ข้อสังเกตทางกฎหมายต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อรับมือโควิด-19

ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (“พรก. ฉุกเฉินฯ”) ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ถึง 30 เมษายน 2563 นั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นถึงเหตุจำเป็นที่รัฐต้องกำหนดมาตรการเพื่อควบคุมและยับยั้งโรคระบาดให้ได้โดยเร็ว อย่างไรก็ตาม การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นนำมาซึ่งความห่วงกังวลถึงความจำเป็นและความได้สัดส่วนในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และกำหนดมาตรการตามข้อกำหนดซึ่งออกตามมาตรา 9 พระราชกำหนดการบริหารราชการณ์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 1 โดยมีข้อสังเกตในทางกฎหมายดังต่อไปนี้

ประเด็นที่ 1 การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

แม้สถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะรุนแรงขึ้นจนมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่เนื่องจากพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) มีบทบัญญัติซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจำนวนมาก ทั้งเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพสื่อ เสรีภาพในการเดินทาง สิทธิในกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่อย่างกว้างขวาง และจำกัดการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจโดยองค์กรตุลาการ

การบังคับใช้กฎหมายพิเศษในสภาวะฉุกเฉิน (State of Emergency) ซึ่งจำกัดสิทธิมนุษยชนของประชาชนควรใช้เพียงเท่าที่จำเป็นตามความฉุกเฉินของสถานการณ์ ในระยะเวลาที่จำกัด เท่าที่จำเป็นอย่างเคร่งครัดและได้สัดส่วน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์คือการควบคุมมิให้โรคระบาดใหญ่เท่านั้น และเป็นไปเพื่อความอยู่รอดของชาติ โดยต้องประเมินทบทวนความจำเป็นในการใช้มาตรการจำกัดสิทธิต่างๆ ให้เป็นไปเพื่อบังคับใช้ในระยะเวลาที่เป็นการชั่วคราว และต้องคำนึงว่ามีสิทธิมนุษยชนบางประการที่รัฐไม่อาจจำกัดได้แม้อยู่ในสภาวะฉุกเฉิน เช่น สิทธิในการมีชีวิต สิทธิที่จะไม่ถูกทรมาน สิทธิที่จะได้รับพิจารณาคดีที่เป็นธรรม สิทธิในการเยียวยา เป็นต้น  ทั้งนี้ ตามข้อบทที่ 4 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม

นอกจากนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรเป็นผลให้ประกาศดังกล่าวซ้อนทับกับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา และจังหวัดปัตตานี ทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินสองฉบับบังคับใช้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งก่อให้เกิดผลประหลาดในทางกฎหมาย ทั้งนี้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงนั้นมีการประกาศมาตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2548 และขยายระยะเวลาการประกาศจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 14 ปี จนอาจเรียกได้ว่าเป็นมาตรการทั่วไปไม่ใช่มาตรการพิเศษในสภาวะฉุกเฉิน โดยที่มีเพียงฝ่ายบริหารเท่านั้นที่ทำหน้าที่ทบทวนความจำเป็นในการประกาศใช้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า ในอนาคตควรแก้ไข พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อเปิดโอกาสให้สภาผู้แทนราษฎรเข้ามาตรวจสอบถ่วงดุลมาตรการ และความจำเป็นในการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองเสรีภาพของประชาชน

ประเด็นที่ 2 มาตรการตามข้อกำหนดมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจในการออกข้อกำหนดตาม มาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อแก้ไขสถานการณ์หรือเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุร้ายแรงมากขึ้น ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกข้อกำหนดตามมาตรา 9 พระราชกำหนดการบริหารราชการณ์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 1

ข้อกำหนดดังกล่าวอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมาตรา 11 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ทำให้มีลักษณะทั้งเป็นข้อห้าม คือ ห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค ปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร ห้ามกักตุนสินค้า ห้ามชุมนุม และการเสนอข่าว ซึ่งมีบทกำหนดโทษ และข้อแนะนำที่มีลักษณะเป็นทั้งทางปฏิบัติและทางนโยบาย ซึ่งแม้จะเป็นความสะดวกที่รวบรวมมาตรการต่างๆ ไว้ในคราวเดียว แต่อาจก่อให้เกิดความสับสนทั้งแหล่งที่มาของอำนาจและการบังคับใช้

นอกจากนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าหลายมาตรการซึ่งกำหนดมานั้น สามารถบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

2.1 มาตรการห้ามเข้าและปิดพื้นที่เสี่ยงต่อการติดโรค ตามข้อ 1 และข้อ 2 ของข้อกำหนด ซึ่งห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่หรือสถานที่ที่มีความเสี่ยงติดต่อโรค ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า มาตรการดังกล่าวนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจตามมาตรา 35 และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 52 พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 อยู่แล้ว การกำหนดให้มีโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก อาจทำให้ประชาชนต้องรับโทษจำคุกที่สูงขึ้นกว่าเดิมโดยไม่จำเป็น

