3 กันยายน 2563 ที่ห้องพิจารณาคดี 712 ศาลอาญา รัชดา เวลา 9.00 น. ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก ทนายความ และประชาชนจำนวนหนึ่งได้ทยอยมาถึงห้องพิจารณาคดี เพื่อรอเวลาศาลไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวภาณุพงศ์ หนึ่งในผู้ถูกจับกุมจากการเข้าร่วมชุมนุม #เยาวชนปลดแอก เมื่อ 18 ก.ค. 2563 ซึ่งภาณุพงศ์ได้รับการประกันตัวโดยมีเงื่อนไขว่า “ห้ามกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับคดีนี้อีก มิฉะนั้นจะให้ถือว่าผิดสัญญาประกัน”
10 ส.ค. 2563 ภาณุพงศ์ขึ้นปราศรัยในเวที #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต จากนั้นเจ้าหน้าที่จาก สน.สำราญราษฎร์ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลว่าภาณุพงศ์ทำผิดสัญญาการปล่อยตัวชั่วคราว
ช่วงเช้าของวันไต่สวนบริเวณโดยรอบศาลอาญา มีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบหลายสิบนายวางกำลังและคอยคัดกรองคนเข้าสู่อาคารศาลอาญาอย่างเข้มข้น โดยอนุญาตให้เฉพาะเจ้าหน้าที่ของศาลอาญาและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีผ่านไปได้เท่านั้น ประชาชนจำนวนมากที่ตั้งใจมาฟังการไต่สวนคดีภาณุพงศ์และอานนท์ นำภา ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาในคดีเดียวกันและเจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องเพิกถอนประกันด้วยเหตุเดียวกันจึงผ่านจุดคัดกรองเข้าสู่อาคารไม่ได้ บางส่วนเข้าอาคารได้แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าฟังการไต่สวนในห้องพิจารณาคดี
10.02 น. ผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์ จากนั้น ร้อยตำรวจเอกโยธี เสริมสุขต่อ รองสารวัตรสืบสวน สน.สำราญราษฎร์ หนึ่งในคณะทำงานคดี #เยาวชนปลดแอก ได้ขึ้นเบิกความในฐานะพยาน โดยแจ้งว่าขอเลื่อนการไต่สวนครั้งนี้ออกไปก่อน เนื่องจากเพิ่งได้รับพยานเอกสารเพิ่มเติมจาก สภ.คลองหลวง นั่นคือหมายจับภาณุพงศ์จากกรณีขึ้นปราศรัยที่เวที #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน แต่ผู้พิพากษากล่าวว่าการขอเลื่อนครั้งนี้ควรมาจากความต้องการของฝ่ายผู้ต้องหามากกว่าเจ้าหน้าที่ หากเจ้าหน้าที่มั่นใจว่าพยานหลักฐานสำหรับยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวที่ยื่นมาก่อนหน้านี้เพียงพอแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเลื่อนการไต่สวนออกไป และกล่าวว่า “ไม่อยากให้ใช้เรื่องนี้เป็นเครื่องมือ” ทั้งนี้มีข้อสังเกตการณ์ว่าร้อยตำรวจเอกโยธีกล่าวไว้ในช่วงหนึ่งของการไต่สวนว่าตนไม่ทราบว่าวันนี้จะแยกห้องพิจารณาคดีและแยกองค์คณะผู้พิพากษาไต่สวนภาณุพงศ์ที่ห้อง 712 และไต่สวนอานนท์ที่ห้อง 714 อีกทั้งกล่าวไว้ในช่วงหนึ่งของการซักค้านว่าเจ้าหน้าที่จาก สน.สำราญราษฎร์ที่ขึ้นเบิกความในห้องพิจารณาคดีของอานนท์ นำภา เป็นผู้คลุกคลีกับพยานหลักฐานมากกว่าตน
เมื่อได้ข้อตกลงว่าการไต่สวนจะดำเนินต่อไป เจ้าหน้าที่ สน.สำราญราษฎร์ จึงได้นำเอกสารบันทึกการถอดเทปการปราศรัยของภาณุพงศ์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต ซึ่งได้รับจาก สภ.คลองหลวง และหมายจับในคดี #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน จาก สภ.คลองหลวง มาเป็นหลักฐานสำคัญในการขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวนี้
