ส่อง 12 ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนปี 2562 แม้ไร้ คสช.

ปี 2562 นับเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลง ที่ยังเปลี่ยนไม่ผ่านของสังคมไทย เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ครองอำนาจจากการรัฐประหารมากว่า 5 ปี 1 เดือนเศษ ได้ยุติบทบาทลง ภายใต้การเปิดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป แต่ก็ตามมาด้วยการกลับมาของนายกฯ ชื่อเดิมและหน้าเดิม พร้อมกับการสืบทอดอำนาจทางการเมืองของ คสช. ต่อมาในหลายมิติ รวมทั้งการคงอำนาจทางการเมืองของกองทัพ

ในส่วนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะด้านสิทธิทางการเมืองและสิทธิในกระบวนการยุติธรรม มีความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นในบางด้าน อาทิเช่น การโอนย้ายคดีของพลเรือนจากศาลทหารไปยังศาลพลเรือนแล้ว, ข้อห้ามเรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนถูกยกเลิกไป, รายงานการควบคุมตัวบุคคลในค่ายทหารลดน้อยลง เป็นต้น

แต่ประเด็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก ก็ยังคงดำรงอยู่สืบเนื่องต่อมา พร้อมกับนายกฯ คนเดิม  โดยเฉพาะการกล่าวหาดำเนินคดีจากการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อปิดปากและสร้างภาระทางคดี และปฏิบัติการข่มขู่คุกคามในรูปแบบต่างๆ ยังเป็นการละเมิดที่เกิดขึ้นและถูกทำให้กลายเป็น “เรื่องปกติ” อยู่ต่อไป

ส่งท้ายปีเก่าที่กำลังจะผ่านไป ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรวบรวมปรากฏการณ์สำคัญ 12 ประเด็น ที่สะท้อนถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนในปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มจะดำรงสืบเนื่องในปีถัดไป

 

การทำร้ายและข่มขู่นักกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตย ที่ไม่สามารถจับผู้ลงมือได้

ในบริบททางการเมืองปีนี้ ที่มีการเปลี่ยนผ่านสู่การเลือกตั้ง เกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงขึ้น ถึงขั้นการทำร้ายเนื้อตัวร่างกาย เมื่อนักกิจกรรม 3 คน ซึ่งออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ตลอดการยึดอำนาจของ คสช. ได้แก่ เอกชัย หงส์กังวาน, อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” และ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว”  ได้ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์รุมทำร้ายร่างกายในพื้นที่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง โดยหากนับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2562 เหตุการณ์ทำร้ายนักกิจกรรมทั้งสามคน ได้เกิดขึ้นถึง 7 ครั้ง นักกิจกรรมทั้งสามคนยืนยันว่าเหตุการณ์ทำร้ายร่างกาย ไม่ใช่ความขัดแย้งส่วนตัวของบุคคลแต่อย่างใด

จุดร่วมที่น่าจับตา คือการทำร้ายร่างกายทั้งหมดเกิดขึ้นก่อนหรือหลังจากที่ทั้งสามคนออกไปทำกิจกรรมทางการเมือง ทั้งกลุ่มคนร้ายยังลงมืออย่างเป็นระบบ มีการติดตามนักกิจกรรม ดักรอในจุดที่ลงมือ ใส่หมวกกันน็อกปิดบังอำพรางใบหน้า และหลบหนีโดยหลีกเลี่ยงกล้องวงจรปิดได้

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีการเผาทำลายรถยนต์ส่วนตัวของเอกชัย 2 ครั้ง และการโทรศัพท์ข่มขู่ว่าจะทำร้ายร่างกายพริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” ทางโทรศัพท์อีก 1 ครั้ง โดยที่เหตุการณ์ตลอดปี 62 ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกลับไม่สามารถติดตามคนร้ายมาลงโทษได้เลย

ปรากฏการณ์ทำร้ายร่างกายอย่างเป็นระบบที่เกิดขึ้นนี้ อาจเป็นความพยายามในการส่ง “สัญญาณ” จากการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมือง และเป็นการแสดงเครื่องมือรูปแบบใหม่ที่จะนำมาใช้แทนการข่มขู่ ติดตามและดำเนินคดีต่อนักกิจกรรมที่เรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในการติดตามจับกุมคนร้าย จึงเป็นเหมือนการปล่อยให้คนร้ายที่ลงมือมีความมั่นใจมากขึ้นว่าจะไม่ถูกจับกุม ส่งผลให้ระดับความรุนแรงในการลงมืออาจเพิ่มขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นการปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นโดยไม่สามารถจับตัวผู้กระทำผิดได้ จะกลายเป็นการสร้างความสบายใจให้อาชญากร ทำให้ความปลอดภัยของสังคมลดต่ำลงอย่างมาก

 

คสช. หยุดแล้ว แต่ “ปฏิบัติการบุกเยี่ยมบ้าน” ยังไม่หยุด

(ภาพจากทวิตเตอร์ Titipol Phakdeewanich)

