ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 หลังการเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 และการขึ้นทรงราชย์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 สถานการณ์ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์เข้มข้นมากขึ้น จากปรากฏการณ์ “ล่าแม่มด” ต่อบุคคลผู้แสดงออกแตกต่าง และตามมาด้วยการดำเนินคดีด้วยข้อหานี้หลายสิบคดี
ในช่วงปี 2560 ก็ยังมีการดำเนินคดีมาตรา 112 สำคัญหลายคดี ทั้งคดีของ “ไผ่ ดาวดิน” จากการแชร์ข่าวบีบีซีไทย, คดีของผู้แชร์ข้อความเกี่ยวกับหมุดคณะราษฎรจากโพสต์ของ “Somsak Jeamteerasakul” หรือการรื้อฟื้นคดีเก่าที่เกิดขึ้นก่อนรัฐประหารมาดำเนินคดีใหม่ เป็นต้น (ย้อนดูประมวลสถานการณ์คดีมาตรา 112 เมื่อปี 2560)
หากในปี 2561 ที่กำลังจะผ่านพ้นนี้ นับเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงในการบังคับใช้มาตรา 112 อย่างเห็นได้ค่อนข้างชัดเจน ทั้งการแทบไม่มีคดีใหม่ที่ถูกกล่าวหาด้วยข้อหามาตรานี้ขึ้นสู่ศาล (เท่าที่ทราบ) และการยกฟ้องคดีข้อหานี้หลายคดีที่ยังดำเนินอยู่ในชั้นศาล โดยเฉพาะที่ถูกพิจารณาโดยศาลพลเรือน แต่กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในสังคมไทยพัฒนาขึ้นแต่อย่างใด
ในส่วนการดำเนินคดี แม้จะเกิดปรากฏการณ์ของการไม่พยายามนำข้อกล่าวหามาตรา 112 มาใช้ในการกล่าวหาหรือลงโทษ แต่ข้อกล่าวหาอื่น อาทิเช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 ก็ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ถูกนำมาใช้ควบคุมการแสดงออกต่างๆ และยังถูกนำมาใช้ดำเนินคดีหรือลงโทษผู้แสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง
ทั้งความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ยังสัมพันธ์กับบริบทหลังการเปลี่ยนรัชสมัยโดยตรง ไม่ได้เกิดขึ้นจากความตระหนักของเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมถึงปัญหาของการบังคับใช้มาตรา 112 ที่ถูกชี้ให้เห็นเรื่อยมาหลายปี หรือมาจากการเคารพในหลักการสิทธิมนุษยชนมากขึ้นในสังคมไทยแต่อย่างใด ทิศทางแนวโน้มของการควบคุม-ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจึงยังคงดำรงอยู่ แม้รูปแบบอาจเปลี่ยนแปลงแตกต่างออกไปก็ตาม
รายงานชิ้นนี้ ชวนย้อนทบทวนปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบปีที่กำลังจะผ่านไปนี้
อัยการทหารมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ส.ศิวรักษ์ หลังการเข้าเฝ้ากราบบังคมทูล
ความเปลี่ยนแปลงในคดีมาตรา 112 ในรอบปีนี้ เริ่มพิจารณาได้ตั้งแต่ในเดือนมกราคม (17 ม.ค. 61) เมื่ออัยการศาลทหารได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีมาตรา 112 ของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ จากกรณีคำอภิปรายเมื่อปี 2557 วิพากษ์วิจารณ์ประวัติศาสตร์การทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวร โดยอัยการระบุเรื่องพยานหลักฐานไม่เพียงพอให้ฟ้อง แม้ก่อนหน้านั้นคดีนี้ พนักงานสอบสวนจะมีความเห็นสั่งฟ้องก็ตาม
