“ท่ามกลางบริบทการเมืองของไทย ในรัฐที่เป็นรัฐเผด็จการ ที่มันปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เขาก็เลยใช้กฎหมายตัวนี้ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) มาจัดการเรื่องนี้”
“ทหารตำรวจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด”
“ข่าวลือพล.อ.ประยุทธ์และภรรยาโอนเงินหมื่นล้านไปที่ธนาคารสิงคโปร์”
สารพันเรื่องราวที่ไม่ว่าจะเป็นทั้งข่าวลือ ความคิดเห็น ข้อสังเกตทั่วไป แต่กลับมีคนถูกดำเนินคดีอาญาจากการแชร์โพสต์เหล่านี้
ในช่วงปีนี้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ศ.2560) หรือที่เรียกกันติดปากว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยังคงถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง อันเป็นความจงใจของรัฐ เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวการแสดงความคิดเห็นให้เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ จากประเด็นที่กำลังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนในโซเชียลมีเดีย ก็เบี่ยงกลายเป็นการดำเนินดคีกับผู้แชร์แทน และการพูดคุยในประเด็นนั้นๆ ก็ค่อยๆ เงียบหายลง และปฏิเสธไม่ได้ว่านั่นมีผลทำให้คนกลัวการแสดงความเห็นมากขึ้น และกลายเป็นเซ็นเซอร์ตัวเองไปโดยปริยาย
เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ หลายคนคงมีคำถามในใจ ถ้าอย่างนั้นโพสต์ยังไงไม่ให้โดนพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ล่ะ? แล้วไม่นานก็ได้คำตอบว่า ไม่มีใครตอบให้ได้เลยว่าอันไหนจะโดนหรือไม่โดนดำเนินคดี ด้วยขอบเขตของมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นั้นตีความได้กว้างมาก แม้แต่นักกฎหมายเองก็บอกไม่ได้ เช่นนั้นแล้ว ประชาชนเช่นเราควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรดี ในสถานการณ์ที่เสรีภาพในการแสดงออกถูกจำกัด ผ่านการบังคับใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างผิดวัตถุประสงค์
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงชวนทนายภาวิณี ชุมศรี หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย ทนายความประจำศูนย์ฯ ผู้คว่ำหวอดอยู่กับการเป็นทนายความให้กับคดีด้านเสรีภาพในการแสดงออกมาแล้วหลายต่อหลายคดี มาเจาะลึก พูดคุยถึงที่มา ปัญหาของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และเราควร “รู้” อะไรบ้าง เพื่อทำให้สามารถยังคงดำรงการยืนหยัดออกเสียงของเราต่อไป
ก่อนอื่นพูดถึง ปัญหาเรื่อง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ พ.ร.บ.นี้มีปัญหาอย่างไร
