เปิดคำฟ้องคดี #ม็อบ2พฤษภา จำเลย 15 คน ร่วมชุมนุมเรียกร้องสิทธิประกันตัวคดีการเมือง หน้าศาลอาญา

วานนี้ (1 ก.ค. 64) ที่ศาลอาญา รัชดาฯ นักกิจกรรม 14 ราย ซึ่งถูกดำเนินคดีจากเหตุกรณีเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่ม #REDEM ที่ด้านหน้าของศาลอาญา รัชดาฯ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 หรือ #ม็อบ2พฤษภา เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังคดีทางการเมือง ได้เข้ารายงานตัวต่อศาลตามนัด หลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นฝากขัง ก่อนทราบว่าพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ว

เดิมในคดีนี้ มีผู้ต้องหาทั้งหมด 13 รายได้แก่  1. ศุภกิจ บุญมหิทานนท์, 2. วีรภาพ วงษ์สมาน, 3. ปรณัท น้อยนงเยาว์, 4. พัชรวัฒน์ โกมลประเสริฐกุล, 5. จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์,  6. อิทธิกร ทรัพย์แฉ่ง, 7. ปรีชญา สานจิตรสัมพันธ์, 8. สุทธิตา รัตนวงศ์, 9. โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง, 10. ยงยุทธ อังนนท์, 11. ศรัณย์ อนุรักษ์ปราการ, 12. ชนกันต์ เคืองไม่หาย และ 13. ชาติชาย แกดำ 

อัยการได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาล โดยมีผู้ต้องหาอีก 2 ราย ได้แก่ รอซีกีน นิยมเดชา และหทัยรัตน์ แก้วสีคราม ซึ่งเป็นผู้ต้องหาที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมภายหลังจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 2 พ.ค. ดังกล่าว และเคยถูกดำเนินคดีแยกกัน ทำให้รวมคดีนี้มีจำเลยทั้งหมด 15 คน โดยทั้งสองรายนี้ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ในคดี ตามลำดับ

ทัั้งนี้ ผู้ถูกกล่าวหาทุกคนได้เดินทางมาศาล  ยกเว้น ศรัณย์ อนุรักษ์ปราการ ที่ไม่สามารถเดินทางมา เนื่องจากติดเกณฑ์ทหาร  ต่อมามีรายงานข่าวว่าศาลได้ให้ออกหมายจับศรัณย์ เนื่องจากเชื่อว่ามีพฤติการณ์หลบหนี

คดีนี้สืบเนื่องมาจาก กลุ่ม REDEM ได้นัดหมายชุมนุมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 เพื่อเรียกร้องให้ศาลคืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังทางการเมือง หลังศาลอาญาไม่ให้ประกันตัว 7 นักกิจกรรม ที่ถูกคุมขังจากคดีมาตรา 112 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564  โดย “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ได้อดอาหารเรียกร้องสิทธิประกันตัว และมีอาการไม่สู้ดี กลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมาที่หน้าศาลอาญา จากนั้นมีกิจกรรมปามะเขือเทศ-ไข่ ใส่ป้ายศาลอาญา เป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ 

>> 13 ผู้ชุมนุม REDEM – “สมยศ” เข้ามอบตัว เหตุร่วมชุมนุมหน้าศาลอาญา ก่อนศาลให้ประกัน แต่ต้องติด EM 30 วัน – จำกัดการเดินทาง

.

เปิดคำฟ้องอัยการระบุ จำเลยทั้ง 15 คน ร่วมชุมนุมเรียกร้องสิทธิประกันตัว เป็นเหตุให้ศาล-ผู้พิพากษา ถูกดูหมิ่นเหยียดหยามและได้รับความเสียหาย 

ตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 64 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดี 7) ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 15 คน ต่อศาลอาญา อัยการบรรยายฟ้อง โดยสรุปว่าจําเลยทั้งหมดได้บังอาจร่วมกัน และแยกกันกระทําความผิดต่อต่อหลายบทหลายกรรมต่างกัน ดังต่อไปนี้

1. ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 64 กลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองในนามกลุ่ม REDEM ประกาศผ่านทางเพจ “เยาวชนปลดแอก” หรือ Free Youth เพื่อนัดชุมนุมทํากิจกรรมเดินจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปยังศาลอาญา ในวันที่ 2 พ.ค. 64 เวลา 15.00 น.

