ยิ่งโควิดพลุ่งพล่าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินรีเทิร์น สิทธิมนุษยชนยิ่งสำคัญ

“การคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนควรเป็นศูนย์กลางของการป้องกัน แจ้งเตือน เตรียมการ กักตัว ดูแลรักษา และแก้ไขปัญหาโควิด-19 ตั้งแต่ต้นจบ เพราะไม่เช่นนั้นเราจะตายกันหมด” เป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริง แม้การประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสถานการณ์ประเทศกำลังเผชิญโรคระบาดอาจดูเด็ดขาด แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นลำดับต่อมาคือ หากการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่รัฐเพื่อแก้ไขวิกฤตโควิด-19 ไม่ได้มาพร้อมการเคารพสิทธิมนุษยชน ยาแรงนี้อาจไม่สามารถหยุดความปั่นป่วนของสังคม ความหวาดวิตกของประชาชน ข่าวลือ หรือกระทั่งการแพร่กระจายของโรค

ยิ่งสิทธิมนุษยชนเข้มแข็งประชาชนยิ่งรู้ถึงระดับวิกฤตโควิดที่แท้จริง

ประเทศไทยมีผู้ป่วยมากแค่ไหน? ไทยเข้าสู่ระยะระบาดใดแล้ว? โรงพยาบาลมีศักยภาพรับคนได้อีกมากเท่าไหร่? เป็นคำถามที่ประชาชนไทยกระวนกระวายใจอยากรู้อยู่เสมอด้วยความไม่ปักใจเชื่อข้อมูลจากรัฐ เหตุการณ์ที่อนุทิน ชาญวีรกูล รมต.สาธารณสุข กล่าวตำหนิว่าแพทย์ไทยไม่ป้องกันตัวเองจากเชื้อให้ดีเมื่อต้องรักษาผู้ป่วยนั้น แม้โลกออนไลน์จะพุ่งเป้าไปที่การตำหนิรัฐบาลซึ่งไม่ดูแลและทุ่มเทงบประมาณให้ภาคสาธารณสุขอย่างเพียงพอ แต่เรื่องนี้ยังมีประเด็นที่ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์อาจไม่ได้รับการแจ้งเตือนถึงสถานการณ์และการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสเป็นอีกประเด็นน่าสนใจร่วมด้วย

แพทย์รายหนึ่งให้ข้อมูลที่น่าตระหนกว่าภาคส่วนสาธารณสุขซึ่งน่าจะเป็นภาคส่วนแรกๆ ที่เข้าใจระดับความรุนแรงของการระบาดในประเทศไทยได้ดีที่สุด แต่บุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากกลับไม่รู้ชัดว่ากำลังรับมือกับอะไร โดยเขาเล่าถึงสถานการณ์ในโรงพยาบาลช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่หากรัฐเริ่มยกระดับมาตราการหยุดยั้งการระบาดอย่างจริงจังอาจทำให้แก้สถานการณ์ได้ทันว่า

“บางทีมีผู้ป่วยมาบอกหมอว่าสงสัยผมจะติดโควิด ด้วยความที่ข้อมูลข่าวสารเราไม่ชัดว่าโรคนี้ติดกันได้ง่ายแค่ไหน หมอตัดสินใจผ่าตัดให้ก่อนแล้วค่อยส่งคนไข้ไปตรวจ แล้วพบว่าผลตรวจเป็นบวก หมอก็ติดไปด้วย หรือการผ่าตัดต้อกระจก หมอไม่ได้สวมชุด PPE (Personal Protective Equipment) ทุกคนหรอกครับเพราะแพงและมีไม่เพียงพอ จริงๆ ด้วยแนวโน้มของการระบาด รัฐควรสั่งให้คนไข้อาการไม่หนักมากยกเลิกการมาโรงพยาบาลให้หมดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ แล้วจัดทำระบบพบหมอออนไลน์สำหรับคนไข้ที่ต้องไปตามหมอนัด มีระบบกระจายยาไปหน่วยงานสาธารณสุขขั้นมูลฐาน ร้านยา หรือส่งยาไปที่บ้านแทน เราควรเก็บโรงพยาบาลไว้รักษาผู้ป่วยฉุกเฉินจริงๆ ไม่ใช่ให้มาแพร่เชื้อ ขณะนี้สถานการณ์ของแต่ละโรงพยาบาลเหมือนฝีที่รอวันแตก สิ่งที่เราควรทำตอนนี้คือรักษาระบบโรงพยาบาลไว้ให้ผู้ป่วยหนัก ถ้าเรารักษาโรงพยาบาลไว้ไม่ได้ หลังวิกฤติผ่านไปเราจะฟื้นฟูไม่ได้”

