1 มิ.ย. 2564 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดไต่สวนคำร้องขอประกันอานนท์ นำภา, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก ในคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และ “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์ ในคดีติดป้ายบนรูป ร.10 หน้าศาลฎีกา โดยมี “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์, แม่แอมมี่, แม่ของ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ รวมทั้งพี่สาวของชูเกียรติและคนรักมาร่วมฟังการไต่สวนด้วย
เจ้าหน้าที่ศาลมีการต่อสัญญาณไปที่ห้องพิจารณา 703 เพื่อป้องกันโควิด-19 ในวันนี้มาตรการควบคุมในห้องพิจารณาดูค่อนข้างผ่อนคลาย โดยไม่มีการเก็บโทรศัพท์มือถือของผู้เข้าฟังการพิจารณา เนื่องจากวันนี้มีการไต่สวนคำร้องของ 3 คน จึงต้องแบ่งการไต่สวน โดยทำการไต่สวนชูเกียรติในห้องพิจารณา 912 ซึ่งจะทำการไต่สวนชูเกียรติเพียงคนเดียว เนื่องจากเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2564 ศาลได้ไต่สวนญาติและผู้กำกับดูแลไปแล้ว
10.45 น. มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีค้ามนุษย์ ออกพิจารณา ก่อนเริ่มไต่สวนชูเกียรติผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์มาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ศาลได้สอบถามพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ว่า จะคัดค้านการให้ประกันผู้ต้องหาหรือไม่ พนักงานสอบสวนไม่คัดค้าน
จากนั้นชูเกียรติเบิกความตอบคำถามทนายว่า คดีนี้พยานให้การปฏิเสธ และประสงค์จะต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ พยานถูกจับหลังออกหลังศาลออกหมายจับ 1 วัน โดยไม่มีหมายเรียกมาก่อน หากพนักงานสอบสวนออกหมายเรียกก่อน พยานก็ยินดีไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ไม่หลบหนี โดยพยานถูกจับกุมที่คอนโดลุมพินี ซึ่งพยานพักอยู่ที่คอนโดดังกล่าวมาเป็นเวลา 1 ปีกว่าแล้ว
เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา พยานได้ลงลายมือชื่อในเอกสารบันทึกถ้อยคำของผู้ต้องหาในการขอปล่อยตัวชั่วคราวซึ่งระบุว่า หากได้รับการปล่อยตัวจะไม่เข้าร่วมการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและไม่กระทำการแบบเดียวกับที่ถูกกล่าวหา ไม่กระทำการอันเป็นที่เสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ ไม่เดินทางออกนอกประเทศหากไม่ได้รับอนุญาต จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้กำกับดูแลที่ศาลตั้ง และมาตามนัดของศาลโดยเคร่งครัด
หลังเสร็จการไต่สวนในเวลาประมาณ 11.05 น. ศาลได้อ่านคำสั่งระบุว่า
“พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีมีประเด็นให้พิจารณาว่ามีเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 อันอาจทําให้ศาลต้องสั่งมิให้ปล่อยชั่วคราวหรือไม่ คดีนี้จําเลยถูกเจ้าพนักงานจับกุมโดยไม่มีการเรียกผู้ต้องหามาก่อน และไม่ปรากฏว่า ผู้ต้องหาได้พยายามหลบหนีก่อนการถูกจับกุม จึงยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ไปว่าผู้ต้องหาประสงค์จะหลบหนี พยานหลักฐานในการสอบสวนในคดีส่วนใหญ่เป็นพยานหลักฐานที่อยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงาน ไม่อยู่ในวิสัยที่ผู้ต้องหาจะไปยุ่งเกี่ยวได้
ในส่วนการที่ผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุร้ายประการอื่นนั้น เมื่อผู้ต้องหาให้ถ้อยคํายืนยันพร้อมทั้งมีลายลักษณ์อักษรและด้วยวาจาตนเอง น่าเชื่อว่าผู้ต้องหามีเจตนาที่จะกระทําตามเงื่อนไขด้วยความสมัครใจของตนเอง ผู้ขอประกันผู้ต้องหาเป็นผู้สนิทสนมที่ผู้ต้องหานับถือเสมือนพี่ และหลักทรัพย์มูลค่าถึง 200,000 บาท พอสมควรแก่พฤติการณ์แห่งคดีเป็นที่น่าเชื่อถือ ทั้งยังมีชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมจะกํากับดูแล
