ศาลอาญาให้ประกันตัว 16 ผู้ถูกจับกุมจาก #ม็อบ20มีนา หลังถูกแจ้ง 6 ข้อกล่าวหา

22 มี.ค. 64 จากกรณีการจับกุมผู้ชุมนุมและประชาชนระหว่างการสลายการชุมนุม #ม็อบ20มีนา ที่ท้องสนามราษฎร์ (สนามหลวง) และบริเวณใกล้เคียง ก่อนมีการนำตัวผู้ถูกจับกุมไปที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 จำนวน 30 คน โดยเป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 7 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินคดีแยกเป็น 6 คดีตามพื้นที่ที่มีการจับกุม บางส่วนได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากถูกเปรียบเทียบปรับ ส่วนที่เป็นเยาวชนก็ได้รับการปล่อยตัวไปหลังแจ้งข้อกล่าวหา และได้ประกันตัวที่ศาลเยาวชนฯ โดยแยกพิจารณาเป็นรายคดีได้ดังต่อไปนี้

>> ประมวลสถานการณ์สลายชุมนุม #ม็อบ20มีนา กลุ่ม REDEM และแนวร่วมเผชิญทั้งแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง ก่อนถูกจับ 32 ราย

 

ภาพการจับกุมผู้ชุมนุมชุดแรก (ภาพจาก @SAHINOP)

 

คดีที่ 1 ผู้ชุมนุมที่บริเวณศาลฎีกาและแยกสะพานผ่านฟ้า รวม 5 คน

คดีนี้เป็นกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมชุดแรก จำนวน 5 คน ตั้งแต่ในช่วงที่เจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมที่หน้าศาลฎีกา โดยมีชุดเจ้าหน้าที่วิ่งเข้าไล่จับกุมผู้ชุมนุม รวมทั้งยังมีกรณีของหญิงผู้พิการทางหู ซึ่งยืนถือป้ายข้อความ “เอา คืนมา ขอความสุขคืนประชาชน” ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนบริเวณใกล้แยกสะพานผ่านฟ้า ก็ได้ถูกควบคุมตัวไปด้วย

ในช่วงดึกวันที่ 20 มี.ค. 64 ภายใน บก.ตชด. ภาค 1 พนักงานสอบสวนสน.ชนะสงครามได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด 6 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนใช้กำลังประทุษร้าย ให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 216, ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน  และทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่

พฤติการณ์ข้อกล่าวหาระบุว่าเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 64 เวลาประมาณ 17.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 200 คน ได้มีการรวมตัวกันบริเวณหน้าพระแม่ธรณีบีบมวยผม ข้างศาลฎีกา จนกระทั่งมีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 30 คน เดินเท้ามาจากหน้าร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มาสมทบกับกลุ่มผู้ชุมนุม และทยอยมีผู้ชุมนุมเพิ่มถึงประมาณ 500 คน ในกลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียงพูดปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาล

เวลา 17.35 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้เครื่องขยายเสียงพูดประกาศให้ทราบว่าการชุมนุมผิดกฎหมาย และให้ผู้ชุมนุมได้แยกย้ายเลิกชุมนุม แต่ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมโห่ร้องด่าทอ และไม่ยอมเลิกการชุมนุม กลุ่มผู้ชุมนุมได้มาชุมนุมที่หน้าตู้คอนเทนเนอร์ที่ตั้งกันไว้ เพื่อไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมได้ลุกล้ำหรือเข้าไปในเขตพระราชฐาน และหลังตู้คอนเทนเนอร์นั้นได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนหลายกองร้อยตั้งกำแพงหลังตู้คอนเทนเนอร์อีกขั้นหนึ่ง