เกิดคำถามมาสักพักหนึ่งแล้ว ว่าเพราะเหตุใดระยะการระบาดของโควิด-19 บ้านเราจึงหยุดที่เฟส 2 มานาน โดยยังไม่ขยับไปเฟส 3 ซึ่งหากการกำหนดระยะระบาดไม่สอดคล้องกับความจริงจะส่งผลเสียหายสำคัญคือทำให้ขาดการยกระดับมาตรการป้องกันให้ผู้ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการแพร่เชื้อต่อไปตั้งแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงพยาบาลซึ่งหมอและพยาบาลมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อ ขณะที่หลายประเทศตัดสินใจยกระดับการแจ้งเตือนระยะระบาดก่อนเรา

ความไม่รู้อันแสนสุข (และทุกข์ทีหลัง)

เนื่องจากโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ องค์การอนามัยโลกจึงยังไม่ได้กำหนดระยะการระบาดขึ้นอย่างเฉพาะเจาะจง เกณฑ์กำหนดระยะระบาดขององค์การฯ ที่มีอยู่ล่าสุดได้มาจากการสังเคราะห์ข้อมูลปี 2009 – 2010 เมื่อโลกเผชิญภัยโรคระบาดขนาดใหญ่จากไข้หวัดหมู โดยองค์การอนามัยโลกจำแนกความร้ายแรงของเชื้อไวรัสไข้หวัดที่อาจพัฒนาไปสู่การเป็นโรคระบาดในเวลานั้นเป็น 6 ระยะ โดยการระบาดระยะที่ 6 มีสาระสำคัญคือเป็นระยะที่ไม่มีที่ใดในโลกปลอดภัยอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหมู่เกาะห่างไกล หรือชุมชนพื้นเมืองที่มีผู้คนเบาบางดูน่าปลอดเชื้อมากที่สุด พลเมืองโลกล้วนมีโอกาสติดเชื้อได้

เมื่อมองอย่างบีบแคบเข้ามาภายในแต่ละประเทศ ถึงแม้แต่ละประเทศจะกำหนดระยะระบาดแตกต่างกัน แต่เป็นที่ทราบในวงการการแพทย์ว่าเมื่อใดองค์การอนามัยโลกประกาศว่าการติดเชื้อไวรัสชนิดนั้นคือ “ภาวะการระบาดใหญ่ทั่วโลก” นั่นเทียบเคียงได้ว่าโลกกำลังเผชิญภาวะโรคระบาดระยะที่ 6 ตามหลักเกณฑ์เก่าเมื่อปี 2009-2010  ซึ่งการประกาศสถานะนี้กับโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้นเมื่อ 11 มีนาคม 2563 หลายประเทศใช้เกณฑ์นี้เทียบเคียงต่อว่าประเทศของตนได้เข้าสู่ระยะระบาดสูงสุดตามเพดานที่ประเทศนั้นๆ กำหนดไว้แล้วไม่ว่าประเทศนั้นๆ จะกำหนดระยะการระบาดไว้กี่ระยะก็ตาม

สำหรับประเทศไทยได้แบ่งเกณฑ์กำหนดระยะระบาดเป็น 3 ระยะ กล่าวโดยย่นย่อคือ ระยะที่ 1 พบผู้ป่วยจากประเทศอื่น ไม่พบการแพร่โรคในไทย ระยะที่ 2 เริ่มมีการติดต่อจากคนสู่คนภายในประเทศ และเชื้อแพร่ในประเทศแต่เป็นวงจำกัดเช่นเมืองท่องเที่ยว ระยะที่ 3 เชื้อแพร่ในประเทศไทยในวงกว้าง ประชาชนเต็มไปด้วยคำถามถึงระยะการระบาดที่แท้จริงว่าเราอยู่ที่ “เฟส 2” จริงหรือ? ในการแถลงยอดผู้ป่วยสะสมบางวันพบว่ามีการกล่าวถึงบางช่วงตอนที่คลุมเครือและมี “ฉบับสื่อสารภายใน” กับ “ฉบับสาธารณะ” ที่มีความแตกต่างกัน เช่นในรายงานข่าวของ BBC Thai อ่านได้ที่นี่

