ส่องการผลักดันโครงการรัฐที่กระทบประชาชน ภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ปิดกั้นการมีส่วนร่วม

หลังมีการประกาศขยายระยะเวลาการบังคับใช้พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2558 ออกไปถึง 2 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 63 เป็นต้นมา จนล่าสุดถึงวันที่ 30 มิ.ย. 63 ทั้งที่แนวโน้มของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ประกอบกับอำนาจตามกฎหมายปกติก็เพียงพอที่จะสร้างความเข้าใจและความร่วมมือจากประชาชนที่ได้ตระหนักถึงการป้องกันโรคระบาดที่เกิดขึ้น รัฐบาลกลับยังเลือกที่จะใช้กฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จในการออกคำสั่งควบคุมและบังคับใช้โดยมีโทษร้ายแรงอีกด้วย ทั้งคำสั่งที่ออกโดยอาศัยกฎหมายพิเศษนี้ยังมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไปพร้อมกันอีกด้วย

>> 5 เหตุผล “ไม่ควร” ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกต่อไป

>> ก่อนการต่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ รอบ 2 ที่ไม่ฉุกเฉิน-ไม่ยึดโยงประชาชน: ข้อสังเกตทางกฎหมายฯ

นอกจากนี้อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์การใช้กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน คือกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐในหลายพื้นที่ยังคงดำเนินโครงการหรือผลักดันนโยบายอันส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชนในพื้นที่ต่างๆ  แม้ประชาชนในบางพื้นที่ได้แสดงออกถึงการคัดค้านและเรียกร้องให้ยุติการดำเนินโครงการเอาไว้ก่อนในสถานการณ์ที่การมีส่วนร่วมของชุมชนยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นปกติ  ชณะเดียวกันหากประชาชนจะรวมตัวกันแสดงออก ก็มีแนวโน้มจะถูกเจ้าหน้าที่รัฐกล่าวอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และคำสั่งห้ามการชุมนุมหรือมั่วสุมในการที่จะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เพื่อควบคุมการรวมตัวที่เกิดขึ้นเพียงด้านเดียว โดยที่การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐในกรณีต่างๆ ก็อาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ไม่แตกต่างกัน

เท่าที่มีรายงานข่าว เราพบตัวอย่างการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งอาศัยสถานการณ์พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาผลักดันและดำเนินการโครงการต่างๆ ดังต่อไปนี้

 (ภาพเหตุการณ์เข้ารื้อตลาดคลองเตยในคืนวันที่ 3 พ.ค. 63 จากเว็บไซต์ประชาไท)

เข้ารื้อถอนตลาดริมคลองหัวลำโพง หรือ ตลาดลาวคลองเตย ในช่วงเวลาเคอร์ฟิว

3 พ.ค. 63 เวลาประมาณ 21.00 น. มีรายงานว่าพ่อค้าแม่ค้าบริเวณตลาดริมคลองหัวลำโพงได้รวมตัวกัน หลังมีข่าวเจ้าหน้าที่เทศกิจจะเข้ารื้อตลาดเผื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และผิวจราจร โดยมีการนำกำลังเจ้าหน้าที่และรถผู้รับเหมาเข้ามาเตรียมรื้อถอน ทั้งยังไม่มีการแจ้งและการ​เจรจากับผู้ค้า​ ทำให้เกิดการรวมตัวของพ่อค้าแม่ค้าเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อปฏิบัติการดังกล่าว แม้จะเป็นช่วงเริ่มการเคอร์ฟิวแล้วก็ตาม ก่อนที่ต่อมาเจ้าหน้าที่เทศกิจและรถผู้รับเหมาจะยินยอมเดินทางกลับไปในเวลาประมาณ 23.00 น.

