1 ปีกว่าของการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง ยื่นเงินประกันไปแล้วมากกว่า 40 ล้านบาท ใน 689 ครั้ง

นับตั้งแต่ปี 2563 หลังการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างกว้างขวางของนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ไม่ว่าจะเป็นทางออนไลน์ ในโรงเรียน และในพื้นที่สาธารณะ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่รัฐก็ตอบโต้การใช้สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนโดยการดำเนินคดี

การดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชน โดยเฉพาะในคดีในข้อหาหมวดความมั่นคงฯ ตำรวจจะยื่นคำขอฝากขังระหว่างการสอบสวน โดยส่วนมากแล้ว ศาลจะมีคำสั่งให้ฝากขัง ซึ่งเป็นการสร้างภาระทางการเงินต่อผู้ถูกดำเนินคดีที่ต้องนำหลักทรัพย์มาวางประกัน เพื่อเข้าถึงสิทธิในการประกันตัว เช่นเดียวกับการสั่งฟ้องคดีในชั้นศาล ที่ต้องวางหลักทรัพย์ในการประกันตัว ทำให้ปรากฏสถานการณ์การระดมทุนสำหรับกองทุนช่วยเหลือคดีทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาเป็นจำนวนมาก

ตามสถิติของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่การชุมนุมครั้งแรกของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 63 ถึง 20 ส.ค. 64 พบว่าหลักทรัพย์ทั้งหมด 40,233,500 บาท ถูกวางเป็นเงินประกันในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาคดีรวมแล้ว 689 ครั้ง สำหรับ 478 คน ใน 194 คดี

ในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีที่มีการยื่นประกันทั้งหมดนั้น แบ่งได้เป็นผู้ชาย 367 คน ผู้หญิง 84 คน และ LGBTQ+ 25 คน ในข้อหาหลักๆ คือ

  • ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา มีการยื่นประกันไป 93 ครั้งใน 68 คดี
  • ข้อหายุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา มีการยื่นประกันไป 52 ครั้ง ใน 9 คดี
  • ข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีการยื่นประกันไป 450 ครั้ง ใน 71 คดี

(จำนวนครั้ง หมายถึง จำนวนครั้งในการยื่นประกันขอปล่อยตัวชั่วคราว ต่อคนในหนึ่งคดี ซึ่งการยื่นประกันสำหรับประชาชน 1 คนใน 1 คดี สามารถทำได้หลายครั้ง ขึ้นอยู่กับว่าศาลให้ประกันตัวหรือไม่)

จากสถิติดังกล่าว ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากกรณีการใช้สิทธิในการเข้าร่วมการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง มีแนวโน้มที่จะโดนตำรวจยื่นขอฝากขังระหว่างการสอบสวนต่อศาล หรือต้องยื่นขอประกันตัวหลังอัยการสั่งฟ้องคดี ซึ่งต้องใช้จำนวนเงินมหาศาลวางเป็นหลักทรัพย์เพื่อได้รับการประกันตัว

.

1 ปีกว่าของการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เงินประกันถูกใช้ไปแล้วมากกว่า 40 ล้านบาท

.

สำหรับชั้นสอบสวน มีการใช้หลักทรัพย์วางเป็นหลักประกันทั้งหมด 353 ครั้งใน 112 คดี รวมแล้วเป็นจำนวนเงินทั้งหมด 20,383,000  บาท  จำแนกตามข้อหาหลัก ได้แก่

  • ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา มีการยื่นประกันไป 38 ครั้งใน 37 คดี รวมเป็นเงิน 5,558,000 บาท
  • ข้อหายุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 มีการยื่นประกันไป 24 ครั้ง ใน 5 คดี รวมเป็นเงิน 2,960,000 บาท
  • ข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีการยื่นประกันไป 244 ครั้ง ใน 50 คดี รวมเป็นเงิน 10,317,000 บาท

สำหรับชั้นพิจารณาคดีในศาล มีการใช้หลักทรัพย์วางเป็นหลักประกันทั้งหมด 334 ครั้งใน 82 คดี รวมแล้วเป็นจำนวนเงินทั้งหมด 19,850,500 บาท  ซึ่งจำแนกตามข้อหาหลักได้แก่

  • ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา มีการยื่นประกันไป 55 ครั้งใน 31 คดี รวมเป็นเงิน 10,045,000 บาท
  • ข้อหายุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 มีการยื่นประกันไป 28 ครั้ง ใน 4 คดี รวมเป็นเงิน 1,310,000 บาท
  • ข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีการยื่นประกันไป 206 ครั้ง ใน 21 คดี รวมเป็นเงิน 5,817,500 บาท

หลักทรัพย์ดังกล่าวส่วนใหญ่ที่วางเป็นเงินประกันให้กับผู้ต้องหาและจำเลยนั้น เป็นการช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ และ กองทุนดา ตอร์ปิโด

นอกจากหลักทรัพย์ที่เป็นเงินแล้ว ยังคงมีหลักประกันที่สามารถถูกตีค่าเป็นเงินได้ คือ การใช้ตำแหน่งบุคคลเป็นหลักประกันพบว่ามีการใช้ตำแหน่งบุคคลอย่างอาจารย์มหาวิทยาลัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือข้าราชการ ประกันตัวไปแล้ว 127 ครั้งใน 25 คดี ตีเป็นมูลค่า 8,063,000 บาท