สุลักษณ์ได้เปิดเผยภายหลังว่าคำสั่งของอัยการทหาร ว่าเป็นผลมาจากการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ ซึ่งทรงพระมหากรุณาธิคุณ โดยทรงแนะนำรัฐบาลให้ยุติคดีดังกล่าว ภายหลังจากเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 60 ในโอกาสที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มอบปริญญาบัตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติศักดิ์ให้เขา สุลักษณ์ได้เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลกับในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยตรง
(ภาพโดยสำนักข่าวเอพี)
สุลักษณ์ยังระบุในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 61 ว่านอกจากเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่คดีของเขายุติลงได้ “ใช่แต่เท่านั้น ยังทรงพระมหากรุณาจัดสั่งไปทางประธานศาลฎีกาและอัยการสูงสุดให้ยุติคดี 112 ไม่ให้มีการใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอีก”
ดูเหมือนว่านั่นจะเป็นสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มการดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ในปัจจุบัน
แนวปฏิบัติใหม่ของอัยการสูงสุด
ในเดือนกุมภาพันธ์ ยังได้มีการเผยแพร่หนังสือของอัยการสูงสุด ลงวันที่ 21 ก.พ. 61 ส่งถึงผู้บริหารระดับสูงในสำนักงานอัยการสูงสุดทุกระดับชั้น กำหนดให้สำนักงานอัยการที่ได้รับสำนวนคดีมาตรา 112 ส่งสำเนาการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาทันที โดยยังไม่ต้องทำความเห็น โดยให้อัยการสูงสุดเท่านั้นเป็นผู้พิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ พนักงานอัยการระดับทั่วไปไม่อาจทำความเห็นได้เหมือนก่อนหน้านั้นอีก
การดำเนินการดังกล่าว ยังรวมถึงขั้นตอนที่มีการดำเนินคดีมาตรา 112 ที่อยู่ในขั้นศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ด้วย ที่ให้มีการสำเนาคำพิพากษาส่งไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา
(ภาพโดยสำนักข่าว TNN24)
นอกจากนั้น ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา อัยการสูงสุดยังได้มีการออกระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัย หรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 ลงวันที่ 15 มิ.ย. 61
ระเบียบฉบับนี้เป็นการแก้ไขจากในฉบับเดิมเมื่อปี 2554 โดยมีการเพิ่มปัจจัยที่นำมาพิจารณาสั่งไม่ฟ้องคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ฯ โดยเพิ่มเติมในเรื่อง “เหตุผลตามความเห็นของนายกรัฐมนตรีหรือหน่วยงานอื่นถึงผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” และเพิ่มเติมในประเด็นอำนาจสั่งไม่ฟ้องคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ฯ ซึ่งเดิมต้องเป็นการเสนอเรื่องขึ้นมาจากพนักงานอัยการที่พิจารณาคดีตามลำดับชั้น แต่ระเบียบที่แก้ไขนี้ หากอัยการสูงสุดเห็นเอง ก็มีอำนาจสั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้องคดีนั้นได้โดยตรง
ความเปลี่ยนแปลงโดยระเบียบทั้งสองประการดังกล่าว ทำให้อัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น โดยพนักงานอัยการระดับทั่วไปไม่มีอำนาจในการสั่งคดีนี้ได้อีก และอัยการสูงสุดยังเป็นหน่วยที่พิจารณาริเริ่มถอนฟ้องคดีได้เอง ตามความเห็นที่อาจได้รับมาจากนายกรัฐมนตรีหรือหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งจะทำให้แนวทางการสั่งฟ้อง-ไม่ฟ้อง-ถอนฟ้องคดีนี้ถูกควบคุมไปในทิศทางเดียวกันภายใต้ระเบียบทั้งสองฉบับนี้
ศาลยกฟ้องแม้ให้การรับสารภาพ แต่ยังถูกจำคุก
