วันนี้ (20 ม.ค. 2563) ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นัดฟังคำพิพากษา คดีแชร์ข้อความจากเพจ “กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ” ที่มีพลตรีบุรินทร์ ทองประไพ รับมอบอำนาจจาก คสช. เป็นผู้เข้าแจ้งความกล่าวหา และพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ฟ้อง จำเลยที่ 1 เปรวินท์ (สงวนนามสกุล) และจำเลยที่ 2 คนึงนิตย์ (สงวนนามสกุล) ในความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ 2550 มาตรา 14 โดยศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า ข้อความดังกล่าว กระทบภาพลักษณ์ คสช. เท่านั้น ไม่มีผลต่อความมั่นคงของประเทศ
เวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 715 จำเลยที่ 1, จำเลยที่ 2 และทนายจำเลยทั้งสองมาศาล เวลา 09.35 น. ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์ และอ่านคำพิพากษาของอีกคดีหนึ่งก่อน หลังจากนั้นเวลา 09.38 น. ศาลอ่านคำพิพากษา สรุปความได้ดังนี้
.
ทั้งพยานโจทก์และ คสช. ไม่ได้ตรวจสอบว่าข้อความจริงหรือเท็จอย่างไร
พนักงานอัยการฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 61 นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ได้นำข้อความเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นข้อความอันเป็นเท็จ ข้อความว่า
“ยาเสพติดระบาดหนักในหลายชุมชน จนท.ทหารหลายพื้นที่ ทำงานเป็นคนดูแลความสงบให้แก่พวกขายยา (กล่าวลอยๆ) โดยทำงานร่วมกับตำรวจท้องที่ ลองดูสิ เยอะจริงๆ ยกตัวอย่างแถวบ่อนไก่ก็ตำรวจ-ทหารเป็นหูเป็นตาให้ผู้ค้าเองด้วย ป.ป.ส.มาสืบเองก็คงมีข้อมูลแล้ว แต่ก็ไม่ทำอะไร ประชาชนในชุมชนอยู่กันอย่างหวาดระแวง ลักเล็กขโมยน้อยเกิดขึ้นประจำ นี่หรือคือยุคที่ คสช.อ้างว่าสงบสุข แต่ยาเสพติดกลับทะลักเข้ามาทำลายอนาคตของประเทศ
ทหารนอกแถวมีมากมาย แต่ควบคุมให้มีวินัยไม่ได้
เพราะ คสช.เองก็มีอำนาจด้วยวิธีการที่ผิดๆ และขาดวินัย
น่าสงสัยต่ออีก ใครปล่อยให้ยาเสพติดทะลักเข้ามา
ประโยชน์ไปตกที่ใคร เงินไปไหน อืม”
ข้อความดังกล่าวทำให้ประชาชนทั่วไปคิดว่า การแพร่ระบาดของยาเสพติดเกิดขึ้นจากทหารตำรวจเป็นหูเป็นตาให้ยาเสพติด ซึ่งเป็นความเท็จ เนื่องจากทหารตำรวจมีหน้าที่ดูแลรักษาความสงบ ซึ่งไม่มีความเป็นไปได้ ประกอบกับยังไม่มีรายงาน ภายหลังนายวันเฉลิมหลบหนี
วันเดียวกัน มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก คือ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้กดแชร์ข้อความดังกล่าว โดยรู้อยู่แล้วว่า เป็นข้อความเท็จ อันเป็นการเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ซึ่งประชาชนทั่วไปที่เป็นสมาชิกเฟซบุ๊กสามารถเข้าถึงโดยอ่านข้อความดังกล่าวได้ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกต่อประชาชน ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ 2550 มาตรา 14
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ โดยในชั้นสอบสวน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ต่อมาปฏิเสธในชั้นศาล
ศาลได้พิจารณาแล้วรับฟังได้ว่า