ปัจจัยที่ทำให้ประเทศต่างๆ เปิดเผยระยะระบาดของโควิดห่างไกลหรือใกล้เคียงความเป็นจริง ตลอดจนเปิดเผยข้อมูลอื่นๆ อย่างโปร่งใสหรือไม่นั้นแตกต่างกันไป การมีสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเข้มแข็งเป็นหนึ่งในปัจจัยนั้น จากบทความของวิคเตอร์ (หลิน) ฝู่ ใน The Diplomat อ่านได้ ที่นี่ ชี้ให้เห็นถึงพลังของความโปร่งใสและระเบียบ (order) ของระบอบประชาธิปไตยว่าส่งผลดีต่อสถานการณ์อย่างไร โดยยกตัวอย่างไต้หวันซึ่งจัดตั้งศูนย์บัญชาการกลางป้องกันโรคระบาด (Central Epidemic Command Center : CECC) เพื่อคอยอัพเดตข้อมูลและนโยบายในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส และไขข้อสงสัยเกี่ยวกับข่าวลือที่ถูกส่งต่อกันบนโลกออนไลน์ ส่วนภาคประชาสังคมเองมีส่วนสำคัญคอยช่วยกระจายและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลอีกทอด ทำให้รัฐสามารถติดตามผู้มีเชื้อและกักตัวได้เร็ว

ในฟากของเกาหลีใต้ แม้จะเป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องเผชิญปัญหาเรื่องการระบาดอย่างรุนแรงในช่วงแรก แต่ด้วยความโปร่งใสในการแบ่งปันข้อมูลระหว่างรัฐและภาคประชาชน รวมไปถึงนโยบายการทำจุดตรวจไวรัสฟรีแบบไดรฟ์ทรูที่ไม่ว่าใครก็สามารถแวะเข้าไปได้เพราะใช้เวลาเพียงแค่ 10 นาทีเท่านั้น ทำให้จำนวนผู้ป่วยในขณะนี้ชลอตัวอย่างรวดเร็ว

ฝู่ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐที่มุ่งรักษาเสถียรภาพและความมั่นคง เมื่อมีเหตุการณ์ไม่สงบหรือมีการต่อต้านใดๆ เกิดขึ้น เครื่องมืออย่างแรกที่จะถูกนำมาใช้คือการสอดแนมและปิดปากผู้ที่เห็นต่าง ทำให้เมื่อเจอปัญหาที่รัฐจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลจากทางภาคประชาชน รัฐจึงไม่สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่สังคมซึ่งยืนอยู่บนหลักการเรื่อง “ความโปร่งใส” และ “ความเปิดกว้าง” ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นที่จะช่วยดูแลสุขภาวะของตัวเองได้

น่าสนใจว่าประเทศไทยกำลังเดินหน้าต่อไปในแนวทางใด ผ่านการจัดตั้งคณะทำงาน “ศอฉ.โควิด-19” ซึ่งคณาจารย์แพทย์จากหลายมหาวิทยาลัยทั่วไทยได้รับมอบหมายให้ทำงานประสานกับฝ่ายมั่นคงอย่างใกล้ชิด โดยวันแรกทีมแพทย์ได้ปล่อยข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อออกมามาก จนจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยก้าวกระโดด ซึ่งเป็นสัญญาณความโปร่งใสที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามกฎหมายและมาตรการต่างๆ ที่ทยอยประกาศใช้หลังการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กลับบ่งบอกถึงแนวโน้มการควบคุมข้อมูลข่าวสารซึ่งมีทีท่าว่าจะรัดล้อมและรวมศูนย์มากขึ้น

