คณะราษฎร 2563: ชวนทบทวน “ที่สุด” ของการชุมนุมและหมุดหมายใหม่ของการเปลี่ยนแปลง

ปี 2563 นับได้ว่าเป็นปีที่มีการชุมนุมทางการเมืองมากครั้งที่สุดปีหนึ่ง อาจนับได้ว่ามากที่สุดหลังการรัฐประหาร ปี 2557 เป็นต้นมา นักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชน ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างเบ่งบานที่สุด หรือในแง่พื้นที่ที่มีการชุมนุม จำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุม รูปแบบการจัดการชุมนุม เนื้อหาการปราศรัย หรือแม้แต่ประเด็นที่เรียกร้อง ก็เป็นไปอย่างกว้างขวางและหลากหลาย ควบคู่กันไปการผลักดันเป้าหมายหลัก นั่นก็คือการสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตยและการ #ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

จากการติดตามของศูนย์ทนายฯ เพียงช่วงเวลา 85 วัน ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 63 จนถึงวันที่ 10 ต.ค. 63 มีการจัดชุมนุมสาธารณะจำนวนอย่างน้อย 246 การชุมนุม ในพื้นที่อย่างน้อย 62 จังหวัด โดยเฉลี่ยมีการชุมนุมวันละ 2.9 ครั้ง หรือเกือบ 3 ครั้งต่อวัน

ในระยะเวลาอันแสนสั้นเพียงแค่ 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ #เยาวชนปลดแอก พามวลชนก้าวเดินลงถนน ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนกระทั่งวันที่เหล่าแกนนำหลากหลายกลุ่มร่วมกันประกาศจัดตั้งขบวนการเคลื่อนไหวในนามกลุ่ม #คณะราษฎร2563 เหล่าเยาวชนและแนวร่วมได้สร้างสรรค์รูปแบบการชุมนุมที่แปลกใหม่และน่าจดจำในหลายด้าน ศูนย์ทนายฯ จึงอยากรวบรวมเรื่องราว “ความเป็นที่สุด” ในด้านต่าง ๆ ของแต่ละการชุมนุม เพื่อบันทึกไว้เป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย และเพื่อทบทวนสถานการณ์บางส่วนที่อาจส่งผลถึงสถานการณ์การชุมนุมในปีนี้และปีต่อ ๆ ไป ที่ยังดำเนินต่อไปในฐานะเครื่องมือหนึ่งในการต่อสู้ของประชาชน

ชุมนุม #เยาวชนปลดแอก 18 ก.ค. > ม็อบที่ “จุดติด” ที่สุด

ภายหลังจากที่สถานการณ์โควิดทำให้การชุมนุมประท้วงแบบดาวกระจายทั่วประเทศต้องหยุดชะงักลง จนกระทั่งเมื่อรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค (แต่ยังคงบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่) กระแสการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักเรียนนักศึกษาจึงได้ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง โดยเริ่มแรกจากการชุมนุมขนาดเล็กๆ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลติดตามกรณีการหายตัวไปของ #วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือการชุมนุมหลายจุดเพื่อรำลึกถึงคณะราษฎรที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ก่อนที่ต่อมาในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จะเกิดการชุมนุมใหญ่ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นำโดยกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก”

หากเทียบด้วยจำนวนของผู้เข้าร่วม การชุมนุมครั้งนี้อาจไม่ใช่การชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุด แต่ทว่ามีความสำคัญมากในฐานะที่เป็นชนวนที่จุดติดจนนำไปสู่การชุมนุมอีกมากมายตลอดระยะเวลา 6 เดือนต่อมาที่จะค่อยๆ เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหว #คณะราษฎร2563 – ภาพสะท้อนพลังเยาวชนและคนรุ่นใหม่ที่ขึ้นมามีบทบาทนำในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

ในการชุมนุมครั้งแรกสุดของเยาวชนปลดแอก แกนนำได้ประกาศข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ ยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน และแก้รัฐธรรมนูญใหม่ พร้อมให้เวลารัฐบาล 2 สัปดาห์ เพื่อทำตามข้อเรียกร้อง ถึงแม้ในภาพรวม การชุมนุมจะจบลงโดยไม่มีความรุนแรง แต่พบว่ามีกรณีคุกคามผู้เข้าร่วมในการชุมนุมนี้ 2 กรณีด้วยกัน โดยกรณีแรก คือกรณีของเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่พยายามริบป้ายกระดาษจากเยาวชนรายหนึ่ง เนื่องจากป้ายดังกล่าวมีข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ อีกกรณีคือ เจ้าหน้าที่พยายามจะพาตัวนักกิจกรรมรายหนึ่งที่ถือป้ายข้อความซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันฯ ออกจากพื้นที่ แต่ทางผู้ชุมนุมได้ร่วมกันดึงตัวนักกิจกรรมรายนั้นกลับมา

