“รวิสรา” จำเลย 112 เข้ายื่นคำร้องต่อศาล ขอไปเรียนต่อที่เยอรมันครั้งที่ 3 ศาลขอให้นำเอกสารรับรองจากมหาลัย-ผู้กำกับดูแลมาแสดง

10 มี.ค. 2565 – ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ทนายความพร้อม รวิสรา เอกสกุล ศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์ ภาควิชาภาษาเยอรมัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจำเลยในคดีความมาตรา 112 ในคดีความสืบเนื่องจากการอ่านแถลงการณ์ด้านหน้าสถานทูตเยอรมันในการชุมนุมเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 ได้เดินทางไปเพื่อยื่นคำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เนื่องจากรวิสราได้รับทุนไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทของรัฐบาลเยอรมนี The German Academic Exchange Service (DAAD) แต่ติดเงื่อนไขการประกันตัวของศาล ทำให้ไม่สามารถเดินทางออกไปได้ โดยในการเข้ายื่นคำร้องครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งที่ 3 แล้ว

>>> จับตาคำสั่งศาล: “รวิสรา” ผู้ถูกดำเนินคดี 112 อ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมัน ยื่นขอไปศึกษาต่อ ตปท. หลังได้ทุนเรียนต่อ

>>> ศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่ให้ “รวิสรา” ลาเรียนต่อ ตปท. อ้างยังไม่ผ่านการคัดเลือกทุน ยากจะกำกับดูแลให้ปฏิบัติตามเงื่อนไข ทั้งที่ส่งเอกสารยืนยันได้ทุนแล้ว

สำหรับเนื้อหาในคำร้องครั้งนี้ ระบุว่า ก่อนหน้านี้ จำเลยได้ยื่นคำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไปแล้ว 2 ครั้ง และศาลก็ได้มีคำสั่งยกคำร้องทั้ง 2 ครั้ง โดยครั้งล่าสุด ศาลมีคำสั่งว่า ศาลยังไม่เห็นว่าจำเลยผ่านการคัดเลือกได้รับทุนหรือไม่ ทั้งเงื่อนไขที่จําเลยเสนอมาว่า ยินดีจะไปรายงานตัวและแสดงที่อยู่ต่อสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยที่ประเทศเยอรมนีทุก ๆ 30 วัน โดยขอให้อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นนายประกันของจําเลยและบิดาเป็นผู้กํากับดูแลตามเงื่อนไข แต่บุคคลทั้งสองอยู่ในประเทศไทย ส่วนจําเลยอยู่ต่างประเทศ จึงเป็นการยากที่จะกํากับดูแล จึงไม่เป็นการหนักแน่นเพียงพอว่าจําเลยจะปฏิบัติตามเงื่อนไขโดยเคร่งครัด ซึ่งเงื่อนไขการประกันตัวห้ามว่าจําเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักรนั้นเป็นข้อสําคัญในการอนุญาต เพราะเกรงว่าจําเลยจะหลบหนี กรณีจึงยังไม่มีเหตุให้อนุญาต

จําเลยขอยืนยันต่อศาลว่าได้รับทุนดังกล่าวจริง โดยได้แนบรายละเอียดตามจดหมายมอบทุนและเอกสารการมอบทุน จดหมายจากตัวแทนผู้มอบทุนประจําประเทศไทยแจ้งรายละเอียดการมอบทุนและกําหนดการแผนการศึกษา และจดหมายของเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจํากรุงเทพฯ ที่มีถึงจําเลย 

จําเลยยืนยันต่อศาลว่า จําเป็นจะต้องเดินทางไปเพื่อเข้าเรียนหลักสูตรปรับพื้นฐานเตรียมความพร้อมในการเรียนระหว่างวันที่ 4 เม.ย. 2565 ถึงวันที่ 30 ก.ย. 2565 โดยในระยะเวลาดังกล่าวก็ยังไม่ได้เริ่มการพิจารณาคดีของจําเลยแต่อย่างใด นอกจากนี้ การเดินทางไปเรียนปรับพื้นฐาน จําเลยจะใช้โอกาสนี้ดําเนินการแจ้งกับมหาวิทยาลัยที่ให้ทุนจําเลยเพื่อขอพักการศึกษาในระหว่างที่จําเลยจะเดินทางกลับมาร่วมการพิจารณาคดีของศาลในปีหน้า และรอฟังคําพิพากษาของศาลต่อไป เพื่อรักษาสิทธิในการศึกษาของจําเลยไว้