ศูนย์ ศอฉ.โควิด-19 ไม่อาจปิดทิศทางของข้อมูลข่าวสารได้

นับตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 มีบุคลากรในภาคบริการ สาธารณสุข สื่อ และประชาชนในโลกออนไลน์จำนวนมากถูกภาครัฐข่มขู่และดำเนินคดีด้วยเหตุผลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลประเด็นการควบคุมโรคระบาด เรียกร้องและตั้งคำถามว่าทางภาครัฐกำลังพยายามปกปิดข้อมูลอยู่หรือไม่ รวมถึงการรายงานว่ามีการเก็งกำไรจากการขายหน้ากากอนามัย บุคลากรที่ทำงานในภาคสาธารณสุขบางรายถึงกับถูกข่มขู่ว่าจะมีการลงโทษทางวินัยจากการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐซึ่งปล่อยให้โรงพยาบาลมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน บางรายร้ายแรงถึงขั้นยกเลิกสัญญาจ้างหรือแม้แต่ยึดใบประกอบวิชาชีพ และเมื่อ 24 มีนาคม 2563 ศิลปินกราฟิตี้ผู้โพสต์ข้อความว่าตนไม่ได้รับการตรวจคัดกรองโรคที่สนามบินสุวรรณภูมิหลังเดินทางกลับจากประเทศสเปนได้ถูกแจ้งจับข้อหา “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการน่าจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ทว่าล่าสุดหลังการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อ 27 มีนาคม 2563 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิด เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้เสนอต่อที่ประชุมในประเด็นข้อกฎหมายเพิ่มเติม 3 ข้อ หนึ่งในนั้นคือ “สามารถดำเนินคดีผู้นำเข้าข้อมูลเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ กรณีโรคโควิด-19 ได้ทุกกรณี โดยไม่ต้องพิสูจน์ว่าก่อให้เกิดความปั่นป่วน ก่อให้เกิดความไม่สงบหรือไม่”  ซึ่งเป็นข้อยกเว้นเพิ่มเติมจากกฎหมายในสถานการณ์ปกติ  จุดประเด็นคำถามในสังคมว่าเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่อย่างกว้างขวางเกินสมควรกว่าเหตุ และตีตราว่าผู้ต้องสงสัยทำผิดไปแล้ว ซึ่งผิดหลัก “บริสุทธิ์จนกว่าจะผิด” ตามมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือไม่

โดยเฉพาะหากเปรียบเทียบกับประเทศที่แก้ปัญหาโควิดได้ผล จะพบว่าประเทศเหล่านี้มักร่วมมือกับประชาชนอย่างเคารพสิทธิมนุษยชน ตระหนักว่าจะต้องพบปริมาณข้อมูลมหาศาลเกินกว่ารัฐจะจัดการลำพังไหว และคำนึงธรรมชาติของผู้คนยุคออนไลน์มากกว่า เช่นใช้วิธีให้ประชาชนช่วยส่งและตรวจสอบข่าวปลอมร่วมกับรัฐ ขณะวิธีที่ ศูนย์ ศอฉ.โควิด-19 เลือกขณะนี้รัฐจะต้องเข้าจัดการกับข้อมูล (ที่มีมหาศาลทั้งด้วยความตั้งใจและรู้เท่าไม่ถึงการณ์) อย่างเบ็ดเสร็จ แล้วรอให้ประชาชนเผยแพร่ข่าวต่อจากรัฐที่เดียวนั้น ขัดต่อทั้งกับธรรมชาติของผู้คนยุคออนไลน์ มีโอกาสที่รัฐไม่อาจทำได้ทั่วถึง และขั้นตอนการดำเนินคดีภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังรวบรัดขั้นตอนปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องสงสัยหลายประการ

นอกจากนี้วิธีดังกล่าวยังมีโอกาสสูงที่จะไม่ได้ผล และเกิดความปั่นป่วนในทิศทางข้อมูลข่าวสารมากขึ้น ดร.นคร เสรีรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิรับรู้ข้อมูล มองทิศทางของข้อมูลข่าวสารภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจผลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า ในประเทศที่ข้อมูลมีการไหลเวียนโดยเสรี รัฐจัดการข้อมูลข่าวสารอย่างเปิดเผยโปร่งใส ประชาชนมีส่วนร่วมและสามารถเข้าถึงข้อมูลของรัฐอย่างเต็มที่ ประชาชนจะมีความเชื่อถือในข้อมูลข่าวสารจากรัฐ มีความเชื่อมั่นในรัฐและให้ความร่วมมือปฏิบัติตนตามที่รัฐเรียกร้อง จนส่งผลให้การแก้ปัญหาวิกฤตต่างๆ ได้ผลดีไปด้วย

ในทางกลับกันหากประชาชนมองไม่เห็นความโปร่งใสและความจริงใจในการเปิดเผยข้อมูลของรัฐ เมื่อไม่เชื่อข้อมูลของรัฐประชาชนจะแสวงหาข้อมูล เผยแพร่ ส่งต่อ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันเอง ไม่ว่าโดยเปิดเผยหรือโดยทางลับ ซึ่งช่องทางการติดต่อสื่อสารในปัจจุบันมีอยู่มากมาย ทำให้แม้จะออกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มารอควบคุมไว้ยังยากจะหยุดยั้งการติดต่อสื่อสารเช่นนี้ได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีโอกาสเป็นได้ทั้งข้อมูลจริงและเท็จ หรือเป็นข่าวปลอมซึ่งส่งผลเสียต่อสาธารณะ

