3 เม.ย. 63 พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ลงนามในประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงเรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม กล่าวโดยย่นย่อคือ ได้กำหนดการห้ามชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค ณ ที่ใดๆ ทั่วราชอาณาจักร เว้นแต่เป็นการทำกิจกรรมภายในครอบครัวที่อยู่ในเคหะสถานของตนเอง หรือกิจกรรมของทางราชการ ซึ่งมีมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลที่ปลอดภัย หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ต้องรับโทษตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นับว่าไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่รัฐจะป้องกันไม่ให้โควิด-19 แพร่กระจายในวงกว้าง ด้วยการออกมาตรการจำกัดสิทธิบางอย่างของพลเมือง เช่น สิทธิในการชุมนุมรวมตัว อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลในรายงาน Corona Virus and Civic Space ของ International Center for Not-for-Profit Law (ICNL) พบว่า การจำกัดหรือละเมิดสิทธิอันเนื่องมาจากความต้องการที่จะยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสอาจกลับกลายเป็นเครื่องมืออันชอบธรรมที่รัฐที่นำมาใช้เพื่อตอบสนองต่อความต้องการทางการเมืองในหลายกรณีเช่นกัน อาทิ
จีน: การป้องกันโรคระบาดถูกใช้เพื่อสอดแนมข้อมูลของประชาชน
หลังการระบาดของโควิด-19 จีนกำหนดให้ประชาชนทุกคนต้องติดตั้งโปรแกรมในโทรศัพท์มือถือเพื่อช่วยคาดการณ์เรื่องสุขภาพ แจ้งพิกัดสถานที่ และใช้เพื่อชี้วัดว่าเขาหรือเธอสามารถเข้าใช้พื้นที่สาธารณะได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามโปรแกรมดังกล่าวมีการแชร์ข้อมูลส่วนตัวของบุคคลต่อให้กับทางตำรวจ กลายเป็นการควบคุมจำกัดสิทธิในทางสังคมรูปแบบใหม่ที่จะยังคงอยู่ต่อไป แม้ว่าเชื้อไวรัสจะอ่อนแรงลงแล้วก็ตาม
คีร์กีซสถาน: การป้องกันโรคระบาดถูกทำให้กลายเป็นเครื่องมือเพื่อตอบสนองอคติทางเพศ
อีกกรณีคือที่เมืองบิชเคก เมืองหลวงของคีร์กีซสถาน นายกเทศมนตรีได้ยื่นเรื่องขอให้ศาลแบนการชุมนุมประท้วงของประชาชนจนถึงวันที่ 1 ก.ค. 63 ศาลจึงได้ออกคำสั่งห้ามตามนั้นโดยให้เหตุผลว่าส่วนหนึ่งก็เพื่อป้องกันการกระจายของเชื้อโควิด-19 แม้ว่าในขณะนั้นประเทศยังไม่พบกรณีของผู้ที่ป่วยจากเชื้อดังกล่าว ถึงแม้คำสั่งห้ามชุมนุมนี้จะถูกยกเลิกในภายหลัง แต่ปรากฏว่ากลุ่มผู้ชุมนุมที่ออกมาเรียกร้องเรื่องสิทธิสตรีในวันสตรีสากลกลับถูกจับ ขณะเดียวกัน ทางเมืองกลับอนุญาตให้ผู้ชายสามารถเข้าร่วมในพิธีการดั้งเดิมที่จัดเพื่อขับไล่เชื้อไวรัส
อิรัก: เสียงที่ถูกทำให้เงียบหายในภาวะโรคระบาด
ในอิรักขณะรัฐบาลกำลังเผชิญประท้วงเนื่องมาจากปัญหาเรื่องการทุจริต อัตราการว่างงาน และบริการสาธารณะที่ไม่มีคุณภาพ 26 ก.พ. 63 รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของอิรักได้ออกประกาศแบนการชุมนุมทุกรูปแบบจนถึงวันที่ 7 มี.ค. 63 โดยให้เหตุผลว่าเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัส ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับเรื่องแรงจูงใจในการออกคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากในขณะนั้นมีทั้งประเทศอิรักมีผู้ที่ป่วยด้วยโควิด-19 ที่ได้รับการยืนยันเพียงแค่รายเดียวเท่านั้น
