เปิดคำร้องคัดค้านยื่นถอนประกันชั่วคราว อานนท์ – ไมค์: ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐต้องไม่ถูกใช้เพื่อปิดกั้นสิทธิประชาชน

3 กันยายน 2563 – ศาลอาญา รัชดาฯ นัดไต่สวนกรณีพนักงานสอบสวน สน. สำราญราษฎร์ ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวในคดี #เยาวชนปลดแอก ของทนาย อานนท์ นำภา และ ไมค์ภาณุพงศ์ จาดนอก ต่อศาลอาญา 

มูลเหตุของการนัดหมายในครั้งนี้สืบเนื่องจากการเข้าจับกุม อานนท์ ไมค์ เมื่อวันที่ 7 – 8 สิงหาคม 2563 เหตุจากการเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา หลังจากกระบวนการทางเอกสาร ทั้งสองถูกกักตัวที่ สน. สำราญราษฎร์หนึ่งคืนก่อนที่จะถูกส่งต่อมาที่ศาลอาญาเพื่อทำเรื่องฝากขังและขอประกันตัว โดยศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว กำหนดวงเงินคนละ 100,000 บาท ยังไม่ต้องวางหลักประกันในวันนั้น ต่อเมื่อผิดสัญญา จึงจะบังคับเอาหลักประกัน โดยศาลยังกำหนดเงื่อนไขว่า ห้ามกระทำการใด ๆ ในลักษณะเดียวกับคดีนี้อีก มิฉะนั้นจะให้ถือว่าผิดสัญญาประกัน

(อานนท์-ไมค์ หลังศาลให้ประกันตัวโดยมีเงื่อนไขเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 63)

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัว ปรากฏว่าอานนท์ยังคงเดินสายไปปราศรัยต่อที่การชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน  ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2563 ก่อนจะกลับมาปราศรัยต่อที่การชุมนุมใหญ่ที่ มธ. รังสิต #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ร่วมกับไมค์ เป็นเหตุให้พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ เข้ายื่นคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวต่อศาลอาญาในคดี  #เยาวชนปลดแอก โดยอ้างว่าการเข้าร่วมชุมนุม การปราศรัย และการโพสต์ชวนคนให้ไปร่วมกิจกรรมในวันที่ 9 และ 10 สิงหาคม ดังกล่าวของทั้งสองอาจเข้าข่ายฝ่าฝืนคำสั่งของศาลอาญา อ้างอิงจากรายงานการสืบสวนของตำรวจภูธรภาค 5 และตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานีที่ได้ดำเนินคดีทั้งสองจากกรณีการชุมนุมที่เชียงใหม่และที่ธรรมศาสตร์ ตามลำดับ 

 

ในระหว่างการไต่สวนพนักงานสอบสวนฯ  อานนท์และภาณุพงศ์ได้ยื่นคัดค้านคำร้องขอให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวน ขอให้ศาลยกคำร้องของพนักงานสอบสวนนี้  โดยมีเหตุผลประการสำคัญ ได้แก่ 