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เท่าที่มีข้อมูลในรอบปีที่ผ่านมา ไม่ได้มีการฟ้องร้องคดีมาตรา 112 เป็นคดีใหม่ในชั้นศาล แม้ปรากฏมีการจับกุมผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 อยู่ในปีนี้ แต่ก็เป็นกรณีการโพสต์แสดงความคิดเห็นที่เกิดขึ้นหลายปีแล้ว มีการออกหมายจับเอาไว้ โดยที่ยังไม่ได้ตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดี ก่อนมีการจับกุมได้ในปีนี้
ขณะเดียวกัน คดีมาตรา 112 ที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ก็ปรากฏความเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน เมื่อในหลายคดี ศาลมีการยกฟ้องคดี แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ตาม ซึ่งก่อนหน้านี้แทบไม่เคยเกิดกรณีลักษณะเช่นนี้ขึ้นมาก่อน
คดีของธานัท หรือ “ทอม ดันดี”
ทอม ดันดี แนวร่วม นปช. และนักร้องเพลงเพื่อชีวิต ถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกในคดีมาตรา 112 มาก่อนหน้านี้แล้ว 2 คดี เมื่อช่วงต้นปี 2561 ที่ผ่านมา ธานัทยังตกเป็นจำเลยในคดี 112 ที่ถูกสั่งฟ้องเข้ามาใหม่อีกสองคดี แต่ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องทั้งสองคดี แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ตาม ได้แก่
- คดีจากการปราศรัยที่จังหวัดลำพูนเมื่อปี 2554 ศาลอาญาได้พิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 61 โดยศาลวินิจฉัยว่าข้อความตามที่โจทก์ฟ้อง ยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอว่าจำเลยหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจลงโทษได้
- คดีจากการปราศรัยที่จังหวัดราชบุรีเมื่อปี 2553 ศาลจังหวัดราชบุรีมีคำพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 61 โดยเห็นว่าคำปราศรัยตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง ยังไม่มีความแจ้งชัดว่าเป็นการใส่ความ ดูหมิ่น หมิ่นประมาทตามฟ้อง แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้
แม้ทั้งสองคดีจะยกฟ้อง แต่ธานัทยังคงถูกคุมขังในเรือนจำต่อไป เนื่องจากต้องรับโทษในสองคดีเดิม ซึ่งศาลอาญาและศาลทหาร พิพากษาจำคุกรวมกันเป็นเวลา 10 ปี 10 เดือน การยกฟ้องของศาลในปีนี้ จึงไม่ได้หมายถึงการได้รับอิสรภาพของเขาแต่อย่างใด
(ภาพโดย banrasdr photo)
คดีของสกันต์
สกันต์ (สงวนนามสกุล) ถูกกล่าวหาจากเหตุการณ์พูดคุยในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ระหว่างถูกจำคุกในคดีที่สืบเนื่องจากเหตุการณ์ทางการเมืองในปี 2552 โดยมีผู้ต้องขังด้วยกันเองเป็นผู้กล่าวหา และอัยการมาสั่งฟ้องคดีเมื่อเดือน ธ.ค. 2560 ก่อนหน้านี้จำเลยเลือกจะต่อสู้คดี แต่ได้ขอกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ ก่อนหน้าการเริ่มสืบพยาน
เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 61 ศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้องคดีนี้ โดยให้เหตุผลว่าข้อความที่อัยการระบุว่าจำเลยได้พูดในเรือนจำนั้นจำเป็นต้องตีความ และในข้อความไม่ได้ระบุว่ากล่าวถึงใครอย่างชัดเจน แม้ในคดีนี้จำเลยจะให้การรับสารภาพ แต่ก็ไม่สามารถยืนยันในข้อเท็จจริงได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และพระราชินีตามที่ถูกกล่าวหา
