1 เดือนหลังการสวรรคต: ประมวลสถานการณ์ความขัดแย้งและการดำเนินคดีมาตรา 112

ภายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ผ่านไปเป็นเวลา 1 เดือน ภายใต้บรรยากาศการถวายความอาลัยร่วมกันของประชาชนแล้ว ปรากฏการณ์หนึ่งที่ตามมาคือความขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกันเองในประเด็นการแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ ความขัดแย้งดังกล่าวนำไปสู่ “การไล่ล่าแม่มด” และกระทั่งการลงมือใช้ความรุนแรงกันเอง

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่รัฐเองก็มีการจับกุมดำเนินคดีบุคคลด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เข้มข้นขึ้น ในช่วง 3-4 อาทิตย์ที่ผ่านมา ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ก็มีการแถลงเป็นระยะถึงจำนวนคดีมาตรา 112 และการจับกุมผู้ต้องหา โดยที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการแถลงตัวเลขคดีในลักษณะนี้ ขณะเดียวกันยังปรากฏการปรับโครงสร้างของหน่วยงานรัฐในการติดตามการแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ รวมทั้งประเด็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองในต่างประเทศ ก็กลับมาเป็นที่จับตาอีกครั้ง ภายหลังรัฐบาลพยายามประสานประเทศต่างๆ เพื่อหาทางติดตามตัวบุคคลที่อยู่ในต่างประเทศดังกล่าว

รายงานนี้ประมวลสถานการณ์ในกรณีมาตรา 112 ความขัดแย้งในเรื่องดังกล่าว และการดำเนินการของรัฐบาลที่เกิดขึ้นตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา โดยท่ามกลางระยะการเปลี่ยนผ่านของสังคมการเมืองไทย หลังจากวันที่ 13 ต.ค. เป็นต้นมา อาจเรียกได้ว่าเป็นระยะใหม่ของการใช้มาตรา 112 และความขัดแย้งในประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์

.

สตช.แถลงดำเนินคดีมาตรา 112 แล้ว 27 คดี

ภายหลังวันที่ 13 ต.ค. ตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้มีการแถลงข่าวถึงตัวเลขการดำเนินคดีมาตรา 112 ในทุกๆ สัปดาห์ และตัวเลขก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยจากการแถลงเมื่อวันที่ 19 ต.ค. ระบุว่ามี “ผู้กระทำความผิด” ตามมาตรานี้แล้ว 12 ราย การแถลงเมื่อวันที่ 25 ต.ค. ระบุว่ามีผู้กระทำความผิดแล้ว 20 ราย และการแถลงเมื่อวันที่ 31 ต.ค. ระบุว่ามีผู้กระทำความผิดแล้ว 25 ราย

ขณะที่ตัวเลขล่าสุดจากการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 9 พ.ย.59 ระบุว่าหลังจากวันที่ 13 ต.ค. มีผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 แล้ว จำนวน 27 คดี เจ้าหน้าที่สามารถติดตามตัวมาดำเนินคดีแล้ว 10 ราย และอยู่ระหว่างติดตามจับกุมอีก 17 ราย  ในการแถลงข่าวดังกล่าว ทางสตช.ยังมีการระบุด้วยว่าในช่วงก่อนวันที่ 13 ต.ค. มีคดีมาตรา 112 จำนวน 194 คดี แต่ไม่ได้ระบุช่วงเวลาชัดเจนว่าเริ่มนับตัวเลขคดีนี้ตั้งแต่เมื่อใด

ขณะที่จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าเท่าที่ปรากฏเป็นข่าวหลังวันที่ 13 ต.ค. มีกรณีการกล่าวหาดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 และกรณีที่มีมวลชนเข้าดำเนินการด้วยตนเองต่อบุคคลอันเนื่องมาจากการแสดงออกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมกันจำนวนอย่างน้อย 20 กรณี ในจำนวนนี้มีข้อมูลว่ามีการจับกุมผู้ต้องหาแล้ว 9 กรณี ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออก รวมทั้งจังหวัดทางภาคอีสานและกรุงเทพอีกจำนวนหนึ่ง

การกระทำที่ถูกกล่าวหาส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการโพสต์แสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ มีบางกรณีที่เป็นการพูดหรือเขียนบนพื้นที่ที่ไม่ใช่โลกออนไลน์ แต่ก็ในปริมาณค่อนข้างน้อยคือ 5 กรณี จาก 20 กรณีดังกล่าว

ขณะเดียวกัน ยังมีหลายสิ่งที่น่าสนใจจากปรากฏการณ์ต่างๆ ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา อาทิเช่น ปรากฏการณ์ที่มวลชนเข้าไล่ล่าทำร้ายผู้แสดงความคิดเห็นต่อสถาบัน, การดำเนินคดีต่อกรณีที่ไม่ได้แสดงความคิดเห็นต่อบุคคลที่มาตรา 112 ให้ความคุ้มครองโดยตรง, การใช้มาตรา 112 มากลั่นแกล้งคู่ขัดแย้งส่วนตัว รวมทั้งการดำเนินการต่อผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต

  • การไล่ล่าของมวลชน

การดำเนินคดีในหลายกรณีช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เกิดขึ้นจากแรงผลักดันของมวลชนจำนวนหนึ่ง ที่เข้าดำเนินการแจ้งความหรือกดดันให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการกับบุคคลที่ถูกมองว่ากระทำการหรือแสดงความคิดเห็นที่เข้าข่ายมาตรา 112 โดยหลายกรณีมีการกดดันในลักษณะเป็นการใช้ความรุนแรง เช่น การเข้าปิดล้อมบ้าน, การบังคับให้ขอขมาพระบรมฉายาลักษณ์, การเข้าจับกุมด้วยตัวเอง กระทั่งการเข้าทำร้ายร่างกาย ซึ่งนับเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายด้วย

ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่จังหวัดภูเก็ต ที่ชาวบ้านหลายร้อยคนไปรวมตัวกันปิดล้อมบริเวณหน้าร้านน้ำเต้าหู้แห่งหนึ่ง เนื่องจากไม่พอใจข้อความที่บุตรชายของเจ้าของร้านดังกล่าวโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก ผู้ชุมนุมได้มีการเขียนป้ายข้อความด่าทอติดไว้หน้าร้าน มีการเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินคดี จนต่อมามีการเข้าแจ้งความร้องทุกข์ ทำให้มีการจับกุมดำเนินคดีมาตรา 112 กับบุตรชายของเจ้าของร้านดังกล่าว

เช่นเดียวกับกรณีที่จังหวัดพังงา ที่มีชาวบ้านกว่าร้อยคนไปรวมตัวกันที่หน้าร้านโรตีชาชักแห่งหนึ่ง เพื่อตามหาพลทหารเรือนายหนึ่ง ที่ระบุว่าเป็นลูกชายของเจ้าของร้านดังกล่าว โดยมีการกล่าวหาว่าเขาได้โพสต์ข้อความเข้าข่ายมาตรา 112  ผู้ชุมนุมมีการเร่งเร้าให้บิดานำตัวลูกชายมาขอขมาต่อชาวบ้าน สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และปลัดจังหวัดต้องเข้ามาเจรจา พร้อมกับยืนยันว่าจะมีการดำเนินคดีและดำเนินการลงโทษทางวินัย จึงทำให้ชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวสลายตัวไป ก่อนที่ต่อมาจะมีรายงานว่ามีการจับกุมตัวพลทหารคนดังกล่าวดำเนินคดี

.

1

ป้ายข้อความด่าทอที่มีมวลชนนำไปติดหน้าร้านน้ำเต้าหู้ในจังหวัดภูเก็ต (ภาพจากฟซบุ๊ก “Mint Idea-Tv”)

2

ภาพมวลชนขณะไปล้อมหน้าร้านโรตีชาชักในจังหวัดพังงา (ภาพจากเฟซบุ๊ก “ทีวีชุมชน ฅนอาสา จังหวัดพังงา”)

.

ภาคตะวันออกมีเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันที่จังหวัดระยอง ชายเจ้าของร้านขายของชำ อายุ 48 ปี ที่อยู่ระหว่างการรักษาอาการทางจิต ถูกชาวบ้านจำนวนหนึ่งปิดล้อมร้านขายของชำและตะโกนต่อว่า ก่อนตำรวจจะเข้ามาไกล่เกลี่ยจนเจ้าของร้านที่ถูกกล่าวหายอมรับผิดและกราบพระบรมฉายาลักษณ์ แต่ชาวบ้านบางส่วนยังพยายามจะเข้ามาทำร้ายร่างกาย แต่เจ้าหน้าที่ระงับเหตุได้ ต่อมา ศาลจังหวัดระยองได้อนุมัติหมายจับชายคนดังกล่าวในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์

ในกรณีจังหวัดชลบุรี หนุ่มโรงงานวัย 19 ปี ได้โพสต์ขายเหรียญเก่าในกรุ๊ปเฟซบุ๊กหนึ่ง แต่ได้เกิดการโต้เถียงกับผู้ที่เข้ามาแสดงความเห็น ก่อนที่คู่โต้เถียงจะแคปชั่นคอมเมนต์หนึ่งของเขามาเป็นประเด็นในการแจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112  โดยหนุ่มคนดังกล่าวได้ถูกประชาชนประมาณ 20 คน บุกเข้ามาหาถึงห้องพัก มีการเตะหน้าและเข้าทำร้ายร่างกาย ก่อนจับตัวมาให้กราบขอขมาต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ จนเจ้าหน้าที่ต้องเข้ามาระงับเหตุ พร้อมกับจับกุมหนุ่มโรงงานคนดังกล่าวดำเนินคดี