ปัญหาเรื่องพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีมาก่อนรัฐประหาร 2557 แล้ว เดิมพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับแรกมาปี 2550 แล้วก็มีปัญหาคือมีการเอาไปใช้ในเรื่องของหมิ่นประมาท มีคำพิพากษาของศาลที่ไปตีความว่า “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ” คำว่า “ข้อมูล” ศาลตีความว่า “ข้อมูล” คือ “ข้อความ” ด้วย ซึ่งก็คือข้อความที่แสดงความคิดเห็น
ปัญหาคือพอตีความแบบนั้น ทำให้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ถูกนำไปใช้ในกรณีของการแสดงความคิดเห็นด้วย ทั้งที่เป็นหมิ่นประมาท เป็นความผิดมาตรา 112 หรือเป็นเรื่องความมั่นคง ซึ่งมีฐานความผิดทางอาญาอยู่แล้ว ซึ่งในความเป็นจริงมันควรที่จะถูกตีความว่า ข้อมูลนี้ คือข้อมูลของระบบคอมพิวเตอร์ สมมติอาจจะเป็น 01010 คือรหัส พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ควรใช้ในกรณีที่คนไป fake รหัส หรือระบบ หรือแฮ็กข้อมูลในคอมพิวเตอร์ที่เป็นเท็จ มันควรเป็นข้อมูลดิจิตัลของคอมพิวเตอร์จริงๆ ไม่ใช่ข้อความ
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ถูกใช้ทั้งควบคู่ไปกับมาตรา 112, มาตรา 116 ทั้งหมิ่นประมาทโดยใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งถ้าเป็นคดีหมิ่นประมาทระหว่างบุคคล เป็นความผิดที่ยอมความกันได้ แต่ว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ซึ่งยอมความกันไม่ได้ นี่คือปัญหา
แล้วก็ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ระดับของความร้ายแรงมันหนักกว่า คือจำคุกไม่เกิน 5 ปี ก็มีเรื่องไปที่ตำรวจเยอะ เพราะมันต้องไปแจ้งความ ทีนี้พอมันมีปัญหาเยอะแบบนี้ เขาก็ประมวลขึ้นมา ก็เกิดการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ประมาณปี 2560
แก้เรื่อง หมิ่นประมาท แต่ฉบับปี 2560 ก็มีปัญหาใหม่แทน
“นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2560) |
พอแก้ไขใหม่ ในมาตรา 14(1) มันดันไปเขียนเพิ่มว่า “นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จบิดเบือนความจริง ที่ไม่ใช่ความผิดหมิ่นประมาท” คือพูดง่ายๆ ว่าเขาต้องการป้องกันให้ข้อหาหมิ่นประมาท ไม่ต้องมาดำเนินคดีโดยใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เขาแก้ปัญหาเรื่องนั้น แต่มันเกิดปัญหาใหม่ขึ้นมา เพราะว่ามันมีการใช้คำว่า “บิดเบือน” ข้อความที่บิดเบือน คือแค่ไหน แล้วก็ (2) เรื่องตื่นตระหนกตกใจของประชาชน แบบนี้ ปรากฏว่าตอนนี้ปัญหาใหม่ของที่แก้มาคือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีการนำมาใช้ โดยเจ้าหน้าที่รัฐนำมาใช้กับคนที่แสดงความคิดเห็นทั่วไปๆ ถูกใช้คล้ายๆ กับกฎหมายมาตรา 116 ที่ใช้แบบค่อนข้างอำเภอใจ