ประเทศไทย: ภาวะดังกล่าวต้องมีจุดสิ้นสุด
จากรายงานฉบับนี้พบว่า ข้อกำหนดซึ่งอ้างการยับยั้งโควิด-19 หลายข้อ มีแนวโน้มจะกลายเป็นเครื่องมือละเมิดสิทธิเสรีภาพรูปแบบใหม่ที่จะคงอยู่ต่อไปแม้การระบาดของโควิด-19 จะจบลงแล้วก็ตาม สำหรับประเทศไทย การออกประกาศห้ามชุมนุมฯ ควรมีระยะเวลาสิ้นสุดที่เหมาะสมและชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงความเป็นจริงว่าประเทศไทยมีกลุ่มพลังทางสังคมอีกหลายกลุ่มกำลังรอใช้วิธีชุมนุมเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากการจัดการทรัพยากรที่เหลื่อมล้ำ ขบวนการนักศึกษาที่ต้องการแสดงออกถึงเสียงของตน แรงงานที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนายจ้าง กลุ่มเพศหลากหลาย ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบ เช่น ในวันสตรีสากลเมื่อ 9 มี.ค. 63 ที่ผ่านมา โรงงานบางแห่งได้ห้ามคนงานเข้าร่วมเดินขบวนและเรียกร้องสิทธิแรงงาน โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันการนำเชื้อโควิด-19 มาติดเพื่อนร่วมงาน ซึ่งหากภาวะเหล่านี้ทอดยาวเกินความจำเป็นในการควบคุมโรค ย่อมกระทบต่อการแสดงความคิดเห็นและการรวมตัวของผู้คนหลากหลายกลุ่ม
ประกาศห้ามชุมนุมฯ อันมีจุดเริ่มต้นลักลั่นและเส้นทางไปต่อชวนสับสน
นอกจากเสียงของนักต่อสู้อาจอ่อนพลังลง อีกประเด็นที่ต้องคำนึงถึงคือความไม่ชัดเจนและมาตรการเกินจำเป็นที่อาจเกิดขึ้นทั้งจาก พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ที่ออกมาก่อนหน้า และจากประกาศฯ ซึ่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดประกาศเพิ่มเมื่อ 3 เม.ย. 63 อาทิเช่น
1. ความไม่ชัดเจนของคำว่า “กิจกรรม”
สืบเนื่องจากประกาศห้ามชุมนุมฯ ฉบับ 3 เม.ย. 63 โดยผู้บัญชาการทหารสูงสุดอาศัยอำนาจตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 1) ข้อ 5 และคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 4/2563 เรื่องแต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงานหัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ข้อ 3(6) ซึ่งเมื่อย้อนกลับพิจารณา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เองยังพบว่ามีความไม่ชัดเจน เช่นจากข้อกำหนดข้อ 14 ได้ระบุว่า “การจัดกิจกรรมหรือพิธีการทางสังคมตามประเพณีนิยม เช่น พิธีมงคลสมรส พิธีเซ่นไหว้บรรบุรุษ พิธีบำเพ็ญกุศล พิธีศพ พิธีสงกรานต์หรือกิจกรรมภายในครอบครัว ตลอดจนกิจกรรมหรืองานพิธีที่ทางราชการจัดขึ้นยังคงจัดได้ตามความเหมาะสม” แต่เมื่อพิจารณากลับไปยังข้อกำหนด ข้อ 5 ซึ่ง “ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือ การมั่วสุมกัน ณ ที่ใดใด ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าว อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” ทำให้อาจมีปัญหาในกรณีของ “การทำกิจกรรม” ซึ่งไม่ได้รวมอยู่ในความหมายของการชุมนุมตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเมื่อมีประกาศฯ ฉบับลงวันที่ 3 เม.