2563: ปีแห่งการชุมนุม ทลายเพดาน และคดีความทางการเมือง

ไม่ต้องเป็นคนที่ติดตามสนใจการเมืองมาก่อนมากนัก ก็น่าจะสัมผัสได้ไม่ยากว่าปี 2563 นับเป็นปีสำคัญอย่างยิ่งสำหรับสถานการณ์ทางการเมืองของไทย ปรากฏการณ์ที่น่าจะเรียกได้ว่า “น่าตื่นตาตื่นใจ” หลายอย่างเกิดขึ้นเป็นระยะตลอดปี โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

การออกมาชุมนุมอย่างต่อเนื่องของนักเรียน นักศึกษา และประชาชน, การแสดงออกอย่างกล้าหาญของเยาวชนในโรงเรียนและบนโลกออนไลน์, ความสนุกสนานสดใหม่และสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นในการเรียกร้องเรื่องต่างๆ ไปจนถึงการพังทลายเพดานทางการเมืองที่ดำรงอยู่มาช้านานในสังคมไทย ทำให้ปีนี้นับเป็นปีที่พิเศษสำหรับสถานการณ์ทางการเมืองไทยอย่างยิ่ง และจะทำให้ห้วงปีต่อๆ ไปจากนี้ สังคมไทยไม่สามารถกลับไป “เหมือนเช่นเดิม” ได้อีกต่อไป 

ขณะเดียวกัน สถานการณ์การละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนและการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะในด้านเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม ก็ยังคงเป็นประเด็นสำคัญอยู่ เมื่อมีการพยายามใช้มาตรการต่างๆ โดยเฉพาะการดำเนินคดีจำนวนมาก เพื่อหยุดยั้งการแสดงออกอันน่าตื่นตาตื่นใจนี้อย่างต่อเนื่องตลอดปี 

ในโอกาสส่งท้ายปีเก่า ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนทบทวนสถานการณ์ทางการเมืองและสิทธิมนุษยชนสำคัญๆ ในรอบปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ช่วงต้นจนถึงท้ายปี โดยสรุปเรื่องราวแห่งปีที่กำลังจะผ่านพ้นไปนี้ว่าเป็น “ปีแห่งการชุมนุม ทลายเพดาน และคดีความทางการเมือง” 

 

 

“วิ่งไล่ลุง” ทั่วประเทศ กับคดีความที่ติดตามมา 

ปี 2563 เริ่มต้นปีด้วยกระแสกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” (Run Against Dictatorship) ซึ่งจัดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศในวันอาทิตย์ที่ 12 ม.ค. 63 ด้วยลักษณะกิจกรรมที่ใช้รูปแบบการวิ่งออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ และส่งสารทางการเมืองไปด้วยพร้อมกัน จนกลายไปเป็นแพลตฟอร์มให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ นำไปใช้จัดกิจกรรมของตนเอง โดยไม่ผูกติดกับผู้จัดในกรุงเทพฯ 

จากการติดตามของศูนย์ทนายฯ มีการจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” อย่างน้อยใน 39 จังหวัด ในพื้นที่อย่างน้อย 49 จุด ในทุกภาคของประเทศ โดยบางจังหวัดมีการจัดในหลายจุดหรือหลายช่วงเวลา ผู้เข้าร่วมมีตั้งแต่หลัก 10 คน ไปจนถึงหลายหมื่นคนอย่างกิจกรรมในกรุงเทพ

แม้กิจกรรมส่วนใหญ่จะจัดขึ้นได้ แต่หลายพื้นที่ก็ต้องเผชิญกับปัญหาการใช้สิทธิเสรีภาพในการจัดวิ่ง ทั้งปัญหาการข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ, การใช้กฎหมายเกี่ยวกับชุมนุมสาธารณะเข้ามาควบคุมปิดกั้น, การกดดันแทรกแซงกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ หรือแม้แต่ในพื้นที่ซึ่งไม่ได้จัดกิจกรรม ก็กลับมีการติดตามคุกคามประชาชนจากตำรวจ เพื่อตรวจเช็คข้อมูลและพยายามไม่ให้มีการจัดวิ่งเกิดขึ้นอีกด้วย 

หลังกิจกรรม ยังมีการดำเนินคดีกับผู้จัดและผู้ที่เจ้าหน้าที่คิดว่าเป็นผู้จัดงาน “วิ่งไล่ลุง” ติดตามมา เป็นจำนวนอย่างน้อย 16 คดี โดยเฉพาะปัญหาการตีความกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ว่าเข้าข่ายเป็นการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ แม้กฎหมายจะมีการบัญญัติยกเว้นไม่ใช้กับการชุมนุมเพื่อกีฬา ทำให้เจ้าหน้าที่นำข้อกฎหมายเรื่องไม่แจ้งการชุมนุมมาใช้กล่าวหาไม่น้อยกว่า 14 คดี