แม้ในช่วงครึ่งปีหลัง ที่ คสช. และกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ได้ยุติบทบาทลงไปแล้ว แต่การละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบของการมีเจ้าหน้าที่รัฐเดินทางไป “พบ” ที่บ้าน มหาวิทยาลัย โรงเรียน ที่ทำงาน หรือสถานที่ส่วนบุคคล อันเกิดขึ้นมาตลอดตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 ยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นทั้งต่อผู้แสดงความคิดเห็นทางการเมือง และเจ้าหน้าที่อ้างว่ามาพูดคุย พร้อมขอความร่วมมือให้หยุดการกระทำดังกล่าว โดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายใด เช่น กรณีการคุกคามนายยัน ฮีริค มาฉัล ชาวฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ผู้ทำคลิปล้อเลียนเพลง “คืนความสุขประเทศไทย” ทำให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางมาที่บ้าน มีการบังคับให้ลบคลิป รวมถึงให้ลงลายมือชื่อยอมรับข้อตกลงว่าการโพสต์คลิปดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม และจะไม่กระทำอีก

นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ยังมักจะเข้าติดตามบุคคลที่อยู่ในรายชื่อเฝ้าระวัง ในช่วงก่อนหรือระหว่างเหตุการณ์หรือวันสำคัญ แม้บุคคลนั้นจะไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองเลยก็ตาม เช่น ก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียนในด้านต่างๆ ซึ่งมีหลายครั้งตลอดปี 2562 แต่ละครั้ง มีรายงานเจ้าหน้าที่รัฐเข้าติดตามสอบถามความเคลื่อนไหวของผู้เคยร่วมการชุมนุมทางการเมืองถึงที่บ้าน และขอความร่วมมือไม่ให้ทำกิจกรรมอะไร หรือแม้แต่ช่วงก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทั้งในเดือนพฤษภาคมและธันวาคม ก็เกิดปรากฏการณ์ลักษณะเดียวกัน

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีกรณีเกี่ยวกับประเด็นทรัพยากร ที่ดิน หรือป่าไม้ ที่ก่อนมีการชุมนุมเรียกร้องประเด็นปัญหาสำคัญๆ ในกรุงเทพฯ ก็พบว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าติดตามถึงบ้านกลุ่มแกนนำชาวบ้าน อาทิกรณี สมาชิกของเครือข่ายสมัชชาคนจน ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา ในช่วงเดือนตุลาคม 2562  ซึ่งมีรายงานการถูกทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองติดตามถึงบ้านกว่า 34 พื้นที่

การรุกล้ำสิทธิความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพการแสดงออกในลักษณะดังกล่าว ถูกทำให้กลับกลายเป็น “เรื่องปกติ” ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายปี โดยยังไม่มีทีท่าจะยุติลง

 

การใช้กระบวนการนอกกฎหมาย คุมตัวผู้แสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

แม้ตั้งแต่ปี 2561 จะมีแนวโน้มการบังคับใช้ข้อหาตามมาตรา 112 ลดน้อยลง แต่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังพบว่าการคุกคามต่อผู้ที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงมีอยู่ แม้ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นในทางหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น หรือบางกรณีก็เพียงแต่แชร์หรือรีทวิตข้อความ โดยปรากฏรูปแบบของกระบวนการนอกกฎหมายในการค้น ควบคุมตัว ขอข้อมูลส่วนบุคคล และทำบันทึกข้อตกลง โดยเจ้าหน้าที่รัฐ กระบวนการที่เกิดขึ้นยังดำเนินไปโดยไม่ได้มีหมายศาลหรือกฎหมายให้อำนาจ

กรณีตัวอย่างสำคัญที่มีการเปิดเผยข้อมูล คือช่วงเดือน พ.ย. 2562 ผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อ @99CEREAL ได้เล่าเรื่องราวการถูกควบคุมตัว แม้เจ้าหน้าที่จะอ้างว่าเป็น “การเชิญตัว” จากมหาวิทยาลัยไปยัง สภ.คลองหลวง โดยไม่มีหมายศาลใดๆ จากกรณีการรีทวิตข้อความของบุคคลต่างๆ เช่น ทวิตของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ทวิตของผู้ใช้นามแฝงว่า “นิรนาม”, ทวิตข่าวสารคดีจากต่างประเทศที่นำเสนอเรื่องประเทศไทย เป็นต้น

ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายนี้เปิดเผยถึงการถูกเจ้าหน้าที่รัฐไม่ทราบหน่วยประมาณ 10 นาย รุมซักถามความคิดเห็นทางการเมืองและประวัติส่วนตัวที่สถานีตำรวจ โดยมีการถ่ายวีดิโอและภาพนิ่งเอาไว้ตลอดเวลา ทั้งยังถูกพิมพ์บันทึกการสนทนาทั้งหมด ถูกขอถ่ายภาพ IP ของโทรศัพท์มือถือ, ชื่อล็อคอินทวิตเตอร์, เบอร์โทรศัพท์, อีเมลทั้งหมด รวมไปถึงการขอดูแชทต่างๆ และถูกกดดันให้ลงชื่อในเอกสารข้อตกลง (MOU) ซึ่งมีเนื้อหาถึงการจะไม่ทวิตข้อความเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อีก