จากข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ในระยะเวลา 2 อาทิตย์ต่อมา พบว่ามีการจัดกิจกรรมการชุมนุมเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องของเยาวชนปลดแอกทั้งหมด 75 กิจกรรม ใน 44 จังหวัด อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมชุมนุมในกิจกรรมเหล่านั้นกลับถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างน้อย 8 รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการบุกไปตามถึงบ้าน การบันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวของผู้เข้าร่วมในการชุมนุม การใช้กฎหมายยิบย่อยเพื่อขัดขวางการใช้สิทธิของประชาชน เป็นต้น

สำหรับตัวเลขของผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมในวันที่ 18 ก.ค. โดยตรง พบว่ามีจำนวน 29 คน ที่ถูกดำเนินคดี ในจำนวนนี้ 14 คน ถูกตั้งข้อหาหลักคือมาตรา 116 ทั้งหมดถูกจับตามหมายจับที่ศาลออกให้ ในขณะที่ที่เหลืออีก 15 คน ได้รับหมายเรียก ถูกตั้งข้อหาหลักคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 “ร่วมกันมั่วสุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง” เนื่องจากมีบทบาทร่วมขึ้นเวทีการชุมนุม

ชุมนุม #วิ่งกันนะแฮมทาโร่ 26 ก.ค. > ม็อบที่ “น่ารัก” ที่สุด

หนึ่งในสีสันของการชุมนุมในปีที่ผ่านมาคือการจัดการชุมนุมตาม “ธีม” ต่างๆ และที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในฐานะที่เป็นหมุดหมายแรกที่วัฒนธรรมประชานิยม (Pop Culture) เข้ามามีบทบาทในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่นั่นก็คือม็อบ #วิ่งกันนะแฮมทาโร่ กิจกรรมวิ่งออกกำลังกายบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่แม้จะดู “น่ารัก” ทว่าแน่นไปด้วยประเด็นเข้มข้นเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องของกลุ่มเยาวชนปลดแอก

จากข้อมูลของ BBC Thai ที่ได้สัมภาษณ์เยาวชนผู้จัดงาน พบว่า มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมในวันดังกล่าวเกินพันคน และส่วนใหญ่เป็นเยาวชนเพศหญิงที่อยู่ในวัยเรียน ทั้งระดับมัธยมปลายและมหาวิทยาลัย โดยระหว่างการวิ่ง มีการร่วมกันร้องเพลงแปลงที่ได้กลายเป็นเพลงฮิตติดหู ด้วยท่อนที่ว่า “วิ่งนะ วิ่งนะ แฮมทาโร่…ของอร่อยที่สุด ก็คือ ภาษีประชาชน”

ความน่ารักของเหล่าแฮมทาโร่รุ่นใหม่ที่ออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง ได้สร้างความประทับใจให้สังคมออนไลน์ และกลายเป็นประเด็นที่สื่อในหลายประเทศให้ความสนใจ ซึ่งแนวคิดในการผนวกเอาวัฒนธรรมแบบประชานิยมเข้ากับการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเช่นในม็อบนี้ได้ถูกพัฒนาต่อยอดในการชุมนุมของหลากหลายกลุ่มต่อมา จนกลายเป็นปรากฏการณ์สำคัญอย่างหนึ่งของการชุมนุมในประเทศไทย

ชุมนุม #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย 3 ส.ค. > ม็อบที่ “ขลัง” ที่สุด

อีกหนึ่งการชุมนุมที่มี “ธีม” อิงจากวัฒนธรรมประชานิยม นั่นก็คือวรรณกรรมเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ – วรรณกรรมเยาวชนในดวงใจของใครหลายๆ คน ที่เล่าเรื่องราวของโลกแห่งเวทมนตร์ซึ่งถูกครอบงำด้วยความกลัวจาก “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร”

การชุมนุมครั้งนี้จัดโดยกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มมอกะเสด โดยผู้เข้าร่วมในการชุมนุมต่างแต่งกายมาในชุดพ่อมดแม่มดหรือตัวละครต่างๆ ในวรรณกรรม มีกิจกรรมการเสกคาถาผู้พิทักษ์ใส่พานรัฐธรรมนูญที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และการปราศรัยโดยผู้ชุมนุมที่หมุนเวียนกันขึ้นมา ทางแกนนำยังมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือ 1. ให้ยกเลิกและแก้ไขกฎหมายที่ขยายอำนาจของสถาบันกษัตริย์ 2. แก้ไขกฎหมายมาตรา 112 และ 3. ต้องรับฟังเสียงของนิสิต นักศึกษา และประชาชน

สิ่งที่ทำให้การชุมนุมครั้งนี้กลายเป็นการชุมนุมครั้งประวัติศาสตร์ นั่นก็คือถ้อยคำปราศรัยของทนายอานนท์ นำภา ที่พูดถึงเรื่องบทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่เกี่ยวกับการเมืองไทย ประเด็นเรื่องการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ การที่ทรงไปประทับต่างประเทศ รวมไปถึงการโอนกรมทหารราบที่ 1 และที่ 11 เป็นส่วนราชการในพระองค์ เรียกได้ว่าเป็นการพูดถึงสถาบันที่จริงใจและตรงไปตรงมาที่สุดเท่าที่เคยมีการพูดถึงในที่ชุมนุมทางการเมืองในช่วงหลายปีหลัง และเป็นการเริ่มต้น (kick-off) ของการเรียกร้องประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในทางสาธารณะ

การนิยามการชุมนุมครั้งนี้ว่า” ขลัง” ที่สุด แง่หนึ่ง ไม่ใช่เพียงเพราะว่ามีธีมที่เกี่ยวข้องกับเวทมนตร์และสิ่งมหัศจรรย์ แต่ด้วยถ้อยคำของทนายอานนท์ ความหวาดกลัวของคนในสังคมต่อเพดานที่มองไม่เห็นนับ 10 ปี จึงค่อยๆ เสื่อมมนตราลง และได้กลายเป็นหมุดหมายใหม่ที่ปักลงเป็นฐานให้การชุมนุมที่ติดตามมาภายหลังจากนั้น

จากข้อมูลของศูนย์ทนายฯ พบว่า มีผู้เข้าร่วมในการชุมนุมและถูกดำเนินคดีทั้งหมด 7 ราย หนึ่งในนั้นคือทนายอานนท์ที่ถูกจับกุมตามหมายจับ มาตรา116 ร่วมกับข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่วนผู้ต้องหาอีก 6 รายที่เหลือได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ชนะสงคราม เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 ถูกตั้งข้อหาหลักคือฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน 10 ส.ค. > ม็อบที่ “สะท้านฟ้า” ที่สุด

หากชุมนุม #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย คือจุดเริ่มต้นของการเขย่าเพดานการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ การชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ซึ่งต่อยอดจากการชุมนุมในครั้งนั้น น่าจะเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่เพดานการวิจารณ์เรื่องสถาบันฯ ถูกกระทุ้งจนพังลงมา ในระดับที่ไม่อาจหวนคืนกลับสู่จุดเดิมได้

ในการชุมนุมครั้งนี้ ทางแกนนำผู้จัดยังคงยืนยันใน 3 ข้อเรียกร้องที่ทางเยาวชนปลดแอกได้เสนอไปก่อนหน้านี้ และยังได้ประกาศจุดยืนอีก 2 ข้อ นั่นคือ 1. ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ 2. ไม่เอารัฐประหาร แต่สิ่งที่ได้กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการชุมนุมครั้งนี้ นั่นก็คือข้อเรียกร้อง 10 ข้อเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

แม้ก่อนหน้าการชุมนุม ทางผู้จัดคือกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จะชูการปราศรัยของทนายอานนท์ และ “ไมค์” ภาณุพงศ์ รวมไปถึงคลิปของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ที่ส่งตรงมาจากเกียวโต ในฐานที่เป็นไฮไลท์หลัก หากแต่ในช่วงสุดท้ายของการชุมนุม ราว 21.00 น. ที่บริเวณลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต ซึ่งเนืองแน่นไปด้วยผู้คนเรือนหมื่น “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ได้ก้าวเดินขึ้นมาบนเวทีปราศรัยพร้อมกระดาษ A4 ความยาว 2 หน้า ซึ่งระบุถึงสิ่งที่แนวร่วมฯ มองว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และระบุข้อเรียกร้อง 10 ข้อเพื่อจำกัดพระราชอำนาจให้สอดคล้องตามหลักประชาธิปไตย

ผลจากคำประกาศทะลายเพดานสะท้านฟ้าในครั้งนั้น ทำให้สังคมไทยได้รู้จักชื่อของรุ้งอย่างกว้างขวางเป็นครั้งแรก และเป็นครั้งแรกเช่นเดียวกันที่มีการยื่นข้อเสนอในการปฏิรูปสถาบันฯ จากการชุมนุมทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมา ภายหลังจากการชุมนุมในวันนั้น ศูนย์ทนายพบว่า มีผู้ปราศรัยและร่วมชุมนุมทั้งหมด 6 รายด้วยกัน ได้แก่ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ภาณุพงศ์ จาดนอก, อานนท์ นำภา, ณัฐชนน ไพโรจน์, ชนินทร์ วงษ์ศรี, และพริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ถูกจับกุมตามหมายจับ และถูกดำเนินคดีตามข้อหาหลักคือมาตรา 116 และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร 19-20 ก.ย. > ม็อบที่ “มีความหวัง” ที่สุด

การชุมนุมแบบค้างคืนครั้งแรกและครั้งสำคัญที่จัดโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมในฐานะแม่งานใหญ่ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนและนักกิจกรรม สามเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในการชุมนุมครั้งนี้คือการเคลื่อนเข้า “ขอคืนพื้นที่” สนามหลวงของเหล่าผู้ชุมนุมในช่วงราวสามโมงเย็นของวันที่ 19 และเปลี่ยนให้เป็น “สนามราษฎร” โดยในการชุมนุมทั้ง 2 วัน บริเวณด้านในของสนามราษฎรมีการตั้งเวทีปราศรัย ฝั่งหนึ่งมีเจ้าหน้าที่ยืนกั้นแนวเนื่องจากเป็นเขตพระราชฐาน ขณะที่รอบนอกมีการตั้งร้านขายอาหาร และซุ้มกิจกรรมรณรงค์ประเด็นทางสังคม รวมไปถึงการจัดแสดงงานศิลปะ จากข้อมูลของ BBC Thai ในช่วงเย็นไปจนถึงค่ำของวันที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีผู้เข้าร่วมชุมนุมสูงที่สุด ทางแกนนำได้ออกมาประกาศว่ามีผู้เข้าร่วมชุมนุมถึงกว่าสองแสนคน อาจเรียกได้ว่าเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 57