ถึงปัจจุบันสิ้นปี 2563 คดีวิ่งไล่ลุงใน 7 คดี ก็ยังไม่สิ้นสุดลง ได้แก่ คดีที่กรุงเทพฯ, นครพนม, บุรีรัมย์, กาฬสินธุ์, พังงา, นครสวรรค์ และเชียงราย โดยทั้งหมดเป็นคดีที่ผู้ถูกกล่าวหาเลือกจะต่อสู้คดี ส่วนใหญ่ยังรอการพิจารณาอยู่ในชั้นศาล โดยบางคดียังมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเนื้อหาใน พ.ร.บ.การชุมนุมฯ นั้นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งยังรอคำวินิจฉัยต่อไป

———————————–

ทบทวนสถานการณ์สิทธิเสรีภาพและคดีความในกิจกรรมวิ่งไล่ลุง 

การออกวิ่งที่เต็มไปด้วยขวากหนาม: ภาพรวมการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในกิจกรรม #วิ่งไล่ลุง ทั่วไทย 

ลุงก็ต้องไล่ โรงพัก-ศาลก็ยังต้องไป: เปิดตารางความเคลื่อนไหวคดีจากกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง”

 

 

ศาล รธน.ยุบพรรคอนาคตใหม่ สู่การเริ่มแฟลชม็อบในสถานศึกษา

21 ก.พ. 63 หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ กลายเป็นจุดปะทุครั้งแรกของปีนี้ ที่นำไปสู่กระแสการชุมนุม “แฟลชม็อบ” คัดค้านคำวินิจฉัยดังกล่าว ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์จนถึงกลางเดือนมีนาคม

กิจกรรมการชุมนุมดังกล่าวเกิดขึ้น โดยมีกลุ่มคนรุ่นใหม่-นักเรียน-นิสิตนักศึกษาในหลายสถานศึกษาเป็นหัวหอกสำคัญ พื้นที่สถานศึกษาทั่วประเทศกลายเป็นจุดชุมนุมทางการเมือง เนื้อหาทั้งในการปราศรัยและแผ่นป้ายต่างๆ ต่างสะท้อนถึงประเด็นที่ไปไกลกว่าเรื่องการยุบพรรคอนาคตใหม่ ผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมากยังเข้าร่วมการเคลื่อนไหวนี้เป็นครั้งแรกๆ ในชีวิตทางการเมืองของพวกเขาอีกด้วย

จากการติดตามของศูนย์ทนายฯ ตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ. จนถึง 14 มี.ค. 63 มีการจัดกิจกรรมชุมนุม #แฟลชม็อบ เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการ อย่างน้อย 95 ครั้ง ในจำนวนนี้แยกเป็นกิจกรรมในมหาวิทยาลัย 79 ครั้ง กิจกรรมในพื้นที่โรงเรียน 6 ครั้ง และกิจกรรมภายนอกสถานศึกษาอีก 10 ครั้ง 

ปรากฏการณ์สำคัญอีกประการหนึ่ง คือการชุมนุมยังไม่ได้จำกัดอยู่ในมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ หรือมหาวิทยาลัยที่เคยมีประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อนแล้ว แต่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยราชมงคล และมหาวิทยาลัยเอกชนด้วย รวมทั้งมีนักเรียนในบางโรงเรียนจัดการชุมนุม ซึ่งจะเป็นร่องรอยเริ่มต้นของสิ่งที่จะเกิดขึ้นติดตามมาในช่วงภายหลังกลางปี

สถานศึกษาเป็นพื้นที่ซึ่งได้รับการยกเว้นการบังคับใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ผู้จัดกิจกรรมไม่ต้องไปแจ้งการชุมนุม และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมายชุมนุม ในการเข้าไปดูแลหรือติดตามจับตากิจกรรม แต่กระนั้นก็ตามการชุมนุมในช่วงดังกล่าว ก็เผชิญกับการปิดกั้นแทรกแซงในหลายพื้นที่ ทั้งสถานศึกษาไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่ หรือการถูกกดดันจากบุคลากรของสถานศึกษา ทำให้ผู้จัดต้องตัดสินใจยกเลิกกิจกรรม รวมทั้งการถูกติดตามคุกคามข่มขู่โดยเจ้าหน้าที่รัฐอีกทีหนึ่งด้วย 

ในการชุมนุมช่วงนี้ พบว่ามีการใช้ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ และกฎหมายการใช้เครื่องขยายเสียง ดำเนินคดีกับผู้จัดชุมนุมอย่างน้อย 3 คดี โดยทั้งหมดผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับ คดีสิ้นสุดในชั้นตำรวจไปแล้ว

—————————–

ทบทวนสถานการณ์ช่วงการชุมนุมแฟลชม็อบหลังยุบพรรคอนาคตใหม่

#เมื่อชาวชั่ยไม่ขอทนแต่ขอชน: สถานการณ์สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม 95 ครั้ง หลังยุบอนาคตใหม่

 

 

การแพร่ระบาดของโควิด-19 กับการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

คาบเกี่ยวกับการปะทุขึ้นของแฟลชม็อบนักเรียนนักศึกษา ในช่วงกลางเดือน มี.ค. สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะจุดแพร่ระบาดที่เริ่มขึ้นจากเวทีมวยลุมพินี ซึ่งมีกองทัพบกเป็นผู้ดูแล 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 63 เป็นต้นมา โดยมีการต่ออายุการประกาศในทุกๆ เดือน จนปัจจุบันมีการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในประเทศไทย มากว่า 9 เดือนแล้ว

