26 มี.ค. 2568 ที่ศาลแขวงปทุมวัน พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีจากการชุมนุมทางการเมืองเมื่อวันที่ 16 และ 17 ต.ค. 2563 ทั้งหมด 2 คดี ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีความร้ายแรง ได้แก่ คดีชุมนุม #16ตุลาไปแยกปทุมวัน ผู้ถูกฟ้องทั้งหมด 5 คน และคดีชุมนุม #ม็อบ17ตุลา ที่สามย่านมิตรทาวน์ ผู้ถูกฟ้องทั้งหมด 2 คน รวมถึง “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา ที่ถูกคุมขังในเรือนจำด้วย
แม้เหตุการณ์นี้จะผ่านมากว่า 4 ปี และในช่วงที่ผ่านมา ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง ที่มีการต่อสู้คดีเกือบทั้งหมด แต่อัยการยังคงเดินหน้าสั่งฟ้องคดีจากการชุมนุมในช่วงปี 2563
.
.
ฟ้อง 5 ผู้ชุมนุมที่แยกปทุมวัน รวมทั้งผู้มอบโบว์ขาวให้ คฝ. – นักกิจกรรมเสื้อแดงผู้ใช้มือเปล่าดัน จนท.
สำหรับการชุมนุม #16ตุลาไปแยกปทุมวัน เกิดขึ้นภายหลังการสลายการชุมนุมและจับกุมแกนนำกลุ่มราษฎร ซึ่งชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลในช่วงเช้าตรู่วันที่ 15 ต.ค. 2563 พร้อมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เดิมการชุมนุมดังกล่าวได้นัดหมายกันที่แยกราชประสงค์ แต่ภายหลังได้เปลี่ยนมาเป็นบริเวณแยกปทุมวัน ผู้ชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนและนักเรียนเดินทางมาร่วมชุมนุมกันจนเต็มพื้นที่สี่แยก
ต่อมา ตำรวจควบคุมฝูงชนได้เข้าปิดล้อมผู้ชุมนุม โดยมีการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดน้ำที่ผสมจากสารเคมีสีฟ้าและน้ำผสมแก๊ซน้ำตา เพื่อสลายการชุมนุม โดยนับเป็นการปฏิบัติการสลายการชุมนุมด้วยยุทธวิธีลักษณะนี้ เป็นครั้งแรกในช่วงการชุมนุมปี 2563
ในวันดังกล่าว มีผู้ถูกจับกุมจากการชุมนุมทั้งหมด 9 คน พร้อมพาตัวไปยัง บก.ตชด. ภาค 1 โดยหนึ่งในนั้นเป็นผู้สื่อข่าวประชาไท แต่ต่อมาตำรวจได้เปรียบเทียบปรับผู้สื่อข่าวข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ก่อนปล่อยตัวไป ขณะที่อีก 8 คน ถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง โดยดำเนินการแยกเป็น 2 คดี ได้แก่ คดีที่มีผู้ต้องหา 6 คน และ 2 คน ต่อมาทั้งหมดได้รับการประกันตัวระหว่างสอบสวน
หลังตำรวจส่งสำนวนให้กับอัยการแขวงปทุมวันตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 และคดีค้างคาอยู่มากว่า 4 ปี อัยการเพิ่งแจ้งนัดหมายการฟ้องคดีส่วนของผู้ต้องหา 6 คนในช่วงเดือนที่ผ่านมา
ในการฟ้องคดี มีผู้ต้องหา 1 ราย ยังไม่ได้เดินทางมาในวันนี้ ทำให้เหลือผู้ถูกฟ้องคดี 5 คน ได้แก่ อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ “ฟอร์ด” นักกิจกรรมกลุ่มเส้นทางสีแดง, ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน บรรณาธิการบริหาร Spaceth.co, เอเลียร์ ฟอฟิ ผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์, อรรคพล วันทะไชย และ อินทราช แสงอินทร์
สำหรับ ณัฐนนท์ หรือ “เติ้ล” ถูกจับกุมขณะพยายามนำ #โบว์ขาว ไปมอบให้ตำรวจที่เข้าสลายการชุมนุม ส่วน “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” ได้เข้าไปพยายามดันด้วยมือเปล่ากับเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนที่ถือโล่ยืนแถวตรึงกำลังอยู่
ทิพย์ภวรรณ มีแสงโสรจ พนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 เป็นผู้เรียงฟ้องในคดีนี้ โดยสรุปคำฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 จำเลยทั้งห้ากับพวก ได้บังอาจร่วมกันชุมนุมหรือมั่วสุมกับประชาชนกลุ่มต่าง ๆ อันมีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ที่บริเวณพื้นผิวจราจรแยกปทุมวัน อันอยู่ในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และอยู่ในบริเวณที่มีคำสั่งห้ามใช้เส้นทางคมนาคม ทั้งยังขัดขืนคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งให้ยุติการชุมนุม และให้ออกจากพื้นที่ อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่เรียบร้อยและความวุ่นวายในบ้านเมือง
หลังรับฟ้องคดี ศาลได้ให้จำเลยทั้งหมดสาบานตนว่าจะมาตามนัด ก่อนให้ปล่อยตัวไป โดยไม่ต้องวางหลักประกัน แต่หากผิดสัญญาประกันให้ปรับ 10,000 บาท พร้อมนัดถามคำให้การและตรวจพยานหลักฐานต่อไปในวันที่ 20 พ.ค. 2568 เวลา 9.00 น.
