28 ธ.ค. 63 ที่ศาลอาญาธนบุรี พนักงานอัยการ ประจำสำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาธนบุรี 2) นัดหมายนายศุภากร (สงวนนามสกุล) อายุ 21 ปี อยู่ระหว่างศึกษาในระบบการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เข้าฟังคำสั่งฟ้องคดีในข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากพฤติการณ์กล่าวหาว่าได้โพสต์ภาพและข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ลงในเฟซบุ๊ก 9 ข้อความ เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2563 โดยหลังการสั่งฟ้อง ศาลให้ประกันตัวจำเลย และกำหนดวันนัดพร้อมคดีต่อไปในวันที่ 1 ก.พ. 64
เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 63 ชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการตำรวจสันติบาล 2 ได้นำหมายค้นที่ออกโดยศาลอาญาธนบุรี ลงวันที่ 2 มิ.ย. 63 เข้าตรวจค้นบ้านพักของนายศุภากรในกรุงเทพฯ ต่อมายังได้มีการนำกำลังไปตรวจค้นห้องพักในอพาทเมนต์ของนายศุภากร ก่อนตำรวจจะมีการนำตัวนายศุภากรไปยัง สน.เพชรเกษม เพื่อทำการสอบสวน โดยมีมารดาบุญธรรมของเขาติดตามไปด้วย
ระหว่างสอบสวน เจ้าหน้าที่สันติบาลได้ยึดโทรศัพท์มือถือ พร้อมตรวจดูการใช้งานบัญชีเฟซบุ๊ก ก่อนทำการตรวจยึดโทรศัพท์ไว้เป็นของกลาง และควบคุมตัวนายศุภากร ส่งให้กับพนักงานสอบสวน สน.เพชรเกษม เพื่อดำเนินคดี
พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหากับศุภากร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (2) และ (5) โดยกล่าวหาว่าในช่วงเดือนเมษายน 2563 นายศุภากรได้สร้างบัญชีเฟซบุ๊กอวตารเพื่อโพสต์ภาพและข้อความในเพจ “เราไม่ทิ้งกัน” ซึ่งเป็นโครงการให้ความช่วยเหลือจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 โดยมีภาพและข้อความอันเป็นเท็จ บิดเบือนให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์
ทั้งนี้ กระบวนการจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหานี้ไม่มีทนายความอยู่ร่วมด้วย เจ้าหน้าที่ได้ระบุในเอกสารบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาว่านายศุภากรได้ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา
วันที่ 4 มิ.ย. 63 หลังจากควบคุมตัวนายศุภากรไว้ที่สถานีตำรวจ 2 คืน ร.ต.ท.เอกชัย อินนิมิต พนักงานสอบสวนสน.เพชรเกษม ได้นำตัวผู้ต้องหาไปขออำนาจศาลอาญาธนบุรีในการฝากขังระหว่างสอบสวน โดยตำรวจคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหาด้วย แต่ภายหลังศาลอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา ก็ได้อนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาไป โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ประกัน แต่ให้สาบานตนว่าจะมาตามนัด
ต่อมา พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนคดีให้พนักงานอัยการ และอัยการได้นัดหมายสั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญาธนบุรีในวันนี้ โดยฟ้องในข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (2) และ (5) จากการโพสต์ภาพและข้อความเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ในเฟซบุ๊กจำนวน 9 ข้อความ ช่วงระหว่างวันที่ 10-23 เมษายน 2563 โดยบางภาพมีลักษณะตัดต่อภาพ
อัยการระบุในการบรรยายฟ้องถึงภาพและข้อความต่างๆ ที่จำเลยโพสต์ ว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะและเทิดทูนของปวงชนชาวไทย จำเลยมีเจตนาให้ประชาชนที่พบเห็นโพสต์ดังกล่าววิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ไปในทางให้ได้รับความเสียหาย อันเป็นการบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ลดทอนความเลื่อมใสศรัทธาของประชาชนที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของชาติ และก่อให้เกิดความขัดแย้งของประชาชน เกิดภาวะหรือสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงขึ้นภายในประเทศ จำเลยจึงโพสต์ภาพและข้อความดังกล่าวโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
ทั้งนี้บัญชีเฟซบุ๊กที่ศุภากรที่กล่าวหาว่าได้ใช้โพสต์ข้อความตามข้อกล่าวหา แบ่งเป็นสองบัญชี โดยทั้งสองบัญชีไม่ได้ใช้ชื่อนามสกุลจริงของเขาแต่อย่างใด
หลังการสั่งฟ้องต่อศาล ผู้พิพากษาในห้องเวรชี้ได้สอบถามคำให้การเบื้องต้นของศุภากร เขาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลจึงได้กำหนดวันนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐานต่อไปในวันที่ 1 ก.พ. 2564 เวลา 9.00 น.
ต่อมาในช่วงบ่าย ญาติได้ทำการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 100,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนนิรนาม และเมื่อเวลา 16.10 น. ศาลอาญาธนบุรีได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างการต่อสู้คดีต่อไป
ทั้งนี้คดีของนายศุภากร เป็นตัวอย่างหนึ่งในแนวโน้มของการใช้กฎหมายและดำเนินคดีจากการแสดงออกเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์บนโลกออนไลน์ในช่วงก่อนหน้าเดือนพฤศจิกายน ซึ่งไม่ได้นำข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาใช้กล่าวหา แต่ตั้งข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) หรือ (3) เพียงข้อหาเดียวแทน คดีลักษณะนี้ อาทิคดีของผู้ใช้ทวิตเตอร์ “นิรนาม”, คดีของกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์, คดีของ “นายบุญมา” (นามสมมติ) ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินของเพจเฟซบุ๊กรับสมัครนักรบล้มล้างการปกครอง หรือคดีของพระปัญญา สีสัน เป็นต้น
อ่านปัญหาการใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพิ่มเติม
คุยกับสาวตรี สุขศรี ว่าด้วย ‘เฟกนิวส์’ และความกว้าง เทา คลุม ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
จับทนายสิทธิคุยเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รู้ทันเทรนด์ใหม่ที่ใช้ปิดกั้นการแสดงความเห็น