พลตรีบุรินทร์ ทองประไพ ได้รับมอบอำนาจจาก คสช. กล่าวหาว่า จำเลยทั้งสองนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ตามมาตรา 14(2) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยข้อความเป็นเท็จดังกล่าว ทำให้ คสช. ไม่มีความน่าเชื่อถือ และทำให้เกิดความตื่นตระหนกกับประชาชน ตำรวจพบว่ามีผู้ส่งต่อข้อความดังกล่าวนับร้อยราย แต่ตรวจสอบได้ 5 ราย
โจทก์มีผู้กล่าวหาเป็นพยานเบิกความว่า ข้อความดังกล่าวเป็นเท็จ เนื่องจากทหารตำรวจเป็นเจ้าหน้าที่ของ คสช. มีหน้าที่รักษาความสงบ ปราบปรามยาเสพติด
พยานประชาชน พันเอกเดชาวุธ ฟุ้งลัดดา กองกฎหมายและสิทธิมนุษยชน สำนักงานบริหารบุคคล กอ.รมน. มาเบิกความว่า เมื่อพยานได้ตรวจสอบ เห็นว่า เจตนาของผู้โพสต์ข้อความและส่งต่อมีผลต่อความมั่นคงของประเทศ แต่ตอบทนายถามค้านว่า ที่ คสช. เข้ายึดอำนาจ พ.ศ. 2557 ก็มีนโยบายปราบปรามยาเสพติดตามคำสั่ง คสช. แต่ระหว่างนั้นก็ยังมียาเสพติดแพร่ระบาด การที่ผู้ดูแลเพจ “กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ” นำเข้าข้อความดังกล่าว กล่าวหาเจ้าหน้าที่รักษาความสงบภายใต้ คสช. ทำให้ คสช. ขาดความน่าเชื่อถือ
ซึ่งพยานโจทก์ทั้งสองก็ไม่เคยตรวจสอบ ย่อมแสดงให้เห็นว่า คสช. ต้องการเผยแพร่ภาพลักษณ์ที่ดี เมื่อปรากฏข้อความดังกล่าว ให้พลตรีบุรินทร์มาร้องทุกข์กล่าวโทษ แต่ไม่มีหลักฐานชี้แจงว่าจริงหรือเท็จอย่างไร ทั้งปรากฏว่า เพจดังกล่าวได้เตือนให้ทราบถึงภัยยาเสพติดที่กำลังระบาด สอดคล้องกับนโยบายปราบปรามยาเสพติดของ คสช. การที่ประชาชนนำข้อความดังกล่าวมาเผยแพร่ จึงเป็นการแจ้งข่าว ซึ่งเป็นการสื่อสารในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ
.
ข้อความเป็นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารทั่วไป กระทบต่อภาพลักษณ์ คสช. แต่ไม่มีผลต่อความมั่นคงของประเทศ
นายทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์มหาวิทยาลัย, นายมานพ เชยรส และนายบุญสุข รุ่งเรือง ซึ่งเป็นวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง พยานอ่านข้อความ อ่านแล้วรู้สึกว่า เจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และอาจเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐได้ แต่นายทวีตอบที่ทนายจำเลยถามค้านว่า ข้อความวิพากษ์วิจารณ์นี้ ไม่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ
ดังนั้น การที่เพจ “กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ” นำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในข้อความดังกล่าว จึงเป็นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารทั่วไป เป็นข่าวสารที่รับรู้อยู่ทั่วไป
โดยความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ 2550 มาตรา 14(2)(5) บทบัญญัติดังกล่าว ผู้กระทำต้องรู้อยู่แล้วว่านำเข้าข้อความเท็จ แต่การนำสืบ ไม่ปรากฏว่าข้อมูลเป็นเท็จหรือไม่ อีกทั้งข้อความก็ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ มีเพียง คสช. ได้รับความเสียหายเท่านั้น เป็นความเสียหายต่อภาพลักษณ์ คสช. ซึ่งไม่มีผลต่อความมั่นคงของประเทศ
ดังนั้น จึงเป็นการนำเข้าข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยข้อมูลดังกล่าวไม่มีผลต่อความมั่นคงของประเทศ พยานหลักฐานไม่มีน้ำหนัก พิพากษายกฟ้อง.