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนลงในหลายด้าน ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่อย่างกว้างขวางมากขึ้น เพื่อให้การดำเนินการต่างๆ ในภาวะฉุกเฉินเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังจำกัดการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจเหล่านั้นโดยองค์กรตุลาการ การประกาศใช้กฎหมายพิเศษนี้จึงควรถูกใช้ในระยะเวลาที่จำกัด มาตรการต่างๆ ควรได้สัดส่วนกับสถานการณ์ และต้องมีการทบทวนถึงความจำเป็นเป็นระยะ

มาตรการห้ามปรามและควบคุมของรัฐโดยที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนอย่างรอบด้าน ภายหลังการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่มีประชาชนจำนวนมากไม่มีงานทำหรือขาดรายได้ในครัวเรือน สร้างผลกระทบต่อประชาชนกลุ่มเปราะบาง อาทิ คนไร้บ้าน กลุ่มแรงงาน คนจนเมือง เป็นต้น หรือหน่วยงานรัฐยังอาศัยช่วงเวลาดังกล่าว ในการผลักดันโครงการในพื้นที่ต่างๆ อันส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชน โดยประชาชนไม่สามารถออกมามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นได้ 

รวมทั้งเกิดสถานการณ์การใช้กฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ดำเนินคดีต่อผู้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารหรือตั้งคำถามต่อการจัดการของรัฐ โดยเฉพาะกรณีดนัย อุศมา ศิลปินกราฟิตี้ที่โพสต์ตั้งคำถามถึงมาตรการคัดกรองโรคที่สนามบิน หลังจากเดินทางกลับจากแสดงงานศิลปะในต่างประเทศ

ขณะเดียวกันการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในช่วงครึ่งปีหลัง ที่การแพร่ระบาดของโรคภายในประเทศลดระดับลง ต่อผู้ร่วมชุมนุมทางการเมืองจำนวนมาก ยังทำให้เกิดคำถามต่อวัตถุประสงค์การใช้กฎหมาย และการนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองอีกด้วย แม้รัฐบาลจะอ้างเสมอมาว่าการต่ออายุการใช้กฎหมายไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองก็ตาม

จากการติดตามของศูนย์ทนายฯ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงสิ้นปีนี้ มีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งประกาศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากการชุมนุมทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 117 คน ใน 49 คดี (ไม่รวมคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในช่วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ)

ขณะเดียวกันยังไม่มีรายงานว่าการชุมนุมทางการเมืองครั้งใดทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขึ้น และยังไม่มีรายงานในการดำเนินคดีข้อหานี้กับการชุมนุมของประชาชนหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่ออกมาแสดงออกด้วยจุดยืนที่แตกต่างจากผู้ชุมนุมคณะราษฎรแต่อย่างใด

————————

ดูรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ข้อสังเกตทางกฎหมายต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อรับมือโควิด-19

ยิ่งโควิดพลุ่งพล่าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินรีเทิร์น สิทธิมนุษยชนยิ่งสำคัญ

‘โควิด-19’ กับสิทธิที่หายไป: สำรวจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประเด็นการละเมิดสิทธิ และหนทางออกจากวิกฤตโรคระบาด

5 เหตุผล “ไม่ควร” ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกต่อไป

ก่อนการต่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ รอบ 2 ที่ไม่ฉุกเฉิน-ไม่ยึดโยงประชาชน: ข้อสังเกตทางกฎหมายฯ

ส่องการผลักดันโครงการรัฐที่กระทบประชาชน ภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ปิดกั้นการมีส่วนร่วม

คดีความเปลี่ยนชีวิตของ ‘ดนัย’ ศิลปินกราฟิตี้ ผู้โพสต์ไม่พบ จนท. คัดกรองที่สุวรรณภูมิ

 

 

โลกทวิตภพ การจับกุม “นิรนาม” ถึงมาตรการคุกคามนอกกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ

การแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ในปีนี้เป็นไปอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในโลกทวิตเตอร์ ที่กลายเป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองสำคัญ ผ่านการติด “แฮชแท็ก” รณรงค์ในประเด็นทางการเมืองที่พากันไต่อันดับขึ้นเทรนด์ในช่วงต่างๆ รวมทั้งแฮชแท็กที่กล่าวถึงประเด็นสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา นอกจากนั้น ยังเกิดรูปแบบการชุมนุมที่ประชันขันแข่งกันตั้งชื่อแฮชแท็กต่างๆ เป็นชื่อการชุมนุมทางการเมืองอีกด้วย

ขณะเดียวกัน รัฐเองก็พยายามติดตามควบคุมการแสดงออกในพื้นที่ออนไลน์เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งการจับตาสอดส่อง การจับกุมดำเนินคดี การบุกไปที่บ้านผู้ใช้ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก หรือการใช้เจ้าหน้าที่รัฐมาดำเนินปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) ในทวิตเตอร์ เป็นต้น

เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ผู้ใช้ทวิตเตอร์​ “นิรนาม_” ซึ่งเป็นเด็กหนุ่มวัย 20 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมดำเนินคดีข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีทวิตภาพและข้อความเกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 ทวิตดังกล่าวเปิดใช้ช่วงตุลาคม 2561 มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารทางการเมือง โดยเฉพาะข้อมูลในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และมีผู้ติดตามมากกว่า 1.4 แสนราย ทำให้เป็นที่รู้จักค่อนข้างกว้างขวางสำหรับคนรุ่นใหม่