แล้วก็ใช้ในการดำเนินคดีกับคนที่แสดงความคิดเห็น โดยอ้างว่าถ้าคุณนำเข้าข้อความที่เป็นข่าวเท็จ แสดงความคิดเห็นอะไรต่างๆ ที่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจริงหรือเท็จ แสดงความคิดเห็นอะไรไปแล้วมันไปกระทบกับหน่วยงานเช่นตำรวจ ทหาร, คสช., รัฐบาล, ประยุทธ์ ก็จะถูกดำเนินคดี ด้วยข้อหาเช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งมันเลยทำให้เทรนด์คดีมันเยอะ เพราะว่าท่ามกลางบริบทการเมืองของไทย ในรัฐที่เป็นรัฐเผด็จการ ที่มันปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น การใช้เสรีภาพ เขาก็เลยใช้กฎหมายตัวนี้มาจัดการเรื่องนี้
อยากให้ลองยกตัวอย่างคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนดูแล
คดีของศูนย์มีตัวอย่างมาโดยตลอดว่ามันถูกใช้ยังไง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแสดงความคิดเห็น โดยส่วนใหญ่จะเป็นทางโซเชียลมีเดีย ยูทูป เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ซึ่งมันก็จะมีทั้งระดับที่เป็นแค่ข่าวลือทั่วๆ ไป แล้วก็ไปโพสต์ ซึ่งเขาก็ไม่ได้ยืนยันว่าจริงหรือไม่จริง เพียงแต่ว่าเขาได้ยินข่าวมาแบบนี้ หรือเป็นกรณีที่ข้อความเป็นข่าวเท็จไปเลย แต่เขาไม่รู้ว่ามันจริงหรือเท็จ เขาก็แชร์ไป ส่วนใหญ่มันจะเป็นเรื่องของการแชร์ การแสดงความคิดเห็นที่ยังไม่ได้ยืนยัน คล้ายๆ ว่าเป็นพวกบ่นๆ พูดความรวมกว้างๆ แต่ก็ถูกนำมาดำเนินคดี เพราะอ้างว่ามันเป็นเรื่องเท็จ
คดีที่เป็นคดีแรกๆ อย่างคดีรินดา ก็คือเป็นคดีที่เขาไปได้ข้อมูลมาในไลน์ แล้วเขาก็เอาไปโพสต์เฟซบุ๊กว่า พลเอกประยุทธ์โอนเงินไปสิงคโปร์ ซึ่งในทางนำสืบคือตอนแรกศาลทหารบอกว่าเป็นหมิ่นประมาท ไม่ใช่มาตรา 116 ตอนแรกเขาฟ้อง 116 กับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แล้วสุดท้ายศาลทหารบอกมันไม่ใช่ 116 เป็นหมิ่นประมาท เขาก็ยังมาฟ้องใหม่เป็นพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทีนี้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ของเขา เขาบอกว่ามันจะทำให้ประชาชนตื่นตระหนกตกใจ
ในกระบวนการสืบพยาน เขาพยายามจะพิสูจน์ว่าข้อความที่โพสต์เนี่ย มันไม่จริง เพราะว่าในช่วงเวลานั้นพลเอกประยุทธ์ไม่ได้โอนเงินเลย ซึ่งคุณรินดาเขาก็ยืนยันว่ามันเป็นข่าว แล้วเขาก็บอกว่า อย่างยิ่งลักษณ์มีข่าว ทุกคนก็พูดกันส่งต่อกันแชร์กัน เพราะต้องการให้คนสังคมได้รับรู้ตรวจสอบ มันเป็นแค่ข่าว มันไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรในทางสังคม ไม่ได้ทำให้เกิดความตระหนกตกใจ สุดท้ายศาลก็โอเค ยกฟ้อง ศาลก็บอกว่ามันไม่ได้ส่งอิทธิพลให้กับประชาชน
