พิพากษาจำคุก 54 เดือน “ศุภากร” คดีพ.ร.บ.คอมฯ โพสต์ภาพตัดต่อกษัตริย์ ศาลส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้องประกัน

*แก้ไขเพิ่มเติม 1 มิ.ย. 2564

วันนี้ (10 มี.ค. 64) เวลา 09.30 น. ศาลอาญาธนบุรีนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “ศุภากร” (สงวนนามสกุล) ซึ่งถูกฟ้องร้องในข้อหาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 เนื่องจากการถูกกล่าวหาว่าเขาสร้างบัญชีเฟซบุ๊กอวตารเพื่อโพสต์ภาพและข้อความในกลุ่มเฟซบุ๊กหลายกลุ่ม โดยมีภาพและข้อความอันเป็นเท็จ บิดเบือนให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ จำนวน 9 ข้อความ ในช่วงระหว่างวันที่ 10-23 เมษายน ปี 2563 

ศาลได้ออกพิจารณาคดีเวลา 09.38 น. โดยมี จำเลย ทนายจำเลย และมารดาบุญธรรมของจำเลย ซึ่งเป็นนายประกัน มาศาล

ก่อนอ่านคำพิพากษา ศาลอ่านรายงานสืบเสาะพฤติกรรม เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ จึงได้ให้พนักงานคุมความประพฤติสืบเสาะประกอบคำพิพากษา พบว่าศุภากร ปัจุจบันอายุ 22 ปี สถานภาพโสด ไม่มีบุตร วุฒิการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ไม่ได้ประกอบอาชีพใด ขณะนี้อยู่อาศัยกับผู้เป็นมารดาอุปถัมภ์ 

ศุภากรได้ลาออกจากโรงเรียนขณะศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เคยประกอบอาชีพพนักงานเสิร์ฟอาหารและรับจ้าง จากนั้นไม่ได้ประกอบอาชีพอื่นอีก และไม่มีประวัติการกระทำความผิดมาก่อน จำเลยยอมรับว่าได้โพสต์รูปตามที่โจทก์ฟ้อง

หลังแจ้งรายงานการสืบเสาะ ศาลได้อ่านคำพิพากษาต่อทันที โดยพิเคราะห์ว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2), (5) กระทำความผิดหลายกรรม ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป พิพากษาว่ามีความผิดทั้ง 9 กรรม จำคุกกรรมละ 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกกรรมละ 6 เดือน รวมลงโทษจำคุก 54 เดือน (คิดเป็นราว 4 ปี 6 เดือน)

ศาลพิเคราะห์ถึงรายงานคุมความประพฤติว่า จำเลยได้โพสต์รูปตัดต่อของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 และ 10 และรูปคนสวมเครื่องทรงของกษัตริย์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ แม้จะระบุว่ากระทำไปเนื่องจากเรียกร้องความสนใจจากบุคคลทั่วไป ไม่ได้มีเจตนาทางการเมือง ไม่ได้รับการว่าจ้างมาก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยเป็นการบ่อนทำลายสถาบันกษัตริย์ ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ลดทอนความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน ซึ่งเป็นสถาบันหลักของชาติ ก่อให้เกิดความขัดแย้งของประชาชน และเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงแห่งชาติ พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง จึงยังไม่สมควรมีเหตุให้รอลงอาญา

หลังศาลอ่านคำพิพากษา ศุภากรได้ถูกเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวโดยใส่กุญแจมือ และนำตัวลงไปในห้องขังใต้ถุนศาล ญาติและทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดี โดยวางเงินสดจำนวน 200,000 บาท จากกองทุนนิรนาม เป็นหลักประกัน เพิ่มหลักทรัพย์ 1 เท่าตัว จากเดิมที่เคยวางเงินสด 100,000 บาทเป็นหลักประกันตัวหลังการสั่งฟ้องคดี โดยเจ้าหน้าที่ศาลระบุว่าจะตีวงเงินประกันและแจ้งกับนายประกันทีหลัง 

อย่างไรก็ตาม เวลา 15.10 น. หลังการรอคอยของญาติและทนายเป็นเวลา 5 ชั่วโมง ศาลชั้นต้นพิจารณาให้ส่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ทำให้ศุภากรต้องถูกนำตัวไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษธนบุรีทันที และต้องรอศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้เวลาราว 2-3 วัน

>> อัยการสั่งฟ้องคดีพ.ร.บ.คอมฯ หนุ่มวัย 21 ปี โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ 9 ข้อความ

บ่ายวันรุ่งขึ้น (11 มี.ค. 64) ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันศุกากร โดยระบุเหตุผลว่า จำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดหลายกรรม พฤติการณ์แห่งคดีมีลักษณะไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง และเป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดี นับว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ประกอบกับคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์

คำสั่งนี้ทำให้ศุภากรถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรีทันที อีกทั้งยังติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดอย่างกว้างขวางในเรือนจำ ทำให้ญาติยังไม่สามารถเยี่ยมศุภากรผ่านแอพพลิเคชันไลน์ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม

การถูกคุมขังครั้งนี้จึงพรากศุภากรและครอบครัวรวมเป็นเวลากว่า 84 วันแล้ว (นับจนถึงวันที่ 1 มิ.ย. 64)

X