ปัจจุบัน คดีของ “นิรนาม_” ยังอยู่ในชั้นอัยการ โดยในช่วงกลางปีที่ผ่านมา เขายังถูกตำรวจแจ้งพฤติการณ์ในคดีเพิ่มเติมจากข้อความในทวิตอีก ทำให้ถูกกล่าวหารวมเป็น 8 กรรม และยังต้องติดตามสถานการณ์คดีต่อไป

นอกจากการดำเนินคดี ยังมีรายงานเป็นระยะถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าติดตามไปถึงบ้านบุคคลที่โพสต์แสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ จำนวนมากพบว่าเป็นการถูกติดตามจากการแชร์เนื้อหามาจากเฟซบุ๊กของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์, Andrew MacGregor Marshall และเพจ KonthaiUK 

บางกรณีก็มีการนำตัวไปสอบที่สถานีตำรวจโดยไม่มีหมายจับหรือหมายเรียกใดๆ พร้อมกับขอตรวจค้นอุปกรณ์สื่อสาร โดยมีการพูดคุยสอบถามข้อมูลส่วนตัว สั่งให้ลบโพสต์ข้อความ และบังคับให้เซ็นบันทึกข้อตกลงว่าจะไม่แสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้อีก ซึ่งเป็นรูปแบบการดำเนินการที่ไม่ได้มีกฎหมายให้อำนาจไว้ แต่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปี 2562 

จากการเก็บข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ตลอดทั้งปี 2563 ที่ผ่านมา มีผู้ใช้โพสต์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในโลกออนไลน์ หรือแม้แต่เพียงแชร์ข่าวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ไม่น้อยกว่า 41 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามในลักษณะนี้ และคาดว่ายังมีประชาชนที่ถูกคุกคามอีกเป็นจำนวนมาก

—————————

อ่านบันทึกเรื่องคดีนิรนาม และบางส่วนของกรณีการคุกคามนอกกฎหมาย

ยิ้มแรกของพ่อกับแม่ในรอบหกวัน: บันทึกเรื่อง “นิรนาม_” ก่อนจะได้ประกันตัว

บันทึกจากเพื่อนผู้ติดตามทวิต “นิรนาม” สู่เพื่อนในชีวิตจริง

รีวิวประสบการณ์ถูก “คุมตัวไปคุย” หลังโพสต์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ของ 1 หนุ่มออฟฟิศ 2 นักเรียน-นักศึกษา

 

 

การเกิดขึ้นของกรุ๊ป “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” และการแสดงออกของ “ทิวากร”

การเกิดขึ้นของกลุ่มในเฟซบุ๊กชื่อ “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” หรือ “ตลาดหลวง” ซึ่งตั้งขึ้นโดยปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการผู้กลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองหลังรัฐประหาร 2557 ทำให้สถานการณ์การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในโลกออนไลน์เป็นไปอย่างเข้มข้น

กลุ่มเฟซบุ๊กนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 เม.ย. 63 และได้กลายเป็นพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในแง่มุมต่างๆ อย่างกว้างขวาง จนมีผู้เข้าร่วมกว่าล้านบัญชีเฟซบุ๊ก กระทรวงดิจิทัลฯ ต้องไปขอคำสั่งศาลเพื่อปิดกั้นการเข้าถึงกลุ่มเฟซบุ๊กนี้จากในประเทศไทยในช่วงเดือน ส.ค. แต่ก็มีการเปิดกลุ่มใหม่อีกครั้งในทันที และกลุ่มยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 2.2 ล้านบัญชีเฟซบุ๊ก

นอกจากการพยายามปิดกั้นและติดตามผู้แสดงความคิดเห็นโดยรัฐแล้ว อีกปฏิกิริยาตอบสนองหนึ่งคือการ “ไล่ล่าแม่มด” โดยจากการติดตามของศูนย์ทนายฯ พบว่าช่วงเดือนพฤษภาคม มีผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ถูกเพจที่คอยติดตามจับตา ดำเนินการไล่ล่าแม่มดอย่างน้อย 25 ราย หลายรายเป็นผู้โพสต์หรือแสดงความคิดเห็นในกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส 

เพจที่คอยไล่ล่าบุคคลดังกล่าว จะแคปภาพเฟซบุ๊กและภาพข้อความของผู้ถูกล่ามาโพสต์เผยแพร่ในเพจ บางกรณีก็มีการนำข้อมูลส่วนบุคคลมาเปิดเผย และมีการระดมลูกเพจให้ช่วยกันด่าทอโจมตี หรือให้ช่วยกันเข้ากดดันสถานที่เรียนหรือที่ทำงานของผู้ถูกล่า เพื่อสร้างผลกระทบในชีวิตประจำวัน และยังมีการนำข้อความและข้อมูลส่วนบุคคลไปแจ้งความตามสถานีตำรวจในท้องที่ต่างๆ ด้วย