เช่นเดียวกับกรณีจังหวัดจันทบุรี ที่ชาวบ้านมีการกล่าวหาหญิงวัยกลางคนคนหนึ่งว่าได้เขียนข้อความเข้าข่ายมาตรา 112 ลงในสมุดลงนามถวายความอาลัยในหลวงที่ตั้งไว้ในชุมชน โดยกรณีนี้ประธานชุมชนได้ให้ชาวบ้านช่วยกันเข้าจับกุม ก่อนแจ้งให้ตำรวจมานำตัวหญิงคนดังกล่าวไปดำเนินคดี

ในทางตรงกันข้าม การกดดันของมวลชนก็เกิดขึ้นแม้แต่กรณีที่ผู้ต้องหาอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่แล้ว ดังกรณีที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มีประชาชนเข้าแจ้งความเอาผิดตามมาตรา 112 ต่อผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ก่อนที่ตำรวจจะจับกุมหญิงสาววัย 43 ปีคนหนึ่งได้ ต่อมามีประชาชนกว่าหนึ่งร้อยคนไปรวมตัวกันที่หน้าสถานีตำรวจ โดยระบุว่ามาเพื่อดูหน้าของผู้ต้องหา มวลชนมีการด่าทอสาปแช่ง และต่อมายังมีการกดดันให้เจ้าหน้าที่นำหญิงคนดังกล่าวมาก้มกราบพระบรมฉายาลักษณ์บริเวณหน้าสถานี

ควรกล่าวด้วยว่า “สื่อสังคมออนไลน์” และ “สื่อมวลชน” บางส่วนเอง ยังมีผลต่อการปลุกเร้าความเกลียดชัง หรือการส่งเสริมใช้ความรุนแรงด้วย เช่น การพาดหัวข่าวด้วยถ้อยคำรุนแรง, การนำเสนอเนื้อหาในลักษณะที่ปลุกเร้าความรู้สึก โดยบิดเบือนข้อเท็จจริง  มีการพิพากษาตัดสินผู้ถูกกล่าวหาในกรณีต่างๆ ไปล่วงหน้า, การใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ปลุกเร้าให้หรือระดมคนให้เข้าดำเนินการ หรือกระทั่งใช้ความรุนแรงกับบุคคลที่ถูกกล่าวหาอย่างขาดสติ

  • การแสดงความคิดเห็นที่ไม่ได้มุ่งต่อบุคคลตามมาตรา 112 โดยตรง

ศูนย์ทนายสิทธิฯ ยังพบว่าผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 บางกรณีภายหลังวันที่ 13 ต.ค. เกิดจากการโพสต์แสดงความคิดต่อรัฐบาลเรื่องการจัดการต่างๆ ภายหลังการสวรรคต หรือแสดงความคิดเห็นต่อบรรยากาศของสังคม หรือโต้ตอบต่อความเห็นของผู้อื่นในโพสต์ข้อความ มากกว่าจะเป็นการแสดงความเห็นหรือกล่าวโดยตรงต่อบุคคลตามองค์ประกอบความผิดที่มาตรา 112 ให้การคุ้มครอง

ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่จังหวัดบึงกาฬที่รายงานข่าวระบุว่าศูนย์ดำรงธรรมของจังหวัดได้ตรวจพบข้อความในเฟซบุ๊กของหญิงวัย 19 ปี รายหนึ่ง โพสต์ในลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ต่อการให้ระงับงานกิจกรรมต่างๆ ทุกงานภายหลังการสวรรคต แต่กลับถูกระบุว่าเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครองเข้าจับกุมดำเนินคดี

หรือกรณีพลทหารเรือที่จังหวัดพังงาข้างต้น สำนักข่าวประชาไทได้รายงานว่าเมื่อตรวจสอบข้อความที่มีการเผยแพร่ พบว่าเป็นข้อความในทำนองที่สอบถามชาวบ้านว่าเคยบอกรักพ่อของตัวเองแบบนี้กันบ้างหรือไม่ โดยยังไม่พบข้อความอื่นที่โพสต์เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง

รวมทั้งกรณีหนุ่มโรงงานจังหวัดชลบุรีที่ถูกเข้าทำร้ายร่างกายข้างต้น ข้อความที่ถูกกล่าวหาว่าเข้าข่ายมาตรา 112 นั้น ก็มีลักษณะเป็นการแสดงความคิดเห็นต่อบุคคลที่เข้ามาโต้ตอบในโพสต์ข้อความ ไม่ได้เป็นการแสดงความคิดเห็นต่อบุคคลตามมาตรา 112 โดยตรง

.

3

ภาพกรณีหนุ่มโรงงานที่จังหวัดชลบุรี ถูกมวลชนเข้าทำร้ายและกดดันให้ขอขมา (ภาพจากเฟซบุ๊ก ‘คนข่าวบางปะกง’) 

.