“แต่ในอีกทางหนึ่งถ้าฝ่ายประชาชน โดยองค์กรภาคประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง แล้วนำมาสื่อสารให้สาธารณะเข้าใจ อาจทำได้ดีกว่าการสื่อสารของภาครัฐที่ตอนนี้เห็นความไร้ประสิทธิภาพเต็มไปหมด เช่นโฆษกรัฐบาลแถลงขอโทษกระทรวงสาธารณสุขที่ออกข่าวตัดหน้า ศูนย์ข่าวทำเนียบกับโฆษก กทม. ออกข่าวไม่ตรงกันเรื่องปิดกรุงเทพฯ กระทรวงมหาดไทยออกประกาศทำให้คนสับสนเรื่องระดับของโรคระบาด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บอกว่าข่าวจากกระทรวงมหาดไทยเป็นข้อมูลเท็จ ฯลฯ ถ้าฝ่ายประชาชนมีแหล่งข้อมูลถูกต้อง เชื่อถือได้ ฟังแล้วเข้าใจ จะช่วยรัฐบาลได้อีกทางหนึ่ง แต่ถ้ารัฐยืนยันจะปิดกั้นทั้งหมด ให้ฟังรัฐฝ่ายเดียว ขณะเดียวกันข้อมูลของรัฐไม่ได้รับความเชื่อถือศรัทธาจากประชาชน ตรงนี้จะอันตรายมาก

“ข่าวสารที่มีคนเรียกร้องให้รัฐจัดการปัญหาการกักตุนหน้ากากอนามัย การชี้เบาะแสพฤติการณ์น่าสงสัยเกี่ยวกับรัฐมนตรี การขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นเรื่องที่รัฐรับสารแล้วควรตรวจสอบเพื่อปรับปรุงแก้ไขการทำงาน แต่ถ้ารัฐอ้างสถานการณ์ฉุกเฉินออกคำสั่งเพื่อไม่ให้ประชาชนสื่อสารเรื่องเหล่านี้ จะยิ่งอันตรายและประชาชนจะยิ่งหมดความเชื่อถือรัฐมากขึ้น” ดร.นครกล่าว

ปรากฏการณ์แห่กักตุนหน้ากากอนามัยและอาหารในวันที่รัฐออกมาบอกว่าไม่ต้องกักตุน คนไข้โควิด-19 หนีออกจากโรงพยาบาลและพยายามกลับบ้าน ข่าวลือว่ารัฐจะประกาศเคอร์ฟิวหรือมีคนป่วยคนตายตามที่ต่างๆ แพร่สะพัด คนแห่ถอนเงินออกจากธนาคารเพราะกลัวธนาคารล้ม หรือกลัวไม่มีเงินสดสำรองระหว่างเคอร์ฟิว ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นผลจากประชาชนขาดความเชื่อมั่น เกรงว่ารัฐปกปิดข้อมูล หรือกำลังเลือกเปิดเผยความจริงแค่เพียงบางส่วนหรือไม่? ซึ่งจะส่งผลต่อการควบคุมการระบาดของโควิด 19 ไม่อยู่ในที่สุด

สิทธิมนุษยชนช่วยป้องกันการผูกขาดทิศทางข่าวและไม่ให้โรคระบาดรุนแรงได้อย่างไร

การเคารพสิทธิมนุษยชนควรอยู่ ณ ใจกลางการสื่อสารในวิกฤตการณ์ครั้งนี้ จากข้อที่ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งกล่าวถึง “สิทธิในข่าวสาร” (Right to Information) ได้เน้นย้ำถึงสิทธิของประชาชนจะได้รู้ข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสาร โดยระบุว่า “ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก ทั้งนี้ สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และที่จะแสวงหา รับ และส่งข้อมูลข่าวสารและข้อคิดผ่านสื่อใดและโดยไม่คํานึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ไม่ว่าด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก” ซึ่งจากกติกาฯ ข้อนี้ได้ให้กำเนิดอนุสัญญาต่างๆ และสุดท้ายได้รับการอนุวัติการมาเป็นกฎหมายไทยหลายมาตรา