ขณะเดียวกัน อีกการแสดงออกสำคัญหนึ่งในปีที่ผ่านมา เกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน คือกรณีของ “ทิวากร วิถีตน” ชาวจังหวัดขอนแก่น ผู้ออกมาใส่เสื้อ ‘เราหมดศรัทธา​สถาบันกษัตริย์​แล้ว’ พร้อมโพสต์ภาพและอธิบายเหตุผลไว้ในเฟซบุ๊กของเขา และในกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส

การแสดงออกดังกล่าว ทำให้เขาถูกเจ้าหน้าที่หลายหน่วยเข้าติดตามถึงบ้าน เพื่อโน้มน้าวไม่ให้เขาใส่เสื้อตัวนี้อีก จนในเดือนกรกฎาคม ทิวากร​ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมตัว และนำตัวส่งโรงพยาบาล​จิตเวชขอนแก่นฯ ​เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการทางจิต อีกทั้งยึดโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และเสื้อยืดไป พร้อมวางกำลังเจ้าหน้าที่เฝ้าโรงพยาบาลไว้ และไม่อนุญาตให้ใครเข้าเยี่ยมได้ถ้าไม่ได้รับอนุมัติจากญาติ

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดการรณรงค์ #saveทิวากร อย่างกว้างขวาง พร้อมทั้งความพยายามของ “ไผ่ ดาวดิน” ในการยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่น เนื่องจากเห็นว่าทิวากรถูกควบคุมตัวโดยมิชอบ แม้ศาลจะยกคำร้อง แต่ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น ทิวากรก็ได้รับการปล่อยตัว หลังถูกควบคุมตัวไว้ในโรงพยาบาลรวม 14 วัน

———————————

อ่านสถานการณ์กรณี “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” และ “ทิวากร”

ส่องสถานการณ์ “ล่าแม่มด” หลังเกิดกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส”

กรณีทิวากร กับปัญหาการบังคับใช้ “พ.ร.บ.สุขภาพจิต” และการบังคับให้กลายเป็น “ผู้ป่วย”

ยกคำร้อง เหตุ ‘ไผ่’ ไม่ใช่ผู้มีสิทธิยื่น ศาลไม่วินิจฉัยควบคุมตัวโดยชอบหรือไม่

 

 

การถูกบังคับสูญหายของ “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” 

เย็นวันที่ 4 มิ.ย. 63 นับเป็นวันสำคัญของสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในรอบปีนี้อีกวันหนึ่ง เมื่อได้เกิดเหตุการณ์ที่วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือ “ต้าร์” ผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทยในประเทศกัมพูชา ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์บุกเข้าอุ้มจากหน้าคอนโดที่พักในกรุงพนมเปญ หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย และจนบัดนี้ผ่านไปกว่าครึ่งปีแล้ว ก็ยังไม่มีข่าวคราวใดๆ ของวันเฉลิมอีก 

การถูกบังคับสูญหายดังกล่าว นับเป็นรูปแบบความรุนแรงที่เกิดขึ้นซ้ำอีกครั้ง หลังจากปีก่อนหน้านี้มีผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทยหายตัวไปในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างน้อย 9 ราย โดย 2 รายยังถูกพบเป็นศพถูกทำร้ายอย่างทารุณลอยมาตามลำน้ำโขง เช่นเดียวกันว่าจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถค้นหาความจริงของความรุนแรงในกรณีทั้งหมดนี้ได้ 

ขณะเดียวกันกรณีวันเฉลิม ได้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ #saveวันเฉลิม ในโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เกิดการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อทวงคืนความเป็นธรรมให้กับเขา และเหล่าผู้ถูกบังคับให้สูญหายในประวัติศาสตร์ไทยอย่างกว้างขวางติดตามมา รวมทั้งการชุมนุมหลายครั้งที่ติดตามมาต่างย้ำเตือนถึงประเด็นการหายตัวไปของเขาและผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ 

กรณีของวันเฉลิม ยังได้รับความสนใจจากนานาชาติ ทั้งสหประชาชาติ องค์กรระหว่างประเทศ และสื่อมวลชนที่สนใจสถานการณ์ในอาเซียน มีการออกแถลงการณ์ การส่งหนังสือทวงถามต่อรัฐบาลไทยและกัมพูชา การติดตามรายงานข่าวอย่างต่อเนื่อง 

จนล่าสุดครอบครัวของวันเฉลิมได้เดินทางไปให้ข้อมูลกับผู้พิพากษาไต่สวนของกัมพูชาเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อยืนยันถึงเหตุการณ์การถูกอุ้มหายที่เกิดขึ้นจริง และยังต้องติดตามการพิจารณาพยานหลักฐานของกระบวนการยุติธรรมในประเทศกัมพูชาต่อไป ว่าจะมีความคืบหน้าให้กับการติดตามหาวันเฉลิมหรือไม่ อย่างไร

กรณีวันเฉลิม ยังเน้นย้ำว่ายังมีคนไทยผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ยังไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้จนถึงปัจจุบันอยู่ในประเทศต่างๆ อยู่อีก โดยจากข้อมูลของศูนย์ทนายฯ พบว่ามีไม่น้อยกว่า 104 คน ที่ต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยจากยุคของ คสช. และยังไม่วี่แววที่พวกเขาและเธอจะได้กลับบ้าน