ศาลพิพากษายกฟ้องข้อหา 112 แต่ลงโทษด้วยข้อหาอื่นแทน
นอกจากการยกฟ้องในลักษณะดังกล่าว ในรอบปีนี้ ยังมีแนวโน้มจากหลายคดีที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 แต่ให้ลงโทษด้วยข้อหาอื่นๆ แทน โดยเฉพาะข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 รวมถึงข้อหาอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับการกระทำตามที่ถูกกล่าวหา ทำให้จำเลยหลายรายยังคงถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดและได้รับโทษอยู่ แม้จะไม่ได้โดนลงโทษด้วยข้อหาตามมาตรา 112 ก็ตาม คดีลักษณะนี้ เท่าที่มีการเปิดเผยข้อมูล อาทิเช่น
คดีของทนายประเวศ ถูกลงโทษด้วยข้อหา 116 แต่ไม่วินิจฉัยใดๆ เรื่องข้อหา 112
ทนายประเวศ ประภานุกูล ถูกกล่าวหาดำเนินคดีจากการโพสต์เฟซบุ๊กหลายข้อความ ด้วยข้อหาตามมาตรา 112 จำนวน 10 ข้อความ และข้อหาตามมาตรา 116 จำนวน 3 ข้อความ จำเลยเลือกต่อสู้คดีนี้โดยไม่ยอมรับกระบวนการที่เกิดขึ้น ไม่ให้การ และไม่นำสืบพยาน
ก่อนศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 61 โดยวินิจฉัยให้จำเลยมีความผิดตามมาตรา 116 ลงโทษจำคุกกรรมละ 5 เดือน รวมจำคุก 15 เดือน และกำหนดโทษจำคุกอีก 1 เดือนในข้อหาไม่พิมพ์ลายนิ้วมือในชั้นสอบสวน แต่คำพิพากษาไม่ได้มีวินิจฉัยใดๆ ถึงข้อหาตามมาตรา 112 จำนวน 10 ข้อความ ที่มีการฟ้องร้องเข้ามา
ในวันพิพากษาดังกล่าว ประเวศถูกคุมขังมาเป็นเวลา 13 เดือนเศษแล้ว ทำให้ต่อมาเขาได้รับการปล่อยตัวเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม เมื่อรับโทษจำคุกครบ 16 เดือน ตามคำพิพากษา
(ภาพโดย banrasdr photo)
คดีหญิงตาบอดชาวยะลา ยกฟ้องในคดีหนึ่ง แต่ลงโทษตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ในอีกคดี
กรณีของ น.ส.นูรฮายาตี มะเสาะ หญิงพิการทางสายตาชาวยะลาวัย 24 ปี ผู้ถูกกล่าวหาว่าด้วยมาตรา 112 จากการใช้แอปพลิเคชันสำหรับคนตาบอดโพสต์ความคิดเห็นและคัดลอกบทความของ ใจ อึ๊งภากรณ์ ลงในเฟซบุ๊ก หลังข่าวการสวรรคตของรัชกาลที่ 9 ก่อนหน้านี้ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2560 คดีถูกฟ้องขึ้นสู่ชั้นศาล โดยจำเลยให้การรับสารภาพ และศาลจังหวัดยะลาพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญาเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 61
หลังจากนั้นกรณีของเธอได้รับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ และเจ้าหน้าที่ศาลแจ้งกับครอบครัวให้ไปรับตัวผู้ต้องขัง เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 61 เพราะได้รับการปล่อยตัวแล้ว โดยไม่มีใครทราบว่าผู้ใดเป็นผู้ทำเรื่องขอประกันตัว และด้วยวงเงินเท่าใด
จากนั้นเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 61 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องคดีนี้ เนื่องจากเห็นว่าจำเลยตาบอดสนิททั้งสองข้าง และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการที่จำเลยคัดลอกข้อมูลลงในระบบคอมพิวเตอร์นั้น เกิดขึ้นด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าข้อความดังกล่าวจะเป็นการหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 9