ครั้นต่อมา ระหว่างวันที่ 2 พ.ค. 2564 ได้มีผู้ชุมนุมทางการเมืองประมาณ 300 – 350 คน ได้รวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จากนั้นจึงได้ร่วมกันเดินทางไปยังบริเวณหน้าศาลอาญา “เพื่อจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง” โดยมีการใช้เครื่องกระจายเสียงจากรถยนต์ เปิดบันทึกคําพูดโจมตีการทํางานหรือการปฏิบัติหน้าที่ของศาลอาญา เพื่อกดดันให้ศาลอนุญาตให้มีคําสั่งปล่อยตัวชั่วคราว พริษฐ์ ชีวารักษ์ กับพวกรวม 7 คน ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

จําเลยทั้ง 15 คน ได้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว อันเป็นการชุมนุม การทํากิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ สถานที่ใดๆ ที่แออัด และมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่ายในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกําหนด

จำเลยทั้ง 15 คน กับพวก ไม่ได้จํากัดทางเข้า – ออกในการเข้าร่วมกิจกรรมการรวมกลุ่ม และไม่จัดให้ผู้เข้าร่วมสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และไม่จัดให้มีการเว้นระยะนั่ง หรือยืนห่างทางสังคมระหว่างกันอย่างน้อยหนึ่งเมตร เพื่อป้องกันการติดต่อสัมผัสเชื้อโรค ไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคโควิด -19 อาทิ จุดบริการเจลแอลกอฮอลล์ เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์หรือด้านสาธารณสุขเข้าไปดูแล ไม่จัดให้มีการตรวจวัดอุณหภูมิ หรือการคัดกรองในลักษณะอาการไข้ ไอ จาม ของบุคคลผู้เข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมทางการเมือง

2. จำเลยทั้ง 15 คน กับพวก ได้ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย ใช้กําลังประทุษร้ายและกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง กล่าวคือได้ร่วมกันเคลื่อนย้ายแท่นปูน (แบริเออร์) ที่ปิดกั้นบริเวณจุดกลับรถหน้าศาลอาญาเพื่อเปิดจุดกลับรถ และผู้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองอื่น ได้เดินลงไปบนพื้นผิวจราจรบนถนนรัชดาภิเษก จนเต็มพื้นที่ผิวจราจรทั้ง 8 ช่องทางไปและสวนกลับ ตลอดจนบาทวิถีทั้งสองฝั่ง อันเป็นการร่วมกันกระทําการใด ๆ บนทางเท้า ในลักษณะเป็นการกีดขวางผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร

จําเลยทั้ง 15 กับพวก และผู้ร่วมชุมนุมทางการเมืองอื่น ได้นําภาพไวนิลภาพถ่าย นายชนาธิป เหมือนพะวงศ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และมีข้อความ ชื่อนายชนาธิป เหมือนพะวงศ์ ผู้พิพากษาฆาตกร และมีข้อความ “จงมอดไหม้ไปพร้อมกัน IF WE BURN YOU BURN WITH US” จํานวน 1 แผ่น ไปปิดไว้ที่ป้ายสํานักงานศาลยุติธรรม ศาลอาญา แล้วใช้เครื่องกระจายเสียงเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ใช้ไข่ไก่ มะเขือเทศ ของเหลว และสิ่งสกปรกอื่น ขวาง ปา สาด ใส่ ป้ายสํานักงานศาลยุติธรรม ศาลอาญา และภาพไวนิล จนเปรอะเปื้อนได้รับความเสียหาย 

พ.ต.ท.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รองผู้กำกับการปราบปราม สน.พหลโยธิน ได้ประกาศผ่านเครื่องกระจายเสียงเพื่อให้หยุดการกระทําและเลิกการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมเลิก กลับระดมขว้างปาไข่ไก่ มะเขือเทศ สาดสี และสิ่งสกปรกใส่ป้ายสํานักงานศาลยุติธรรม ศาลอาญา และภาพไวนิลดังกล่าวหนักยิ่งขึ้น เจ้าหน้าที่ตํารวจควบคุมฝูงชนจึงได้เข้าควบคุมสถานการณ์กระชับพื้นที่

จําเลยทั้ง 15 กับพวก ได้ร่วมกันขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย ด้วยการด่าทอ ตําหนิ โห่ไล่ และใช้หนังยางด้ามจับยิงลูกแก้วทรงกลม อุปกรณ์โลหะ ประทัดยักษ์ และขว้างปาประทัดยักษ์ ก้อนหิน ขวดแก้ว และของแข็งต่าง ๆ ใส่เจ้าหน้าที่ตํารวจควบคุมฝูงชน อันเป็นการกระทําให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยผู้กระทําความผิดคนใดคนหนึ่งมีอาวุธ