แสดงว่าส่วนใหญ่คดีลักษณะนี้ ดำเนินไปแล้วยกฟ้อง
ยกฟ้อง แต่มันยังไม่ค่อยมีคำพิพากษา ส่วนใหญ่ยังอยู่ในชั้นศาล ด้วยความที่มันแก้ปี 2560 แล้วก็ถูกจับมา คดีของศูนย์ฯ ที่ตัดสินแล้ว อย่างของรินดา จริงๆ ก็จับก่อนหน้านั้นด้วยนะ แค่มาตัดสินในช่วงที่กฎหมายมันแก้พอดี แต่ว่าคดีอื่นๆ มันอยู่ระหว่างการสืบพยานอยู่ คนที่ปฏิเสธยังไม่ตัดสิน แต่คนที่รับสารภาพ ตัดสินเลย ทีนี้ส่วนใหญ่มันรับสารภาพ ที่ไม่ใช่ลูกความเรา ที่เราไม่เคยเจอกับเขามาก่อน ส่วนใหญ่เขาก็จะรับสารภาพ ศาลก็ตัดสินว่าผิดไปเลย อย่างคดีโพสต์และแชร์ข่าวว่าตำรวจอยู่เบื้องหลังการทำร้ายนักกิจกรรม โดนฟ้อง 13 คน รับสารภาพ 12 คน มีคนปฏิเสธยืนยันสู้คดีแค่คนเดียว ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมีทางต่อสู้คดีได้ คนทั่วไปที่เข้าไม่ถึงทนายความเขาไม่รู้ พอโดนคดี จำเลยทุกคนก็กลัว
12 คนที่รับสารภาพ เราเห็นใจมากเลย คือเขาไม่มีโอกาส เขาไม่รู้ว่ามีทนายช่วยได้ เลยซวยไปเลย โดนคดี ตัดสินผิดไปเลย สำหรับเรารู้สึกว่าอันนี้โหดนะ แค่แชร์ข่าวธรรมดา ผิด มีประวัติเลยนะ รอลงอาญาก็จริง แต่ผิดอีกทีหนึ่งก็เอาโทษมาบวกกันได้ เคยมีประวัติว่าเป็นผู้กระทำความผิดอาญา ผลกระทบมันสูงมาก
ถ้าโดนดำเนินคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ควรทำอย่างไร
ต้องดูข้อความและเจตนาของเขา คือ ถ้าให้แนะนำทันทีว่าสู้เลยไม่ได้ แต่ต้องดูข้อความก่อน หนึ่ง ต้องถามเขาก่อนว่าอันนี้เฟซบุ๊กเขาไหม เขาได้เป็นคนโพสต์ข้อความนี้ไหม คือเวลาตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา เราต้องดูก่อนว่า คือวันไหน วันที่เท่าไร สเตตัสอะไร ข้อความไหน ขอดูหน้าเฟซบุ๊กที่ตำรวจแคปมา ถ้าดูแล้วใช่เขาไหม ใช่ คุณโพสต์อย่างนี้จริงไหม จริง โพสต์เพราะอะไร ตอนนั้นเจตนาที่โพสต์ ต้องถามเจตนาเขาก่อน คดีอาญาคือต้องมีเจตนา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มันเขียนเลย “นำเข้าที่จะทำอะไร เกิดความปลอดภัยของประเทศ เกิดความตระหนกตกใจในหมู่ประชาชน เรื่องความมั่นคง” เพราะฉะนั้นคุณต้องดูเจตนาเขาด้วย
มันมีคดีหนึ่ง ตอนนี้อยู่ที่ตำรวจ ยังไม่ฟ้อง ก็คือ มีเว็บข่าวหนึ่งเหมือนเว็บข่าวจริงมาก แล้วมันมีคนแชร์ๆ ต่อมา แล้วเขาก็ไปกดแชร์ต่อ แต่มันเป็นข่าวเท็จหมดเลย เป็นข่าวว่า กกต. แอบสลับหีบบัตร บอกชื่อด้วยว่า กกต. คือใคร ซึ่งจริงๆ มันควรจะเป็นหมิ่นประมาท คนนี้เค้าบอกว่าช่วงนั้นมันยังนับคะแนนไม่เสร็จ แล้วคือเค้าเห็นข่าวนี้คนแชร์พอดี เค้าก็เลยแชร์ เพราะเค้าก็อยากรู้เหมือนกันว่า มันเป็นแบบนี้จริงหรือเปล่า เขาก็เลยแชร์ข่าว เพราะเขาบอกว่าเขาเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าอันนี้คือข่าว คือเว็บข่าว และเขาไม่ได้ไปตรวจสอบว่าเว็บนี้มันเป็นสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือหรือไม่