——————

อ่านเรื่องราวของวันเฉลิม

อ่านสเตตัส ‘วันเฉลิม’ ผู้ถูกอุ้มหาย: การลี้ภัย ต้านรัฐประหาร และความหวังในชีวิตไกลบ้าน

สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์: ในวันที่ความรู้สึกยังติดค้าง เราทำได้แค่มุ่งหน้าเดินต่อ

‘ต้าร์’ วันเฉลิม ในเรื่องเล่าของสหาย: แด่ความหวัง ความฝัน และการเปลี่ยนแปลง

“หัวใจมันตก มันแตก”: คุยกับเพื่อน ‘ต้าร์’ ในวันที่มิตรสหายถูกอุ้มหายไป

ทิชา ณ นคร: เราต้องการความกล้าหาญแบบ ‘ต้าร์’ วันเฉลิม เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

4 สิ่งควรรู้ในคดี “วันเฉลิม” ก่อนสิตานันเข้าพบผู้พิพากษาไต่สวนที่กรุงพนมเปญ

 

 

สู่ #เยาวชนปลดแอก เมื่อนักเรียน-นักศึกษาส่งเสียงทางการเมือง

18 ก.ค. 63 นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องทางเมืองระลอกใหม่ที่ยังดำเนินมาอยู่จนถึงสิ้นปีนี้ เมื่อกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า #เยาวชนปลดแอก ได้เริ่มจัดการชุมนุมใหญ่ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจใน 3 ข้อหลัก ได้แก่ เรียกร้องให้มีการยุบสภา, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และให้เจ้าหน้าที่รัฐหยุดคุกคามประชาชนทุกรูปแบบ ก่อนการชุมนุมในระยะต่อมาจะพัฒนาเป็นข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อีกด้วย

หลังจากวันนั้น เกิดการชุมนุมจำนวนมากร่วมย้ำถึงข้อเรียกร้องดังกล่าว กระจายตัวต่อเนื่องไปตามจังหวัดต่างๆ และเกิดขึ้นแทบจะทุกวัน อีกทั้งสัดส่วนกลุ่มผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมากยังเป็นกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ในหลายพื้นที่ผู้จัดยังเป็นเพียงนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา และยังมีการสร้างสรรค์รูปแบบกิจกรรมใหม่ๆ ออกมาอย่างหลากหลาย

จากการติดตามของศูนย์ทนายฯ ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 63 จนถึงวันที่ 10 ต.ค. 63 เป็นระยะเวลา 85 วัน มีการจัดชุมนุมสาธารณะจำนวนอย่างน้อย 246 การชุมนุม ในพื้นที่อย่างน้อย 62 จังหวัด โดยเป็นการชุมนุมที่เกิดขึ้นในพื้นที่สถานศึกษา 74 การชุมนุม (แยกเป็นมหาวิทยาลัย 43 ครั้ง และโรงเรียน 31 ครั้ง) โดยเฉลี่ยมีการชุมนุมวันละ 2.9 ครั้ง หรือเกือบ 3 ครั้งต่อวัน

ปรากฏการณ์นี้ยังรวมไปถึงการลุกขึ้นส่งเสียงอย่างกว้างขวางของ “เยาวชน” ที่ยังเป็นนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ ในประเด็นใกล้ตัว อาทิ เรื่องทรงผม, เครื่องแบบนักเรียน, กฎระเบียบในโรงเรียน, การล่วงละเมิดทางเพศในสถานศึกษา หรือปัญหาของระบบการศึกษาไทย เป็นต้น ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวไม่ใช่เพียงในรูปแบบการชุมนุมในพื้นที่โรงเรียน แต่ยังมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ อย่างการผูกโบว์ขาว การชูสามนิ้วระหว่างเคารพธงชาติ ชูกระดาษเปล่า การแสดงความคิดเห็นผ่านกิจกรรมในโรงเรียน หรือการรวมกลุ่มของนักเรียนในหลายรูปแบบ

ท่ามกลางการตื่นขึ้นของยักษ์ที่หลับใหลอยู่ในตะเกียงนี้ เจ้าหน้าที่รัฐก็ยังคงพยายามปิดกั้นการแสดงออกเหล่านี้อย่างต่อเนื่องโดยใช้ทั้งกระบวนการทางกฎหมายและนอกกฎหมาย ศูนย์ทนายฯ พบว่าหลังเริ่มการชุมนุมของเยาวชนปลดแอกจนถึงวันที่ 10 ต.ค. 63 มีประชาชนถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามไปถึงที่บ้าน สถานศึกษา หรือโทรศัพท์ติดตามตัว อย่างน้อย 145 คน ในจำนวนนี้เป็นนักเรียน 29 ราย และเป็นนักศึกษา 25 ราย 

ขณะเดียวกัน การแสดงออกของนักเรียนภายในสถานศึกษาก็เผชิญกับการปิดกั้นและคุกคามในหลายรูปแบบทั้งถูกห้ามแสดงออกเชิงสัญลักษณ์, ถูกโรงเรียนห้ามใช้พื้นที่ในการทำกิจกรรม, ถูกครูทำร้ายร่างกาย, ถูกขู่จะดำเนินการทางวินัย เรียกผู้ปกครอง หรือกระทั่งขู่ไล่ออก, มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาติดตามในโรงเรียนหรือตามไปคุยกับผู้ปกครองที่บ้าน เป็นต้น ทำให้สถานศึกษายังไม่ใช่ “พื้นที่ปลอดภัย” ในการแสดงออกของนักเรียนเท่าใดนัก 