จึงไม่มีเหตุที่จะมิให้ปล่อยชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา โดยกําหนดเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาไม่ไปกระทํากิจกรรมที่กระทําความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ร่วมการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ให้มาศาลตามนัด หากผิดสัญญาให้ปรับ 200,000 บาท ตั้งชลิตา บัณฑุวงศ์ เป็นผู้กํากับดูแลผู้ต้องหา”
ชูเกียรติได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้ หลังถูกขังรวม 71 วัน และยื่นประกันรวม 6 ครั้ง ศาลกำหนดนัดให้ชูเกียรติมารายงานตัวอีกในวันที่ 4 มิ.ย. 2564
(อ่านเพิ่มเติมข้อมูลคดี>> ชูเกียรติ คดี 112 ติดกระดาษบนรูป ร.10 ชุมนุม 20 มีนา)
อย่างไรก็ตาม ชูเกียรติยังไม่ได้รับปล่อยตัวออกจากเรือนจำในวันนี้ เนื่องจากยังมีหมายขังคดี 112 ระหว่างพิจารณาอีก 2 คดี ในคดีปราศรัย #ม็อบ6ธันวา ที่วงเวียนใหญ่ ของศาลอาญาธนบุรี และคดีปราศรัยในการชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎร์ประสงค์ ของศาลอาญากรุงเทพใต้ หลังอัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ว โดยทนายความจะยื่นคำร้องขอประกันในคดีทั้งสองในวันพรุ่งนี้ (2 มิ.ย. 2564) ต่อไป
ไต่สวนคำร้องขอประกัน “อานนท์ นำภา”
ต่อมาเวลา 11.10 น. เจ้าหน้าที่ต่อสัญญาณวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ไปที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ปรากฏภาพเจ้าหน้าที่ใส่ชุด PPE เต็มชุด 2 คน ส่วนอานนท์ใส่ชุดผู้ป่วยสีน้ำเงินนั่งอยู่ในห้องพักบนเตียงของโรงพยาบาล โดยมีภาณุพงศ์นั่งอยู่บนเก้าอี้ข้างเตียงในห้องเดียวกัน
ศาลเริ่มการไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ก่อน โดยสอบถามอัยการว่า จะคัดค้านการให้ประกันอานนท์หรือไม่ อัยการแถลงตอบว่า ให้อยู่ในดุลพินิจของศาล
จากนั้นอานนท์เบิกความตอบคำถามทนายจำเลยว่า พยานเป็นทนายความตั้งแต่ปี 2550 ทางคดีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและทำงานกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีนี้พยานมาตามนัดโดยตลอด พยานหลักฐานในคดีก็อยู่ในการครอบครองของโจทก์ และมีการตรวจพยานหลักฐานไปแล้ว อีกทั้งจำเลยให้การปฏิเสธและแต่งตั้งทนายเข้าต่อสู้คดีแล้ว
ส่วนอาการติดเชื้อโควิดของพยาน พยานได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ โดยแพทย์แจ้งว่าหายแล้ว อยู่ในช่วงกักตัว หากศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว พยานจะกักตัวเพื่อดูอาการ หากไม่ได้รับการปล่อยตัวและต้องกลับไปเรือนจำก็จะเสี่ยงที่จะติดเชื้ออีกครั้ง
นอกจากนี้ พยานได้เซ็นเอกสารบันทึกถ้อยคำ ซึ่งทนายความเป็นผู้จัดทำเอกสารบันทึกถ้อยคำไปให้ พยานได้อ่านข้อความทั้งหมดแล้ วและสมัครใจปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ได้แก่ ไม่กล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ในทางเสื่อมเสีย ไม่ร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หากศาลแต่งตั้งผู้กำกับดูแล พยานยินดีอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของมารดา และนายสมชาย หอมลออ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของสมาคมนักกฎหมายสิทธิที่พยานเป็นสมาชิก และร่วมงานกันมาโดยตลอด หากศาลกำหนดเงื่อนไขใดเพิ่มเติม พยานก็ยอมรับที่จะปฏิบัติตาม
อัยการแถลงเพิ่มเติมว่า เชื่อว่าอานนท์จะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด
ต่อมา สมชาย หอมลออ เข้าเบิกความในฐานะผู้กำกับดูแล โดยเบิกความตอบทนายจำเลยว่า พยานอายุ 71 ปี อาชีพทนายความประวัติการทำงานโดยสังเขป เป็นทนายความในปี 2518 เป็นกรรมการบริหารสภาทนายความ ปี 2545 – 2547 หลังเหตุการณ์สลายชุมนุมในปี 2553 ได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ในปี 2554 – 2557 ได้เป็นคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายและเป็นผู้สนับสนุนการจัดตั้งสมาคมนักกฎหมายสิทธิ ปัจจุบันเป็นกรรมการสรรหาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
พยานรู้จักกับอานนท์มาแล้วเป็นเวลา 10 ปี เนื่องจากอานนท์ได้มาร่วมทำงานกับมูลนิธิทนายที่ทำเพื่อสิ่งแวดล้อม และอานนท์ก็ได้เข้าเป็นสมาชิกของสมาคมนักกฎหมายสิทธิ ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องและให้คำปรึกษาทางด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านคดีแก่ประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิ
เท่าที่พยานรู้จักอานนท์ เห็นว่าอานนท์เป็นคนเรียบร้อย มีอัธยาศัยดี ในแง่ส่วนรวม สนใจในการปกป้องสิทธิมนุษยชน มีความเปิดเผย มุ่งมั่นในการทำงาน ซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา ประชาชนให้การยอมรับอานนท์เป็นอย่างมาก การทำงานของเขาเป็นที่รับทราบในต่างประเทศ โดยได้รับรางวัล “กวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน” ประจำปี 2564 จากมูลนิธิ 18 May ของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชน
สมชายกล่าวยืนยันกับศาลว่า อานนท์เป็นคนซื่อตรง เปิดเผย เชื่อว่าจะปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาล ทั้งนี้ ตนกับอานนท์มีอายุห่างกันหลายปี อานนท์มีความเคารพนับถือตนในฐานะที่ปรึกษาสมาคมนักกฎหมายสิทธิ ตนจะคอยติดตามให้คำแนะนำอานนท์อย่างใกล้ชิด
ไต่สวนคำร้องขอประกัน “ไมค์” ภาณุพงศ์
เวลา 11.45 น. ศาลเริ่มไต่สวนคำร้องขอประกันของภาณุพงศ์เป็นคนสุดท้าย โดยมีพยาน 2 ปาก ประกอบด้วย อ.ธนินทร์ สิริวรรณ อาจารย์ของไมค์ และ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก
ภาณุพงศ์ เข้าเบิกความเป็นพยานปากแรก ระบุว่า ปัจจุบันพยานอายุ 25 ปี และเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะรัฐศาสตร์ เอกการปกครอง พยานเคยทำกิจกรรมจิตอาสา เป็นอดีตคณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย คดีนี้พยานได้เดินทางมารายงานตัวที่อัยการ ไม่ได้มีการหลบหนี หรือผิดนัด โดยมาตามนัดทุกนัด ปัจจุบัน คดีนี้มีการตรวจพยานหลักฐานแล้ว พยานยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานไม่ได้
ปัจจุบัน พยานติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ปัจจุบันไม่มีอาการแล้ว ไม่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดแล้ว หากต้องกลับไปเรือนจำ จะทำให้พยานมีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสอีกครั้ง เนื่องจากผู้ต้องขังยังไม่ได้รับวัคซีน เรือนจำมีสภาพแออัด
คดีนี้พยานได้ให้การปฏิเสธ และอยู่ระหว่างการนัดสืบพยาน ในคดีนี้จำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ในบันทึกถ้อยคำ โดยมีรายละเอียดว่า จะไม่ยุ่งเกี่ยวพยาน จะไม่ไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย ไม่ร่วมกิจกรรมที่ทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ พร้อมกับมารายงานตัวต่อศาลทุกนัด
ปกติพยานพักอาศัยอยู่กับมารดา หากศาลกำหนดให้มีผู้กำกับดูแล จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ อ.ธนินทร์ ศิริวรรณ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในการทำกิจกรรม และมารดาของพยานยังเคยร่วมกับอาจารย์ในปี 2561-63
อัยการถามค้านว่า ภาณุพงศ์ยืนยันกับศาลว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลใช่หรือไม่ และจะศึกษาต่อให้จบตามหลักสูตร 4 ปี และทำหน้าที่ของตัวเองให้สำเร็จหรือไม่ พยานตอบตกลง