เหตุการณ์ต่อมาที่ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ทางการเมือง คือพิธีวางหมุดคณะราษฎรหมุดใหม่ ทว่ายังคงแฝงนัยยะเดิมของการต่อสู้ที่ไม่เคยเปลี่ยน หมุดที่ถูกออกแบบและหล่อขึ้นมาโดยมีจุดเด่นคือสัญลักษณ์สามนิ้วถูกจารึกลงพื้นสนามหลวงในช่วงย่ำรุ่งของวันที่ 20 กันยายน 2563  ถึงแม้หมุดดังกล่าวจะถูกถอนออกไม่นานหลังจากเสร็จสิ้นการชุมนุม แต่มันได้ก่อกำเนิดขึ้นอีกครั้งในฐานะ “มีม” บนโลกออนไลน์ และถูกผลิตซ้ำในหลายรูปแบบ ตั้งแต่สติ๊กเกอร์ เข็มกลัด ลายพิมพ์เสื้อผ้า ไปจนถึงงานศิลปะ สะท้อนความหวังของมวลชนที่ถูกผนวกรวมเข้ากับวัฒนธรรมประชานิยม (Pop Culture) ที่สามารถผลิตสร้างขึ้นได้ใหม่อย่างไร้ขีดจำกัด แม้จะถูกรัฐถอนรื้อซักกี่ครั้งก็ตาม

ไฮไลท์สุดท้ายของการชุมนุมคือการเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลในช่วงเช้าของวันที่ 20 เพื่อขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมยื่นหนังสือ 3 ข้อเรียกร้องและ 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์กับประธานองคมนตรี แต่ได้มีการต่อรองจากทางฝั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขบวนจึงเคลื่อนไปหยุดอยู่บริเวณศาลฎีกา ราว 9.00 น. ทางผู้ชุมนุมได้ส่งตัวแทนคือ “รุ้ง” ปนัสยา เข้ายื่นหนังสือ 10 ข้อเสนอให้กับทาง พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่มาในฐานะตัวแทนรับมอบ ไม่นานหลังจากนั้น ทางแกนนำจึงได้ประกาศยุติการชุมนุม

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายฯ พบว่า ทางฝั่งของภาครัฐได้ใช้มาตรการอย่างเข้มข้นทั้งในและนอกกฎหมายเพื่อจะยับยั้งการใช้สิทธิของประชาชนในการเข้าร่วมการชุมนุมที่สนามหลวง ไม่ว่าจะเป็นการบุกเยี่ยมบ้านนักกิจกรรมและชาวบ้านหลายราย บุกเข้ายึดป้ายผ้าของกลุ่มดาวดินเพื่อสกัดไม่ให้เดินทางมาร่วมการชุมนุมที่กรุงเทพฯ แม้กระทั่งในวันที่มีการชุมนุมเกิดขึ้น พบว่ามีการสกัดกั้นรถเครื่องเสียง รถเครื่องปั่นไฟ หรือแม้แต่รถสุขา ทำให้เข้ามาในพื้นที่ชุมนุมได้ช้ากว่ากำหนด แต่ในกรณีที่ร้ายแรงที่สุดนั่นก็คือการบุกบ้านของหนึ่งในสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมในช่วงเช้าวันที่ 19 และยึดเอาหนังสือ  “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” ทั้งหมดจำนวน 49,990 เล่ม ที่กำลังถูกขนเพื่อนำไปแจกในที่ชุมนุม อีกทั้งยังแจ้งข้อหามาตรา 116 กับสมาชิกคนดังกล่าวจากการเข้าร่วมในการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม โดยที่ไม่ได้มีการแสดงหมายเรียกตามขั้นตอน

จากการเก็บข้อมูลคดีของศูนย์ทนายฯ พบว่า ตลอด 2 วันที่มีการชุมนุม มีผู้ปราศรัยและผู้เข้าร่วมในการชุมนุมถูกดำเนินคดีทั้งหมด 22 ราย โดยผู้ปราศรัยคือ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, ภาณุพงศ์ จาดนอก, ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม, พริษฐ์ ชิวารักษ์, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, และอานนท์ นำภา ถูกจับกุมในช่วงเดือนตุลาคม ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามข้อหาหลักคือ มาตรา 116 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก่อนที่ต่อมาพนักงานสน.ชนะสงครามได้แจ้งข้อหาทั้ง 7 เพิ่มย้อนหลังคือมาตรา 112 ถือเป็นการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ กับแกนนำผู้ชุมนุมครั้งแรกในปี 2563

ชุมนุม #ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล (ครั้งที่ 1) 25 ก.ค.