2.2 มาตรการปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร ตามข้อ 3 (6) ของข้อกำหนด ซึ่งกำหนดให้บุคคลที่มีสัญชาติไทยต้องมีหนังสือรับรองจากสถานทูตหรือสถานกงสุลไทย และใบรับรองแพทย์ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทางทางอากาศ (Fit to Fly Health Certificate) นั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า มาตรการดังกล่าวขัดต่อหลักความจำเป็น เนื่องจากไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการป้องกันโรคโควิด-19 เพราะไม่ได้เป็นการยืนยันว่าบุคคลนั้นไม่มีเชื้อโควิด-19 อีกทั้งยังเป็นมาตรการที่สร้างภาระเกินสมควรแก่บุคคลที่มีสัญชาติไทยในการแสวงหาใบรับรองแพทย์ขณะที่ยังไม่มีอาการเจ็บป่วย และเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิเด็ดขาดตามมาตรา 39 รัฐธรรมนูญ ซึ่งรับรองให้บุคคลผู้มีสัญชาติไทยสามารถเข้ามาในราชอาณาจักรได้ การกำหนดให้บุคคลผู้มีสัญชาติไทยกักตัวเมื่อเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามข้อ 11 นั้น น่าจะเพียงพอในการป้องกันโรคระบาดได้แล้ว

2.3 มาตรการห้ามกักตุนสินค้า ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า มาตรการดังกล่าวไม่อยู่ในขอบเขตของมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งให้อำนาจนายกรัฐมนตรีไว้เพียงการห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถาน ห้ามชุมนุม ห้ามเสนอข่าว ห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะ ห้ามใช้อาคารและให้อพยพประชาชน แต่ไม่ได้ให้อำนาจห้ามการกักตุนสินค้าไว้

อย่างไรก็ตาม มาตรการห้ามกักตุนสินค้านั้นสามารถดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ.2497 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้อยู่แล้ว โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หากจำเป็นต้องกำหนดมาตรการต่างๆ ไว้ร่วมกัน นายกรัฐมนตรีสามารถใช้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ไม่ใช่อาศัยอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามมาตรา 9 ในการออกข้อกำหนดและกำหนดโทษตามมาตรา 18 ซึ่งการกำหนดโทษไว้ในข้อ 4 ประกอบกับข้อ 15 ในข้อกำหนดนั้น อาจส่งผลถึงความชอบด้วยกฎหมายได้

2.4 มาตรการห้ามชุมนุม และการจัดกิจกรรม  ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า ข้อกำหนด ข้อ 5 ซึ่ง “ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือ การมั่วสุมกัน ณ ที่ใดใด ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าว อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” นั้นอาจมีปัญหาในกรณีของ “การทำกิจกรรม” ซึ่งไม่ได้รวมอยู่ในความหมายของการชุมนุมตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกทั้งข้อกำหนดข้อ 14 ยังกำหนดคำแนะนำในการจัดกิจกรรมหรือพิธีการทางสังคมตามประเพณี กิจกรรมและงานพิธีของทางราชการให้ยังจัดได้ตามมาตรการป้องกันโรค ซึ่งทำให้เกิดความสับสนว่าสามารถดำเนินกิจกรรมได้หรือไม่ เนื่องจากข้อกำหนดในข้อ 5 นั้นกำหนดเป็นบทบัญญัติทางกฎหมาย แต่ข้อกำหนดในข้อ 14 นั้น มีลักษณะเป็นข้อยกเว้นแต่กำหนดเป็นคำแนะนำ

นอกจากนี้ การรวมถึง “การกระทำดังกล่าว อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” อาจเป็นการอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำหนดมาตรการที่เกินกว่าจำเป็นเพื่อป้องกันโรคระบาด  เนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้นให้อำนาจไว้อย่างกว้างขวางเพื่อให้ครอบคลุมสถานการณ์ที่เกี่ยวกับความมั่นคง แต่เมื่อนำมาใช้ในสถานการณ์การป้องกันโรคระบาดใหญ่นี้ รัฐต้องกำหนดเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อให้เหมาะสมกับการแก้ไขเหตุการณ์ตามประกาศเท่านั้น

2.5 มาตรการเสนอข่าว ข้อกำหนด ข้อ 6 “ห้ามการเสนอข่าวหรือทำให้แพร่หลายทางสื่อต่างๆ ซึ่งมีข้อความหรือข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) อันไม่เป็นความจริงและอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารดังกล่าวอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในกรณีเช่นนี้ให้เจ้าหน้าที่เตือนให้ระงับหรือสั่งให้แก้ไขข่าว หรือหากเป็นกรณีที่มีผลกระทบรุนแรงให้ดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548”