“คือถ้าเจ้าหน้าที่รัฐเห็นว่าข่าวนี้มันไม่ถูก เจ้าหน้าที่รัฐก็ไปดำเนินคดีกับคนที่ทำข่าวไง ไม่ใช่ดำเนินคดีกับคนแชร์ข่าว”
แต่คำถามคือเราจะต้องมีหน้าที่ตรวจสอบด้วยเหรอ? ว่าข่าวที่เราแชร์เป็นข่าวที่น่าเชื่อถือไหม เป็นข่าวจริงไหมหรืออะไร คือถ้าเจ้าหน้าที่รัฐเห็นว่าข่าวนี้มันไม่ถูก เจ้าหน้าที่รัฐก็ไปดำเนินคดีกับคนที่ทำข่าวไง เหมือนนักหนังสือพิมพ์ นักข่าว เวลาที่เขาสัมภาษณ์ใครออกมา แล้วเขาลงข่าวผิด แล้วคุณจะดำเนินคดี จะไปดำเนินคดีคนขายหรือคนซื้อหนังสือพิมพ์เหรอ ไม่ใช่ คุณก็ต้องดำเนินคดีกับคนที่สัมภาษณ์หรือคนเขียนบทความเผยแพร่ถูกไหม
ทีนี้ปัญหาคือกฎหมายไทย เราไม่พลวัตไปตามธรรมชาติของสังคมออนไลน์ พอเราใช้คำว่า “เผยแพร่” ผู้ใดเผยแพร่ข้อความ ทีนี้คนแชร์ก็ถือว่าคนที่เผยแพร่ มันก็คือการเผยแพร่ต่อ เราก็เลยเอามาใช้ในนิยามของกฎหมายว่านี่ก็คือการเผยแพร่เหมือนกัน แต่ถ้าดูเจตนา ต้นตอของคนที่เผยแพร่ กับคนที่แชร์มันไม่เหมือนกัน คนที่เขียนข่าวนั้นขึ้นมาโดยที่รู้อยู่ว่ามันจริงหรือไม่จริง อันนี้คือคุณรู้ คุณมีเจตนา แต่คนที่แชร์เขาไม่รู้หรอกว่ามันจริงหรือมันไม่จริง คือมันแค่เราแชร์เร็ว เราต้องรอจนพิสูจน์ให้ได้เหรอว่าตกลงอันนี้มันเป็นข่าวจริงข่าวไม่จริง ทุกวันนี้ยังมีราชกิจจาปลอมเลย เราไม่รู้ข่าวไหนจริงหรือเปล่า เราจะแชร์ได้ไหม ซึ่งคุณไม่ควรที่จะไปดำเนินคดีกับคนที่แชร์ไง เพราะเจตนาของเขาไม่ใช่จะเผยแพร่ข่าวเท็จ แต่เขาเผยแพร่ข่าว เขาไม่รู้ว่ามันเท็จหรือไม่เท็จ เพราะฉะนั้นเวลาเราคุยกับลูกความ เราถามเขาเลยว่าอันนี้คุณแชร์ต่อเพราะอะไร คุณส่งต่อเพราะอะไร คุณเอามาโพสต์แบบนี้เพราะอะไร ได้ข้อมูลมาจากไหน
คุณก็ต้องถามว่ามาจากตรงไหน ข้อความแบบนี้ และเจตนาคืออะไร ถ้าองค์ประกอบภายในคือเจตนาเนี่ยไม่ได้เจตนา เพราะคิดว่าเป็นข่าวไม่รู้ว่ามันเท็จ อะไรแบบนี้ เพิ่งมารู้ แล้วองค์ประกอบภายนอกคือข้อความนั้น หรือสเตตัสนั้นมันพอเข้าใจได้ว่าเป็นข่าว อย่างคนที่แชร์ข่าวเนี่ย เว็บนั้นหน้าตาเหมือนข่าวจริง ดูน่าเชื่อถือจริงๆ ก็น่าจะพอเป็นไปได้ มาตรฐานของคนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นข่าว อย่างนี้คุณก็ปฏิเสธต่อสู้คดีได้ หรือข้อความที่เขาลงในเพจ แล้วเราแชร์มา เออมันก็น่าคิดนะ แล้วจริงหรือเปล่าวะ อะไรอย่างนี้