แต่จากนั้นไม่นาน ทางครอบครัวได้เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 61 นูรฮายาตีได้ถูกเจ้าหน้าที่คุมตัวจากบ้าน และในวันที่ 5 มี.ค. อัยการจากสำนักงานอัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องคดีในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการแชร์คลิปรายการวิทยุของ “ดีเจตีโต้” และ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ บนเฟซบุ๊ก ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 59 เป็นอีกคดีหนึ่ง ก่อนในวันที่ 6 มี.ค. จำเลยได้ให้การรับสารภาพ และศาลอาญาได้มีคำพิพากษาให้จำคุกเป็นเวลา 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา ทำให้เธอถูกคุมขังในทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพฯ จนถึงปัจจุบัน
กรณีของ “เค” โพสต์ขายเหรียญ ลงโทษด้วยข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
กรณีของ ‘เค’ (นามสมมติ) ได้โพสต์ขายเหรียญลงในกรุ๊ปเฟซบุ๊กซื้อขายของเก่าในช่วงหลังการเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 9 ทำให้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กเข้ามาด่าทอโต้เถียงด้วย และได้บันทึกภาพหน้าจอไปแจ้งความดำเนินคดี พร้อมกับมีการบุกมาทำร้ายร่างกาย ทำให้เขาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14
แม้จะได้รับการประกันตัว แต่ “เค” ถูกสั่งฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดชลบุรี และเลือกจะต่อสู้คดีในชั้นศาล จนวันที่ 5 ก.ค. 61 ศาลได้พิพากษาให้ยกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 แต่ลงโทษฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จโดยหลอกลวง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) ให้จำคุก 1 ปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษเหลือจำคุก 8 เดือน คดีนี้ยังอยู่ในระหว่างการยื่นอุทธรณ์
คดีเผาซุ้มฯ ยกฟ้องข้อหา 112 แต่ลงโทษข้อหาอื่นๆ
กรณีนี้จำเลยรวมทั้งสิ้น 11 ราย ถูกกล่าวหาเรื่องการเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติในจังหวัดขอนแก่นหลายจุด เมื่อต้นเดือน พ.ค. 60 โดยกรณีนี้แยกเป็นสองส่วน คือส่วนแรก กลุ่มวัยรุ่นจำนวน 9 ราย ที่ถูกควบคุมตัวก่อน ถูกดำเนินคดีแยกเป็น 3 คดี จากการก่อเหตุในแต่ละจุด ในข้อหาทั้งเป็นอั้งยี่, ซ่องโจร, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น, ทำให้เสียทรัพย์, และความผิดตามมาตรา 112 เมื่อจำเลยทั้งหมดหันมาให้การรับสารภาพ ศาลจังหวัดพลได้พิพากษาลงโทษจำคุกในทุกข้อหาด้วยอัตราโทษต่างๆ กัน
ต่อมา จำเลยวัยรุ่น 6 คน ได้ตัดสินใจอุทธรณ์ใน 2 คดี และศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 61 โดยพิพากษาให้ยกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 ทั้ง 2 คดีดังกล่าว โดยศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งหกมุ่งประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินอันได้แก่ ซุ้มประตู ไม่ปรากฏว่ามีความมุ่งหมายที่จะกระทำผิดตามมาตรา 112 แต่เห็นว่าจำเลยทั้งหมดกระทำความผิดในข้อหาอื่นๆ ตามฟ้องแทน มีโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญาแตกต่างกันไปตั้งแต่ 3 ปี – 4 ปี 6 เดือน ในทั้งสองคดี