กรณีลักษณะนี้สะท้อนให้เห็นปัญหาการใช้มาตรา 112 โดยการตีความอย่างกว้างขวางที่มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยมาตรานี้ถูกนำมาใช้กล่าวหาดำเนินคดีกับบุคคล ที่การแสดงความคิดเห็นไม่ได้เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายโดยตรง ซึ่งทำให้การบังคับใช้มาตรานี้ขัดกับหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความตัวบทกฎหมายโดยเคร่งครัดยิ่งขึ้นไปอีก

  • การกลั่นแกล้งจากความขัดแย้งส่วนตัว

แนวโน้มอีกประการหนึ่งที่พบจากการดำเนินคดีมาตรา 112 หลังวันที่ 13 ต.ค. คือปรากฏกรณีการปลอมแปลงเฟซบุ๊ก ก่อนใช้โพสต์ข้อความที่อาจเข้าข่ายมาตรา 112 เพื่อกลั่นแกล้งกัน อันเนื่องมาจากความขัดแย้งส่วนตัว เช่น กรณีที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ที่หญิงวัย 17 ปี พร้อมกับสามี ได้เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.กันตัง ระบุว่ามีผู้นำชื่อและใช้รูปของตนไปสร้างเฟซบุ๊กปลอมขึ้น พร้อมกับใช้โพสต์ข้อความที่เข้าข่ายมาตรา 112 โดยระบุว่าสงสัยชายวัย 29 ปีคนหนึ่ง ที่เคยเป็นอดีตแฟนของสามีตนและเคยมีเรื่องทะเลาะวิวาทกันมาก่อน กรณีนี้ตามรายงานข่าว เจ้าหน้าที่ได้ตั้งคณะทีมสืบสวนสอบสวนขึ้น และอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ยังไม่มีรายงานการจับกุมผู้ต้องสงสัย

หรือกรณีที่เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ปรากฏข่าวว่ามีหนุ่มนักเรียนอาชีวะวัย 16 ปี ได้ปลอมเฟซบุ๊กของแม่เลี้ยงแฟนสาวของตนเองขึ้นมา และใช้โพสต์ข้อความเข้าข่ายมาตรา 112 เพื่อให้คนเข้าใจผิดคิดว่าแม่เลี้ยงเป็นผู้โพสต์ เนื่องจากแฟนสาวไม่พอใจที่แม่เลี้ยงมาแย่งพ่อไป  โดยในตอนแรก ตำรวจได้ควบคุมตัวหญิงซึ่งถูกใช้ชื่อและภาพในการโพสต์เฟซบุ๊ก แต่เมื่อหญิงคนดังกล่าวปฏิเสธว่าไม่ใช่เจ้าของเฟซบุ๊ก เจ้าหน้าที่จึงสืบสวนเพิ่มเติม ก่อนควบคุมตัวนักเรียนอาชีวะคนดังกล่าวในเวลาต่อมา

กรณีการกลั่นแกล้งส่วนบุคคลโดยใช้มาตรา 112 ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น หากแต่ปรากฏหลายคดีในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองหลายปีที่ผ่านมา เช่น คดีที่พี่ชายกล่าวหาน้องชายว่าพูดเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 โดยที่ทั้งสองคนมีความขัดแย้งส่วนตัวระหว่างกันมาก่อนแล้ว คดีนี้ทั้งศาลชั้นต้นและอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลย หรือคดีจารุวรรณ ที่มีผู้ปลอมเฟซบุ๊กในชื่อของเธอ และใช้โพสต์ข้อความต่างๆ ก่อนเจ้าหน้าที่จะมีการจับกุมเธอและชายอีกสองคน พร้อมแจ้งข้อหามาตรา 112 ทั้งหมด ก่อนที่ตำรวจและอัยการทหารจะมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องในคดีนี้ เป็นต้น

ปรากฏการณ์ดังกล่าวยิ่งสะท้อนให้เห็นช่องว่างของใช้มาตรา 112 ที่เปิดโอกาสให้บุคคลใดเข้าแจ้งความดำเนินคดีก็ได้ รวมทั้งการลงโทษที่รุนแรง และแนวโน้มของการถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี ทำให้กฎหมายมาตรานี้ถูกฉวยใช้ขึ้นมาเป็นเครื่องมือในการกล่าวหาและกลั่นแกล้งกันจากความขัดแย้งส่วนบุคคล โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองใดๆ

  • การดำเนินการต่อผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต

ปัญหาการดำเนินคดีมาตรา 112 อีกประการหนึ่งหลังการรัฐประหาร คือมีการดำเนินคดีต่อผู้ป่วยที่มีอาการจิตเภทหลายคดี โดยจากข้อมูลของศูนย์ทนายสิทธิฯ พบว่ามีอย่างน้อย 7 คดี ที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีมีประวัติการรักษาอาการจิตเภทมาก่อน ผู้ป่วยลักษณะนี้อาจดูไม่แตกต่างจากคนปกติ และสามารถสื่อสารกับคนทั่วไปได้ แต่ผู้ป่วยจะมีอาการหลงผิด หลายกรณีมีอาการหูแว่ว หวาดระแวง หรือหลงคิดว่าตัวเองเป็นคนใหญ่คนโต ทำให้แสดงออกในลักษณะที่ขัดต่อความเข้าใจของคนปกติ โดยไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาและรับประทานยาสม่ำเสมอ มากกว่าจะจับกุมคุมขังดำเนินคดี