.
ภาพจาก Mob Data Thailand
.
ฟ้อง 2 ผู้ร่วมปราศรัยในชุมนุมที่สามย่านมิตรทาวน์ แม้ร้องขอความเป็นธรรมไว้ 4 ปีกว่า
ในส่วนคดีจากการชุมนุม #ม็อบ17ตุลา63 ที่สามย่านมิตรทาวน์ มีผู้ถูกฟ้องทั้งหมด 2 คน ได้แก่ “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยศิลปากร และ อ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์ บัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในส่วนของผู้ถูกดำเนินคดีอีก 1 ราย ที่ขณะเกิดเหตุเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะนี้เดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ทำให้อัยการยังไม่ได้สั่งฟ้องคดี แต่รอให้เดินทางกลับมาก่อน
คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 63 กลุ่ม “Spring Movement” ได้จัดกิจกรรมแฟลชม็อบหน้าห้างสรรพสินค้าสามย่านมิตรทาวน์ เพื่อต่อต้านรัฐบาลและเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาและนักกิจกรรมที่ถูกควบคุมตัว ทั้งยังผลักดันประเด็นปัญหาเรื่องทรัพย์สินจุฬาฯ ที่เปลี่ยนพื้นที่ชุมชนสามย่านกลายเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์
ต่อมานักกิจกรรม 3 คน ที่ได้ร่วมขึ้นปราศรัยในกิจกรรมดังกล่าวได้รับหมายเรียกจากตำรวจ สน.ปทุมวัน จึงได้เดินทางเข้ารับทราบข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2563
รวมทั้งในขณะที่พนักงานสอบสวน ส่งสำนวนให้กับอัยการเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 ทั้งสามคนยังได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมให้อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี โดยยืนยันว่าการชุมนุมเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก, การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงโดย พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ชอบด้วยกฎหมาย, การดำเนินคดีเป็นการมุ่งใช้กฎหมายปิดปากเพื่อสร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชน และการฟ้องคดีก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
แต่หลังผ่านไปกว่า 4 ปีเศษ อัยการก็ได้มีคำสั่งฟ้องคดีนี้ในที่สุด โดยในนัดฟ้องคดีนี้ ยังไม่ได้เบิกตัวณวรรษ ที่ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 อยู่มาศาล แต่จะเบิกตัวมาในนัดถามคำให้การต่อไป
ร.ต.ท.สิทธิชัย เกลี้ยงเกลา พนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 เป็นผู้เรียงฟ้องในคดีนี้ โดยสรุปคำฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2563 จำเลยทั้งสอง กับพวก ได้ร่วมกันโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กชื่อ “Spring Movement” ว่า “ด่วน ร่วมแสดงพลังกับเรา Spring Movement เวลานี้ สามย่านมิตรทาวน์ ฝั่งประตู KFC แล้วพบกัน”
หลังจากนั้น เวลาประมาณ 18.30 น. จำเลยทั้งสอง กับบุคคลจำนวนประมาณ 650 คน อันมีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ได้บังอาจร่วมกันชุมนุมหรือมั่วสุม โดยสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นพูดต่อหน้าประชาชนที่มาร่วมชุมนุม โดยพูดโจมตีขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขับไล่เจ้าพนักงานตำรวจที่มาปฏิบัติหน้าที่ในที่่เกิดเหตุ เรียกร้องให้ปล่อยตัวพวกของจำเลยที่ถูกควบคุมตัวดำเนินคดี และเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ อันเป็นการกระทำยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ที่ลานหน้าศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง
หลังรับฟ้องคดี ศาลได้ให้จำเลยสาบานตนว่าจะมาตามนัด ก่อนให้ปล่อยตัวไป โดยไม่ต้องวางหลักประกัน แต่หากผิดสัญญาประกันให้ปรับ 10,000 บาท พร้อมนัดถามคำให้การและตรวจพยานหลักฐานต่อไปในวันที่ 19 พ.ค. 2568 เวลา 9.00 น.
.
คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง แทบทั้งหมดศาลยกฟ้อง
สำหรับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ถูกรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศใช้ระหว่างวันที่ 15 – 22 ต.ค. 2563 เพื่อจัดการกับการชุมนุมของนักศึกษาและประชาชนในช่วงดังกล่าว แต่การชุมนุมโดยไร้แกนนำยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนรัฐบาลต้องยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงดังกล่าว
ระหว่างช่วงดังกล่าว มีผู้ถูกจับกุมและดำเนินคดีจากเหตุการณ์ชุมนุมในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง จำนวนไม่น้อยกว่า 72 คน ใน 35 คดี
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีคดีที่ศาลพิพากษายกฟ้องข้อหานี้ไปแล้ว 17 คดี และอัยการสั่งไม่ฟ้องไปอีก 1 คดี โดยมีเพียงคดีเดียวที่ศาลพิพากษาว่ามีความผิด ได้แก่ คดี #ม็อบ19ตุลา2563 ชุมนุมแยกเกษตรศาสตร์ แต่อัยการก็ยังมีคำสั่งฟ้องอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอัยการแขวงปทุมวัน
.