ในขณะที่ตลอดระยะเวลา 2 เดือนกว่าที่ผ่านมาอาจมีความผิดพลาดในการสื่อสารทั้งจากฝั่งรัฐและประชาชน แต่กลับมีการพยายามควบคุมข่าวสารบางกรณี อาทิเช่น การออกมาแจ้งข่าวติดเชื้อโควิดของแมทธิว ดีน และการดำเนินคดีพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กับดนัย ศิลปินกราฟฟิตี้ ซึ่งโพสต์เล่าถึงมาตรการที่เขาเจอ เมื่อเดินทางกลับมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น เป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจทั้งในแง่การรับรู้ข้อมูล การสื่อสารถึงสถานการณ์ที่พบ ข้อวิจารณ์และข้อเสนอที่อยากให้รัฐช่วยแก้ไขปัญหา ซึ่งพบว่าหลายกรณีที่ประชาชนสื่อสารออกมาทำให้เท่าทันสถานการณ์ อันเป็นประโยชน์ในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน แต่ข้อกำหนดในข้อ 6 กลับออกมาเพื่อควบคุมข่าวสาร

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีความห่วงกังวลว่า มาตรการเสนอข่าวตามข้อกำหนด รวมถึงถ้อยคำ “อันไม่เป็นความจริง” นั้น อาจถูกตีความอย่างกว้างขวางโดยเจ้าหน้าที่รัฐ รวมไปถึงกรณีที่ไม่ทราบข้อเท็จจริงชัดเจน ความเข้าใจผิด หรือกรณีอื่นๆ  และการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ใน “กรณีที่มีผลกระทบรุนแรง” นั้นก็ไม่อาจคาดหมายได้ว่ากรณีใดบ้างที่รุนแรงหรือไม่รุนแรง ข้อกำหนดดังกล่าวจึงอาจทำให้เกิดความหวาดกลัว ส่งผลเป็นการปิดกั้นการเข้าถึง รับรู้ และแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดที่ทันท่วงที ซึ่งจำเป็นต่อการรักษาสุขภาพตัวเองและเพื่อป้องกันและยับยั้งโรคระบาด อันจะส่งผลเสียหายต่อประชาชนมากกว่าการป้องกันการแพร่กระจายของโรคระบาดใหญ่

2.6 มาตรการดูแลความสงบเรียบร้อย ข้อกำหนด ข้อ 10 กำหนดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดเวรยามหรือตั้งจุดตรวจตามถนน เส้นทางคมนาคม สถานีขนส่งหรือโดยสาร ในกรุงเทพมหานคร และให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาตามความเหมาะสมในจังหวัดอื่นนอกกรุงเทพมหานคร โดยอาจขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร เจ้าหน้าที่ กอ.รมน. หรืออาสาสมัครเพื่อปฏิบัติการร่วมกันก็ได้ และหากพบเห็นการกระทำดังกล่าวให้ดำเนินคดีตามกฎหมายทันที  โดยคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2563 ได้กำหนดให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า มาตรการดูแลความสงบเรียบร้อยนั้นเป็นกิจการภายในประเทศ และเป็นกิจกรรมของพลเรือน ดังนั้น ผู้รับผิดชอบมาตรการดังกล่าวควรเป็นบทบาทของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหลัก และหากกำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ จึงขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ทหาร หรืออาสาสมัครในฐานะผู้ช่วยเจ้าพนักงาน

ส่วนกรณีการดำเนินคดีเมื่อพบการกระทำความผิดนั้น เจ้าหน้าที่ควรคำถึงการป้องกันการติดต่อโรคและระยะเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้ มีข้อสังเกตจากการดำเนินคดีพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กับดนัย ศิลปินกราฟฟิตี้ ซึ่งโพสต์เล่าถึงมาตรการที่เขาเจอเมื่อเดินทางกลับมาถึงสนามบินนั้น เจ้าหน้าที่เข้าไปควบคุมตัวในขณะที่ดนัยอยู่ระหว่างการกักตัว 14 วัน ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม บุคคลที่เกี่ยวข้องระหว่างเดินทางจากต่างจังหวัดมากรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ทนายความ เจ้าหน้าที่ศาล ผู้ต้องขัง ผู้พิพากษา ล้วนมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้หากดนัยมีเชื้ออยู่ก่อน ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อบุคคลทั่วไป และบุคลากรในกระบวนยุติธรรมได้

