กระทู้ถาม-ตอบ รัฐบาลเยอรมันแสดงความกังวลต่อเหตุการณ์สิทธิฯ ในประเทศไทย เผยติดตามคดีทางการเมือง โดยเฉพาะคดี 112

เมื่อต้นเดือนสิงหาคม ปี 2564 ที่ผ่านมา ในกระทู้ถามทั่วไป รัฐบาลแห่งประเทศเยอรมนีได้ตอบคำถามต่อสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเสรีประชาธิปไตย (Freie Demokratische Partei หรือ FDP) โดยได้แสดงถึงความกังวลต่อเหตุการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยในเรื่อง การดำเนินคดีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลโดยใช้ข้อหาต่างๆ โดยเฉพาะ ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในหลายคดีโดยเฉพาะคดีการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนีประจำกรุงเทพฯ

พร้อมเผยว่าทางรัฐบาลเยอรมันทำการเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่องให้เคารพสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพของสื่อ และเสรีภาพในการชุมนุม และทางสถานฑูตฯคอยติดตามการปฏิบัติงานของพนักงานอัยการ เข้าร่วมการสังเกตการณ์ในพื้นที่การชุมนุมและกระบวนการศาล รวมถึงทำการติดต่อกับนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคดีการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนีประจำกรุงเทพฯ

โดยพรรคเสรีประชาธิปไตยได้มีข้อสังเกตต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยว่า มีผู้ชุมนุมที่ใช้สิทธิการชุมนุมโดยสันติถูกดำเนินคดี และมีนักเคลื่อนไหวถูกควบคุมตัวและปฏิเสธสิทธิการได้รับประกันตัว ขณะที่รัฐบาลเยอรมันได้ตอบกระทู้คำถามว่า ติดตามสถานการณ์การบังคับใช้มาตรา 112 อย่างใกล้ชิด โดยมีเนื้อหา ดังนี้ 

ข้อสังเกตเบื้องต้นต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย จากพรรคเสรีประชาธิปไตย

ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา มีผู้คนจำนวนมากในประเทศไทยเข้าร่วมการชุมนุมบนท้องถนน เพื่อเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปองค์กรต่างๆรวมถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ และให้นายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาลาออกจากตำแหน่ง

ประชาชนหลายพันคนเข้าร่วมการชุมนุมอย่างสันติ ซึ่งการชุมนุมในเดือนกันยายน 2563 นั้นถือว่าเป็นการชุมนุมที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมกว่า 70,000 คน ที่บริเวณใกล้กับพระบรมมหาราชวัง และอีกหนึ่งเดือนต่อมา ได้มีการชุมนุมอย่างสันติที่หน้าสถานทูตเยอรมนีในกรุงเทพฯ

จากการรายงานของ ฮิวแมนไรท์วอทช์(Human Rights Watch) ระบุว่า มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทยหลายคนที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นพระมหากษัตริย์ถูกคุมขังก่อนพิจารณาคดีเป็นเวลานาน และจากรายงานของ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) ระบุว่า นักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกควบคุมตัวและไม่ได้รับสิทธิให้ประกันตัวหลายสัปดาห์ และต้องเผชิญกับโทษจำคุกเป็นเวลานาน พร้อมวิจารณ์ว่านักเคลื่อนไหวทางการเมืองเพียงต้องการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมเท่านั้น แต่กลับต้องเผชิญการลงโทษที่รุนแรง

ทั้งนี้ ทางผู้ตั้งกระทู้ได้แสดงความคิดว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาในปี 2562 นั้นไม่เป็นธรรม ทำให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ปกครองประเทศต่อจากการรัฐประหารในปี 2557 อีกทั้งหลังการเลือกตั้ง ยังมีการยุบพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่เป็นอันดับสองและดำเนินการฟ้องร้องหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านดังกล่าวอีกด้วย

เปิด 9 คำถาม-ตอบ รัฐบาลเยอรมัน ชี้ คอยติดตามการดำเนินคดี มาตรา 112 อย่างใกล้ชิด

1.      รัฐบาลประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยไว้อย่างไร

ทางรัฐบาลได้แสดงความกังวลต่อการบังคับใช้กฎหมายในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ อย่างเข้มงวดและข้อหาอื่นๆ ได้แก่ ข้อหายุยงปลุกปั่น กีดขวางการจราจร ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ การใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และข้อหาตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาด เพื่อดำเนินคดีกลุ่มการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล อีกทั้งยังระบุอีกว่า มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกลอบทำร้ายและตั้งแต่ปี 2559 มีบุคคลฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลที่อยู่ระหว่างการลี้ภัยอย่างน้อย 9 คนได้หายตัวไป 

รัฐบาลเยอรมันระบุอีกว่าถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเป็นภาคีสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนเกือบทุกฉบับ และยังเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกฉียงใต้ที่ได้ประกาศใช้แผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน การทำหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ยังคงมีข้อจำกัดอยู่มาก ทำให้ถูกปรับลดสถานะจากสมาชิกเต็มรูปแบบในเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (Global Alliance of National Human Rights Institutions หรือ GANHRI) ซึ่งเป็นภาคีในปี 2559 ส่งผลให้ประเทศไทยถูกจำกัดการมีส่วนร่วมในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและทำให้ไม่มีสิทธิออกเสียงในการประชุมต่างๆ 