10.29 น. ทนายของภาณุพงศ์เริ่มซักค้านเจ้าหน้าที่ สน.สำราญราษฎร์ หรือ “พยาน” ของการพิจารณาไต่สวนครั้งนี้เพื่อตรวจสอบว่าสิ่งที่ภาณุพงศ์พูดบนเวทีกับเอกสารที่ได้จากการถอดเทปถูกต้องตรงกัน จากการซักค้านพบว่าเจ้าหน้าที่ สน.สำราญราษฎร์ไม่ได้นำเทปการปราศรัยมา อีกทั้งเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้เป็นผู้ฟังการปราศรัยด้วยตนเอง ไม่ได้เป็นผู้ถอดเทป ไม่ได้สืบสวนผู้ได้ฟังปราศรัยดังกล่าว มีเพียงเอกสารบันทึกการถอดเทปจากการปราศรัยที่ได้รับจาก สภ.คลองหลวง เท่านั้น ผู้พิพากษาจึงสรุปว่าในวันนี้เท่ากับเจ้าหน้าที่ สน.สำราญราษฎร์นำหลักฐานมาไม่เพียงพอ เมื่อทนายของภาณุพงศ์ถามเจ้าหน้าที่ว่ายืนยันได้หรือไม่ว่าข้อความที่ภาณุพงศ์ปราศรัยกับข้อความในเอกสารบันทึกการถอดเทปที่เป็นวัตถุหลักฐานสำคัญในคดีนี้ตรงกันโดยไม่มีการตัดทอนเพิ่มเติม ซึ่งเจ้าหน้าที่จาก สน.สำราญราษฎร์ไม่ยืนยันความถูกต้องตรงกันนี้
ประเด็นต่อมาที่ทนายของภาณุพงศ์หยิบยกมาคือเจ้าหน้าที่ สน.สำราญราษฎร์ ยังไม่ได้ทำสำนวนสรุปสำนวนคดี #เยาวชนปลดแอก ต่อศาลว่าภาณุพงศ์กระทำความผิด ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้ภาณุพงศ์จึงยังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาและนับว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ นอกจากนี้การกระทำของภาณุพงศ์ยังมีความชอบธรรมทางกฎหมายรองรับ ทั้งการชุมนุมโดยใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 อีกทั้งในช่วงการจัดชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 เป็นการชุมนุมในสถานศึกษา ที่ไม่ได้ฝ่าฝืนข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ
ทนายของภาณุพงศ์ถามเจ้าหน้าที่จาก สน.สำราญราษฎร์ว่าทราบหรือไม่ว่าผู้ต้องหามีสิทธิหยิบยกข้อบทในรัฐธรรมนูญมาสู้คดี และสิทธินี้ยังได้ระบุไว้ในระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกด้วย เจ้าหน้าที่ สน.สำราญราษฎร์ยอมรับว่าภาณุพงศ์มีสิทธิแสดงออกและชุมนุมตามรัฐธรรมนูญจริงแต่ต้องไม่ทำผิดกฎหมาย
นอกจากนี้ทนายของภาณุพงศ์ยังกล่าวว่าเมื่อพิจารณาถึงเหตุผลแนบท้ายการขอเพิกถอนประกันที่เจ้าหน้าที่ สน.สำราญราษฎร์ส่งมา ได้อ้างอิงหมายจับคดี #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน จาก สภ.คลองหลวงซึ่งอาศัยอำนาจออกหมายจับโดยศาลจังหวัดธัญบุรี ทนายของภาณุพงศ์ถามเจ้าหน้าที่จาก สน.สำราญราษฎร์ว่าทราบหรือไม่ว่าศาลธัญบุรีไม่ได้ระบุว่าการปราศรัยของภาณุพงศ์ผิดกฎหมายหรือเป็นเหตุให้ออกหมายจับแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ตอบว่าไม่ทราบเรื่องดังกล่าวและเพิ่งได้รับหมายจับเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ผู้พิพากษาได้โต้แย้งขึ้นว่าการวินิจฉัยเพิกถอนประกันหรือไม่วันนี้เป็นอำนาจของศาลอาญา ไม่เกี่ยวกับว่าศาลจังหวัดธัญบุรีได้วินิจฉัยไว้อย่างไร
ทนายของภาณุพงศ์ยังอ้างอิงถึงพันธกรณีที่ไทยต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและ สิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ข้อบทที่ 21 ที่รับรองสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง และถามเจ้าหน้าที่จาก สน.สำราญราษฎร์ว่าได้รวบรวมพันธกรณีนี้เข้าไว้ในกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานหรือไม่ เจ้าหน้าที่ตอบว่าไม่ เมื่อมาถึงการซักค้านช่วงนี้ผู้พิพากษาโต้แย้งว่าสาระสำคัญของการไต่สวนวันนี้คือการพิจารณาว่าผู้ต้องหาได้ทำผิดสัญญาปล่อยตัวชั่วคราว นั่นคือ “ห้ามกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับคดีนี้อีก” หรือไม่ ไม่ใช่ผู้ต้องหาเป็นผู้ผิดหรือถูกในคดี เพราะทั้งคดี #เยาวชนปลดแอก และ #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ล้วนยังไม่สิ้นสุดทั้งสิ้น