2.7 มาตรการป้องกันโรค ตามข้อกำหนดในข้อ 11 กำหนดมาตรการในการทำความสะอาด สวมหน้ากากอนามัย ฆ่าเชื้อ เว้นระยะห่าง ควบคุมจำนวนคน และลดเวลาในการสัมผัส โดย “เจ้าหน้าที่” อาจเพิ่มมาตรการติดตามตัวทางโทรศัพท์และกักตัวอย่างน้อย 14 วัน ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อมาใช้แก่ “บุคคลบางประเภท” หรือ “บางคน” ได้ตามความจำเป็น

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า “เจ้าหน้าที่” “บุคคลบางประเภท” หรือ “บางคน” นั้นไม่มีกำหนดนิยามไว้ว่าเป็นบุคคลใดบ้าง ซึ่งอาจทำให้ตีความได้อย่างกว้างขวาง เนื่องจากการติดตามบุคคลและการกักตัวเป็นการจำกัดสิทธิในความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการเดินทางอย่างรุนแรง จึงควรระมัดระวังการใช้มาตรการดังกล่าวให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันโรคเท่านั้น

ประเด็นที่ 3 บทกำหนดโทษกรณีฝ่าฝืนข้อกำหนด

ข้อกำหนด ข้อ 15 กำหนดให้ผู้ฝ่าฝืนมาตรการห้ามเข้า มาตรการปิดพื้นที่เสี่ยงต่อการติดโรค มาตรการปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร มาตรการห้ามกักตุนสินค้า มาตรการห้ามชุมนุม มาตรการเสนอข่าว ต้องรับโทษตามมาตรา 18 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงอาจมีความผิดตามพระราชบัญญัติอื่นที่เกี่ยวข้อง ส่วนมาตรการอื่นๆ นั้นไม่มีโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่อาจเป็นความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้เช่นกัน

ตามที่กล่าวมาข้างต้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า มาตรการบางอย่างนั้นไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงไม่สามารถกำหนดโทษตามมาตรา 18 ได้  นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่าบางมาตรการ อาทิเช่น มาตรการพึงปฏิบัติสำหรับบุคคลบางประเภท มาตรการป้องกันโรค มีลักษณะเป็นคำแนะนำและคำสั่งไปด้วย โดยไม่มีการกำหนดโทษและไม่มีอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำหนดไว้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสับสนหรือมีปัญหาได้ในภายหลัง

ประเด็นที่ 4 พนักงานเจ้าหน้าที่ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี 4/2563 และความรับผิดของเจ้าหน้าที่

คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2563 เรื่องแต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงานหัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้กำหนดให้ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการทหาร และข้าราชการพลเรือน ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่หรือได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในเขตท้องที่ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยประกาศนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ได้โอนอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีให้นายกรัฐมนตรีรวม 40 พระราชบัญญัติ

ทั้งนี้ มาตรา 16 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังได้ยกเว้นข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง และมาตรา 17 กำหนดให้ พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า เมื่อพิจารณาในแง่พื้นที่ซึ่งประกาศใช้ทั่วราชอาณาจักร อำนาจหน้าที่ และจำนวนข้าราชการที่มีอำนาจเกี่ยวข้องกับกฎหมาย 40 ฉบับมีจำนวนมาก ในขณะที่การตรวจสอบถ่วงดุลของกฎ คำสั่ง และการกระทำของเจ้าหน้าที่เหล่านั้นเป็นไปอย่างจำกัด กล่าวคือ ไม่สามารถฟ้องคดียังศาลปกครองได้ และเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดจากกระทำตามเงื่อนไขในมาตรา 17 การบังคับใช้กฎหมายในสถานการณ์ดังกล่าวยิ่งต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง เท่าที่จำเป็น ภายในระยะเวลาจำกัด เพื่อให้ไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินสมควร และยังสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ในเวลาอันรวดเร็ว

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าใจถึงข้อท้าทายและสถานการณ์ที่ซับซ้อนในการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญ อีกทั้งเห็นว่าการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนเรื่องการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 มิให้เกิดการแพร่กระจายเป็นวงกว้าง การใช้อำนาจที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ฉุกเฉินต่อสุขภาพอนามัยประชาชนดังกล่าวจึงควรเป็นมาตรการที่ชั่วคราวและตรงตามวัตถุประสงค์ในการควบคุมโรคระบาด มินำไปดำเนินการด้วยวัตถุประสงค์อื่นๆ มิปล่อยให้เกิดการใช้อำนาจตามอำเภอใจจากมาตรการจำกัดสิทธิที่เกิดขึ้น อันจะยิ่งส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ที่ดำเนินอยู่ และทำให้การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเนิ่นนานออกไป ทั้งนี้ เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิในสุขภาพและอนามัยที่ดี ธำรงต่อไปพร้อมกับหลักประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน

X