จากเหตุการณ์ดังกล่าว สกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่าทางเขตคลองเตยจำเป็นต้องเข้ารื้อถอน เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้กับผู้รับเหมาในการปรับปรุงทางเท้าที่มีการเซ็นสัญญากันไปแล้ว และจะต้องแล้วเสร็จภายใน 150 วัน โดยเห็นว่าช่วงเวลาเคอร์ฟิวเหมาะสมแล้ว เพราะผู้รับเหมาสามารถขอใบอนุญาตการทำงานจากทาง กทม. ได้

 

ตำรวจเข้าข่มขู่สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด หลังอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ ล็อคดาวน์เหมืองแร่

28 เม.ย. 63 เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มประชาชนที่คัดค้านการทำเหมืองแร่ในหลายพื้นที่ ได้อ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอและหยุดกระบวนการพิจารณาอนุมัติ รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมในการสำรวจและการทำเหมืองแร่ของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั้งหมดเอาไว้ก่อน จนกว่าจะมีการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็นต่อโครงการเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่

ปรากฏว่าหลังการอ่านแถลงการณ์ดังกล่าว ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 7 นาย เดินทางไปพบกับสมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ถึงทุ่งนา โดยมีการบังคับให้สมาชิกคนดังกล่าวเดินทางไปยังสถานีตำรวจภูธรหัวทะเล จ.ชัยภูมิ โดยไม่มีหมายเรียกหรือการแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ ทั้งยังมีการยึดโทรศัพท์มือถือและทำการตรวจสอบคัดลอกข้อมูลจากโทรศัพท์ไปโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดคนดังกล่าวหวาดกลัวจนยอมเดินทางไปกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

สมาชิกคนดังกล่าวถูกควบคุมตัวไว้ที่สภ.หัวทะเล พร้อมกับข่มขู่ว่าหากไม่พาชาวบ้านคนอื่นมาสอบสวนด้วยจะต้องติดคุกเพียงลำพัง และมีการข่มขู่จะดำเนินคดีเรื่องการฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วย กระทั่งผ่านไป 2 ชั่วโมง สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจึงได้รับโทรศัพท์มือถือคืน และทำการติดต่อญาติและสมาชิกกลุ่มคนอื่นๆ ให้เข้ามาช่วยเหลือที่สภ.หัวทะเลได้

(ภาพชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดอ่านแถลงการณ์ จากเพจเหมืองแร่ ชัยภูมิ)

ศอ.บต. เตรียมจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จ.สงขลา ในช่วงการระบาดของโควิด-19

ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ออกหนังสือเชิญประชาชนร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นใน “โครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ” ระหว่างวันที่ 14-20 พ.ค. 63 ซึ่งโครงการดังกล่าวจะกินพื้นที่ 16,753 ไร่ ใน 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลนาทับ ตำบลสะกอม และตำบลตลิ่งชัน ในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยจะมีการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมืองเดิม เปลี่ยนจากพื้นที่เกษตรกรรมเป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรม อันจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

หากอยู่ในภาวะปกติ เวทีรับฟังความคิดเห็นนั้นเป็นโครงสร้างที่ถูกออกแบบมาเพื่อทำความเข้าใจต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับ “โครงการพัฒนา” ทั้งประชาชนในพื้นที่ ภาครัฐ เอกชน พร้อมกับการแสวงหาแนวทางที่ยอมรับร่วมกันได้ทุกฝ่าย แต่ในกรณีนี้กลับมีการเตรียมจัดเวทีขึ้นในช่วงที่มีวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีข้อจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอยู่ด้วย อีกทั้งยังเป็นช่วงเดือนรอมฎอน ที่มีการถือศีลอดของชาวมุสลิม ทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่สะดวกจะเดินทางออกมาร่วมแสดงความเห็น หรือเป็นการสร้างความลำบากเกินสมควร จึงเกิดการตั้งคำถามว่าการจัดเวทีนี้เป็นสิ่งที่ไม่สมควรจะเกิดขึ้น ทั้งหากมีการจัดเวที จะไม่เป็นการก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรืออย่างไร การวิพากษ์วิจารณ์และเสียงคัดค้านของประชาชนดังกล่าว ทำให้ทางศอ.บต.ประกาศเลื่อนการจัดเวทีในช่วงดังกล่าวออกไปในที่สุด

 

ติดประกาศห้ามชุมนุม หลังประชาชนที่คัดค้านโครงการกำแพงกันคลื่นบริเวณชายหาดม่วงงามเตรียมชุมนุมแสดงออก