จําเลยมีเจตนาต้องการกลับมาร่วมการพิจารณาคดีของศาลจริง และเพื่อให้ความมั่นใจแก่ศาล จําเลยจึงขออนุญาตต่อสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจําประเทศไทย เพื่อเดินทางและอยู่ในประเทศเยอรมนีเป็นระยะเวลาเพียง 6 เดือน เมื่อครบกําหนดแล้ว จําเลยย่อมไม่สามารถอยู่ในประเทศเยอรมนีอีกได้ เนื่องจากจะเป็นการผิดกฎหมาย และจําเลยจะเดินทางกลับมายังประเทศไทยต่อไป ซึ่งการเดินทางกลับมาประเทศไทยนั้นเป็นระยะเวลาก่อนที่จะมีการเริ่มสืบพยานในคดีนี้ และจําเลยจะอยู่ในประเทศไทยเพื่อร่วมพิจารณาคดีจนเสร็จสิ้น

อนึ่ง จําเลยขอถือเอาคําร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรฉบับลงวันที่ 7 ก.พ. 2565 และวันที่ 6 มี.ค. 2565 เป็นส่วนหนึ่งของคําร้องฉบับนี้ เพื่อให้ศาลใช้ประกอบการพิจารณา  ขอให้ศาลได้โปรดแต่งตั้งเอกอัครราชทูตไทยประจําประเทศเยอรมนีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้กํากับดูแลจําเลย ให้จําเลยมารายงานตัวต่อผู้กํากับดูแลในทุก 30 วัน และให้บิดาของจําเลย เป็นผู้ส่งเอกสารหลักฐานการรายงานตัวของจําเลยต่อศาลทุกครั้งไป

ทั้งนี้ หากศาลพิจารณาเห็นควรจะมีข้อกําหนดหรือเงื่อนไขใดๆ เพิ่มเติม เพื่อเป็นหลักประกัน ก็ขอให้ศาลได้โปรดออกข้อกําหนดดังกล่าว โดยที่จําเลยยินดีปฏิบัติตามคําสั่งของศาลทุกประการ

คำร้องยังยืนยันหลักการเรื่องที่จำเลยยังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาว่าเท่านั้น ยังมิได้ผ่านการพิจารณาพิพากษาว่าเป็นความผิด อีกทั้งการถูกกล่าวหาในฐานความผิดที่มีอัตราโทษทางอาญาไม่ได้เป็นเหตุผลเบ็ดเสร็จเพียงพอว่าจําเลยจะมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี ก่ออุปสรรค หรือก่อความเสียหายในการดําเนินคดี ศาลหรือองค์กรของรัฐจะปฏิบัติกับบุคคลนั้นเสมือผู้กระทําความผิดไม่ได้

หากพิจารณาตามหลักสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศฯ และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนดังกล่าวแล้ว การไม่อนุญาตให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรเพื่อไปศึกษาตามที่จําเลยได้รับทุนแล้วนั้น เป็นการทําลายโอกาสทางการศึกษาของจําเลยอย่างสิ้นเชิง และหากปรากฏผลคําพิพากษาของศาลในภายหลังว่าจําเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ก็ไม่อาจเยียวยาด้วยวิธีใดๆ ต่อโอกาสทางการศึกษาของจําเลยที่สูญเสียไปแล้ว

ต่อมาในช่วงเวลาราว 13.40 น. ทั้งทนายความและรวิสราได้รับแจ้งจากทางเจ้าหน้าที่ว่า ศาลต้องการให้ยื่นเอกสารรับรองจากมหาวิทยาลัยที่ได้ทุนว่ารวิสราได้รับทุนจริง และในการตั้งผู้กำกับดูแลต้องมีคำรับรองให้ความยินยอมจากผู้นั้นมาด้วย โดยที่ศาลไม่มีอำนาจตั้งเอกอัครราชทูตให้เป็นผู้กำกับดูแลจำเลยเองได้ 

ในชั้นนี้ รวิสาจึงขอคืนคำร้อง เพื่อเตรียมจัดหาเอกสารดังกล่าวมายื่นเพิ่มเติมใหม่ต่อไป

X