ยกตัวอย่างจากคดีแชร์โพสต์จากเพจ “กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ” ที่แชร์โพสต์ว่าทหารตำรวจมีส่วนค้ายาเสพติด ซึ่งคนอ่านแล้ว ก็น่าคิดนะว่าจริงหรือเปล่า มันอยู่ชายแดน ก็อาจจะเป็นไปได้นะ ฉันก็เลยแชร์ อย่างนี้เจตนาเขาไม่ได้จะแชร์ข้อความอันเป็นเท็จไง แต่เขาตั้งข้อสังเกต ซึ่งแบบนี้เราก็จะบอกว่า ถ้าองค์ประกอบของกฎหมายเนี่ย ถือว่าคุณไม่ผิด เราใช้คำว่าให้การภาคเสธ แชร์เฟซบุ๊กฉัน ฉันแชร์ ฉันโพสต์ ฉันทำ แต่ข้อความนั้นไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย เจตนาคุณไม่ได้จะทำเพื่อทำความผิดตามกฎหมาย อย่างกรณีแบบนี้ สู้ได้
แต่ถ้าประเภทข้อความมันเรื่อยเปื่อย อย่างมันจะมีข้อความคดีหมิ่น 112 ที่ด่า อย่างนี้โดยวิสัยทัศน์ของคนทั่วๆ ไป มันก็รู้อยู่แล้วว่ามันไม่ใช่การแสดงความคิดเห็น มันไม่ใช่การตั้งข้อสังเกต มันไม่ใช่ข่าว มันไม่ใช่เรื่องที่เราคิดว่ามันน่าจะจริง แบบนี้เราก็ไม่ควร อย่างนี้เราก็จะบอกเขาว่าสู้ยากเหมือนกันนะ แต่ถ้าอยากจะสู้ ยืนยันว่าคุณสามารถพูดได้ แต่ว่าแนวโน้มที่ศาลจะตัดสินลงโทษก็มีสูงนะ
ตอนนี้เรายังไม่รู้ผลสุดท้ายของคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
เรายังไม่รู้ว่าศาลจะยังไง เราก็ยังคิดว่าศาลน่าจะยกฟ้อง แล้วก็เทรนด์อัยการตอนนี้ เหมือนอย่างคดีธนาธร พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เหมือนกัน อัยการก็สั่งไม่ฟ้องเหมือนกัน แต่ยังต้องรอความเห็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตอนนี้เทรนด์มันเริ่มมีคดีที่สั่งไม่ฟ้องแล้ว หรือถ้าศาลยกฟ้องเยอะๆ มันจะรวบรวมมาเป็นข้อเสนอแนะว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่บังคับใช้กฎหมายคือตำรวจ ทหาร หรือรัฐบาล จะมาใช้พ.ร.บ.คอมฯ แบบนี้ไม่ได้ คือมันต้องไปหาต้นตอของคนตั้งข้อหาไง คือคุณตั้งข้อหาเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของคุณ เราก็ไปผลักที่หน่วยบังคับใช้กฎหมายได้
แล้วที่มีคนบอกว่า มีการใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ให้เกิดความหวาดกลัวการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์
ก็แบบนี้ไง ใช้แบบนี้แหละ มันทำให้คนคิด “อ้าว แล้วฉันจะแชร์ได้ไหม” “ข้อมูลนี้ เห้ยฉันจะตั้งข้อสังเกต จะโดนดำเนินคดีไหม” “เห้ย ทำไมหน่วยนี้มันถึงไม่ให้เราถ่ายรูป มันจะมีการทุจริตอะไรหรือเปล่า เรามาโพสต์ว่าหน่วยนี้ไม่มีการถ่ายรูป มีพิรุธ เห้ย จะโดนดำเนินคดี ทำได้ไหม” งั้นเราก็ทำไม่ได้สิ “เราไปลงชื่อถอดถอนกกต.โดนดำเนินคดี อ้าว เราก็ทำไม่ได้ดิ”