ย. 63 จากผู้บัญชาการทหารสูงสุดตามมา ซึ่งส่วนหนึ่งระบุว่า “กำหนดการห้ามชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค ณ ที่ใดๆ ทั่วราชอาณาจักร เว้นแต่เป็นการทำกิจกรรมภายในครอบครัวที่อยู่ในเคหะสถานของตนเอง หรือกิจกรรมของทางราชการซึ่งมีมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลที่ปลอดภัยฯ” ซึ่งทำให้เกิดความสับสนว่า ยังสามารถดำเนิน “กิจกรรม” ได้หรือไม่ และกิจกรรมที่ดำเนินได้หรือไม่ได้คืออะไร
2. การอาศัยอำนาจจากกฎหมายที่อาจออกมาตรการเกินจำเป็นมาแต่แรกและออกประกาศยิ่งไปกว่าการประกาศในกฎหมายเดิม
เนื่องจากประกาศฯ ฉบับ 3 เม.ย. 63 โดยผู้บัญชาการทหารสูงสุด อาศัยอำนาจตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 1) ข้อ 5 ทว่าข้อกำหนดดังกล่าว ข้อ 5 ซึ่งระบุว่า “ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือ การมั่วสุมกัน ณ ที่ใดใด ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าว อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” อาจเป็นกฎหมายที่กำหนดมาตรการเกินกว่าจำเป็นมาแต่แรก เนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจไว้อย่างกว้างขวางเพื่อให้ครอบคลุมสถานการณ์ที่เกี่ยวกับความมั่นคง แต่เมื่อนำมาใช้ในสถานการณ์การป้องกันโรคระบาดใหญ่ รัฐต้องกำหนดมาตรการเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อให้เหมาะสมกับการแก้ไขเหตุการณ์ตามประกาศเท่านั้น นอกจากนี้ข้อความในประกาศฯ ฉบับ 3 เม.ย. 63 โดยผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่ระบุว่า “หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค ณ ที่ใดๆ” อาจเป็นการออกประกาศยิ่งไปกว่าข้อ 5 ของข้อกำหนด (ฉบับที่ 1) ที่ออกตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ที่นายกรัฐมนตรีประกาศไว้แต่เดิม
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า การบังคับใช้กฎหมายพิเศษในสภาวะฉุกเฉิน รวมทั้งคำสั่งและประกาศต่างๆ ที่ตามมา ซึ่งจำกัดสิทธิมนุษยชนของประชาชน ควรใช้เพียงเท่าที่จำเป็นตามความฉุกเฉินของสถานการณ์ ในระยะเวลาที่จำกัด เท่าที่จำเป็นอย่างเคร่งครัด และได้สัดส่วน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์คือการควบคุมมิให้โรคระบาดใหญ่เท่านั้น และเป็นไปเพื่อความอยู่รอดของชาติ โดยต้องประเมินทบทวนความจำเป็นในการใช้มาตรการจำกัดสิทธิต่างๆ ให้เป็นไปเพื่อบังคับใช้ในระยะเวลาที่เป็นการชั่วคราว และต้องคำนึงว่ามีสิทธิมนุษยชนบางประการที่รัฐไม่อาจจำกัดได้แม้อยู่ในสภาวะฉุกเฉิน เช่น สิทธิในการมีชีวิต สิทธิที่จะไม่ถูกทรมาน สิทธิที่จะได้รับพิจารณาคดีที่เป็นธรรม สิทธิในการเยียวยา เป็นต้น ทั้งนี้ ตามข้อบทที่ 4 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม
อ่านเพิ่มเติม
ข้อสังเกตทางกฎหมายต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อรับมือโควิด-19