อีกกรณีหนึ่งล่าสุด ได้แก่ ความขัดแย้งในโครงการสร้างกำแพงกันคลื่นหาดม่วงงาม ในพื้นที่ ต.ม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวหลายครั้ง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 63 ได้มีการเริ่มนำเสาเข็มเข้าไปเตรียมก่อสร้าง ทั้งที่ชาวบ้านเรียกร้องให้มีการทบทวนโครงการ และยื่นหนังสือร้องเรียนขอให้ยุติโครงการไปยังหน่วยงานต่างๆ ด้วย

วันที่ 24 พ.ค. 63 ชาวบ้านในพื้นที่จึงนัดหมายออกมาแสดงออกพลังคัดค้านโครงการดังกล่าวอีกครั้ง โดยมีการยื่นหนังสือแจ้งการจัดกิจกรรมไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่แล้ว ทางเจ้าหน้าตำรวจได้ตอบกลับว่าไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรม เนื่องจากยังอยู่ภายใต้การประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกอบกับเป็นการสุ่มเสี่ยงสถานการณ์โรคโควิด-19  ทั้งยังปรากฏว่าก่อนหน้าการชุมนุมของชาวบ้าน ได้มีการนำป้ายประกาศขนาดใหญ่ระบุเรื่องห้ามการชุมนุม ทำกิจกรรม การมั่วสุม จากข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาติดไว้ยังบริเวณหาดม่วงงาม ทำให้ต่อมามีชาวบ้านส่วนหนึ่งประกาศยกเลิกกิจกรรมแสดงออก แต่ยังคงมีชาวบ้านอีกบางส่วนเดินทางไปแสดงออกคัดค้านที่ชายหาดม่วงงาม โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและ กอ.รมน. นำกำลังมาเตรียมพร้อมรับมือกิจกรรมจำนวนมาก

 (ภาพประกาศห้ามชุมนุม ทำกิจกรรม มั่วสุม ที่ถูกติดบริเวณชายหาดม่วงงาม จากเพจ I Green)

ดังนั้น ในสภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ประชาชนต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อสุขภาพ ข้อจำกัดในชีวิตประจำวันและรายได้ที่ลดลง กระทั่งขาดรายได้ เป็นภาระที่ต้องแบกรับมากเกินสมควรอยู่แล้ว ทั้งยังต้องพบกับปัญหาด้านการบริหารจัดการโดยรัฐที่สร้างความสงสัยเรื่องประสิทธิภาพและความทั่วถึง ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อรัฐเลือกใช้กฎหมายที่มีความรุนแรงอย่างพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งไม่ได้ออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข และยังส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการมีส่วนร่วมหรือการแสดงความคิดเห็น

ภาวะทั้งหมดนี้ ทำให้การดำเนินนโยบายหรือโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ควรได้รับการพิจารณาให้ชะลอกระบวนการออกไป หรือกระทั่งระงับนโยบายเหล่านี้เอาไว้ก่อน จนกว่าประชาชนจะกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ และสามารถรวมกลุ่มเพื่อถกเถียงปัญหาต่างๆ หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงออกความคิดเห็นได้

 

 

การกล่าวอ้างพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขยายวงกว้างจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

นอกจากการดำเนินนโยบายขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนดังตัวอย่างข้างต้นแล้ว ยังมีปรากฎการณ์การใช้อำนาจที่เป็นการตีความขยายขอบเขตพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกมากว้างขวางเกินกว่าเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  อันก่อให้เกิดคำถามถึงความเหมาะสมและได้สัดส่วนในการบังคับใช้กฎหมายที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน อาทิเช่น