หลังวันที่ 13 ต.ค. ก็ปรากฏความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรงต่อผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต เหตุจากการกล่าวหาว่าผู้ป่วยได้แสดงออกต่อสถาบันในทางที่ขัดต่อความเข้าใจของสังคม  เช่น กรณีเจ้าของร้านชำที่จังหวัดระยอง ดังกล่าวข้างต้น รายงานข่าวระบุว่าทางปลัดป้องกันอำเภอได้เข้าตรวจสอบและพบว่าเจ้าของร้านชำดังกล่าวเป็นผู้ป่วยจิตเวช โดยภรรยาเปิดเผยว่าสามีไม่ได้กินยาตามที่แพทย์สั่ง จนทำให้อาการกำเริบพูดจาเพ้อเจ้อ ไม่รู้ตัว

ในกรุงเทพฯ ปรากฏกรณีหญิงวัยกลางคนเสื้อฟ้า ที่ถูกผู้ร่วมนั่งรถเมล์ด้วยกันด่าทอ โดยกล่าวหาว่าเธอกล่าววาจาหมิ่นสถาบันมาตลอดทาง ก่อนจะมีหญิงคนหนึ่งเข้ามาตบหน้าเธอหลังจากลงมาจากรถเมล์ ต่อมาเจ้าหน้าที่พบว่าหญิงกลางคนดังกล่าวเป็นผู้ป่วยทางจิต ซึ่งอยู่ระหว่างการรักษาตัว โดยปกตินั้นจะมีอาการเพ้อให้ร้ายผู้อื่น ส่งเสียงดังอยู่ตลอด และมักจะหนีออกจากบ้านอยู่เป็นประจำ ในกรณีนี้ผู้อยู่ในเหตุการณ์บางคนยังโพสต์เล่าในสื่อออนไลน์ด้วยว่าเนื้อหาที่หญิงกลางคนดังกล่าวพูดบ่นเกี่ยวข้องกับเรื่อง “เจ้าวังบาดาล” ต่างหาก

กรณีหญิงใส่เสื้อผ้าสีส้มไปลงนามถวายอาลัยในหลวงที่จังหวัดนนทบุรี ปรากฏว่ามีผู้ถ่ายภาพไปโพสต์ในสื่อออนไลน์ ก่อนที่จะถูกแชร์ไปด่าทอโจมตี และมีการนำข้อมูลส่วนบุคคลของหญิงคนดังกล่าวมาเผยแพร่ กรณีนี้ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนจะแถลงข่าวโดยระบุว่าหญิงคนดังกล่าวเป็นผู้ป่วยโรคจิตเฉียบพลัน ที่จะมีอาการหลงผิด ประสาทหลอน การรับรู้และพฤติกรรมผิดปกติ โดยที่การลงนามถวายอาลัยก็ไม่ได้มีข้อความหยาบคายหรือผิดกฎหมายใดๆ

.

4

ภาพหญิงเสื้อฟ้าถูกตบหน้า หลังถูกกล่าวหาว่ากล่าววาจาหมิ่นสถาบันบนรถเมล์ ก่อนพบว่าเธอเป็นผู้ป่วยทางจิต (ภาพจากข่าวสด)

4

กรณีหญิงสาวสวมเสื้อผ้าสีส้มลงนามถวายอาลัย แต่ถูกไล่ล่าในโลกออนไลน์ ก่อนพบว่าเป็นผู้มีอาการทางจิต (ภาพจากผู้จัดการออนไลน์)

.

ปรากฏการณ์เหล่านี้ ยิ่งตอกย้ำปัญหาการดำเนินการในคดีมาตรา 112 รวมถึงการขาดความเข้าใจของสังคมที่มีต่อผู้ป่วยจิตเภท และการด่วนตัดสินพิพากษาการกระทำของผู้อื่น โดยไม่เข้าใจที่มาที่ไปหรือบริบทของแต่ละคนเพียงพอ

.

รัฐบาลคสช. กับการจับตาการแสดงความออก

นอกเหนือจากกรณีการติดตามจับกุมผู้ถูกกล่าวหาว่าแสดงออกเข้าข่ายมาตรา 112 ภายในประเทศแล้ว ภายหลังวันที่ 13 ต.ค. ยังมีปฏิบัติการและความเปลี่ยนแปลงในด้านของหน่วยงานรัฐหลายประการ ที่อาจชี้ให้เห็นแนวโน้มความขัดแย้งต่างๆ ในเรื่องมาตรา 112 ที่จะดำเนินต่อไปในอนาคตได้ ทั้งท่าทีของรัฐบาลต่อความขัดแย้งในสังคม, การปรับเปลี่ยนโครงสร้างหน่วยงานรัฐ, การบล็อกและปิดกั้นเว็บไซต์ รวมทั้งการพยายามติดตามผู้แสดงความคิดเห็นในต่างประเทศ

  •  ท่าทีของรัฐบาลและคสช.