3. ภายหลังจากที่จําเลยทั้ง 15 กับพวกได้ร่วมกันมั่วสุมตามฟ้องข้อ 2 แล้ว พ.ต.อ.ประสพโชค เอี่ยมพินิจ ผกก.สน.พหลโยธิน ได้สั่งให้กลุ่มผู้ชุมนุม รวมถึงจำเลยทั้ง 15 ยุติการชุมนุม แต่กลุ่มผู้ชุมนุม รวมถึงจำเลยทั้ง 15 ยังคงขัดขืนไม่เลิกกระทำการดังกล่าว

4. จําเลยที่ 3 ถึงจําเลยที่ 15 กับพวกผู้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองอื่น ได้ดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี กล่าวคือ ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายพริษฐ์ หรือเพนกวิน ชิวารักษ์ ในคดีมาตรา 112 จากการปราศรัยในการชุมนุม #MobFest เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 63 และยื่นฟ้องพริษฐ์และพวกในคดีมาตรา 112 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร โดยจำเลยถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี

นอกจากนี้ยังมีผู้ต้องหามาตรา 112 ที่ยังถูกควบคุมระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวนตัวตามหมายขังของศาลอาญา ได้แก่ อานนท์ นําภา, ปติวัฒน์ หรือหมอลําแบงค์ สาหร่ายแย้ม และสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งคดีอยู่ในระหว่างพิจารณา 

ในระหว่างพิจารณา มารดาของนายพริษฐ์ ได้ยื่นคําร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ต่อศาลอาญารวม 10 ครั้ง แต่ศาลอาญามีคําสั่งยกคําร้องของปล่อยตัวชั่วคราว ทั้ง 2 คดี นอกจากนั้น อานนท์, ปฏิวัฒน์ และสมยศ ได้ยื่นคําร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีต่อศาลอาญาเช่นเดียวกันรวม 6 – 7 ครั้ง แต่ศาลอาญามีคําสั่งยกคําร้อง

อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้มอบหมายหน้าที่ให้รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา 3 นาย คือ นายชนาธิป เหมือนพะวงศ์, นายเทวัญ รอดเจริญ, นายพิศิษฐ์ วิริยะพาณิชย์ และผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีค้ามนุษย์ ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดียาเสพติด เป็นผู้พิจารณาสั่งคําร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว

ต่อมา จําเลยที่ 3 ถึงจําเลยที่ 15 และผู้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองอื่น ได้บังอาจดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี กรณีมีคําสั่งยกคําร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวดังกล่าว โดยมีผู้ใช้เครื่องขยายเสียงกระจายเสียงบริเวณหน้าศาลอาญา มีใจความที่กล่าวถึงพฤติการณ์ของนายชนาธิป เหมือนพะวงศ์

กลุ่มผู้ชุมนุมยังใช้เครื่องเสียงเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมใช้ไข่ไก่ มะเขือเทศของเหลวสีแดง และสิ่งสกปรกอื่น ขวาง ปา สาด ใส่ ป้ายสํานักงานศาลยุติธรรม ศาลอาญา และภาพที่มีข้อความชื่อนายชนาธิป เหมือนพะวงศ์ 

พฤติการณ์ดังกล่าวถือเป็นการกระทําที่ดูหมิ่น ดูถูก เหยียดหยาม ด่าทอ และลดคุณค่าของผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี ว่าศาลหรือผู้พิพากษามีคําสั่งยกคําร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยไม่ได้ใช้ดุลยพินิจของศาลโดยอิสระ หากแต่กระทําตามคําสั่ง เป็นเหตุให้ศาลหรือผู้พิพากษาผู้พิจารณาคดี นายชนาธิป เหมือนพะวงศ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง อันเป็นการดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี

5. จําเลยที่ 3 ถึงจําเลยที่ 15 และผู้ร่วมชุมนุมทางการเมืองอื่น ได้ทําการเปิดเครื่องกระจายเสียงที่ติดตั้งบนรถยนต์ แสดงความติดเห็นโจมตีการทํางาน หรือการปฏิบัติหน้าที่ของศาลหรือผู้พิพากษาศาลอาญา อันเป็นความผิด เนื่องจากใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