นอกจากนี้ รัฐบาลเยอรมันยังได้แสดงความกังวลต่อการประกาศของประเทศไทยว่า จะลดจำนวนฐานความผิดเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตเพื่อนำไปสู่การยกเลิกโทษประหาร แต่ยังไม่มีการดำเนินการในทิศทางดังกล่าวแต่อย่างใด

รายงานเหล่านี้จะถูกนำมาใช้เป็นหัวข้อในการเจรจาระดับทวิภาคีกับรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงในเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่จะถึงนี้ ประเทศไทยจะเข้าสู่กระบวนการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (UPR) ครั้งที่ 3 ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยจะมีการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศสมาชิกโดยประเทศสมาชิกรัฐอื่นในทุกๆ 5 ปี พร้อมข้อเสนอแนวทางในการปรับปรุง

2-3.    รัฐบาลได้ประเมินโทษจำคุกฐานหมิ่นพระมหากษัตริย์ไว้หรือไม่ อย่างไร และได้มีการประเมินการจับกุมและคุมขังก่อนการพิจารณาคดีของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทยที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นพระมหากษัตริย์หรือไม่ อย่างไร

เนื่องจากทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN OHCHR) ได้ระบุว่า ข้อหาการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาของไทยนั้นไม่สอดคล้องกับสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกตามมาตรา 19 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) เนื่องจากข้อหาดังกล่าวมีอัตราโทษที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับความผิดอาญาอื่นๆ รวมถึงอัตราโทษขั้นต่ำที่สูงเช่นกัน รวมถึงการแยกความผิดที่สอดคล้องกันออกเป็นความผิดหลายกระทง ทำให้มีอัตราโทษที่สูงขึ้นด้วย อย่างเช่นการแชร์ลิงก์เดียวหลายๆ ครั้ง อาจนำไปสู่การลงโทษในข้อหาเดียวแต่ต่างกรรมตามจำนวนครั้งที่ได้แชร์ลิงก์ดังกล่าว

ทางรัฐบาลเยอรมันได้นำประเด็นดังกล่าวมาหารือกับรัฐบาลไทยหลายครั้ง พร้อมทั้งชี้ให้ประเทศไทยตระหนักถึงพันธกรณีของตนภายใต้ ICCPR

 4.    รัฐบาลทราบหรือไม่ว่ามีผู้ถูกจำคุกจากการถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์แล้วเป็นจำนวนกี่คน และเป็นเวลาเท่าใด

ถึงแม้ว่าทางรัฐบาลไทยไม่ได้มีการเผยแพร่สถิติที่เกี่ยวข้องกับโทษจำคุกในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ก็ตาม แต่เท่าที่ทางรัฐบาลทราบคือ นับตั้งแต่มีการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม ปี 2557 เป็นต้นมา มีผู้ถูกจับกุมด้วยข้อหาดังกล่าวแล้วอย่างน้อย 146 คน และถูกพิพากษาจำคุกไปแล้ว 57 คน โดยโทษจำคุกที่สูงที่สุดคือ 87 ปี

ในปัจจุบัน ผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาดังกล่าวแล้วอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีมีอย่างน้อย 110 คน โดยที่ยังไม่มีการตัดสินโทษ ซึ่งในจำนวนนี้ บางคนโดนดำเนินคดีในข้อหานี้ถึง 20 คดี

 5.    รัฐบาลทราบหรือไม่ว่านักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เข้าร่วมการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนีประจำกรุงเทพฯ ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นพระมหากษัตริย์ ถ้าทราบ รัฐบาลมีความคิดเห็นและมีความรู้สึกต้องรับผิดชอบช่วยเหลือต่อผู้ถูกดำเนินคดี

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งหมด 13 คน เข้าร่วมการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนีประจำกรุงเทพฯ ก่อนถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ซึ่งปัจจุบันได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หลังวางหลักทรัพย์เป็นหลักประกัน

ทั้งนี้ทางรัฐบาลได้ส่งสัญญาณต่อทางการไทยอย่างชัดเจนว่า ทางรัฐบาลสนับสนุนเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นของผู้ชุมนุม ตามที่ทางกรรมาธิการเพื่อสิทธิมนุษยชนและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของรัฐบาลเยอรมันได้แสดงความกังวลต่อเหตุการณ์นี้ผ่านทางทวิตเตอร์ 

และทางสถานทูตเยอรมนีประจำกรุงเทพฯ ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การสั่งฟ้องคดีการชุมนุมหน้าสถานฑูตฯ เพื่อติดตามการปฏิบัติงานของพนักงานอัยการและการพิจารณาคดี รวมถึงได้ติดต่อสื่อสารกับผู้ถูกดำเนินคดีในกรณีการชุมนุมหน้าสถานฑูตฯ อยู่เสมอ 

