ศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่ให้ “รวิสรา” ลาเรียนต่อ ตปท. อ้างยังไม่ผ่านการคัดเลือกทุน ยากจะกำกับดูแลให้ปฏิบัติตามเงื่อนไข ทั้งที่ส่งเอกสารยืนยันได้ทุนแล้ว

3 มี.ค. 2565 เวลา 15.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ รวิสรา เอกสกุล บัณฑิตจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในจำเลยของคดีการชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 และถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เดินทางออกนอกราชอาณาจักรเพื่อไปศึกษาต่อ

ในคำสั่งของศาลอาญากรุงเทพใต้ ระบุว่า ตามคำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ศาลเห็นว่า จำเลยที่ 11 รวิสรายังไม่ผ่านการคัดเลือกว่าจะได้รับทุนหรือไม่ ทั้งเงื่อนไขที่จำเลยเสนอมาว่าหากได้รับอนุญาต จำเลยยินดีจะไปรายงานตัวและแสดงที่อยู่ต่อสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยที่ประเทศเยอรมันทุกๆ 30 วัน โดยขอให้อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นนายประกันและบิดาของจำเลยเป็นผู้กำกับดูแลตามเงื่อนไข แต่บุคคลทั้งสองอยู่ในประเทศไทย ส่วนจำเลยอยู่ต่างประเทศ จึงเป็นการยากที่จะกำกับดูแลให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ จึงไม่เป็นการหนักแน่นเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าจำเลยจะปฏิบัติตามเงื่อนไขโดยเคร่งครัด จนกลับมาเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีของศาลได้ตามกำหนด ซึ่งเงื่อนไขการประกันตัวห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักรนั้นเป็นข้อสำคัญในการอนุญาต เพราะเกรงว่าจะหลบหนี กรณีจึงยังไม่มีเหตุให้อนุญาตให้จำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ให้ยกคำร้อง

คำสั่งลงนามโดย นายมนัส ภักดิ์ภูวดล ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา ช่วยรักษาการในตำแหน่งรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้

ในวันนี้จึงเป็นครั้งที่ 2 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ยกคำร้องของรวิสรา ส่งผลให้เธอยังไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศเพื่อศึกษาต่อได้ แม้การยื่นคำร้องในครั้งนี้รวิสราจะแนบเอกสารรับรองการได้รับทุนการศึกษาจากสถานทูตเยอรมนี ที่ลงนามโดย เกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย รวมทั้งมีจดหมายยืนยันการมอบทุนจากศูนย์บริการการแลกเปลี่ยนทางวิชาการเยอรมัน แล้วก็ตาม 

ความตอนหนึ่งในหนังสือรับรองระบุว่า ทุนการศึกษาจากศูนย์บริการแลกเปลี่ยนทางวิชาการเยอรมัน (DAAD) สำหรับโปรแกรมเฮลมูท-ชมิดท์ ในระดับชั้นปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ออสนาบรีค (University of Applied Science Osnabruck) ประเทศเยอรมนี ที่มอบให้รวิสรานี้มีเพียงนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยชั้นเยี่ยมและผู้ที่มีแนวโน้มเป็นอย่างสูงว่าจะประสบความสำเร็จเท่านั้นที่ถือเป็นผู้ที่คุณสมบัติเพรียบพร้อมสำหรับทุนการศึกษาระยะยาวเช่นนี้ และเอกอัครราชทูตสถานทูตเยอรมนีเชื่อมั่นว่าการไปศึกษาต่อ ณ ประเทศเยอรมนีในครั้งนี้จะนำประโยชน์มาสู่ประเทศไทยด้วย ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์กับตัวรวิสราเท่านั้น อีกทั้ง ยังแนะนำให้รวิสราติดต่ออย่างเร็วที่สุดเพื่อขอออกวีซ่าอีกด้วย

ย้อนอ่านข้อเท็จจริงในคำร้องขอต่อศาล 

ทั้งนี้ คดีจากการชุมนุม #26ตุลาไปสถานทูตเยอรมัน เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 จัดขึ้นโดยกลุ่มราษฎร 2563 ผู้ชุมนุมได้เดินขบวนจากแยกสามย่านไปยังสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจําประเทศไทย เพื่อขอให้ตรวจสอบว่ากษัตริย์ไทยมีการใช้พระราชอำนาจบนดินแดนของเยอรมันหรือไม่ โดยรวิสราเป็นหนึ่งในผู้อ่านแถลงการณ์ของการชุมนุมเป็นภาษาเยอรมัน และไม่ได้มีบทบาทอื่นใดในการชุมนุมดังกล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

จับตาคำสั่งศาล: “รวิสรา” ผู้ถูกดำเนินคดี 112 อ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมัน ยื่นขอไปศึกษาต่อ ตปท. หลังได้ทุนเรียนต่อ

ยื่นฟ้อง 12 ผู้ชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี ชี้หมิ่นกษัตริย์ เหตุทำให้ปชช.เข้าใจว่า ร.10 ใช้อำนาจแทรกแซงการเมือง ละเมิดสิทธิมนุษยชน

จากถนนเลือนลั่นถึงผืนฟ้า: หลากเสียงสะท้อนบนถนนสาย 112

X