ชุมนุม #แดรกควีน 25 ต.ค.

ชุมนุม #ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล (ครั้งที่ 2) 7 พ.ย.

>>>>>>>>>>>>> ม็อบที่ “หลากหลาย” ที่สุด

สิ่งหนึ่งที่กลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปีที่ผ่านมา นั่นคือการขึ้นมามีบทบาทนำในการชุมนุมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะในฐานะแกนนำหรือผู้ปราศรัย พวกเขาไม่ใช่แค่สีสันในการชุมนุม แต่คือผู้กล้าที่ลุกขึ้นมาส่งเสียงของตนเพื่อสนับสนุนสังคมที่เป็นประชาธิปไตยและข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยสอดแทรกประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศเข้าไปในฐานะที่เป็นหมุดหมายสำคัญที่ต้องถูกผลักดันร่วมกับข้อเสนออื่นๆ

ความสนุกสนานอย่างหนึ่งในทั้ง 3 การชุมนุมก็คือการนำเอาวัฒนธรรมประชานิยมมาเป็นธีมในการจัดการชุมนุม อย่างในการชุมนุมครั้งแรกที่ถูกจัดโดยกลุ่มเสรีเทยพลัส ได้ชูประโยคเด็ดจากมหากาพย์ภาพยนตร์แฟรนไชส์ “หอแต๋วแตก” มาเป็นสัญลักษณ์ของการชุมนุม

อีตู่ อีตอแหล!!!

ฮ๊ะ! มึงด่านายกหรอ

เปล่า หนูด่าตุ๊กตา

อ่อแล้วปายยย….

และ “เจ๊คะ… ที่เจ๊ด่าหนู ตบหน้าหนู หนูไม่ว่าอะไร แต่ที่เจ๊มาไล่หนูออกจากบ้าน… นี่บ้านมึงเหรอ!”

จากประโยคที่เคยสร้างเสียงหัวเราะให้คนดูได้ถูกนำมาแปลงใหม่เพื่อใช้วิพากษ์และเสียดสีการทำงานของรัฐบาลได้อย่างเจ็บแสบ

หรือในการชุมนุมเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2563 ที่แยกราชประสงค์ หนึ่งในกิจกรรมที่กลายเป็นสีสัน นอกเหนือจากประเด็นปราศรัย นั่นก็คือกิจกรรมการแต่งแดร็ก (การแต่งกายข้ามเพศ) ของผู้ชุมนุมที่จัดเต็มมาทั้งเสื้อผ้าหน้าผม

ส่วนในการชุมนุมครั้งสุดท้ายก็เน้นรูปแบบของการชุมนุมที่จัดเลียนแบบ Pride Parade ขบวนพาเหรดเพื่อเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศอย่างที่เห็นได้ในต่างประเทศ ทั้งหมดนี้สะท้อนภาพของกลุ่ม LGBTIQ+ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของขบวน #คณะราษฎร2563 – ขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่โอบรับความหลากหลายทางเพศที่สุดเท่าที่ประวัติศาสตร์ไทยเคยเห็น

ชุมนุม #16ตุลาไปแยกปทุมวัน 16 ต.ค. > ม็อบที่ “เปียก” ที่สุด

นี่คือการชุมนุมครั้งที่ 2 ในกรุงเทพฯ ที่เกิดขึ้นหลังจากการสลายการชุมนุมใหญ่ที่บริเวณทำเนียบรัฐบาลเมื่อช่วงย่ำรุ่งของวันที่ 15 ตุลาคม พร้อมกันกับที่มีการจับตัวแกนนำบางส่วนและการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ

ในการชุมนุมแบบไร้แกนนำครั้งนี้ที่เกิดขึ้นท่ามกลางสายฝน เดิมได้มีการนัดหมายกันที่แยกราชประสงค์ แต่ภายหลังได้เปลี่ยนมาเป็นบริเวณแยกปทุมวัน ผู้ชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนและนักเรียนเดินทางมาร่วมชุมนุมกันจนเต็มพื้นที่สี่แยก ทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นไปด้วยดี จนกระทั่งราว 6 โมงเย็น ปฏิบัติการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงของรัฐบาลจึงได้เริ่มต้นขึ้น

เจ้าหน้าที่ได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม และอ่านข้อกำหนด 3 ข้อตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง หนึ่งในนั้นคือห้ามชุมนุมเกิน 5 คน จากนั้นสั่งให้ตำรวจควบคุมฝูงชนพร้อมโล่และกระบองเคลื่อนขบวนจากทางด้านห้างสยามพารากอน มุ่งหน้าแยกปทุมวัน โดยมีรถฉีดน้ำแรงดันสูงเคลื่อนตามมา ปฏิบัติการฉีดน้ำสีฟ้าสลายการชุมนุมเริ่มขึ้น โดยที่ทางฝั่งผู้ชุมนุมมีเพียงร่ม เสื้อกันฝน และหมวกกันน็อค จนถึงราว 3 ทุ่ม เจ้าหน้าที่จึงสามารถยึดคืนสี่แยกปทุมวันได้ เป็นการปิดฉากการชุมนุมท่ามกลางสายฝน มวลน้ำสีฟ้า และคราบน้ำตาของเยาวชนที่เพียงลุกขึ้นมาทวงสิทธิที่จะมีอนาคตที่ดีกว่า