ต่อมาเวลาประมาณ 18.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้ฉีดสเปรย์สีที่ตู้คอนเทนเนอร์ และเริ่มใช้เชือกผูกตู้คอนเทนเนอร์และช่วยกันดึงลงเพื่อเปิดทาง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประกาศห้าม แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอมหยุด กลับขว้างปาสิ่งของและประทัดยักษ์เข้าใส่เจ้าหน้าที่ พร้อมมีการใช้หนังสติ๊กยิงลูกเหล็กและลูกแก้วใส่เจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จึงได้ประกาศและฉีดน้ำเพื่อหยุดการกระทำ แต่ไม่สามารถหยุดยั้งได้ มีกลุ่มผู้ชุมนุมได้ฝ่าด่านเจ้าหน้าที่ โดยมีการทำร้ายเจ้าหน้าที่ จึงได้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนจับกุมตัวและลำเลียงส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี

ผู้ต้องหาทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาดังกล่าว และไม่ยินยอมลงชื่อในบันทึกการจับกุม

 

(ภาพจาก @SAHINOP)

 

คดีที่ 2 กลุ่มผู้ถูกจับกุมจากบริเวณแยกคอกวัว รวม 5 คน

คดีนี้ กลุ่มผู้ชุมนุม 5 คนถูกจับกุมจากบริเวณแยกคอกวัว และนำตัวไปยัง บก.ตชด.ภาค 1 เช่นกัน หนึ่งในผู้จับกุม คือนายธนพัฒน์ หรือ “ปูน” อายุ 18 ปี

พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ได้แจ้งข้อกล่าวหา 6 ข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับผู้ถูกจับกุมชุดแรก และมีการบรรยายพฤติการณ์ในคดีเช่นเดียวกันกับคดีแรก และระบุไปตอนท้ายเพิ่มเติมว่ากลุ่มผู้ชุมนุมได้หลบหนี แต่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนจับกุมตัวได้ที่บริเวณแยกคอกวัว

ผู้ต้องหาทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาดังกล่าว และไม่ยินยอมลงชื่อในบันทึกการจับกุม

 

คดีที่ 3-4 กลุ่มผู้จับกุมจากบริเวณสะพานวันชาติ รวม 8 คน (แยกคดีเยาวชน 2 คน)

กรณีนี้กลุ่มผู้ชุมนุม 8 คน ถูกจับกุมจากบริเวณสะพานวันชาติ ในจำนวนนี้มีเยาวชนอายุ 15-16 ปี จำนวน 2 คน ผู้จับกุมกลุ่มนี้ทั้งหมดได้รับบาดเจ็บมาก โดยมี 1 ราย ได้ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลตำรวจเพื่อตรวจรักษา

พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ได้แจ้งข้อกล่าวหา 6 ข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับผู้ถูกจับกุมสองชุดแรก และมีการบรรยายพฤติการณ์ในคดีเช่นเดียวกันด้วย และระบุไปตอนท้ายเพิ่มเติมว่ากลุ่มผู้ชุมนุมได้หลบหนี แต่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนจับกุมตัวได้ที่บริเวณสะพานวันชาติ

ผู้ต้องหาทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาดังกล่าว และไม่ยินยอมลงชื่อในบันทึกการจับกุม

หลังจากแจ้งข้อกล่าวหาในวันที่ 21 มี.ค. 64 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปล่อยตัวเยาวชน 2 คนไป พร้อมนัดหมายผู้ปกครองพาไปตรวจสอบการจับกุมที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ก่อนศาลเยาวชนฯ จะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเยาวชนไป

 

 ภาพการจับกุมบริเวณสะพานวันชาติ (ภาพจาก @WPabuprapap)

 

คดีที่ 5 เยาวชน 2 คน ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112

คดีนี้ เยาวชน 2 ราย อายุ 14 และ 15 ปี ถูกจับกุมจากบริเวณถนนพระราม 6 โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าทั้งสองคนเกี่ยวข้องกับกรณีแสดงออกต่อภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในระหว่างการชุมนุม

เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหา 5 ข้อกล่าวหาต่อทั้งสองคน ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 215, มาตรา 216, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ

เจ้าหน้าที่ระบุพฤติการณ์ว่าระหว่างการชุมนุมวันที่ 20 มี.ค. 64 พ.ต.ต.อภิสิทธิ์ ธัยยามาตร์ สว.กก.สส 1 บก.สส. อยู่บริเวณภาพพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 บริเวณถนนราชดำเนินใน และได้มีผู้โยนขยะใส่ภาพ นำสีสเปรย์มาพ่น และเทขวดพลาสติก ทำให้เกิดไฟลุกไหม้ ก่อนจะมีประชาชนดับไฟดังกล่าว เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบและได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ร่วมติดตามจับกุมผู้ต้องหา