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังพบว่ามีผู้ใช้สื่อออนไลน์อีกหลายรายถูกดำเนินการในลักษณะดังกล่าว แต่ไม่ทราบจำนวนแน่ชัด เพราะส่วนใหญ่ไม่กล้าเปิดเผยข้อมูล  ปรากฏการณ์นี้ยังเกิดขึ้นภายใต้บริบทการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในแง่มุมต่างๆ ในปีที่ผ่านมา จนกลายเป็นเทรนด์ในโลกออนไลน์ อาทิเช่น กรณี #ขบวนเสด็จ ติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ หรือกรณีกิจกรรมอย่างการไม่ยืนในโรงภาพยนตร์

 

เมื่อองค์กรอิสระปฏิเสธคำวิจารณ์ การดำเนินคดีต่อประชาชนจึงกลายเป็นเครื่องมือ

(ภาพจาก 77 ข่าวเด็ด)

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 62 ถูกกล่าวขานว่าเป็นการเลือกตั้งที่มีความไม่โปร่งใสและเกิดข้อกังขามากที่สุดครั้งหนึ่ง ทั้งรูปแบบวิธีการที่ออกแบบมาอย่างซับซ้อนซ่อนเงื่อน จนถึงกับมีผู้กล่าวว่า “เป็นรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาเพื่อพวกเรา” อีกทั้งองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งอย่าง กกต. ก็ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างคาใจประชาชน ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการจัดการเลือกตั้ง และการคำนวณผลคะแนน อย่างที่นักคณิตศาสตร์งงงวย นำไปสู่การยังคงทำให้ คสช. ยังสืบทอดอำนาจต่อมา แม้ไม่มี คสช. อยู่แล้วก็ตาม

ท่ามกลางความกังขาดังกล่าว ได้เกิดกิจกรรมล่ารายชื่อถอดถอน กกต. ผ่านทางเว็บไซต์ Change.org  ที่มีผู้ร่วมลงชื่อมากกว่า 849,000 รายชื่อ และกิจกรรม “1 ล้านชื่อ ยื่นถอดถอน #กกต. โป๊ะแตก” ที่เป็นการตั้งโต๊ะเพื่อรวบรวมรายชื่อของประชาชน ยื่นร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำเนินกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงการทำงานของ กกต. โดยมีผู้ร่วมลงชื่อทั้งหมด 7,234 รายชื่อ

ปรากฏว่าไม่เพียงแต่ กกต. ชุดที่ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างกังขาจะไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น แต่กลับมีการแจ้งความดำเนินคดีต่อประชาชน 7 ราย ในข้อกล่าวหาร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากเหตุเกี่ยวกับการรณรงค์ถอดถอน บนเว็บไซต์ Change.org  ซึ่งทาง กกต. ระบุว่าเป็นการทำให้องค์กรได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง  ไม่เพียงเท่านั้น กกต. ยังได้แจ้งความต่อประชาชนอีก 3 ราย ด้วยข้อกล่าวหาเดียวกัน จากการปราศรัยในกิจกรรมล่าชื่อถอดถอน กกต. ในชื่อ #เห็นหัวกูบ้าง ที่วิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.

การแจ้งความดำเนินคดีต่อประชาชนที่ออกมาเรียกร้องการตรวจสอบองค์กรอิสระ กลายเป็นความพยายาม “ปิดปาก” การวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนผู้เสียภาษีให้กับองค์กรเหล่านี้ในการปฏิบัติหน้าที่ และยิ่งตอกย้ำว่า “กระบวนการยุติธรรม” กำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปิดกั้นและกดดันประชาชนในสังคม ไม่ให้สามารถตั้งคำถาม ตรวจสอบ หรือเรียกร้องความรับผิดชอบจากองค์กรของรัฐได้เลย

 

เมื่อพรรคฝ่ายค้านถูก “พุ่งเป้า” ดำเนินคดี

(ภาพจากประชาไท)

ปรากฏการณ์สำคัญอีกเรื่องหนึ่งในปีนี้ คือพรรคการเมืองฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคที่มีแนวทางคัดค้านการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ต้องเผชิญกับศึกหนัก ที่ไม่เพียงการแข่งขันทางการเมือง แต่ยังหมายถึงคดีความต่างๆ ที่ถาโถมใส่พรรคการเมืองเหล่านี้ ทั้งระดับแกนนำพรรค (ที่บางคนก็มีคดีติดตัว มาตั้งแต่ช่วงก่อนรัฐบาลทหารจะประกาศให้มีเลือกตั้งทั่วไป) ไปจนถึงระดับทั้งพรรค ดังกรณีพรรคไทยรักษาชาติที่ถึงขั้นถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค

ส่วนอนาคตใหม่ พรรคการเมืองหน้าใหม่ไฟแรง ตั้งพรรคมาไม่ทันไร ก็ได้คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีวิจารณ์พลังดูดของ คสช. ไปตั้งแต่ปี 2561 ในปีนี้ ก็ยังคงมีคดีสะสมเพิ่มอีกทั้งคดีอาญาและคดีเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็น ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ถูกแจ้งข้อหาดูหมิ่นศาล และนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เพราะแถลงวิจารณ์คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญยุบไทยรักษาชาติ  แล้วก็ตามมาด้วยหัวหน้าพรรค “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ถูกดำเนินคดีตามมาติดๆ หลังเลือกตั้งแค่ 10 วัน โดยมีการใช้เหตุการณ์ในอดีตมากล่าวหา ได้แก่ กรณีการไปให้กำลังใจนักกิจกรรม “ประชาธิปไตยใหม่” 14 คน ที่ สน.ปทุมวัน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2558