ในปฏิบัติการครั้งนี้ นอกเหนือจากการผสมแก๊ซน้ำตาในน้ำที่ใช้ฉีดเพื่อสลายการชุมนุม (ทางเจ้าหน้าที่เองได้ยอมรับกับทาง กมธ.สิทธิฯ วุฒิสภา ในอีกเกือบหนึ่งเดือนต่อมา) ยังมีการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อกระชับพื้นที่และดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม

จากการเก็บข้อมูลของศูนย์ทนายฯ พบว่ามีประชาชนถูกดำเนินคดีข้อหาหลักคือ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง จากการร่วมชุมนุมครั้งนี้ทั้งหมด 20 ราย โดย 8 รายเป็นผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมในขณะชุมนุม และถูกนำตัวไปยัง บก.ตชด.ภาค 1 ส่วนอีก 5 รายเป็นแกนนำที่ถูกจับตามหมายจับ และอีก 5 รายเป็นผู้ถูกออกหมายเรียก นอกจากนี้ยังมีเยาวชนอีก 1 ราย ที่ถูกออกหมายเรียกจากการร่วมชุมนุมด้วย รวมไปถึงมีกรณีที่ผู้สื่อข่าวประชาไทที่กำลังทำข่าวในพื้นที่ชุมนุมถูกจับกุม ก่อนนำตัวไปยัง บก.ตชด. และถูกเปรียบเทียบปรับในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน

ชุมนุม #ม็อบ17ตุลา 17 ต.ค. > ม็อบที่ “แกนนำเยอะ” ที่สุด

ภายหลังจากการสลายการชุมนุมและการจับกุมผู้ชุมนุมนับสิบรายในวันที่ 16 ตุลาคม มวลชนที่สั่งสมความโกรธจากการถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรงได้นัดรวมตัวกันอีกครั้งจนเกิดเป็น #ม็อบ17ตุลา ม็อบไร้แกนนำที่ถูกจัดแบบดาวกระจายหลายจุดทั่วทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งจะเกิดขึ้นรายวันติดต่อกันไปอีกนับอาทิตย์

แฟลชม็อบในวันนี้เกิดขึ้นหลังจากกลุ่ม “คณะราษฎร” ผู้จัดการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม ออกแถลงการณ์ยืนยันที่จะให้มีการชุมนุม โดยนัดให้ประชาชนออกมารวมตัวในเวลา 16.00 น. โดยยังไม่ระบุสถานที่ แต่ระบุว่าหากมีการหยุดการเดินรถไฟฟ้าก่อนนัดหมายเพื่อขัดขวางการชุมนุม ขอให้มวลชนชุมนุมที่สถานีรถไฟฟ้าใกล้บ้าน หลังคำประกาศดังกล่าว รถไฟฟ้าทุกสายในกรุงเทพฯ ได้ปิดการให้บริการทุกสถานี เมื่อถึงเวลาที่ได้นัดหมาย มีผู้ชุมนุมไปรวมกันในจุดหลักๆ 3 จุด คือ ห้าแยกลาดพร้าว อุดมสุข และวงเวียนใหญ่

ข้อแตกต่างของการชุมนุมในวันนี้ นั่นก็คือแนวคิดเรื่อง #เราทุกคนคือแกนนำ ที่ถูกทำให้เป็นรูปธรรม ในเพจของกลุ่ม #เยาวชนปลดแอก ได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมที่มีเครื่องขยายเสียง ไมโครโฟน หรือโทรโข่ง ให้นำติดตัวไปด้วยสำหรับใครที่ต้องการจะปราศรัย นั่นก็เพราะผู้เข้าร่วมในการชุมนุมทุกคนล้วนสามารถเป็นแกนนำได้ สะท้อนให้รัฐเห็นว่า ต่อให้มีการจับกุมอีกสักเท่าไหร่ แต่ขบวนการนี้จะไม่หยุดลง นั่นก็เพราะมันถูกขับเคลื่อนด้วยความอุดมการณ์ความคิด ไม่ใช่ตัวบุคคล

โชคดีที่การชุมนุมแบบดาวกระจายในวันนี้ไม่ได้เกิดเหตุการณ์รุนแรง แม้จะมีคนพบเห็นว่ามีรถฉีดน้ำแรงดันสูงเดินทางไปยังบริเวณห้าแยกลาดพร้าว อย่างไรก็ตาม หลังจากจบการชุมนุม ศูนย์ทนายฯ พบว่ามีผู้เข้าร่วมชุมนุมในกรุงเทพฯ ถูกดำเนินคดีข้อหาหลักคือ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง ทั้งหมด 12 ราย ที่ห้าแยกลาดพร้าว 5 ราย, ที่บีทีเอสอโศก 1 ราย, ที่สามย่านมิตรทาวน์ 3 ราย, ที่รามคำแหง 1 ราย และที่วงเวียนใหญ่ 2 ราย