นอกจากประเด็นข้างต้นทนายของภาณุพงศ์ยังชี้ว่าภาณุพงศ์ยังมีสถานะเป็นนักศึกษา ยังต้องไปเรียน มีที่พักเป็นหลักแหล่งแน่นอนใกล้มหาวิทยาลัย ไม่มีพฤติการณ์น่าห่วงกังวลว่าจะหลบหนี อีกทั้งเรือนจำไทยในปัจจุบันมีสภาพแออัด โดยหลักการแล้วเจ้าหน้าที่ไม่ควรนำประชาชนไปควบคุมตัว ซึ่งเจ้าหน้าที่จาก สน.สำราญราษฎร์ ตอบว่าการมีแนวโน้มว่าจะมีพฤติการณ์หลบหนีหรือไม่นั้น ตนไม่แน่ใจว่าจะนำตัวภาณุพงศ์มาสอบสวนได้หรือไม่ แต่เห็นว่าโดยหลักการแล้วเจ้าหน้าที่รัฐไม่ควรนำตัวผู้ต้องหาไปควบคุมด้วยเหตุเกินจำเป็น แต่ความคิดเห็นนี้เป็นของตนคนเดียว ไม่หมายรวมว่าเป็นความคิดเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจคนอื่น จากนั้นผู้พิพากษาได้ถามภาณุพงศ์ว่าได้ขึ้นปราศรัยที่เวที #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน หรือไม่ ซึ่งภาณุพงศ์ยอมรับว่าได้ขึ้นเวทีจริง
11.40 น. ผู้พิพากษาอ่านรายงานกระบวนพิจารณาและนัดฟังคำสั่ง 13.30 น. แต่ต่อมาเลื่อนเป็น 15.00 น.ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับการฟังคำสั่งในคดีของอานนท์ นำภา ที่ห้องพิจารณาคดี 714 แต่การอ่านคำสั่งล่าช้าไปกว่าชั่วโมงครึ่ง โดยผู้พิพากษาเริ่มอ่านคำสั่งราว 16.25 น. ซึ่งมีสาระสำคัญว่า จากการไต่สวนมีพยานหลักฐานเพียงพอและน่าเชื่อว่าผู้ต้องหาได้ขึ้นปราศรัยโดยมีข้อความตามที่ปรากฏในบันทึกถอดเทปคําปราศรัยกลุ่มผู้ชุมนุม เป็นการผิดเงื่อนไขตามสัญญาประกัน แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงอายุ อาชีพ และพฤติการณ์แห่งการกระทําที่ถูกกล่าวหาให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราว ยังไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่การสอบสวนหรือการดําเนินคดี สมควรให้โอกาสแก่ผู้ต้องหาสักครั้งหนึ่ง แต่มีเงื่อนไขโดยให้มีประกันในวงเงินเพิ่มเป็น 200,000 บาท และให้ผู้ต้องหามารายงานตัวต่อศาลทุก 15 วันนับแต่วันนี้ หากผู้ต้องหาไม่ดําเนินการตามคําสั่งในวันนี้ ให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราว และรับตัวไว้ หมายขัง
อย่างไรก็ตามภาณุพงศ์ตัดสินใจไม่ยินยอมรับเงื่อนไขประกันตัวของศาลซึ่งสร้างบรรทัดฐานในการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมผ่านวิธีการให้ประกันตัวอย่างมีเงื่อนไขไม่ให้ “ห้ามกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับคดีนี้อีก” ขณะเดียวกันที่ห้องพิจารณาคดีที่ 714 อานนท์ นำภา ได้ตัดสินใจในลักษณะเดียวกัน จากนั้นอานนท์และภาณุพงศ์ได้ถูกคุมตัวจากศาลอาญา ไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และอยู่ในเรือนจำมาเป็นวันที่สามแล้ว
*หมายเหตุ: ภาพปกของบทความนี้เป็นภาพจาก Banrasdr Photo
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้องได้ที่นี่
เปิดคำสั่งศาลถอนประกัน ‘อานนท์’ – เพิ่มเงื่อนไข ‘ไมค์’ แต่ทั้งคู่ปฏิเสธไม่ประกันอีก
“ถ้าศาลถอนประกัน ผมคงไปอยู่ในคุก”ติดตามศาลไต่สวนถอนประกัน ไมค์-อานนท์ 3 ก.ย.นี้