จากนั้น พรรคอนาคตใหม่ยังถูก กกต. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นคดีธนาธรถูกตัดสิทธิเป็น ส.ส.จากเหตุถือหุ้นสื่อ  และล่าสุดคือ กกต. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีธนาธรให้พรรคกู้ยืมเงิน

กรณีสำคัญที่พรรคฝ่ายค้านถูกแจ้งความดำเนินคดีกันถ้วนหน้า ได้แก่ กรณีการเสวนา “พลวัตรแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” ซึ่งนักวิชาการและนักการเมืองฝ่ายค้านรวม 12 คน ที่ขึ้นบนเวทีถูก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าแจ้งความดำเนินคดีด้วยข้อหายุยงปลุกปั่น เพียงเพราะชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เสนอทิ้งท้ายสั้นๆ ว่าเราควรมีพื้นที่ในการถกเถียงเกี่ยวกับได้ทุกมาตราในรัฐธรรมนูญ หากจำเป็นต้องมีการแก้ไข และได้ยกตัวอย่างว่าการถกเถียงนั้นอาจรวมถึงมาตรา 1 ด้วยก็ได้

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ดูจะส่องสะท้อนถึงสิ่งที่เรียกว่า “นิติสงคราม” หรือ Lawfare เมื่อกฎหมายและ “กระบวนการยุติธรรม” ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อเป้าหมายในการเอาชนะทางการเมือง และทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ปัญหาการใช้กฎหมายไปในกระบวนการเหล่านี้ ถึงที่สุดสามารถส่งผลกระทบเป็นการทำลายหลักนิติรัฐในสังคมไปอีกด้วย

 

ปีแห่งการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ปิดกั้นการแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์

ปี 2562 อาจพอนับเป็นปีแห่งการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพื่อดำเนินคดีกับการแสดงออกทางความคิดเห็นอย่างแพร่หลาย เพื่อยังผลให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐ หรือการแสดงออกทางการเมืองในโลกออนไลน์ และเพื่อเบี่ยงประเด็นการพูดคุยจากประเด็นที่กำลังเป็นที่ถกเถียง สู่เรื่องที่ว่าคนที่แชร์หรือพูดถึงประเด็นนั้นถูกดำเนินคดีในข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แทน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ การฟ้องร้องดำเนินคดี กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ นักกิจกรรมทางการเมืองวัย 25 ปี ในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ในช่วงที่เกิดกระแสแฮชแท็ก #ขบวนเสด็จ

ในช่วงปี 2562 มีคดีใหม่ที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย เป็นคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จำนวน 8 คดี อาทิ คดีอาจารย์ ม.เชียงใหม่ กับอดีตแกนนำเสื้อแดง โพสต์แซวทหารว่า มาร่วมกิจกรรม “Walk to Vote”, คดีเจ้าหน้าที่ทหารโพสต์วิจารณ์การเมือง, คดีโพสต์ว่าตำรวจมีส่วนเกี่ยวข้องในการทำร้ายจ่านิว เป็นต้น

จุดน่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ จากเดิมที่มักมีการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในการฟ้องร้องดำเนินคดีควบคู่กับมาตรา 112 หรือ 116 ในปีนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกลับพบว่ามีการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในการฟ้องร้องในคดีเกี่ยวกับการเมืองเพียงอย่างเดียวเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งใช้แทนมาตรา 112 และ 116 ด้วย ท่ามกลางการแสดงออกทางการเมืองบนโลกออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น แนวทางการบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นจึงยิ่งเป็นประเด็นที่ต้องร่วมกันจับตาต่อไป

 

ชุมนุมคือแค่ไหน แค่ไหนคือชุมนุม: การปิดกั้นเสรีภาพการชุมนุมจาก พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

(ภาพจากเพจ  Wassana Nanuam)

แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว แต่ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ผ่านโดย สนช. สภาที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ยังคงถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อกำหนดในหมวด 2 การแจ้งการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งถ้าไม่แจ้งการชุมนุม ก็มีความเป็นไปได้ที่จะไม่สามารถจัดการชุมนุมได้เลย หรือถ้าจัดการชุมนุมไปแล้ว ก็จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีภายหลัง

ในปีที่ผ่านมา ยังมีนักกิจกรรมและประชาชนถูกฟ้องร้องด้วยข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง อาทิ กรณีของพะเยาว์ อัคฮาด หรือ “แม่น้องเกด” จัดกิจกรรมเล่นละครใบ้ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, เอกชัย-โชคชัย เปิดเพลงประเทศกูมี เพนกวิน-บอล เปิดเพลงหนักแผ่นดิน หน้ากองบัญชาการกองทัพบก เป็นต้น

กรณีนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีข้อสังเกตว่า บางการชุมนุมที่ไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับทางการเมือง ก็สามารถชุมนุมได้โดยที่ไม่ได้แจ้งการชุมนุม ทำให้เห็นถึงปัญหาของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่มีนิยามที่กว้าง และมีแนวโน้มลักษณะของการใช้แบบเลือกปฏิบัติ เช่น ในเรื่องของนิยามการ “ชุมนุม” (มาตรา 4), ข้อกำหนดการแจ้งการชุมนุม (มาตรา 10) และการจัดการชุมนุมที่ต้องไม่เกินรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐาน (มาตรา 7) ที่บางการชุมนุมก็โดนแจ้งข้อหาดำเนินคดี อย่างกรณีจ่านิวและประชาชนตั้งโต๊ะล่ารายชื่อถอดถอน สว.250 คน ที่เชียงราย หรือกรณีเพนกวิน-บอลแขวนพริกเกลือที่รั้วทำเนียบรัฐบาล โดนแจ้งข้อหาไม่แจ้งการชุมนุม แต่ขณะที่การชุมนุมเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการกางร่ม เพื่อสนับสนุนการชุมนุมในฮ่องกง ที่จัดบริเวณหน้าหอศิลป์ กรุงเทพฯ กลับไม่ถูกดำเนินคดี เป็นต้น

แม้ข้อจำกัดเรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. จะไม่มีอยู่แล้ว แต่เสรีภาพในการชุมนุมก็ยังถูกจำกัดอยู่ต่อไป ด้วย พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ฉบับนี้ แทนที่กฎหมายจะถูกใช้รับรองเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน และจำกัดการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ

 

ไม่ใช้ศาลทหาร แต่คดีการเมืองจากยุครัฐประหาร ยังต้องต่อสู้ในศาลพลเรือน

การนำพลเรือนขึ้นศาลทหารเป็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนสำคัญประเด็นหนึ่งจากยุค คสช.  ก่อนสิ้นสภาพหัวหน้า คสช.  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 ให้โอนย้ายคดีทางการเมืองและคดีของพลเรือนที่ คสช. เคยประกาศให้ขึ้นศาลทหาร ไปอยู่ในอำนาจของศาลพลเรือน โดยไม่กระทบกระเทือนถึงกระบวนพิจารณาที่ได้กระทำไปแล้วในศาลทหาร

ในช่วงครึ่งปีหลัง คดีการเมืองหลายคดี ทั้งคดีมาตรา 112, มาตรา 116, คดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ไม่ไปรายงานตัว หรือคดีที่เกี่ยวข้องกับอาวุธ ทยอยถูกโอนย้ายมายังศาลพลเรือนในพื้นที่ต่างๆ และเริ่มมีการนัดสืบพยานต่อไป  หลายคดีใช้เวลาจวนจะครบ 6 ปีแล้ว ก็ยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากรูปแบบการสืบพยานอันล่าช้าในศาลทหาร การส่งทอดคดีมาดำเนินต่อในศาลพลเรือน น่าจะทำให้คดีรวดเร็วขึ้น

กระนั้น คดีเหล่านี้ก็ยังมีคำถามเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอยู่หลายประการ อาทิ เรื่องสิทธิในการได้รับการทบทวนคำพิพากษาโดยศาลที่สูงขึ้นไป โดยในคดีของพลเรือนที่เหตุระหว่างการประกาศกฎอัยการศึกหลังรัฐประหาร 2557 เคยถูกห้ามอุทธรณ์หรือฎีกาในศาลทหาร การพิจารณาเสร็จสิ้นภายในศาลเดียว ก็มีปัญหาว่าหากโอนคดีไปศาลยุติธรรมแล้ว คู่ความในคดีจะสามารถอุทธรณ์-ฎีกาใหม่ได้หรือไม่

นอกจากปัญหาเชิงกระบวนการ คดีจำนวนมากของพลเรือนในศาลทหารนั้น ไม่ควรกลายเป็นคดีมาตั้งแต่ต้น เมื่อเป็นเพียงคดีที่ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็นทางการเมือง  หลายคดีเริ่มต้นมาจากผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวไปซักถามในค่ายทหาร บันทึกซักถามเหล่านี้กลายเป็นพยานหลักฐาน ที่นำไปใช้ขอศาลทหารออกหมายจับ มีนายทหารของ คสช. เป็นผู้กล่าวหา เข้ามาร่วมสอบสวน และการพิจารณาสั่งฟ้องคดีก็เกิดขึ้นโดยอัยการทหาร ที่ไม่ได้มีความเป็นอิสระ

การใช้ดุลยพินิจทางคดีโดยอัยการทหารหรือตุลาการศาลทหาร ที่เคยเกิดขึ้นในยุคคณะรัฐประหาร กลับยังคงถูกส่งทอดต่อมายังอัยการพลเรือนและศาลพลเรือน การดำเนินคดีทางการเมืองเหล่านี้ต่อประชาชนต่อไป จึงเป็นส่วนหนึ่งของมรดกการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารซึ่งยังคงดำรงสืบเนื่องมา (อ่านเพิ่มเติม ปัญหาการโอนย้ายคดีการเมืองจากศาลทหาร)

 

ละเมิดอำนาจศาล: อีกหนึ่งความพยายามในการปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรม

(ภาพโดยมติชนสุดสัปดาห์)

ในปี 2562 ข้อหา “ละเมิดอำนาจศาล” ซึ่งถูกระบุไว้ในกฎหมายแพ่ง เป็นประเด็นปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมายกับการคุ้มครองเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์อีกประการหนึ่ง  หลังจากที่นักเขียนและนักวิชาการทางด้านการเงิน สฤณี อาชวานันทกุล ได้เขียนวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของศาลฎีกาลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กรณีที่มีคำสั่งถอนชื่อผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดสกลนคร จากพรรคอนาคตใหม่ ทำให้เธอถูกอดีตเลขานุการแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกายื่นฟ้องดำเนินคดี เหตุเพราะมีการใช้คำที่ไม่เหมาะสมในการวิพากษ์วิจารณ์