ปีหน้าจึงยังต้องติดตามระลอกคลื่นการแสดงออกของเยาวชน นิสิต นักศึกษา และมาตราการของเจ้าหน้าที่รัฐ-สถานศึกษาต่างๆ ที่จะตอบสนองต่อคลื่นที่สาดซัดนี้

—————————-

อ่านสถานการณ์สิทธิเสรีภาพหลังเริ่มชุมนุมเยาวชนปลดแอก

2 อาทิตย์หลังเยาวชนเริ่มปลดแอก: เสนอหยุดคุกคาม กลับถูกคุกคามกว้างขวาง

ก่อนจะถึง 14 ตุลา: ภาพรวม “การคุกคามประชาชน” หลังเยาวชนเริ่มปลดแอก

นักเรียนชูสามนิ้ว-ติดโบว์ขาว 3 วัน ร้องเรียนถูกคุกคาม-ปิดกั้น 103 กรณี

สิทธิเด็กอยู่ไหน? เมื่อถูกคุกคามจากโรงเรียน

คุยเรื่องสิทธิเด็กกับวรางคณา มุทุมล: เลนส์มองปรากฏการณ์เด็กโต้กลับในวันผู้ใหญ่ยังไม่พร้อม

 

 

ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และการกลับมาของการใช้มาตรา 112

พัฒนาการของการชุมนุมในปีนี้ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือปรากฏการณ์ “ทลายเพดาน” การเคลื่อนไหวทางการเมืองของประเทศไทย นั่นคือการกล่าวถึงปัญหาสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยอย่างตรงไปตรงมาในพื้นที่สาธารณะ 

ระลอกคลื่นนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 63 จากการปราศรัยปัญหาเรื่องสถาบันกษัตริย์ของอานนท์ นำภา ในการชุมนุม #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย หรือม็อบแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ ก่อนจะตามมาด้วยการประกาศข้อเสนอ 10 ข้อ ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในเวที #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 63 จากนั้นเนื้อหาและข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ยังคงก้องกังวานเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน รัฐยังพยายามตอบโต้ต่อการแสดงออกที่ขยับเพดานครั้งนี้ในทางกฎหมาย ในช่วงแรกด้วยการนำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือข้อหายุยงปลุกปั่น มาใช้กล่าวหาดำเนินคดี โดยมีการขอศาลออกหมายจับแกนนำการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง จากการติดตามของศูนย์ทนายฯ ศาลมีการออกหมายจับในข้อหานี้ไปไม่น้อยกว่า 56 หมายจับในปีนี้ 

รวมทั้งมาตรการของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่พยายามถอนประกันตัวแกนนำการชุมนุม อย่างอานนท์ และไมค์ ภาณุพงศ์ ทำให้ทั้งสองคนถูกคุมขังในเรือนจำช่วงต้นเดือนกันยายนเป็นเวลา 5 วัน โดยการเคลื่อนไหวชุมนุมก็ไม่ได้ยุติลง

ในเดือนตุลาคม สถานการณ์การชุมนุมยังเป็นไปอย่างเข้มข้น ระหว่างการชุมนุมใหญ่ของผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร” ในวันที่ 14 ต.ค. ได้เกิดสถานการณ์ที่ถูกอ้างว่าผู้ชุมนุมบางส่วนพยายาม “ขัดขวางขบวนเสด็จฯ” ของสมเด็จพระราชินี ทำให้มีการจับกุมดำเนินคดีนักศึกษาและนักกิจกรรม 3 ราย ในข้อหาร้ายแรงอย่าง “ประทุษร้ายต่อเสรีภาพพระราชินี” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 ซึ่งคงแทบไม่เคยมีใครเคยถูกกล่าวหาในข้อหานี้มาก่อนในหลายทศวรรษที่ผ่านมา

เหตุการณ์ดังกล่าวยังกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของข้ออ้างให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. ถึง 22 ต.ค. เกิดการจับกุมแกนนำและผู้ชุมนุมไม่น้อยกว่า 90 รายในช่วงดังกล่าว, ศาลมีการออกหมายจับในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อแกนนำ 17 หมายจับ, มีการคุมขังแกนนำหลายคนในเรือนจำนานเกือบสามสัปดาห์ และการพยายามสลายการชุมนุมทั้งที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและแยกปทุมวัน แต่จำนวนการชุมนุมและผู้ชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ ไม่ได้ลดน้อยลง จนรัฐบาลต้องยกเลิกการประกาศดังกล่าว ภายใต้วลี “ถอยคนละก้าว”

การชุมนุมและเรียกร้องในประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ยังดำเนินต่อมาหลังจากนั้น จนรัฐบาลดำเนินอีกมาตรการหนึ่ง คือนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กลับมาบังคับใช้อีกครั้งตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา หลังในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา มีการใช้ข้อกล่าวหานี้ลดน้อยลงไป