ท่ามกลางความขัดแย้งในสังคม ท่าทีของรัฐบาลและคสช.เอง ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยท่าทีบางส่วนของรัฐบาลก็พยายามห้ามปรามความขัดแย้งระหว่างประชาชนที่เกิดขึ้น เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสไม่พอใจประชาชนที่ไม่ได้ใส่เสื้อสีดำในโลกออนไลน์ ว่าอย่าไปติติงหรือไล่ล่าคนที่ไม่ใส่เสื้อดำว่าไม่รักพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะนำไปสู่การทะเลาะกันอีก โดยประชาชนที่มีรายได้น้อยก็อาจไม่มีเงินซื้อเสื้อสีดำ ซึ่งอาจใช้วิธีติดริบบิ้นสีดำหรือลดโทนสีเสื้อผ้าที่สวมใส่ลง

หรือในการแถลงของพ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษก คสช. ระบุว่าคสช.มีความเป็นห่วงเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างประชาชน คงไม่มีใครอยากเห็นคนไทยใช้กำลังทำร้ายกัน หรือทะเลาะเบาะแว้งเกิดขึ้น โดยเห็นว่าเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดูแลและดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบกฎหมาย โดยใช้มาตรการที่เหมาะสม รวดเร็ว แยกตัวบุคคลออกมาเพื่อไม่ให้ถูกทำร้าย

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ท่าทีบุคลากรของรัฐบางส่วนก็มีแนวโน้มของสนับสนุนการสร้างความขัดแย้งในหมู่ประชาชน หรือส่งเสริมให้มวลชนเข้าไปดำเนินการแทนเจ้าหน้าที่รัฐ  ท่าทีลักษณะนี้เห็นได้จากการให้สัมภาษณ์ของพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และประธานคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาคดีความมั่นคงในราชอาณาจักร ที่ตอบคำถามผู้สื่อข่าว เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ถึงกรณีประชาชนไปปิดล้อมบ้านของผู้ถูกกล่าวหาว่าโพสต์เข้าข่ายมาตรา 112 ว่า “ไม่มีอะไรดีกว่ามาตรการทางสังคม” โดยเห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงความรู้สึกที่รับไม่ได้

แม้ในวันต่อมา (19 ต.ค.) ทางพล.อ.ไพบูลย์จะชี้แจงกับผู้สื่อข่าวว่าคำว่า “มาตรการทางสังคม” หมายถึงมาตรการที่มาสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย โดยระบุว่าการบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถที่จะปรับแก้ทัศนคติของคนได้ มาตรการสังคมจึงเป็นมาตรการเสริมเข้ามา โดยยืนยันว่าคำว่า “มาตรการทางสังคม” กับการใช้ “กฎหมู่” ไม่เหมือนกัน การใช้กฎหมู่นั้นเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และเราไม่มีสิทธิไปทำร้ายร่างกายคนอื่นเขา แต่ถ้าไปแสดงออกให้เห็นว่าในเรื่องมาตรา 112 เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ก็เป็นมาตรการทางสังคม

ในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 8 พ.ย. พล.อ.ไพบูลย์ยังยืนยันแนวคิดเรื่องการติดตามผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 ในลักษณะเดิมว่า “บางเรื่องใช้วิธีการตามกฎหมายหรือกฎหมู่ไม่ได้ บางครั้งก็ต้องใช้มาตรการสังคมจัดการ ในการขอความร่วมมือ” แต่พล.อ.ไพบูลย์ก็ไม่ได้ระบุชัดเจนว่ามาตรการทางสังคมดังกล่าวนั้นมีรูปธรรมอย่างไรบ้าง  การแสดงความเห็นในลักษณะจึงอาจมีแนวโน้มของการสนับสนุนให้ประชาชนดำเนินการในลักษณะต่างๆ กันเอง และอาจยิ่งขยายความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น

  •  การปรับโครงสร้างหน่วยงานรัฐ

นอกจากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐที่มีอยู่แล้วเดิม ในการติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับมาตรา 112 และการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ หลังวันที่ 13 ต.ค. ยังได้มีการจัดโครงสร้างการติดตามสถานการณ์เหล่านี้ใหม่บางส่วน  โดยทางรัฐบาลได้จัดตั้งชุดทำงานเฉพาะกิจ คือชุดของศูนย์บัญชาการติดตามสถานการณ์ (ศตส.) โดยมี พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการ นอกจากภารกิจให้ข้อมูลเกี่ยวกับหมายกำหนดการพระราชพิธีต่างๆ แก่ประชาชนแล้ว ศตส.ยังทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์ “ความสงบเรียบร้อย” และการเผยแพร่ข่าวสารที่ส่งผลต่อ “ความมั่นคง” โดยทางคณะทำงานของกระทรวงยุติธรรม ได้ให้อธิบดีดีเอสไอเป็นผู้ประสานกับศตส. ร่วมกับกระทรวงต่างประเทศ และหน่วยงานด้านความมั่นคง