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า แม้ในท้ายที่สุดแล้วทางศาลฎีกาจะมีคำสั่งยุติการดำเนินคดี เนื่องด้วยคู่ความทั้งสองสามารถไกล่เกลี่ยกันได้ แต่ด้วยระยะเวลาของการพิจารณาคดี ไต่สวน ไปจนถึงการมีคำสั่งจากทางศาลในท้ายที่สุด ซึ่งทั้งหมดกินเวลาร่วมสามเดือน ก็ได้ก่อให้เกิดภาระทางคดีขึ้น และยังทำให้เกิดคำถามต่อขอบข่ายการแสดงความคิดเห็นในทางวิพากษ์วิจารณ์ต่อองค์กรตุลาการ

พร้อมๆ กันนั้น ก็ได้เกิดเหตุการณ์ที่จุดประเด็นนี้ขึ้นอีกระลอก เมื่อ รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ”ต้อม” ยุทธเลิศ สิปปภาค ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง ถูกสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ “เชิญ” ไปให้ข้อมูลหลังจากทวิตวิพากษ์วิจารณ์ศาล โดยไม่ทราบแน่ชัดว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจใดในการเชิญดังกล่าว

ขณะเดียวกัน คดีละเมิดอำนาจศาลที่ค้างคามาตั้งแต่ยุค คสช. ก็ยังคงมีอยู่ และยังไม่สิ้นสุด ได้แก่ คดี 7 นักศึกษาดาวดิน ที่แสดงออกหน้าศาลจังหวัดขอนแก่น เพื่อให้กำลังใจ “ไผ่ ดาวดิน” ตั้งแต่เมื่อปี 2560 แม้ว่าทั้ง 7 คนจะถูกศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตัดสินว่ามีความผิด แต่ในปีนี้ จำเลยคดีนี้ยังมอบอำนาจให้ทนายความเข้ายื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาต่อศาลฎีกาต่อไป

ในบริบทความขัดแย้งทางการเมืองกว่าสิบปีที่ผ่านมา องค์กรทางตุลาการมีบทบาทเข้ามาวินิจฉัยประเด็นปัญหาทางการเมืองจำนวนมาก และนำไปสู่จุดหักเหทางการเมืองหลายครั้ง ปรากฏการณ์นี้ยังดำรงสืบเนื่องถึงปัจจุบัน ท่ามกลางความรู้สึกหลากหลายของคนในสังคม ศาลต่างๆ จึงอยู่ในฐานะ “ตัวแสดงทางการเมือง” ที่สำคัญอย่างยิ่งในสังคมไทย การดำเนินคดีต่างๆ ต่อผู้แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของตุลาการ ที่เกิดขึ้นแล้วและอาจเกิดขึ้น จึงยังเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องร่วมกันจับตาต่อไป

 

การจับกุมดำเนินคดีสหพันธรัฐไท ยังเกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดปี

ชุดคดีทางการเมืองที่ยังคงมีการจับกุมและดำเนินคดีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2562 คือคดีการแสดงออกที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มสหพันธรัฐไท แม้กลุ่มบุคคลที่ถูกระบุว่าเป็นแกนนำ ได้แก่ “สามทหารเสือ” ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ลี้ภัยทางการเมืองในประเทศลาว และจัดรายงานวิทยุการเมืองออนไลน์ นำโดยนายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือ “ลุงสนามหลวง” จะหายสาบสูญไปโดยไม่ทราบชะตากรรม แต่เจ้าหน้าที่รัฐยังคงมีการจับกุมดำเนินคดีประชาชนที่เคยออกมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยการรวมตัวกันใส่เสื้อสีดำไปตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะตามห้างสรรพสินค้า ตั้งแต่ในช่วงวันที่ 5 ธ.ค. 61

จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 จนถึงธันวาคม 2562 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากกรณีที่เกี่ยวข้องกับสหพันธรัฐไท แล้วอย่างน้อย 21 ราย แยกเป็นจำนวนคดีอย่างน้อย 11 คดี โดยมีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 2 ราย ถูกคุมขังในเรือนจำในปัจจุบัน เนื่องจากประสบปัญหาเรื่องการขอประกันตัว

ข้อหาหลักที่เจ้าหน้าที่ใช้ตั้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องหาในกรณีเหล่านี้ ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือ “ยุยงปลุกปั่น” และมาตรา 209 หรือ “อั้งยี่”  แทบทั้งหมดที่ถูกดำเนินคดี เคยถูกคุมตัวเข้าไปในค่ายทหารในช่วงที่ คสช. ยังมีอำนาจตามมาตรา 44 ก่อนมีการจับกุมดำเนินคดีอีกครั้งในภายหลัง