หลังจากนั้น การกล่าวหาด้วยข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ก็กลับมาอย่างเข้มข้น โดยถึงช่วงสิ้นปีนี้ พบว่ามีผู้ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 จากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองแล้วไม่น้อยกว่า 37 ราย คิดเป็นจำนวน 23 คดี ประเด็นข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และการบังคับใช้มาตรา 112 จึงเป็นสถานการณ์สำคัญยิ่งที่ยังต้องจับตาในปีหน้าต่อไป

————————–

อ่านสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม

“สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง” ยิ่งทำลายหลักนิติรัฐ ขยายอำนาจจนท.รัฐ ตุลาการตรวจสอบไม่ได้

1 เดือนหลัง 14 ตุลา: คดีชุมนุมเพิ่ม 3 เท่า ผู้ถูกดำเนินคดีกว่า 175 คน ข้อหา ม.116-พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พุ่ง

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563

บทบัญญัติที่ไม่ควรมีที่ทางในประเทศประชาธิปไตย: ย้อนดู ม.112 ในสายตากลไกสิทธิมนุษยชน UN

 

 

คดีความทางการเมือง และการใช้ “กฎหมาย” เป็นเครื่องมือ

ปรากฏการณ์สำคัญของปีนี้ นอกจากการชุมนุมจำนวนหลายร้อยครั้งของประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐและผู้มีอำนาจเองก็โต้ตอบกลับโดยวิธีการดำเนินคดีต่อผู้แสดงออกทางการเมือง เป็นจำนวนนับร้อยคดีแล้วเช่นกัน 

การใช้ “กฎหมาย” และ “กระบวนการยุติธรรม” เป็นเครื่องมือทางการเมืองดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่าเป็นมรดกตกทอดที่ดำเนินมาตั้งแต่ในยุค คสช. ซึ่งมีการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเพื่อปิดปากและปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง การมุ่งสร้างภาระทางคดีให้กับผู้ถูกกล่าวหา และสร้างความได้เปรียบทางการเมืองให้กับฝ่ายของตน อย่างกว้างขวางที่สุด เมื่อเทียบกับการรัฐประหารหลายครั้งก่อนหน้านี้

จากการติดตามของศูนย์ทนายฯ เพียงเวลาครึ่งหลังของปีนี้ ก็มีจำนวนการดำเนินคดีทางการเมืองมากกว่าตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมารวมกัน โดยตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 63 จนถึง 25 ธ.ค. 63 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองไปแล้วอย่างน้อย 234 คน ในจำนวน 145 คดี มีการใช้ข้อกล่าวหาทางอาญาต่างๆ จำนวนมากมาดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมโดยสงบ ทั้งข้อหาลหุโทษ ไปจนถึงข้อหาหนักหน่วงอย่างมาตรา 110 และ 112  สำหรับจำนวนสถิติคดีในข้อหาสำคัญเท่าที่ศูนย์ทนายฯ เก็บรวบรวม อาทิเช่น

  • ข้อหามาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 37 ราย ในจำนวน 23 คดี
  • ข้อหามาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 60 ราย ในจำนวน 20 คดี
  • ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 175 ราย ในจำนวน 64 คดี (แยกเป็นคดีในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ 23 คดี)
  • ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 60 ราย ในจำนวน 46 คดี

แกนนำนักกิจกรรมหลายคนยังถูกดำเนินคดีจำนวนมาก ทำให้แต่ละคนมีภาระต้องต่อสู้คดี และต้องรายงานตัวตามกระบวนการต่างๆ ต่อไป อาทิ หลังการชุมนุมเยาวชนปลดแอก เพนกวิน พริษฐ์ ถูกกล่าวหาไปแล้ว 26 คดี, อานนท์ นำภา ถูกกล่าวหาไปแล้ว 20 คดี, ไมค์ ภาณุพงศ์ ถูกกล่าวหาไปแล้ว 16 คดี, รุ้ง ปนัสยา ถูกกล่าวหาไปแล้ว 10 คดี เป็นต้น 

ขณะเดียวกันยังมีการดำเนินคดีต่อเยาวชนจากการชุมนุมอย่างน้อย 6 รายแล้ว รวมทั้งมีการกล่าวหาด้วยข้อหาตามมาตรา 112 และ 116 อีกด้วย ซึ่งเป็นแนวโน้มใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นท่ามกลางการลุกขึ้นส่งเสียงของเยาวชน

รูปแบบการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือทางการเมืองเช่นนี้ ยังมีส่งผลต่อระบบกฎหมาย ความน่าเชื่อถือขององค์กรต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรม และคำถามต่อระบบนิติรัฐในสังคมไทย ซึ่งอาจต้องใช้เวลาแก้ไขฟื้นฟูต่อเนื่องไปอีกนานหลายปี

—————————

ทบทวนสถานการณ์คดีช่วง คสช. และมรดกต่างๆ ที่ยังดำรงอยู่

ราวกับคสช.ยังไม่จากไปไหน: 6 ปีรัฐประหาร การละเมิดสิทธิที่ยังคงอยู่

ผลที่แปลกประหลาดยิ่งทางกม.: เมื่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ถูกใช้พร้อมกัน

 

X