ในด้านของ “หน่วยงานความมั่นคง” ภายในกองทัพบกเอง ก็ได้มีการปรับปรุงหน่วยงานที่ทำงานบนโลกออนไลน์ใหม่ โดยเปลี่ยนจาก “ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร” มาเป็น “ศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก” และมีพิธีเปิดศูนย์ไปเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยหน้าที่ประการหนึ่งของศูนย์ไซเบอร์ดังกล่าว คือการติดตามการแสดงความคิดเห็นทั้งในและนอกประเทศที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

ด้านกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ก็มีการปรับโครงสร้างหน่วยงานใหม่ โดยมีการจัดกลุ่มการทำงานใหม่จากเดิมที่มีศูนย์ประสานการปฏิบัติ (ศปป.) 6 หมายเลข ได้ปรับการทำงานใหม่ให้เหลือ 5 หมายเลข โดยปรับให้ ศปป.1 รับผิดชอบงานในการสร้างความเข้าใจเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ และโครงการพระราชดำริ ที่โอนมาจาก ศปป.6 ที่ถูกยุบรวมไป โดยยังให้ ศปป.1 ดูแลในเรื่องเว็บไซต์หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และทำงานประสานงานกับศูนย์ไซเบอร์ของกองทัพบกด้วย

.

5

.

  • ปิดกั้นเว็บไซต์แล้วกว่า 900 URL

นอกจากการปรับโครงสร้างหน่วยงาน การทำงานสอดส่องจับตาบนโลกออนไลน์ของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็เพิ่มความเข้มข้นขึ้นด้วย โดยมีการเพิ่มทั้งกำลังคนติดตาม และการปิดกั้นเว็บไซต์ต่างๆ จำนวนมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 2 พ.ย. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่าจากการสำรวจเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายมาตรา 112 พบว่าระหว่างวันที่ 1-12 ตุลาคม มีจำนวน 200 ยูอาร์แอล (URL) และระหว่างวันที่ 13-31 ตุลาคม มีการตรวจสอบพบประมาณ 1,200 ยูอาร์แอล

พล.อ.อ.ประจินระบุว่าเบื้องต้นเว็บไซต์ที่อยู่ภายในประเทศ เจ้าหน้าที่อาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ปิดกั้นไปแล้ว 200 ยูอาร์แอล ส่วนเว็บไซต์ที่อยู่ต่างประเทศ อยู่ในระหว่างกระบวนการทางศาลเพื่อขอให้ปิดอีก 1,150 ยูอาร์แอล ซึ่งศาลได้มีคำสั่งปิดออกมาแล้ว 700 ยูอาร์แอล รวมมีเว็บไซต์ที่ถูกสั่งปิดจำนวน 900 ยูอาร์แอล โดยส่วนใหญ่อยู่บนเว็บไซต์ Youtube

.

6

ภาพหน้าจอที่พบว่ามีการปิดกั้นการเข้าถึงโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

.

ขณะเดียวกันกระทรวงดีอียังมีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อติดตามเนื้อหาออนไลน์เพิ่มเติม โดยประสานไปยังสำนักงานกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เพิ่มกำลังคนเป็น 60 คน และสำนักงานการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ปท.) อีกกว่า 30 คน เมื่อรวมกับของกระทรวง จึงมีเจ้าหน้าที่จำนวนกว่า 100 คน ทำหน้าที่เป็นผู้มอนิเตอร์เว็บไซต์ต่างๆ ตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนั้น พล.อ.อ.ประจิน ในฐานะตัวแทนรัฐบาล ยังเข้าพูดคุยกับผู้ให้บริการเว็บไซต์หรือโปรแกรมสนทนาสำคัญ เช่น Google, Youtube หรือ Line โดยพยายามหารือถึงวิธีการสกัดกั้นและยุติเว็บไซต์และคลิปวิดีโอที่เข้าข่ายหมิ่นพระมหากษัตริย์  ซึ่งทางพล.อ.อ.ประจินเปิดเผยในลักษณะว่าบริษัทต่างประเทศต่างๆ พร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทย

ก่อนที่ต่อมา ตัวแทนของบริษัทไลน์ ได้ออกมาชี้แจงว่าไลน์ไม่ได้มีการมอนิเตอร์ผู้ใช้แต่อย่างใด โดยยืนยันว่าถ้ารัฐบาลไทยต้องการข้อมูลผู้ใช้ ต้องดำเนินการผ่านช่องทางการทูต และตามขั้นตอนกฎหมายระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับบริษัทกูเกิ้ล ที่ปฏิเสธว่าไม่ได้มอนิเตอร์โพสต์ใดๆ ของผู้ใช้ในประเทศไทย