ผู้ถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่เป็นคนสูงวัย อายุช่วง 50-70 ปี ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รับจ้างนวด รับจ้างเย็บผ้า หรือแม่ค้า และมีบางส่วนเป็นข้าราชการเกษียณ หลายรายให้ข้อมูลว่า ตนเพียงแต่เป็นผู้ติดตามฟังรายการของ “ลุงสนามหลวง” ไม่ได้รู้จักกับกลุ่มผู้จัดรายการ เพียงแต่ติดตามฟังอยู่บ้าง เพราะรายการมีการพูดถึงเรื่องปัญหาเศรษฐกิจและการทำมาหากิน หรือการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมือง และเมื่อได้ฟังเรื่องการแสดงออก บางรายจึงออกมาร่วมกิจกรรมโดยสงบ แต่ถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีตามมา

ผู้ถูกกล่าวหาในหลายคดียังยืนยันว่า ไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา และได้ทยอยถูกอัยการยื่นฟ้องต่อศาล ทำให้ในช่วงปี 2563 ชุดคดีเกี่ยวกับสหพันธรัฐไทจะทยอยถูกพิจารณาและสืบพยานในชั้นศาล จึงต้องติดตามทั้งการต่อสู้คดีและผลของคำพิพากษาต่อไป (อ่านเพิ่มเติม ภาพรวมคดีสหพันธรัฐไท)

 

ไม่มีมาตรา 44 แต่อดีตหัวหน้า คสช. ยัง “เคยชิน” กับการใช้อำนาจโดยหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ

ภายใต้ “บทบาทใหม่” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ “นายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง” ทำให้รัฐสภาและประชาชนควรจะมีสิทธิถ่วงดุลตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารได้มากยิ่งขึ้น แตกต่างไปจากสถานะ “หัวหน้า คสช.” ซึ่งมาจากการรัฐประหาร ปกครองโดยแต่งตั้งสภาและองค์กรอิสระของตนเอง ออกกฎหมายนิรโทษกรรมการใช้อำนาจต่างๆ ล่วงหน้า  แต่วัฒนธรรมการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบกลับยังคงสืบเนื่องต่อมา ดังตัวอย่างสำคัญสองกรณี ได้แก่ การออก พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ และล้มการตั้งกรรมาธิการ มาตรา 44

30 ก.ย. 62 คณะรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ออกพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 กำหนดให้โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์  ต่อมา วันที่ 17 ต.ค. สภาได้ลงมติเห็นชอบกับ พ.ร.ก.ดังกล่าวด้วยมติ 70 ต่อ 376 เสียง

อย่างไรก็ตาม มีปัญหาว่าการออก พ.ร.ก.เป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยฝ่ายบริหาร อันเป็นข้อยกเว้นที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เฉพาะ และเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้เท่านั้น แต่รัฐบาลนั้นไม่ได้ชี้แจงต่อสภาว่ามีเหตุฉุกเฉินอย่างไร และระบุเหตุผลท้าย พ.ร.ก.เพียงว่า “การปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการถวายอารักขาและถวายพระเกียรติและการรักษาความปลอดภัย จำเป็นต้องมีความพร้อมในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดอัตรากำลังพลที่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรียบร้อยรวดเร็ว และเกิดความปลอดภัยสูงสุด” ซึ่งไม่ได้แสดงเหตุผลว่าฉุกเฉินตามมาตรา 172 อย่างไร

การใช้อำนาจออก พ.ร.ก.ดังกล่าวเป็นอำนาจพิเศษ แม้สภาจะสามารถตรวจสอบได้ในภายหลัง ก็เพียงแต่ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของเหตุในการออก และลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น แต่ไม่มีโอกาสในการพิจารณาถึงเนื้อหาของ พ.ร.ก. ซึ่งต้องพิจารณาว่าการโอนอัตรากำลังพลของทหารไปเป็นส่วนราชการในพระองค์นั้น มีผลทำให้พระมหากษัตริย์เข้ามามีอำนาจปกครองในทางกฎหมาย ซึ่งอาจขัดต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดสถานะในทางรัฐธรรมนูญของพระมหากษัตริย์ให้ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดหรือฟ้องร้องในทางใดๆ มิได้ หรือไม่  การใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ ออก พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ โดยไม่มีเหตุจำเป็น จึงถูกมองได้ว่าเป็นการใช้อำนาจพิเศษเพื่อหลีกลี่ยงการตรวจสอบ เฉกเช่นการใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557

ในทางตรงกันข้าม เมื่อฝ่ายค้านต้องการศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการใช้อำนาจโดยเสนอญัตติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่ง คสช. และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฝั่งพรรครัฐบาลซึ่งแพ้โหวตในวันที่ 27 พ.ย. 62 กลับขอให้มีการนับคะแนนใหม่ เป็นผลให้มีการลงคะแนนใหม่ในวันที่ 4 ธ.ค. 62 และสภามีมติไม่เห็นด้วยในการตั้ง กมธ.ชุดดังกล่าว อันเป็นการตอกย้ำว่าแม้ คสช.จะหมดหน้าที่แล้ว แต่รัฐบาลประยุทธ์ยังครองอำนาจบริหารและนิติบัญญัติ และยังสามารถหลีกเลี่ยงการตรวจสอบต่อไป แม้ไม่มีมาตรา 44 แล้วก็ตาม

 

ยอดผู้ลี้ภัยสูญหายเพิ่มเป็น 8 ราย กับสถานการณ์ที่ยังไม่มีความหวังได้กลับบ้าน

(ภาพโดย ประชาไท)