ชุมนุม #ม็อบ26ตุลา 26 ต.ค. > ม็อบที่ “อินเตอร์” ที่สุด

อีกหนึ่งการชุมนุมแบบเคลื่อนขบวนครั้งสำคัญของกลุ่ม #คณะราษฎร2563 ในการชุมนุมครั้งนี้ เป้าหมายในการเรียกร้องไม่ใช่เพียง พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล แต่คือสถาบันกษัตริย์โดยตรง

การนัดเดินขบวนจากแยกสามย่านไปยังสถานทูตเยอรมนี ถนนสาทร มีขึ้นหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ยอมลาออกภายในเส้นตายที่กำหนดไว้ รวมทั้งไม่ยอมปล่อยแกนนำผู้ชุมนุมที่ยังถูกคุมขัง จึงนำไปสู่การเคลื่อนไหวที่ยกระดับการต่อสู้โดยใช้กลยุทธ์สื่อสารกับต่างชาติ ซึ่งในวันเดียวกันนั้น นายไฮโก มาส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี ยังได้แถลงว่า ทางรัฐบาลเยอรมนีกำลังเฝ้าจับตาดูเรื่องการใช้พระราชอำนาจของกษัตริย์จากดินแดนของเยอรมนีอย่างใกล้ชิด

ไฮไลท์สำคัญของการชุมนุมครั้งนี้คือการส่งตัวแทน 3 คน เข้าไปในสถานทูตฯ เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกให้กับ นาย เกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมนีตรวจสอบข้อเท็จจริง ในประเด็นเรื่องการใช้อำนาจอธิปไตยในแผ่นดินเยอรมนี การเสียภาษีมรดกตามกฎหมายเยอรมัน ข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของข้าราชบริพาร และอื่นๆ จากนั้นจึงได้มีการอ่านแถลงการณ์ทั้งหมด 3 คือภาษาไทย อังกฤษ และเยอรมัน

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าการชุมนุมครั้งนี้เพียงไม่กี่ชั่วโมง มีการชุมนุมของกลุ่ม “ประชาชนคนไทย” นำโดยนายนิติธร ล้ำเหลือและนายพิชิต ไชยมงคล พร้อมมวลชนคนเสื้อเหลืองที่เดินทางไปชุมนุมที่หน้าสถานทูตฯ เช่นเดียวกัน และได้มีการเข้ายื่นข้อเรียกร้องต่อสถานทูตเพื่อชี้แจงเกี่ยวกับความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทย และยืนยันจุดยืนที่ไม่ต้องการให้มี “การจาบจ้วงสถาบันฯ”

ภายหลังจากการชุมนุมจบลง ศูนย์ทนายฯ พบว่ามีผู้เข้าร่วมในการชุมนุมทั้งหมด 13 รายที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 116 ควบ 112 ในกลุ่มนี้ 9 คนถูกแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 116 ก่อน ต่อมาจึงได้มีการแจ้งข้อหา 112 เพิ่ม ซึ่งการใช้มาตรา 112 ครั้งนี้ไม่ได้ใช้แค่กับผู้ปราศรัยหรือแกนนำในการชุมนุมเท่านั้น แต่ยังใช้ดำเนินคดีกับผู้ที่ออกไปอ่านแถลงการณ์ทั้ง 3 ภาษาอีกด้วย

ชุมนุม #ม็อบ17พฤศจิกา 17 พ.ย. > ม็อบที่ “แสบตา” ที่สุด

การชุมนุมครั้งสำคัญครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐสภานัดพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ร่าง ที่สภาผู้แทนราษฎรแห่งใหม่ เกียกกาย ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 โดยหนึ่งในนั้นคือร่างที่ทางโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ร่วมกับภาคประชาสังคมร่างขึ้นมา และผ่านการล่ารายชื่อนับแสนชื่อเพื่อยื่นร่างเข้าสู่สภา ทางกลุ่ม #คณะราษฎร2563 จึงนัดรวมตัวกันในวันนั้น เพื่อกดดันไม่ให้ทางสภาตีตกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงบ่ายสองจนถึงราวสามทุ่ม พบว่าเจ้าหน้าที่ได้ใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องเพื่อสลายการชุมนุมของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการยิงแก๊ซน้ำตา การใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง การฉีดน้ำผสมแก๊ซน้ำตาและสารเคมี ระดมยิงใส่ผู้ชุมนุมนานหลายชั่วโมง โดยที่ทางผู้ชุมนุมมีแค่เป็ดยางสีเหลืองเป็นโล่ป้องกัน (ภายหลังได้รับการประดับยศจากผู้ชุมนุมเป็น #พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงเกียกกายราษฎรบริรักษ์) นอกจากนั้นยังเกิดเหตุชุลมุนจากการเข้าปะทะของมวลชนฝ่ายตรงข้าม จนมีรายงานว่าผู้ชุมนุมฝั่งคณะราษฎรถูกยิงด้วยกระสุนจริง เรียกได้ว่าการชุมนุมครั้งนี้เป็นการชุมนุมที่รัฐใช้มาตรการสลายการชุมนุมที่รุนแรงที่สุดในปี 2563

