโรคก็ไม่เหมือนกัน บางโรครักษาก็หาย หรือบางโรคอาจจะไม่หาย และมีอาการป่วยคงอยู่ตลอดไป ทั้งหมดนี้ต้องขึ้นอยู่กับความเห็นจากพยานผู้เชี่ยวชาญ อย่างที่คนชอบบอกว่า ‘หากศาลไม่ป่วยเอง หรือไม่มีคนป่วยจิตเวชที่บ้าน ศาลไม่เข้าใจหรอก’ ดังนั้นแล้ว เรื่องนี้จึงต้องรับฟังพยานที่เป็นแพทย์เป็นสำคัญ”  

.

.

“กรณีที่มีผู้ชายปาขวดแก้วในห้างจนเป็นข่าว และสำนักงานตำรวจแห่งชาติออกมาแถลงยืนยันว่า ‘เขาเป็นผู้ป่วยจิตเวช และเราจะต้องปฎิบัติกับเขาเช่นผู้ป่วย’ นั่นเป็นสิ่งที่เสาร์ควรไ้ด้รับเมื่อ 7 ปีที่แล้ว มันเป็นสิทธิของเสาร์ เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำแบบนั้นกับเสาร์ มันเป็นสิทธิที่ผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาทางคดีอาญาต้องได้รับ”

.

.

“ถ้าหากเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติแบบนี้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับทุกคน เมื่อมีดุลพินิจว่าเขาป่วย ก็ต้องให้เขาเข้าสู่การรักษา และก็ต้องมีความเห็นทางคดี ไม่สั่งฟ้องเขาตั้งแต่ชั้นตำรวจ ชั้นคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนคดีมาตรา 112 และอัยการก็ต้องมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเขาแล้ว เพราะเขาเป็นคนป่วย ซึ่งอาการมันชัด ขนาดพนักงานสอบสวนเห็นแล้ว ยังส่งเขาไปตรวจเองเลย”  

.

.

“จิตบกพร่อง โรคจิต จิตฟั่นเฟือน สามคำนี้บัญญัติอยู่ในมาตรา 65 แต่สำหรับโรคหลงผิด (Delusion) เป็นอะไรที่ใหม่สำหรับศาลเมื่อปี 2558 และไม่มีโรคหลงผิดในทางกฎหมาย ตอนเราสืบพยานจึงต้องให้แพทย์เบิกความอย่างเจาะจงว่า ที่เสาร์เป็นเนี่ยเข้าข่ายอันไหน เพราะว่าศาลมีภาพคนบ้าแบบเดียว ซึ่งจะเป็นแบบสภาพรกรุงรัง ชอบเก็บข้าวของ และเนื้อตัวเลอะเทอะ ศาลไม่มีภาพคนป่วยแบบ ‘ลุงบัณฑิต’ หรือแบบ ‘เสาร์’ ถ้าเสาร์มาทรงนั้นตั้งแต่สำนวนชั้นต้น ก็คงไม่ถูกดำเนินคดี แต่พอเขามาถึงศาลฎีกา เขาก็หิ้วแฟ้ม เขียนหนังสือ ตอบโต้กับเจ้าหน้าที่เป็นเวลา 20 นาที ศาลจึงเห็นว่าการเขามีสติและสามารถควบคุมตัวเองได้ จึงพิพากษาลงโทษ ดังนั้นแล้ว การตีความโดยขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลจึงเป็นปัญหา”

.

.

อ่านเรื่องราวของเสาร์และประเด็นผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มเติม

ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคดี ม.112 ‘เสาร์’ ผู้ป่วยจิตเวช ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ หลังต่อสู้คดีนานเกือบ 7 ปี ชี้ขณะกระทำผิดจำเลยไม่รู้ผิดชอบ จึงไม่ต้องรับโทษ

อยุติธรรมยาวนาน และการทวงความยุติธรรมของ ‘เสาร์’ – ผู้ป่วยจิตเวช คดีหมิ่นฯ กษัตริย์

คุยกับจิตแพทย์: เมื่อผู้ป่วยจิตเภทเผชิญหน้ากับกระบวนการยุติธรรม

.

X