เวลา 12.00 น. ธนินทร์ ศิริวรรณ นักวิชาการอิสระ เข้าเบิกความว่า ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิสาหกิจชุมชน ในอดีตเคยทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นที่ปรึกษาในโครงการวิจัยศาสตร์พระราชา พื้นที่ตะวันออก
ตนรู้จักกับไมค์ปี 2559 โดยตอนนั้นตนเป็นที่ปรึกษาสมาคมเพื่อนชุมชน ตนได้เคยสืบประวัติไมค์ก่อนร่วมงานกัน โดยพบว่าไมค์ได้ทำงานในสภาเยาวชน จ.ระยอง เคยช่วยโครงการน้องท้องก่อนวัย, ช่วยเหลือน้องที่ติดยาเสพติด, ทำโครงการรวมตัวกันเก็บขยะที่ชายหาด ตนยังทราบว่าไมค์ได้รับรางวัลหลายรางวัล เป็นเยาวชนดีเด่นของจังหวัด นอกจากนี้ไมค์ยังได้ทำโครงการช่วยเหลือชาวประมงให้ขายปลาได้ในช่วงโควิด ผลงานของไมค์ทำให้ชาวประมงสามารถพึ่งพาตนเองได้ ไมค์เป็นคนมีนิสัยเรียบร้อย ชอบช่วยเหลือผู้อื่น และตนเห็นว่าไมค์จะเป็นคนที่มีคุณภาพหากได้รับการพัฒนา ตนจะกำกับดูแลไมค์โดยการพาไปทำงานพัฒนาสังคมที่ไมค์รัก และจะชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาสังคมสามารถทำได้หลายทางโดยไม่ต้องก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง
ศาลให้ประกัน “ไมค์-อานนท์” กำหนดเงื่อนไข ห้ามทำกิจกรรมที่ทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย
หลังการรอคอยราว 2 ชั่วโมง เวลา 14.30 น. มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ อ่านคำสั่งให้อนุญาตประกันตัวอานนท์ และภาณุพงศ์ โดยไม่ได้เบิกตัวทั้งสองมาฟังคำสั่งผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ แต่อ่านคำสั่งให้ทนายจำเลยรับทราบ โดยมีแม่และน้องสาวของอานนท์ รวมถึงแม่และพี่สาวของไมค์ เขาร่วมฟังคำสั่งด้วย
ศาลอ่านคำสั่งระบุว่า จากการไต่สวนจำเลยทั้งสอง และผู้กำกับดูแล พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานหลักฐานอยู่ในการกำกับของเจ้าพนักงานแล้ว ผู้กำกับดูแลของทั้งสองมีความน่าเชื่อถือ ประกอบกับพยานให้ถ้อยคำว่าจะไม่ร่วมการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองอีกทั้งพนักงานสอบสวนไม่คัดค้านการให้ประกันตัว
จึงมีคําสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวทั้งสอง ตีราคาหลักประกันจํานวนคนละ 200,000 บาท โดยมีเงื่อนไขห้ามจำเลยกระทําการใดในลักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหา อันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเข้าร่วมในกิจกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นได้ในบ้านเมือง ห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากศาล และให้จำเลยมาศาลตามกําหนดนัดโดยเคร่งครัด
อานนท์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวหลังสูญเสียอิสรภาพ 113 วัน (ราว 4 เดือน) ยื่นประกันรวม 8 ครั้ง ภาณุพงศ์ถูกขัง 86 วัน ยื่นประกันรวม 6 ครั้ง และทั้งสองรวมทั้งชูเกียรติติดโควิดในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จนกระทั่งได้รับการรักษาจนหาย โดยเป็น 2 คนสุดท้ายของจำเลยในคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวหลังอัยการยื่นฟ้อง
>> ชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ถูกดำเนินคดี ม.112, 116, 215
นอกจากอานนท์ และภาณุพงศ์ จะได้รับการปล่อยตัวในวันนี้ เช้าวันนี้ ประพันธ์ (สงวนนามสกุล) จำเลยคดีสหพันธรัฐไท ก็ได้รับการปล่อยตัวออกจากทัณฑสถานหญิงกลาง หลังรับโทษจำคุกครบ 2 ปี ตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา ทำให้ยังเหลือผู้ต้องขังคดีทางการเมืองที่ยังไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดีอีก 3 คน คือ ชูเกียรติ (ติดหมายขังระหว่างพิจารณาคดี 112 อีก 2 คดี), ศุภากร (สงวนนามสกุล) และแซม สาแมท
>> เปิดเรื่องราวผู้ต้องขัง #ม็อบ28กุมภา “แซม สาแมท” ชายไร้สัญชาติที่ออกมาสู้เพื่อความเท่าเทียม
***แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งปล่อยชั่วคราวชูเกียรติในเวลา 20.30 น.