  •  การติดตามตัวผู้แสดงความคิดเห็นในต่างประเทศ และคุกคามครอบครัว

ขณะเดียวกัน ประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างต่อสถาบันกษัตริย์ที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ก็กลายเป็นประเด็นที่รัฐบาลและคสช.จับตาอย่างเร่งด่วนมากขึ้น โดยภายหลังวันที่ 13 ต.ค. ทางการไทยมีความพยายามขอให้หลายประเทศทำการส่งตัวผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามมาตรา 112 เพื่อมาดำเนินคดีในประเทศ

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ได้เปิดเผยว่ารัฐบาลได้ส่งหนังสือถึงเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ ประจำประเทศไทย ที่มี “ผู้กระทำผิด” ตามมาตรา 112 เข้าไปพักอาศัย รวม 7 ประเทศ จำนวนทั้งหมด 19 ราย โดยหนังสือเป็นการขอร้องให้เข้าใจถึงความรู้สึกของประชาชนไทย และยังแจ้งรายละเอียดส่วนบุคคลของผู้ที่รัฐบาลติดตามตัวและที่อยู่อาศัยในประเทศนั้นๆ  โดยรัฐบาลไม่มีการเปิดเผยรายชื่อ 7 ประเทศนั้นแต่อย่างใด

ในเวลาต่อมา สำนักข่าวพนมเปญโพสต์ได้รายงานว่ากระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาเปิดเผยเรื่องที่รัฐบาลทหารไทยได้ร้องขอให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ในข้อหาตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นพลเมืองไทย 3 ราย โดยทางการกัมพูชายืนยันว่าข้อหานี้ไม่ใช่อาชญากรรมในกัมพูชา ทำให้ไม่สามารถส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนได้ ต่อมารายงานข่าวดังกล่าวได้ถูกปิดกั้นการเข้าถึงจากในประเทศไทยไป

ด้านดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ แถลงระบุเมื่อวันที่ 25 ต.ค. ว่ารัฐบาลยังได้มีการส่งจดหมายเพื่อขอความร่วมมือกับทางการประเทศต่างๆ ให้ร่วมติดตามตัวบุคคลที่หลบหนีการกระทำความผิดตามมาตรา 112 แต่นายดอนก็ยอมรับว่าหากการกระทำดังกล่าวไม่ถือเป็นความผิดในประเทศอื่น ก็ทำให้การส่งตัวคนเหล่านั้นกลับเป็นเรื่องที่ทำได้ลำบาก

นอกจากนั้น มีรายงานข่าวด้วยว่านายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปรวบรวมข้อมูลว่าไทยมีพันธสัญญาข้อกฎหมายเรื่องการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศไหนบ้าง และที่ผ่านมามีประเทศใดให้ความร่วมมือในการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งต่อการพิจารณาในอนาคต ส่วนทางผบ.ตร.ยังสั่งการให้มีการประสานกับทางตำรวจสากลเพื่อติดตามข้อมูลผู้อยู่ในต่างประเทศด้วย

ศูนย์ทนายสิทธิฯ ยังได้รับรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าติดตามญาติหรือครอบครัวที่อยู่ในประเทศไทยด้วย ทั้งที่ครอบครัวไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแสดงออกของผู้ที่อยู่ในต่างประเทศแต่อย่างใด เช่น มีรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่กว่า 10 นาย เข้าไปยังบ้านของครอบครัวผู้ลี้ภัยทางการเมืองรายหนึ่ง โดยมีการนำตัวพี่สาวของผู้ลี้ภัยรายดังกล่าวไปยังกองบังคับการของปอท. รวมทั้งให้ติดต่อสมาชิกในครอบครัวรายอื่นๆ ตามมา โดยเจ้าหน้าที่พยายามสอบถามข้อมูลของผู้ลี้ภัยรายดังกล่าวจากครอบครัว รวมทั้งมีการตรวจสอบโทรศัพท์มือถือของคนในครอบครัว โดยไม่มีการแสดงหมายค้นใดๆ ด้วย

อีกกรณีหนึ่ง มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองปราบปรามได้เข้าพูดคุยกับบิดามารดาของผู้ลี้ภัยในต่างประเทศรายหนึ่ง โดยมีการขอให้บิดามารดาห้ามปรามลูกไม่ให้แสดงความคิดเห็นในเรื่องสถาบันกษัตริย์ เมื่อครอบครัวปฏิเสธว่าไม่ได้ติดต่อลูกเป็นเวลานานแล้ว เจ้าหน้าที่จึงได้ขอให้บิดามารดากล่าวห้ามปรามลูกและบันทึกเป็นคลิปวีดีโอไว้ โดยระบุว่าจะนำไปส่งให้ลูกชายเอง

.

X