ส่วนที่สอง มีจำเลยอีก 2 ราย คือ นายปรีชา และนายสาโรจน์ ถูกจับกุมในภายหลังกลุ่มวัยรุ่น และถูกดำเนินคดีในข้อหาเช่นเดียวกัน และแยกฟ้องรวม 3 คดี โดยทั้งสองคนให้การรับสารภาพทุกคดี และเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 61 ศาลจังหวัดพลได้พิพากษาให้ยกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 ทั้งสามคดี แต่พิพากษาลงโทษในข้อหาอื่นๆ รวมจำคุกทั้งสองคนละ 12 ปี 6 เดือน
แต่ควรกล่าวด้วยว่า ในปีนี้ยังมีคดีมาตรา 112 ที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายถูกลงโทษด้วยข้อหานี้อยู่ โดยจำเลยคดีนี้ถูกกล่าวหาจากการโพสต์เฟซบุ๊กจำนวน 10 ข้อความ และเลือกจะต่อสู้คดี ก่อนเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2561 ศาลได้พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 จากข้อความตามฟ้องจำนวน 1 ข้อความ และลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญากับจำเลยรายนี้ โดยคดียังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์
ทั้งยังมีรายงานข่าวในคดีของอนุวัฒน์ ทินราช แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 จากการปราศรัยบนเวทีชุมนุมของคนเสื้อแดงในนครราชสีมาเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 57 และเมื่อวันที่ 8 มี.ค. ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดนครราชสีมาได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา โดยมีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้จำคุกเป็นเวลา 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา
แนวโน้มในคดีมาตรา 112 ในชั้นศาลในปีนี้ จึงไม่ได้มีแต่คดีที่ยกฟ้องข้อหานี้ทั้งหมดเสียทีเดียว
แนวคำพิพากษาใหม่?: เมื่อศาลฎีกาลงโทษด้วยข้อหาหมิ่นประมาท โดยผู้เสียหายไม่ต้องแจ้งความร้องทุกข์เอง
ก่อนสิ้นปีนี้ (27 ธ.ค. 61) ศาลฎีกายังได้มีคำพิพากษาสำคัญอีกคดีหนึ่ง ได้แก่ คดีของ “นายอานันต์” (สงวนนามสกุล) วัย 70 ปี ซึ่งถูกกล่าวหาในข้อหามาตรา 112 และหมิ่นประมาทบุคคลตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 จากกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าได้กล่าววาจาใส่ความสมเด็จพระเทพฯ และพระองค์เจ้าโสมสวลีฯ กับ รปภ.ของบริษัทแห่งหนึ่ง ตั้งแต่เมื่อปี 2555 และคดีมาถูกรื้อฟื้นและสั่งฟ้องหลังการรัฐประหาร 2557
ศาลฎีกาได้พิพากษาลงโทษ “อานันต์” ตามความผิดมาตรา 326 จำนวน 2 กรรม ให้จำคุกรวม 2 ปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ และให้ปรับเป็นเงิน 40,000 บาท โดยศาลเห็นว่าบุคคลทั้งสองพระองค์ ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 เหตุเพราะรัชทายาทนั้นคือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเพียงพระองค์เดียว แต่ศาลเห็นว่าจำเลยได้พูดใส่ความพระองค์ท่านทั้งสองจริง อันเป็นความผิดต่อส่วนตัวฐานหมิ่นประมาท (ดูคำพิพากษาฉบับเต็มโดยสำนักข่าวประชาไท)
คำพิพากษาดังกล่าวเท่ากับทำให้ในคดีความผิดต่อส่วนตัว (มาตรา 326) แม้ผู้เสียหายจะไม่ได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษไว้เอง แต่ถ้าได้มีการสอบสวนความผิดดังกล่าวไว้แล้ว อัยการก็สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ ทั้งที่โดยหลักกฎหมายปกติ หากไม่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษจากผู้เสียหาย พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน แม้จะสอบสวนไว้ อัยการก็ไม่สามารถฟ้องได้ ถือว่าเป็นการสอบสวนไม่ชอบ