 6.    รัฐบาลมีข้อสรุปอย่างไรจากการรายงานเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมในประเทศไทยโดยองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ไม่ว่าจะจาก ฮิวแมนไรท์วอทช์และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

ทางรัฐบาลได้มีการติดต่อแลกเปลี่ยนกับองค์กรเหล่านี้และองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ ด้วย รวมถึงได้ทำการเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่องให้เคารพสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพของสื่อ และเสรีภาพในการชุมนุม และให้ทุนสนับสนุนโครงการในประเทศไทยที่เน้นการทำงานในประเด็นเรื่องเสรีภาพดังกล่าวอีกด้วย

อีกทั้ง ทางสถานทูตเยอรมนีประจำกรุงเทพฯ ได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ที่จัดโดยองค์กรต่างๆ และงานที่จัดขึ้นเอง อย่างเช่น งานวันสิทธิมนุษยชนโลก ที่จัดขึ้นทุกปีวันที่ 10 ธันวาคม ที่สถานฑูตฯ รวมถึงมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดและให้ทุนสนับสนุนโครงการกับองค์กรภาคประชาสังคมเพื่อใช้แก้ปัญหาได้ตรงจุด

 7.      ในฐานะที่ประเทศเยอรมันมีที่นั่งอยู่ในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติถึงปี 2565 รัฐบาลจะส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างไร

ในฐานะที่มีที่นั่งอยู่ในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ทางรัฐบาลต่อต้านการถดถอยจากหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยได้จำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมอย่างมากตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด 19 โดยที่ผ่านมาทางรัฐบาลคอยสนับสนุนการปฎิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยทุกระดับ โดยมีการพูดคุยกับรัฐบาลไทย พรรคการเมืองและสมาชิกวุฒิสภาในหลายครั้ง และเข้าร่วมการสังเกตการณ์ในพื้นที่การชุมนุม กระบวนการศาล รวมถึงได้ทำการติดต่อกับนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง  

8.      รัฐบาลประเมินความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างเยอรมนีและไทยในปัจจุบันต่อเรื่อง สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย รัฐบาลไทยในปัจจุบัน และด้านเศรษฐกิจในระดับทวิภาคี อย่างไร

 เนื่องจากว่า ประเทศไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญต่อประเทศเยอรมนีมาเป็นเวลานาน จึงได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งทางรัฐบาลเยอรมนีเองได้เน้นย้ำเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม ตลอดจนการปฏิบัติตามมาตรฐานหลักนิติธรรมและประชาธิปไตยอย่างสม่ำเสมอ

ในด้านเศรษฐกิจ ประเทศเยอรมนีถือเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยในสหภาพยุโรป มีบริษัทเยอรมันกว่า 600 แห่งตั้งอยู่ในประเทศไทยและมีพนักงานโดยรวมอยู่ประมาณ 200,000 คน นอกจากนี้ยังมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในด้านเศรษฐกิจและการศึกษาโดยเฉพาะในด้านความร่วมมือด้านการอาชีวศึกษา และก่อนการระบาดของโควิด-19 การท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทย ในแต่ละปีมีชาวเยอรมันเดินทางมาประเทศไทยมากถึง 900,000 คน นอกจากนี้ มีชาวเยอรมันประมาณ 35,000 คนอาศัยอยู่ในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงมีบทบาทสำคัญสำหรับประเทศเยอรมนีในภูมิภาคนี้

 9.    รัฐบาลรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับ ร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสดงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกันหรือไม่ รวมถึงมีความกังวลเรื่องผลกระทบต่อภาคประชาสังคมและได้แลกเปลี่ยนความเห็นต่อกฎหมายฉบับนี้กับรัฐบาลไทยมากน้อยเพียงใด

ตามที่มีการเผยแพร่ร่างกฎหมายในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ร่างกฎหมายฉบับนี้มีแนวโน้วที่จะขัดขวางการดำเนินงานขององค์กรพัฒนาเอกชนและผู้มีบทบาทในภาคประชาสังคม จึงได้ทำการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้แทนระดับสูงของรัฐบาลไทยหลายครั้ง และหลังจากการแก้ไขแล้วเสร็จ ทางรัฐบาลจะเสนอคำแนะนำต่อตัวกฎหมายร่วมกับประเทศอื่นที่มีแนวความคิดคล้ายคลึงกัน รวมถึงจะทำการแลกเปลี่ยนกับภาคปราสังคมอย่างใกล้ชิดอีกด้วย

แปลและเรียบเรียงจาก: https://dserver.bundestag.de/btd/19/319/1931958.pdf 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: 

>> “พรรคกรีน” แถลงแสดงจุดยืนร่วมผู้ชุมนุม 13 ราย คดีม. 112 หน้าสถานทูตเยอรมนี พร้อมประณามการดำเนินคดีอาญากับผู้ชุมนุมอย่างสันติ 

>> ฐานข้อมูลคดีการชุมนุมหน้าสถานฑูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 64

>> บทบัญญัติที่ไม่ควรมีที่ทางในประเทศประชาธิปไตย: ย้อนดู ม.112 ในสายตากลไกสิทธิมนุษยชน UN 

X