“ถ้าศาลถอนประกัน ผมคงไปอยู่ในคุก”ติดตามศาลไต่สวนถอนประกัน ไมค์-อานนท์ 3 ก.ย.นี้

“ผมคิดว่าศาลคงมีศักดิ์ศรีและความยุติธรรม ไม่ใช่ปล่อยให้ใครมากดดันได้ ศาลคงวินิจฉัยไปตามกฎหมายและข้อเท็จจริง ถ้าศาลถอนประกัน ผมคงไปอยู่ในคุก ถ้าไม่ถอนก็ทำกิจกรรมต่อ”

อานนท์ นำภา กล่าว ก่อนถึงวันชี้ชะตาเขาอีกวันนั่นคือ 3 กันยายน 2563 หรือวันที่ศาลอาญานัดไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวของเขา และไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก จากกรณีที่ภายหลังการได้ประกันตัว ทั้งสองคนขึ้นปราศรัยในเวที #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อ 10 ส.ค. 2563 และตัวเขาเองขึ้นปราศรัยที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อ 9 ส.ค. 2563

หลังจบเวที #เยาวชนปลดแอก เมื่อ 18 ก.ค. 2563 เวทีที่ส่งต่อปฏิกิริยาชุมนุมเป็นลูกโซ่ทั่วประเทศไทย และการเผยแพร่รายชื่อผู้ถูกกล่าวหาดำเนินคดีซึ่งมากเป็นประวัติการณ์นั่นคือ 31 ราย การจับกุมและฝากขังเกิดขึ้นตามมาตลอดเดือนสิงหาคม โดยศาลให้ผู้ถูกจับกุมทุกรายได้รับอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว

ทว่าการปล่อยตัวชั่วคราวหรือการได้รับการประกันตัว ซึ่งก่อให้เกิดความโล่งใจแก่ประชาชนที่คอยเอาใจช่วย เป็น “การประกันตัวโดยมีเงื่อนไข” อีกทั้งผู้ได้รับการประกันตัวอย่างน้อย 2 รายได้ถูกยื่นคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวแล้วในขณะนี้ นั่นคืออานนท์-ไมค์  ซึ่งหากศาลวินิจฉัยให้ถอนประกัน ผู้ต้องหาจะถูกคุมตัวเข้าเรือนจำทันที

 

อานนท์ยืนยันสิ่งที่ทำไม่ขัดต่อเงื่อนไขการประกันตัว

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7-8 ส.ค. 2563 นับเป็น 27 ชั่วโมงของการคุมตัว “อานนท์-ภานุพงศ์” ที่ประชาชนทั้งประเทศเฝ้าจับตา หลังจากนั้น 8 ส.ค. 2563 ศาลได้อนุญาตฝากขังทั้งสองก่อนมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวทั้งคู่ แต่มีเงื่อนไขห้ามกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้อีก มิฉะนั้นถือว่าผิดสัญญาประกัน

ท่ามกลางความสงสัยของสังคมว่าหลังถูกจับกุมหมาดๆ ไมค์และอานนท์จะปรากฎตัวในเวทีชุมนุมต่างๆ ที่จะตามมาหรือไม่ ซึ่งปรากฎว่าอานนท์ได้ขึ้นปราศรัยในเวที #เชียงใหม่จะไม่ทน ที่ประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่ เมื่อ 9 ส.ค. 2563 และทั้งสองได้ขึ้นปราศรัยในเวที #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน  ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เมื่อ 10 ส.ค. 2563

หลังจากนั้น 13 ส.ค. 2563 พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวต่อศาลอาญา โดยอ้างการเข้าร่วมชุมนุม การกล่าวปราศรัย และการโพสต์ให้ไปร่วมกิจกรรมในวันที่ 9 และ 10 ส.ค. ดังกล่าวของทั้งสองคน และอ้างรายงานการสืบสวนของตำรวจภูธรภาค 5 และตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี ว่าการกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายฝ่าฝืนคำสั่งของศาลอาญา ศาลได้พิจารณารับคำร้องไว้และกำหนดวันไต่สวน ‘ไมค์-อานนท์’ ในช่วงเช้าของวันที่ 3 ก.ย. 2563

เมื่อพิจารณาถึงข้อกล่าวหาที่ ไมค์-อานนท์ ได้รับจากเวที #เยาวชนปลดแอก จะพบว่ามีทั้งหมด 8 ข้อกล่าวหา ดังนี้ (1) ม.116 ยุยงปลุกปั่น (2) ม.215 ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป (3) ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (4) ฝ่าฝืนพ.ร.บ. โรคติดต่อฯ  (5) ม. 385 ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ  (6) ม.114 กีดขวางการจราจร  (7) ม.4 ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง (8) ม.19 ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน  ซึ่งทั้งสองให้การปฏิเสธต่อสู้คดีตลอดข้อกล่าวหา ยืนยันว่าการชุมนุมดังกล่าวถือเป็นการชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมายทุกประการได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