ทั้งศาลยังมีการกล่าวอ้างถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 ไว้เป็นหลักเกณฑ์ในการวางความชอบธรรมของการสอบสวน ทั้งที่เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เท่ากับศาลใช้กฎหมายให้มีผลย้อนหลังเพื่อลงโทษจำเลยได้อีกด้วย
แนวเช่นคำพิพากษาเช่นนี้ ยังต้องติดตามต่อไปว่าจะส่งผลต่อแนวทางการใช้มาตรา 112 และกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลในอนาคตต่อไปอย่างไร
บางคดีได้รับการประกันตัว แต่หลายคนยังถูกจองจำ
แนวโน้มอีกประการหนึ่งในปี 2561 นี้ ซึ่งต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีก่อน คือศาลมีการอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในบางคดี หลังจากก่อนหน้านั้น แนวโน้มการได้รับการประกันตัวของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีข้อหานี้เป็นไปได้ค่อนข้างยาก
ในปีนี้ ศาลทหารได้ให้ประกันตัว “แหวน” ณัฎฐธิดา มีวังปลา พยานปากสำคัญคดีสังหาร 6 ศพวัดปทุมฯ หลังถูกคุมขังมากว่า 3 ปี 5 เดือน โดยคดียังไม่สิ้นสุด, ให้ประกันตัวอัญชัญ ผู้ถูกกล่าวหาจากการเผยแพร่คลิปบรรพตถึง 29 กรรม หลังถูกคุมขังมาเกือบ 4 ปี โดยคดียังไม่สิ้นสุด, ให้ประกันตัว “บุปผา” ผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งถูกกล่าวหาจากการโพสต์เฟซบุ๊ก 13 ข้อความ หลังถูกคุมขังเกือบ 2 ปี เป็นต้น
(ภาพโดย Banrasdr Photo)
ขณะเดียวกัน ก็ยังมีผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 เท่าที่ทราบอีกอย่างน้อย 8 ราย ที่ไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างต่อสู้คดี โดยเฉพาะกรณีของสิรภพ หรือ ‘รุ่งศิลา’ กวีการเมือง ผู้ยื่นขอประกันตัวมาแล้ว 7 ครั้ง แต่ศาลทหารยังคงไม่อนุญาต โดยจนถึงปัจจุบันเขาถูกคุมขังมากว่า 4 ปี 5 เดือนแล้ว และคดีสืบพยานไปได้เพียง 3 ปาก
อีกหลายคดีมาตรา 112 ที่ถูกพิจารณาในศาลทหารมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 และจำเลยเลือกจะต่อสู้คดี ก็ยังดำเนินไปอย่างล่าช้า ส่งผลกระทบทั้งต่อจำเลยที่ไม่ได้รับการประกันตัว และแม้แต่จำเลยที่ได้รับการประกันตัว ก็ยังต้องใช้เวลามากว่า 4 ปีเศษ แล้วเพื่อต่อสู้คดี คดีส่วนใหญ่ที่ต่อสู้คดี ศาลทหารก็ยังไม่ได้มีคำพิพากษาแต่อย่างใด
นอกจากกลุ่มผู้ต้องขังที่ไม่ได้ประกันตัวขณะคดียังดำเนินอยู่แล้ว ถึงสิ้นปี 2561 ก็ยังมีผู้ต้องขังมาตรา 112 อีกอย่างน้อย 18 ราย ที่คดีสิ้นสุดลงแล้ว และยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ (นับเฉพาะผู้ต้องขังมาตรา 112 ที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้เสรีภาพในการแสดงออก ไม่ได้รวมถึงกรณีมาตรา 112 ที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกง หรือหาประโยชน์ส่วนบุคคล)
ยังไม่นับกรณีผู้ลี้ภัยทางการเมืองไปในประเทศต่างๆ จากการแสดงความคิดเห็นเรื่องสถาบันกษัตริย์ และถูกกล่าวหาดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ทำให้ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดได้อีก
(ภาพโดยสำนักข่าวบีบีซี)