การใช้กฎหมายแบบไม่มีมาตรฐานแบบนี้ มันเลยเกิดอาการเซ็นเซอร์ของคนในสังคมไง คือมันต้องรู้ว่าเราทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ ทำอะไรแบบไหนเราจะผิด ทำอะไรแล้วเราจะไม่ผิด กฎหมายมันควรต้องเป็นแบบนั้น เราไปฆ่าคนอื่นไม่ได้ เมื่อเราฆ่าคนอื่นคือมันผิด ทีนี้การใช้กฎหมายแบบยุคที่ผ่านมา แบบรัฐไทยคือการใช้กฎหมายแบบอำเภอใจ ไม่มีมาตรฐาน คือฉันไม่รู้เลยว่าไอ้ที่ฉันออกไปชุมนุมนี่ฉันจะผิดหรือไม่ผิด หรือการใช้กฎหมายเกินไปกว่าตัวบท อย่างเช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ตัวบทมันคือใช้ข้อมูลเป็นเท็จแล้วเกิดผลกระทบอะไร แต่มันดันเอามาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือ เพื่อจะปรามคน เพื่อไม่ให้คนแสดงความคิดเห็น คุณใช้โดยการที่แบบเขาแค่แชร์คุณก็ดำเนินคดี ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงตามธรรมชาติของสื่อออนไลน์มันมาเร็วมาก ปั๊บๆ แชร์ๆๆ เดี๋ยววันหนึ่งข่าวใหม่มา คนเอาข่าวมาจับให้เห็นเลยว่าอันนี้มันผิด คนมันก็จะหามา แล้วมันก็แชร์กันไปใหม่ คือธรรมชาติของออนไลน์มันเป็นแบบนี้ แต่คุณดันเอากฎหมายมาใช้อีกแบบ
จริงๆ เราว่าเขารู้นะว่าธรรมชาติคืออะไร แต่เขาต้องการที่จะนำมาใช้กด เพราะฉะนั้นเขาก็เอามาใช้แบบเกินมาตรฐาน เวลาลูกความมาถาม ทนายอันนี้โพสต์ได้ไหม ทุกวันนี้เรายังพูดยากเลย เราก็ว่ามันก็ได้นะ ตามกฎหมายมันไม่ผิดหรอก แต่จะประกันว่าจะไม่ถูกดำเนินคดีนี่ก็ยากนะ เพราะวันนี้คือคนที่ดำเนินคดีคือตำรวจ เขาก็ทำ อัยการก็ฟ้องไป อะไร มันก็ประกันให้ไม่ได้ แต่ถามว่าถ้าโพสต์แล้วมีโอกาสสู้ได้ไหม มี ปกติกฎหมายมันต้องแบบ อันนี้ฉันโพสต์ได้ อย่างนี้ อันนี้ฉันรู้ เห้ยอันนี้มันเยอะเกินไป ไม่ควรโพสต์ แต่การใช้กฎหมายที่มันไม่มีขอบเขตท คนก็เลยต้องเซ็นเซอร์ตัวเองเยอะ
แสดงว่าเขาก็ทำสำเร็จในแง่ที่ต้องการให้คนเซ็นเซอร์ตัวเอง ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นอิสระของคนในสังคม
สำเร็จ เขาเก่งนะ มันส่งผลได้จริงๆ ลูกความเราที่แชร์ข่าวกกต. โทรมาหาทุกวัน หนูจะโดนอะไรไหม เขาจะมาจับหนูเข้าค่ายทหารไหม ถ้าเขามาจับหนูอีก แล้วอะไรยังไงต่อ แล้วหนูต้องติดคุกไหม กี่ปี โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หนูจะติด 5 ปีเลยไหม คือคนมันเครียดมากเลยนะ เพราะว่าเขาไม่รู้ว่าเขาจะเจออะไร คนทั่วๆ ไปกลัวเยอะนะ แล้วสังเกตดู ไม่มีใครตั้งคำถามกับกกต.อีกเลย ประเด็นที่คนวิพากษ์วิจารณ์มันจะถูกเฟดหายไปเลย แล้วก็กลายเป็นประเด็นว่าคนนั้นคนนี้ถูกดำเนินคดี ใครตีจ่านิวถูกเฟดออกไป เป็นประเด็นว่าไปจับคนที่แชร์ข่าวเท็จ แทนที่จะไปโฟกัสว่าประเด็นคนที่ถูกทำร้าย
เหมือนเรื่อง #ขบวนเสด็จ ก็เบี่ยงไปเลย
ใช่ ไปเรื่องของการโดนจับ คนแสดงความคิดเห็นโดนคุกคาม คนที่โพสต์เรื่องขบวนเสด็จ แล้วคนก็กลัวไปเลยเงียบ ถามว่า สำเร็จไหม เนี่ยไง สำเร็จเลย แต่โอเคแหละ คุณฝืนธรรมชาติของโลกโซเซียลไม่ได้ เดี๋ยวมันก็มาอีก แต่ถามว่ามันเบี่ยงประเด็นได้ไหม ได้ แล้วมันสำเร็จ ถามว่าที่ผ่านมาคสช. ไม่จับไม่อุ้มไม่ฆ่านักกิจกรรม ก็ใช้คดีมันก็ได้ผลแล้วไง ใช้คดีคนก็ไม่ออกมาชุมนุมแล้ว ใช้คดีคนก็ไม่กล้าโพสต์แล้ว