อานนท์ยืนยันว่าสิ่งที่เขาทำไม่ขัดต่อสัญญาการประกันตัว แต่เป็นสิทธิเสรีภาพของพลเมืองที่ถูกรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ไม่ก่อความวุ่นวายตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560  อีกทั้งยังไม่มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลว่าสิ่งที่เขาถูกตั้งข้อกล่าวหาเป็นความจริงแต่อย่างใด

“เงื่อนไขของศาลบอกว่าห้ามเราทำผิดกฎหมาย ซึ่งเราไม่ได้ทำผิดกฎหมาย การชุมนุมทุกครั้งสามารถทำได้ สิ่งที่เราทำเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เป็นการนัดหมายที่จะให้ความรู้-ข้อเท็จจริงต่อประชาชนเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และศาลเองพูดนอกรอบด้วยว่าศาลไม่ได้ห้ามชุมนุมแต่อย่าทำผิดกฎหมายนะ เราก็ไม่ได้ทำผิดกฎหมายอะไร”

 

การประกันตัวโดยมีเงื่อนไขกรณีผู้ปราศรัย #เยาวชนปลดแอก ไม่ใช่หลักเกณฑ์ปกติ

“การประกันตัวโดยมีเงื่อนไขว่า ‘ไม่ให้ทำตามที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้อีก’ ไม่ใช่หลักเกณฑ์ที่ใช้กับทุกคดี และเป็นการสั่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ส่วนใหญ่เจอในคดีที่ขึ้นศาลทหาร ศาลยุติธรรมปกติไม่เจอ นี่ไม่ใช่เรื่องปกติ”  ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าว โดยอ้างอิงถึงกรณีศาลจังหวัดธัญบุรี ซึ่งมีอนุญาตให้ อานนท์-ไมค์ ได้รับการประกันตัว เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2563 สืบเนื่องจากการปราศรัยเวที #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ

ในระบบยุติธรรมที่รับรองหลักการ “สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด” ซึ่งเป็นระบบยุติธรรมที่ไทยใช้อยู่ในขณะนี้ด้วยนั้น การประกันตัวโดยมีเงื่อนไขไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเชื่อว่าผู้ถูกกล่าวหาทำความผิดแล้วป้องปรามไม่ให้ทำอีก ดังที่หลายคนอาจกำลังเข้าใจเช่นนั้น สาวตรี สุขศรี จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวไว้ในงานเสวนาหัวข้อ “เมื่อสิทธิการประกันตัวหายไป” ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2560 ว่าการประกันตัวแบบมีเงื่อนไขเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในต่างประเทศโดยมีจุดประสงค์เพื่อมุ่งลดความเหลื่อมล้ำในระบบกระบวนการยุติธรรม สำหรับให้ผู้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ได้มีโอกาสได้รับการประกันตัวเช่นเดียวกับผู้มีหลักทรัพย์ โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันแต่มีเงื่อนไขให้แทน แต่สำหรับประเทศไทยนั้นกลับต่างออกไป

ภาวิณีตั้งข้อสังเกตกับการประกันตัวโดยมีเงื่อนไขว่า “ไม่ให้ทำตามที่ถูกกล่าวหาในลักษณะนี้อีก” ของ #เยาวชนปลดแอก ไม่ใช่เรื่องปกติ แต่มีลักษณะการป้องปรามการใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกที่คืบไปอีกขั้น แม้เทียบเคียงกับกรณีของจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” คดีแชร์ข่าวบีบีซีไทย เมื่อปี 2559 ที่ศาลเคยตัดสินให้ประกันตัวโดยมีเงื่อนไขเช่นกัน แต่ยังไม่สะท้อนการป้องปรามการใช้เสรีภาพมากเท่า

“คดีของ ไผ่ จตุภัทร์ ไม่ได้ระบุเงื่อนไขการถอนประกันที่มีลักษณะป้องปราม เท่าคดีของ #เยาวชนปลดแอก ในเงื่อนไขคดีแชร์ข่าวบีบีซีไทยของไผ่ระบุแค่ว่า ‘ไม่ให้กระทำความผิดซ้ำ’ แต่เงื่อนไขประกันตัวของ #เยาวชนปลดแอก ระบุลงไปอีกว่า ‘ในลักษณะเดียวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้’” ภาวิณีกล่าว

 

หากการ “เพิกถอนการประกันตัวอย่างมีเงื่อนไข” ทำได้และกลายเป็นมาตรฐานใหม่ อาจเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐตั้งข้อกล่าวหาปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนได้โดยง่าย