เมื่อต้นปีนี้ (ม.ค. 61) ชนกนันท์ รวมทรัพย์ หรือ “การ์ตูน” อดีตโฆษกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ได้ถูกออกหมายเรียกในข้อหานี้ จากการแชร์รายงานพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์บีบีซีไทยตั้งแต่เดือนธ.ค. ปี 59 เช่นเดียวกับ “ไผ่ ดาวดิน” แต่เธอตัดสินใจลี้ภัยเดินทางออกนอกประเทศไทยไป ทำให้กลายเป็นหนึ่งในผู้ลี้ภัยจากข้อหามาตรานี้ที่เกิดขึ้นล่าสุดในปีนี้
ผลกระทบจากการใช้มาตรา 112 จึงจะยังคงดำรงอยู่สืบเนื่องต่อไป
การปิดกั้นและการคุกคามที่ยังดำรงอยู่
ในปีนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังได้รับรายงานในเรื่องการที่เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจมีการติดตามตัวบุคคลถึงบ้าน และเรียกบุคคลไปรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ทั้งในค่ายทหารและสถานีตำรวจ หลังโพสต์แสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์หรือดูแลเพจบางเพจที่มีเนื้อหาทางการเมือง โดยนอกจากการพูดคุย การตรวจสอบข้อมูลส่วนตัว ยังมีจัดทำบันทึกการให้ปากคำ การนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปคัดลอก-ตรวจสอบข้อมูล และให้เซ็นข้อความที่ระบุว่าจะไม่กระทำอีก
กรณีเหล่านี้ยังเกิดขึ้นอย่างเงียบๆ โดยไม่ปรากฏเป็นข่าวสาธารณะ และในปีนี้ยังไม่มีจำนวนแน่ชัดว่าเกิดขึ้นในปริมาณมากเพียงใด
ขณะเดียวกัน การปิดกั้นเนื้อหาต่างๆ ในโลกออนไลน์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ก็ยังดำรงอยู่ โดยจากข้อมูลของเฟซบุ๊ก ระบุว่าในปีนี้ระหว่างเดือน ม.ค. ถึง มิ.ย. เฟซบุ๊กได้มีการจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาจำนวน 285 ชิ้น รวมทั้งเพจและโพสต์ส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นไปตามคำขอของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จำนวนถึง 283 ชิ้น
(ภาพจาก Global Village Space)
อีกทั้ง ในปีนี้ก็ยังมีปฏิบัติการของพลเมืองด้วยกันเอง ที่ใช้ทั้งมาตรการทางกฎหมายหรือมาตรการทางสังคม ในการดำเนินการกับผู้ที่แสดงออกเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น กรณี พล.ต.เหรียญทอง ผอ.โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ออกมาประกาศไล่พนักงานของโรงพยาบาลออก โดยอ้างว่ามีการฉีกธนบัตรที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ และไม่ให้ตรวจโทรศัพท์มือถือเพื่อพิสูจน์การแสดงความคิด แต่ไม่ได้มีการดำเนินคดีมาตรา 112
หรือล่าสุดกรณีที่ชมรมเหยื่อออนไลน์เข้าแจ้งความต่อ ปอท. ให้เอาผิด “มิกซี่ บิ๊กเม้าธ์” เน็ตไอดอล ฐานหมิ่นประมาทจากการโพสต์วิจารณ์วิจารณ์ชุดประกวดมิสยูนิเวิร์ส ซึ่งพระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ทรงออกแบบ
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในสถานะ บทบาท และตัวบทกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในรอบปีนี้ การแสดงความคิดเห็นต่อความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในทางสาธารณะ แม้จะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์บนข้อเท็จจริงและการให้ความเห็นในประเด็นต่างๆ ที่แวดล้อม ยังถูกทำให้กลายเป็นเรื่องอัน “อ่อนไหว” หรือกระทั่ง “ต้องห้าม” ในสังคมไทย
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในรอบปีนี้ จึงไม่ควรถูกพิจารณาแต่เพียง “รูปแบบ” ที่แปลกต่างออกไป แต่ยังต้องจับตา “เนื้อหา” ที่ดูจะยังไม่ได้เปลี่ยนแปรไปในสาระสำคัญแต่อย่างใด