ถ้าอย่างนั้นเราก็แสดงความคิดเห็นอะไรไม่ได้เลยสิ กลายเป็นว่าเขาทำให้เรากลัว อย่างนี้การวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์จะไปต่อได้อย่างไร
เราต้องอธิบายว่ากฏหมายมันมีองค์ประกอบอยู่ ไม่ใช่แค่คุณแชร์หรือโพสต์แล้วมันผิด ไม่ใช่ มันต้องมีเจตนา มันต้องมีผล พูดผลก็ได้ ผลมันทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อสาธารณะ เกิดภาวะเศรษฐกิจหยุดชะงัก เกิดความตื่นตระหนกตกใจในหมู่ประชาชน จากสิ่งที่คุณโพสต์หรือแชร์ หรือไม่ เพราะฉะนั้นให้คนเกิดความมั่นใจในการที่จะแสดงความคิดเห็น เราคิดว่าเวลาเราให้คำแนะนำทางกฎหมาย เราให้ความรู้เพื่อให้เขาจะได้มั่นใจว่า กฎหมายมันเป็นแบบนี้ แต่โอเคแหละ พอไปถึงหน้างาน คุณอาจจะมีโอกาสที่จะถูกดำเนินคดี เพราะบ้านเราเป็นระบบกล่าวหา เราก็รับประกันไม่ได้
แต่ว่าคุณต้องมีทนายความ แล้วทนายความจะให้คำแนะนำคุณ แล้วคดีคุณมีโอกาสต่อสู้คดีได้ สุดท้ายแพ้ชนะมันก็อยู่ที่ศาล แต่ว่ามีโอกาส เพราะว่าหลักกฎหมายมันเป็นแบบนี้ เราก็ต้องพูดแบบนี้ ถ้าสุดท้ายวันหนึ่งศาลตัดสินไม่เป็นตามหลักกฎหมาย เราก็จะวิจารณ์ได้ไง ว่านี่ไม่ได้ตัดสินให้เป็นไปตามหลักกฎหมาย แต่อันแรกเลยเวลาคุณจะทำอะไร ต้องคำนึงถึงว่า เออมันมีองค์ประกอบแบบนี้อยู่ ถ้าไม่เข้าองค์ประกอบความผิด มันต้องสู้ได้
ถ้าคนเขารู้ว่ามันองค์ประกอบความผิดมีอะไรบ้าง เราว่าเขาก็มั่นใจขึ้นเวลาที่เขาจะแสดงความคิดเห็น แล้วบุคคลสาธารณะ นายกรัฐมนตรีเป็นบุคคลสาธารณะ คนมันก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์ได้เป็นปกติ ไม่ใช่ว่าเกลียดคนนี้แล้วก็มาว่ากันเพื่อใส่ความให้คนนี้เสียหาย ไม่ใช่ เขาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นคนดูแลภาษีของเรา ผลประโยชน์ชาติ ผลประโยชน์เรา เพราะงั้นก็อาจจะมีการตรวจสอบ ตั้งคำถามได้ ในระบอบประชาธิปไตยปกติมันก็ทำได้ เพราะฉะนั้นมาตรฐานที่ผ่านมา นายกฯ คนอื่นๆ ประชาชนเขาก็วิพากษ์วิจารณ์กัน
เพราะฉะนั้นเราตั้งคำถามได้ แสดงความคิดเห็นได้ ไม่ได้มีเจตนาที่จะให้บ้านเมืองวุ่นวาย ระบบขนส่งมวลชนไปไม่ได้ เกิดภัยพิบัติทางเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าเราจะให้คำแนะนำเขา เราก็ต้องบอกว่า ดูว่าข้อความมันมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน แล้วก็มันส่งผลได้ไหม ถ้าเราคิดว่า เห้ย มันก็เป็นเรื่องทั่วไปที่เราพอเข้าใจได้นะ คนทั่วไปก็พูดกัน เราคิดว่ามันก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้.