จับตาคำสั่งศาล: “รวิสรา” ผู้ถูกดำเนินคดี 112 อ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมัน ยื่นขอไปศึกษาต่อ ตปท. หลังได้ทุนเรียนต่อ

2 มี.ค. 2565 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ รวิสรา เอกสกุล บัณฑิตจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในจำเลยของคดีการชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 ซึ่งถูกสั่งฟ้องในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 ได้เข้ายื่นคำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรต่อศาล เนื่องจากได้รับทุนไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ

ก่อนหน้านี้ หลังอัยการสั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2564 และศาลอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยทั้งหมด โดยมีเงื่อนไขประการหนึ่ง คือห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรก่อนได้รับอนุญาตจากศาล

ต่อมา รวิสราได้รับทุนการศึกษา เพื่อไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทยังประเทศเยอรมนี เธอจึงได้เข้ายื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขออนุญาตเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2565 

แต่ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้มีคำสั่งว่า “เงื่อนไขการห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เพราะเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี การที่จำเลยขออนุญาตเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยอ้างว่าได้รับทุนในการศึกษาต่อ แต่เป็นการขอเดินทางในระยะที่ยาวนาน และกระทบกับวันนัดสืบพยานของศาลที่นัดไว้ล่วงหน้าแล้ว จึงเห็นควรไม่อนุญาต”

ในวันนี้ รวิสราจึงได้เข้ายื่นคำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรอีกครั้ง โดยคำร้องในครั้งนี้เป็นการระบุข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในแง่ของรายละเอียด โดยสรุปคือ

1. จำเลยเป็นผู้ได้รับทุนจากศูนย์บริการแลกเปลี่ยนทางวิชาการเยอรมัน (DAAD) สำหรับโปรแกรมเฮลมูท-ชมิดท์ ในระดับชั้นปริญญาโท หลักสูตรมหาบัณฑิตด้านการจัดการในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (Master of Management in Non-Profit Organisations) ณ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ออสนาบรีค (University of Applied Science Osnabruck) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งเป็นทุนให้เปล่า 

ทั้งนี้ เมื่อได้เป็นผู้รับทุนแล้วจะต้องเริ่มต้นการศึกษาจากหลักสูตรเตรียมความพร้อมในการเรียนตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 2565 ถึง 30 ก.ย. 2565 ณ กรุงเบอร์ลิน 

ภาพจดหมายตอบรับการให้ทุนการศึกษา

2. ระยะเวลาที่ต้องเข้ารับการอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าเรียน มีระยะเวลาห่างจากกำหนดการพิจารณาคดีเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน กล่าวคือ คดีนี้ศาลกำหนดนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 2, 3, 7 – 10 และ 14 มี.ค. 2566 ส่วนกำหนดนัดสืบพยานจำเลยนั้น คือ ในวันที่ 15 – 17 และ 21 – 23 มี.ค. 2566 

ดังนั้น การเข้ารับการอบรมฯ ย่อมไม่กระทบต่อการพิจารณาคดี และเมื่อเข้ารับการอบรมฯ เสร็จแล้ว จำเลยจะได้ติดต่อประสานงานกับมหาวิทยาลัยที่ได้รับทุน เพื่อขอขยายระยะเวลาการศึกษา เนื่องจากจำเลยต้องกลับมาเข้าร่วมการพิจารณาคดีในเดือน มี.ค. 2566 ซึ่งในขั้นตอนนี้จำเลยจำเป็นต้องดำเนินการด้วยตนเอง ณ มหาวิทยาลัยที่ได้รับทุนการศึกษา 

ทั้งนี้ เมื่อจำเลยยืนยันสิทธิการรับทุนดังกล่าวแล้ว จำเลยจะเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 15 ก.พ. 2566 เพื่อเข้าร่วมการพิจารณาคดี สืบพยานโจทก์และพยานจำเลย ตลอดจนฟังคำพิพากษาต่อไป

นัดตรวจพยานคดี #26ตุลาไปสถานทูตเยอรมัน ศาลไม่ให้นำสืบข้อมูลการเดินทางเข้าออกนอกประเทศของ ร.10 ก่อนนัดสืบพยาน มี.ค. 66

3. จำเลยได้ให้หลักประกันและยืนยันแก่ศาลว่า มีความตั้งใจที่จะกลับมาเข้าร่วมการพิจารณคดีของศาล โดยขอให้ศาลกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยสามารถเดินทาง-พำนักอยู่นอกราชอาณาจักรได้อย่างจำกัดถึงวันที่ 15 ก.พ. 2566 เท่านั้น และระหว่างที่ศึกษาอยู่จำเลยก็ยินดีที่จะไปรายงานตัวต่อศาล ณ สถานอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน หรือสถานกงสุลไทย ประจำประเทศเยอรมันทุก 30 วัน โดยให้บิดาของจำเลยเป็นผู้นำเอกสารหลักฐานการรายงานตัวของจำเลยมาเสนอต่อศาลทุกครั้งไป ซึ่งเอกสารนั้น จะต้องระบุที่อยู่จำเลยในประเทศเยอรมันไว้อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้หลังจากรวิสราได้ยื่นคำร้องครั้งที่ 2 ไปเมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้ยังไม่มีคำสั่งในทันที แต่ยังต้องรอส่งคำร้องให้รองอธิบดีศาลอาญากรุงเทพใต้พิจารณาต่อไป และคาดว่าจะมีคำสั่งในวันพรุ่งนี้

ทั้งนี้ คดีจากการชุมนุม #26ตุลาไปสถานทูตเยอรมัน เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 จัดขึ้นโดยกลุ่มราษฎร 2563 ผู้ชุมนุมได้เดินขบวนจากแยกสามย่านไปยังสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจําประเทศไทย เพื่อขอให้ตรวจสอบว่ากษัตริย์ไทยมีการใช้พระราชอำนาจบนดินแดนของเยอรมันหรือไม่ โดยรวิสราเป็นหนึ่งในผู้อ่านแถลงการณ์ของการชุมนุมเป็นภาษาเยอรมัน และไม่ได้มีบทบาทอื่นใดในการชุมนุมดังกล่าว

อ่านเรื่องราวของผู้ถูกดำเนินคดีนี้:

จากถนนเลือนลั่นถึงผืนฟ้า: หลากเสียงสะท้อนบนถนนสาย 112

X