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ส.ค. 2563 อานนท์และภาณุพงศ์ได้อุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวโดยกำหนดเงื่อนไข โดยขอให้ศาลอุทธรณ์เพิกถอนเงื่อนไขดังกล่าว ซึ่งศาลวินิจฉัยแล้วว่าเป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้น อย่างไรก็ตามคำอุทธรณ์ดังกล่าวของ ไมค์-อานนท์ ได้สะท้อนความกังวลต่อกระบวนการยุติธรรมที่น่ารับฟัง

หนึ่งในข้อห่วงกังวลที่สะท้อนในคำอุทธรณ์นี้ คือหลักสิทธิมนุษยชนได้กำหนดหลักการพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไว้ว่า “บุคคลซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีความผิดอาญามีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะมีการพิสูจน์ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาโดยเปิดเผยและผู้นั้นได้รับหลักฐานทั้งหลายที่จำเป็นในการต่อสู้คดี” ดังปรากฏอยู่ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ข้อ 11 ดังนั้นการใช้คำสั่งของศาลซึ่งกำหนดเงื่อนไข “ห้ามกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้อีกมิฉะนั้นถือว่าผิดสัญญาประกัน”  จึงเป็นคำสั่งที่สั่งให้ผู้ต้องหาปฏิบัติเสมือนผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำความผิดแล้ว

คำอุทธรณ์ได้ยกตัวอย่างคดีหมายเลขดำที่ อ.2893/2561 หรือคดีการชุมนุมของแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ถนนราชดำเนิน เมื่อปี 2561 ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐกล่าวหาว่าประชาชนกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116  ยุยงปลุกปั่นมาโดยตลอด ปัจจุบันคดีได้ถึงที่สุดแล้วและศาลชั้นต้นยกฟ้องโดยตัดสินว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบและผู้ชุมนุมมีอุดมการณ์ประชาธิปไตย  คดีนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึงความสำคัญของหลัก “บริสุทธิ์จนกว่าจะผิด”  ว่ายังคงเป็นหลักการพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ไม่ควรถูกมองข้ามหรือบิดเบือน

“การที่ศาลสั่งว่า ‘ห้ามกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้อีก’ ย่อมเป็นการปฏิบัติเสมือนผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้กระทำความผิดแล้ว และย่อมไม่มีการชุมนุมใดๆ เกิดขึ้นตามมา แม้คดีความยังไม่ถึงที่สุด” ภาวิณีกล่าว

นอกจากนี้ในคำอุทธรณ์ยังตั้งข้อสังเกตว่า หากการ “เพิกถอนการประกันตัวอย่างมีเงื่อนไข” ทำได้และกลายเป็นมาตรฐานใหม่ อาจเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐตั้งข้อกล่าวหาปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนได้โดยง่าย เพราะอาจเข้าลักษณะ “ชงเอง-ตบเอง” หรือการผูกพันเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวไว้กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐว่าจะกล่าวหาประชาชนหรือไม่เท่านั้น กระทั่งอาจส่งผลให้เกิดความบิดเบี้ยวต่อวิธีพิจารณาความทางอาญาโดยรวม

“คำกล่าวหาก็เป็นเพียงคำกล่าวหาจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้นซึ่งสามารถทำได้โดยง่าย และอาจเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งข้อกล่าวหาเพื่อปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนได้โดยง่าย  อาทิเช่น หากประชาชนได้จัดการชุมนุมโดยชอบตามกรอบของรัฐธรรมนูญ แต่เจ้าหน้าที่รัฐกล่าวหาว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย เช่นนี้ก็อาจจะถือว่าผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งถือว่าเป็นการผูกพันเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวไว้กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐว่าจะกล่าวหาประชาชนหรือไม่เท่านั้น อันถือว่าเป็นเงื่อนไขที่ไม่ได้สัดส่วนเกินจำเป็น และเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร ไม่ชอบด้วยมาตรา 112 วรรคท้าย แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา”

เมื่อพิจารณาจากสภาพการณ์ต่างๆ  การถอนประกันหรือไม่ในวันที่ 3 กันยายนที่จะถึงนี้ จึงนับเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง นอกจากเป็นหลักไมล์ว่า “การเพิกถอนการประกันตัวโดยมีเงื่อนไข” จะเป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้สกัดกั้นการชุมนุมในอนาคตหรือไม่ ยังเป็นหลักไมล์ว่าหลักการพื้นฐานของการพิจารณาความทางอาญาจะได้รับการ “ให้คำอธิบาย” ไปในรูปแบบใดและตรงตามหลักการที่ถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่

 

 

 

 

X