กรณีประกาศกระทรวงแรงงานห้ามนัดหยุดงาน เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 63 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องให้ข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้เข้าสู่การชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ และห้ามนายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงาน โดยอ้างถึงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ประกาศดังกล่าวก่อให้เกิดคำถามต่อกลุ่มผู้ใช้แรงงานว่าในสถานการณ์เศรษฐกิจเช่นนี้ ไม่มีใครที่อยากจะก่อให้เกิดความลำบากในการทำงานเพิ่มเติมต่อทั้งผู้ประกอบการและตัวลูกจ้างเอง แต่ก็ไม่อาจลืมไปได้ว่าการนัดหยุดงานเป็นเครื่องมือหนึ่งในการต่อรองกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ เพื่อเรียกร้องสวัสดิการหรือปัจจัยอื่นๆ ให้กับลูกจ้าง ซึ่งหากมีการบังคับไม่ให้ใช้เครื่องมือเหล่านี้แล้ว จะมีแนวทางการแก้ไขปัญหาของกลุ่มลูกจ้างได้อย่างไร เมื่อเกิดเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างในการทำงาน

อีกทั้งยังเกิดคำถามที่ว่าการนัดหยุดงานของแรงงานนั้นจะก่อให้เกิดเป็นการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 ได้อย่างไร หรือข้อกำหนดเหล่านี้จะเป็นเพียงข้ออ้างที่ถูกหยิบฉวยขึ้นมา เพื่อจำกัดสิทธิของลูกจ้างในการต่อรองกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่มีการบังคับใช้แรงงานอย่างเอารัดเอาเปรียบหรือไม่

(ภาพกิจกรรมรำลึก 10 ปี เสธ.แดง จากเฟสบุ๊กฟอร์ด เส้นทางสีแดง)

กรณีตำรวจบุกรวบคนจัดรำลึก “10 ปี เสธ.แดง ถูกยิง” ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 63 มีรายงานข่าวว่ามีการจัดกิจกรรมรำลึกวันเสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ “เสธ.แดง” บริเวณสวนลุมพินี กรุงเทพฯ โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวราว 40 คน แม้จะมีการสวมใส่หน้ากากและเว้นระยะห่างระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรม แต่ในตอนท้ายของกิจกรรมนายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมในฐานะผู้ดำเนินกิจกรรม จากข้อกล่าวหา  “ฝ่าฝืนข้อบังคับ ออกตาม พ.ร.ก.ในสถานการณ์ฉุกเฉิน จัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย”

กรณี กอ.รมน.และนายอำเภอ สอบถามกิจกรรมรำลึกครบรอบ 6 ปี “วันขนแร่ด้วยอำนาจเถื่อน” เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 63 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ใน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ที่เตรียมจัดกิจกรรมรำลึกครบรอบ 6 ปี “วันขนแร่ด้วยอำนาจเถื่อน” ได้รับการติดต่อสอบถามทางโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.จังหวัดเลย สอบถามรายละเอียดการจัดกิจกรรม พร้อมกับสั่งให้มีการบันทึกภาพกิจกรรมให้ด้วย นอกจากนั้นได้มีนายอำเภอในพื้นที่โทรศัพท์ติดต่อผู้ใหญ่บ้าน ขอให้งดการจัดกิจกรรมดังกล่าวเนื่องจากเกรงว่าการจัดงานจะเป็นการรวมตัวของชาวบ้านเป็นจำนวนมาก ด้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดยืนยันจะจัดกิจกรรมโดยมีจุดคัดกรองผู้เข้าร่วม และการอ่านแถลงการณ์โดยการเว้นระยะห่าง

 

กรณีตัวอย่างดังกล่าว สะท้อนถึงการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐในการตีความบังคับใช้กฎหมาย อย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อกล่าวอ้างเรื่องการป้องกันโรคโควิด-19 ออกไปกว้างขวางมากกว่าเพื่อการทำความเข้าใจ และควบคุมการแพร่ระบาด แต่กลับเป็นไปในแง่มุมที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเกินจำเป็น จนทำให้เกิดคำถามขึ้นได้ว่าการใช้อำนาจในลักษณะนี้ ไม่ใช่แม้แต่การใช้มาตรการควบคุมดูแลเพื่อให้ความสำคัญ “สุขภาพ” มาก่อน “เสรีภาพ” แต่กลับคือการพยายามควบคุมปิดกั้น “เสรีภาพ” เพียงอย่างเดียว โดยไม่ชัดเจนเพียงพอว่ามาตรการต่างๆ นั้นช่วยดูแล “สุขภาพ” ของประชาชนได้อย่างแท้จริงหรือไม่

 

X