สำหรับ “ผู้ลี้ภัย” ไทย ซึ่งเดินทางออกนอกประเทศหลังการรัฐประหารปี 57 เพราะต้องการแสวงหาเสรีภาพ หรือไม่ต้องการสยบต่ออำนาจของ คสช. หรือหวาดกลัวจะถูกอำนาจทหารคุกคาม รวมถึงญาติพี่น้อง และฝ่ายประชาธิปไตย ปี 2562 นับเป็นอีกปีที่สถานการณ์หนักหน่วง มีการคุกคามต่อเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของผู้ลี้ภัยหลายคน โดยเฉพาะที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน

เริ่มตั้งแต่ต้นปี ผลพิสูจน์ทางนิติเวชยืนยันว่า 2 ใน 3 ศพ ซึ่งลอยมาติดตลิ่งแม่น้ำโขงในเขต จ.นครพนม ในสภาพที่ถูกกระทำอย่างโหดร้ายทารุณ เป็นชัชชาญ บุปผาวัลย์ และไกรเดช ลือเลิศ ที่หายตัวไปจากบ้านพักในลาวพร้อมกับสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ทำให้ชัดเจนถึงชะตากรรมที่เลวร้ายของคนทั้งสาม นำมาซึ่งความหวาดวิตกของผู้ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้านที่เหลือ หลายคนทำเรื่องไปยังองค์กรระหว่างประเทศเพื่อให้ช่วยพาพวกเขาออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย หลายคนเปลี่ยนที่อยู่ที่นอน และลดการแสดงออกในช่องทางต่าง ๆ ลง ถึงอย่างนั้น หลายคนยังแอบหวังว่า สถานการณ์จะดีขึ้นเมื่อได้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง

แต่แล้วหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งเป็นช่วงเวลาจัดตั้งรัฐบาล กลับปรากฏข่าวว่า “ลุงสนามหลวง” หรือ ชูชีพ ชีวะสุทธิ์, สยาม ธีรวุฒิ และกฤษณะ ทัพไทย กลุ่มสหพันธรัฐไท ถูกทางการเวียดนามส่งตัวกลับไทย แต่ทั้งทางการไทยและเวียดนามกลับปฏิเสธเรื่องดังกล่าว และไม่มีใครติดต่อพวกเขาได้อีกเลย สร้างความสะเทือนขวัญต่อคนอื่น ๆ เป็นอย่างมาก เนื่องจากมีผู้ลี้ภัยสูญหายไปรวม 8 รายแล้ว ในยุค คสช. 1 วันหลังมีข่าวทีมลุงสนามหลวงถูกส่งตัวจากเวียดนาม มาเลเซียก็ส่งตัวประพันธ์ จำเลยคดีเสื้อสหพันธรัฐไท กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย แม้ว่าเธอจะได้การรับรองเป็นผู้แสวงหาที่ลี้ภัยจาก UNHCR แล้ว

ก่อน ครม.ประยุทธ์ 2 จะเข้าถวายสัตย์กลางเดือน ก.ค. ซึ่งหมายถึง คสช. จะหมดอำนาจเด็ดขาดลง ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ หนึ่งในผู้ลี้ภัยทางการเมือง และเพื่อนชาย ถูกบุกเข้าทำร้ายถึงที่พักในกรุงเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ช่วงเวลาใกล้เคียงกัน สมาชิกวงไฟเย็นซึ่งอยู่ระหว่างรอกระบวนการขอลี้ภัยออกจากลาวก็ได้รับข้อความข่มขู่ว่าจะจับตาย หากไม่เข้ามอบตัว

ตลอด 5 ปี กลุ่มคนเหล่านี้ยังคงเคลื่อนไหววิจารณ์การเมืองและสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยวิธีการต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ ประกอบกับท่าทีที่ไม่ใส่ใจสืบสวนหาข้อเท็จจริงในกรณีที่เกี่ยวโยงกับประเทศไทย หลายฝ่ายจึงเชื่อว่า คสช. อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการเหล่านี้ แม้ว่าองคาพยพของ คสช. จะออกมาปฏิเสธในแทบทุกกรณี 

หลัง ครม.ประยุทธ์ 2 เข้าบริหารประเทศ แม้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนถึงการคุกคามผู้ลี้ภัยไทยในต่างประเทศอีก และคนที่ คสช.ต้องการตัวอย่าง สมาชิกวงไฟเย็น 4 คน และ วัฒน์ วรรลยางกูร ได้รับการช่วยเหลือออกจากลาวโดยปลอดภัยแล้ว แต่ผู้ลี้ภัยไทยก็ยังไม่อาจวางใจในสถานะที่ไม่มั่นคงของตนเองได้ ในสถานการณ์ที่รัฐบาลไทยไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอย่างแท้จริง 

และเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ก่อน คสช.หมดอำนาจ ได้ยกเลิกประกาศ / คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. รวม 70 ฉบับ จาก 557 ฉบับ แต่ไม่ยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 ทำให้ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเรียกมารายงานตัวต่อ คสช. ยังคงอยู่ และทำให้ผู้ลี้ภัยจำนวนหนึ่งที่ตัดสินใจออกนอกประเทศเพราะคำสั่งเรียกรายงานตัวดังกล่าว ยังคงไม่ได้กลับบ้าน

 

X