  1. คำร้องของพนักงานสอบสวน ฉบับลงวันที่ 13 สิงหาคม 2563 เป็นคำร้องที่ครอบคลุม ไม่ได้ชี้ชัดว่าพฤติการณ์ที่อ้างมาในคำร้องนั้นมีลักษณะเจาะจงอย่างไร มีองค์ประกอบใดบ้างที่จะนำมาพิจารณาว่าเข้าข่ายฝ่าฝืนเงื่อนไขการประกันตัวชั่วคราว และมีลักษณะขัดกันกับเงื่อนไขที่ศาลวางไว้อย่างไร คำร้องดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
  2. ในส่วนของเสรีภาพในการชุมนุม เป็นหลักการสำคัญตามที่รัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) รับรองคุ้มครองไว้ แม้ว่าผู้ต้องหาจะถูกแจ้งข้อกล่าวหาจากพนักงานสืบสวนสอบสวนที่ตำรวจภูธรภาค 5 (จากกรณีร่วมชุมนุมที่เชียงใหม่ ของอานนท์) และตามคำสั่งตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี (จากกรณีร่วมชุมนุมที่ มธ. ของอานนท์และภานุพงศ์) ทั้งสองก็ได้ให้การปฏิเสธต่อสู้คดีตลอดข้อกล่าวหา พร้อมยืนยันว่าการชุมนุมดังกล่าวนั้นสามารถทำได้โดยชอบตามกฎหมาย เพราะได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ อีกทั้งการดำเนินคดีดังกล่าวยังเป็นแค่การกล่าวหาเท่านั้น ยังไม่มีคำพิพากษาเด็ดขาดว่าการกระทำของทั้งสองผิดจริงหรือไม่
  3. การกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวของศาลเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถตั้งข้อกล่าวหาเพื่อปิดกั้นการใช้เสรีภาพการชุมนุมของประชาชน ดังเช่นการยื่นคำร้องในวันนี้ ทั้ง ๆ ที่เป็นการร่วมชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ การสร้างเงื่อนไขเช่นนี้ยังสร้างความคลุมเครือส่งผลให้พนักงานสอบสวนสามารถตีความเงื่อนไขได้เอง จนสร้างภาระแก่ผู้ต้องหาเกินควรว่าเช่นไรคือการร่วมชุมนุมโดยสงบ หรือเช่นใดคือการทำผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวนี้ อันถือเป็นการกำหนดเงื่อนไขที่เกินความจำเป็น  ขัดต่อต่อเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 44  และมาตรา 112 วรรคท้าย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
  4. หลักการดำเนินคดีอาญา สิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาประการหนึ่ง คือ ศาลจะต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) ปรากฏในมาตราที่ 29 ของรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งประกันตัวชั่วคราวมีเพียงคำกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่รัฐเพียงฝ่ายเดียว และผู้ต้องหาได้ให้การปฏิเสธต่อสู้คดีตลอดข้อกล่าวหาและยืนยันว่าการชุมนุมนั้นเกิดขึ้นโดยชอบตามกฎหมายทุกประการ อีกทั้งคดียังไม่มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิดจริง จะปฏิบัติกับผู้ต้องหาเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดแล้วไม่ได้    
  5. คำปราศรัยของทั้งสองตามเอกสารแนบท้ายคำร้องขอให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา เกี่ยวกับการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์  มีเนื้อหาที่อยู่ในกรอบการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อยู่ในกรอบกฎหมาย  มีข้อเท็จจริงสนับสนุนทั้งสิ้น  เป็นประเด็นที่ล้วนเคยผ่านการถกเถียงทั้งในทางวิชาการและในการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  รวมถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหมู่ประชาชนทั่วไปอยู่แล้ว
  6. ในส่วนของข้อกล่าวหาว่า ยุยงปลุกปลั่นให้เกิดความวุ่นวายจากการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ ลำพังแต่เพียงหลักฐานว่าผู้ต้องหาไปปรากฏตัวในพื้นที่เกิดเหตุและพูดปราศรัยวิจารณ์รัฐบาลซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถทำได้โดยชอบ การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นไปเพียงเพื่อสร้างภาระทางคดี และสร้างเงื่อนไขในการยื่นขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวในครั้งนี้ เพื่อต้องการให้ทั้งสองถูกคุมขังจนไม่สามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นได้อีก
    ในคดีของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง RDN50 ที่ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ซึ่งมีลักษณะเดียวกันกับคดีนี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ได้ใช้กฎหมายกล่าวหาว่าประชาชนซึ่งใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยชอบ แต่เมื่อต่อสู้ในศาลชั้นต้นจนพิพากษายกฟ้อง หากปล่อยให้เงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวไปผูกกับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐดังเช่นคดีเยาวชนปลดแอกนี้ ก็ถือว่าเป็นเงื่อนไขที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นผลร้ายต่อประชาชนเกินสมควรและเกินกว่าความจำเป็น
  7. การยื่นคำร้องของพนักงานสอบสวนในครั้งนี้ ถือว่าใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นเพียงการอาศัยกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือข่มขู่บุคคลที่ไม่เห็นด้วยหรือคัดค้านการใช้อำนาจของรัฐบาล ต้องสูญเสียเงินทอง เวลา และความสงบสุขในชีวิตไปกับการต่อสู้คดี และในที่สุดจะส่งผลให้ประชาชนคนอื่น ๆ เกรงกลัวและถูก  “ปิดปาก” ให้ไม่กล้าแสดงความเห็นในทางวิพากษ์วิจารณ์ใด ๆ
    กล่าวอีกนัยคือ รัฐบาลใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือยับยั้งฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์ แสดงความคิดเห็นหรือตรวจสอบการทำงานของตน ในทางวิชาการเรียกพฤติการณ์นี้ว่า การดำเนินคดีเพื่อหวังผลในการปิดปาก (Strategic Lawsuits Against Public Participation – SLAPP) หากวิธีการเช่นนี้เป็นที่ยอมรับ บุคคลจะขาดเสรีภาพในการแสดงออกและการติดต่อสื่อสาร ขาดพื้นที่ส่วนกลางของสังคมที่เรียกว่า “ตลาดรวมความคิดและประสบการณ์ของประชาชน” (market place of ideas) อันเป็นหัวใจสำคัญและคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย

ด้วยเหตุผลข้างต้น อานนท์และภาณุพงศ์จึงหวังให้ศาลสถิตยุติธรรมเป็นเสาหลักค้ำยันคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เพื่อป้องกันการใช้อำนาจรัฐตามอำเภอใจหรือไม่เป็นธรรม และเพื่อเป็นหลักประกันความยุติธรรมและความมั่นใจแก่สังคมไทยและนานาอารยประเทศ จึงขอให้ศาลยกคำร้องเพิกถอนการประกันตัวชั่วคราวของพนักงานสอบสวนข้างต้น

*ภาพหน้าปกบทความจากประชาไท เป็นภาพเมื่ออานนท์และไมค์ได้รับการประกันตัวชั่วคราวในวันที่ 8 ส.ค. 63

X