และในบางคดี ผู้ถูกดำเนินคดีได้นำทรัพย์สินส่วนตัวของตนมาวางเป็นหลักประกันเพื่อได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากศาลด้วย

ทั้งหลักประกันตัวบางส่วน ทางกองทุนช่วยเหลือคดีทางการเมืองหรือผู้วางหลักประกันจะได้รับคืน หลังคดีไม่ได้มีการสั่งฟ้องภายในช่วงของการขอฝากขังในชั้นสอบสวนด้วย 

เงินประกันเกินแสนสำหรับคดี 112

จำนวนเงินที่สูงที่สุดเพื่อใช้ประกันตัวผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ในชั้นสอบสวนคือ 200,000 บาท ใน 6 คดี และในชั้นพิจารณาคดี จำนวนเงินที่สูงทีสุดคือ 300,000 บาท ใน 2 คดี ได้แก่ คดีปราศรัยหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี เรียกร้องปล่อยตัว “นิว สิริชัย” ของ “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ และ “ฟ้า” พรหมศร วีระธรรมจารี และในคดีของ หนุ่มสุโขทัยถูกแจ้ง 112 เหตุคอมเมนต์ในเฟซบุ๊ก ที่ถูกประชาชนทั่วไปเป็นผู้กล่าวหา

ส่วนจำนวนเงินที่น้อยที่สุดเพื่อใช้ประกันตัวในชั้นสอบสวนและพิจารณาคดีคือ 90,000 บาท ในคดีแชร์โพสต์จากเพจ “เยาวชนปลดแอก” พร้อมเขียนข้อความวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ โดยมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้กล่าวหา

สำหรับคดีของเยาวชน จำนวนเงินที่ใช้เป็นหลักประกันในชั้นสอบสวนที่มากสุดคือ 20,000 บาท ในคดีพ่นสีและจุดไฟใส่รูปร.10 ที่หน้าศาลฎีกาขณะชุมนุม #ม็อบ20มีนา และน้อยสุดคือ 8,000 บาท ในคดีใส่เสื้อครอปท็อปใน #ม็อบ29ตุลา รันเวย์ของประชาชน

ส่วนในชั้นพิจารณาคดีนั้น ปัจจุบันมีเยาวชนคน 1 คน คือ “เพชร” ธนกร ในคดีชุมนุม #ม็อบ6ธันวา ที่วงเวียนใหญ่ ที่ถูกฟ้องด้วยมาตรา 112 ได้รับการประกันโดยหลักทรัพย์จำนวน 5,000 บาท 

ภาระทางการเงินปิดกั้นการเข้าถึงสิทธิการประกันตัว

ที่ผ่านมา มีการแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวข้องกับการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยตามมาตรา 110 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2477 โดยการออก พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ฉบับที่ 30 พ.ศ. 2558 และ ฉบับที่ 34 ปี พ.ศ. 2562

ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2558 ได้แก้ไขวรรคสามของมาตรา 110 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยกำหนดว่า

“การเรียกประกันหรือหลักประกันตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองจะเรียกจนเกินควรแก่กรณีมิได้ และต้องคํานึงถึงเงื่อนไขและมาตรการป้องกันต่างๆ ที่ได้ใช้กับผู้ถูกปล่อยชั่วคราวประกอบด้วย ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง หรือข้อบังคับของประธานศาลฎีกา แล้วแต่กรณี”

ตามมาตรา 3 ของพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 34) พ.ศ. 2562 ได้แก้ไขวรรคหนึ่งของมาตรา 110 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยกำหนดว่า

“มาตรา 110 ในคดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป ผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราวต้องมีประกัน และจะมีหลักประกันด้วยหรือไม่ก็ได้”

เพื่อให้โอกาสผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมากขึ้น รวมถึงเป็นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ลดปัญหาการหาหลักประกันและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

รวมถึงเพื่อความสอดคล้องกับมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่กำหนดไว้ว่า ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดและการควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้มีการหลบหนี โดยคำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณาและจะเรียกหลักประกันจนเกินควรแก่กรณีมิได้

แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประชาชนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดี โดยเฉพาะคดีทางการเมือง กลับต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลเป็นหลักประกัน ซึ่งสร้างภาระทางการเงินต่อผู้ถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน นักเรียนและนักศึกษาที่อาจจะไม่สามารถหาเงินจำนวนมากมาใช้เป็นหลักประกันเพื่อขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้ ทำให้ต้องถูกคุมขังและลิดรอนสิทธิในการเข้าถึงสิทธิในการประกันตัว 

ทั้งคดีจำนวนมากยังเกิดขึ้นจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม การออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยและความเท่าเทียมในสังคม ไม่ใช่ความผิดอาญาโดยแท้ เหมือนการฆ่าคนตาย หรือการก่ออาชญากรรมชนิดอื่นๆ 

ถึงแม้เงินประกันจะถูกคืนให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยหลังจากที่คดีสิ้นสุด ไม่ว่าจะเป็นเพราะไม่สั่งฟ้อง ยกฟ้อง หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุด ข้อกำหนดที่ต้องใช้เงินวางเป็นหลักประกันก็ยังสร้างภาระทางการเงินให้แก่ประชาชนที่ถูกดำเนินคดี อีกทั้งเป็นการปิดกั้นสิทธิในการได้รับการประกันการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองและการชุมนุมตั้งแต่ต้นอีกด้วย

.

X