แม้สิทธิในข่าวสารอาจถูกจำกัดได้ด้วยสถานการณ์ไม่กี่สถานการณ์เท่านั้น รวมทั้งสถานการณ์ด้านความมั่นคงของประเทศและสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ทว่าการจำกัดนั้นมิได้เปิดโอกาสให้รัฐใช้อำนาจควบคุมข้อมูลข่าวสารและสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างไร้ขอบเขตหรือตามอำเภอใจ แต่จะต้องถูกกำกับด้วยหลักสิทธิมนุษยชนอย่างใกล้ชิด

ศิริกาญจน์ เจริญศิริ นักกฎหมายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่าแม้รัฐจะออกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ประชาชนยังคงมีสิทธิมนุษยชนอยู่ ขณะเดียวกันพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องถูกกลไกสิทธิมนุษยชนกำกับ ด้วยการมีกรอบระยะเวลาชั่วคราว ออกมาตรการในการควบคุมสถานการณ์ที่อาจกระทบต่อการจำกัดสิทธิประชาชนได้เท่าที่จำเป็นอย่างเคร่งครัด ได้สัดส่วนเหมาะสมกับภัยคุกคามที่เป็นอยู่ และต้องมีการทบทวนว่ามาตรการนั้นๆ บรรลุเป้าหมายหรือไม่ ต้องมีกลไกที่ตรวจสอบ เยียวยาการใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ และต้องยึดหลักการสิทธิมนุษยชนไว้ใจกลาง เพื่อให้การจัดการโรคระบาดไม่เป็นการจำกัดหรือละเมิดสิทธิด้านอื่นจนเกินจำเป็น

“กรณีภาวะฉุกเฉินจากโรคระบาด เกี่ยวข้องกับสิทธิในสุขภาพ (Right to Health) ด้วย ซึ่งประชาชนต้องเข้าถึง รับรู้ และแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดอย่างทันท่วงที ซึ่งจำเป็นต่อการรักษาสุขภาพตัวเองและเพื่อป้องกันและยับยั้งโรคระบาด หากเกิดการควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นเกี่ยวกับโรคระบาดและวิธีการป้องกันดูแลสุขภาพของประชาชนจะยิ่งทำให้ประชาชนในสภาวะเผชิญโรคระบาดร้ายแรงนี้เกิดความไม่เชื่อมั่น ไม่เชื่อใจในมาตรการของรัฐ ยิ่งส่งผลให้การจะป้องกัน ยับยั้ง และควบคุมโรคล้มเหลว” ศิริกาญจน์กล่าว

แก้ปัญหา โควิด-19 อย่างไรให้เรารอดกันหมด

ขณะนี้ทั่วโลกต่างกล่าวตรงกันว่าสิทธิมนุษยชนควรเป็นศูนย์กลางของการป้องกัน เตรียมการ กักตัว ดูแลรักษา และแก้ไขปัญหาโควิด-19 ตั้งแต่ต้นจบ เพราะการแก้ปัญหาโควิด-19 โดยดำเนินควบคู่ไปกับการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนจะนำมาซึ่งดุลยภาพ ความโปร่งใส และประสิทธิภาพ  สิทธิมนุษยชนเป็นเครื่องมือปกป้องชีวิตของมนุษย์อยู่แล้วในภาวะปกติ และยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นในภาวะวิกฤตเช่นนี้ อย่างน้อยการไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่แท้จริงต่อประชาชน ซึ่งนับเป็นการลิดรอนสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ได้เผยให้เห็นผ่านประสบการณ์ของหลายประเทศทั้งไกลและใกล้ว่าส่งผลต่อการแก้ปัญหาโควิด-19 เช่นไร

อีกทั้งไม่ว่าการนำพ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ กลับมาใช้เกิดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ใด รัฐยังคงมีพันธกิจผูกพันในการรับประกันสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจและสังคม วัฒนธรรม ฯลฯ อย่างสอดคล้องต่อหลักของที่ว่าสิทธิเหล่านี้มีความสัมพันธ์กันทั้งหมดและไม่อาจแบ่งแยกได้ สิทธิมนุษยชนของประชาชนยังคงอยู่ และประชาชนยังมีช่องทางที่จะตรึงตรวจสอบรัฐอยู่เสมอ ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจะทยอยนำเสนอประเด็นดังกล่าวต่อไปเร็วๆ นี้

 

X