6. จําเลยที่ 3 ถึงจําเลยที่ 15 และผู้ร่วมชุมนุมทางการเมืองอื่นอีกประมาณ 300-350 คน ได้ร่วมกันเดินลงไปบนผิวจราจรบนถนนรัชดาภิเษกบริเวณหน้าศาลอาญาจนเต็มทั้ง 8 ช่องทางไปและสวนกลับ ตลอดจนบาทวิถีทั้งสองฝั่ง เป็นเหตุให้ผู้ใช้รถและคนเดินเท้าไม่อาจสัญจรไปมาได้ อันเป็นการกระทำในลักษณะกีดขวางผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร และร่วมกันเทมะเขือเทศลงบนถนน

7. หลังแกนนําผู้ร่วมชุมนุมทางการเมือง ได้ประกาศยุติการชุมนุม กลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองส่วนใหญ่ได้ยอมยุติการชุมนุมและเดินทางกลับ แต่มีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนประมาณ 50 คน รวมทั้งจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ด้วย ได้ร่วมกันเดินข้ามถนนไปยังฝั่งตรงกันข้ามศาลอาญา บริเวณปากซอยรัชดาภิเษก 32 และได้บังอาจร่วมกันต่อสู้ขัดขวางพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ควบคุมฝูงชน โดยใช้กําลังประทุษร้าย โดยมีหรือใช้อาวุธด้วยการใช้หนังยางด้ามจับยิงลูกแก้วทรงกลม อุปกรณ์โลหะ และขว้างปาประทัดยักษ์ก้อนหิน ขวดแก้ว และของแข็งต่างๆ ใส่เจ้าหน้าที่ตํารวจควบคุมฝูงชน

เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน 3 นาย ได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กาย อันเป็นการร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่ โดยใช้กําลังประทุษร้ายโดยได้กระทําโดยมีหรือใช้อาวุธ โดยร่วมกันกระทําความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป และร่วมกันทําร้ายร่างกายเจ้าพนักงานผู้กระทําการตามหน้าที่ 

8. ต่อมา จําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 กับพวกผู้ร่วมชุมนุมทางการเมืองอื่นอีกหลายคนได้หลบหนีเข้าไปในซอยรัชดาภิเษก 32 ในระหว่างนั้นได้ร่วมกันใช้ท่อนไม้, หิน , ขวดโซดา และขวดแก้วใส่น้ำมัน ขว้างปาใส่รถที่เจ้าหน้าที่ตํารวจที่ขับและนั่งโดยสารมาทั้ง 4 คัน ดังกล่าวจนได้รับความเสียหาย เสื่อมค่า ไร้ประโยชน์ รวมค่าเสียหายทั้งสิ้นจํานวน 4 คัน เป็นเงิน 983,200 บาท

สรุปข้อกล่าวหาที่จำเลยถูกฟ้อง 

จำเลยที่ 1 และ 2 ได้แก่  รอซีกีน และหทัยรัตน์ ถูกฟ้องทั้งหมด 6 ข้อหา ได้แก่ ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน, ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยผู้กระทำผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้ผู้มั่วสุมเลิก แล้วผู้กระทำไม่เลิก, ร่วมกันทำให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย, ร่วมกันชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ

ส่วนจำเลยที่ 3 ถึง 15 ถูกฟ้องทั้งหมด 6 ข้อหา ได้แก่ มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยผู้กระทำผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้ผู้มั่วสุมเลิก แล้วผู้กระทำไม่เลิก, ร่วมกันชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, ร่วมกันดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณา, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันกีดขวางทางเท้าฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรฯ และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ

ต่อมา หลังการสั่งฟ้อง ศาลอนุญาตให้จำเลยทั้งหมดได้รับการประกันตัว โดยใช้หลักทรัพย์เดิมในชั้นสอบสวน พร้อมนัดตรวจพยานหลักฐานต่อไป ในวันที่ 2 สิงหาคม 2564 เวลา 9.00 น.

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (พ.ค.-มิ.ย. 64) มีการดำเนินคดีดูหมิ่นศาล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 อย่างน้อย 4 คดี โดยคดีนี้นับเป็นคดีแรกที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาล และต่อมาเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 64 ได้ยื่นฟ้องอีกคดี คือ คดีชุมนุม #ม็อบ30เมษา ที่หน้าศาลอาญา

.

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง 

สถิติคดี “ละเมิดอำนาจศาล-ดูหมิ่นศาล” ปี 2564

13 ผู้ชุมนุม REDEM – “สมยศ” เข้ามอบตัว เหตุร่วมชุมนุมหน้าศาลอาญา ก่อนศาลให้ประกัน แต่ต้องติด EM 30 วัน – จำกัดการเดินท

X