ทั้งสองคนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ยินยอมลงชื่อในบันทึกการจับกุม โดยมีผู้ปกครองร่วมรับฟังการสอบสวนใน บก.ตชด.ภาค 1 จากนั้นทางตำรวจได้ให้ปล่อยตัวทั้งสองคนไป และนัดหมายให้ผู้ปกครองพาไปตรวจสอบการจับกุมที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางในช่วงวันที่ 21 มี.ค. 64

ต่อมาทางศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้ตรวจสอบการจับกุมของตำรวจ ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ และได้ให้ประกันตัวเยาวชนทั้งสองคนไป โดยให้วางหลักทรัพย์คนละ 20,000 บาท เพื่อใช้ในการประกันตัว โดยนัดหมายให้มารายงานตัวต่อศาลอีกครั้งวันที่ 24 มี.ค. 64

 


.

คดีที่ 6 กลุ่มผู้ขับรถจักรยานยนต์ 10 คน ถูกปรับข้อหาก่อความเดือดร้อนรำคาญ

คดีนี้ มีกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ถูกจับกุมจากบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาส จำนวน 10 คน ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุระหว่าง 15-17 ปี รวม 3 คน

เจ้าหน้าที่ตำรวจสน.นางเลิ้ง ได้กล่าวหาว่าเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 64 เวลาประมาณ 01.00 น. ขณะเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนพร้อมพวก วางกำลังเตรียมป้องกันการชุมนุมอยู่บริเวณสะพานวันชาตินั้น กลุ่มผู้ต้องหาได้ขับรถจักรยานยนต์หลายคัน วนไปมา มีการเร่งคันเร่งรถเพื่อให้เกิดเสียงดัง และส่งเสียงตะโกนโหวกเหวกก่อความเดือดร้อนรำคาญ เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนได้ตักเตือนให้กลับบ้าน แต่กลุ่มผู้ต้องหาไม่กลับ เจ้าหน้าที่จึงได้ร่วมกันจับกุมเพื่อส่งสน.นางเลิ้ง และได้พาผู้ต้องหาทั้งสิบคนไปยังที่ บก.ตชด.ภาค 1

ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาเรื่องการส่งเสียงดังก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ และให้เปรียบเทียบปรับทั้ง 10 คน คนละ 500 บาท แล้วให้ปล่อยตัวไปทั้งหมด โดยตำรวจได้นำตัวไปปล่อยที่สน.นางเลิ้ง ในช่วงวันที่ 21 มี.ค. 64

 

ศาลให้ประกันตัว 16 ผู้ต้องหา หลักทรัพย์คนละ 35,000 บาท

22 มี.ค. 64 ช่วงคืนที่ผ่านมายังมีผู้ถูกควบคุมตัวไว้ที่ บก.ตชด.ภาค 1 จำนวน 16 คน เนื่องจากตำรวจไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวในชั้นสอบสวน และเช้านี้พนักงานสอบสวนจาก สน.ชนะสงคราม และ สน.นางเลิ้ง ซึ่งเป็นเจ้าของสำนวนแต่ละคดี ได้ยื่นขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลอาญาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยไม่ได้นำตัวไปศาลแต่อย่างใด

ส่วนที่ศาลอาญา ทางทนายความได้ยื่นหลักทรัพย์คนละ 35,000 บาท เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวทั้ง 16 คน โดยเป็นหลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์ ที่ช่วยเหลือการประกันตัวในคดีการเมือง

จนเวลา 14.40 น. ศาลอาญาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง 16 คน โดยให้นายประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ วางหลักประกันคนละ 35,000 บาท รวมเป็นเงิน 560,000 บาท และนัดให้ทั้งหมดมารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 11 พ.ค. 64 เวลา 8.30 น.

 

 

X