เหตุแห่งคดีนี้เกิดจาก พลตรีบุรินทร์ ทองประไพ รับมอบอำนาจจาก คสช. ให้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ดูแลเพจ “กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ” และจากการตรวจสอบ ตำรวจพบว่า มีผู้แชร์ส่งต่อข้อความดังกล่าว เป็นร้อยราย
ในครั้งแรก โจทก์ฟ้องผู้ที่แชร์ข้อความตามฟ้องเป็นจำเลยรวม 9 ราย ต่อมา เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 61 จำเลย 5 ราย ให้การรับสารภาพ อีก 4 ราย ยืนยันปฏิเสธ ศาลจึงให้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 4 ราย ที่ให้การปฏิเสธเข้ามาใหม่ หลังจากโจทก์ยื่นฟ้องครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 61 จำเลย 2 ราย ขอให้การใหม่เป็นรับสารภาพ ส่วนอีก 2 ราย คือ เปรวินท์ และคนึงนิตย์ ยังยืนยันปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี โจทก์จึงยื่นฟ้องทั้งสองเป็นจำเลยอีกครั้งเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 61 ศาลได้ตีหลักทรัพย์ประกันตัว 100,000 บาท โดยที่เปรวินท์ ได้วางหลักทรัพย์จำนวนเงิน 20,000 บาท และติดตั้งอุปกรณ์ติดตามตัวหรือ กำไล “EM” ซึ่งเขาต้องใส่ตั้งแต่ถูกดำเนินคดีจนถึงวันนี้
กระบวนการดำเนินคดียืดยาวเกือบ 2 ปี ก่อนมาถึงฟังคำพิพากษาในวันนี้ ตั้งแต่จำเลยมีหมายจับเมื่อเดือน ตุลาคม 61 และเข้าสู่ขั้นตอนการสืบพยานในวันที่ 15-16 ตุลาคม และ 27 พฤศจิกายน 62 เป็นพยานโจทก์ทั้งหมด 9 ปาก และพยานจำเลย 2 ปาก โดยจำเลยทั้งสองอ้างตนเองเป็นพยาน
หลังจากฟังคำพิพากษา เปรวินท์ดำเนินเรื่องขอถอดอุปกรณ์ติดตามตัว (EM) และได้ถอดในเวลาเกือบบ่ายสอง นับเป็นครั้งแรกในรอบกว่าปี ที่เขาไม่ต้องสวมใสกำไล EM
.
ทั้งนี้ ในช่วงกลางปี 2561 นอกจากมีการออกหมายเรียกประชาชนจากการแชร์ข้อความในเพจ “กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ ๆ” แล้ว เจ้าหน้าที่ยังได้มีการจับกุมและควบคุมตัวประชาชนจากการแชร์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล คสช. เช่น การแชร์ข้อความจากเพจ “KonThaiUk” ซึ่งจะมีการสืบพยานในวันที่ 4-7 กุมภาพันธ์ 2563 นี้
.
ไม่ใช่คดีแรก โพสต์วิจารณ์ คสช. ถูกดำเนินคดี สุดท้ายศาลยกฟ้อง
ก่อนหน้านี้ มีกรณีการดำเนินคดีประชาชนที่โพสต์วิพากษ์วิจารณ์ คสช. หลายคดี ในลักษณะคล้ายๆ กันนี้ โดยในช่วงการจับกุมหรือเรียกมารับทราบข้อกล่าวหา ตำรวจมักจะมีการแถลงข่าวใหญ่โต แต่หลังจากอัยการยื่นฟ้องต่อศาล ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง เช่น กรณีของคดีรินดา พรศิริพิทักษ์ ถูกฟ้องว่ากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 จากกรณีเเชร์ข่าวพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เเละภริยา โอนเงินหมื่นล้านไปยังธนาคารในประเทศสิงคโปร์ โดยศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง โดยศาลเห็นว่าข้อความดังกล่าวอาจกระทบกระเทือนหรืออาจจะสร้างความเสียหายต่อผู้ถูกพาดพิง แต่ยังไม่มีลักษณะกระทบต่อความมั่นคง และโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบว่าข้อความเป็นจริงหรือเท็จอย่างไร
หรือกรณีนายวัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซึ่งตกเป็นจำเลย ในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 จากกรณีโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์การให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กรณีทหารไปตามถ่ายรูปยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมทั้งวิจารณ์ คสช. ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยศาลระบุว่า การแสดงความเห็นของจำเลยเป็นการใช้เสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 4 และโจทก์ไม่ได้พิสูจน์ข้อความที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเท็จแต่อย่างใด พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น
ซึ่งแสดงให้เห็นกระบวนการฟ้องคดีเพื่อสกัดกั้นไม่ให้ประชาชนแสดงออกถึงความเห็นทางการเมืองอย่างสันติ ในยุค คสช.
.