ในช่วงสายจนถึงบ่ายของวันที่ 17 มวลชนของกลุ่มไทยภักดียังได้เดินทางมาในพื้นที่หน้ารัฐสภาก่อน เพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าร่างใดๆ ภายใต้การอารักขาของเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ที่ตรึงกำลังรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด พอถึงช่วงบ่าย ทางเจ้าหน้าที่จึงได้เริ่มตั้งแท่งปูนแบริเออร์ วางลวดหนามหีบเพลง และนำรถฉีดน้ำแรงดันสูงมาจอดไว้เพื่อเตรียมรับมือกับกลุ่มราษฎร

สำหรับกลยุทธ์ในการเคลื่อนขบวนของกลุ่มคณะราษฎรแบ่งออกเป็นสองจุด จุดแรกเคลื่อนพลจากทางถนนสามเสน มุ่งหน้าแยกบางกระบือ มาพบกับแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ที่บริเวณหน้าบริษัทบุญรอดฯ ราวบ่ายสองครึ่ง มวลน้ำระลอกแรกถึงถูกฉีดใส่กลุ่มผู้ชุมนุม ช่วงราวสี่โมงเย็น เจ้าหน้าที่ได้ยกระดับมาตรการด้วยการใช้แก๊ซน้ำตาที่ไม่ผสมน้ำโดยที่ไม่ได้มีการแจ้งเตือนก่อน ทางผู้ชุมนุมหลายรายให้ข้อมูลว่าน้ำที่ทางเจ้าหน้าที่ระดมฉีดใส่ ยังทำให้เกิดอาการแสบร้อนจนเหมือนน้ำร้อนลวก มีรายงานว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บถึงขั้นหมดสติอย่างน้อย 2 ราย จนกระทั่งในช่วงเกือบ 2 ทุ่ม มีรายงานว่าทางเจ้าหน้าที่ได้ใช้กระสุนยางยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุม

ในอีกจุดทางแยกเกียกกาย ผู้ชุมนุมเดินขบวนจากทางแยกบางโพ เจ้าหน้าที่ได้เริ่มฉีดน้ำครั้งแรกช่วงราวสามโมงเย็น โดยเป็นน้ำที่มีการผสมแก๊ซน้ำตา พบว่ามีเด็กเล็กหนึ่งรายที่บังเอิญเข้าไปอยู่ในพื้นที่ชุมนุมเกิดอาการอาเจียนอย่างหนัก หลังได้สัมผัสกับมวลน้ำของเจ้าหน้าที่ ราวห้าโมงเกิดการปาสิ่งของปะทะกันระหว่างมวลชนกลุ่มเสื้อเหลืองและมวลชนคณะราษฎร โดยเจ้าหน้าที่คุมฝูงชนไม่ได้เข้าควบคุมเหตุการณ์แต่อย่างใด จนถึงราวทุ่มครึ่ง เจ้าหน้าที่ได้ถอยออกจากแนวกั้นแล้ว มวลชนจากทั้งสองจุดจึงได้มารวมตัวกันที่หน้ารัฐสภา การปะทะที่เหมือนจะสงบลงกลับเริ่มมาปะทุอีกครั้งช่วงราวเกือบสามทุ่ม มีรายงานว่ามีการปาระเบิดปิงปองจากมวลชนไม่ทราบฝ่ายใส่ผู้ชุมนุมคณะราษฎร และยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงโดยมวลชนไม่ทราบฝ่ายเช่นเดียวกัน ราวสามทุ่มทางแกนนำจึงได้ประกาศยุติการชุมนุมในวันดังกล่าว

จากข้อมูลของศูนย์ทนายฯ พบว่ามีผู้ถูกออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาหลักคือ พ.ร.บ. ชุมนุมฯ ทั้งหมด 6 ราย คือ อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์, วีระวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล, เอกชัย หงส์กังวาน, ชลธิชา แจ้งเร็ว, และภาณุพงศ์ จาดนอก ในกรณีของพริษฐ์ เจ้าหน้าที่ยังแจ้งข้อหามาตรา 116 และมาตรา 215 “มั่วสุม 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง” เพิ่มเติมจากคนอื่น ในขณะที่อานนท์ยังโดนแจ้งข้อหามาตรา 112 เพิ่มอีกหนึ่งคดีจากการปราศรัยในการชุมนุมเดียวกันนี้

อีกกรณีที่เกี่ยวข้องกันกับการสลายการชุมนุม คือกรณีที่บริษัทบุญรอดฯ ฟ้องประชาชน 3 ราย ที่โพสท์ว่าทางบริษัทบุญรอดฯ ได้ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปใช้พื้นที่ของบริษัทยิงแก๊ซน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา แต่มีหนึ่งรายที่ได้รับหมายเรียก แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา

 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:

2563: ปีแห่งการชุมนุม ทลายเพดาน และคดีความทางการเมือง

จากถนนเลือนลั่นถึงผืนฟ้า: หลากเสียงสะท้อนบนถนนสาย 112

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

 

X